โครงการการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2562 (The 2nd Thailand Geography Olympiad 2019 (2nd TGeO 2019) จัดโดยภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับมูลนิธิโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)

ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน.   ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2555 พระองค์ท่านได้เสด็จไปเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการของสมาพันธ์ภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  พระองค์ท่านทรงสนพระทัยการแข่งขันดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงทรงมอบหมายให้มูลนิธิ สอวน. ศึกษาหาข้อมูล และจัดตั้งกรรมการและทีมงานภูมิศาสตร์โอลิมปิกเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน

ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของโครงการภูมิศาสตร์โอลิมปิกทำให้มูลนิธิ สอวน. จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้การคัดเลือกเยาวชนไทยครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการแต่งตั้งจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็น “ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560  มีหน้าที่ในการจัดอบรมและคัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ทั้งหมดในภูมิภาคตะวันตก เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศ  ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบระดับประเทศจะได้รับการกลั่นกรองและคัดเลือกอีกครั้งเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

ในปีนี้ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ “ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ  มีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2562 ณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ
  2. เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการ และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น
  3. เพื่อคัดเลือกนักเรียนให้เข้าอบรมในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ของมูลนิธิ สอวน.
  4. เพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ต่างๆ ได้ฝึกประสบการณ์ในการจัดแข่งขันวิชาการสาขาภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศ รวมทั้งได้ร่วมกันวางแผนและพัฒาหลักสูตรการอบรม ตลอดจนพัฒนาอุปกรณ์ปฏิบัติการและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน

รูปแบบการจัดการแข่งขัน

การแข่งขันแบ่งออกเป็น

  • การสอบข้อเขียน 4 ชั่วโมง
  • การสอบ Field Work 6 ชั่วโมง
  • การสอบ Multimedia test 1 ชั่วโมง

การมอบเหรียญรางวัลและพิธีปิดการแข่งขันถูกจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2562 โดยจะมีการจัดลำดับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และรางวัลเกียรติคุณประกาศ  นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษต่างๆ ได้แก่ รางวัลคะแนนรวมสูงสุด รางวัลคะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด และรางวัลคะแนนภาคปฏิบัติการสูงสุด  สำหรับนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์จะได้รับคัดเลือกเข้ารับอบรมในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศต่อไป

ผู้เข้าร่วมงาน

  • ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน
    1. รองประธานมูลนิธิ สอวน. เป็นประธานเปิดงาน
    2. บุคลากรในแวดวงการศึกษา เข่น กระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ครูและอาจารย์ในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ  นักเรียนโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกจากศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน.  และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน  รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน
  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน จำนวน 212 คน ประกอบด้วย
    1. นักเรียนผู้เข้าร่วมแข่งขัน จากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ  จำนวน 102 คน
    2. อาจารย์ผู้แทนศูนย์ จากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ  จำนวน 34 คน
    3. คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ  จำนวน 20 คน
    4. คณาจารย์และบุคลากรคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  จำนวน 30 คน
    5. นักศึกษาพี่เลี้ยงและนักศึกษาช่วยงาน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  จำนวน 20 คน
    6. คณะกรรมการของมูลนิธิ สอวน.  จำนวน 6 คน