“ชูเบอร์ต: แม่แบบแห่งดนตรีคลาสสิกสกุลเวียนนา จากการตีแผ่โดยศิลปินสายเลือดเอเชีย”

music siamsociety

บวรพงศ์ สุภโสภณ*

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

ผมเองจำไม่ได้ว่า ไม่ได้ฟังทัศนา นาควัชระบรรเลงดนตรีในบทบาทศิลปินเดี่ยวมานานเท่าใดแล้ว แต่ก็คงจะราว3-4ปีเป็นอย่างน้อยทีเดียว จำได้ว่าเมื่อทัศนายังเป็นหนุ่มน้อยกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ เขามาแสดงเดี่ยวไวโอลินคอนแชร์โตของ ไฮเดิน(F.J.Haydn),คอนแชร์โต ของ เบโธเฟน(Ludwig van Beethoven),แสดงดนตรีในลักษณะเชมเบอร์มิวสิกร่วมกับสมาชิกของวงบี.เอส.โอ.(บางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา) ภายใต้การนำของ “อาจารย์หม่อม”(ฯพณฯองคมนตรี พล.ร.อ. มล.อัศนี ปราโมท)….ฯลฯกิจกรรมทางดนตรีที่กล่าวมานี้ทำให้ผมยังจำได้ดีว่า เคยเรียกทัศนา นาควัชระว่าเป็น “กรูมิโอเมืองไทย” เนื่องด้วยแนวทางดนตรีที่ทัศนาได้แสดงออกมานั้น มีลีลาอันนุ่มนวลละเมียดละไมอย่างโดดเด่น แบบเดียวกับ อาร์ตู กรูมิโอ(Arthur Grumiaux)ตำนานศิลปินเดี่ยวไวโอลินชาวเบลเยียมผู้ล่วงลับซึ่งแม้ท่านจะเป็น “ศิลปินเดี่ยว”(Soloist) เต็มตัวแต่ก็ยังรักษารสชาติของดนตรีอันกลมกล่อม,นุ่มนวลในเชิงเชมเบอร์มิวสิกอยู่เสมอ และกรูมิโอก็ชื่นชอบการเล่นดนตรีแบบเชมเบอร์มิวสิกและยังมีผลงานการบันทึกเสียงเชมเบอร์มิวสิกชั้นยอดมากมายที่อยู่ในระดับ “อ้างอิง” และเป็นแบบอย่างอันดีงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดนตรีคลาสสิกสกุลเวียนนา(Viennese Classic)อย่างโมซาร์ท,เบโธเฟนหรือชูเบอร์ต…..ในความชอบและรสนิยมจากส่วนลึกของทัศนาจะเป็นอย่างไรผมมิอาจคาดเดาหรือหยั่งรู้ได้ แต่จากการชมฝีมือการบรรเลงเดี่ยววิโอลา(Viola)ในบทเพลง อาร์เพจจิโอเน โซนาตา(Arpeggione Sonata) ของฟรันซ์ ชูเบอร์ต(Franz Schubert) ณ สยามสมาคมในคืนวันพุธที่8 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมาในรายการ “A Schubert Evening” ได้ตอกย้ำว่าสิ่งที่ผมเคยเรียกเขาว่า “กรูมิโอเมืองไทย”นั้นยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแต่ แสดงภาพได้ชัดเจนในความคิดมากขึ้น

กิจกรรมการแสดงดนตรีในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการแสดงปาฐกถาโดย ฌอง ปิแอร์ เคิร์กแลนด์(Jean Pierre Kirkland) ศาสตราจารย์ทางดนตรีชาวอังกฤษผู้ที่คู่ควรแก่คำว่า “นักวิชาการ”อย่างแท้จริงปาฐกถาของท่านแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้มีองก์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีสกุลเวียนนาและนักประพันธ์ดนตรีที่เกี่ยวข้องกับเมืองนี้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง ข้อมูลความรู้เหล่านี้ผ่านการกลั่นกรอง,ตกตะกอนและจัดระเบียบเป็นลำดับอย่างเรียบร้อย ด้วยวิธีการพูดแบบ “เล่าให้ฟัง” ข้อมูล,ความรู้เหล่านี้จึงฟังดูมีชีวิตชีวา เห็นภาพคล้อยตามได้ไม่ว่าผู้ฟังจะมีพื้นฐานทางดนตรีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม มิได้เป็นการพูดแบบท่องตำรา หรืออ่านจากเอกสาร การบรรยายจึงออกรส น่าติดตามนี่คือแบบอย่างในการบรรยายทางวิชาการที่มาจากผู้ที่มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดแตกฉานเป็นอย่างดีจนสามารถถ่ายทอดได้อย่างลื่นไหลและน่าสนใจโดยตลอด นับเป็นการสร้างความรู้-ความเข้าใจ และสร้างบรรยากาศ “ค่ำคืนแห่งชูเบอร์ต”สมชื่อรายการอย่างแท้จริง

การแสดงเริ่มต้นด้วย บทเพลง “อาร์เพจจิโอเน โซนาตา”โดยทัศนาเป็นผู้บรรเลงซอวิโอลาและมีจุน โคมัตสึ(Jun Komatsu)ศิลปินเดี่ยวเปียโนชาวญี่ปุ่นเป็นผู้บรรเลงเปียโนร่วมด้วย บทเพลงนี้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าประทับใจหมดจด ทั้งคู่มีทั้งทักษะ-เทคนิคสำหรับบทเพลงและความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการถ่ายทอดผลงาน(ซึ่งเราอาจเรียกมันว่า “Passion”)ที่ทัดเทียมกัน หลักการทางดนตรีและความงดงามทางศิลปะของชูเบอร์ตในลักษณะตัวแทนอันสำคัญแห่งดนตรีสกุลเวียนนาจึงเผยตัวตนให้เราได้ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความงดงามในลักษณะเพลงร้อง ซึ่งเรารู้จักสมญานามของชูเบอร์ตกันเป็นอย่างดีว่า “ราชาเพลงร้อง” และความงดงามในลักษณะเพลงร้องของชูเบอร์ตนั้นแตกต่างเป็นอย่างมากจากเพลงร้องในอุปรากร(Opera)ที่เราเรียกกันว่า “Aria”(อาริยา) ที่แฝงไว้ด้วยความตื่นเต้น-ร้อนแรงแต่ลักษณะเพลงร้องของชูเบอร์ตมักจะแฝงไว้ด้วยความอ่อนโยน,นุ่มนวลลึกซึ้ง เกื้อหนุนต่อคำร้องจากบทกวีที่งดงามแฝงด้วยปรัชญาให้ถ่ายทอดสารและความหมายสู่ผู้ฟังได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งลักษณะแนวคิดที่กล่าวมานี้ทั้งจุน โคมัตสึและทัศนา มีความเข้าใจเป็นอย่างดีจึงถ่ายทอดความงดงามที่ว่านี้ออกมาได้อย่างหมดจด

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากน่ากล่าวถึงก็เห็นจะได้แก่เรื่อง “ถ้อยคำทางดนตรี”ที่ทัศนามีวิธีการเปล่งเสียง(Articulation)ที่นุ่มนวลโดดเด่นอย่างหาตัวจับยากทีเดียว ตลอดการแสดงทั้ง3ท่อน เราจะไม่ได้ยินเสียงรบกวนที่เป็นการกระทบกันระหว่างคันชักกับสายซอใดๆเลย เป็นวิธีการเปล่งเสียงที่ทำให้เราได้ยินแต่เสียงดนตรีที่ใสสะอาดล้วนๆ ผมอยากจะเปรียบได้กับการนั่งรถที่มีระบบถุงลมกันสะเทือนชั้นดี ที่ต่อให่รถตกหลุมขรุขระบ้างแต่ผู้นั่งกลับไม่ได้รับการกระทบกระเทือนใดๆ ในท่อนที่2ซึ่งอยู่ในจังหวะช้า ทัศนาแสดงความเป็นนายเหนือเครื่องดนตรี(Master of the Instrument)ได้อย่างชัดเจน นี่เป็นครั้งแรกที่ผมกลับรู้สึกสัมผัสได้ถึงความไพเราะงดงามของถ้อยคำ(Word) ในบทเพลงในท่อนนี้ได้ ทั้งๆที่บทเพลงนี้ปราศจากเนื้อร้อง ทั้งประโยค,วลี,ถ้อยคำทางดนตรีของชูเบอร์ตลื่นไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติประดุจเพลงร้องจากเสียงมนุษย์อย่างแท้จริง แม้ตัวชูเบอร์ตจะไม่ได้เขียนคำกำกับเอาไว้แต่เราสัมผัสได้ด้วยใจว่านี่คือ “Song without words”ขนานแท้ ใช้อธิบายแนวคิดนี้ได้ดีกว่า บทเพลงSong without words อื่นๆที่ดุริยกวีจงใจเขียนมันขึ้นมาด้วยซ้ำไป ในท่อนที่3ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายในจังหวะเร็ว ทัศนาปรับลีลาการบรรเลงให้เข้มข้นและรุกเร้ามากขึ้น แม้กระนั้นมันก็ยังเป็นความเข้มข้นและรุกเร้าในบริบทและมโนทัศน์ทางดนตรีแบบชูเบอร์ตแห่งกรุงเวียนนา กล่าวคือเป็นลีลาเข้มข้นรุกเร้าซึ่งยังคงไว้ด้วยความนุ่มนวลปราศจากกลิ่นไอแห่งความก้าวร้าวรุนแรงใดๆทั้งปวง ลักษณะการเปล่งเสียงพยางค์สั้นๆที่เรียกว่า “Staccato”นั้น มีลักษณะกะล่อยกะหลิบด้วยถ้อยคำเล็กๆน้อยๆ สิ่งนี้น่าจะเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งในภาษาดนตรีแห่งสกุลเวียนนาคลาสสิกที่ทัศนา(และจุน โคมัตสึ)มีความเข้าใจ-เข้าถึงและถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างงดงาม เป็นความงดงามที่พอเหมาะพอดีในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นแนวทำนอง,จังหวะหรือโครงสร้างทางฉันทลักษณ์(Form)ที่ชัดเจน ผมถือว่านี่เป็นการบรรเลงที่ประกอบด้วยความรู้-ความเข้าใจและความงดงามในระดับที่กล่าวได้ว่า “เป็นแบบอย่าง” ทีเดียว

ในบทเพลงที่สองซึ่งเป็นเพลงเอกของรายการคือ เปียโนควินเท็ท ในบันไดเสียง เอ เมเจอร์ ผลงานลำดับที่667 (Piano Quintet in A Major,D.667)ที่มีฉายาว่า “The Trout”สำหรับบรรเลงด้วย เปียโน,ไวโอลิน,วิโอลา,เชลโลและดับเบิลเบส ซึ่งเมื่อเราได้มาสัมผัสกับการบรรเลงสดๆที่ไม่ได้ฟังจากแผ่นเสียงแล้ว ทำให้เราตระหนักถึงอัจฉริยะภาพของชูเบอร์ตที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะในบทเพลงนี้ชูเบอร์ตมีการ “ปล่อยของ”ทางดนตรีอยู่ไม่น้อย กล่าวคือแม้ว่าจะเป็นดนตรีเชมเบอร์มิวสิกที่มีความกลมกล่อมแบบคลาสสิกแห่งเวียนนา แต่ทว่าชูเบอร์ตกลับสอดแทรกสีสันทางดนตรี(Tone Colour)ไว้อย่างเจิดจ้าหลากหลาย,อวดเทคนิคการการบรรเลงเครื่องดนตรีไว้จนในบางตอนก็เข้าใกล้แนวคิด “Virtuosity”(การอวดเทคนิคการบรรเลงขั้นสูง)ทีเดียวโดยเฉพาะในแนวไวโอลินที่ศิลปินรอบจัดอย่าง เลโอ ฟิลิปส์(Leo Philips)ต้องรับบทหนักอยู่ไม่น้อย นับตั้งแต่ท่อนแรก(Allegro vivace = เร็วอย่างมีชีวิตชีวา)ที่เปิดเผยถึงความหลากหลาย,เข้มข้น ทั้งการใช้สีสันทางเสียงและความหนัก-เบาทางดนตรี(Dynamic) ความโดดเด่นทางดนตรีในภาพรวมอย่างหนึ่งของรายการแสดงในรายการนี้ทั้ง2เพลงก็คือการขับเน้นส่วนต่างๆในโครงสร้างทางฉันทลักษณ์ได้อย่างโดดเด่นและมีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในส่วนของทำนองหลักต่างๆ(Theme),ส่วนเชื่อมต่อ(Transition),ส่วนพัฒนาการ(Development)และส่วนสรุป(Coda) นักดนตรีทั้ง5คนสามารถสร้างความแตกต่างให้เห็นชัดว่า แต่ละส่วนมีหน้าที่ในตัวเองอย่างไร,เริ่มต้นและสิ้นสุดลงตรงไหน(เพราะเหตุนี้เอง ในท่อนสุดท้ายจึงเล่นเอาผู้ชมแทบจะปรบมือผิดเพราะคิดว่าเพลงจบ) สำหรับในท่อนที่4ที่ชูเบอร์ตใช้ฉันทลักษณ์การผันแปรแนวทำนองหลัก(Theme and Variations)นั้น ในการผันแปรบางช่วงมีการสลับเปลี่ยนบันไดเสียงไป-มาอย่างเร็ว ซึ่งทำให้เราสามารถสัมผัสถึงสีสันทางเสียงที่สลับไป-มาอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่งได้เช่นกัน นี่จึงเป็นหนึ่งในแนวคิดด้านศิลปะแห่งสีสันทางเสียงอย่างแท้จริง ในตอนท้ายของท่อนสุดท้าย(ท่อนที่5) ชูเบอร์ตยังสอดแทรกลักษณะดนตรีที่ผสมผสานด้วยแนวคิดแบบกึ่งเพลงร้อง-กึ่งเต้นรำและแฝงด้วยลักษณะดนตรีSalon music แบบเวียนนาอันงดงามไว้อีกด้วยนับเป็นลักษณะดนตรีที่ทั้งเรียบง่ายแต่ก็กลับแฝงด้วยรสนิยมอันดีทีเดียว

ผมเชื่อมั่นว่าตลอดกิจกรรมดนตรีในครั้งนี้ ทั้งการบรรยายและการแสดงดนตรีที่สอดคล้องกลมกลืนกัน จะทำให้ผู้ชมเกิดทั้งความเข้าใจและความรักในดนตรีของชูเบอร์ตและความงดงามคลาสสิกของดนตรีสกุลเวียนนามากยิ่งขึ้น ในขณะที่ดนตรีคลาสสิกสกุลเยอรมันแบบ บาค(J.S.Bach)และเบโธเฟน(ในบางส่วน)แสดงความโดดเด่นของดนตรีในเชิงตรรกะ,เหตุผลและความคิด บ่งบอกคุณค่าด้วยความเป็นเลิศทางมันสมอง เสมือนการตอกย้ำว่าความคิดและ สมองนั่นเองที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้และมีพัฒนาการที่สูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นใดในโลก แต่ดนตรีคลาสสิกสกุลเวียนนาแบบโมซาร์ทและชูเบอร์ตนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปะดนตรี ในภาพรวมอันกว้างขวาง กล่าวคือ ดนตรีคือสมดุลของสมองทั้งสองซีก ทั้งซีกซ้าย(ตรรกะ,เหตุผล)และซีกขวา(อารมณ์-ความรู้สึก) คำว่า”คลาสสิก”คือความงดงามอันกลมกล่อมพอเหมาะพอดีในทุกสัดส่วนและองค์ประกอบทางดนตรีไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนอง(Melody)ที่ไพเราะอ่อนหวาน(แต่ไม่หวานจนเอียนหรือเลี่ยน),การประสานเสียง(Harmony),จังหวะ(Rhythm)และฉันทลักษณ์(Form)ที่มีความชัดเจนในตัว องค์ประกอบทางดนตรีทั้งหมดนี้จะต้องได้รับการจัดวาง,ผสมผสานอย่างพอเหมาะกลมกลืนในทุกสัดส่วน นี่เองคือรากฐานความหมายหนึ่งแห่งคำว่า “คลาสสิก” และเมื่อพิจารณาด้วยมาตรฐานแนวคิดที่ว่านี้แล้ว ชูเบอร์ตนี่แหละ(ผู้ที่มีเวลาอยู่ในโลกนี้เพียง31ปี,น้อยกว่าโมซาร์ท4ปี!) น่าจะคู่ควรแก่การเป็นแบบอย่างอันเป็นอุดมคติของทั้งคำว่า “คลาสสิก”และ “เวียนนาคลาสสิก”อย่างแท้จริง

ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการถ่ายโอนทางหลักวิชาความคิดและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนอย่างเป็นอิสระที่อาจเรียกว่า โลกยุคไร้พรมแดน,โลกแห่งความรวดเร็วในการสื่อสาร….ฯลฯ อันใดก็ตามแต่ ศิลปะดนตรีก็ดูว่าจะไม่มีข้อยกเว้น ในหลายกรณีศิลปินดนตรีจากโลกตะวันออกมีความรู้-ความสามารถในการถ่ายทอดดนตรีคลาสสิกตะวันตกได้ดีกว่าศิลปินในยุโรปเองด้วยซ้ำ และแม้กระทั่งศิลปินจากโลกตะวันออก “บางคน”ก็ยังก้าวไกลไปถึงขั้นเป็นศาสตราจารย์ทางดนตรีคลาสสิกตะวันตก สอนและ “ถ่ายทอด”วิชาการทางดนตรีคลาสสิกให้กับทายาทเจ้าของวัฒนธรรมเองด้วยซ้ำไป หรือในทางกลับกันคนอเมริกันแบบที่ชื่อบรูซ แกสตัน(Bruce Gaston)ก็มีความรู้-ความเข้าใจในวิชาทางดนตรีไทยแบบฉบับ(ที่เรียกกันว่า “ไทยเดิม”)อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง ในระดับที่สามารถถ่ายทอด “ศิลปะแห่งดนตรีไทย”ให้แก่ลูกหลานชาวไทยได้เช่นกัน เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่พบการเรียนการสอนในวิชา”Thai Study”ได้ในมหาวิทยาลัยต่างชาติหลายแห่ง เพราะหลักวิชาทางดนตรีหรือศิลปะก็อาจคล้ายกับหลักธรรมนั่นก็คือเป็น “สภาวธรรม”ที่ใครก็เข้าถึงได้โดยไม่จำกัดสายเลือดหรือชาติกำเนิด ถ้าหากเขาผู้นั้นเปิดใจมุ่งมั่นพากเพียร,ฝึกฝนด้วยศรัทธาอันแรงกล้าอย่างแท้จริง

เมื่อพิจารณากันถึงขั้นนี้แล้ว ผมจึงมั่นใจใน “ความรู้สึก”ว่า ในการแสดงดนตรีในครั้งนี้ศิลปินดนตรีที่แสดงความเป็นแบบอย่างของดนตรีสกุลเวียนนาอันเป็นเลิศก็คือ ทัศนา นาควัชระ(วิโอลา)และจุน โคมัตสึ(เปียโน)โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเพลงโซนาตา อาร์เพจจิโอเน ที่เปิดรายการนั่นเอง ซึ่งกล่าวโดยนอกเหนือไปจากเทคนิควิธีการบรรเลงดนตรีแล้วความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดดนตรี(Passion) นั้นแจ่มชัดกว่าในบทเพลงที่สอง(เปียโนควินเท็ท)ที่แม้ในเชิงเทคนิคจะไม่มีความผิดพลาดใดๆก็ตาม แต่ในระดับความรู้สึกที่ลึกลงไปเรากลับสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นในทางดนตรี(Passion)ที่ยังคงลดหลั่นแตกต่างกันอยู่บ้าง เรื่องเล็กๆน้อยๆที่อยากจะขอนำมาเล่าเพื่อเป็นบทเรียนบางอย่างในที่นี้ก็คือ ซอวิโอลา ของทัศนา ที่มีน้ำเสียงอันแสนจะไพเราะงดงามและติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเราในครั้งนี้นั้น มีราคาที่คิดเป็นเงินบาท ด้วยตัวเลข6หลัก(และหลักแรกก็ยังเป็นเพียงตัวเลขต้นๆ!) นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตอกย้ำถึงบทเรียนที่ว่า เสียงซอที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และความมีชีวิตชีวาอันสามารถสร้างความตราตรึงอยู่ในความทรงจำได้นั้น ไม่จำเป็นจะต้องขึ้นชื่อด้วยยี่ห้อ “สตราด”(Stradivarius),อายุ300ปีในราคาตัวเลข8หลักเสมอไป สำหรับ จุน โคมัตสึ ถ้ากล่าวถึงเธอ “ในความเป็นดนตรี”แล้ว เธอไม่ใช่คนญี่ปุ่นแบบที่เราอาจปรามาสได้ว่าเล่นดนตรีแบบหุ่นยนต์เก็บได้ครบทุกตัวโน้ตแต่ไร้วิญญาณความรู้สึก ถ้าเรามองศิลปินดนตรีคลาสสิกจากโลกตะวันออกด้วยความคิดเช่นนี้แล้ว ขอยืนยันว่า จุน โคมัตสึคือข้อยกเว้น ทั้งความสะอาด,ละเมียดละไมในไสตล์ของชูเบอร์ตในครั้งนี้ หรือย้อนกลับไปสู่การบรรเลงเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข1 ของชอสตาโควิช(Dmitri Shostakovich)อันร้อนแรง เมื่อหลายปีก่อน ทุกๆครั้งในการแสดงดนตรีของเธอนั้นจะสูงด้วยมาตรฐานทางเทคนิค,ความเข้าใจและการตีความในไสตล์ดนตรีที่บรรเลง นี่จึงเป็นนิยาม-ความหมายของคำว่า วินัยและระเบียบทางศิลปะดนตรีอย่างแท้จริง ถือเป็นแบบอย่างอันดีให้กับผู้ที่คิดจะเดินในแนวทางแห่งการเป็นศิลปินดนตรีที่จะต้องมีทั้งวินัยและความรับผิดชอบอันนอกเหนือจากความมีใจรักเป็นพื้นฐาน ข้อสรุปทิ้งท้ายของบทความนี้จึงอาจเดินมาถึงจุดที่ท้าทายเกินไปบ้างก็ได้ว่า “ค่ำคืนแห่งชูเบอร์ต”ในครั้งนี้ ศิลปินดนตรีที่มีความชัดเจนโดดเด่นในการช่วยกันเปิดประตูให้เรา(ผู้ชม)ได้ก้าวเดินเข้าไปสัมผัสกับความงดงามแห่งดนตรีคลาสสิกเวียนนา(Viennese Classic) อันงดงามลงตัวแบบอุดมคตินี้ก็คือ ศิลปินคู่หูสายเลือดตะวันออกเรานี่เอง

* นักวิจารณ์ดนตรีคลาสสิกชั้นนำ นักจัดรายการทางคลื่น 100.5 เอฟเอ็ม อสมท. อดีตนักวิจัยโครงการวัจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *