ละครเวที มนต์รักคลองแสนแสบ : เพราะเรื่องบางเรื่อง “บ่องตง” ไม่ได้

ละครเวที มนต์รักคลองแสนแสบ : เพราะเรื่องบางเรื่อง บ่องตงไม่ได้ 

เผยแพร่ใน facebook : Sonny Chatwiriyachai เมื่อวันที่ 6 .. 2556

มนตร์รักคลองแสนแสบ

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

 

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

ผู้เขียนขอย้อนไปพูดถึงความประทับใจที่ได้เข้ามารับหน้าที่นักแสดงแทนในละครเวทีเรื่อง “จุรี อินคอร์นเสิร์ต” ในปี พ.ศ. 2536  ซึ่งทำให้รู้ว่าวงการพากษ์เสียงภาพยนตร์ในยุค 16 มม. จะไม่สมบูรณ์หากขาดซึ่งเสียงของจุรี โอศิริ และ สมพงษ์ วงศ์รักไทย  ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เพื่อที่เชื่อมโยงถึงภาพยนตร์ไทยในยุคสมัย 16 มม.ซึ่งในยุคนั้นผู้สร้างภาพยนตร์ใช้ สูตรสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ จนทำให้แต่ละเรื่องมีความคล้ายคลึงกันไปหมด โดยมีพล็อตเรื่องที่เป็นเมโลดรามา (melodrama) ที่ความดีจะเอาชนะความชั่วในท้ายที่สุด ตัวละครก็จะมีลักษณะแบน คือพระเอกก็ต้องเป็นพระเอ๊กพระเอก ผู้ร้ายก็หาความดีอะไรสักนิดหนึ่งไม่ได้เอาเสียเลย ส่วนตัวตลกหรือคู่หู ก็มีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องตลกได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะหน้าสิ่วหน้าขวานขนาดไหน ในเรื่องเอกภาพของการกระทำของตัวละคร หรือความเป็นเหตุเป็นผลของเรื่องราว ก็แทบไม่มีเลย เพราะมักจะใช้การเขียนพล๊อตเรื่องในแนว เทพปาฏิหารย์  (Deus Ex Machina) เช่นการกำหนดให้คนใช้กลายเป็นทายาทของเศรษฐีพันล้าน หรือให้ไอ้หนุ่มชาวนาคือหม่อมเจ้าที่ปลอมตัวมา หรือแม้กระทั่งการกำหนดให้ตัวละครทำอะไรจากคำบอกเล่าของหมอผี หมอดู หรือไสยศาสตร์

มนต์รักคลองแสนแสบเป็นละครจากผลงานการเขียนบทและกำกับของ ปานรัตน กริชชาญชัย (นามสกุลเกิดพ้องกับผู้เขียน คือ ศรชัย นะครัสแหม่!) แห่ง New Theatre Society ซึ่งได้บอกใบ้เอาไว้ว่าได้รับอิทธิพลมาจากละครเมโลดรามาของเยอรมัน ในปี ค.. 1761 ซึ่งผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องละครเยอรมัน แถมเกิดไม่ทันเสียด้วย จึงจนด้วยเกล้าไม่รู้ว่าละครเช่นที่ว่านั้นเป็นอย่างไร แต่ทางผู้จัดก็ได้ให้ข้อมูลว่าแท้จริงแล้วมันเป็นอิทธิพลที่ส่งผลมาถึงภาพยนตร์ไทยในยุค ไอ้ขวัญ อีเรียม นั่นแล ผู้เขียนจึงพอจะมีปัญญาเขียนถึงเรื่องนี้ได้บ้าง 

มนต์รักคลองแสนแสบ ถ้าจะดูเพื่อการบันเทิงเพียงอย่างเดียว ก็นับว่าผู้ชมได้รับสิ่งนั้นโดยสมความมุ่งหมาย ไม่ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด เพราะทีมนักแสดงที่ขนกันมาเพื่อปล่อยของอย่าง ปริยา วงษ์ระเบียบ, ดลฤดี จำรัสฉาย, จตุพร สุวรรณสุขุม, กฤษณะ พันธุ์เพ็งนพพันธ์ บุญใหญ่ ซึ่งคงไม่ต้องการแนะนำกันอีกแล้ว โดยเฉพาะในฉากบนบานเจ้าพ่อที่ทำเอาผู้เขียน และผู้ชมในโรงละคร หัวเราะกันจนน้ำหูน้ำตาไหล แต่ถ้าหากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ชมจะได้รับอรรถรสอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะให้ความรู้สึกอิ่มเอมไม่แพ้สิ่งที่จะได้รับจากความฮาซึ่งมีให้ชมไม่ขาดช่วงอยู่แล้ว

 

เริ่มจากการตั้งชื่อ มนต์รักคลองแสนแสบ คือการยั่วล้อวิธีการตั้งชื่อภาพยนตร์ไทยสมัยก่อน ที่ต้องการดึงเอาความเป็นไทยมาประกอบเอาไว้ในชื่อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ คลอง, บ้านไร่, ท้องทุ่ง, โคก, ภู เพื่อชักชวนให้ผู้ชมได้ รับแซ่บว่าจะได้พบกับกลิ่นอายของความเป็นชนบท ซึ่งเป็นสิ่งที่สูญหายตกหล่นไปในยุคที่สังคมไทยเราหมุนไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ส่วนคำหน้าหน้าว่า มนต์มีที่มาจากภาษาบาลี แปลว่า คำศักดิ์สิทธิ์ก็คล้ายจะบอกเป็นนัย ๆ ว่าเรากำลังจะได้เจอกับเรื่องราวที่อย่าไปหาเหตุหาผลแบบวิทยาศาสตร์ให้ เมื่อย เพราะมันก้าวข้ามไปสู่เรื่องของจิตวิญญาณ และความเชื่อ ส่วนที่ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นคลองแสนแสบ ผู้เขียนก็ไม่ทราบเหตุผล แต่ถ้าให้เดาก็คงจะต้องย้อนกลับไปถึงประวัติของคลองแสนแสบที่ถูกขุดขึ้นใน สมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับบางปะกงเข้าด้วยกัน มันจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ คล้ายกับจะสื่อว่าสิ่งที่จะแสดงในละครเมโลดรามาเรื่องนี้อย่าได้เอาไปเปรียบเทียบกับความเป็นจริง เพราะมันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้สมจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่นำเสนอจะ ไม่จริง

ผู้ชมต้องเข้าใจเสียก่อนว่าละครเรื่องนี้เป็นแนวไม่เหมือนจริง (Presentation Style) ดังนั้นเราจะได้เห็นการใช้ท่าทางประกอบการพูดที่เกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะทำกัน ซึ่งเป็นความจงใจและต้องมีการฝึกซ้อมท่าการแสดงมาเป็นอย่างดี จึงจะแสดงได้อย่างมีศิลปะ ซึ่งละครเรื่องนี้ทำได้ดีมาก ผู้ชมจะได้เห็นการใช้ร่างกายของนักแสดงที่จงใจเสียดสีการแสดงในสมัยก่อน โดยใช้กลวิธีเอามาทำให้ขยายใหญ่ขึ้น ใช้การทำท่าเดิมซ้ำ ๆ  หรือเปลี่ยนความเร็วช้าในการแสดง การใช้เสียง เพื่อขยายผลความเป็น “(เมโล)ดรามาให้กับการแสดง การใช้เสียงของนักแสดงซึ่งล้อมาจากการพากษ์หนังไทยยุคเก่า หรือละครวิทยุ ซึ่ง แหม่ม ปริยา ทำได้ดีมากจนผู้ชมหัวเราะท้องแข็งกันไปทุกครั้งที่เธอพูด แต่การที่ผู้ชมจะหัวเราะขบขันกันมากขนาดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ฉุกคิดเล็กน้อยว่า เพราะเหตุใดเมื่อเสียงเหล่านี้อยู่ในภาพยนตร์เราจึงยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่กลับไม่อาจจะยอมรับได้เมื่อเป็นการแสดงสดบนเวที จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าจงใจเปลี่ยนตำแหน่ง (misplace) โดยนำขนบที่ได้รับการยอมรับในบริบทหนึ่ง มาวางอย่างผิดที่ผิดทางในอีกสนามวาทกรรมหนึ่ง ผลจะกลายเป็นปฏิกิริยาตอบรับซึ่งทำให้ผู้ชมอมยิ้ม (toung in cheek) หรือไม่ก็รู้สึกขบขัน แต่ก็รู้สึกขื่นขมในเวลาเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า ขันขื่นซึ่งเป็นสภาวะหนึ่งของการชมศิลปะการแสดงในแบบโพสโมเดิร์น

นอกจากท่าทางการแสดง ผู้กำกับและผู้เขียนบทยังหยิบยกวิธีการแสดงละครในแนวเมโลดรามา มาเสียดสีโดยวิธีการทำให้แปลก เกินจริง ซึ่งก็ต้องถือว่าเกินความเป็นเมโลดรามาไปอีก เช่น การเข้าสู่เวทีของตัวละครคือคุณแม่บัวบานที่จะต้องคลานกระดืบเข้ามาทุกครั้ง, การที่ตัวละครรู้เรื่องราวในฉับพลันทันที ทั้ง ๆ ที่พึ่งจะป้องปากกระซิบ, การเล่นหูเล่นตากับกล้อง หรือคนดู ก่อนที่จะออกไปจากฉาก, การชี้ชวน ให้ดูนกดูไม้ หรือแม้กระทั่งให้ดูเว็จ หรือตุ๊กแกพลาสติก, การที่ตัวละครวิพากษ์ (comment) การกระทำของตัวเอง เช่น ตัวละครที่แสดงเป็นพ่อกำนันมักจะร้องเพลง คนไทยแม่งน้ำเน่า วันไหน ๆ คนไทยก็เมา”, หรือแม่บัวบาน ชั้นไม่ได้งมงาย แต่ชั้นเชื่อหรือไม่ว่าจะเป็น คิดอะไรไม่ออก เพราะฉันสมองกลวง”, “หยุดซับซ้อนได้แล้ว”, “เอ็งมันสันดานไทยแท้และ แหกอะไรก็ได้แต่อย่าแหกกฎซึ่งการวิพากษ์ความเป็นไทยผ่านการแสดงย่อมทำให้ผู้ชมที่เป็นคนไทย รู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ เพราะ ขันขื่นหมายถึงจะว่าขำก็ขำอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกขื่นขมเพราะสิ่งที่ตัวละครพูดก็สะท้อนความเป็นจริงในชีวิตเราไม่มากก็น้อย มันจึงเป็นการหัวเราะที่ระคนสมเพชไปในตัว

แน่นอนว่าเมื่อทำมาถึงขนาดนี้แล้ว พล๊อตเรื่องจะไม่จิกกัดความเป็นโมโลดรามา และเสียดสีสังคมไทยไปด้วยก็เห็นจะไม่ใช่ที่ ดังนั้นผู้ชมจะได้เห็นการรื้อสร้างคุณค่าซึ่งถูกสถาปนาผ่านตัวละครที่เรีย ว่าตัวละครแบน” (Type Characters)  ซึ่งกำหนดให้ตัวละครเป็นตัวแทนของคุณค่าชนิดตายตัวแบบเป็นอื่นไม่ได้ เช่น พระเอกเป็นสัญญะของคุณงามความดี, ผู้ร้ายคือคนชั่วที่หาดีไม่ได้สักกระผีก, นางเอกเป็นสัญญะของความสวย หรือความงดงามในใจ และจะต้องสรุปจบลงตรงที่ความดีจะต้องเอาชนะความชั่วในที่สุด และพระเอกต้องได้กับนางเอกเสมอ  ในมุมมองของผู้เขียน ผู้สร้างละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการนำเอาคุณค่าอันแบบแบนมา เขย่าโคอาล่าจนสุดท้ายมันออกมาเป็นลูกอะไรก็ไม่รู้กระดำกระด่างแต่ก็ยังกินอร่อยอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะไม่จบแบบสูตรสำเร็จตามแบบฉบับที่ควรจะเป็น (ควรของใคร?) ก็ตาม

ผู้เขียนชอบตัวแสดงอีกตัวซึ่งพูดไม่ได้ ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะชื่อ อีศรีนวลอีศรีนวลเป็นควายครับ หรือพูดให้ถูกเป็นกระดาษ หรือแผ่นกระดานแบน ๆ ที่มาตัดเป็นรูปควายและที่น่าสังเกตก็คืออีศรีนวล เป็นควายแบนที่มีอยู่เพียง สองมิติซึ่งมันมีความหมายแทนสิ่งที่มีเพียงด้านเดียว ถ้ากลับเอาด้านในออก ผู้ชมก็เห็นความเป็นจริงของมันที่เป็นเพียงกระดานไม้ที่นำมาลงสีเพียงด้านเดียว ซึ่งไม่มีอะไรจะสื่อได้ว่ามันเป็นควายเลยแม้แต่น้อย นอกจากรูปรอยที่เป็นเค้ารางว่ามันอาจจะเป็นอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง ถ้าจะมองว่าควายเป็นสัญญะของความโง่  ความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น คำพังเพยที่ว่า โง่เหมือนควายผู้เขียนก็ว่าเหมาะสม มันคล้ายจะบอกว่าภายใต้หน้ากากของความเป็นไทย มันถูกเคลือบเอาไว้ด้วยมายาทางสังคมหลายชั้น ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นความจริงนี้ก็จะเชิดชูคุณค่าเทียมนี้ราวกับมันเป็นของแท้ เช่นการมองพลุที่จุดสว่างประเดี๋ยวประด๋าวว่ามีคุณค่าสูงส่ง มากกว่าคุณความดีที่มีอยู่จริงในตัวมนุษย์สักคนหนึ่ง แต่ถ้าหากมีใครสักคนสามารถมองให้ทะลุเปลือกของสิ่งลวงตานี้ไปได้ และพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่เขาได้รับนั้นหรืออาจจะเป็น เกือกมากกว่า เกียรติ”  ดังนั้นจึงเป็นกฎที่ตัวละครทุกตัวพยายามไม่เปิดเผยอีกด้านหนึ่งของความจริง ผ่านการแสดงที่ซ่อนเร้น บอกเป็นนัย ๆ ให้ผู้ชมดูเอาเอง ดังถ้อยคำของตัวละครตัวหนึ่งที่พูดว่า แหกอะไรแหกได้แต่อย่าแหกกฎซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาให้ดีแล้วเจ็บปวดไม่น้อย เพราะพวกเราก็ขำจนลืมสังเกตไปว่าตัวละครต้องขี่ควายถอยหลัง เพราะไม่สามารถกลับอีกด้านหนึ่งมาหาผู้ชมได้ อาจะเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถบอกกับคุณตรง ๆ เพราะถ้าบอกตรง ๆ คุณก็จะ ไม่ขำเมื่อคุณ ไม่ขำคุณก็จะรู้สึกเหมือนถูกด่า และไม่มีใครอยากจะรู้สึกเหมือนถูกด่า เพราะถ้ารู้สึกอย่างนั้นมนต์ขลังของโมโลดรามาก็จะไม่ทำงานอีกต่อไป    

 

ดังนั้นสำหรับผู้ชมที่ยังไม่ได้ชมละครเรื่องนี้ผู้เขียนอยากให้ลองไปสังเกตดูว่า มีอยู่ฉากเดียวที่ตัวละครหันด้านอีกด้านของอีศรีนวลออกมาสู่สายตาผู้ชมให้ได้เห็นเพียงแว่บเดียว คล้ายกับจะเป็นการทิ้งท้ายด้วยความหวังอันริบหรี่ว่า อาจจะมีใครสักคนซึ่งอยู่ตรงไหนสักแห่งตื่นขึ้นมาเห็นความเป็นจริงของสังคมไทยของเราซึ่งบอกกันตรง ๆ ไม่ได้ เพราะวันไหน ๆ พี่ไทยก็เมา(มา)ยากันตั้งแต่เช้ายันค่ำ.

เกี่ยวกับผู้เขียน: นักวิจารณ์อิสระ/นักการละคร อาจารย์พิเศษสอนวิชาวิจารณ์ศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ผู้ก่อตั้งคณะละคร “มาร็องดู” (Malongdu) ละครเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *