The Carnival of the Animals ฉบับ Pro Musica

The Carnival of the Animals ฉบับ Pro Musica

11907182_874764949243453_6613840687975039562_n

(ภาพจาก Facebook Creative Industries)

วฤธ วงศ์สุบรรณ

29 สิงหาคม 2558

ในบรรดาเพลงคลาสสิกสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ย่อมมีบทเพลงชุด The Carnival of the Animals ของกามิลล์ แซงต์-ซองส์ (Camille Saint-Saëns, 1835-1921: คีตกวีชาวฝรั่งเศส) รวมอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งวงโปรมูสิกา (Pro Musica) กลุ่มดนตรีที่เน้น chamber music อย่างเข้มข้น ก็ได้นำเสนอบทเพลงนี้ โดยร่วมกับกลุ่ม Creative Industries แสดงเป็นลักษณะคอนเสิร์ตประกอบการแสดงและการเล่าเรื่อง (มีทั้งพากย์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แยกรอบการแสดงกันไป) ซึ่งได้จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2558 ณ โรงละคร Creative Industries อาคาร M-Theatre ถนนเพชรบุรี ซึ่งผมเองไปชมในวันที่ 16 สิงหาคม ในรอบภาษาไทย โดยมีอาจารย์ทัศนา นาควัชระ วางไวโอลินมาเป็นผู้อำนวยเพลง

ผมเองนั้นต้องสารภาพว่าไม่เคยฟังเพลงชุดนี้ครบในลักษณะการแสดงสดและเป็นวงเครื่องดนตรี 11 ชิ้น ตามที่คีตกวีกำหนดไว้เป็นต้นแบบเลย แม้ว่าจะเคยฟังบางท่อนในลักษณะ Woodwind Quintet มาแล้ว โดยวง Sawasdee Quintet (ซึ่งมี อ.กัลยาณ์ พงศธร นักฟลูตในวันนี้ร่วมบรรเลงอยู่ด้วย) แต่ก็คิดว่าการแสดงครั้งนั้นถึงจะมีความไพเราะและแปลกใหม่ แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนทุกบทเพลงของการแสดงชุดนี้ ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ Pro Musica เลือกบทเพลงชุดนี้มาบรรเลง

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือคอนเสิร์ตนี้จะเป็นการร่วมทำงานกับนักแสดงและนักเล่าเรื่อง ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ซึ่งเน้นว่าคอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย แต่ที่จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายก็คือเด็กๆ โดยเฉพาะรุ่นเล็กๆ ทั้งหลายที่อาจจะมีความต่อเนื่องของสมาธิไม่ยาวนานนัก จะมีการเล่าเรื่องประกอบการแสดงท่าทางต่างๆ ให้เด็กๆ รู้จักเรื่องราวของดนตรีที่กำลังจะเล่นในแต่ละท่อน โดยเนื้อหาที่นำมาบรรยายประกอบ แปลมาจากบทกวีของ ออกเดน แนช (Ogden Nash, 1902-1971: กวีชาวอเมริกัน) ซึ่งแต่งขึ้นมาเล่าเรื่องประกอบการบรรเลง The Carnival of the Animals โดยเฉพาะ สำหรับบทกวีชุดนี้ ผมและท่านนักฟังอาวุโสที่ไปฟังด้วยกันต่างเห็นตรงกันว่า ยากเกินไปสำหรับเด็ก และเมื่อแปลออกมาแล้วจะก็ต้องมีการเก็บความด้วย ซึ่งในบทกวีภาษาอังกฤษ จะเต็มไปด้วยการเล่นคำ เล่นสัมผัส และสอดแทรกมุกตลกแบบเย้ยหยัน (ironic) อยู่มาก ซึ่งบทแปลภาษาไทยอาจจะเน้นให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหามากกว่า (ตัวอย่างได้แก่ ในท่อน Aviary นั้น บทกวีแต่งไว้ว่า “Puccini was Latin, and Wagner Teutonic, And birds are incurably philharmonic…” ส่วนบทแปลเก็บความไว้ว่า “ปุชชินีเป็นอิตาเลียน ส่วนวากเนอร์เป็นเยอรมัน หากเหล่านกต่างเสพติดการร้องประสานเสียงด้วยกันทั้งนั้น…”) โดยรวมแล้วผมคิดว่าบทแปลก็พยายามถอดความให้เด็กๆ พอเข้าใจได้ และรักษาลีลาของความเป็นบทกวีเอาไว้ได้พอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าบทกวีต้นฉบับนี้แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ครบถ้วนเช่นกัน (ดูบทกวีฉบับเต็มได้ที่ https://www.informatik.uni-hamburg.de/RZ/lehre/C++/4/carnival)

ในส่วนของการบรรเลงนั้น ผมขออนุญาตไม่เล่าเรียงรายละเอียดทั้งหมดของทุกท่อน แต่ขอยกมาเฉพาะท่อนที่น่าสนใจ พวกเราที่รู้จักเพลงชุดนี้ดีจะรู้ว่าเปียโนมีบทบาทสูงมาก นักเปียโนในครั้งนี้นอกจากจะมี ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา นักเปียโนประจำวงแล้ว ยังมีนักเปียโนรุ่นเล็กอนาคตไกลอย่าง อาริสา จันทร์ผ่อง วัยเพียง 12 ปี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ อาจารย์พรพรรณเองร่วมบรรเลงด้วย ซึ่งทั้งคู่ก็บรรเลงได้อย่างดีมาก ควบคุมจังหวะและบรรเลงสอดคล้องไปกับเพื่อนร่วมวงได้เป็นอย่างดี เพลงที่น่าสนใจก็มีทั้ง Pianists ที่รับบทบาทเป็นนักเปียโนที่นั่งซ้อมไล่บันไดเสียงอย่างเอาเป็นเอาตาย และก็แกล้งเล่นให้เพี้ยนบ้าง จังหวะผิดพลาดบ้าง แต่ก็จบลงด้วยความยิ่งใหญ่สง่างาม หรือเพลงที่มีท่วงทำนองงดงามเช่น Royal March of the Lion และ Aquarium ก็บรรเลงได้ไพเราะน่าฟัง ส่วนในบทเพลง The Swan ซึ่งมีเชลโลเป็นตัวเอก ก็บรรเลงประกอบได้อย่างงดงาม ในส่วนของเชลโลนั้นบรรเลงโดย ปัญญพัทธ์ วงศ์เวชวิวัฒน์ (ซึ่งเพิ่งแสดงไปในรายการ Bach, Corelli and 18 Monkeys ไปได้อย่างยอดเยี่ยม) ในครั้งนี้เขาเล่นได้อย่างงดงาม หวานซึ้งชวนฟัง และการที่จัดห้องแสดงให้ผู้ชมค่อนข้างใกล้ชิดกับนักดนตรี ทำให้เราได้รับเสียงเชลโลของเขาอย่างชัดเจน

ในส่วนของไวโอลินนั้น มีอยู่ 2 คนคือ รวยชัย แซ่โง้ว และคณิณ อุดมมะนะ รวยชัยในฐานะหัวหน้าวงดูจงใจจะสร้างความสนุกสนานให้แก่เด็กๆ ด้วยการเล่นแบบถึงใจพระเดชพระคุณ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเพลง Hen and Roosters และ Characters with Long Ears ส่วนคณิณจะเล่นแบบเรียบๆ ตามสไตล์ของเขาซึ่งผมเคยได้ฟังมาแล้วใน string quartet ของดวอร์ชาค

ที่น่าสนใจอีกท่อนหนึ่งคือ Aviary ซึ่งต้องใช้นักฟลูตที่มีทักษะค่อนข้างสูง เพราะว่าเล่นเร็วและประโยคค่อนข้างยาว ต้องใช้ลมมาก ซึ่งผมคิดว่า อาจารย์กัลยาณ์ ก็บรรเลงได้อย่างครบถ้วนดี แต่รู้สึกว่าจะไม่ผ่อนคลายเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะแรงกดดันที่จะพลาดไม่ได้ ส่วนบทเพลง The Elephant ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงเอกของนักดับเบิลเบส ก็บรรเลงโดยณัฐพล เลิศวนัสวงศ์ (หนึ่งในสมาชิกวง “จีบ” ร่วมกับคณิณและเพื่อนนักดนตรีรุ่นหนุ่มอีก 5 คน) ได้อย่างน่าฟัง มีลีลาที่ผ่อนหนักผ่อนเบาได้อย่างไพเราะ แต่ผมคิดว่าเสียงเบสของเขาค่อนข้างเบาไปเล็กน้อย ไม่ทราบว่าเพราะเครื่องดนตรีหรือห้องการแสดงหรือไม่ หรือเป็นความจงใจของเขาเองที่จะไม่ให้ดังเกินไปนัก สำหรับผู้เล่นเครื่องเคาะจังหวะ ฐาปนา อ่อนพะไล และฟากฟ้า จันทร์เพ็ง ก็บรรเลงในเพลง Aquarium และ Fossils ได้อย่างน่าฟัง โดยเฉพาะในเพลงฟอซซิลนั้นบรรเลงด้วยลีลาที่ไม่ตายตัว เร่งนิดยืดหน่อย ทำให้น่าฟังและน่าสนใจยิ่งขึ้น ส่วนนักคลาริเน็ต ประพันธ์พงศ์ มณีวงษ์ ก็เล่นในท่อน Fossils ได้ดี แต่ในท่อน The Cuckoo in the Depths of the Woods นั้น ที่เขาปีนบันไดไปเล่นบนที่สูงนั้น ผมคิดว่าเขาอาจทอดเสียงนกคุ๊กคูยาวไปเล็กน้อย เสียงของเขาค่อนข้างหวานน่าฟัง ส่วนนักดนตรีอีกคนหนึ่งที่ผมคงวิจารณ์ไม่ได้ คือภารดี ตรีรัตน์ นักวิโอลา ซึ่งไม่มีเพลง “โชว์” เลย ผมคิดว่าเธอก็สามารถเล่นได้อย่างเรียบร้อยเข้ากับวงได้ดี ในช่วงที่เป็นกลุ่มเครื่องสายเล่นก็เสริมให้วงมีพลัง แต่อาจจะต้องรอโอกาสต่อไปที่เราจะได้ชมฝีมือของเธอมากขึ้นกว่านี้ โดยรวมเป็นการรวมกลุ่มของนักดนตรีรุ่นหนุ่มสาว (ร่วมกับรุ่นครูบ้าง) ที่มีฝีมือสูง การบรรเลงมีความครบถ้วนสมบูรณ์น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง

นี่เป็นอีกครั้งที่กลุ่ม Pro Musica นำเสนอผลงานคุณภาพให้กับผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฟังรุ่นเยาว์และนักฟังหน้าใหม่ ด้วยบทเพลงที่ไพเราะ น่าตื่นเต้นและการแสดงที่น่าสนใจ สำหรับศศิพินทุ์นั้น ผมคิดว่าเธอสามารถเล่าเรื่องได้อย่างดีน่าฟัง (แต่ก็ยังคิดว่าเธอมีปัญหาในการออกเสียงชื่อแซงต์-ซองส์ อยู่บ้าง) และมีลีลาการแสดงที่น่าดูอีกด้วย ช่วยดึงดูดความสนใจให้แก่เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี และก็น่าประหลาดใจเล็กน้อยที่เห็นเด็กๆ ที่มาชมคอนเสิร์ตนี้ค่อนข้างเรียบร้อย ไม่เดินไปเดินมาหรือส่งเสียงรบกวนใดๆ แสดงว่ามีความตั้งใจจดจ่อกับการแสดงเป็นอย่างดีมาก สิ่งนี้น่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ดนตรีคลาสสิกไม่ได้ยากหรือน่าเบื่อไปเสียหมด และควรที่จะสนับสนุนการแสดงที่มีคุณภาพเช่นนี้เให้มีมากขึ้น ผมเชื่อว่าหากมีการแสดงลักษณะนี้อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดแฟนประจำของดนตรีคลาสสิกมากขึ้น ไม่แน่ว่าคอนเสิร์ตเหล่านี้อาจสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กคนใดคนหนึ่งกลายมาเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดผู้ฟังที่เชื่อว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ยกระดับอารมณ์ ความคิด และจิตวิญญาณได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *