‘บ้านบึ้ม’…ตลกลืมขำ

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

 

                ย้อนเวลากลับไปสมัยที่ผู้เขียนกำลังจะจบการศึกษาปริญญาตรี ยังจำได้ถึงความรู้สึกทำนองที่ว่า นี่ข้าพเจ้ามีทักษะความรู้พอจะเดินเข้าสู่การประกอบอาชีพในโลกของการทำงานแล้วหรือ? หลังได้ร่ำเรียนหนังสือในสาขาเฉพาะทางมาเป็นเวลาสี่ปีโดยแทบไม่มีโอกาสได้ลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เปรียบเทียบกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในยุคสมัยนี้ที่ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาออกมาก็ต้องพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า พวกเขามีศักยภาพพอจะได้รับการยอมรับในระดับมืออาชีพ กับกิจกรรมเชิงวิชาการนำเสนอผลงานภาคปฏิบัติที่ฝึกหัดให้พวกเขาได้ลองนำเอาความรู้ที่เรียนไปใช้ เตรียมความพร้อมก่อนจะประกอบอาชีพในโลกของการเป็นผู้ใหญ่ต่อไปอย่างมีคุณภาพ

เทศกาลละครวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และศิลปนิพนธ์ ‘ก่อนจบ’ ของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมซึ่งทำหน้าที่ฝึกฝีมือของเหล่านิสิตที่ใกล้สำเร็จการศึกษาจากคณะนี้ก่อนที่จะได้เจอ ‘ของจริง’ นอกรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองจัดแสดงละครเวทีให้สาธารณชนผู้สนใจทั่วไปตีตั๋วเข้าชมได้คล้ายการจัดแสดงจริง ๆ พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบในทุกสิ่งอย่างทั้งการเตรียมการเบื้องหน้าเบื้องหลัง วางแผนป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ทุก ๆ ขั้นตอนอย่างที่ค่ายละครค่ายหนึ่งพึงต้องกระทำกันเลย สำหรับเทศกาลละคร ‘ก่อนจบ’ ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2556 นี้ผู้เขียนก็มีโอกาสได้ไปชมละครเรื่อง ‘บ้านบึ้ม’ ซึ่งดัดแปลงมาจากบทละครภาษาฝรั่งเศสปี 2006 เรื่อง Le Dieu du carnage หรือ God of Carnage ของ Yasmina Reza ภายใต้การกำกับของ พรรณนิภา ถิระพงศ์ นิสิตชั้นปีที่สี่ ซึ่งก็เป็นการแสดงที่ทำให้ผู้เขียนต้องรู้สึกนับถือความหาญกล้าต่อกรกับความท้าทายในการนำเสนอละครสุดหินเรื่องนี้เป็นศิลปนิพนธ์ประกอบการศึกษาระดับปริญญาตรี เพราะถึงแม้ว่ามันจะยาวเพียง 80 กว่านาที และมีนักแสดงเพียงแค่ 4 ราย แต่ในส่วนรายละเอียดของมันกลับพลิกผันซับซ้อนจนมิใช่ของง่าย ชนิดที่ผู้กำกับ ‘รุ่นใหญ่’ บางรายก็อาจไม่กล้าแตะต้องกันเลย

บ้านบึ้ม_1

ผู้เขียนรู้จักละครเรื่องนี้ครั้งแรกผ่านการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Carnage (2011) โดยผู้กำกับ Roman Polanski ที่มีดาราดังอย่าง John C. Reilly, Jodie Foster, Christoph Waltz และ Kate Winslet มาร่วมรับบทนำ ซึ่งขนาดได้ผู้กำกับระดับตำนานของโลกเซลลูลอยด์มานั่งแท่นกุมบังเหียนแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังไม่ถึงกับน่าประทับใจอยู่ดี ค่าที่การแสดงของนักแสดงบางรายยังเห็นลวดลายบารมีในวิถี ‘ดารา’ มากเกินไปจนไม่ชวนให้รู้สึก ‘อิน’ ไปกับตัวละคร แต่จุดอ่อนที่สำคัญกว่าก็คือความจงใจในตัวบททั้งหลายที่ผู้กำกับยังถ่ายทอดออกมาได้ไม่ใคร่เนียนเท่าไหร่ การออกแบบจัดวางอะไรต่าง ๆ จึงยังปรากฏชัดเกินไปไม่ลื่นไหลไร้จริตอย่างที่มันควรจะเป็น

God of Carnage เป็นบทละครแนวตลกที่ยกเอาสันดานความยึดมั่นถือมั่นในตนเองของมนุษย์มาตีแผ่ผ่านเรื่องราวการประนีประนอมยอมความของคู่สามีภรรยาสองคู่เมื่อบุตรชายของพวกเขามีเรื่องทะเลาะกันจนฟันหน้าของบุตรชายฝ่ายโจทก์ต้องแหว่งวิ่นบิ่นหักและบิดามารดาของฝ่ายจำเลยก็ต้องเดินทางมายังบ้านพักของอีกฝ่ายเพื่อไกล่เกลี่ยเจรจา จากการพบกันเพื่อพูดคุยแก้ปัญหาอย่าง civilised เรื่องราวก็เตลิดบานปลายเมื่อเหตุการณ์เหนือความคาดหมายบางอย่างได้เกิดขึ้น สำหรับตัวละครนำทั้งสี่รายนี้ก็ประกอบไปด้วย มิเคล (วัฒนชัย ตรีเดชา) กับ เวโรนิค (กิตติพร โรจน์วณิช) คู่สามี-ภรรยาฝ่ายโจทก์ผู้ปกครองของเด็กชายบรูโนซึ่งประกอบอาชีพเป็นคนขายเครื่องใช้ในครัวเรือนและนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับงานศิลปะตามลำดับ กับ อแลง (กนต์ธร เตโชฬาร) และ แอนเน็ตต์ (วริษฐา นาครทรรพ) ผู้ปกครองของเด็กชายแฟร์ดินองด์ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นเซลส์ขายยากับนักบริหารสินทรัพย์ แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเด็ก ๆ ชกต่อยกันซึ่งควรจะจบได้ภายในสิบนาทีแรกก็สามารถส่งชนวนกลายเป็นเรื่องชวนทะเลาะระหว่างตัวละครผู้ใหญ่ซึ่งต้องเห็นแก่หน้าตนเองเหนือสิ่งอื่นใดเกิดเป็นสงครามน้ำลายวาระใหญ่ภายในห้องรับแขกเล็ก ๆ แห่งนั้น

เป็นที่รู้กันในแวดวงการละครว่าบทละครแนว ‘ตลก’ นั้นเป็นแนวทางที่กำกับยากที่สุดแล้วในบรรดาตระกูลละครทั้งหลาย เพราะนอกจากจะต้องใช้ทักษะในการถ่ายทอดมุกตลกต่าง ๆ ให้ได้จังหวะเข้าที่เข้าทาง ละครยังต้องการ ‘เสน่ห์’ มัดใจให้ผู้ชมสามารถมีอารมณ์ร่วมไปกับทุก ๆ ชะตากรรมของตัวละครอีกด้วย ละครแนวตลกจึงมีมิติที่ซับซ้อนกว่าละครแนวดราม่าโดยทั่วไปที่อาจใช้เพียงการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ ‘จริง’ แต่ละครตลกมันยังมีอีกหลายสิ่งที่นอกเหนือไปจากพื้นฐานความ ‘จริง’ เหล่านั้น ความทุกข์ยากของตัวละครจึงจะสามารถกลายเป็นเรื่องขำขันได้อย่างมีรสนิยม ดังนั้นใครก็ตามที่อาจหาญนำงานแนวตลกมาสร้างทำเป็นละครก็นับเป็นการท้าทายที่จะสะท้อนฝีมือของผู้กำกับรายนั้นไปในตัว ว่าจะสามารถสร้างเรื่องชวนหัวจากความทุกข์ยากของตัวละครได้อย่างอ่อนโยนเพียงใด และหากผู้กำกับรายนั้นทำออกมาไม่สำเร็จเมื่อไหร่ มันก็อาจจะกลายเป็นงานจำอวดที่แห้งแล้งและเอาแต่กลั่นแกล้งตัวละครอย่างไร้หัวใจได้ง่าย ๆ เหมือนกัน

น่ายินดีที่ผู้กำกับพรรณนิภา ถิระพงศ์ สามารถพิชิตความท้าทายทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงไปได้อย่างน่าพอใจในผลงานเรื่อง ‘บ้านบึ้ม’ ชิ้นนี้ จนกลายเป็นงานหัสนาฏกรรมมารยาทผู้ดีหรือ comedy of manners ที่สนุกคมคายเก็บรายละเอียดสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ได้อย่างไม่ตกหล่น ความยากหลัก ๆ ประการแรกของบทละครเรื่อง God of Carnage นี้ก็คือความเป็นพลวัตของตัวละครทั้งสี่รายที่ตัวบทได้พลิกมิติทางบุคลิกและอารมณ์ที่สลับขั้วไขว้ซ้ายขวาไป ๆ มา ๆ ของพวกเขาอย่างละเอียดถี่ยิบยิ่งกว่าการเดินทางข้ามเขาพับผ้าระหว่างพัทลุง-ตรัง ซึ่ง พรรณนิภา ก็สามารถบังคับพวงมาลัยนำพาผู้ชมลัดเลาะไปตามเส้นทางอันคดเคี้ยวเหล่านี้ได้อย่างลื่นไหลโดยไม่มีอาการหักเลี้ยวอย่างที่จะเห็นกันในหนังเรื่อง Carnage ของ Roman Polanski เลย ซึ่งความไหลลื่นอันนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความท้าทายประการที่สอง นั่นก็คือการกำกับนักแสดงนำที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานโดยผู้กำกับที่อาจผ่านการทำงานชิ้นใหญ่เป็นเรื่องแรก ซึ่ง พรรณนิภา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เธอหาได้มีอาการเกร่อเกร็งจน ‘ไม่กล้า’ จะกำกับนักแสดงเหล่านี้ การแสดงทั้งหมดจึงดำเนินไปในทางเดียวกันอย่างสามัคคี นำพาเรื่องราวไปสู่จุดหมายที่บทละครต้องการได้ ความท้าทายประการที่สามก็คือการสร้างความน่าสนใจของบริบทด้านฉากและอุปกรณ์ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะภายในห้องรับแขกของมิเคลกับเวโรนิคเท่านั้น ซึ่ง พรรณนิภา และทีมงานก็สามารถรังสรรค์ฉากเล็ก ๆ นี้ออกมาได้อย่างเรียบง่ายทว่าสามารถสะท้อนรายละเอียดเชิงอุปนิสัยโดยเฉพาะรสนิยมในทางศิลปะของตัวละคร เวโรนิค ได้อย่างดี ซึ่งสิ่งที่ดูจะเตะตาที่สุดก็เห็นจะเป็นภาพเขียนแนว Abstract Expressionism ที่ละม้ายคล้ายจะเป็นงานของ Jackson Pollock ขนาดเขื่องที่แขวนอยู่บนผนังห้อง ประกาศก้องถึงจริตอันเลิศวิไลใน taste อันโก้หรูดูดีของเธอได้อย่างน่าตั้งคำถาม ความเรียบง่ายแต่ดูดีของฉากอุปกรณ์ประกอบในละครเรื่องนี้ทำให้ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์โยงใยไปกับตัวเรื่องได้อย่างมีประโยชน์

แต่ความท้าทายในระดับพื้นฐานเหล่านี้ก็คือคงยังไม่น่ายินดีได้เท่ากับการที่ พรรณนิภา สามารถเข้าถึงหัวใจของการกำกับงานแนวตลกทั้งหลาย ที่ผู้กำกับและนักแสดงจะต้องเคร่งเครียดและจริงจังกับทุก ๆ สถานการณ์ที่ดำเนินไปโดยไม่ต้องไป ‘พยายาม’ ทำให้มันตลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ชมที่มาชมในคืนวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นวันแรกของการแสดงจะสนุกครื้นเครงหัวร่องอหงายไปกับความฮาของละครได้อย่างไม่หยุดหย่อน แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีละครกลับตึงเครียดไปด้วยสถานการณ์บดขยี้จุดอ่อนทำให้พวกเขาต้องเผยสันดานที่ซุกซ่อนออกมาอย่างชวนให้ใจหายว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้น ซึ่งความตลกต่าง ๆ ที่ผู้ชมส่วนใหญ่ให้การตอบรับเป็นอย่างดีผู้เขียนก็มีโอกาสได้รับรู้จากหนังของ Roman Polanski มาก่อนแล้ว (ไม่เว้นแม้แต่ฉาก ‘รากกระจาย’ อันโด่งดัง) การติดตามเรื่องราวใน ‘บ้านบึ้ม’ นี้ผู้เขียนจึงมุ่งความสนใจไปที่มิติชั้นอันน่าศึกษาของตัวละครเสียมากกว่า ว่ามนุษย์เราจะสามารถซ่อนเงื่อนปมเก็บอารมณ์อะไรเอาไว้ภายในได้อย่างมากมายขนาดนี้เลยหรือ? หัสนาฏกรรมแห่งความยโสโอหังของมนุษย์เรื่องนี้จึงอาจมิใช่เรื่องที่น่าขำสำหรับผู้เขียน แต่มันเป็นงานที่ชวนให้เราได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติอันเปราะบางของมนุษย์อย่างลึกซึ้งและจริงจัง การนั่งชมละครเรื่องนี้จึงให้ประสบการณ์ที่แปลกประหลาดดีเพราะในขณะที่ผู้ชมกำลังเฮฮาปาหี่กันอยู่ตรงฟากหนึ่งของห้อง ตัวละครกลับต้องทะเลาะทุ่มเถียงกันอย่างเคร่งเครียดเอาเป็นเอาตายในพื้นที่อีกฟากซึ่งคล้ายจะอยู่ในคนละโลกเดียวกันอย่างไรอย่างนั้นเลย

ถึงแม้ว่าผู้กำกับ พรรณนิภา จะสามารถเอาชนะความท้าทายอันเป็นหัวใจสำคัญทั้งหมดได้อย่างน่าชื่นชมเพียงไร ละครเรื่องนี้ก็ยังมีความท้าทายระดับ ‘เทพ’ ซึ่งอาจยังคง ‘หิน’ เกินไปสำหรับผู้กำกับมือใหม่ไฟแรงอย่างเธอ ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่ยังขาดหายไปบ้างในละคร ‘บ้านบึ้ม’ เรื่องนี้ก็คือความเข้าใจตัวละครในระดับแตกฉานที่จะทำให้การกระทำต่าง ๆ ของพวกเขาขับเคลื่อนได้อย่างมีน้ำหนักของความน่าเชื่อมากที่สุด น่าเห็นใจที่เหตุการณ์และบุคลิกของตัวละครบางรายในละครเรื่องนี้มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมสูงโดยเฉพาะจริตความ civilised ในแบบชาติตะวันตกที่อาจจะห่างไกลจากความคิดอ่านในแบบเอเชียไปพอสมควร ตัวละครที่เป็นปัญหาที่สุดในละครเรื่องนี้ก็คือคุณนายเวโรนิค ซึ่งทั้งผู้กำกับ พรรณนิภา และนักแสดง กิตติพร ดูจะยังไม่เข้าอกเข้าใจ psyche ของเธอได้อย่างกระจ่างนักว่าเธอมีความรู้สึกตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไรจึงแสดงอะไร ๆ ออกมาเช่นนั้น การแสดงบทเวโรนิคของกิตติพรจึงแลดู ‘จิก’ เพียงเพราะบทกำหนดให้ ‘จิก’ หาได้เป็นการ ‘จิก’ จากปมภายในที่เธอพยายามซ่อนเอาไว้ด้วยการยกตนข่มคนอื่น สำหรับนักแสดงรายอื่น ๆ ก็ดูจะพอรับมือตัวละครที่มีความเป็นสากลกว่าอย่างน่าเชื่อได้ แต่ความรู้สึกหนึ่งซึ่งขาดหายไปอย่างน่าเสียดายก็คือสำนึกของการเป็นพ่อเป็นแม่ที่ยังไม่ปรากฏชัดเท่าไรนัก ทั้ง ๆ ที่มันก็ถือเป็นต้นตออันสลักสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด

บ้านบึ้ม_2

ความท้าทาย ‘ขั้นเทพ’ อีกประการสำหรับการกำกับละครเรื่อง ‘บ้านบึ้ม’ นี้ก็คือการรักษาสมดุลของตัวละครให้มีน้ำหนักที่พอดีไม่มีใครจมหายหรือได้ซีนไปจนเกินหน้าคนอื่น ๆ ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว พรรณนิภา เองก็รักษาความ balance ในส่วนนี้ได้อย่างดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากตัวละครหลักที่ปรากฏร่างบนเวทีทั้งสี่รายแล้วยังมีตัวละครรองอีกถึงสี่รายที่พวกเขาต้องช่วยกันสร้างบุคลิกและตัวตนขึ้นมาแม้ว่าผู้ชมจะไม่ได้เห็นหน้าค่าตาเลยก็ตาม ตัวละครรองเหล่านี้ก็ประกอบไปด้วย แฟร์ดินองด์ บูรโน ลูกน้องของอแลงและมารดาของมิเคลนั่นเอง ในส่วนของ แฟร์ดินองด์ และ บูรโน นั้นผู้ชมจะสัมผัสตัวตนของเขาได้จากบทพูดของตัวละครฝ่ายพ่อแม่ทั้งสองคู่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะวกวนเสียจนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ประกอบกับการแสดงที่ยังไม่มีการให้ความสำคัญของมิติความเป็นพ่อแม่สักเท่าไหร่ ทำให้บุคลิกของตัวละครต้นตอทั้งสองรายนี้ยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้ง ข้างฝ่ายตัวละครลูกน้องของอแลงซึ่งกนต์ธรเป็นผู้รับผิดชอบผ่านการตอบโต้ทางโทรศัพท์ก็ดูจะถูกกดทับด้วยลีลาการแสดงอันขึงขังดุดันในจังหวะการพูดที่ค่อนข้างกระชั้นจนไม่มีการเว้นช่องว่างให้คู่สนทนาอีกฝ่ายได้แสดงบทบาท(ผ่านความเงียบ)มากเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่ตัวละครรายนี้ก็มีอิทธิพลทำให้ อแลง รู้สึกหงุดหงิดกวนใจได้ทุกสถานการณ์ ด้านตัวละครมารดาของมิเคลซึ่ง วัฒนชัย เป็นฝ่ายรับผิดชอบนั้นก็ดูจะมีสีสันเชิงบุคลิกที่ชัดเจนที่สุดแม้เราจะไม่ได้ยินเสียงเธอเลยก็ตาม ซึ่งความมีตัวตนของตัวละครรายนี้มีก็ที่มาผ่านปฏิกิริยาของตัวละคร มิเคล เท่านั้น และวัฒนชัยก็สามารถรังสรรค์ออกมาได้อย่างดิบดี จนผู้ชมคงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกมีกะใจเอาใจช่วยให้เธอหายป่วยไว ๆ ตามไปด้วย การรักษาสมดุลระหว่างตัวละครในและนอกเวทีเหล่านี้ต้องการความพิถีพิถันในการกำกับระดับเก็บละเอียดจริง ๆ จึงจะสามารถทำให้ลงตัวได้ ซึ่งก็นับเป็นจุดที่ พรรณนิภา อาจต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้ละครเรื่องใหม่ของเธอมีความ ‘เนี้ยบ’ ยิ่งขึ้น

สำหรับจุดอื่น ๆ ซึ่งอาจมิได้เป็นเรื่องของความท้าทายหากเป็นสไตล์ที่ไม่สามารถชี้วัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็คือสำนวนภาษาที่ใช้แปลจากบทต้นฉบับให้เป็นภาษาไทยซึ่งผู้แปลดูจะพยายามรักษารูปประโยคแบบฝรั่งเอาไว้จนฟังดูไม่ลื่นไหลในหลาย ๆ จุด ซึ่งการแปลบทประพันธ์ภาษาต่างชาติให้เป็นภาษาไทยโดยเฉพาะในบทละครทั้งหลายที่ผู้เขียนพบเห็นส่วนใหญ่ก็มักจะมีจริตอะไรทำนองนี้ให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งโดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว การแปลคำฝรั่งบางคำอย่างตรงไปตรงมาเกินไป อาทิการใช้คำว่า ‘บางที…’ หรือ ‘ถ้าเช่นนั้น…’ มันก็ฟังดูชวนให้ขัดหูได้เหมือนกัน โดยเฉพาะกับงานที่ต้องการความลื่นไหลอย่างงานแนวตลกแบบเรื่องนี้ แต่กับบางคำที่ดัดแปลงเอาเองอย่างคำว่า ‘นังชะนี’ ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าเข้าที ทั้งยังทำให้ละครมีสีสันที่เข้าถึงได้มากกว่า ลีลาทางภาษาอะไรเหล่านี้อาจมีนัยยะในการรักษาบริบทของงานต้นฉบับได้ก็จริง แต่บางสิ่งที่มันขัดหูเกินไปก็อาจกลายเป็นการสร้างระยะห่างกับผู้ชมบางรายได้เช่นเดียวกัน

โดยภาพรวมแล้ว ‘บ้านบึ้ม’ จึงเป็นงานศิลปนิพนธ์ที่มีคุณภาพเลยพ้นรั้วมหาวิทยาลัยสามารถประชันขันแข่งกับผลงานของผู้กำกับระดับมืออาชีพทั้งหลายได้อย่างสบาย ๆ ซึ่งผู้เขียนก็หวังว่า พรรณนิภา และทีมงาน ที่ใกล้(และควรจะต้องได้)สำเร็จการศึกษาออกไป จะแข็งแกร่งพอที่จะรักษาคุณความดีต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ เมื่อต้องไปเจอกับเงื่อนไขและปัจจัยอันแสนไร้สาระอย่างเหลือหลายในโลกใบใหญ่ของการทำงานจริง ๆ!

3189910704_07b0b7e88c

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *