การอภิปราย “ลักษณะของการวิจารณ์ในแต่ละสาขา”

“ลักษณะของการวิจารณ์ในแต่ละสาขา” 

ค่ายการวิจารณ์ศิลปะ 2-3 พฤศจิกายน 2556 อิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนาย

โดยวิทยากร 5 สาขาคุณอุทิศ  เหมะมูล  อาจารย์วรเทพ  อรรคบุตร 
คุณพงศ์พันธ์  ประภาศิริลักษณ์  คุณอลงกต  ใหม่ด้วง (กัลปพฤกษ์)  และ อาจารย์กิตติ  คงตุก

IMG_5388

แรงบันดาลใจและประสบการณ์ช่วงเริ่มต้นที่แต่ละคนเข้ามาทำงานวิจารณ์

อาจารย์กิตติ  คงตุก  วิทยากรสาขาสังคีตศิลป์เล่าว่า  หากถามว่าทำงานวิจารณ์ดนตรีไทยโดยตรงหรือไม่  ก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก  แต่ว่าในฐานะของคนดนตรีไทยจะพบว่าการวิจารณ์เกิดขึ้นโดยตลอด  ทั้งในขณะที่เรียน  บรรเลง  ฝึกซ้อมอยู่คนเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่านักดนตรีไทยทำงานวิจารณ์อยู่ตลอดเวลา  แม้ว่าลักษณะงานที่ออกมานั้นจะเป็นงานที่เขียนออกมาเป็นลายลักษณ์  หรือว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการศึกษางานที่เกิดในสังคมและสร้างงานชิ้นใหม่ขึ้นมา  ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นจุดเด่นหรือจุดด้อยของงานที่มีมาก่อนเป็นลักษณะการนำวิธีการวิจารณ์ตั้งแต่โบราณมาใช้อยู่ตลอดเวลา  เนื่องจากในวัฒนธรรมดนตรีไทยผูกพันกับขนบที่เรียกว่ามุขปาฐะมาแต่โบราณ  เป็นพื้นฐาน และใช้มาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน  ลักษณะมุขปาฐะที่กล่าวถึงคือ    การเรียนดนตรีไทยไม่เน้นการจดบันทึก  ถึงจะมีก็ค่อนข้างน้อย   ขณะที่เรียนจะเป็นการบอกเล่าปากต่อปาก และปฏิบัติกันมาจากครูสู่ศิษย์หลายคนหรือคนเดียว ในบางสถานภาพ หรือในบางโอกาสที่เฉพาะที่ต้องให้คนๆ เดียวในองค์ความรู้เหล่านั้น  เมื่อผูกพันกับมุขปาฐะ  ความเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวิจารณ์  หรือที่มองเห็นจับต้องได้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก  เพราะศาสตร์การดนตรีเป็นเรื่องของเสียง  ไม่มีรูปลักษณ์ให้หยิบจับมาวิจารณ์กัน  ยิ่งในสมัยก่อนไม่มีเครื่องบันทึกเสียง  การวิจารณ์เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างกันไป  ด้วยวิธีการเรียน  การสอน การคงอยู่ของดนตรีไทยจะอยู่ในลักษณะของการบอกต่อ  สืบทอด กันแบบรุ่นสู่รุ่น  จากครูคนหนึ่งสู่ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งและปฏิบัติต่อกันมา  เวลาเรียนก็จะบอกต่อกันว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร  เล่นอย่างไร  ใช้ในโอกาสใด  ท้ายที่สุดเมื่อเกิดองค์ความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยนในสังคมคนดนตรีก็สามารถที่จะสร้างงาน  พัฒนางานต่อไปอย่างไร 

ลักษณะการถ่ายทอดนั้น  โน้ตนับว่ามีความจำเป็นน้อยมาก  แต่วิธีการเรียนดนตรีไทยจะเป็นการเรียนโครงสร้างของเพลง  ศิลปินแต่งเพลงวางโครงสร้างไว้  เครื่องดนตรีที่มักจะถูกนำมาวางเป็นโครงสร้างหลักของดนตรีไทยก็คือทางฆ้องวงใหญ่  ซึ่งเปรียบได้กับการออกแบบสร้างบ้านหนึ่งหลังที่วางเสาไว้  มีหลังคา  มีผนัง และคนดนตรีไทยต้องเรียนรู้การสร้างงานบนพื้นฐานของ “วัฒนธรรมการด้น”  นั่นคือ  การนำโครงสร้างเหล่านั้นมาสร้างงานชิ้นใหม่อยู่เสมอ  การที่จะทราบว่าเพลงที่เล่นคือเพลงใด  เนื่องจากว่าโครงสร้างของเพลงจะไม่ถูกเปลี่ยน  เพียงแต่เป็นการนำเสนองานที่แปลกแตกตางออกไป  เช่น  การเล่นเพลงๆ หนึ่ง  2 รอบก็จะเล่นไม่ซ้ำกันในวิธีการบรรเลง  การเลือกเสียงมาใช้ การจัดเรียง  แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ  ตัวโครงสร้างที่ผู้ประพันธ์ประพันธ์ไว้จะบิดเบี้ยวไปมิได้  เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการบรรเลงผิด  ฉะนั้น  เมื่อผู้ประพันธ์เพลงประพันธ์แล้ว  และส่งต่อให้นักดนตรี  นักดนตรีมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะนำโครงสร้างเหล่านั้นมาสร้างเป็นงานศิลปะบนพื้นฐานของตนเอง  สำหรับการคงอยู่ของงานขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้ฟังหรือของมหาชนในสังคมเท่านั้นซึ่งความชอบหรือไม่ชอบอาจจะปรากฏในลักษณะที่ว่า  นำเพลงนั้นไปใช่บ่อยหรือไม่  เล่นซ้ำๆ มากน้อยเพียงใด  หรือในบางบริบท  เช่น พิธีการสำคัญ  ไหว้ครู  พิธีกรรมสำคัญทางพุทธศาสนา  พราหมณ์  ฮินดู  ก็จะเลือกนำไปใช้ตามแต่โอกาส 

ดังนั้น  ประสบการณ์ในการวิจารณ์จะได้รับการสอดแทรกอยู่ในการเรียนสอน  การเล่น และการฟังดนตรีไทยมาโดยตลอด  เพียงแต่ว่าในวันนี้เน้นในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเขียนวิจารณ์  และผู้ที่เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้มีบุคคลที่หลากหลาย  ทั้งนักดนตรีไทยที่แตกฉาน  แต่เป็นอาจารย์สอนด้านภาษา  เป็นนิสิตนักศึกษา  เป็นบรรณาธิการหนังสือที่ดูแลเกี่ยวกับการเขียนวิจารณ์ดนตรี  แต่ส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์การเล่นดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน   

คุณอุทิศ  เหมะมูล  วิทยากรสาขาวรรณศิลป์เล่าว่าขณะที่เป็นวัยรุ่นรู้สึกว่าอยากจะเป็นหมดทุกอย่าง  อยากจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้และอยากจะทำให้ได้ดีด้วย  ทั้งยังเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยชอบกระแนะกระแหนการวิจารณ์จึงเริ่มต้นจากจุดนั้นก่อน  และยิ่งมีความไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่หรือสังคมในปัจจุบันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มมองหาทางออกหรือหาสิ่งที่จะปรับสังคมให้ดีขึ้น  แต่บางครั้งสิ่งที่กระแนะกระแหนก็ไปแตะกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรามากนัก เช่น สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่คณะจิตรกรรม  ประติมากรรม และภาพพิมพ์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ชอบกระแนะกระแหนอาจารย์ตัวเอง  และทุกๆ ปีคณะจิตรกรรมฯ จะมีการแสดงงานศิลปกรรมประจำปี  ก็จะเดินเข้าไปในแกลอรีชั้นล่างของคณะแล้วจะไปวิจารณ์กันว่า  ปีนี้มุมล่าง  ปีถัดไปย้ายจากมุมล่างมาอยู่มุมบน  คือเห็นว่าศิลปินรุ่นหนึ่งพอทำงานมาถึงจุดหนึ่งจะเกิดสไตล์เฉพาะหรือลักษณะเฉพาะ  ซึ่งมองในมุมที่เป็นคนชอบกระแนะกระแหนหรือวิจารณ์กลับเห็นว่าจริงๆ ไม่ได้ขยับไปไหนเลย  เพียงแค่ขยับจากซ้ายไปขวา  จากล่างไปบน  เท่านั้นเอง  จึงทำให้รู้สึกว่าการตั้งคำถามเหล่านี้นำไปสู่จุดที่ไม่ใช่ว่าเป็นการพูดจากระทบกระเทียบคนอื่นๆ เพียงอย่างเดียว  แต่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูดด้วย  คือต้องมีทางออกให้กับสิ่งที่เสนอขึ้นมา

ในช่วงที่เรียนอยู่ปีสอง  คุณอุทิศกับเพื่อนเริ่มออกไปแสดงงานศิลปะนอกมหาวิทยาลัย  ซึ่งคณะจิตรกรรมฯ มีแบบแผน  มีขนบธรรมเนียมที่ยึดถือกันอยู่มาก  เมื่อมีกลุ่มคนที่ทำอะไรเช่นนี้ก็จะถือว่าเป็นพวกแหกคอกออกไป  ในช่วงเวลาเดียวกัน  คุณอุทิศก็เริ่มสนใจภาพยนตร์ด้วย ได้รู้จักกับ “ฟิล์ไวรัส” และภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้ามาเป็นจำนวนมาก  จึงตระเวนดูภาพยนตร์ต่างๆ เหล่านี้  ทั้งที่สถาบันเกอเธ่  ที่ L’Alliance Française และ ดวงกลมฟิล์มเฮาส์  จากนั้นได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนที่แสดงงานศิลปะทำกิจกรรมจัดฉายภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย  ต่อมาในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ตอนจบ  คุณอุทิศเปลี่ยนจากการทำงานศิลปะแบบ installation เป็นการทำภาพยนตร์จบ  แต่ไม่จบ  เพราะว่าอาจารย์ไม่ให้ผ่าน  จึงต้องเรียนจบห้าปีครึ่ง  ช่วงนั้นจึงออกไปเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ดอกไม้ในทางปืน” ของคุณมานพ  อุดมเดช  ในช่วงนั้นเริ่มเปลี่ยนความสนใจจากทัศนศิลป์ไปสู่ภาพยนตร์  จากนั้นได้มีโอกาสเขียนความ  บทแนะนำภาพยนตร์ในนิตยสารภาพยนตร์ชื่อ Movie Timeทำต่อเนื่องมาอย่างน้อยประมาณ 6-7 ปี  ขณะเดียวกันกลุ่มเพื่อนที่ร่วมกันแสดงงานศิลปะ  จัดฉายภาพยนตร์แล้ว  ก็ค่อยๆ ก้าวเข้ามาสู่การเขียนมุมมองของภาพยนตร์  หรือการเขียนวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วย  มีคอลัมน์ชื่อ “บบส.” หรือ “บริโภคนิยมเบ็ดเสร็จ” ซึ่งเป็นการจับประเด็นทางสังคมและนำมากล่าวถึง ในเสาร์สวัสดี ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ใช่วงนั้นเขียนถึงโฆษณา Orange  ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว 

คุณอุทิศยอมรับว่าจุดเริ่มต้นของการเขียนงานเริ่มมาจากการเขียนงานวิจารณ์ก่อน โดยเริ่มที่การวิจารณ์ภาพยนตร์ ก่อนที่จะมาเขียนวิจารณ์วรรณกรรม  และเขียนเรื่องแต่งที่เป็นนวนิยายหรือเรื่องสั้นตามลำดับ  ในช่วงที่เริ่มเขียนวิจารณ์เป็นความอยากที่จะนำเสนอหรืออยากที่จะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันในสังคมสักเท่าใด  เนื่องจากพื้นที่สื่อต่างๆ เมื่อกล่าวถึงภาพยนตร์จะโหมประโคมแต่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด  ซึ่งคำบรรยายต่างๆ เป็นสิ่งที่ส่งมาจากบริษัทภาพยนตร์อยู่แล้ว  เช่นเดียวกับหนังสือ  ผู้รับผิดชอบคอลัมน์หนังสือในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ก็จะอ้างคำที่ได้รับจากสำนักพิมพ์ลงไป  ทำให้คุณอุทิศรู้สึกอึดอัด และอยากเขียนในสิ่งที่ตนอยากอ่าน  จึงเริ่มต้นที่จะเขียนถึงงานที่รับรู้กันเป็นส่วนน้อย  และเริ่มเขียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

            อาจารย์วรเทพ  อรรคบุตร  วิทยากรสาขาทัศนศิลป์เล่าว่าจุดเริ่มต้นของตนคล้ายคลึงกับของคุณอุทิศ  เพราะขณะที่ศึกษาอยู่ในคณะจิตรกรรมฯ ก็เป็นรุ่นที่ใกล้กันมาก  มโนภาพต่างๆ ที่คุณอุทิศเล่าก็ตนก็คลุกคลีอยู่ในนั้นด้วย เช่น การฉายภาพยนตร์ในอาคารเรียนรวมโดยกลุ่มฟิล์มไวรัสทุกวันศุกร์  ซึ่งทำให้สัมผัสเนื้อหาใหม่ๆ จากงานแขนงอื่นทำให้ ตื่นตัวหาความรู้ในเรื่องของการวิจารณ์ส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ สภาพโดยทั่วไปของคณะจิตรกรรมฯ ในช่วงเวลานั้นนับ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน  เนื่องจากมีอาจารย์หลายท่านเรียนจบกลับมาจากต่างประเทศ  และมีแนวทางการสอน ยกตัวอย่าง งานศิลปินร่วมสมัยที่ทำให้ตระหนักว่าโลกของการสร้างสรรค์ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องของสำนัก หรือวิธีการทำงานไม่กี่แบบที่ เห็นจากครูบาอาจารย์  เมื่อเริ่มเห็นวิธีการทำงาน  เห็นสื่อใหม่ๆ  เห็นวิธีคิดใหม่ๆ ทำให้เริ่มขวนขวายและเริ่มออกไปพบ ปะกับคนมากขึ้น  ขยันออกไปดูงาน  หาหนังสือประวัติศาสตร์ ทฤษฎีศิลป์มาอ่าน  เพื่อที่จะทำความเข้าใจงานบางประเภท ที่ตอนนั้นคิดว่า  มีงานประเภทนี้ด้วยหรือเช่นงานที่กล่าวถึงมากในช่วงเวลานั้น (กลางจนถึงปลาย 1990) คืองานในกลุ่ม ของ Young British Artists (YBAs) เช่น Damien Hirst หรือ Jake and Dinos Chapman ซึ่งเป็นงานที่เล่น เรื่องการไต่ไปตามขอบสุดของชีวิต ความตาย  เซ็กซ์ และความรุนแรง  รวมทั้งงานของอาจารย์ของผมที่มีความลุ่มลึก  มีเรื่องที่แสดงออกผ่านทั้งขั้นตอนสร้างสรรค์กับวิธีคิดที่เกี่ยวกับวัตถุที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน  อย่างงานของอาจาย์สุรสีห์  กุศลวงศ์  ซึ่งงานแสดงเดี่ยวชิ้นแรกๆ ของอาจารย์สุรสีห์ ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อ “Private & Public”  เป็นการ ติดตั้งฟูกเข้าไปในหอศิลป์ และใช้ฟูกกั้นเป็นห้องต่างๆ พอประสบรูปแบบของงานใหม่ๆ ที่เจอกระตุ้นให้ต้องหาความรู้  และ เมื่อเรียนจบก็เกิดช่องทางสำหรับทำงานกับผู้อื่น เช่น  ศิลปิน  ภัณฑารักษ์ และผู้ที่ทำงานบรรณาธิการ ซึ่งบรรยากาศโดย รวมเกี่ยวกับการทำงานทำให้ต้องแสวงหาความรู้ และอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องขวนขวายอยู่ตลอดเวลา

            ดังนั้น  ในเรื่องของการวิจารณ์  อาจารย์วรเทพกล่าวว่าไม่กล้าที่จะเหมาเอาว่าตนเองเป็นนักวิจารณ์หรือไม่  แต่ เป็นคนที่เขียนงานอยู่ตลอดเวลา  และสิ่งหนึ่งที่มาตอบรับวัตถุประสงค์ของตนคือ  ความอยากรู้ว่าเราอยากรู้อะไร และ พยายามที่จะเดินทางไปเสวนากับผู้อื่น ทำให้รู้สึกว่าธรรมชาติของการสร้างสรรค์จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ  เช่น การทำงาน ร่วมกับศิลปินที่ต้องการข้อมูลทางประวัติศาสตร์  ทำให้ต้องไปค้นคว้า  หรือบางครั้งต้องการในเรื่องของการปะติดปะต่อ ของกระบวนการ  ต้องการความสมบูรณ์ทางเทคนิค ในฐานะที่ตนทำงานเป็นภัณฑารักษ์ด้วย  ความต้องการดังกล่าวก็แฝง อยู่ในการแสวงหาความรู้ของตนด้วย   ดังนั้น  การวิจารณ์โดยส่วนตัวเริ่มจากความสงสัย และการเกิดคำถามเกี่ยวกับ รูปแบบงานต่างๆ เพราะตนเองได้เข้ามาทำงานในช่วงที่ปุบปับมาก  เนื่องจากพัฒนาการทางศิลปะในประเทศไทยเริ่ม ประมาณปลายทศวรรษ 2480 ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.. 2486  และศิลปะของไทยใช้ เวลาไม่ถึงสองศตวรรษ  จึงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก  และการเกิดขึ้นในลักษณะที่บางครั้งปราศจาก รากฐานทางความคิดและทฤษฎีที่จะมาอธิบาย  จึงทำให้ผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับศิลปินที่สร้างงานศิลปะด้วยตนเองต้อง ขวนขวาย  หาทางตีความ  หาทางทำความเข้าใจงานศิลปะนั้นให้มากขึ้น

            อาจารย์วรเทพคิดว่าคนรุ่นเดียวกับตน  สิ่งสำคัญที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการเขียนการอ่านคือ สื่ออินเทอร์เน็ต  เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตทำให้สามารถเติมหรือเผยแพร่ความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว และมีลักษณะของการตอบโต้กันอย่าง ฉับพลันมากขึ้น  นี่คือธรรมชาติประการหนึ่งของการวิจารณ์ที่อาจารย์วรเทพได้เห็นทั้งสองแบบ คือ การอ่านงาน รายสัปดาห์และรายเดือน  กับการอ่านงานจากบล็อกต่างๆ   การวิจารณ์โดยส่วนมักจะใช้ขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานมาก  คือ  เราเห็นอะไร  จากที่เห็นก็นำไปสู่กระบวนการของการตีความ  ซึ่งขึ้นกับพื้นความรู้ที่ได้มาจากการอ่าน  การค้นคว้าเพิ่มเติม  เนื่องจากไม่ว่าศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันจะมาจากที่ใดก็ตาม  แต่สิ่งสำคัญในการตีความเชิงประวัติศาสตร์หรือเชิงบริบท ต้องเข้าใจ ว่างานศิลปะนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้เกิด  ดังนั้น  โดยปริยายนักวิจารณ์จะต้องมีหูตา ที่ค่อนข้างกว้างขวางและต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเบื้องหลังของการเกิดศิลปะแบบต่างๆ ด้วย  และการตีความก็ต้อง ทราบถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาพแบบนั้นแบบนี้  หรือเทคนิคแบบนั้นแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  เพราะว่าไม่มีใคร จะสามารถพูดได้อีกแล้วว่าตนเองทำสิ่งที่ใหม่  เพราะว่าศิลปะร่วมสมัย ไม่มากก็น้อยเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของศิลปะ                       

                     คุณพงศ์พันธ์  ประภาศิริลักษณ์  หรือ “Kinglear  วิทยากรสาขาศิลปะการละครเล่าว่า  เริ่มเขียนงานวิจารณ์ชิ้นแรกๆ ซึ่งชิ้นแรกสุดเขียนลงเว็บไซต์พันทิปในช่วงที่โรงละครรัชดาลัยเปิด มีกระแสถกเถียงเกี่ยวกับละครเชิงพาณิชย์กับละครเพื่อศิลปะ  และโดยส่วนตัวรู้สึกว่ายังมีช่องว่างบางอย่างที่ยังไม่ได้เติมเข้าไป จึงเขียนวิจารณ์ไปตามมุมมองของตนว่ารู้สึกอย่างไรกับงานช่วงแรกๆของรัชดาลัย  จากนั้นก็จะเขียนวิจารณ์ละครบางเรื่องที่เกิดความอยากเขียน  โดยส่วนตัวในช่วงที่เรียนมัธยมศึกษาจะเติบโตมากับภาพยนตร์ฮอลลีวูด และอ่านเพิ่มเติมในนิตยสาร Entertain  ซึ่งมีคอลัมน์เกี่ยวกับภาพยนตร์ทุกอย่าง และอ่านคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ของ “คุณตีตั๋ว” จากนั้นเริ่มอ่านนิตยสาร STARPICS  ซึ่งมีงานวิจารณ์ในลักษณะประวัติศาสตร์  ให้ข้อมูล  จากนั้นเมื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา  ซึ่งในมหาวิทยาลัยมีละครเวทีประจำปี  ซึ่งรู้สึกว่าการเรียนในกรอบสถาบันให้ความรู้ละครเวทีกับตนไม่พอ  จึงดรอปเรียนหนึ่งปี  ขณะที่ศึกษาอยู่ปี 3  และไปเป็นอาสาสมัครที่สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (กลุ่มละคร “มายา”) ซึ่งเปิดรับอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษา  เมื่อเข้าไปก็ได้เรียนรู้กระบวนการการทำละครอย่างเต็มที่  โดยใช้เวลาในการเรียนรู้หนึ่งปี   ในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนมีกลุ่มละครเพื่อการศึกษาอยู่ 2 กลุ่ม  คือ “มายา”  กับ “มะขามป้อม”  ซึ่งเป็นผลผลิตจาก 14 ตุลา  6 ตุลา  คือจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่โตมาทันในช่วงเวลานั้น  คนเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาได้มาตั้งกลุ่มทำละครเพื่อชุมชน  ทำละครเพื่อการศึกษา    ขณะที่ไปอยู่กับกลุ่ม “มายา”  ตนได้เริ่มเรียนการละคร การแสดง การเขียนบท และการวิจารณ์ด้วย  จึงต้องอ่านหนังสือการวิจารณ์ซึ่งตำราในตอนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นตำราภาษาอังกฤษ  มีตำราภาษาไทยของอาจารย์เจตนา  และมีหนังสือทฤษฎีวิจารณ์ภาพยนตร์ก็นำมาประยุกต์ใช้ 

            ขณะที่เรียนระดับปริญญาตรีนั้น วิชาเอกคือหนังสือพิมพ์  วิชาโทเป็นวิทยุ-โทรทัศน์  เมื่อเรียนจบก็พบว่าทำละครเวทีไม่สามารถที่เลี้ยงชีพได้  จึงไปทำงานบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์  เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์  และเป็นโปรดิวเซอร์ในช่วงต่อมา  ขณะนั้นจะทำละครไปด้วย ทำงานประจำผลิตรายการโทรทัศน์ไปด้วย  ซึ่งในช่วงเวลานั้นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนละคร คือ อักษรศาสตร์  จุฬาฯ  ธรรมศาสตร์  และมหาวิทยาลัยกรุงเทพเพิ่งเปิดเป็นรุ่นแรกๆ  จำได้ว่าในช่วงที่ตนเป็นนักศึกษา  คุณพงศ์พันธ์มีโอกาสได้ชมงานที่เป็น production แรกๆ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพแสดงที่รังสิต  และกลุ่มละครที่ออกมาทำและไม่ใช่ดารา  ไม่ได้อยู่ในระบบพาณิชย์อย่าง Dass (ที่กลายมาเป็น Dreambox ในปัจจุบัน)ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้  นักแสดงจึงต้องมีงานประจำและมาเล่นละครทำละคร  คุณพงศ์พันธ์จึงใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนๆ อย่างนั้นอยู่สองปี และรู้สึกว่าตนเองต้องขยับขยายหลังจากที่ทำทีวีอยู่ช่วงหนึ่ง จึงไปเรียนภาษาอังกฤษและการจัดการธุรกิจที่ประเทศออสเตรเลียประมาณ 3 ปี  เมื่อกลับมาก็มารับงานผลิตโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ   ในช่วงที่อยู่ออสเตรเลียทำให้ขาดจากวงการละครเวทีไปช่วงหนึ่ง  พอกลับมาก็เหมือนกับการเป็นคนนอก  และกลายเป็นคนดูสมบูรณ์  ซึ่งเป็นคนดูที่มีความสุขในการดูละครเวทีทั้งในประเทศไทย เมื่อไปต่างประเทศก็ดูบ้างตามโอกาส  คุณพงศ์พันธ์เห็นว่ากระบวนการวิจารณ์มีอยู่แล้วในตัวเอง  เพราะขณะที่เรียนละครก็มีรายวิชาที่เกี่ยวกับการวิจารณ์  ซึ่งทำให้ทราบว่าละครเรื่องนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร  ขณะเดียวกันก็ได้สนทนากันในกลุ่มเพื่อนในอินเทอร์เน็ต  มาตั้งแต่ช่วงที่อินเทอร์เน็ตที่ยังอยู่ในเวอร์ชั่น 1.0 ไม่มี real time เหมือนในสมัยนี้ ซึ่งเป็นเว็บกลุ่มปิดจะเข้าไปบอกกันว่าเรื่องนี้ดีน่าดู  เพื่อนในกลุ่มจะมาคุยและแลกเปลี่ยนกัน  หรือนัดกันไปดู  ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกันมา 10 กว่าปีและยังเป็นกลุ่มปิดอยู่ 

                        คุณอลงกต  ใหม่ด้วง หรือ กัลปพฤกษ์’  วิทยากรสาขาภาพยตร์เล่าว่า ตนเองเรียนและทำงานทางวิทยาศาสตร์และมาข้องเกี่ยวกับการวิจารณ์ได้อย่างไร  ซึ่งก่อนจะเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์เป็นนักดูภาพยนตร์มาก่อน โดยความสนใจการดูภาพยนตร์ไม่ได้เริ่มมาจากตนเอง  โดยย้อนไปตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนต้น  คุณพ่อมีความคิดแบบตะวันตก  ช่วงนั้นช่วงหลังข่าวจะมีละครโทรทัศน์  แต่คุณพ่อกลัวว่าหากดูแล้วจะติดละครหลังข่าว  ดังนั้นช่วงเวลาละครหลังข่าวไปเช่าวีดิโอจากร้านมาดู  และให้เลือกเรื่องใดก็ได้แต่ต้องเป็น “หนังฝรั่ง” เท่านั้น  ฉะนั้นจึงต้องดูภาพยนตร์ทุกวันเพื่อซึมซับความเป็นตะวันตกที่คุณพ่ออยากให้มี  ตอนแรกเป็นการดูฆ่าเวลาไม่ได้คิดอะไรมาก  แต่พอดูมากเข้าก็ได้ไปเจอภาพยนตร์ที่แปลกออกไป  ในช่วงนั้นบังเอิญไปเจอภาพยนตร์จากยุโรป  จากอิตาลีของผู้กำกับ ดาริโอ  อาร์เจนโตเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเลือดสาด  ซึ่งเป็นภาพยนตร์สยองขวัญในรูปแบบที่ไม่เคยดูมาก่อน  เพราะจะเคยชินกับภาพยนตร์อย่างพวกงานของ เวส คราเวน จอห์น คาร์เพนเตอร์หรือเรื่อง“นิ้วเขมือบ” “Day of the Death”ก็ยังเฉยๆ  ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ยุโรปที่มีเรื่องของบรรยากาศ  ความพิลึกพิลั่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  จึงแปลกใจว่ามีอะไรอย่างนี้ด้วย  จึงเริ่มสนใจและเริ่มติดตามดูผลงานเรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับคนนี้  และยังโยงต่อไปเรื่อยๆ ว่ามีคนที่ทำคล้ายๆ อย่างนี้ใครบ้าง  ทำให้เปิดโลกมากขึ้นว่า  ภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่ฮอลลีวูด  แต่ยังมีอะไรที่แตกต่างหลากหลายน่าสนใจมาก  จุดนั้นทำให้เริ่มรู้สึกว่าน่าสนใจ  ภาพยนตร์มีอะไรที่ไม่เคยพบเคยเห็น  มีอะไรที่แหวกกฎ  มีอะไรที่พลิกสูตรอยู่ตลอดเวลา  จึงสนใจเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะภาพยนตร์นอกกระแส  เมื่อมีโอกาสจะไปดูภาพยนตร์เหล่านี้  อย่างเช่นที่คุณอุทิศกล่าวถึงไปแล้วข้างต้น  คือ กลุ่มฟิล์มไวรัส  เป็นกลุ่มที่ฉายภาพยนตร์ที่แหกกฎ  แหวกสูตร  และเป็นศูนย์รวมภาพยนตร์นอกฮอลลีวูดทั้งหลาย  จึงตามไปดูก่อน  ต่อมาก็เข้าไปมีส่วนร่วม  ไปช่วยจัด ไปยืมฟิล์ม  ยืมดีวีดี  จากสมาคมฝรั่งเศส  หรือสถาบันเกอเธ่มาร่วมฉาย  ก็ดูอย่างเข้มข้น  ดูทุกอย่าง  ทุกยุค  ทุกสมัย  ทุกประเทศ  เพราะยิ่งดูยิ่งเปิดโลกของตนออกไปให้กว้างขวางและหลากหลาย  จึงสนใจในศิลปะต่างๆ มาตั้งแต่นั้น

            นอกจากนี้ยังรู้สึกถึงความน่าสนใจในศิลปะที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์คือ ศิลปะเป็นช่องทางที่ทำให้รู้จักความคิดอ่านของคนอื่น  เพราะการที่เราเห็นหน้าเจอกกันก็จะคุยกันเรื่องพื้นผิว  แต่เมื่อใครสักคนที่เสนอความคิดผ่านศิลปะจะรู้สึกว่าอิสระมาก  เพราะถ่ายทอดความเป็นตัวตน  ความคิดอ่านได้อย่างซื่อสัตย์ และเราสามารถที่จะทำความเข้าใจและรู้จักเขาในส่วนลึกผ่านงานของเขามากกว่าการรู้จักเป็นส่วนตัวเสียอีก  จึงรู้สึกว่าศิลปะเป็นตัวนำเราไปสู่ความคิดอ่านของคนอื่นที่อาจจะต่างความคิดของเราโดยสิ้นเชิง  ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดคนถึงมองอะไรไม่ตรงกันเลย  ทำไมเรื่องเดียวกันจึงเห็นได้อย่างแตกต่างหลากหลาย  จึงเห็นความคิดของคนอื่นผ่านสิ่งนี้  และความคิดแต่ละคนแตกต่างหลากหลายกันมาก  โดยที่พื้นฐานต่างๆ อาจจะไม่เหมือนกัน  จึงสนใจสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อดูมากขึ้นก็เริ่มอยากจะแสดงความคิดเห็น  เริ่มจากการดูแล้ว เริ่มสนทนากันในกลุ่มเพื่อนฝูงก่อนว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง  ตอนนั้นได้อ่านงานวิจารณ์ของไทยบ้าง  รู้สึกว่าการเขียนงานวิจารณ์เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบสูง  จึงถามตัวเองว่าดูมากพอหรือยัง  จนพอจะบอกได้ว่างานชิ้นนี้ดีหรือไม่ดี   โดยส่วนตัวเห็นว่าการวิจารณ์คือการเปรียบเทียบงานแต่ละชิ้นว่าชิ้นใดดีกว่า  สมมุติว่ามีภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวในโลกก็ต้องดีอยู่แล้ว  เพราะไม่เคยมีมาก่อน  แต่พอมีเรื่องที่สองก็เริ่มคิดว่าสองเรื่องนี้เรื่องใดดีกว่า  พอมีเรื่องที่สามก็เริ่มมีการเปรียบเทียบ   ยิ่งมีเพิ่มขึ้นก็จะเปรียบเทียบกันไปเรื่อยๆ   และยิ่งได้ดูมากขึ้น  หรือมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีคนบอกว่าดีมากๆ  แต่เมื่อไปดูแล้วเรากลับรู้สึกว่าดีจริงๆ หรือ  เพราะเราเคยดูภาพยนตร์สไตล์เดียวกัน  แต่ทำได้ดีกว่าเรื่องนี้มาก  จึงเสนอให้ดูเรื่องนี้เพื่อมาเปรียบเทียบกัน  จึงทำให้เรากว้างขึ้น  ในตอนนั้นยังไม่มั่นใจว่าตัวเองดูมากพอหรือยังที่จะสามารถเปรียบเทียบได้อย่างเป็นธรรมสำหรับผู้สร้างในการวิจารณ์ต่างๆ  และยังลังเลไม่กล้าเขียน  จนกระทั่งกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ  ประกาศรับสมัครงานวิจารณ์ภาพยนตร์ในปีนั้น  ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่คุณอภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลเรื่อง “สัตว์ประหลาด!” พอดี  เป็นที่ฮือฮาและมีการวิจารณ์ออกมาเป็นจำนวนมาก  แต่เท่าที่อ่านพบว่างานวิจารณ์จะกล่าวถึงประเด็นเนื้อหา  เช่น เกย์  คนต่างจังหวัด  ตำนานต่างๆ  แต่แทบจะไม่มีใครกล่าวถึงโครงสร้างเชิงทดลองจึงรู้สึกว่าประเด็นนี้ขาดหายไป  จึงลองเขียนประเด็นนี้  ส่งไปพร้อมกับบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง The Lady Killers ฉบับของพี่น้องโคนส์ ที่ได้รางวัล Jury Prize ที่คานส์ปีเดียวกันโดยไม่ได้คิดอะไร  คิดว่าเป็นงานเขียนชิ้นแรก  ปรากฏว่าได้รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์ดีเด่นก็ดีใจ  และรู้สึกว่ารางวัลนี้เปิดกว้างและเป็นธรรมมาก  ที่ไม่มีใครรู้จักเลยว่าคุณอลงกตเป็นใครมาจากไหน  แต่กองทุนหม่องหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ  ให้ใครก็ได้สามารถส่งงานไปโดยที่ไม่ต้องตีพิมพ์มาก่อน  และพิจารณาจากผลงานจริงๆ  ซึ่งก็ขอบคุณที่เปิดกว้างและเป็นธรรมจริงๆ  จากนั้นรู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะเขียนบทวิจารณ์  เนื่องจากว่ามีคนยอมรับ  จึงมีโอกาสได้เขียนวิจารณ์ที่Flicks  ด้วยเหตุที่ว่าทำงานประจำ  เขียนวิจารณ์แค่เดือนละชิ้นไปเรื่อยๆ เพราะว่าการทำงานวิจารณ์ภาพยนตร์เป็นอาชีพคงอยู่ลำบาก  จึงต้องมีอาชีพหลักเสริมด้วย  จึงทำไปพอให้สนุกกับงานวิจารณ์  พอ Flicks ปิดตัวไปก็เขียนวิจารณ์ที่ FILMAX  ซึ่งคิดว่าตอนนี้กำลังพอดีที่มีงานวิจารณ์เดือนละเรื่องไปเรื่อยๆ เพียงพอกับเวลาและความสนใจของตัวเอง

              คุณอัญชลีสรุปการเสวนาในช่วงแรกของวิทยากรทั้ง 4 คนว่ายกเว้นสาขาดนตรีไทยมีจุดร่วมกัน คือ  แต่ละคนเป็นการเรียนรู้จากนอกสถาบันการศึกษา  ไม่ว่าจะเป็นคุณอุทิศ  และคุณพงศ์พันธ์ชัดเจนมากที่ดรอปเรียนเพื่อไปอยู่กับกลุ่มละคร ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเนื่องจากผลการวิจัยพบว่าการเรียนรู้การวิจารณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกสถาบันการศึกษา  จึงต่างจากดนตรีไทยที่จะแบ่งเป็นสำนักและการวิจารณ์จะเกิดขึ้นในสำนักของตน  คือครูกับศิษย์ และจะไม่วิจารณ์ข้ามสำนักอย่างชัดเจน อีกประการหนึ่งคือ  วิทยากรทั้งสี่คนต่างเป็นคนดูมาก่อนที่จะเป็นนักวิจารณ์  ในขณะที่ดนตรีไทยเป็นนักศิลปิน  ผู้ฟัง และนักวิจารณ์ในตัวเอง

โอกาสแรกที่เขียนงานวิจารณ์ และปัญหาที่พบขณะที่ทำงานวิจารณ์

อาจารย์กิตติเล่าว่าจุดเริ่มต้นน่าจะเหมือนกับคนอื่นๆ ที่เรียนศิลปะ  เมื่อเห็น  ชอบ เริ่มเรียนสมัยประถมศึกษา  ซึ่งกิจกรรมที่เขาจัดบ่อยครั้งคือการประกวด  เมื่อประกวดแล้วก็คิดต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะได้รางวัล  จึงพยายามคิดว่าจะเล่นอย่างไรเพื่อให้ได้รับคำวิจารณ์ว่าตนเองเล่นดี   เมื่อประกวดได้รางวัล 1 2 3 4  ซึ่งจะมีข้อวิจารณ์จากกรรมการเป็นจำนวนมากว่า  เหตุใดถึงได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัลในปีนั้นๆ   เมื่อเข้ามาสู่การเรียนก็เริ่มมีเป้าหมายในแต่ละปีว่าเป็นเรื่องสนุก  ได้อบรมและอยู่กับเพื่อนในฐานะเด็กการได้รางวัลก็ดีใจแล้ว  เพราะว่าอาจารย์ไม่ค่อยเคร่งเครียดมากนัก  ขอแค่ให้มีกิจกรรมเกิดขึ้น  ได้รางวัลถือว่าเป็นกำไร  ไม่ได้รางวัลถือว่าเป็นเรื่องสนุก  แต่เมื่อผ่านมาก็ค่อยๆ ซึมซับว่าการเล่นดนตรี  ครูจะบอกว่าแบบใดดี  แบบใดไม่ดี  และแบบที่ไม่ดีทำอย่างไร  เมื่อเราเข้าใจและได้ปฏิบัติ  และเข้าสู่ระบบการเทรนจากภายนอก และการเรียนในระบบการศึกษา  เมื่อเข้าสู่หลักสูตรที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้เกณฑ์ต่างๆ มาเรื่อยๆ   ในวิชาประพันธ์เพลงจะแบ่งเป็นเกณฑ์อย่างไร  เพื่อให้งานนั้นดำเนินไปได้  และถ้าเป็นเพลงเดิมที่อาจารย์ตั้งโจทย์ไว้ก็ต้องคิดว่าจะแต่งอย่างไรถึงจะดีกว่าเดิม  อาจารย์จะสอดแทรกความคิดมาเรื่อยๆ

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากเดิมที่เคยแข่งเอง  ก็กลายเป็นผู้จัดการแข่งขัน  เป็นผู้ตั้งเกณฑ์การประเมินการวิจารณ์  การวิเคราะห์คุณค่าของดนตรีไทยว่าวงเล่นแบบใดควรที่จะได้รับรางวัล  และจะเกิดคำอธิบายว่าวงที่ไม่ได้รางวัลเป็นเพราะเหตุใด  ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันมาตั้งแต่การฟัง  การเข้าไปร่วม  พออยู่ในระดับที่สูงขึ้นเริ่มเขียนงานด้านการวิจารณ์  ซึ่งเป็นการเขียนวิทยานิพนธ์ที่เขียนในเรื่องของเพลงไทยที่เป็นทยอยนอกว่าเป็นการวิจารณ์งานที่น่าสนใจก็คือว่า  เป็นการตั้งคำถามที่ต่างออกไป  โดยการวิเคราะห์แทนที่จะวิเคราะห์ด้วยมุมมองของประวัติศาสตร์ที่มีโน้ต และมีโครงสร้างเพลงอย่างไร  และจบกระบวนการว่าที่มีลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะคุณครูท่านนี้เป็นอย่างไร   เนื่องจากกรอบของครู  ที่มาจากระบบมุขปาฐะซึ่งจะผูกพันในเรื่องของเทพเจ้า  เราเปลี่ยนไม่ได้  เรารู้แต่ว่าต้องดีและใช้มาเรื่อยๆ  อย่างเพลงสาธุการ ลูกเพลงๆ นี้จะต้องเป็นอย่างไร  ซึ่งเป็นแกนของการเรียน  ทั้งนี้งานวิจัยส่วนใหญ่  อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมักจะบอกว่า  ข้อสังเกตของงานวิจัยทางด้านดนตรีไทย  จะมีข้อสรุปในการวิเคราะห์เพลงหรือว่าทักษะวิจารณ์ผลงานจะจบลงที่ว่า ดีอย่างไร  ฉะนั้นจึงตั้งคำถามถามตัวเองว่า  ถ้าจบลงที่ว่างานดีอย่างไรก็เท่ากับว่าคำตอบมีอยู่แล้ว  เพราะว่าจะนำกรอบการวิเคราะห์เพลงเดิมๆ มาใช้  แต่ถ้าตั้งคำถามว่าเพลงๆ นี้สื่อความหมายอย่างไร   และโครงสร้างของเพลงมีที่มาที่ไปอย่างไร  กลายเป็นว่าเมื่อวิเคราะห์เพลงๆ หนึ่งในมุมมองที่ต่างออกไปเล็กน้อยจะพบว่า  โครงสร้างของงาน  รูปแบบของงาน  มีลักษณะสัมพันธ์กันมากๆ ไม่ว่าตัวดนตรีหรือนาฏศิลป์  และมาตกผลึกเป็นตัวดนตรีที่คนคิดไว้อย่างน่าสนใจมาก

                        คุณอุทิศกล่าวว่าปัญหาในการเขียนวิจารณ์คือ จะมีเงินใช้ได้อย่างไร  ส่วนคุณอลงกตกล่าวว่าไม่ทราบว่าเป็นปัญหาหรือไม่  แต่โดยส่วนตัวเป็นคนที่พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ชัดเจนในความคิดเห็นของตนเอง  ก็มีปฏิกิริยาที่เป็นลบตอบกลับมาบ้าง  อาจจะเรียกได้ว่าเป็นนักวิจารณ์ที่ได้รับคำวิจารณ์มากที่สุดคนหนึ่ง  ซึ่งมองว่าถ้าจะตัดสินใจทำงานด้านการวิจารณ์แล้ว  ประการแรกคือต้องซื่อสัตย์กับตนเองมากอย่างแท้จริงในทุกกรณี  และต้องวิจารณ์ไปตามที่คิด  โดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบ  สิ่งนี้อาจจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบกลับมาบ้าง  โดยส่วนตัวก็มองว่าการมีปฏิกิริยา  แม้ในเชิงลบเป็นสิ่งที่ดี  เพราะเป็นข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขียนไปกระทบเขา  ทำให้เขาอยู่เฉยไม่ได้  แต่ถ้าเขาอ่านแล้วจบไป  ไม่สนใจ  ไม่มีปฏิกิริยาทั้งด้านบวกและด้านลบ  นั่นคือล้มเหลว  ครั้งหนึ่งเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในเชิงลบค่อนข้างแรง โดยเล่าถึงปรากฏการณ์แวดล้อมและวิจารณ์ในส่วนนั้นมากกว่าวิจารณ์ตัวภาพยนตร์ แต่ด้วยความที่ว่าเขียนวิจารณ์ไว้น้อย   จึงเกิดประเด็นที่ว่าสิ่งที่เขียนนั้นหมายความว่าอย่างไร  ทั้งๆ ประเด็นนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญของบทวิจารณ์เลย  ณ ตอนนั้นผู้กำกับก็เขียนอีเมลมาถามว่าที่เขียนเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร  ขอความกระจ่างให้ช่วยอธิบาย  อย่างไรก็ดี  คุณอลงกตยืนยันว่าต้องมีจุดยืนของตนเองที่ชัดเจน  ผู้อ่านจะชอบหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่การที่เขาตอบกลับมาก็ยังดีกว่าที่เขาจะไม่แสดงความรู้สึกอย่างไร  และทุกครั้งที่มีผู้ถามกลับมาอย่างมีอารมณ์ก็จะตอบกลับไปอย่างสุภาพที่สุด  เพราะว่าเห็นว่านี่คือการทำงานอย่างหนึ่ง  การเขียนถึงงานของเขาต่อให้เขียนวิจารณ์ในแง่บวกหรือแง่ลบถือว่าเป็นการให้เกียรติแล้ว  ถ้าไม่เขียนถึงคืองานที่ดูแล้วจะไม่สนใจ  ไม่อยากเขียนไม่อยากกล่าวถึงเลย  นับว่าแย่กว่าอีก  แต่ที่ตั้งใจไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งและตั้งใจเลือกวิจารณ์เชิงลบต่อภาพยนตร์เรื่องนั้น  ถือเป็นการให้เกียรติที่สุดแล้ว  เพราะว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันทางปัญญามากกว่า  ถ้าไม่ได้มองเรื่องอัตตาก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์  เพราะเป็นกระจกสะท้อนว่ามีคนมองงานของเราอย่างไร

                        คุณพงศ์พันธ์เล่าว่า  หากพิจารณาจากประสบการณ์จะรู้สึกว่าตนเองมีเวลาน้อยในการเขียนงานและส่งให้ถึงคนทำงาน  อย่างเช่น  เมื่อไปดูละครเรื่องหนึ่ง  บางครั้งไม่มีเวลาเขียน แต่อยากสนับสนุนละครของเขาให้มีคนไปดูทั้งนี้  โดยส่วนตัวปัญหาในการเขียนวิจารณ์คือเรื่องเวลามากกว่า  ต่อมาก็เป็นเรื่องของความถูกต้อง(ข้อมูล)  การสะกดคำ  และลำดับความคิดน่าจะมีปัญหาส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหา  คือเมื่องานถูกส่งออกไปแล้ว  คือมีครั้งหนึ่งเคยเขียนวิจารณ์ละครเรื่องหนึ่งของรัชดาลัย  โดยเขียนชมหมด  แต่จะเขียนว่าเขาส่วนหนึ่ง  ก็ถูกแฟนคลับเขียนมาต่อว่าจำนวนมาก  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องกลั่นกรองความคิดเห็นที่ส่งมาว่าเป็นความรู้สึกหรือเหตุผล  ถ้าเป็นเหตุผลก็รับฟังและตอบกลับ  แต่ถ้าเป็นความรู้สึกที่ชวนทะเลาะ  เช่น  ประโยคยอดนิยม คือ  “ถ้าเก่งนักก็ไปเล่นเองซิ”  ก็จะข้ามไปไม่ใส่ใจ

            อาจารย์วรเทพเล่าว่าปัญหาที่พบขณะเริ่มเขียนวิจารณ์คือ  ตนเองเรียนมาทางปฏิบัติและทฤษฎีมาคู่กัน  แต่สิ่งที่ เป็นจุดอ่อนก็คือ  ระเบียบวิธีวิจัย (methodology) ในเวลาที่ไปค้นข้อมูลหรืออภิปรายในเรื่องของประวัติศาสตร์  หลักฐาน  ซึ่ง ทำให้งานวิจารณ์ของตนมีจุดอ่อน  ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับขนาดความยาวของงาน  ล่าสุดก็ประสบปัญหาการเขียน วิจารณ์ชุดงานสะสมของมหาวิทยาลัยศิลปากร  ปรากฏว่าคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการของวารสารฉบับนี้คือ Art Square และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Fine Art ด้วย  มักจะคอยบอกเสมอว่าถ้าอยากจะอยู่ในวงการนี้ต่อไป  ไม่ชอบใครหรือไม่ ชอบอะไรก็อย่าแสดงออกมา  หรืออย่าสร้างกลุ่มศัตรูที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญทางอาชีพ  ในการเขียนครั้งนั้น  เขียนในเรื่องที่เกี่ยวกับพัฒนาการของงานศิลปะนามธรรมโดยรวม  พร้อมกับจะสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับวิธีการของศิลปิน และบริบทแวดล้อมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20  อย่างแนวคิดเรื่อง Synthetism  มีการแปรค่ารสสัมผัสจากเสียงดนตรีให้กลาย เป็นงานศิลปะที่สำคัญมากสำหรับงานจิตรกรรมสมัยใหม่หลายๆ แนว โดยเฉพาะงานนามธรรมช่วงแรกๆ   เพื่อต้องการให้ คนเห็นภาพว่ามีวิธีการของการสร้างภาพ  สร้างงานทัศนศิลป์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งอื่น  และกล่าวถึงกระแส สงครามเย็น  ระหว่างเรื่องของการแสดงออกอย่างฉับพลันของโลกภายในที่เป็นอิสระเสรีของศิลปิน  ในช่วงที่งานนามธรรม สำแดงอารมณ์ (abstract expressionism) จากอเมริกาขับเคี่ยวกับงานแนวสัจสังคมนิยม (social realism)  ของโซเวียต รัสเซีย  ซึ่งพอพูดได้นิดหนึ่ง  แต่เมื่อจะนำมากล่าวถึงงานศิลปะของไทย   อาจารย์วรเทพยอมรับว่าไม่สามารถอธิบายเชิง เปรียบเทียบกับสกุลหรือสำนักหรือโรงเรียน (school) อื่นได้  เพราะมีความจำกัดทั้งในเรื่อง ของข้อจำกัดของความรู้และ พื้นที่ด้วย  ส่วนตัวก็เคยประสบความขัดข้องในการกล่าวพาดพิงหรือวิจารณ์งานสำนักใดสำนักหนึ่ง เช่นการเขียนวิจารณ์ ชุดงานนามธรรมที่ได้รับรางวัลจากการประกวดที่มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยเขียนประโยคหนึ่งว่า  งานในครั้งนี้อุปมา อุปมัยคล้ายๆ กับการบูชาครูผลกลับกลายเป็นว่าภัณฑารักษ์ที่เป็นเพื่อนของตนต้องการเขียนโต้  เพราะว่าไม่เห็นด้วย โดยตีความคำนี้ว่า ที่แท้ก็อวยพวกเดียวกันเอง  ซึ่งความตั้งใจของตนไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น  แต่ต้องการจะบอกว่า  เป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มยินดีว่าครูบาอาจารย์ที่ศิลปากร สามารถประดิษฐ์คิดค้นรูปแบบของงานศิลปะนามธรรมได้อีก หลายรูปลักษณ์  ไม่ว่าจะเป็นงานที่หยิบองค์ประกอบจากแผงหน้าอาคาร  จากพื้นผิวของเมืองสมัยใหม่  จากเรื่องของจิต ศรัทธาภายใน  และเรื่องต่างๆ  โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น  และเห็นว่าน่าจะหาใครสักคน  หรือหากลุ่ม คนที่สนใจเรื่องนี้เพื่อที่จะอภิปรายในประเด็นที่เกิดขึ้นนี้   ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญในช่วงหนึ่ง  ในครั้งนั้นก็เปิด โอกาสให้ภัณฑารักษ์เขียนวิจารณ์โต้ในนิตยสาร Fine Art   ซึ่งไม่มีข้อบาดหมางกัน  แต่กลายเป็นว่าการที่มีพื้นที่จำกัด  จน ไม่สามารถเขียนอธิบายต่อถึงสิ่งที่ต้องการนำเสนอก็จะกลายเป็นดาบสองคม  อีกวิธีการหนึ่งคือ  ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองด้วย  ซึ่งบางครั้งก็ลืมตัวบ้าง  เพราะอาจจะล้ำเส้น หรือใจกล้าบ้าบิ่นในการที่จะเอ่ยชื่อใครขึ้นมา  เช่น บทความที่ครั้งหนึ่งเขียน ถึงการประชุมภัณฑารักษ์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของนิวยอร์ก หรือ MOMA ถ้าจำ ไม่ผิดซึ่ง MOMA จะมาเตรียมนิทรรศการ No Country ที่เกี่ยวกับงานศิลปะที่กล่าวถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดย ภัณฑารักษ์สิงคโปร์ จูน ยัป (June Yap)   ในครั้งนี้พยายามจะเสนอว่า ศิลปะร่วมสมัยของไทย  บุคคลสำคัญที่เป็นองค์ประธาน (subject) ในการเคลื่อนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่มีทางที่เราจะได้พูดถึงคนๆ นี้” (ในที่นี้หมายถึงอาจารย์ศิลป์)  จึงกลายเป็นว่าเมื่อพูดไปก็ได้รับใบเหลืองเตือนจากบรรณาธิการว่า  มั่นใจหรือไม่ที่จะเขียนอย่างนี้โดยส่วนตัวตอบไปว่า ยืนยัน  บรรณาธิการถามย้ำอีกว่า จริงหรือไม่  แต่คิดว่าอย่าสร้างศัตรูเลย  ตัดออกดีกว่า  ท้ายที่สุดก็ต้องเปลี่ยน เนื้อความในบทวิจารณ์ของตน  นี่คือตัวอย่าง อีกประการหนึ่งจะเห็นว่า  แม้ว่าจะพยายามเดินออกมาจากสถาบันแล้ว  โดย ทำงานร่วมกับคนอื่นมากขึ้น  กลายเป็นว่าก็ยังต้องติดกับบ่วง  ติดกับกำแพงที่มองไม่เห็นของการที่จะล้ำหรือว่าก้าวออก มาจากเงาครอบบางประการจากความนิยมตัวบุคคล หรือการสังกัดค่าย  ซึ่งในความจริงไม่น่าจะมี  แต่สุดท้ายก็แค่นี้วงการ ศิลปะ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *