3 คอนเสิร์ตชุดแรกในปี 2558 ของกลุ่ม Pro Musica: ความหฤหรรษ์ของดนตรีเชมเบอร์ที่หลากหลาย

3 คอนเสิร์ตชุดแรกในปี 2558 ของกลุ่ม Pro Musica: ความหฤหรรษ์ของดนตรีเชมเบอร์ที่หลากหลาย

กลุ่มโปรมูสิกา ประเดิม 3 เดือนแรกของปี 2558 ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ได้จัดคอนเสิร์ตในชื่อ “Salut d’amour”: An Evening with Romantic Melodies เป็นการบรรเลงไวโอลิน (ทัศนา นาควัชระ) คู่กับเปียโน (พรพรรณ บันเทิงหรรษา) ณ สยามสมาคม คอนเสิร์ตในคืนนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนคร่าวๆ ด้วยกัน คือครึ่งเวลาแรกจะเป็น serious music ซึ่งมีเนื้อหาดนตรีที่เข้มข้นและต้องใช้สมาธิในการฟังค่อนข้างสูง ส่วนครึ่งหลังจะเป็น light music เป็นเพลงสั้นๆ ฟังสบายๆ ซึ่งแฟนเพลงคลาสสิกโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเสียงไวโอลินจะรู้จักเป็นอย่างดี

at siam society 2

ครึ่งแรกเป็นการบรรเลง Sonata in G minor Op.1 No.1 “Didone abbandonata” ผลงานของ Giuseppe Tartini  และ Sonatina for Violin and Piano in G major ผลงานของ Antonin Dvorak สำหรับโซนาตาของตาร์ตินี ท่วงทำนองออกไปทางหม่นตลอดทั้งเพลง แต่ก็มีทั้งจังหวะที่ราบเรียบและรุกเร้า มีอารมณ์ที่หลากหลาย และมีความเป็นเอกลักษณ์ของดนตรียุคบารอคสูงมาก ในส่วนของโซนาตินาของดวอชาคนั้น น่าจะถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของค่ำคืนนั้นเลยก็ว่าได้ อันที่จริง  ไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องเรียกว่า “โซนาตาน้อย” แต่ประการใด  เพราะเป็นเพลงที่มีโครงสร้างใหญ่ถึง 4 กระบวน มีเนื้อหาดนตรีที่หลากหลาย รวมทั้งยังสรรค์สร้างแนวทำนองให้ไวโอลินและเปียโนสอดประสานกันได้อย่างยอดเยี่ยม เปียโนมีบทบาทที่โดดเด่นไม่เป็นรองไวโอลินเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีเทคนิคที่แพรวพราวและความไพเราะน่าฟัง ซึ่ง อ.พรพรรณ สามารถถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับเสียงไวโอลินของ อ.ทัศนา ที่บรรเลงออกมาได้อย่างหลากหลาย ทั้งในท่วงทำนองหวานซึ้ง สนุกสนาน หรือขึงขังดุดัน และเหนืออื่นใดคือทั้งคู่บรรเลงเข้ากันได้อย่างสอดคล้องลงตัว การตีความและบรรเลงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งน่าจะมาจากการวิเคราะห์และการฝึกซ้อมบทเพลงอย่างหนักร่วมกันของทั้งคู่  การทำงานร่วมกันในมหาวิทยาลัยเดียวกันก็จัดได้ว่าเป็นตัวช่วย

ส่วนในครึ่งหลัง จะเป็นบทเพลงที่คุ้นหูผู้ฟังอยู่แล้ว ได้แก่ Salut d’amour (Edward Elgar), Méditation from “Thaïs” (Jules Massenet), Andante Cantabile (Peter Ilytch Tchaikovsky), Ave Maria (Johann Sebastian Bach/Charles Gounod), Berceuse Op.16 (Gabriel Fauré), Le Cygne (Camille Saënt-Saens), Träumerei (Robert Schumann), Serenade (Franz Schubert), Liebesleidและ Liebesfreud (Fritz Kreisler) เป็นเพลงในลักษณะ encore pieces หรือเพลงแถม  น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการโปรโมทแผ่นบันทึกเสียงที่ทั้งคู่นำออกเผยแพร่ใหม่ล่าสุด ซึ่งเพลงที่บรรเลงในครึ่งหลังก็คือเพลงที่บันทึกลงในแผ่นนั่นเอง ผมขออนุญาตสรุปภาพรวมของครึ่งหลัง เพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่นุ่มนวลอ่อนหวาน ท่วงทำนองไพเราะ และเน้นแนวทำนองของไวโอลินเป็นหลัก ผมเคยได้ฟังเพลงเหล่านี้มาจากแผ่นบันทึกเสียงของนักไวโอลินชื่อดังหลายท่าน อาทิ David Nadien, Anne-Sophie Mutter, Itzhak Perlman, Isaac Stern หรือแม้แต่ Fritz Kreisler ในบางเพลง ผมเชื่อมั่นว่าการบรรเลงของ อ.ทัศนา และ อ.พรพรรณนั้น ไม่ได้มีความด้อยไปกว่าศิลปินชื่อดังระดับโลกเลย ทั้งในด้านเทคนิคและด้านการตีความ (ซึ่งผู้ฟังต่างกันก็อาจจะมีความชอบที่แตกต่างกันก็ได้) ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตคิดว่าแนวทางการตีความของ อ.ทัศนา เป็นไปในแนวทางกลางๆ ไม่ดัดแปลงโน้ตหรือเน้นตรงนั้นตรงนี้มากนัก  เข้าใจว่านี่คือระบบที่ได้รับการพร่ำสอนมาจากสำนัก Yehudi Menuhin มีการเน้นเสียงที่อ่อนหวานนุ่มนวล (ซึ่งหลังจากจบคอนเสิร์ต ผมได้ซื้อแผ่นบันทึกเสียงชุดนี้ไปฟังซ้ำ พบว่าบันทึกเสียงได้เป็นอย่างดี เสียงมีความคมชัดและมีมิติ อีกทั้งคุณภาพการบรรเลงก็ไม่น้อยหน้าอัลบัมของนักดนตรีชื่อดัง น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่)

คอนเสิร์ตที่ 2 ของโปรมูสิกา เป็นการแสดงของวงสตริงควอร์เต็ต ซึ่งประกอบด้วย ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน 1) ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ (ไวโอลิน 2) มิติ วิสุทธิ์อัมพร (วิโอลา) และกิตติคุณ สดประเสริฐ (เชลโล) บรรเลงเพลงในรายการ “Young Beethoven” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ณ โรงแรมฟอร์ซีซันส์ นำเสนอบทเพลง String Quartet Op.18 No.6 in B flat major และ String Quartet Op.18 No.4 in C minor ซึ่งเป็นผลงานในวัยหนุ่มของ Ludwig van Beethoven หากมองในมุมหนึ่งจะรู้สึกว่าช่วงวัยหนุ่มนั้น ผลงานของเบโธเฟนยังได้รับอิทธิพลจาก Haydn และ Mozart อยู่มาก ทั้งในด้านโครงสร้างและสไตล์ แต่อย่างไรก็ตามเบโธเฟนก็มีอัจฉริยภาพมากพอที่จะทำให้ผลงานของตนมีความสดใหม่และแตกต่างจากบรมครูทั้งสอง  และนำไปสู่การเปลี่ยนสไตล์ดนตรีเข้าสู่ยุคโรแมนติคในช่วงท้ายๆ ของชีวิต  เป็นที่แน่ชัดว่าเบโธเฟนรู้ซึ้งถึงศักยภาพของเครื่องดนตรี และก็เรียกร้องความสามารถในระดับสูงทีเดียวจากนักดนตรี

at siam society 4

การบรรเลงในคืนนั้น กลุ่มโปรมูสิกาได้จัดตำแหน่งของนักดนตรีเป็นแบบดั้งเดิมในยุคศตวรรษที่ 19 โดยเรียงลำดับจากซ้ายมาขวาเป็น ไวโอลิน 1 เชลโล วิโอลา และไวโอลิน 2 ซึ่งทำให้น้ำเสียงของการ “สนทนา”ระหว่างไวโอลิน 1 และไวโอลิน 2 มีความชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย ผู้ฟังสามารถสัมผัสได้ถึงการหยอกล้อระหว่างเครื่องดนตรีต่างๆ ภายในวงอย่างชัดเจน ในส่วนของวงก็สามารถบรรเลงได้อย่างไพเราะน่าฟัง ทั้งในส่วนที่รวดเร็ว สนุกสนาน และสดใส ลูกล้อลูกขัดทำได้เป็นอย่างดี ในส่วนที่เป็นทางลึก เช่นในช่วงต้นของกระบวนที่ 4 ในสติงควอเต็ทบทที่ 6 นั้น ก็เล่นกันได้อย่างถึงอารมณ์ ทั้งที่เนิบช้าและรุนแรง (ชวนให้นึกถึงเพลงช้าๆ บางบทของเบโธเฟนในยุคหลังๆ ที่มีความหลากหลายและลึกซึ้งทางอารมณ์สูงมาก) โดยเฉพาะ อ.ทัศนา และอ.ศิริพงษ์ ที่ผลัดกันรับบทบาทนำได้เข้าขากันเป็นอย่างดี สมกับที่เล่นร่วมกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว อ.กิตติคุณ ก็เล่นได้ดีตามมาตรฐาน เสียงเชลโลของเขากังวานน่าฟัง ในส่วนของมิตินั้น ฝีไม้ลายมือของเขาไม่ธรรมดาเลยทีเดียว จังหวะที่ต้องเดี่ยวก็เล่นได้อย่างมั่นใจ แม้ในบางครั้งอาจจะยังดูเกร็งๆ อยู่บ้าง เนื่องจากต้องเล่นกับนักดนตรีรุ่นครูบาอาจารย์ แต่เชื่อว่าหากได้เล่นเชมเบอร์ด้วยกันบ่อยครั้งเข้า น่าจะช่วยให้พัฒนาฝีมือให้กล้าแกร่งมากยิ่งขึ้นไปอีก

at siam society

สำหรับคอนเสิร์ตที่ 3 เป็นการแสดงเดี่ยวเปียโนและกลุ่มเปียโนควินเต็ต นำโดยอังเดร กุกนิน (Andrey Gugnin) นักเปียโนรุ่นหนุ่มฝีมือเยี่ยมจากรัสเซีย (ซึ่งเพิ่งจะได้รับรางวัลชนะเลิศจาก Gina Bachauer Piano Competition มาเมื่อไม่นานนี้) ร่วมกับทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน 1) พิชญาภา เหลืองทวีกิจ (ไวโอลิน 2) เดวิด อับราฮัมยัน (David Abrahamyam, วิโอลา) และไฆเม ราปาโด (Jaime Rapado, เชลโล) โดยในครึ่งแรกเป็นการบรรเลงเดี่ยวเปียโน ในบทเพลง Transcendental Etudes ผลงานของ Franz Liszt และครึ่งหลังเป็น Piano Quintet in F minor Op.34 ผลงานของ Johannes Brahms เมื่อค่ำคืนของวันที่ 4 มีนาคม 2558 ณ สยามสมาคม

ในการบรรเลงครึ่งแรกนั้น ผมคิดว่ากุกนินเป็นนักเปียโนที่ทรงพลังและเปี่ยมไปด้วยเทคนิคที่ยอดเยี่ยมสามารถถ่ายทอดอารมณ์ที่หลากหลายของ études หรือ “แบบฝึกหัดระดับอุตรภาพ” เช่นนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งอารมณ์ที่รุนแรง เร้าใจ ลึกซึ้ง หม่นเศร้า สนุกสนาน ขึงขัง ดุดัน อ่อนหวาน เรียกได้ว่าครบทุกรสชาติของเสียงเปียโนจริงๆ ซึ่งนักฟังอาวุโสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เทคนิคบางประการนั้น เปียโนในศตวรรษที่ 19 อาจจะก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดความต้องการของลิสต์ออกมาได้หมด แต่เปียโนในยุคใหม่ได้พัฒนาระบบกลไลให้ตอบสนองเทคนิคของผู้เล่นได้เป็นอย่างดีแล้ว และการบรรเลงของกุกนินนั้นก็น่าจะเรียกได้ว่าตอบสนองทุกตัวโน้ตที่ลิสต์เขียนไว้ได้อย่างครบถ้วน

หากใครได้ฟังแต่เฉพาะครึ่งแรก อาจจะเหมารวมไปว่ากุกนินเป็นแต่เพียงนักเปียโนที่มีเทคนิคยอดเยี่ยมเท่านั้น หารู้ไม่ว่าในครึ่งหลัง เขายังแสดงถึงความเป็น “นักดนตรี” อย่างแท้จริง ด้วยการแสดงเป็นวงควินเต็ตร่วมกับนักดนตรีของบ้านเรา จะเห็นได้ว่ากุกนินสามารถเล่นเข้ากับเพื่อนร่วมวงได้เป็นอย่างดี เสียงเปียโนของเขานุ่มนวลมากขึ้นและกลมกลืนไปกับเครื่องสาย ในส่วนของเครื่องสายนั้น ที่น่าสนใจคือพิชญาภา หรือน้องเมย์ ดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการไวโอลินเมืองไทย ที่กำลังจะลัดฟ้าไปเรียนต่อในยุโรป ผมเคยได้ฟังพิญชาภาเล่นไวโอลินคอนแชร์โตของบาค คู่กับเลโอ ฟิลลิปส์ เมื่อปีที่แล้ว พบว่านอกเหนือจากเทคนิคที่ยอดเยี่ยมแล้ว พิชญาภายังมีความเข้าใจในด้านดนตรีที่สูงมาก แม้จะอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังอันสดใสของวงการดนตรีคลาสสิกไทย การบรรเลงในคืนนี้พิชญาภาเล่นเข้าขากับนักดนตรีรุ่นพี่และรุ่นครูได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่านอกจากเล่นคอนแชร์โตแล้ว ยังเล่นเชมเบอร์ได้ดีอีกด้วย ส่วนท่านอื่นๆ เช่น อ.ทัศนา อ.เดวิด และไฆเม ราปาโด ซึ่งเป็นนักดนตรีระดับหัวหน้ากลุ่มของวงออร์เคสตราชั้นนำในไทย ก็บรรเลงด้วยมาตรฐานที่สูงเช่นเคย ควินเต็ตของบราห์มส์บทนี้จึงไพเราะและสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง น่าเสียดายที่ในครึ่งแรกที่มีผู้ชมล้นห้องที่หอประชุมสยามสมาคม ในครึ่งหลังกลับดูบางตาลง เข้าใจว่านักเปียโนและนักเรียนเปียโนที่มาดูการบรรเลงของกุกนินในครึ่งแรก คิดว่าได้รับความหฤหรรษ์เพียงพอแล้ว จึงเดินทางกลับเสียก่อน จึงพลาดความหฤหรรษ์อีกรูปแบบหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย  ถ้าฟังดนตรีคลาสสิกเพียงเพื่อความ “มันส์”  เมื่อไรเราจะเข้าถึงแก่นของดนตรีตะวันตกได้?

ปีนี้กลุ่มโปรมูสิกาก็ยังมีโปรแกรมล่วงหน้าที่หลากหลายน่าสนใจเช่นเดิม เพียงแต่ในแผ่นพับที่แจกนั้น ยังลงโปรแกรมล่วงหน้าถึงแค่ครึ่งปีแรก ได้แต่ลุ้นว่าคอนเสิร์ตครั้งหน้าในวันที่ 24 เมษายน 2558 (ซึ่งจะมี Hikotaro Yazaki มากำกับเพลงของ Mozart, Bartok และ มล. อัศนี ปราโมช) ทางวงจะคลอดโปรแกรมครึ่งปีหลังมาให้แฟนๆ ติดตามกันต่อไป และนอกเหนือจากการแสดงของวงโปรมูสิกาแล้ว ผมอยากขอเชิญแฟนเพลงคลาสสิกได้ลองติดตามการแสดงของวงอื่นๆ เช่น BSO, Thailand Philharmonic, Siam Sinfonietta/Siam Philharmonic และวงของสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมถึงเชมเบอร์คอนเสิร์ตต่างๆ ท่านจะพบว่า ท่านมีคอนเสิร์ตคลาสสิกให้ดูให้ฟังมากพอควรในเดือนหนึ่งๆ (บางสัปดาห์ ผมได้ดูคอนเสิร์ตแบบวันเว้นวัน หรือหลายวันติดๆ กัน) นับว่าเป็นภาวะที่น่าตื่นเต้นดีใจสำหรับคอเพลงคลาสสิก แต่ก็ต้องตามพิสูจน์กันต่อไปว่าในผลงานของแต่ละวงนั้น จะเล่นได้ดีสมใจที่เราคาดหวังไว้หรือไม่  ซึ่งผมก็หวังว่านอกจาก “ปริมาณ” ที่มากแล้ว “คุณภาพ” ก็ควรจะมากตามไปด้วย  สำหรับกลุ่มโปรมูสิกานั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอยู่ในระดับที่กระทบไหล่กับนักดนตรีระดับนานาชาติได้  และก็ยังเป็นแหล่งที่ให้นักดนตรีรุ่นเยาว์ได้เติบโตขึ้นมาอย่างถูกทางด้วย  ไม่แน่ใจว่า  เมื่อ ม.ล. อัศนี  ปราโมช  และ อ. กำธร  สนิทวงศ์ ก่อตั้ง Pro Musica ขึ้นมา  เมื่อ 50 ปีที่แล้วได้หวังไว้ไกลถึงเพียงนี้หรือเปล่า

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

7 เมษายน 2558

2 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *