ผมนึกว่าตกรถไฟเที่ยวสุดท้ายคนเดียว ความจริงผมมีเพื่อนร่วมทางและร่วมทุกข์อีกหลายคน

ผมนึกว่าตกรถไฟเที่ยวสุดท้ายคนเดียว ความจริงผมมีเพื่อนร่วมทางและร่วมทุกข์อีกหลายคน

49704_539395682_6011_n

มีคณะผู้วิจัยโครงการที่ชื่อประหลาดว่า A Future Archeology (เขาสะกดอย่างนี้) เสนอตัวเข้ามาร่วมจัดสัมมนาร่วมกับศูนย์วิจัย Interweaving Performance Cultures (การถักทอวัฒนธรรมการแสดง) ของมหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรี  ในหัวข้อ “How to Collaborate?” ผมเป็นสมาชิกของศูนย์วิจัย “การถักทอ” นี้อยู่  และก็นึกว่าได้โอกาสที่ดีมากที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการวิจัย สกว. (การวิจารณ์) ในช่วงใหม่ด้วย  ซึ่งเน้นการสร้างเครือข่าย  ผมเพิ่งได้ทราบภายหลังว่ากลุ่ม “โบราณคดีแห่งอนาคต” นั้น ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับโบราณคดีเลย ขอเพียงอาศัยใช้คำว่า “ขุด” เท่านั้น  เขาอธิบายจุดมุ่งหมายของกลุ่มของเขาว่า “…given (social) structures are to be excavated in order to comprehend their constructedness” (ผมว่าผู้เชี่ยวชาญที่ทำ Oxford Dictionary ก็คงอธิบายความหมายของคำทุกคำในที่นี้ไม่ได้)  ปรากฏว่ากิจกรรมของพวกเขาเป็นเรื่องของนาฏศิลป์สมัยใหม่ซึ่งมีความทะเยอทะยานที่จะเข้าถึงปัญหาสังคม ว่าโดยหลักการก็น่าสนับสนุน

แต่การประชุมต่อเนื่องกัน 2 วัน เมื่อ 10-11 ตุลาคม 57  เป็นการจัดทวิวัจน์ (dialogue) โดยให้วิทยากรมาสนทนากันครั้งละ 2 คน  และผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ เข้าแจมด้วยหลังจากนั้น  โดยหลักการก็ดีอีกนั่นแหละ มีการจับคู่สนทนากัน 5 คู่  ปรากฏว่ามีเพียงคู่เดียวที่พูดรู้เรื่อง คือ ผู้ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ในสวีเดนมาสนทนากับกวีชาวแคนาดา นอกจากนั้นเป็นพวกที่มาจากสาขาศิลปะการแสดง  โดยเฉพาะฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายจัดการ และฝ่ายภัณฑารักษ์ (curating) ท่านทั้งหลายพูดภาษาเดียวกันทั้งหมดคือ ภาษาของพวกนักทฤษฎีสมัยใหม่ที่เลียนแบบนักคิดฝรั่งเศสบางคน  ในที่สุดก็ตอบโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ไม่ได้ว่า ควร “ทำงานร่วมกันอย่างไร”  แต่ตั้งตนเป็นนักปรัชญา  แล้วตีความมโนทัศน์ต่างๆ ที่ดูประหนึ่งว่าจะเกี่ยวข้องกับการ “collaborate”

ในการประชุมคาบสุดท้าย  ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัย “การถักทอ” ขอตั้งข้อสังเกตแบบยอมเสียมารยาทของเจ้าบ้านว่า “พวกคุณทั้งหลายอยู่แต่ในกะลาความคิดตะวันตก (Eurocentric) พูดจาด้วยภาษาที่มีไว้ฟังกันเอง  ไม่สนใจที่จะสื่อสารกับผู้อื่น  ไม่รู้หรอกหรือว่า โครงการ ‘ถักทอ’ ของเราได้รับประโยชน์มหาศาลจากการที่มีนักวิจัยจากทั่วโลกมาทำงานร่วมกับเรา  เราเรียนรู้จากแนวคิดและแนวปฏิบัติของวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่วัฒนธรรมตะวันตก  และเราค้นพบว่าไม่มีปัญหาในการสื่อสารเลย  เพราะเราเข้าใจกันได้อย่างดี  โดยที่ทุกคนเปิดใจออกรับความคิดจากวัฒนธรรมอื่นๆ  พวกคุณควรจะมองให้กว้างกว่าแนวคิดตะวันตก”

ตัวผู้อำนวยการเอง  ซึ่งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรีไม่เอ่ยปากพูดอะไร   แต่พอออกมานอกห้องแล้วก็มาคุยกับผมว่า  พวกหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่รู้ทฤษฎีจริงจังอะไรหรอก  (ตัวท่านศาสตราจารย์เองเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม ซึ่งเป็นการสร้างทฤษฎีจากประสบการณ์ของท่านเอง)  เพียงแต่ตามนักทฤษฎีที่มีชื่อเสียง  โดยที่ยังไม่ได้ย่อยแนวคิดเหล่านั้นเลย

ผมก็ถึงบางอ้อพอดี  ก็นี่มัน “วานรชำราบ” แนวตะวันตกนั่นเอง  แล้วพวกนี้ก็ชอบว่าคนที่เห็นต่างจากตนว่าไม่ทันโลก  มีหรือที่ศาสตราจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรีจะเป็นคนที่ไม่ทันโลก  ผมก็เลยปลอบใจตัวเองว่า  ไม่ใช่แต่เราคนเดียวเท่านั้นที่อาจถูกมองว่าตกรถไฟเที่ยวสุดท้าย  แต่มหากูรูที่เบอร์ลินก็ตกที่นั่งเดียวกับผม  มิน่าเล่า กลุ่มของท่านกับนักวิชาการจากเอเชีย อัฟริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ  จึงร่วมทำงาน (collaborate) กันได้เป็นอย่างดีต่อเนื่องมา  5 ปีแล้ว  แต่เรายังไม่ได้ร่วมกันเขียนคู่มือการทำงานร่วมกันเสียที  จำเป็นด้วยหรือที่ต้องมีคู่มือ  ของอย่างนี้ต้องทำไปเรียนไปมากกว่า

 

เจตนา  นาควัชระ

เบอร์ลิน 12 ต.ค. 57

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *