บทวิจารณ์จากค่ายการวิจารณ์ศิลปะ

       จากการจัดกิจกรรม “ค่ายการวิจารณ์ศิลปะ” ให้ความรู้และฝึกอบรมการวิจารณ์ศิลปะ 5 สาขา วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการละคร สังคีตศิลป์ (ดนตรีไทย) ภาพยนตร์ ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2556 ที่อิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก และได้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในแต่ละสาขาไปแล้วนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ส่งบทวิจารณ์เพื่อคัดเลือกจัดพิมพ์ในหนังสือรวมบทวิจารณ์จากค่ายการวิจารณ์ศิลปะครั้งนี้ ขณะนี้มีบทวิจารณ์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ได้รับเลือก โครงการฯ ขอนำเสนอบทวิจารณ์ที่ได้รับเลือกในเว็บไซต์โครงการ เพื่อเป็นการเผยแพร่ในเบื้องต้น

บทวิจารณ์เรื่อง “ลักษณ์อาลัย” โยงใยเส้นสุดท้ายของครอบครัว

โดย ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต  (สาขาวรรณศิลป์) 

นิเทศศาสตรบัณฑิต วารสารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (อายุ 21 ปี)

ลักษณ์อาลัย

“ลักษณ์อาลัย” โยงใยเส้นสุดท้ายของครอบครัว

ดูเหมือนอุทิศ เหมะมูลจะหมกมุ่นกับประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวจนถอนตัวไม่ขึ้น หากใครเคยอ่านลับแล, แก่งคอย คงจะคุ้นฉากโรงงานปูนซีเมนต์และชนบทอำเภอแก่งคอย ที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวสองพี่น้องในครอบครัวที่ยุ่งเหยิงกับความเชื่อเชิงศาสนาได้อย่างดี อุทิศใช้ฉากหลังเดียวกันในลักษณ์อาลัยที่มุ่งพูดถึงปมระหว่างพ่อที่ตายจากไปกับลูกชายทั้งสองคน พร้อมกับหลายๆ ความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดไปมาของญาติพี่น้องและคนอื่นๆ ภายใต้หลังคาบ้านไม้สองชั้นนี้

จุดสำคัญของนวนิยายหน้าปกสีน้ำเงินเข้มเล่มนี้ คือการผสมผสานเรื่องจริงและเรื่องแต่งที่กลมกลืนกันจนน่าสะพรึง จนเราอดสนุกที่จะคาดเดาไม่ได้ว่า อุทิศ ห. ในเรื่องคือตัวตนจริงๆ ของอุทิศ เหมะมูลหรือไม่ และผู้เขียนเองกล้าหาญมากถึงขนาดเปลือยเรื่องราวดำมืดในจิตใจให้สาธารณชนอ่านเช่นนี้จริงหรือ และหากเป็นเรื่องแต่ง ผู้เขียนมีเหตุผลใดที่จะสร้างตัวละครที่มีชื่อ บ้านเกิด หน้าที่การงาน รวมไปถึงปมชีวิตเหมือนตัวเองเหลือเกิน ซึ่งอุทิศได้กล่าวในคำนำท้ายเล่มแล้วว่าให้ผู้อ่านตระหนักว่านี่คือเรื่องแต่ง เพราะแม้จะหยิบเอาเศษเสี้ยวชิ้นใหญ่ในชีวิตผู้เขียนมาใช้ ก็ย่อมถูกเติมแต่งสีสันเพื่อไม่ให้มันกลายเป็นสารคดีหรืออัตชีวประวัติ

เราล่วงรู้ความจริงส่วนหนึ่งของชีวิตอุทิศ เหมะมูล จากสารคดีท่องเที่ยวครั้งที่เขาไปบรรยายที่ประเทศญี่ปุ่น Japan and I ที่เปิดเผยปมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับเขาที่พาเข้าสู่เส้นทางสายศิลปะอย่างหมดเปลือก จนเราเข้าใจและคล้ายจะเห็นด้วยกับอาการเฉยชาและทัศนคติส่วนลบที่อุทิศ ห. ในลักษณ์อาลัยมีต่อครอบครัวได้อย่างไม่ติดขัดอะไร ความบาดหมางในอดีตระหว่างพ่อกับลูกชายคือเหตุให้เขาไม่ยี่หระต่อการตายจากไป ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังใช้คนในครอบครัวคอยสะท้อนภาพความคิดด้านมืดส่วนลึกที่ตัวเขาเองไม่กล้าเปิดเผยได้อย่างน่าชื่นชม เป็นความคิดส่วนที่อุทิศไม่อาจยอมรับด้วยตัวเองได้หากไม่ให้ตัวละครวัฒน์และนางอรพินตะโกนใส่หน้า

ลักษณ์อาลัยจึงพาผู้อ่านจมลึกสู่ความสัมพันธ์แบบยินยอมภายใต้คำว่า ครอบครัวที่ไม่มีใครหนีพ้นจนมันสร้างบาดแผลให้เราได้พอสมควร ครอบครัวคือเรื่องหนึ่งที่ผูกมัดชีวิตมนุษย์ไว้มากที่สุดตั้งแต่เกิดจนตาย เราถูกฟูมฟัก ปลูกฝังความคิดบางอย่างจากพ่อแม่ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมา และเมื่อถึงเวลาสมควร ที่เราต้องเลือกเส้นทางอนาคตหรือทำงานหลังเรียนจบ พ่อแม่ก็ใช้เราเป็นดินเพาะเมล็ดพันธุ์ของเขาให้คงอยู่ต่อไป วัฒน์คือเมล็ดพันธุ์ตัวอย่างที่เจริญเติบโตตามรอยนายวัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในแง่กายภาพทางพื้นที่ (วัฒน์ไม่เคยหนีออกไปจากอำเภอแก่งคอย) และอุดมคติแบบชาวบ้าน ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ลอยหายไปอาศัยในเมืองหลวงและเติบโตบนสภาพแวดล้อมอีกอย่างเช่นอุทิศ จึงมองคนที่อยู่ที่แห่งนี้ด้วยสายตาอดสู การกลับมาบ้านเกิดของเขาในเวลาเจ็ดวันจึงเป็นช่วงเวลาที่สร้างความประหลาดและวุ่นวายให้กับคนที่นี่มากที่สุด ไม่เพียงอุทิศที่รับรู้และเต็มใจในการเป็นคนนอกของเขา แต่ทุกคนที่นั่นก็รู้สึกไม่ต่างกัน

เมล็ดพันธุ์จากรากเดียวกันแต่ได้รับร่มเงาและอาหารไม่เท่ากัน ผลักดันให้หนึ่งคนเลือกออกจากโรงงานปูนซีเมนต์ที่เคยเป็นสนามเด็กเล่นในวัยเยาว์ ปล่อยอีกคนที่มีความสามารถทางศิลปะไม่ต่างกันต้องเป็นผู้เสียสละความฝันทิ้งเพราะเกิดทีหลัง ความเจ็บปวดของวัฒน์ทำให้ความชอบธรรมที่เราเคยเข้าข้างอุทิศ สั่นคลอนพอสมควร

ถ้าครอบครัวคือสิ่งที่โยงใยและดึงอุทิศให้กลับมาแก่งคอย เขาก็กลับมาด้วยความทะนงตนและยกตัวเหนือคนที่บ้านเกิดทั้งหมด ชายหนุ่มไม่สนใจพิธีรีตองทางศาสนา แต่มุ่งจัดการเรียกร้องค่าตอบแทนของความสูญเสียและต่อกรกับนายทุนผู้มีอิทธิพล อุทิศมองน้องชายที่ไม่เคยไปจากบ้านเกิดเป็นชนชั้นรากหญ้าที่อ่อนต่อโลกและไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ส่วนเขาคือคนที่เติบโตในเมืองใหญ่ คือชนชั้นกลางที่จะคลี่คลายปัญหานี้ได้เพียงคนเดียว แม้ว่าสุดท้ายเรื่องราวจะคลี่คลายด้วยการอาศัยความช่วยเหลือจากนายทหารใหญ่ สามีของกันยา ชู้รักลับๆ ของเขาก็ตาม

ชายหนุ่มฉลาด มีฝีปากในการต่อรอง แต่กลับเงียบงันเมื่อถูกคำพูดของวัฒน์ตะโกนใส่หน้า ว่าแท้จริงสิ่งที่เขาแสร้งทำเป็นธุระก็เพียงแค่ไถ่ความผิดที่เขาไม่เคยเหลียวแลครอบครัวก่อนหน้านี้ เขาแสดงความชอบธรรมของการกลับมาเพื่อจะกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิมในเมืองหลวงอย่างไม่ติดค้างอะไร อุทิศกลับมาเพื่อจัดการกับความสัมพันธ์สุดท้ายที่ครอบครัวผูกมัดเขาไว้ และถ้าสำเร็จ เขาจะเป็นอิสระ ทั้งที่ความจริงไม่มีใครที่นั่นรอเขาอีกต่อไป ประโยคสุดท้ายที่วัฒน์ขอร้องว่าอย่ากลับมา คือการตัดสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเขาไว้เนิ่นนานให้สะบั้นลง นี่คือความจริงเบื้องลึกที่อุทิศปกปิดไว้และถูกเปิดเผยโดยที่เขาไม่ต้องปริปากเอ่ยด้วยตัวเอง

ในแง่เรื่องเล่า ลักษณ์อาลัยเป็นงานเชิงทดลองที่พยายามข้ามขีดจำกัดที่แบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งซึ่งเป็นประเด็นหลักที่คลุมนวนิยายไว้ทั้งเรื่อง การยืมรูปแบบหนังสืออนุสรณ์งานศพมาใช้ให้อิสระมากพอที่อุทิศจะใส่บทความหลากหลายกระโดดไปมาไว้ใต้เส้นในแต่ละบทได้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนเราไม่เข้าใจและสะดุดกับการตามเนื้อเรื่องหลักไปบางช่วง ทำไมต้องอ่านประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีที่ยืดยาวทั้งที่เรากำลังสนุกกับเรื่องราวการคานอำนาจระหว่างนายวันชัยกับอุทิศ เราไม่แน่ใจว่าผู้เขียนต้องการให้เกิดความไม่ราบเรียบเช่นนี้หรือไม่ แต่หากพิจารณาลึกลงไป เรื่องราวใต้เส้นทั้งหมดก็ตอกย้ำประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างคนแต่ละคู่ได้เช่นกัน ในช่วงต้นเรื่อง อุทิศใช้ชีวประวัติตัวละครรองอย่างกันยาและนวลมาขยายเนื้อเรื่องหลัก ทั้งสองคนตกอยู่ใต้ภาวะยึดโยงจากครอบครัวและชาติกำเนิดเช่นกัน หรือเรื่องราวครอบครัวของยายสมที่โชคชะตาพลิกผันจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม ความเจ็บปวดที่ตัวละครเหล่านี้ต้องเผชิญล้วนเกิดจากสิ่งที่พ่อแม่กระทำ และมันก็สะท้อนกลับไปหาคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้วยเช่นกัน

บทวิพากษ์วรรณกรรมโรมานซ์ร่วมสมัยที่เสนอเรื่องราวความรักร่วมสายเลือดของซองมินและพลอยใจพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกี่ยวกับรัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ใส่เข้ามา ล้วนเป็นงานในหน้าที่บรรณาธิการต้นฉบับของอุทิศ ห. ซึ่งทั้งหมดก็วกกลับมาพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องจนเราอดจะนำมาเชื่อมโยงระหว่างอุทิศกับวัฒน์ไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือความสามารถทางการทูตของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ที่เกลี้ยกล่อมต่อรองจนถึงขั้นศัตรูเอ่ยสรรเสริญได้ อาวุธปากที่เป็นกลยุทธ์สำคัญไม่แพ้อาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบเช่นนี้ ไม่ต่างจากอุทิศที่ใช้ปากเอ่ยความน่าสงสาร จนกันยาและเพื่อนนักข่าวช่วยเหลือให้เขาเจรจาต่อรองกับนายวันชัยจนได้ผลลัพธ์เป็นราคาแห่งความสูญเสียที่เขาหวัง

อย่างไรก็ตาม การพลิกกลับที่น่าสนใจมากอยู่ที่บทท้ายๆ อย่าง โมงยามจากลา/พวกเขาไม่นับเธอ ซึ่งอุทิศเผยให้เราเห็นว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่หยิบยกมาเป็นฉากๆ จากอภินิหารบรรพบุรุษนั้นห่างไกลความจริงจนแทบจะอยู่ในฐานะเรื่องแต่งเรื่องหนึ่ง แม้จะถูกใช้อ้างอิงในการชำระพงศาวดารฉบับต่างๆ หลายครั้ง แต่หนังสือเล่มนั้นกลับไม่ถูกนับให้เป็นพงศาวดารด้วย สิ่งนี้เท่ากับทำลายความชอบธรรมและตลบเส้นกั้นระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งที่เล่ามาทั้งหมด อุทิศ เหมะมูลทำลายสิ่งที่ผู้อ่านได้อ่านและเชื่อถือไปแล้วครั้งหนึ่งให้เชื่อถือไม่ได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับบท ทุกอย่างจบลงด้วยดี/คำถามที่ค้างคา ซึ่งตั้งข้อสังเกตของนวนิยายโรมานซ์ร่วมสมัยที่มักจะแพร่เชื้อพันธุ์ให้ผู้อ่านสูดดมผ่านการกระทำผิดศีลธรรมของตัวละคร เช่นการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้องซองมินกับพลอยใจ ที่แม้สุดท้ายเรื่องราวจะคลี่คลายด้วยการแก้ไขให้เป็นความเข้าใจผิดจนความชอบธรรมเกิดขึ้น และทุกอย่างจบลงด้วยดีโดยซองมินและพลอยใจตายจากไปในโลกของเรื่องแต่ง แต่ความรู้สึกของผู้อ่านยังคงอยู่

อุทิศใช้กลไกเดียวกันนี้ในลักษณ์อาลัย เขาพาเราซึมซับความเย็นชาและโหดร้ายที่คนในครอบครัวกระทำต่อกัน การด่าทอตบตีระหว่างพ่อกับแม่ การทำลายความฝันในวัยเยาว์ของลูกชาย นับรวมถึง Subplot ที่แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตีแผ่ทุนนิยมและโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาทำลายความสมบูรณ์ของชนบทไปสิ้น อิทธิพลของผู้มีอำนาจและการวิพากษ์ระบบราชการไทย รวมไปถึงพฤติกรรมผิดประเวณีของอุทิศกับกันยาและนวล คำโกหกที่นางอรพินปกปิดไว้ สุดท้ายบาปแห่งมนุษย์ทั้งหลายที่ถูกเปิดเผยในเนื้อเรื่องหลักก็คล้ายว่าจบลงในพิธีฌาปนกิจศพตามขนบของเรื่องแต่ง ราวกับไม่มีใครเป็นอะไร ไม่มีใครเสียใจ ไม่มีใครเคยทำผิด แต่เราในฐานะผู้อ่านได้สูดดมมันเข้าไปในจิตใจแล้วครั้งหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของผู้อ่านเองที่จะปล่อยให้เชื้อร้ายนั้นอยู่ในอากาศต่อไป หรือเผามันสู่สุคติ

อุทิศยังคงเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาไทยได้สละสลวยมากคนหนึ่ง ด้วยภาษาที่บรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ไม่ต่างจากชมภาพยนตร์ รวมถึงการบรรยายให้เราจมไปกับความรู้สึกตัวละครผ่านคำพูดและการกระทำ แม้เนื้อเรื่องของลักษณ์อาลัยจะยืดเยื้อเกินจะอ่านจบได้ในเจ็ดวัน เพราะผสมทั้งเรื่องแต่ง พงศาวดารและบทความอื่นๆ แต่อุทิศก็ทำให้เราติดตามเนื้อเรื่องหลักจนอดทนที่จะไม่พลิกหน้าถัดไปอ่านไม่ได้เลยทีเดียว

บาดแผลในวัยเยาว์และการใช้ชีวิตอย่างลองผิดลองถูก อุทิศผูกร้อยมันไว้ในลักษณ์อาลัยที่เขาตั้งใจ อุทิศให้กับคนที่สร้างบาดแผลนั้น แม้ร่องรอยที่พ่อกับเขามีต่อกันจะลึกและยากจะสมานได้ อุทิศ เหมะมูลก็ไม่ใช่อุทิศ ห. ที่หวังจะใช้นวนิยายเรื่องนี้ชดเชยให้จบลงด้วยดีเหมือนอย่างในเรื่องแต่ง ในอดีตเจ็บปวดที่ฝ่าฟันมา เรายังเชื่อว่าอุทิศขอบคุณพ่อที่หักเหเส้นทางชีวิตของเขาให้มาเป็นอย่างวันนี้

งานเขียนของอุทิศแทบทุกเรื่องมีเสน่ห์อยู่ที่การสร้างจิตใจตัวละครได้ซับซ้อนสมมนุษย์ จนยากเกินจะตัดสินความถูกผิดและชอบธรรมของพวกเขา อันที่จริงก็ไม่มีใครสมควรถูกตัดสิน ไม่มีความถูกและความผิดในชีวิตมนุษย์ เพราะทุกคนมีความจำเป็นผ่านเงื่อนไขชีวิตที่ต้องยอมรับต่างกัน

เราต่างดีและเลวในบางเรื่อง

เราต่างเปิดเปลือยและโป้ปดเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้

เราอาจเลือกและไม่อาจเลือกชีวิตของเรา

อุทิศ เหมะมูลเข้าใจดีในเงื่อนไขที่โลกสร้างให้มานี้ เพราะเขาคือหนึ่งในเมล็ดพันธุ์ที่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไกลกว่ารากที่เลือดเนื้อเชื้อไขสร้างมา

 

 

2 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *