จับตามองวงดนตรีเยาวชนคลาสสิกรุ่นใหม่ ในปี 2558

จับตามองวงดนตรีเยาวชนคลาสสิกรุ่นใหม่ ในปี 2558

ช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2558 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกให้เราได้ดูได้ฟังกันอย่างจุใจ แสดงถึงความคึกคักของวงการได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงดนตรีเยาวชน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายของกิจกรรมของนักเรียนทั้งหลาย ก่อนจะเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ ดังนั้นจึงมีการเข้าค่ายดนตรีอย่างมากมาย และกิจกรรมสุดท้ายของค่ายก็คือคอนเสิร์ตของเหล่านักเรียนนั่นเอง ซึ่งเท่าที่ผมได้ติดตามมา ก็มีอยู่ 4 วงที่ได้มีโอกาสไปฟัง โดยจะขอเล่าตามลำดับเวลาดังนี้

วงยะลา (1)

วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา

(จาก Facebook : Yala City Municipality Youth Orchestra)

YMO วงเด็กอนาคตไกลจากปลายด้ามขวาน

วงแรกคือวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา (Yala City Municipality Youth Orchestra : YMO) ซึ่งมีแนวคิดการก่อตั้งวงที่น่าสนใจ คือมาจากความตั้งใจของนายกเทศมนตรีนครยะลา ที่ต้องการให้ดนตรีเป็นสื่อกลางของสันติภาพและความรักใคร่ปรองดองของคนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการอบรมครูผู้ฝึกสอนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ และในช่วงปิดเทอมก็ได้จัดค่ายดนตรีเพื่อฝึกสอนเด็กอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้รับประสบการณ์จากครูอาจารย์ของวิทยาลัยฯ ซึ่งผลจากการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นในค่ายดนตรีนี้ก็นำมาสู่คอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ อำนวยเพลงโดยสุภัทร จันทวีระ

ผมขออนุญาตวิจารณ์การแสดงในภาพรวม เพลงในการบรรเลงครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพลงแนวคลาสสิกเต็มรูป ออกแนวเป็น pop orchestra ซึ่งจะมีกลองชุดมาช่วยทำให้จังหวะคึกคักและฟังง่ายขึ้น รวมทั้งเน้นเพลงร้องที่เป็นเพลงไทยสากล ที่พอนับได้ใกล้เคียงเพลงคลาสสิก คือ Overture to Classical Themes ซึ่งเป็นเพลงเมดเลย์รวมเพลงคลาสสิกที่คุ้นหู เช่น ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน Eine kleine Nachtmusik ของโมสาร์ต Hungarian Dance No.5 ของบราห์มส์ Blue Danube Waltz ของโยฮันน์ สเตราส์ Can Can ของออฟเฟนบาค ฯลฯ อีกเพลงหนึ่งคือบทเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับเมดเลย์ เพลงอีกลักษณะหนึ่ง เช่น เขมรไทรโยค ตารีกีปัส ได้รับการเรียบเรียงดนตรีเป็นแบบ big band ซึ่งวงสามารถเล่นได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าจะขยับไปเล่นเพลงคลาสสิกนั้น ควรจะต้องฝึกซ้อมหนักกว่านี้ โดยรวมแล้วเสียงออกมาไม่เลว เครื่องสายเป็นเอกภาพ หนักแน่น แม้มีเพี้ยนบ้างที่ปลายเสียงหรือช่วงเสียงสูง แต่ในช่วงเสียงกลางและต่ำทำได้ดี เครื่องเป่าค่อนข้างเก่ง มีทักษะที่ดี บรรเลงได้คล่องแคล่ว ทั้งวงสามารถเล่นได้ดี ไพเราะน่าฟัง แม้บางช่วงที่ทำนองเร็วมากๆ ก็มีผิดพลาดบ้าง แต่ก็เอาตัวรอดไปได้ไม่ถึงกับล่ม สังเกตได้ว่าเสียงเครื่องลมไม้ค่อนข้างจมหายไป เนื่องจากโดนเสียงเครื่องสายและเครื่องทองเหลืองกลบไปเกือบหมด

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของวง คือกลุ่มขับร้องประสานเสียงของโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง มีทั้งร้องโดยใช้วงใหญ่ประกอบ และร้องแบบไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ (a capella) หรือมีไวโอลิน 1 คัน บรรเลงคลอ ซึ่งก็ร้องได้ไพเราะน่าฟัง นอกจากนี้ก็มีการบรรเลงเดี่ยว flugelhorn โดยอาจารย์วีรศักดิ์ อักษรถึง ซึ่งปกติจะเป็นวาทยกรประจำของวง แต่วันนี้มาเป็นผู้แสดงเดี่ยวร่วมกับเด็กๆ ของตน นอกจากนี้ก็จะเป็นการบรรเลงประกอบกับการร้องของทั้งนักร้องรับเชิญและนักร้องนำในวงประสานเสียงเอง ซึ่งในส่วนของเพลงร้องนั้น วงบรรเลงได้ดี หนักแน่น มีพลัง เข้ากับนักร้องเดี่ยวและกลุ่มนักร้องประสานเสียงได้เป็นอย่างดี

โดยสรุปแล้ววงเด็กวงนี้มีฝีมือที่น่าสนใจ น่าสนับสนุนและให้กำลังใจ แต่ยังมีความเป็น pop orchestra อยู่มาก การเล่นเพลง “ตลาด” หรือเพลงสมัยนิยมสามารถทำได้อย่างดีแล้ว ก็เหลือแต่ต้องฝึกฝนอีกระดับหนึ่ง จึงจะบรรเลงเพลง “คลาสสิก” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ วงยะลาวงนี้อาจจะเป็นวงออร์เคสตราเยาวชนต้นแบบในส่วนภูมิภาค ในการสร้างวงอื่นๆ ในหัวเมืองต่างๆ ได้ อันจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกให้เจริญเติบโตกระจายออกไปทั่วทั้งประเทศ โดยไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เพียงแห่งเดียว

 

SSMS Orchestra 2015 คอนเสิร์ตปีที่ 11 ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

วงที่สองที่ผมได้ติดตามรับฟังมา คือวง Silpakorn Summer Music School Orchestra (SSMS Orchestra) ซึ่งเป็นค่ายดนตรีของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เน้นการบรรเลงเพลงคลาสสิกที่เข้มข้นและเต็มรูป มีอาจารย์ทั้งจากในคณะและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครทั่วประเทศ (โดยไม่จำกัดว่าเป็นค่ายดนตรีเฉพาะของนักศึกษาศิลปากร) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้วาทยกรเลื่องชื่ออย่าง ฮิโคทาโร ยาซากิ (Hikotaro Yazaki) มาอำนวยเพลง ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายก็ยอมรับกันว่าอาจารย์ยาซากิเป็นผู้ที่สามารถดึงความสามารถของนักดนตรีออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นวงเด็กอย่าง SSMS และวงดนตรีของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (เมื่อหลายปีก่อน) หรือแม้แต่วงอาชีพอย่างวง Bangkok Symphony Orchestra ผลงานการอำนวยเพลงในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังมาโดยตลอด

การแสดงของวง SSMS เมื่อเย็นวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เริ่มต้นด้วย Symphonic Metamorphosis of Themes by Carl Maria von Weber โดย เพาล์ ฮินเดอมิธ (Paul Hindemith) คีตกวีชาวเยอรมัน เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองและลีลาที่ซับซ้อน และเป็นเพลงแนว “โชว์วง” ที่ต้องใช้ความสามารถของนักดนตรีอย่างสูง ซึ่งการบรรเลงก็ให้ผลออกมาเป็นอย่างดี เสียงเครื่องสายก็ค่อนข้างทำได้ดี เสียงหนักำแน่น ยกเว้นบางช่วงที่เทคนิคค่อนข้างยาก อาจมีไม่พร้อมเพรียงกันบ้าง ซึ่งกลุ่มที่โดดเด่นในเครื่องสาย มองว่าเป็นวิโอลา ซึ่งเล่นได้ดี และมีท่วงทำนองที่ไพเราะงดงาม (โปรดอย่าลืมว่าฮินเดอมิธเป็นนักวิโอลาฝีมือฉกาจแห่งยุคคนหนึ่ง) ส่วนที่ดีมากอีกกลุ่มหนึ่งคือเครื่องลมไม้ โดยเฉพาะโอโบ ให้น้ำเสียงและประโยคในการบรรเลงที่ไพเราะจับใจ

วงMYWE

สมาชิกส่วนหนึ่งของวงดุริยางค์เครื่องเป่า MCGP Youth Wind Ensemble

(จาก Facebook : MCGP Youth Wind Ensemble)

บทเพลงต่อมาคือ Double Bass Concerto Op.3 โดยเซอร์เก คุสเซอวิทสกี้ (Serge Koussevitzky) คีตกวีและวาทยกรชาวรัสเซีย บรรเลงเดี่ยวโดย คุณากร สวัสดิ์-ชูโต นับว่าเป็น concerto ที่หาฟังได้ยาก แม้แต่นักฟังอาวุโสผู้มีประสบการณ์การฟังดนตรีคลาสสิกมากกว่า 50 ปี ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็ยังไม่เคยได้ฟังเพลงนี้ในการแสดงสด ทั้งนี้คุสเซอวิทสกี้นอกจากจะเป็นวาทยกรชั้นนำของโลกที่อพยพจากยุโรปมายิ่งใหญ่ที่ Boston Symphony Orchestra แล้ว ในช่วงวัยหนุ่มของท่านจัดได้ว่าเป็นนักเดี่ยวดับเบิลเบสที่มีชื่อเสียงอีกด้วย และด้วยความขาดแคลนเพลงคอนแชร์โตสำหรับดับเบิลเบส ซึ่งแทบไม่มีผลงานของคีตกวีใหญ่ๆ เลย ท่านจึงต้องแต่งขึ้นมาเองเพื่อแสดงศักยภาพของเครื่องดนตรีชนิดนี้

สำหรับการบรรเลงของคุณากร (ผู้ซึ่งเพีงได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเครื่องสาย Beethoven Competition ของประเทศไทย เป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองของวงการคลาสสิกไทย รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมวง Asian Youth Orchestra หลายปีติดต่อกัน) นับว่าไพเราะน่าฟัง คุณากรแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของดับเบิลเบสที่สามารถบรรเลงประชันกับวงออร์เคสตราได้ ช่วงเสียงต่ำของดับเบิลเบส มีความทุ้มลึกมากกว่าเชลโล อีกทั้งให้เสียงแหลมที่ให้โทนหม่นมากกว่า จึงให้รสชาติและสีสันของเสียงที่แตกต่างกันกับเชลโลซึ่งเป็นเครื่องที่เสียงต่ำเช่นกันแต่มีช่วงเสียงที่สูงกว่าดับเบิลเบส ส่วนที่เล่นยากๆ ทั้งด้านความเร็วและความแม่นยำของเสียง เช่นเสียง harmonic ก็ทำได้คล่องแคล่วและชัดเจนดี สมกับที่เป็นมือรางวัลระดับประเทศ (ซึ่งประธานกรรมการในการตัดสินครั้งนั้นคือ Chistoph Poppen นักไวโอลินระดับโลกและอดีตอธิการบดีสถาบันดนตรีชั้นสูงแห่งกรุงเบอร์ลิน นั่นแสดงว่าเขาต้องมีดีเป็นพิเศษ นักไวโอลินใหญ่ระดับป๊อปเปนจึงเลือกเขาเป็นผู้ชนะเลิศ ซึ่งที่แล้วๆ มารางวัลมักตกอยู่กับนักไวโอลิน) ซึ่งการแสดงในค่ำคืนนั้นร่วมกับวง SSMS พิสูจน์ให้เราได้ประจักษ์ในฝีมือของเขาได้เป็นอย่างดี

ในช่วงครึ่งหลัง บรรเลง Symphony No.5 in C minor ผลงานของเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven คีตกวีชาวเยอรมัน) ซึ่งเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่คนทั่วไปรู้จักกันดี เรียกกันว่าเป็นซิมโฟนีที่มีการบรรเลงบ่อยที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมก็ได้รับฟังไปแล้ว 2 ครั้ง กับวง BSO อำนวยเพลงโดย Charles Olivieri Munroe วาทยกรชาวแคนาดา และวง TPO อำนวยเพลงโดย Claude Villaret วาทยกรชาวสวิส การแสดงในค่ำคืนนั้นซึ่งอำนวยเพลงโดยยาซากินับได้ว่าบรรเลงได้ไพเราะน่าฟัง อาจจะมีหลุดหรือบกพร่องบ้างเล็กน้อย แต่เสียงโดยรวมมีความเป็นดนตรีสูง มีมิติ การเปล่งคีตวลี (phrasing) ทำได้ดี ทำให้เพลงมีชีวิตชีวา กลุ่มที่ผมชอบมากที่สุดในวง กลับกลายเป็นกลุ่มไวโอลิน 2 และกลุ่มวิโอลา ซึ่งปกติจะทำหน้าที่เล่นเสียงประสานเสริมให้ไวโอลิน 1 แต่ในเพลงของเบโธเฟนนั้น ให้บทบาทเด่นแก่ 2 กลุ่มนี้มาก และสมาชิกของทั้ง 2 กลุ่มก็บรรเลงได้ดีเป็นพิเศษ ในส่วนของกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองนั้น ผมได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ผู้ฝึกสอนของกลุ่มนี้ ซึ่งท่านบอกว่าในกลุ่มนี้จะมีการสลับให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่นเพลงยากๆ โดยที่เด็กที่เก่งกว่าจะให้เล่นนำ (lead) เพลงของฮินเดอมิธ ส่วนเด็กที่ฝีมือรองลงมาให้เล่นนำเพลงของเบโธเฟนซึ่งมีโน้ตง่ายกว่า ดังนั้นกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองในครึ่งหลังจะไม่แน่นเท่าครึ่งแรก แต่โดยรวมแล้วผมว่าก็ฟังดูเรียบร้อยดี ไม่ได้ผิดพลาดเสียหายแต่ประการใด

สุดท้ายแล้วอาจารย์ยาซากิก็ยังรักษามาตรฐานของการบรรเลงของวงได้เป็นอย่างดี มีนักดนตรีเคยเล่าให้ฟังว่าอาจารย์ยาซากิจะรู้ว่าในการซ้อมช่วงไหนควรเน้น ช่วงไหนควรปล่อยให้วงเล่นเอง แต่ก็ยังออมกำลัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจในตัวเพลง และมาเล่นให้ได้ดีที่สุดในการแสดงจริงนั่นเอง และยังเป็นครูที่สามารถสื่อความได้ดีโดยไม่พูดจารุนแรง (มีเรื่องเล่าว่าท่านเป็นคนที่สุภาพมาก ขนาดจะดุนักดนตรีที่มาสายและมาขอโทษท่าน ท่านกลับบอกว่าคุณไม่ต้องขอโทษผมหรอก แต่คุณควรขอโทษเพื่อนร่วมวงที่ทำให้พวกเขาต้องรอ) แต่มีประเด็นน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ทางฝ่ายเราแม้จะได้รับโอกาสที่ดีจากอาจารย์ยาซากิในการมาเป็นวาทยกรให้อย่างต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะช่วงที่ทุ่มเทให้กับ BSO อยู่กว่าทศตวรรษ แต่ก็ยังไม่มีวาทยกรรุ่นเยาว์ที่เข้าไปประกบท่าน ตักตวงวิชาความรู้จากท่าน และสามารถจะสืบทอดฝีมือจากท่านมาพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราได้ ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายโอกาสเหล่านี้อย่างยิ่ง

วงSSMS

คุณากร สวัสดิ์-ชูโต

(จาก Facebook : Silpakorn Summer Music School)

MYWE แสดงศักยภาพอันหลากหลายของวงดนตรีเครื่องเป่า

วงที่สามคือ วงดุริยางค์เครื่องเป่า MCGP Youth Wind Ensemble (MYWE) จัดโดยโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดง ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ฯ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 อำนวยเพลงโดยภมรพรรณ โกมลภมร เป็นค่ายดนตรีที่รวมรวมนักเรียนที่เล่นเครื่องเป่าและเครื่องกระทบ ซึ่งน่าจะถือว่าเป็น “กระดูกสันหลัง” ของวงการดนตรีคลาสสิกของบ้านเรา เนื่องจากเครื่องเป่าและเครื่องกระทบมีพื้นฐานมาจากวงโยธวาทิต ซึ่งมีอย่างมากมายตามโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ นักดนตรีเครื่องเป่าชั้นนำของเมืองไทยหลายคนก็เริ่มต้นเรียนดนตรีจากวงโยธวาทิตนั่นเอง การมาร่วมค่ายทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้ทั้งด้านการบรรเลงและการดูแลเครื่องดนตรีจากอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนักดนตรีชั้นนำของวงการคลาสสิกบ้านเรา และรวมทั้งได้ฝึกซ้อมและเล่นเพลงที่ท้าทายความสามารถอีกด้วย และเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้มีฝีมือมากขึ้นและแบ่งปันถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากค่ายให้เพื่อนๆ ร่วมวงโยธวาทิตด้วย

การเลือกบทเพลงที่มาบรรเลงทำได้อย่างน่าสนใจ มีความหลากหลาย โดยเพลงแรกได้แก่ March Op.99 ผลงานของเซอร์เก โปรโคเฟียฟ (Sergei Prokofiev คีตกวีชาวรัสเซีย)  เป็นเพลงที่ตื่นเต้นสนุกสนาน และเต็มไปด้วยสำเนียงที่แปลกและคอร์ดกระด้าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโปรโคเฟียฟ เพลงถัดมาสลับเป็นเพลงช้าที่แสดงอารมณ์ลึกซึ้งอย่าง October ผลงานของ เอริค วิทเทเคอร์ (Eric Whitacre คีตกวีร่วมสมัยชาวอเมริกัน) ทั้งสองเพลงแรกวงสามารถเล่นได้อย่างน่าฟัง มีเทคนิคการบรรเลงที่ดี เสียงออกมาชัดเจน สดใส

ถัดมาเป็นบทเพลง Cinnamon Concerto for Solo Eb Alto Saxophone and Concert Band ผลงานของ มาร์ติน เอเลอร์บี (Martin Ellerby) คีตกวีร่วมสมัยชาวอังกฤษ บรรเลงโดยพิศลย์ มนัสชินอภิสิทธิ์ โดยบรรเลงเฉพาะท่อนแรก (The Fast Lane) เป็นเพลงที่น่าสนใจ แนวทำนองมีความสนุกสนานด้วยสุ้มเสียงแบบแจ็ส การเรียบเรียงเพลงค่อนข้างออกแนวหวือหวาสลับกับนุ่มนวล ใช้เครื่องกระทบสร้างความหลากหลายให้กับจังหวะและลีลา ส่วนการเล่นของพิศลย์ ซึ่งเป็นนักเรียนของหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เอง ทำได้อย่างราบรื่น นุ่มนวล ฟังสบาย ช่วงที่เน้นเทคนิคก็สามารถบรรเลงได้อย่างสบาย ในช่วงที่อ่อนหวานก็ไพเราะน่าฟัง ได้อารมณ์ที่หลากหลาย น่าชื่นชมในฝีมือ และเมื่อพลิกสูจิบัตรดูก็พบว่าเขากำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรียอีกด้วย ซึ่งก็หวังว่าเขาจะพัฒนาฝีมือไปได้อีกไกล และกลับมาช่วยสร้างสรรค์วงการดนตรีบ้านเราต่อไป

จากนั้น วงก็บรรเลงเพลงต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทั้งการแสดงความสามารถของวง เช่น First Suite in Eb for Military Band ของกุสตาฟ โฮลส์ท (Gustav Holst คีตกวีชาวอังกฤษ) เป็นเพลงที่โอ่อ่าอลังการ ชวนให้นึกถึง The Planets ผลงานเอกของโฮลส์ทเอง ขณะที่ท่อนที่ 2 ก็มีลีลาที่รุกเร้าชวนติดตาม โดยเฉพาะช่วงที่ trumpet ใส่เครื่องลดเสียง (mute) บรรเลงเดี่ยวได้อย่างไพเราะน่าฟังมาก ถัดมาด้วย Shortcut Home for Wind Ensemble ของ ดานา วิลสัน (Dana Wilson คีตกวีร่วมสมัยชาวอเมริกัน) มีท่วงทำนองและลีลาแบบคร่อมจังหวะ (syncopation) ใช้เครื่องเป่าและเครื่องกระทบเล่นในจังหวะที่แปลกไม่คุ้นหู เป็นเพลงที่บรรเลงได้ไม่ง่ายนักและอาจหลุดได้ง่าย แต่วงก็เล่นออกมาได้อย่างน่าฟัง

มาถึงอีกหนึ่งเพลงไฮไลท์ของการแสดงในวันนั้น คือเพลง Yiddish Dance ผลงานของ อดัม กอร์บ (Adam Gorb) คีตกวีร่วมสมัยชาวอังกฤษ เป็นเพลงที่มีลีลาแบบอาหรับ ท่วงทำนองมีความน่าสนใจมาก และมีการเล่นแนวทำนองหลักโดย Eb คลาริเน็ต ซึ่งมีเสียงสูงมาก ประกอบกับการบรรเลงที่มีเทคนิคคล้ายๆ การเอื้อนเสียง ทำให้ฟังดูเป็นสำเนียงตะวันออกกลางได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แนวทำนองหลักนี้ก็จะถูกเครื่องอื่นๆ นำไปใช้ซ้ำๆ ย้ำทำนองให้คนฟังติดหู และเพลงสุดท้ายคือ Elsa’s Procession to the Cathedral จากอุปรากรเรื่อง Lohengrin ผลงานของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) คีตกวีชาวเยอรมัน ซึ่งฟังดูสงบนุ่มนวล และมีช่วงจบที่ยิ่งใหญ่สง่างาม ซึ่งวงก็บรรเลงออกมาได้เป็นอย่างดี

การแสดงครั้งนี้ผมคิดว่าเด็กๆ ของค่ายนี้บรรเลงน่าพอใจมาก อีกทั้งมีการเลือกบทเพลงที่แสดงถึงความสามารถในเชิงเทคนิคและความเป็นดนตรีออกมาได้อย่างดี แม้แต่เพลงที่ใช้เทคนิคมากก็พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่ได้สนใจแต่เรื่องเทคนิคอย่างเดียว ยังมีความไพเราะและลึกซึ้งที่ทั้งนักดนตรีและวาทยกรสื่อออกมาให้ผู้ฟังได้รับสารอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีข้อสังเกตต่อวงเครื่องเป่าอย่างหนึ่งคือ ผมยังคิดว่าวงเครื่องเป่าประเภท wind band หรือ symphonic band มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทดแทนเสียงของวงออร์เคสตราได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องสาย แม้แต่คลาริเน็ตซึ่งถือกันว่าเป็นไวโอลินของเครื่องเป่า ก็ไม่สามารถทดแทนไวโอลินได้ เสียงจึงมีความแข็งมากกว่าเครื่องสายอยู่บ้าง แต่กล่าวโดยสรุปคือการแสดงในวันนั้นทำให้ผู้ฟังได้ทราบถึงศักยภาพอันมหาศาลของวงเครื่องเป่า และองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะสำหรับวงเครื่องเป่าซึ่งนักฟังที่ฟังแต่วง symphony orchestra อาจจะไม่คุ้นเคย แต่ก็มีความน่าสนใจมาก และฝีมือของเยาวชนรุ่นใหม่ของบ้านเราอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดา การบรรเลงมีคุณภาพสูง และมีศักยภาพที่จะก้าวเข้าสู่วงการดนตรีอย่างเต็มตัวในอนาคต

วงTYO (1)

วงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ

(จาก Facebook : Athikom Milo Wisedopas)

TYO พี่ใหญ่แห่งวงเยาวชน กับโปรแกรม Light Classics

คอนเสิร์ตที่ 4 คือคอนเสิร์ตของวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Thai Youth Orchestra : TYO) โดยมีนักดนตรีรับเชิญเป็นเยาวชนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า รวมทั้งสมาชิกของวง Gunma Junior Orchestra จากประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยมีวาทยกรหลายคนสลับกันอำนวยเพลง ได้แก่ Stephen Ellery วาทยกรชาวอังกฤษ Shinichi Minami และ Ikeda Daisuke วาทยกรชาวญี่ปุ่น และทวีเวท ศรีณรงค์ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการด้านดนตรีของวง TYO เมื่อไม่นานนี้ ในคอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติ “กัลยาณิวัฒนาคารวาลัย” ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับวงดุริยางค์เยาวชนไทยนั้น นับได้ว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของวงเยาวชนทั้งหลาย เนื่องจากก่อตั้งเป็นวงแรกมาตั้งแต่ปี 2529 และที่สำคัญคือวงนี้เป็นแหล่งเพาะบ่มนักดนตรีรุ่นเยาว์ให้มีฝีมือ ซึ่งมีนักดนตรีเยาวชนของเราได้รับเลือกเป็นหัวหน้าวงเยาวชนอาเซียนมาแล้ว อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการบรรเลงโดยผู้ฝึกสอนระดับแนวหน้าของประเทศ มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น จนเรียกได้ว่านักดนตรีคลาสสิกชั้นนำระดับอายุ 30-40 ปี ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรีในบ้านเราปัจจุบันนั้น ก็ล้วนแต่ฝึกปรือฝีมือมาจากวงนี้ทั้งสิ้น เมื่อผมได้ติดตามดูวงเยาวชนค่ายอื่นๆ มา จึงไม่พลาดวงเยาวชนพี่ใหญ่วงนี้ เพื่อจะได้เปรียบเทียบฝีมือกับวงอื่นๆ ด้วย

ในช่วงแรก วงเริ่มต้นด้วย Oberon Overture ของ คาร์ล มารีอา ฟอน เวเบอร์ (Carl Maria von Weber คีตกวีชาวเยอรมัน) เป็นเพลงที่ค่อนข้างตื่นเต้นเร้าใจและเป็นเพลงโชว์วง สำหรับการบรรเลงของวงนั้นเล่นได้ดี มีพลังและชีวิตชีวา โดนเฉพาะกลุ่มฮอร์นซึ่งมีบทบาทมากเป็นพิเศษ ในส่วนของเครื่องสายนั้น รู้สึกว่ามีสุ้มเสียงดีใช้ได้ หนักแน่นและไพเราะ แต่ยังมีเพี้ยนบ้างเล็กน้อย ในช่วงที่เล่นเสียงสูงมากๆ หรือเร่งจังหวะเร็วมากเป็นพิเศษ

ถัดมาในเพลง L’Arlesienne Suite No.2 ของยอร์จ บิเซต์ (Georges Bizet คีตกวีชาวฝรั่งเศส) วงก็เล่นได้ดี เสียงมีความหนักแน่นพร้อมเพรียงกันมากขึ้น ที่น่าสนใจก็จะเป็นคลาริเน็ต ฟลู้ต และเครื่องเสียงต่ำทั้งหลาย เล่นได้หนักแน่นมีพลัง ท่อนที่เป็นไฮไลท์ของเพลงนี้ คือท่อนที่ 3 ซึ่งเพลงจริงจะเล่นโดยฟลู้ตและคลอด้วยฮาร์พ แต่ในการแสดงนี้เข้าใจว่าขาดนักฮาร์ป จึงต้องใช้เปียโนแทน ด้วยความที่ช่วงนี้เป็นท่อนเดี่ยวฟลุตเพียงคนเดียว ทำให้ผู้บรรเลงอาจมีความประหม่าบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้เสียหายอะไรมาก โดยรวมก็ยังเล่นได้ไพเราะน่าฟัง

ในครึ่งหลังเป็นการบรรเลงเพลงที่หลากหลาย เริ่มด้วย Rhapsody in Blue ของจอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin คีตกวีชาวอเมริกัน) โดยนักเปียโนชาวมาเลเซีย มิตรา อลิซ ธัม (Mitra Alice Tham) ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนของทวีเวทที่ประเทศอังกฤษ เป็นการบรรเลงเดี่ยวเปียโน โดยที่เราท่านอาจจะคุ้นหูกันในรูปแบบวงออร์เคสตรามากกว่า แต่ฝีไม้ลายมือของธัม นั้นนับว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เธอสามารถสร้างอารมณ์และบรรยากาศเสียงเพลงบลูส์ของเกิร์ชวินได้อย่างไพเราะ ไม่แพ้การบรรเลงแบบเต็มวง เพลงถัดมาคือ 4th Movement from Violin Sonata ของเซซาร์ ฟรังค์ (César Franck คีตกวีชาวเบลเยียม) ซึ่งธัมเล่นคู่กับทวีเวท ซึ่งก่อนบรรเลงทวีเวทเองก็ได้แนะนำเพลงนี้ว่ามีความคล้ายคลึงกับ Canon in D  ของ Pachelbel ตรงที่มีการเล่นล้อกันระหว่างเปียโนและไวโอลินในทำนองเดียวกันแต่เล่นไม่พร้อมกัน เป็นเพลงที่ฟังง่าย ที่จริงแล้วทวีเวทอาจจะชี้ให้นักฟังหน้าใหม่เห็นว่าเพลงคลาสสิกฟังไม่ยาก แต่เพลงนี้ก็ซับซ้อนและหนักพอสมควร ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าทวีเวทได้ซ้อมเพลงนี้มามากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่ฟังดูรู้สึกว่ามีติดขัดเล็กน้อย เสียงไวโอลินของเขาที่ค่อนข้างแข็งกร้าว ต่างจากเสียงเปียโนนุ่มนวลของธัม ผมคิดว่าหากเธอมาเมืองไทยอีกครั้ง จะหาทางติดตามชมการแสดงของเธอแบบเต็มๆ ให้ได้

ถัดจากการเล่นเดี่ยวและคู่ของนักดนตรีรับเชิญและวาทยกรแล้ว สมาชิกของวงก็กลับขึ้นมาบนเวที ด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ Kinari Waltz ซึ่งมีทำนองที่ไพเราะงดงาม ตามด้วยเพลงที่แสดงฝีมือด้านไวโอลินอย่าง Concerto in B minor for Four Violins and Strings. RV580 ของ Antonio Vivaldi คีตกวีชาวอิตาลี โดยกลุ่มผู้แสดงเดี่ยว เป็นตัวแทนเยาวชนจากอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา พม่า และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งนักดนตรีเดี่ยวและวงก็บรรเลงได้อย่างไพเราะ แสดงฝีมือที่โดดเด่นออกมาได้อย่างดี

เพลงถัดจากนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงแนว Light Music เช่น Doraemon, Let It Go, Amazing Grace, Champa Muang Lao (เพลงของประเทศลาว), La mer a Kdat (เพลงของประเทศกัมพูชา) และ West Side Story ตามที่ผมขึ้นหัวข้อ ทั้งนี้ก็เพราะพิธีกรของรายการนี้และทวีเวทเอง ก็เน้นย้ำเสมอว่า อยากให้ผู้ฟังรู้สึกว่าดนตรีคลาสสิกนั้น ไม่ได้ฟังยากหรือต้อง “ปีนบันได” ฟัง ต้องการให้คอนเสิร์ตมีความหลากหลาย มีทั้งเพลงโบราณและเพลงร่วมสมัย ดังนั้น บทเพลงที่เลือกมา ถ้าเป็นเพลงคลาสสิก ก็ต้องไพเราะฟังง่าย ไม่หนักหน่วงเกินไปจนผู้ฟังอาจจะเบื่อและง่วงเหงาได้ และต้องมีเพลงสมัยนิยมมาแซมด้วยเพื่อสร้างความคุ้นเคยและเข้าถึงได้ง่ายกับผู้ฟัง (ซึ่งคาดว่าคอนเสิร์ตนี้น่าจะมีผู้ฟังหน้าใหม่เข้ามาชมเป็นจำนวนมาก) และเพลงแถมสุดท้ายอย่าง Radetzky March ก็สามารถเชิญชวนให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมกับวงด้วยการประมือตามจังหวะของเพลงด้วย

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าวงดุริยางค์เยาวชนไทย มีฝีมือที่ดีพอควร การบรรเลงออกมาค่อนข้างดี ไพเราะ ทั้งนี้ยังสังเกตว่ามีนักดนตรีหลายคนที่เข้าร่วมทั้งค่ายศิลปากรและค่ายมหิดลด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากที่ได้แสวงหาประสบการณ์ที่หลากหลาย ส่วนเพลงที่บรรเลงในวันนี้ ก็อยู่ในระดับที่ปานกลาง ไม่เข้มข้นหรือหนักหน่วงมากนัก แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็ยังหวังที่จะเห็นวงเล่นเพลงที่ซีเรียสมากกว่านี้ซึ่งเคยทำมาแล้วในอดีต อันจะเป็นโอกาสที่จะแสดงถึงความสามารถด้านทักษะฝีมือ การตีความ และความเข้าใจในดนตรีของนักดนตรีและวาทยกรได้มากขึ้น

 

สรุป

จากการติดตามวงการดนตรีคลาสสิกในรอบปีที่ผ่านมา ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้สถาบันอุดมศึกษาที่สอนดนตรีถึงระดับปริญญานั้นมีมากขึ้น มีครูบาอาจารย์ที่เก่งๆ มากมาย ทั้งที่ไปศึกษาต่อมาจากต่างประเทศ ทั้งที่ made in Thailand เอง และอาจารย์ชาวต่างประเทศ ก็มีมากขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งก็ทำให้นักเรียนนักศึกษาบ้านเรามีองค์ความรู้และทักษะความสามารถมากขึ้นตามไปด้วย แต่ที่กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญก็คือภาวะนักดนตรีล้นตลาด เพราะบ้านเราไม่ได้สร้างงานที่รองรับนักเรียนดนตรีที่จบมาเหล่านี้ได้มากพอ วงออร์เคสตราที่นับว่าเป็นวงอาชีพจริงๆ ที่สามารถเสนอรายการประจำปีได้ ก็มีเพียงวงเดียว วงอื่นๆ อีก 3-4 วง และวงของกองทัพนั้น อาจจะไม่ถือว่าเป็นวงอาชีพเสียทีเดียวกัน เพราะไม่ได้เล่นบ่อยเท่าที่ควร และยังมีตำแหน่งที่นั่งในวงเพียงน้อยนิด นักดนตรีหลายๆ ตำแหน่งเช่นเครื่องเป่าลมไม้และทองเหลือง จึงไม่มีวงออร์เคสตราจะเล่น ในขณะที่นักดนตรีเครื่องสายแม้ว่าจะยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยอยู่ แต่ก็ยังถือว่ามีมากกว่าที่วงออร์เคสตราที่มีอยู่จะรองรับได้หมด

ผมเคยคุยปัญหานี้กับครูดนตรีหลายท่าน บางท่านก็เห็นว่าเพราะภาครัฐขาดนโยบายด้านศิลปะวัฒนธรรม จึงไม่ได้ให้การสนับสนุนในการสร้างผู้ฟังอย่างจริงจัง นักดนตรีก็ต้องขวนขวายดิ้นรนในการเพิ่มฐานประชากรผู้ฟังดนตรีเอาเอง สิ่งที่น่าจะทำได้คือการส่งเสริมการเรียนดนตรี ทั้งดนตรีปฏิบัติและดนตรีวิจักษ์ (music appreciation) ในการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วงประถม-มัธยม ให้เยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองนั้นมีความรู้ความเข้าใจและซาบซึ้งในศิลปะด้านดนตรี ถึงไม่เป็นนักดนตรีแต่ก็สามารถเป็นผู้ชมผู้ฟังที่มีคุณภาพได้ และพร้อมที่จะเป็นแรงสนับสนุนงานดนตรีสร้างสรรค์ให้แก่ศิลปินนักดนตรีได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมสังเกตได้คือ วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรานั้นกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ทำให้นักดนตรีมีมากกว่าวง หากส่งเสริมให้ดนตรีคลาสสิกไปเจริญเติบโตในภูมิภาคโดย สามารถก่อตั้งวง symphony orchestra ประจำจังหวัดได้ (ถึงแม้อาจจะไม่มีทุกจังหวัด แต่หัวเมืองใหญ่ของภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา ก็น่าจะมีศักยภาพในการทำวงได้ ในฐานะหัวเมืองหลักที่มีจำนวนประชากรมากและมีสภาพเศรษฐกิจที่ดี) จะเป็นการกระจายนักดนตรีให้แก่จังหวัดต่างๆ ตามภูมิภาคด้วย ซึ่งก็จะเพิ่มครูดนตรีที่มีคุณภาพไปยังภูมิภาคเช่นกัน ทั้งยังจะได้เป็นการรองรับนักเรียนจากวงโยธวาทิตที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นนักดนตรีสายคลาสสิกได้อีกทางหนึ่งด้วย และถ้าหากมีเครื่องสายยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจจะตั้งเป็นวงเครื่องเป่าแบบ symphonic band ไปก่อนก็ได้ โดยเริ่มจากวงเยาวชน (ดังตัวอย่างของวงออร์เคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา ที่กล่าวไว้ข้างต้น) หรือที่สามารถจัดดั้งได้ค่อนข้างง่ายหน่อย (แต่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมาก) คือการรวมวงแบบ chamber music ทั้งเครื่องสาย เครื่องเป่า หรือแม้แต่เป็นวง chamber orchestra ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะดนตรีเชมเบอร์นี้ ลงทุนค่อนข้างน้อย แต่มีความลุ่มลึกด้านดนตรีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวงออร์เคสตราใหญ่ๆ เลย (ดังที่ลอร์ด เยฮูดิ เมนูฮิน เคยกล่าวไว้ว่า สตริงควอร์เต็ท คือมรดกทางคีตศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกตะวันตกได้ฝากไว้ให้แก่มนุษยชาติ) และในขณะเดียวกันก็มีนักเรียนบางส่วนที่ชอบแนวแจ็ส หรือแนวสมัยนิยมทั่วไป ก็อาจจะแยกจัดตั้งเป็นวงอีกประเภทหนึ่งก็เป็นได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและความหลากหลายทางด้านดนตรี

ที่กล่าวเรื่องนี้มา จะว่าไปก็คงเกี่ยวเนื่องมาจากการไปชมวงเยาวชน 4 วงข้างต้น แล้วนึกถึงนักดนตรีรุ่นเยาว์จำนวนมากในปัจจุบันที่เรียนจบออกมาจากสถาบันดนตรีชั้นสูง แต่ไม่มีอาชีพ “นักดนตรี” รองรับ ที่ได้เป็นครูดนตรีตามโรงเรียนประถม/มัธยม โรงเรียนดนตรีของเอกชน หรือสอนส่วนตัวตามบ้าน ก็อาจจะถือว่ายังดีหน่อยที่มีคุณวุฒิที่ดีน่าจะสอนนักเรียนให้เก่งได้ บางคนอาจจะโอกาสไม่ดีนักต้องทำอาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีเพื่อหาเลี้ยงชีพ บางกรณีเขาอาจจะเลือกแล้วว่าเขาจะไม่เข้าสู่วงการดนตรีอีก เราก็คงได้แต่เสียดายทักษะและฝีมือที่ได้ร่ำเรียนมา

สภาวะเช่นนี้ผมเองก็ยังมองไม่เห็นทางสว่างในการแก้ปัญหาได้ นอกไปจากการสนับสนุนอย่างเข้มข้นของภาครัฐในการสร้างวัฒนธรรมดนตรีขึ้นมาให้ได้ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเป็นจริงได้ขนาดไหน แต่สิ่งที่เราผู้ชมผู้ฟังทั้งหลายพอทำได้ด้วยตัวเองคือการเป็นผู้ฟังที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ เช่น ติดตามชมดนตรีอย่างสม่ำเสมอ ศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ มีวิจารณญาณแยกแยะเปลือกออกจากแก่นได้ และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักดนตรีได้ (ซึ่งนักดนตรีหลายคนที่ผมได้คุยด้วย มีความยินดีในแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรู้สึกขอบคุณผู้ฟังที่มี feedback ต่อการแสดงของพวกเขา) ผมคิดว่านักดนตรีคงจะมีความสุขหากมหาชนผู้ฟังสามารถรับสารทางดนตรีที่พวกเขาสื่อออกมาได้ และน่าจะเกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์แก่วงการต่อไป

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

29 มิถุนายน 2558

2 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *