จาก Pro Musica ถึง Pro Musica Junior : การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ จากนักดนตรีรุ่นใหญ่สู่นักดนตรีรุ่นเยาว์

จาก Pro Musica  ถึง Pro Musica Junior : การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์

จากนักดนตรีรุ่นใหญ่สู่นักดนตรีรุ่นเยาว์

12068896_1630524603864270_4555272549311826281_o

(facebook Pro Musica)

วฤธ วงศ์สุบรรณ

เป็นเวลาร่วมสองปีกว่าแล้วที่ผมติดตามการแสดงของกลุ่มโปรมูสิกา (Pro Musica) ซึ่งนำโดย อ.ทัศนา นาควัชระ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร บรรเลงบทเพลงที่เข้มข้นและหลากหลายต่างยุคต่างสมัย  และด้วยการประสมวงที่หลากหลายเช่นกัน  สิ่งที่กลุ่มโปรมูสิกาเน้นหนักคือการให้การศึกษาทั้งแก่ผู้ฟังและผู้เล่น ล่าสุดนั้น ผมได้รับฟังวงโปรมูสิการุ่นใหญ่ บรรเลงร่วมกับวาทยกรและนักเชลโลระดับยอดเยี่ยมอย่าง ลุยจิ ปิโอวาโน (Luigi Piovano) และนักไวโอลินฝีมือฉกาจ กราเซีย ไรมอนดิ (Grazia Raimondi) (ซึ่งยอดนักดนตรีทั้งสองก็เป็นคู่ชีวิตกันด้วย) ในบทเพลงของวิวัลดิ และไฮเดน ถัดจากนั้นก็ได้ฟังวงโปรมูสิกา จูเนียร์ (Pro Musica Junior) บรรเลงเพลง The Four Seasons ของวิวัลดิครบทั้งสี่ฤดู ควบคู่ไปกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งสองรายการอาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกันโดยตรงนัก แต่ผมมีข้อคิดเห็นบางประการที่ว่าการแสดงทั้งสองครั้งมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน จึงขอเขียนถึงในบทความเดียวกัน

การแสดงของโปรมูสิการุ่นใหญ่ จัดขึ้น ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา สยาม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558  ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ได้ผมฟัง ลุยจิ ปิโอวาโน บรรเลง เขาคือนักเชลโลระดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย  ผมอยากขอกล่าวถึง Cello Concerto No.1 in C major, Hob. VIIb/1 ผลงานของโยเซฟ ไฮเดน (Joseph Haydn, คีตกวีชาวออสเตรีย) ซึ่งบรรเลงในครึ่งหลังก่อน  ผมคิดว่าการบรรเลงของเขาเป็นธรรมชาติ  ไม่มีการบีบเค้นหรือเสแสร้งแกล้งดัด ในช่วงที่ใช้เทคนิคการบรรเลงที่สุดแสนจะยากเขาก็เล่นได้อย่างสบายราวกับว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเพลงที่ไม่จำเป็นต้องอวดโอ่ใดๆ เสียงเชลโลของเขาใหญ่กังวาน ถ้านั่งอยู่หน้าเวทีจะได้ยินเสียงเชลโลปะทะโสตประสาทอย่างชัดเจน แม้แต่ช่วงที่เล่นเบามากๆ ยังรู้สึกได้ถึงพลังเสียงเชลโลของเขาขณะบรรเลง  สังเกตได้ว่าสีหน้าท่าทางของเขาเต็มไปด้วยความรื่นเริงสนุกสนาน ยิ้มน้อยๆ ให้กับนักดนตรีในวง เหมือนกับจะบอกว่า “เรามาสนุกกับดนตรีกันเถิด” ซึ่งนักดนตรีในวงก็รับสารที่เขาสื่อมาได้อย่างเต็มที่ด้วยการเล่นสุดฝีมือ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวงขนาดเล็กเพียง 13 ชิ้น แต่ผมยังรู้สึกถึงพลังของวงที่เทียบได้กับวงขนาดใหญ่ระดับ 30-40 คนเลยทีเดียว การตีความบทเพลงนั้น เขาไปในทางสายกลาง คือถือว่าไฮเดนเป็นตัวแทนของยุคคลาสสิก จะไม่ทึ้งตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่จะเล่นแบบตรงไปตรงมา เน้นความงดงามของเสียงและความไพเราะของท่วงทำนอง  บรรเลงแบบสบายๆ  ช่วงทำเนิบช้าก็แสดงถึงอารมณ์ที่สงบอ่อนโยนและเยือกเย็น ทำให้เราเชื่อว่าเพลงของไฮเดนควรที่จะแสดงออกในลักษณะการบรรเลงเช่นนี้ ด้านการกำกับวงของเขาก็ไม่แสดงท่าทางมากนัก  เพราะซ้อมกันมาดีแล้ว เพียงแค่มองตาและยิ้มให้กันก็สื่อความกันได้แล้ว

ในส่วนการแสดงในครึ่งแรกนั้นเป็นการบรรเลงบทเพลงยุคบารอคของวิวัลดิ (Antonio Vivaldi, คีตกวีชาวอิตาลี) เริ่มต้นด้วย Concerto in D minor for 2 Violins and Violoncello, RV 565 เดี่ยวไวโอลินโดย กราเซีย ไรมอนดิ และ อ.ทัศนา นาควัชระพร้อมด้วยเชลโลจาก ปิโอวาโน  ในเพลงนี้ ไรมอนดิ กับ อ.ทัศนา บรรเลงได้อย่างสุดฝีมือ  และก็เปี่ยมด้วยรสนิยมอันดีงาม ไม่บีบคั้นอารมณ์จนเกินพอดี (แต่สังเกตได้ว่าเสียงไวโอลินของ อ.ไรมอนดิ เสียงจะใสและกังวานกว่าของ อ.ทัศนา เข้าใจว่าน่าจะเกี่ยวกับคุณภาพของเครื่องดนตรีเป็นสำคัญ  ผมเดาเอาว่าไวโอลิน 2 คันอาจจะอายุต่างกันนับได้เป็นศตวรรษ) ส่วนฝีมือและการตีความนั้น สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับที่  ปิโอวาโน บรรเลงและกำกับ คือไปแบบพอดีๆ ไม่เร่งหรือไม่ยืดมากนัก ในเพลงถัดมาViolin Concerto in E minor, RV 277 “Il favorite”  ไรมอนดิ ได้โอกาสบรรเลงเดี่ยวไวโอลิน เพลงนี้มีเทคนิคการบรรเลงที่หลากหลาย อันแสดงถึงความเชี่ยวชาญของวิวัลดิในการเป็น “นาย” ของไวโอลิน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของอารมณ์เพลงได้ด้วยความศักยภาพของเครื่องดนตรีชนิดนี้ และไรมอนดิก็สามารถบรรเลงเดี่ยวได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่อนช้าที่มีความลึกซึ้งทางอารมณ์แต่ก็ต้องการความสามารถทางเทคนิคขั้นสูงด้วย ในขณะที่วาทยกรไม่ได้ออกท่าทางอะไรมากมายนักในการกำกับวง ราวกับจะบอกกับผู้เล่นในวงว่า “จำได้ไหมที่เราซ้อมกันไว้ เล่นให้ได้อย่างที่ซ้อมนะ”  และปิดท้ายครึ่งแรกด้วย Concerto for Strings in G major, RV 151 “alla rustica” นับว่าเป็นเพลงที่โชว์เสียงของทั้งวง เป็นเพลงสั้นๆ ที่มีท่วงทำนองงดงาม และวงดนตรีทั้งวงได้เล่นกันอย่างเต็มที่ เครื่องสายทั้ง 13 ชิ้น รวมกับฮาร์พสิคอร์ดอีก 1 ตัว สามารถให้เสียงที่หนักแน่นและเข้มข้นได้เป็นอย่างดี เรียกเสียงปรบมือของผู้ฟังได้อย่างกึกก้องน่าประทับใจ

ความพิเศษของการแสดงครั้งนี้คือ ได้มีการจัดเป็นการซ้อมแบบสาธารณะ (open rehearsal) ให้ผู้สนใจได้เข้าชมและรับฟังการซ้อมของวง (โดยมีการจำหน่ายบัตรในราคาไม่แพง) ซึ่งมี ปิโอวาโน เป็นผู้ควบคุมวง พร้อมกับเป็นนักแสดงเดี่ยวในบางเพลงด้วย จากการที่ผมได้เข้าไปสังเกตการณ์พบว่าเขาเป็นวาทยกรและผู้แสดงเดี่ยวที่มีสไตล์ที่จัดเจนมาก และสามารถถ่ายทอดความต้องการออกมาได้ด้วยทั้งการอธิบายออกมาเป็นคำพูด  และในขณะเดียวกันก็แสดงความรู้สึกของบทเพลงบางท่อนออกมาด้วยการร้องเป็นท่วงทำนองว่าถ้าเล่นควรจะเล่นอย่างไร และในบางครั้งถ้าทั้งอธิบายและร้องยังสื่อความไม่ได้   เขาก็จะเล่นให้ฟังเสียเลยต้องเรียกว่าเขาทำหน้าที่เป็น “ครู” สอนให้วงเล่นได้อย่างที่เขาต้องการจริงๆ  โดยที่สามารถทำตัวอย่างให้ดูได้อย่างชัดเจน  ทั้งนี้การเล่นไปด้วยและกำกับวงไปด้วยในเวลาเดียวกันนั้น ถ้าไม่เก่งจริงคงทำไม่ได้ (ดี) เพราะต้องฟังวงเล่นไปพร้อมกับเล่นเอง ซึ่งอาจจะพลอยทำให้ไม่ดีไปทั้งสองด้านด้วย แต่เขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งสองด้าน  ในแง่หนึ่งก็ต้องชื่นชมสมาชิกของวง Pro Musica ที่มีความสามารถเก่งกาจพอที่จะบรรเลงตามที่เขาต้องการได้  โดยเท่าที่ผมสังเกต ในช่วงต้นๆ ของการซ้อม อ.ปิโอวาโน จะหยุดและแก้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขามักย้ำกับนักดนตรีเสมอว่า “อย่าเร่ง” แต่ให้เล่นไปตามชีพจรของเพลงทั้งนี้แม้ว่าจะใช้นักดนตรีเพียง 14 คน แต่ให้เสียงที่กึกก้องกังวานและมีพลัง ราวกับวงระดับใหญ่กว่านี้ 2-3 เท่า นอกเหนือจากเสียงที่ไพเราะแล้ว วงยังสามารถบรรเลงได้ตามที่วาทยกรต้องการภายในการซ้อมรวมวงเพียง 2 วัน ซึ่งน่าทึ่งในความสามารถมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกของวงส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีรุ่นหนุ่มสาว ยิ่งรู้สึกว่านี่คืออนาคตของดนตรีคลาสสิกบ้านเราอย่างแท้จริง

12087133_1633155900267807_3283927606315903400_o

(facebook Pro Musica)

ในอีก 10 วันถัดมา ผมก็ได้มีโอกาสไปฟังการแสดงของวง Pro Musica Junior ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่สมาชิกของวงโปรมูสิกา นำโดย อ.ทัศนา นาควัชระ และ อ.กิตติคุณ สดประเสริฐ ได้คัดเลือกเยาวชนที่มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องสายตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ (โดยไม่รวมกรุงเทพฯ และภาคกลาง) ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายโอกาสให้กับเด็กต่างจังหวัดที่มีความสามารถ ได้มาฝึกซ้อมกับครูของวงโปรมูสิกา และได้ประสบการณ์ในการเล่นเป็นวง โดยที่คอนเสิร์ตนี้ใช้ชื่อว่า “คีตราชา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์ ด้วยการนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาจัดแสดง ควบคู่ไปกับบทเพลงที่ท้าทายความสามารถของวง คือ Le quattro  stagioni (The Four Seasons) ของอันโตนิโอ วิวัลดิ อีกเช่นกัน เราท่านที่ฟังดนตรีคลาสสิกอยู่เสมอย่อมรู้ดีว่าคีตกวีท่านนี้คือปรมาจารย์ด้านเครื่องสาย เพลงที่แต่งให้กับเครื่องสายนั้นนอกเหนือจากความไพเราะงดงามแล้ว ยังเต็มไปด้วยเทคนิคอันแพรวพราว ทั้งยังถือว่าเป็นบทเพลงมาตรฐานที่นักดนตรีเครื่องสายต้องร่ำเรียนและฝึกฝนอยู่เสมอ การนำบทเพลงของคีตกวีเครื่องสายชั้นครูมาบรรเลงนี้ ย่อมเป็นการสร้างประสบการณ์ที่เข้มข้นให้กับเยาวชนกลุ่มนี้อย่างแน่นอน

การบรรเลงเริ่มต้นด้วย La primavera(ฤดูใบไม้ผลิ) สลับด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นดินของเรา (Alexandra) ต่อด้วย L’estate (ฤดูร้อน) ตามมาด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ เกาะในฝัน (Dream Island) หลังจากพักครึ่งการแสดงเป็นฤดูที่ 3 คือ L’autunno (ฤดูใบไม้ร่วง) สลับกับเพลงพระราชนิพนธ์ รัก (Love) และจบด้วย L’inverno (ฤดูหนาว) กับเพลงพระราชนิพนธ์ ลมหนาว (Love in Spring) ผมขออนุญาตกล่าวถึงชุดบทเพลงสี่ฤดูของวิวัลดิก่อน เราทราบกันดีว่าบทเพลงชุดนี้เป็นไวโอลินคอนแชร์โตบทสำคัญ ซึ่งในการแสดงครั้งนี้ อ.ทัศนา นาควัชระ หัวหน้าวงโปรมูสิกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยเพลงของวงโปรมูสิกาจูเนียร์ รับบทบาทบรรเลงแนวเดี่ยวไวโอลินทั้ง 4 ฤดู หรือถ้านับเป็นกระบวน(movement) ก็มีจำนวนถึง 12 กระบวนเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นงานที่หนักหน่วงสำหรับ อ.ทัศนา พอสมควร เพราะจะต้องอำนวยเพลงพระราชนิพนธ์อีก 4 เพลง ขณะที่เพลงของวิวัลดิอีก 12 กระบวนนั้น ก็ทั้งทำหน้าที่บรรเลงเดี่ยวและควบคุมวงไปพร้อมกัน   การปรับเปลี่ยนลีลาการแสดงและวัฒนธรรมทางดนตรีแบบฉับพลันเช่นนี้  คงทำให้ อ. ทัศนาต้องใช้สมาธิสูงเป็นพิเศษ  แต่อาจารย์ก็ยังรักษามาตรฐานการบรรเลงของตนเองได้อย่างดี ทั้งยังมีลีลาที่ไม่ซ้ำซาก มีการเติมโน้ตประดับ (grace note) เพื่อให้ไพเราะและน่าฟังมากยิ่งขึ้น โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงบทเพลงของคีตกวี บางช่วงก็มีการยืดจังหวะไปบ้างเพื่อทอดอารมณ์ของเพลง ซึ่งตรงนี้อาจจะเสี่ยงอยู่บ้างสำหรับการเล่นกับวงเด็ก เพราะถ้าเด็กจับลีลาและจังหวะไม่ได้ ก็อาจจะทำให้ผู้แสดงเดี่ยวและวงหลุดออกจากกันได้  ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตได้ชัดเจน เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในท่อนฤดูใบไม้ร่วง แต่โดยรวมแล้วถือว่าเล่นเข้ากันได้เป็นอย่างดี

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ 4 เพลงที่นำมาแสดงในค่ำคืนนั้น เป็นผลงานของเยาวชนผู้ชนะเลิศการประกวดเรียบเรียงดนตรีของทั้ง 4 เพลง โดยมี ฯพณฯ องคมนตรี พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช ศิลปินแห่งชาติและผู้ก่อตั้งวงโปรมูสิกา เป็นประธานกรรมการตัดสิน ซึ่งผู้ชนะเลิศทั้ง 3 คนนั้น ก็สามารถเรียบเรียงดนตรีได้อย่างน่าฟัง ถ้ามองในภาพรวมก็คือเน้นความเรียบง่ายแต่ดูสง่างามและใช้ศักยภาพของวงเครื่องสายได้ดี และยกให้บางช่วงของเพลงมีเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เช่น ไวโอลิน หรือเชลโล ได้โอกาสโชว์ฝีมือบรรเลงเดี่ยวด้วย (เช่นเพลงแผ่นดินของเรา ก็มีช่วงที่หัวหน้าไวโอลิน 1 และไวโอลิน 2 ได้โอกาส “สนทนา” กัน อย่างออกรสออกชาติ) สำหรับนักร้องรับเชิญคือ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย ซึ่งได้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ เกาะในฝัน และ รัก นั้น ผมคิดว่าเธอคือนักร้องชั้นแนวหน้าคนหนื่งในปัจจุบัน โดยธรรมชาติแล้วเสียงของเธอมีความไพเราะ หวาน ทุ้มเล็กน้อย และเนื้อเสียงเต็มแน่น เป็นต้นทุนส่วนตนที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เสียงของเธอยิ่งไพเราะยิ่งขึ้นคือความเข้าใจในดนตรีและเนื้อร้องที่เธอมีอยู่เต็มเปี่ยม ด้วยความที่เธอเป็นนักร้องในสายละครเพลง(musical) ด้วยแล้ว ยิ่งต้องแสดงบทบาทตัวละครไปพร้อมกับการร้องเพลง ดังนั้นการร้องส่วนใหญ่ของเธอจึงมีลักษณะคล้าย musical ที่มีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาในคำต่างๆ คล้ายกับการสนทนาหรือเล่าเรื่อง ซึ่งจะต่างจากนักร้องทั่วไปที่มักจะร้องโดยคำนึงถึงความไพเราะของเสียงเป็นหลัก แต่อาจจะไม่เน้นสาระหรือความหมายของเนื้อเพลงมากนัก ซึ่งครั้งแรกที่ผมได้ฟังเธอคือ กาชาดคอนเสิร์ต ปี 2558 นี้ และการได้ฟังเธออีกครั้งในงานนี้ ยิ่งตอกย้ำความประทับใจในความสามารถของเธอมากยิ่งขึ้นด้วย

เท่าที่ผมได้ติดตามวงเยาวชนมาหลายวงนั้น ผมคิดว่าวงโปรมูสิกาจูเนียร์นั้นมีเสียงที่ดีมาก หนักแน่น มีพลัง การบรรเลงค่อนข้างแม่นยำ ชัดเจน ทั้งนี้เครื่องสายเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่เสียงเพี้ยนได้ง่ายที่สุด เนื่องจากต้องใช้นิ้วกดลงบนแผ่นไม้ (fingerboard) ในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ (ขณะที่เครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ ซึ่งมี fingerboard เช่นกัน จะมีแท่งโลหะเรียกว่า fret ฝังอยู่ ซึ่งทำให้กดนิ้วแล้วได้ระดับเสียงตามความต้องการทุกครั้ง) จึงต้องใช้การฝึกฝนทักษะในการเล่นและการฟังเพื่อให้ได้ระดับเสียงแม่นยำเป็นสำคัญ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาหลายปีจึงจะมีเสียงที่ถูกต้องและไพเราะ) หลายวงที่ผมเคยฟังมาก็ยังมีเสียงที่เพี้ยนอยู่ไม่น้อยทีเดียว เด็กของโปรมูสิกาจูเนียร์นับว่ามีมาตรฐานที่ดีมาก สามารถเล่นเพลงยากๆ ของวิวัลดิได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเร็วนั้น เล่นได้อย่างหนักแน่นและมั่นใจ ในส่วนที่เป็นท่อนช้าที่เน้นอารมณ์นั้น ยังมีอาการแกว่งๆ อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ถึงกับเสียหายอะไร เท่าที่ผมสังเกตสมาชิกของวง 21 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 ปี (อายุน้อยสุด 11 ปี 2 คน และอายุมากสุด 21-22 ปี 2 คน) ที่น่าสังเกตยิ่งไปกว่านั้นคือ ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนทางภาคเหนือ ได้แก่ ปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) จ.ตาก รวมเป็นจำนวนถึง 13 คน (นอกจากนั้นมาจากภาคใต้ 3 คน ภาคอีสาน 2 คน และภาคเหนือจากที่อื่นๆ อีก 3 คน) อาจอนุมานได้ว่าทั้ง 3 โรงเรียนข้างต้นนั้น ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอย่างเข้มข้นจริงจัง และอาจจะมี “ครูดี” ที่สามารถฝึกนักเรียนออกมาได้ดีขนาดผ่านการคัดเลือกของนักดนตรีจากวงโปรมูสิกาได้เป็นจำนวนค่อนวง ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการเครื่องสาย โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ค่อนข้างขาดแคลนครูเครื่องสาย (ตรงกันข้ามกับวงการเครื่องเป่า ซึ่งมีวงโยธวาทิตของโรงเรียนทั้งหลายทั่วไทยเป็นแหล่งเพาะบ่มนักดนตรีอย่างดี ทำให้มีการแข่งขันที่สูงและมีมาตรฐานที่สูงตามไปด้วย) และหวังว่าคงจะมีเด็กหลายคนจากโปรมูสิกาจูเนียร์ ที่ก้าวขึ้นสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพได้ในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่ผมสังเกตได้จากการฟังโปรมูสิการุ่นผู้ใหญ่กับโปรมูสิการุ่นเด็กบรรเลงห่างกัน 10 วันนั้น คือการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น โปรดอย่าลืมว่าโปรมูสิกาวงใหญ่นั้น แม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นนักดนตรีอายุน้อย รุ่น 20 ต้นๆ ถึงกลางๆ แต่ก็มีสมาชิกระดับหัวหน้าที่ถือว่าเป็นครูชั้นแนวหน้าของวงการ ไม่ว่าจะเป็น อ.ทัศนา อ.กิตติคุณ อ.เลโอ ฟิลลิปส์ อ.จุนโกะ คานาโมโต อ.สุมิดา อังศวานนท์ เป็นโอกาสในการซึมซับความรู้และประสบการณ์จากรุ่นใหญ่อยู่แล้ว ยิ่งได้ คุณปิโอวาโน และ คุณไรมอนดิ ซึ่งเป็นนักดนตรีระดับโลกมาช่วยแนะนำและเล่นดนตรีร่วมกันแล้ว ยิ่งทำให้เกิดประสบการณ์และแรงบันดาลใจกับนักดนตรีรุ่นหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหลายคนเช่น รวยชัย แซ่โง้ว เอกราช จันทร์แสง คุณากรณ์ สวัสดิ์-ชูโต ก็ได้มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนสู่นักดนตรีรุ่นน้องๆ ในวงโปรมูสิกาจูเนียร์ด้วย ซึ่งความต่อเนื่องของการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การเล่นดนตรีนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง และผมคิดว่าความต่อเนื่องนี้จะช่วยให้นักดนตรีของบ้านเราพัฒนาฝีมือและความสามารถได้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยหวังว่าศิษย์จะเก่งกว่าครูขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นก็คงเป็นสิ่งที่จะทำให้ครูๆ ทั้งหลายมีความสุขมากที่สุด

ก่อนจบบทวิจารณ์นี้ ผมรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่การแสดงคอนเสิร์ตของวงโปรมูสิกาจูเนียร์ เป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเฉพาะแขกรับเชิญเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายบัตร แม้ว่าจะมีฟรีคอนเสิร์ตที่ศูนย์การค้า
ดิเอ็มพอเรียมก่อนหน้านั้น 1 วันก็ตาม แต่คอนเสิร์ตในห้างที่ต้องเล่นในที่เปิดและต้องใช้ลำโพงขยายเสียงนั้น ย่อมไม่ได้อรรถรสเทียบเท่ากับการแสดงในสถานที่ที่เหมาะกับการแสดงด้วยเสียงธรรมชาติ ผมคิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยพร้อมที่จะเสียเงินซื้อบัตรเข้ามาชมการแสดงนี้ ซึ่งน่าเสียดายแทนผู้ที่ไม่ได้รับเชิญยิ่งนัก ผมได้แต่หวังว่าโอกาสหน้าผู้จัดอาจจะเผื่อแผ่โอกาสให้แก่ผู้รักดนตรีสักนิด ด้วยการเปิดจำหน่ายบัตรบางส่วนก็ยังดี (และผมก็เชื่อว่าน่าจะขายบัตรได้ไม่แพ้โปรมูสิกาวงผู้ใหญ่เป็นแน่) วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราสมัยนี้มีผู้ฟังเพิ่มขึ้นมากพอสมควร และผู้ฟังก็ควรมีโอกาสในการได้ฟังการแสดงที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *