นักดนตรีชั้นยอดย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน: อันเนื่องมาจากคอนเสิร์ต Beethoven Complete Cello Sonatas and The “Ghost” Trio

นักดนตรีชั้นยอดย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน:

อันเนื่องมาจากคอนเสิร์ต Beethoven Complete Cello Sonatas and The Ghost” Trio

Cello sonatas - Trio

ความน่าสนใจของวงโปรมูสิกาในโปรแกรมการแสดงของปี 2557 นี้ ที่นอกเหนือจากจะคัดสรรบทเพลงไพเราะมาบรรเลงให้ผู้ฟังอิ่มเอมใจแล้ว ยังได้เชิญนักดนตรีที่มีฝีไม้ลายมือจัดจ้านจากต่างชาติมาให้นักฟังชาวไทยได้ประจักษ์ถึงความสามารถอย่างสม่ำเสมอด้วย และยังมีความกล้าหาญที่จะเลือกบทเพลงที่ค่อนข้างยากทั้งผู้เล่นและผู้ฟังมานำเสนออีกด้วย ผมกำลังพูดถึงโปรแกรมที่สุดแสนท้าทายของนักดนตรีรับเชิญทั้งสอง คือ อเล็กซองดร์ เวย์ (Alexandre Vay) นักเชลโลชาวฝรั่งเศส และ ดิมิทรี ปาปาโดปูลอส (Dimitri Papadopoulos)นักเปียโนชาวอเมริกัน (เชื้อสายกรีก)  อาคันตุกะจากวงการดนตรีฝรั่งเศสมาแสดงเชลโลโซนาตาของเบโธเฟนครบทั้ง 5 บท รวมถึงเพลง Piano Trio Op.70 No.1 The Ghost”ร่วมกับทัศนา นาควัชระ ตัวแทนของวงโปรมูสิกาซึ่งเป็นเจ้าบ้าน ในการแสดงเมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2557 ที่สยามสมาคม

หากอ่านประวัติของนักดนตรีจะพบว่าทั้งคู่เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ที่อายุค่อนข้างน้อย โดย อเล็กซองดร์ เวย์ มีอายุ 28 ปี ส่วนดิมิทรี ปาปาโดปูลอสอายุ 29 ปี ทั้งคู่เรียนมาจากสำนักเดียวกันคือวิทยาลัยดนตรีแห่งเมืองลี-ออง ประเทศฝรั่งเศส แล้วก็ได้ไปหาประสบการณ์เพิ่มเติมในประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ทั้งสองยังจับคู่เล่นเชมเบอร์มิวสิคร่วมกันมานานพอสมควร  และได้รับรางวัลมาจากหลายเวที รวมทั้งได้บันทึกเสียงการบรรเลงไว้หลายชุดด้วยกัน แต่ดนตรีที่แท้จริงนั้นไม่มีอะไรดีเท่ากับการฟังการบรรเลงสด  เรานักฟังทั้งหลายจึงต้องมาพิสูจน์ฝีมือของนักดนตรีหนุ่มทั้งสองว่ายอดเยี่ยมสมคำร่ำลือหรือไม่

โปรแกรมที่ทั้งคู่แสดงนั้น นับได้ว่าเป็นโปรแกรมเบโธเฟนมาราธอนเลยทีเดียว เนื่องจากต้องเล่นเชลโลโซนาตาครบทุกบท ซึ่งแต่ละบทก็มีความยาวร่วมๆ ครึ่งชั่วโมง จึงต้องจัดการแสดงเป็นสองวัน ในวันแรก เป็นการบรรเลงเชลโลโซนาตา บทที่ 1 ถึง 3 ส่วนในวันที่สองจะบรรเลงบทที่ 4 และ 5 และเติมท้ายด้วย Piano Trio The Ghost”ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโปรแกรมที่หนักและเหนื่อยเอาการสำหรับทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง บทเพลงของเบโธเฟนอาจเรียกได้ว่าเป็นเพลงของคนคิดมากก็ว่าได้ เพราะเป็นบทเพลงที่มีอารมณ์หลากหลายมาก บทจะเศร้าสร้อยก็ไม่ถึงกับบีบคั้นอารมณ์จนเกินไป บทจะรื่นเริงก็จะมีหยุดพักไม่ให้คึกคะนองมากเกินควร แต่จะออกไปในแนวที่ลึกซึ้งและให้ความหลากหลายทางอารมณ์ที่พอดีไม่จัดจ้านจนเกินเลยรสนิยมอันดีงาม ซึ่งน่าจะเป็นบุคลิกที่เด่นชัดของเบโธเฟนว่าเป็นนักคิดทางดนตรีที่พยายามสร้างความสมดุลทางอารมณ์ให้กับเสียงเพลงของเขา

การแสดงวันแรก เริ่มต้นด้วยSonata for Cello and Piano No.1 in F, Op.5 No.1ในกระบวนแรก Adagio sostenuto – Allegro เริ่มต้นด้วยเสียงเชลโลที่นุ่มนวลกับเสียงเปียโนที่อ่อนหวาน แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เบโธเฟนก็หยุดอารมณ์อ่อนหวานไว้แล้วเข้าสู่ทำนองที่ค่อนข้างหม่น ถัดจากนั้นพอถึงช่วงที่เป็นจังหวะรวดเร็ว ก็เหมือนจะรื่นเริงสนุกสนาน แต่ก็มียั้งอารมณ์ไว้เป็นระยะๆ ในกระบวนที่สอง Rondo. Allegro vivace เน้นลีลาที่โลดโผน มีอารมณ์ที่ผ่อนคลายกว่ากระบวนแรกมีความสนุกสนานเร้าใจมากขึ้น เป็นช่วงที่เชลโลได้โชว์เทคนิคที่หลากหลาย เช่นเดียวกับเปียโนที่มีบทบาทมากไม่แพ้กัน จึงเป็นการเล่นประชันกันอย่างสนุกสนานของเครื่องดนตรีทั้งสอง

ถัดมาเป็น Sonata for Cello and Piano No.2 in G minor, Op.5 No.2 สำหรับกระบวนแรก Adagio sostenuto e espressivo – Allegro molto piùtosto prestoเนื่องจากเป็นเพลงในบันไดเสียง minor จึงเต็มไปด้วยทำนองที่หม่นแต่ก็ไม่ถึงกับหดหู่ เพราะจะมีทำนองที่อ่อนหวานสดใสมาสลับอารมณ์ให้สบายใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเพลงนี้ค่อนข้างเป็นเพลงที่ฟังยาก เพราะมีการเล่นกับความเงียบและเสียงที่ลากยาวๆ บ่อยครั้ง  ทำให้ต้องตั้งใจฟังมากเป็นพิเศษ เมื่อถึงช่วงเร็วแม้จะมีลีลาที่โลดโผนมากขึ้น แต่ด้วยความที่อยู่ในบันไดเสียง minor ทำให้ทำนองออกโทนหม่น ฟังดูขึงขังดุดัน แต่ในกระบวนที่สอง Rondo. Allegroได้เปลี่ยนทำนองมาอยู่ในบันไดเสียง major ที่ไพเราะสนุกสนาน พร้อมกับให้ทั้งสองได้สนทนากันอย่างเพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายอารมณ์หนักหน่วงจากกระบวนแรกได้เป็นอย่างดี

ในครึ่งหลังของวันแรกเป็น Sonata for Cello and Piano No.3 in A, Op.69 ในกระบวนแรก Allegro ma nontanto มีท่วงทำนองที่ไพเราะฟังสบาย ชวนให้ติดตาม แม้ว่าจะมีบางช่วงที่สลับอารมณ์ด้วยทำนองเหงาๆ เพื่อเปลี่ยนอารมณ์บ้าง ในกระบวนที่สอง Scherzo. Allegro moltoมีทำนองที่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่ก็แต่ยังขืนๆ อารมณ์ไว้ด้วยความเงียบและความแผ่วเบาในบางช่วง  กระบวนที่สาม Adagio cantabile – Allegro vivaceเริ่มต้นมาด้วยทำนองที่อ่อนโยนซาบซึ้ง ชวนให้คิดถึงท่อนช้าของPiano Sonata No.8ของเบโธเฟนเอง โดยที่เชลโลจะเป็นผู้ถ่ายทอดท่วงทำนองที่งดงามนี้ พอถึงท่อนเร็วก็จะสลับมาให้เปียโนเล่นบทนำบ้างในท่วงทำนองที่สนุกรื่นเริง ซึ่งเสียงเชลโลของเวย์ซาบซึ้งนุ่มนวลมาก แต่พอถึงช่วงที่กระแทกกระทั้น ก็ทำได้อย่างงดงาม ไม่ได้รู้สึกว่าหยาบกร้านรุนแรงแต่อย่างใด เรียกได้ว่าสไตล์ของเขาคือการเล่นที่คม ชัดเจนทุกโน้ต และเน้นความงามของเสียง ส่วนเสียงเปียโนของปาปาโดปูลอส ผมคิดว่าเขาออกเล่นแนวหวานได้ไพเราะเป็นพิเศษ แต่ก็เล่นในอารมณ์อื่นๆ ได้อย่างครบถ้วนเป็นอย่างดี

ในวันที่สอง เริ่มต้นด้วย Sonata for Cello and Piano No.4 in C, Op.102 No.1 ในกระบวนแรก Andante – Allegro vivaceเริ่มต้นด้วยช่วงเดี่ยวเชลโลที่อ่อนโยน ไพเราะจับใจ โดยมีเปียโนเข้ามาเติมเต็มท่วงทำนองให้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น จากนั้นเปลี่ยนอารมณ์มาเป็นรุกเร้า ในท่อนนี้ผมถูกใจมากเป็นพิเศษที่เสียงเชลโลของเวย์มีความเข้มข้นและหลากหลายอารมณ์มาก และเข้ากันได้ดีกับเสียงเปียโนของปาปาโดปูลอส ซึ่งทั้งสองก็ต่างสื่อสารกันด้วยเสียง สายตา และกระแสจิตได้เป็นอย่างดี ทำให้การบรรเลงออกมาอย่างไพเราะยิ่ง ในกระบวนที่สอง Adagio – Tempo d’andante – Allegro vivaceมีทำนองค่อนข้างหม่น เสียงต่ำของเชลโลสร้างความหม่นได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น แล้วค่อยๆ คลี่คลายมาอยู่ในอารมณ์ที่สดใส รื่นเริง แนวทำนองของเชลโลและเปียโนชวนจินตนาการให้นึกถึงการกระโดดโลดเต้น แม้จะมีพักความตื่นเต้นเป็นระยะๆ แต่ท่วงทำนองโดยรวมออกมาในแนวอบอุ่นสบายใจ

ตามด้วยSonata for Cello and Piano No.5 in D, Op.102 No.2  ในกระบวนแรก Allegro con brioขึ้นมาด้วยเสียงเปียโนที่กระฉับกระเฉง ฉับไว แล้วค่อยตามมาด้วยเชลโล ซึ่งต่างจากบทก่อนๆ หน้านี้ ที่มักจะขึ้นต้นด้วยเชลโลในท่วงทำนองที่เนิบช้า กระบวนที่สอง Adagio con molto sentimentod’affetto – Attaccaมีทำนองที่อ่อนโยน นุ่มนวล แต่ออกแนวหม่นเล็กน้อย โดยเน้นที่อารมณ์ของบทเพลงมากกว่าเรื่องเชิงเทคนิค ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจทางด้านดนตรีอย่างสูง แต่เวย์และปาปาโดปูลอสก็แสดงออกมาได้อย่างลึกซึ้งกินใจ พอมาถึงกระบวนที่สาม Allegro – Allegro fugatoเป็นท่อนที่เบโธเฟนแต่งแบบประสานหลายแนว หรือ counterpoint เหมือนเป็นการคารวะต่อบาค (Johann Sebastian Bach, 1685-1750: คีตกวีชาวเยอรมัน) บรมครูแห่งcounterpoint แต่ก็มีท่วงทำนองและสไตล์ที่ยังคงเป็นเบโธเฟนอยู่ดี สังเกตได้ว่าทั้งนักเชลโลและนักเปียโนเล่นท่อนนี้อย่างสนุกสนานเป็นพิเศษ

สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือ เชลโลโซนาตาของเบโธเฟน ไม่ได้แต่งไว้เพียงเพื่อแสดงความสามารถของเชลโลเท่านั้น แต่ก็ได้ให้บทบาทของเปียโนในระดับที่ทัดเทียมกัน ไม่ใช่เพียงเครื่องบรรเลงประกอบ (accompany) เท่านั้น การเล่นจึงเหมือนกันการสนทนาระหว่างเครื่องดนตรีทั้งสอง  ซึ่งทั้งเวย์และปาปาโดปูลอส ก็ได้สนทนากันด้วยเสียงดนตรีอย่างงดงาม ทั้งคู่แม้จะมองโน้ตดนตรีที่อยู่เบื้องหน้า แต่ก็ไม่ลืมที่จะหันไปสบตากับเพื่อนอยู่บ่อยครั้ง อันเป็นความหมายของการเล่นดนตรีร่วมกันอย่างแท้จริง

เพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ตเบโธเฟนมาราธอนนี้ คือ Piano Trio Op.70 No.1 The Ghost” ซึ่งเวย์และปาปาโดปูลอส บรรเลงร่วมกับทัศนา นาควัชระ ซึ่งถือเป็นเจ้าบ้านในงานนี้ ผมเองได้ยินจากปากอาจารย์ทัศนาเองว่า อาจารย์กลัวจะเล่นได้ไม่ดีนัก เพราะได้ซ้อมกับทั้งคู่เพียงแค่ 3 ครั้ง เนื่องจากมีภารกิจทั้งด้านงานสอน งานบริหาร และงานแสดงดนตรีที่ต่างจังหวัดด้วย ซึ่งอาจารย์จะเป็นห่วงมากในกระบวนที่สอง ซึ่งเป็นท่อนช้าและเน้นความลึกซึ้งของอารมณ์มากเป็นพิเศษ แต่ในการบรรเลงจริงทั้งสามก็บรรเลงได้อย่างไพเราะ ไม่รู้สึกว่าอ่อนซ้อมแต่อย่างใด กระบวนแรกและกระบวนที่สาม มีจังหวะที่ค่อยข้างตายตัว เล่นตามได้สบาย ในกระบวนที่สองซึ่งเป็นท่อนที่เน้นอารมณ์ความรู้สึก มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวในจังหวะ ทั้งสามก็เล่นเข้ากันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้น่าจะเนื่องจากทั้งสามเป็นนักดนตรีที่เชี่ยวชาญในการเล่น chamber music ซึ่งเรียกร้องให้นักดนตรีฟังซึ่งกันและกันอยู่แล้ว และทักษะในการฟังกันได้เป็นอย่างดี รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันนั้น ทำให้ทั้งสามได้ค้นพบการบรรเลงที่ยอดเยี่ยมได้อย่างฉับพลันบนเวทีคอนเสิร์ตนั่นเอง ซึ่งอาจารย์ทัศนาได้กล่าวภายหลังการเล่นว่า “การเล่นดนตรีกับนักดนตรีมืออาชีพชั้นยอดนั้น ไม่ต้องซ้อมหรือตกลงนัดแนะอะไรกันมากมาย  การปล่อยให้ดนตรี เล่น ของมันไปเองนั้น ถูกต้องที่สุด” เราผู้ฟังก็ได้พิสูจน์แล้วว่าทั้งสามท่านนี้ คือนักดนตรีชั้นยอดของจริง

คอนเสิร์ตที่สยามสมาคมทั้งสองวันนี้ สร้างความอิ่มเอมใจให้กับผมและนักฟังอีกหลายๆ ท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะโอกาสที่จะได้ฟังเชลโลโซนาตาของเบโธเฟนครบทุกบทนั้น แม้ในประเทศตะวันตกก็มีไม่บ่อยนัก ถือเป็นความดีของวงโปรมูสิกาที่เชิญนักดนตรีชั้นยอดมาสร้างประสบการณ์ทางดนตรีอันล้ำค่าให้แก่ผู้ฟังอย่างสม่ำเสมอ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งคือ ผู้ฟังในหอประชุมของสยามสมาคมนั้นเป็นชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่จุดมุ่งหมายที่ ฯพณฯ หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ก่อตั้งวงโปรมูสิกาขึ้นเมื่อกว่ากึ่งศตวรรษที่แล้ว ก็เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ดนตรีคลาสสิกที่บรรเลงสด แต่แล้วคนไทยหายไปไหนกันหมด หรือเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เราก็พบอยู่เสมอว่าการแสดงดนตรีที่โหมประชาสัมพันธ์อย่างหนักบางครั้งก็มิได้ดีเลิศอย่างที่โฆษณา(ชวนเชื่อ)เอาไว้ พวกเราผู้ฟังที่มีใจภักดิ์ในด้านนี้คงต้องทำการบ้านกันมากขึ้นและพร้อมที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินด้วยตัวเองว่าดนตรีที่จะมาแสดงในบ้านเรานั้น  อะไรคือของจริง อะไรคือของเทียม

วฤธ วงศ์สุบรรณ

27 พฤษภาคม 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *