ที่ทางและสถานการณ์ปัจจุบันของโรงละครโรงเล็กในกรุงเทพมหานคร

เกิดดับ

ที่ทางและสถานการณ์ปัจจุบันของโรงละครโรงเล็กในกรุงเทพมหานคร

อรพินท์  คำสอน

           ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา (2556)  ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมฟังคุณประดิษฐ ประสาททอง  พร้อมนักแสดงผู้เป็นตัวแทนจากละครโรงเล็กในกรุงเทพมหานครอีก 4 คน คือ คุณสินีนาฏ เกษประไพ (พระจันทร์เสี้ยวการละคร)  คุณจารุนันท์  พันธชาติ  (B-floor Room) คุณสุนนท์ วชิรวราการ (ช้างเธียเตอร์)  และคุณภาวิณี  สมรรคบุตร  (Democracy Theatre Studio)  ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “ที่ทางของละครร่วมสมัยไทย  โรงละครขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร”  ณ ห้องออดิทอเรียม  ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่เห็นว่าควรนำมากล่าวถึงในหลากหลายประเด็น

เบื้องต้นคงต้องทำความเข้าใจความหมายของโรงละครโรงเล็กที่คุณประดิษฐต้องการสื่อร่วมกันก่อนว่า  คือ  “สถานที่จัดแสดงละครเวทีอย่างสม่ำเสมอ  ขนาดประมาณ 20-100 ที่นั่ง  หรือขนาด 10 x 10 เมตร แต่ไม่เกิน 15 x 15 เมตร ตั้งอยู่ในทำเลที่เดินทางไปมาสะดวก  ดำเนินการโดยศิลปิน  ซึ่งอาจจะเป็นเอกชนหรือราชการ  แต่ต้องเพื่อสนับสนุนงานเชิงศิลปะ  งานทดลองใหม่ๆ  งานละครนอกกระแส   และต้องมิใช่ละครเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ  หรือ ละครแนวประเพณีนิยมด้วย   เพราะละครเหล่านี้มักจะมีโจทย์หรือหัวข้อเฉพาะ  ซึ่งศิลปินไม่สามารถที่จะสร้างงานที่แหวกกรอบ  ขนบ หรือไม่สามารถที่จะสร้างเป็นศิลปะบริสุทธิ์ (pure art) ได้”  ทั้งนี้  โรงละครโรงเล็กมิได้หมายถึงโรงละครชั้นรอง เพราะผู้กำกับละครชั้นนำในโรงละครขนาดใหญ่ในละครกระแสหลักจะต้องจัดแสดงละครในโรงละครโรงเล็กได้ด้วย  ซึ่งผู้กำกับเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับขนาดของโรงละคร  แต่ขอให้โรงละครสามารถตอบสนองสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้  ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าละครโรงเล็กมีเสน่ห์บางอย่างที่ละครโรงใหญ่ไม่มี  หรืองานบางชิ้นไม่สามารถนำออกแสดงในโรงละครโรงใหญ่ได้  เพราะศักยภาพของโรงใหญ่ไม่สามารถทำให้การเล่าเรื่องดำเนินไปได้อย่างดี   

โรงละครขนาดเล็กในประเทศไทยมิใช่เพิ่งจะถือกำเนิดพร้อมๆ กับกระแสความนิยมของละครเวทีกระแสหลัก  โดยเฉพาะละครเพลง เมื่อไม่ปีกี่มานี้  แต่โรงละครโรงเล็กเป็นละครทางเลือกที่เคียงคู่มากับละครเวทีในสื่อกระแสหลัก (mainstream) ในสังคมไทยมายาวนานกว่าสองทศวรรษแล้ว  หากจะกล่าวถึงโรงละครขนาดเล็กที่ยังคงเป็นตำนานในหัวใจของนักการละครรุ่นใหญ่และรุ่นกลางก็คงจะเป็น “มณเฑียรทองเธียเตอร์”  ที่นับเป็นยุคเฟื่องฟูของโรงละครโรงเล็กที่สามารถยืนหยัดจัดแสดงอย่างต่อเนื่องได้ทุกคืนติดต่อกันมานับสิบปี  ขณะเดียวกันยังได้สร้างบุคลากรทางการละครไว้เป็นจำนวนมาก  และหลายคนยังทำงานต่อเนื่องอยู่จนถึงปัจจุบัน  ขณะเดียวกันยังมีละครโรงเล็กอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี  ซึ่งมีทั้งที่ปิดตัวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “มายาบล็อก Studio” (ในภัทราวดีเธียเตอร์) “มะขามป้อมสตูดิโอ”  และ “แปดคูณแปด คอร์เนอร์” และโรงละครที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  อาทิ  “มรดกใหม่”  “ช้างเธียเตอร์”   Democracy Theatre Studio  Crescent Moon Space  B-floor Room  และ “Blue Box Studio” เป็นต้น   

จากประสบการณ์ของตัวแทนจากโรงละครโรงเล็กที่ร่วมเสวนาในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า  ผู้ที่จะฝ่าฝันและยืนหยัดบนเส้นทางของโรงละครโรงเล็กในประเทศไทยได้จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจมุ่งมั่น และพร้อมที่จะอดทนและต่อสู้กับอุปสรรคนานับประการ นับตั้งแต่ปัญหาขึ้นพื้นที่ฐาน  นั่นคือรายได้ในการเลี้ยงชีพของตน  แม้ว่าจะมีโรงละครโรงเล็กบางโรงสามารถที่จะจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับศิลปินในคณะของตนได้  เพราะดำเนินการในลักษณะของคณะละครอาชีพ เช่น “ช้างเธียเตอร์”  แต่ยังมีคณะละครส่วนใหญ่ นอกจากศิลปินจะไม่ได้รับค่าตอบแทนแล้ว  ยังต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนในการสร้างละครเรื่องต่อไปด้วย  เช่น  Crescent Moon Space” และ “B-floor Room   แต่ทุกคนต่างยอมรับด้วยความเต็มใจ เพราะนี่คืองานที่รักและขาดไม่ได้ในชีวิต 

ปัญหาประการต่อไปคือ การแบกรับค่าเช่าโรงละคร  ซึ่งคณะละครบางคณะโชคดีที่มีผู้เอื้อเฟื้อคิดราคาค่าเช่าสถานที่ในราคาถูก  เช่น  Crescent Moon Space” และ “B-floor Room  ที่เช่าพื้นที่จากสถาบันปรีดี  พนมยงค์  แต่ยังมีโรงละครบางแห่งที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้เช่าพื้นที่ที่สูงมาก เช่น “Democracy Theatre Studio อย่างไรก็ดี  ทุกคณะต่างยอมรับว่าพื้นที่โรงละครเป็นพื้นที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องมี  เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้แต่คณะละครสามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ  ด้วยการได้ทำงานได้จริง พัฒนางานได้ และมีพื้นที่ซ้อมและแสดงงานของตนแล้ว  โรงละครยังเป็นพื้นที่ที่แสดงตัวตนให้ปรากฏต่อสังคมวงกว้างอีกด้วย 

เมื่อมีโรงละครแล้ว  ปัญหาที่โรงละครโรงเล็กต้องเผชิญต่อไปคือ  การสร้างและขยายฐานผู้ชมให้กว้างขวางและแข็งแรงขึ้น  เพราะค่าบัตรเข้าชมนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้โรงละครโรงเล็กอยู่ต่อไปได้   ทั้งนี้จะพบว่าแม้จะขายบัตรเข้าชมหมดทุกรอบ  แต่รายได้จากค่าบัตรในการจัดแสดงละครเรื่องหนึ่งๆ จะครอบคลุมเฉพาะค่าจัดทำ production และค่ารถของนักแสดงเท่านั้น  ยังไม่รวมค่าตอบแทนศิลปิน   อนึ่ง  การสร้างฐานผู้ชมนับเป็นประเด็นที่นักการละครของโรงละครแต่ละโรงต้องต่อสู้กับความคิดของตนเองว่า  จะทำงานเพื่อป้อนตลาดเพื่อให้ขายบัตรได้เป็นจำนวนมาก  หรือว่ายังคงเลือกที่จะสร้างงานที่ตอบสนองความต้องการของตน  หรือตอบโจทย์บางอย่างที่กำลังค้นหาอยู่  หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในคณะ  โดยไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการหรือรสนิยมของผู้ชมส่วนใหญ่  ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าพฤติกรรมของผู้ชมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก  นับเป็นปัญหาที่คณะละครต้องเผชิญ เรียนรู้และแก้ไขต่อไป

ปัญหาที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งที่ตัวแทนคณะละครส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องกันคือ  พื้นที่ซ้อม เพราะโรงละครโรงเล็กมักจะมีพื้นที่จำกัด  และใช้พื้นที่จัดแสดงและพื้นที่ซ้อมร่วมกัน  เมื่อมีคณะละครเล่นแข่งขันกันมากขึ้น  จึงทำให้ขาดพื้นที่ซ้อม  ทำให้โรงละครแต่ละโรงต้องแก้ปัญหาด้วยการไปขอใช้สถานที่ซ้อมใต้อาคารเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ  หรือซ้อมที่ลานหน้าบ้านผู้กำกับฯ หรือซ้อมที่ลานหน้าอาคาร  และบางครั้งยังมีการเช่าสนามฟุตซอลเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อม  

แม้ว่าในปัจจุบันดูเหมือนว่าลู่ทางของละครเวทีไทยจะดูสดใสขึ้น  เพราะมีโปรดักชั่นขนาดใหญ่ที่ค่าบัตรเข้าชมราคาแพงปีละหลายเรื่องและเรื่องละหลายรอบ  แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะชมละครเวทีของโรงละครโรงใหญ่ที่เป็นสื่อกระแสหลักเท่านั้น  และจะมีผู้ชมเพียงจำนวนน้อยที่เลือกชมละครนอกกระแสในโรงละครโรงเล็ก  ซึ่งจำนวนผู้ชมละครโรงเล็กที่น้อยเหล่านี้  นับเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้โรงละครโรงเล็กบางโรงไม่สามารถที่จะยืนโรงได้เพราะขาดรายได้และต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก โรงละครเหล่านี้ต้องต่อสู้เพื่อเลี้ยงตนเองให้รอดได้  โดยแทบจะไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศเลย   หรือมีโรงละครบางโรงโชคดีที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนการจัดทำโปรดักชั่นจากองค์กรต่างประเทศบ้าง 

หากจะถามว่านักละครในโรงละครโรงเล็กเหล่านี้ไม่มีทางเลือกหรือไม่สามารถที่จะทำงานเพื่อสนองความต้องการของตลาดดังเช่นละครกระแสหลักได้จริงหรือ  คำตอบคือมี  แต่นักการละครเหล่านี้ต่างเลือกแล้วว่าจะยืนหยัดเพื่อทำงานในแนวที่ตนชอบและที่เลือกนี้ต่อไป  เพราะเชื่อว่าการทำละครมิใช่การทำงานเพื่อขยายฐานผู้ชมหรือทำงานเพื่อป้อนตลาดเท่านั้น  แต่การทำละครยังเป็นการทำงานเพื่อเรียนรู้  ค้นหา  และพัฒนาศักยภาพขอคนในคณะละครให้สูงขึ้นไปอีก   ด้วยเหตุผลที่นักการละครในโรงละครโรงเล็กเหล่านี้ต่างเลือกที่จะทำงานละครด้วยความรัก มากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์หรือสร้างรายได้เพื่อความร่ำรวย  จึงทำให้โรงละครเหล่านี้มีเสน่ห์และจิตวิญญาณเฉพาะตนอย่างที่โรงละครขนาดใหญ่ไม่มี 

นอกจากนี้  โรงละครโรงเล็กยังมีบทบาทหน้าที่อันสำคัญยิ่งในสังคม  ซึ่งไม่เพียงนำเสนอเพียงงานละครนอกกระแสเท่านั้น  แต่โรงละครเล็กๆ เหล่านี้มีหน้าที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริม  หล่อหลอมและธำรงวงการละครให้อยู่ได้อย่างมีชีวิตชีวาและเข้มแข็งในหลากหลายลักษณะ ทั้งทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะ  และฝึกฝนให้นักการละครรุ่นใหม่มีฝีมือที่เชี่ยวกรำจนสามารถที่จะก้าวไปยืนอย่างมั่นคงในเวทีใหญ่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติได้   ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างต้นทุนทางศิลปะและต้นทุนทางวิชาการให้แก่นิสิตนักศึกษาวิชาการละครได้เล่าเรียนผลงานละครใหม่ๆ ฝีมือนักการละครชาวไทยไปพร้อมๆ กับงานละครคลาสสิกของโลก  นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ต่อยอดจากการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย  เพื่อสร้างอาชีพให้นักการรุ่นใหม่ให้กับนิสิตและนักศึกษาการละครที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา  ยิ่งไปกว่านั้น  โรงละครโรงเล็กยังเป็นพื้นที่ทางสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันได้มารวมตัว  พบปะ และเสวนากันในเรื่องของละครที่รัก  อีกทั้ง บทเวทีละครยังเป็นพื้นที่สื่อสารทางสังคมที่สามารถนำเสนอประเด็นต่างๆ ทั้งที่สื่อได้และสื่อไม่ได้ในสื่อสาธารณะหรือในสื่อกระแสหลัก 

  ท้ายที่สุดขอสรุปบทความชิ้นนี้ด้วยคำพูดทิ้งท้ายของคุณประดิษฐ์ที่ว่า  โรงละครโรงเล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ของเมืองใหญ่ไม่สามารถที่จะนำวิธีคิดแบบธุรกิจ หรือการดำรงชีพด้วยเงิน  ถ้าคิดว่าเงินคือปัจจัยเดียวที่เราจะดำรงชีพหรือทำให้เราหายใจอยู่ได้  ก็คงจะไม่ใช่  จึงอยากให้ทุกคนเปิดใจกว้างว่า  ปัจจัยของโรงละครเล็กๆ ที่เกิดในพื้นที่เล็กๆ นั้น  ส่งผลที่ยิ่งใหญ่ในระดับบุคคล  ระดับชุมชน และในระดับสังคมได้จริง  และชีวิตของคนไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยสี่ที่จะทำให้ชีวิตเราอยู่ได้เท่านั้น  แต่ยังมีในมิติของจิตวิญญาณ  ความรัก และความมั่นคงทางจิตใจ  ที่ทำให้เราดำรงอยู่เป็นคนที่สมบูรณ์ได้ด้วย และละครเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ นี่เอง ที่ช่วยให้คนกลุ่มเล็กๆ ดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *