วิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย

วิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย

ศิลป์ พีระศรี


ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์

หลังจากที่ได้เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 แล้ว ประเทศไทยก็ต้องประสบความยุ่งยากอยู่เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งทำให้ไม่สะดวกแก่การที่จะผลิตศิลปะวัตถุ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ยุคใหม่แห่งความเจริญของประเทศไทยจึงได้เริ่มขึ้น และภายหลังสมัยธนบุรี กรุงเทพพระมหานครก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงที่สวยงามของประเทศไทย

ในสมัยนี้มีการสร้างวัดกันขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีหลายวัดประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนัง  ช่างสมัยอยุธยาคงจะได้มาทำงานต่อที่กรุงเทพฯ และ ณ กรุงเทพฯ นี้ก็ได้เกิดมีสกุลช่างเขียนที่สำคัญขึ้น ซึ่งได้ผลิตจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามหลายแห่งติดต่อกันลงมาเป็นเวลาถึง 70 ปี ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 ภาพเขียนฝาผนังแบบคลาสสิคก็เริ่มเสื่อมลง ทั้งนี้ก็เพราะไปรับ     อิทธิพลจากศิลปะตะวันตกเข้ามา

สกุลช่างรัตนโกสินทร์ได้รวบรวมเอาสกุลช่างไทยอื่นๆไว้ด้วย และด้วยเหตุนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสมัยนี้เป็นสมัยคลาสสิคสำหรับจิตรกรรม จากจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในวัดสุทัศน์เทพวราราม และในวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี…

 

…สกุลช่างเขียนสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้ครอบคลุมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังของวัดหลายวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย จิตรกรรมเหล่านี้แสดงลักษณะแตกต่างไปจากภาพเขียนในภาคกลางของประเทศไทย จิตรกรทางภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทางภาคกลางของประเทศไทยนิยมเขียนภาพเรื่องศาสนาหรือเรื่องนิยายต่างๆตามแบบคลาสสิค แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ช่างเขียนทางภาคเหนือจะวาดภาพตามแบบคลาสสิคด้วย เป็นต้นว่า ภาพพระพุทธองค์ พระโพธิสัตว์ และเจ้านาย แต่ลักษณะก็คงเป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่  เราจะรู้สึกคล้ายกับว่าเราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน  ลวดลายทุกส่วน แม้จนกระทั่งร่างกายได้วาดขึ้นไว้อย่างถูกต้องตรงความจริง และด้วยการสังเกตอย่างเฉียบแหลม

เพราะเหตุว่า ช่างทางภาคเหนือไม่จำต้องทำงานตามกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด เหตุนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะสังเกตรู้ความสามารถของช่างเหล่านี้ ในวัดเดียวกัน เราอาจเห็นมีทั้งองค์ประกอบภาพที่งดงามมากกับที่ไม่น่าดูปนกันอยู่ เป็นต้นว่า ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เราจะเห็นว่าบางส่วนของภาพเขียน เช่น ภาพบุคคลสามคนกำลังขึ้นสวรรค์ จะวาดขึ้นโดยช่างที่ไม่มีความชำนาญ แต่ในขณะเดียวกันภาพชายหนุ่มกำลังเกี้ยวหญิงสาวนั้น ประดิษฐ์ขึ้นโดยช่างฝีมือชั้นครูจริงๆ ถ้าภาพทั้งหมดนี้ทำขึ้นตามแบบคลาสสิกก็คงจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะสังเกตเห็นความแตกต่างกันเป็นอันมากของภาพทั้งสองนั้นได้

จิตรกรรมฝาผนังที่เก่าที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งวาดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2338-2340 ณ ที่นี้เราจะสังเกตเห็นได้ดังกล่าวมาแล้วว่า พื้นหลังของภาพเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์จะมีสีคล้ำกว่าพื้นหลังของภาพสมัยอยุธยา ภาพบุคคลต่างๆเป็นจำนวนร้อยๆรูปได้วาดกันขึ้นได้ตลอดฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ของพระที่นั่งองค์นี้ และเมื่อเรามองดูภาพเขียนเหล่านี้แล้วเราก็จะรู้สึกยุ่งยากใจที่ไม่รู้ว่าภาพไหนเป็นภาพที่ดีที่สุด แต่กลุ่มภาพเรื่องพระภูริทัตต์กำลังทอดพระเนตรนางรำและนักดนตรีสาวที่สวยงามเพียงกลุ่มเดียว ก็อาจทำให้เราเข้าใจซาบซึ้งถึงคุณค่าอย่างสูงทางศิลปะของภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ได้…

 

…จิตรกรรมฝาผนังดั้งเดิม ณ วัดนี้ (วัด [ใหญ่] อินทาราม จังหวัดชลบุรี : ผู้วิจัย) วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 23 แต่รูปเหล่านี้ก็ได้รับการซ่อมแซมใหม่ใน พ.ศ. 2475 น่าเสียดายที่การซ่อมนี้ทำขึ้นโดยช่างฝีมือเลวและเลยทำลายความงามของภาพเขียนดั้งเดิมเสีย เฉพาะแต่บางแห่งเท่านั้นที่เรายังพอมองเห็นความละเมียดละไมของภาพเขียนเก่าที่เป็นรูปคนเดี่ยวๆ หรือเป็นรูปรวมหมู่ได้

ภาพเขียนเรื่องไตรภูมิขาดความเป็นเอกภาพไปไม่เหมือนกับภาพปางมารผจญ ซึ่งมีความเป็นเอกภาพและมีชีวิตจิตใจมากกว่า ภาพพระพุทธองค์และนางธรณีนั้น วาดขึ้นอย่างสวยงาม และรูปมารกำลังผจญก็แสดงชีวิตจิตใจดี โดยทั่วไปภาพเขียนปางมารผจญนี้ต้องแสดงความน่ากลัว เหตุนั้น ตามลักษณะทั่วไปการวาดจึงดูค่อนข้างหยาบ ถ้าจะนำเอาไปเปรียบเทียบกับภาพอื่นๆที่เขียนขึ้นอย่างประณีต ในเรื่องภาพปางมารผจญนี้คุณค่าทางศิลปะอยู่ที่มีลักษณะตรงกันข้าม ความมีชีวิตจิตใจอยู่ที่ฝ่ายพวกมารก็กำลังแสดงการโจมตีอย่างโหดร้าย ฝ่ายพระพุทธองค์ทรงมีความสงบ ซึ่งแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้จึงมิได้ทรงสะดุ้งกลัว

ภาพเขียนดั้งเดิม ณ วัดดุสิตาราม จังหวัดธนบุรี วาดขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 และอยู่ในหมู่ภาพเขียนชั้นคลาสสิครุ่นเดียวกับวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี และวัดสุทัศน์เทพ-วราราม จังหวัดพระนคร เหตุนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะแยกภาพที่สวยงามดั้งเดิมเหล่านี้ออกจากภาพอื่นๆ  ซึ่งได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติมในเวลาต่อมา  ส่วนใหญ่ของภาพเทพชุมนุมซึ่งเขียนเรียงแถวไว้เป็นแนวซ้อนกัน ภาพขนาดใหญ่ปางมารผจญและภาพเรื่องไตรภูมิยังคงรักษาคุณลักษณ์อันงดงามดั้งเดิมของตนไว้  ในขณะที่ภาพอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างช่องหน้าต่างได้สูญเสียไปเพราะถูกซ่อมแซมเมื่อราว 30 ปีมาแล้ว

สำหรับภาพเรื่องไตรภูมิส่วนที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เมืองนรก ณ ที่นี้ช่างเขียนได้ใช้ความนึกคิดส่วนตัวของเขาแสดงภาพการลงโทษทุกชนิดแก่ผู้กระทำบาป และผู้กระทำบาปส่วนมากก็จะหันหน้าไปยังพระมาลัยและกระทำการเคารพเพื่อจะขอให้หลุดพ้นจากทุกขเวทนา ภาพเรื่อง     ไตรภูมินี้มีเขียนอยู่เกือบทุกวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนัง แต่ก็ไม่มีแห่งใดเลยที่ภาพเมืองนรกจะได้รับการวาดขึ้นอย่างน่ากลัว และให้ความรู้มากเท่ากับที่วัดดุสิตาราม

จิตรกรรมฝาผนัง ในวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี ได้วาดกันขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 แต่ภาพเขียน ณ ที่นี้ก็คงจะได้เขียนขึ้นโดยช่างหลายคนในระยะต่างๆกัน ในบรรดาภาพเรื่องเวสสันดรชาดกตั้งแต่ผนังเบื้องหลังพระประธานไปจนสุดผนังด้านข้างนั้น มีอยู่หลายภาพที่สวยงามเป็นพิเศษ ภาพที่งามที่สุดภาพหนึ่งก็คือ ตอนที่พระเวสสันดรกำลังลาพระชนกชนนีของพระองค์  ภาพนี้แสดงความรู้สึกที่น่าสงสารมาก  ทั้งสีที่ใช้ก็สวยสดด้วย  ภาพขบวนเสด็จของพระนางศิริมหามายาทางด้านซ้ายมือของผนังด้านหน้าก็น่าชมเช่นเดียวกัน ขบวนเสด็จนี้ประกอบด้วยช้างหลายเชือกกำลังเดินอย่างได้จังหวะตามแนวที่คดโค้งไปมา  บรรดาคนขี่อยู่หลังช้างต่างก็กำลังส่งเสียงคุยและรื่นเริงกันในท่าที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่สุด นับได้ว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของไทยอย่างน่าพิศวง…

 

…ภาพเขียนในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งวาดขึ้นราวตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 24 นั้นแสดงถึงการกระทำอย่างใจกล้าที่สุดของช่างเขียนไทยในสมัยโบราณ และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพอย่างยิ่งของชาวไทย และของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อองค์พระปฏิมาซึ่งหล่อขึ้น ณ กรุงสุโขทัยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะวิหารแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้โดยเฉพาะ ภายในวิหารอันกว้างใหญ่ประดับด้วยภาพเขียนเต็มไปหมด ตั้งแต่ราว 1 เมตรจากพื้นขึ้นไปจนถึงเพดานอันสูง เสาสี่เหลี่ยมใหญ่นั้นก็ประดับเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน จึงเท่ากับว่าวิหารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานของศิลปะไทยอย่างแท้จริง  มีองค์ประกอบภาพมากมายที่เขียนเป็นเรื่องชาดกต่างๆ  ตลอดจนภาพดินแดนในเทพนิยายซึ่งประกอบไปด้วยกินนรและกินนรีที่สวยงาม ภาพเมืองสวรรค์  ซึ่งประกอบไปด้วยสัตว์และต้นไม้นานาชนิด ภาพจากเรื่องรามเกียรติ์  เรื่องชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญ กล่าวคือ ภาพเขียนเหล่านี้แสดงโลกที่เราอยู่นี้ปะปนกับโลกที่ช่างได้คิดฝันขึ้น  เราจะต้องกลอกตามองดูภาพเหล่านี้ไปรอบๆ และมองสูงขึ้นไปจนกระทั่งภาพทั้งหมดหายไปในบรรยากาศที่ค่อนข้างมืดและดูค่อนข้างลี้ลับ ภาพเขียนนางกินนรีที่น่ารักกำลังถูกกินนรเกี้ยวอยู่บนเสาด้านซ้ายต้นที่สองนั้นดูเหมือนจะวาดขึ้นด้วยชีวิตจิตใจมากกว่าวาดโดยพู่กัน ภาพทิวเขาลำเนาไม้ต่างๆก็เป็นแบบไทยอย่างแท้จริงคือ ประกอบไปด้วยสระซึ่งมีน้ำกำลังมีไอระเหยไปเป็นควันออกไปและมีดอกไม้งามๆ  ไกลออกไปก็เป็นป่าทึบ  สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่ช่างเขียนได้เห็นอยู่รอบตัวเขาทุกวี่ทุกวัน

บนเสาด้านซ้ายต้นแรก เราอาจจะชื่นชมกับภาพเขียนที่สวยงามแสดงถึงพิภพของพวกอสูร ณ ที่นี้เหล่าอสูรกำลังเตรียมจัดการเลี้ยงฉลอง ซึ่งมีการดื่มของมึนเมาอย่างมากมาย เพื่อย้อมน้ำใจให้เข้มแข็งและกล้าหาญ ก่อนที่จะยกทัพขึ้นไปรบกับพระอินทร์

ในภาพถัดจากหน้าต่างบานที่สองบนผนังด้านขวามือ เราจะเห็นมีภาพแสดงถึงการประสูติโอรสของพระโพธิสัตว์ ภาพแผ่นนี้เขียนขึ้นตามแบบเขียนอย่างง่ายๆตรงข้ามกับภาพแบบคลาสสิคอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภาพนี้ก็มีสิ่งที่ชักจูงจิตใจของเราอย่างที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ช่างได้บันทึกภาพซึ่งคงจะได้เกิดขึ้นในบ้านของเขาเองลงไว้อย่างง่ายๆ ดังนั้นจึงอาจนับได้ว่า ภาพนี้ก็คือการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ลงไว้นั่นเอง

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศน์เทพวรารามจะมีสีค่อนข้างคล้ำ แต่มีองค์ประกอบที่สดใสมากทำให้มีชีวิตขึ้นเป็นแห่งๆ องค์ประกอบภาพที่สดใสงดงามภาพหนึ่งก็คือภาพบนผนังซ้ายสุดทางด้านหน้า ณ ที่นี้ สีแดง สีน้ำตาล และสีเหลือง จะประกอบเป็นภาพที่มีชีวิตจิตใจอย่างน่าดู  ตรงกันข้ามกับพื้นสีเขียว  ในภาพแผ่นใหญ่นี้ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกับภาพแผ่นอื่นๆ คือ  ในชั้นแรก เราจะสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมซึ่งใช้เป็นฉากหลังอย่างสวยงาม  ต่อมาก็คือความได้สัดส่วนของฝูงชน  และท้ายที่สุดก็คือความชื่นชมในลักษณะอันละเมียดละไมของฝูงชนเหล่านี้  ทั้งนี้นับได้ว่า เป็นการค่อยๆยกระดับแห่งการชื่นชมในทางปัญญาอย่างแท้จริง…

 

…ภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์บนผนังที่วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก ได้วาดขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 และมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกับภาพเขียนเรื่องพิภพอสูรในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ ชั่วแต่ลักษณะของบรรดาอาคารบ้านเรือนเท่านั้นที่ดูจะแตกต่างไปจากจิตรกรรมที่กรุงเทพฯ องค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนังที่ดีที่สุด ณ วัดราชบูรณะก็คือ ภาพตอนทศกัณฐ์สั่งเมืองก่อนที่จะออกไปรบกับพระรามเป็นครั้งสุดท้าย รูปร่างของทศกัณฐ์ที่เต็มไปด้วยกำลังวังชานั้นจะดูเด่นอยู่ในที่ประชุมซึ่งดูเงียบเหงา เพราะทราบว่าหัวหน้าที่รักของตนกำลังจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ  ส่วนอื่นๆของจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ เป็นต้นว่า  ภาพยักษ์กำลังขี่สัตว์ต่างๆที่น่าเกลียดก็ดูฝีมือค่อนข้างหยาบมาก  และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพตอนทศกัณฐ์กำลังสั่งเมืองแล้ว  เราก็จำต้องคิดว่าหลายตอนของจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดราชบูรณะนี้คงจะวาดขึ้นโดยช่างที่ไม่มีความชำนาญ

จิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ นับว่าเป็นภาพเขียนที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าภาพเขียน ณ ที่นี้ได้แสดงถึงความรู้สึกและการแสดงออกของศิลปะภาคเหนือ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดนี้ ซึ่งวาดขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 ก็คือภาพที่เขียนเล่าเรื่องตามชีวิตจริง ดูคล้ายกับว่า ช่างทางภาคเหนือรู้สึกชื่นชมเป็นอันมากในการบันทึกเรื่องจริงและลักษณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่ของเขาเอง ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงภาพตอนเจ้าเงาะกำลังเข้าไปในพระราชวังของท้าวสามนต์  ในภาพนี้รูปบุคคลทุกคนจะได้รับการวาดขึ้นตามแบบจริงทั้งสิ้น หลายคนกำลังยั่วเย้าเจ้าเงาะอยู่ด้วยความสนุกสนานตามธรรมชาติ และบางพวกก็มองดูท้าวสามนต์และนางมณฑาว่าจะรู้สึกอย่างไร  ในการที่นางรจนามาเลือกเอาเจ้าเงาะเป็นคู่ครอง สำหรับการวางกลุ่มภาพ การวาดเส้นและการแสดงอารมณ์นั้นนับได้ว่าจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพระสิงห์เป็นภาพเขียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่ช่างไทยได้เคยทำมา

อีกภาพหนึ่งซึ่งแสดงตอนจ้าวข่ากำลังเดินทางจะเข้าวังของท้าวสามนต์ เพื่อมาให้เจ็ดธิดาเลือกคู่ก็เป็นการแสดงอย่างเฉียบแหลมเกี่ยวกับจ้าวข่าและบริวารที่รู้สึกลังเลใจ เนื่องในการเลือกคู่ครั้งนี้ ภาพนี้ผูกขึ้นอย่างดีและมีโครงการระบายสีอย่างเรื่อยๆเข้ากันได้ดีกับศักดิ์ศรีของบุคคลในภาพ

ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ก็เช่นกัน มีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งวาดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ภาพนี้เขียนขึ้นในแบบชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งดูทั้งน่ารักและน่าสนุก เป็นศิลปะซึ่งแสดงให้เห็นความสุขของชนชาติไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุขสำราญ

ภาพกลุ่มหญิงสาวกำลังเดินไปตลาด แล้วก็มีบรรดาชายหนุ่มคะนองพากันตามเกี้ยว  พาราสีนั้น เป็นภาพชีวิตประจำวันซึ่งช่างเขียนคงจะได้เคยเห็นมาหรืออาจจะได้มีส่วนร่วมด้วยก็ได้  ภาพนี้วาดขึ้นอย่างมีเสน่ห์น่ารัก เป็นลักษณะของศิลปะแบบเรียบๆง่ายๆ

ถ้าจะพูดถึงความสำคัญของเรื่องแล้ว ภาพเขียนเรื่องคัทธนะกุมารมีความสำคัญยิ่งกว่าภาพหญิงสาวไปจ่ายตลาดเป็นอันมาก แต่สำหรับในด้านศิลปะ ภาพคัทธนะกุมารก็มีความสำคัญน้อยกว่า ความจริงเวลาเรามองดูภาพเรื่องคัทธนะกุมารนี้ เราจะรู้สึกขัดนัยน์ตา เนื่องจากการวาดรูปไม่ได้สัดส่วน และแบบวาดก็ไม่เป็นทั้งแบบคลาสสิก หรือแบบตามชีวิตจริง หรือแบบสมัยแรกเริ่ม ในการวาดภาพเรื่องนี้ดูคล้ายกับว่า ช่างต้องการจะแสดงความสามารถอย่างดีที่สุดของเขา แต่ก็ไม่สำเร็จตามมุ่งหมาย ตรงกันข้าม จิตรกรรมฝาผนังที่แสดงเป็นสุภาพบุรุษกำลังเกี้ยวหญิงสาวอยู่อีกแห่งหนึ่งนั้น น่าชมเสียจริงๆทั้งการให้สีและการวาด…

 

…เท่าที่เราทราบกันในปัจจุบัน  ไม่มีวัดใดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีจิตรกรรมฝาผนัง เว้นแต่วัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ฝาผนังของพระอุโบสถวัดนี้ประดับด้วยภาพเรื่องชาดกต่างๆปนอยู่กับภาพชีวิตประจำวัน ภาพชีวิตประจำวันนี้จะมีปรากฏอยู่แทบทุกวัด และการที่ศิลปินได้วาดภาพเหล่านี้ขึ้น ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำโดยบังเอิญ หากแต่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องแก้มิให้เกิดการวาดภาพซ้ำๆ ในเรื่องที่คล้ายคลึงกันตาม   กฎเกณฑ์  ดังนั้น ภาพชีวิตประจำวันนี้จึงใช้เป็นเครื่องแบ่งแยกภาพที่จำต้องเขียนซ้ำๆกันได้อย่างดียิ่ง

เห็นได้ชัดว่า จิตรกรรมฝาผนังในวัดหน้าพระธาตุนี้ ได้ถูกซ่อมแซมเป็นจำนวนมากและซ่อมอย่างเลว เราไม่สามารถจะกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าภาพนี้เขียนขึ้นเมื่อใด แต่ถ้าดูตามแบบของการเขียนแล้วก็คงจะทำขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เท่ากับเป็นแสงสว่างครั้งสุดท้ายของความงามในอดีต บนผนังด้านขวามือมีองค์ประกอบแสดงภาพสถาปัตยกรรมซึ่งดูคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ 2 ใน 3 ของผนังด้านซ้ายมือจะมีภาพกลุ่มคนอยู่ในองค์ประกอบที่น่าประหลาด ซึ่งเป็นลักษณะแบบใหม่ องค์ประกอบแบบนี้เป็นรูปเส้นโค้งๆไปมาของหมู่ต้นไม้  ซึ่งแสดงว่าเป็นทิวเขาที่ตั้งซับซ้อนกัน คล้ายกับทิวทัศน์แบบจีน แต่ก็ไม่ได้เลียนแบบจีน  หากแต่ได้รับการดลใจมาจากธรรมชาติจริงๆ  กล่าวตามจริงแล้วบริเวณจังหวัดนครราชสีมาก็ล้อมรอบไปด้วยทิวเขาที่สวยงาม  ศิลปินผู้ประดิษฐ์จิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดหน้าพระธาตุนี้ก็คงจะเป็นชาวเมืองนี้จึงได้วาดทิวทัศน์บ้านเกิดเมืองนอนของตนไว้

ในบรรดาภาพที่แสดงถึงชีวิตคนธรรมดาสามัญนั้น ภาพที่ดีที่สุดก็คือ ภาพพวกเล่นชนไก่  เราอาจคิดได้ว่า ในขณะที่ช่างกำลังเขียนภาพนี้ ชาวบ้านก็คงจะกำลังดูการเล่นชนไก่อยู่นอกวัด  ในขณะเดียวกันจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงการแต่งกายพื้นเมืองของชาวบ้านแถบนั้นในศตวรรษที่แล้ว ภาพเกวียนเทียมด้วยวัว และลักษณะพื้นเมืองอื่นๆ ตลอดจนลักษณะของตัวเมืองนครราชสีมาเองเมื่อราว 90 ปีมาแล้วก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน…

 

…หลังจากต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แล้ว จิตรกรรมฝาผนังไทยซึ่งเขียนขึ้นตามแบบดั้งเดิมก็เสื่อมลง จะคัดลอกกันไปตามตัวอย่างภาพที่สวยงามที่มีอยู่แต่ก่อน โดยผู้คัดลอกไม่มีความเข้าใจในความงาม รูปที่เขียนซ้ำแบบกันต่อๆมาก็ไม่มีชีวิตจิตใจอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ศิลปะตะวันตกก็ได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย และทุกคนก็ตื่นเต้นกับสิ่งแปลกๆนี้ เพราะเป็นของใหม่ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ว่าช่างเขียนก็ย่อมจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบตะวันตก ซึ่งค่อนข้างแข็งกระด้างและมีลักษณะคล้ายภาพถ่ายมากกว่าภาพเขียน ด้วยความปรารถนาที่จะฟื้นฟูจิตรกรรมของไทย และเพื่อจะดัดแปลงให้เป็นของทันสมัย ช่างของเราจึงพยายามที่จะเลียนแบบศิลปะตะวันตก โดยวาดภาพวัตถุทั้งหลายให้เป็นแบบสามมิติทั้งในแบบมีทัศนียวิสัย (perspective) และให้มีปริมาตร  (volume)  แต่เนื่องจากภาพเขียนของไทยเป็นแบบสองมิติ (คือแบนราบ)  และมีทัศนียวิสัยเป็นแบบเส้นขนานกัน (ซึ่งมิใช่แบบวิทยาการ) เพราะฉะนั้นเมื่อช่างเขียนยอมรับเอาคติทางตะวันตกมาใช้  ภาพเขียนของเราก็เลยสูญเสียลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของตนเองกลายเป็นศิลปะครึ่งชาติไป ณ ที่นี้เห็นควรกล่าวไว้ด้วยว่า ภาพเขียนแบบดั้งเดิมของไทยนั้นเหมาะดีสำหรับใช้เขียนจิตรกรรม  ฝาผนัง แต่แบบของตะวันตกนั้นเหมาะที่จะใช้เป็นภาพเขียนบนผืนผ้าใบ…

 

ตัดตอนมาจาก:    ศิลป์ พีระศรี; ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปล. “บทความวิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย.” อักษรศิลป์. สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร 2537. หน้า 244-253.

:     ตีพิมพ์ เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารศิลปากร, 2502.

 

 


บทวิเคราะห์

 

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้วางรากฐานให้แก่ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย  คุณูปการของท่านในด้านการจัดระบบการศึกษาศิลปะ และในด้านการสอนที่ไม่เพียงถ่ายทอดให้ศิษย์ “ทำได้”  แต่ยังสอนให้รักศิลปะเป็นสิ่งที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้ว  อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์อาจไม่นำมาสู่ความสำเร็จของวงการทัศนศิลป์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากศาสตราจารย์ศิลป์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าท่านเห็นคุณค่าในงานศิลปกรรมของไทยอย่างแท้จริง อาจกล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จในงานของท่านอยู่ที่ความเข้าใจในคนไทย และศิลปะของคนไทยนั่นเอง แม้ในช่วงเวลาร่วมสมัย ภาพของศาสตราจารย์ศิลป์ในฐานะชาวต่างประเทศที่เข้ามาสอนคนไทยให้สร้างงานศิลปะในรูปแบบใหม่ อาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขัดต่อการธำรงรักษาอัตลักษณ์ในงานศิลปกรรมของไทย แต่ตลอดช่วงเวลาของท่านก็ได้แสดงให้เห็นว่าการสร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธศิลปะตามประเพณีแต่ดั้งเดิม ในทางตรงกันข้าม ศาสตราจารย์ศิลป์กลับเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้คนไทยเห็นคุณค่าของศิลปะในอดีตของคนไทยเอง บทวิจารณ์ที่คัดมาไว้ในสรรนิพนธ์ฉบับนี้ก็เป็นประจักษ์พยานได้อย่างดี  ส่วนสำคัญที่ควรระลึกถึงก็คือ ด้วยความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งในคุณค่าและศิลปกรรมของคนไทย ท่านสามารถจะชี้แนะแก่ศิลปินรุ่นหนุ่มสาวให้สานต่อลักษณะของศิลปกรรมในอดีตต่อไปได้1 จึงนับเป็นโชคของวงการทัศนศิลป์ไทยที่ ณ จุดเริ่มต้น ศิลปินไทยไม่ได้ทิ้งรากของศิลปะดั้งเดิม แต่พยายามที่จะค้นหาความเป็นตัวของตัวเองจากรากฐานของศิลปะในอดีต ศิลปะสมัยใหม่จึงไม่ใช่ปฏิปักษ์ต่อศิลปะแนวประเพณี และไม่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง2 แต่ค่อยๆได้รับการยอมรับดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ที่สนใจวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยคงสังเกตได้ไม่ยากว่า ศิลปะแนวประเพณีไม่ได้สูญไปจากวงการทัศนศิลป์ ศิลปินในปัจจุบันสามารถที่จะนำคุณลักษณ์จากจิตรกรรมฝาผนังมา สร้างต่อ สร้างใหม่บนผืนผ้าใบได้อย่างน่าชม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องจากที่ศาสตราจารย์ศิลป์ได้สร้างไว้นั่นเอง

บทวิจารณ์ที่ตัดตอนมาจากบทความเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ว่าด้วยวิวัฒนาการของจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชิ้นนี้ จัดเป็นการวิจารณ์ที่มีคุณค่า เพราะเป็นการบุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์ของศิลปกรรมไทยในเชิงสุนทรียภาพ โดยผู้เขียนตั้งใจที่จะอธิบายถึงคุณค่าของศิลปะที่ไม่ผูกติดอยู่กับอายุ รูปแบบมาตรฐาน หรือความสำคัญของเรื่องอย่างแน่นอนตายตัว แต่อยู่ที่การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากจิตใจออกมาเป็นภาพ ด้วยฝีมืออันยอดเยี่ยมของศิลปินหรือช่างเขียนนิรนามในอดีต น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ในทิศทางที่ศาสตราจารย์ศิลป์เริ่มไว้เมื่อเกือบกึ่งศตวรรษมาแล้วไม่มีผู้สานต่อ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการศึกษาในแนวทางนี้ไม่อาจพึ่งเพียงข้อมูลเอกสารหรือหลักฐานข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์มาเป็นข้อสรุปที่ยุติได้ แต่ต้องอาศัยความรู้และความรักในคุณค่าของศิลปะ ประกอบกับการตั้งมั่นบนจุดยืนทางสุนทรียศาสตร์ของตนเองในการวินิจฉัย  ในแง่นี้ การที่ศาสตราจารย์ศิลป์มีความมั่นคงจากประสบการณ์เชิงศิลปะ กอปรกับการที่มีพื้นเพมาจากวัฒนธรรมอื่น จึงช่วยให้การศึกษาศิลปกรรมไทยในด้านสุนทรียภาพ พ้นออกจากข้อจำกัดทางวัฒนธรรมบางประการ เมื่อท่านต้องวิจารณ์ผลงานฝีมือครูโทยโบราณ ท่านก็ทำได้อย่างตรงไปตรงมา และเมื่อจำเป็นต้องวินิจฉัยเปรียบเทียบ แม้ภาพหนึ่งจะมีความสำคัญทางเนื้อหามากกว่า แต่ท่านก็ไม่ลังเลในการตัดสินว่าภาพใดมีคุณค่าทางสุนทรีย์สูงกว่า การที่ศาสตราจารย์ศิลป์แยกภาพบางส่วนจากผนังทั้งหมดขึ้นมาชี้ให้เห็นคุณค่าที่เด่นชัดเช่นนี้ จึงเป็นการชี้แนวทางสำคัญที่จะช่วยผู้ชมและผู้ศึกษาศิลปะให้เกิดความซาบซึ้งถึงคุณค่าทางสุนทรีย์ของจิตรกรรมไทย และเป็นการนำทางให้แก่นักประวัติศาสตร์ศิลป์รุ่นหลังที่จะศึกษาด้านสุนทรียภาพของศิลปกรรมต่อไปจากที่ท่านได้เบิกทางเอาไว้

หากพิจารณาถึงการประเมินคุณค่าศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์จากบทวิจารณ์ที่คัดมานี้ จะเห็นชัดเจนว่าท่านให้น้ำหนักต่อการแสดงออกส่วนตัวของช่างสูง แม้จะมีผู้โต้แย้งว่าแนวทางในการประเมินคุณค่างานศิลปกรรมของท่านตั้งอยู่บนแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่แบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญต่อการแสดงออกของปัจเจกบุคคล จนอาจเป็นการวินิจฉัยที่ขาดการพิจารณาจากแง่มุมทางสังคมวัฒนธรรม แต่เมื่ออ่านบทวิจารณ์นี้อย่างถี่ถ้วน เราก็คงต้องยอมรับว่าการที่ศาสตราจารย์ศิลป์ให้ค่าต่อการแสดงออกส่วนตัวของช่างเขียนนั้น ท่านไม่ได้ใช้หลักวิชาทางศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำหลักวิชามาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ ดังที่เราจะสังเกตได้ว่า ท่านไม่ได้ติดยึดอยู่กับรูปแบบหรือหลักวิชา แม้ในเรื่องความประณีตละเอียดอ่อนที่เชื่อถือกันว่าเป็นลักษณะเด่นของจิตรกรรมไทย เมื่อถึงคราวที่จิตรกรรมนั้นจะต้องแสดงถึงความรุนแรง และช่างก็ใช้การวาดที่ค่อนข้างหยาบแสดงออกได้เป็นอย่างดี ท่านก็พร้อมที่จะแตกกฎเพื่อยืนยันว่าลักษณะการแสดงออกเช่นนั้นมีคุณค่าทางศิลปะสูง และหากเราจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไปกว่านั้นก็จะเห็นว่าการให้ค่าต่อการแสดงออกของช่างเขียนนั้นแสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อปัจเจกบุคคลที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจคนไทยและสังคมไทย หากขาดความเข้าใจต่อขนบประเพณีของสังคมไทยและวิถีชีวิตของชาวบ้านเสียแล้ว ท่านคงไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าภาพใดแสดงชีวิตประจำวันของคนไทยได้อย่างมีชีวิตชีวา หรือภาพใดเป็นการบันทึกลักษณะของธรรมชาติในภูมิประเทศของช่างท้องถิ่น ดังที่ปรากฏชัดอยู่แล้วในบทวิจารณ์นี้

เราคงต้องสรุปว่า ความสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่สะท้อนอยู่ในบทวิจารณ์นี้ก็คือ การนำทางเราไปสู่คุณค่าของศิลปะ จนถึงขั้นที่สามารถที่จะกระตุ้นสำนึกให้เราเกิดความรักและเห็นคุณค่าทางสุนทรีย์จากงานศิลปะของอดีตที่คนในปัจจุบันอาจเข้าถึงได้ยาก บทวิจารณ์ชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดียิ่งว่า ความรักอันแท้จริงในศิลปะนั้นนำทางไปสู่ความเข้าใจอันถ่องแท้ระหว่างมนุษย์ที่ข้ามสังคม วัฒนธรรมและเวลา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้แสดงความจริงข้อนี้ไว้แล้วอย่างกระจ่างชัดในบทวิจารณ์นี้ และนี่ก็คือพลังทางปัญญาที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้สังคมไทย

 

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้วิเคราะห์


1 บทความจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ 1-12 พ.ศ. 2492-2504 แสดงให้เห็นการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ต่อศิษย์จำนวนมาก ให้นำลักษณะเด่นของศิลปะดั้งเดิมของไทยมาสร้างเป็นศิลปะสมัยใหม่

2 การรับอิทธิพลของศิลปะตะวันตกเข้ามาในประเทศแถบเอเชีย ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านในหลายประเทศจนเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง และทำให้ศิลปะแนวประเพณียากจะสานเข้ากับศิลปะในแนวทางใหม่ได้ ชิโอดะ จูนิชิ ภัณฑารักษ์ ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยโตเกียว ได้แสดงความเห็นต่อบทบาทของศาสตราจารย์ศิลป์ ในเรื่องนี้ว่า “อาจารย์ศิลป์มีบทบาทที่ต่างกันถึงสองบทบาท ซึ่งในญี่ปุ่นยุคใหม่ถือว่า สองบทบาทนี้มีลักษณะที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง บทบาทนั้นอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนความเป็นตะวันตก และในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ประเพณีดั้งเดิม ความมุ่งหวังของเขาคือต้องการรวมศิลปะสมัยใหม่ของตะวันตกกับประเพณีของไทยให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนไม่สามารถแยกออกได้ สำหรับในญี่ปุ่นแล้ว สองแนวคิดนี้มีความขัดแย้งกันอยู่อย่างมาก” ดู: บทความ “ศิลปะไทยสมัยใหม่จากมุมมองของญี่ปุ่น” สูจิบัตรของนิทรรศการ Asian Modernism Diverse Development in Indonesia, the Philippines, and Thailand, มูลนิธิญี่ปุ่น, 2539.

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาทัศนศิลป์

 

3 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *