เมื่อนักดนตรีและวงระดับแนวหน้าของยุโรปมาเยือนไทย เราพอใจกันหรือไม่ : ว่าด้วยการแสดงของ Vadim Repin และ Prague Symphony Orchestra

เมื่อนักดนตรีและวงระดับแนวหน้าของยุโรปมาเยือนไทย เราพอใจกันหรือไม่ :

ว่าด้วยการแสดงของ Vadim Repin และ Prague Symphony Orchestra

_16_Prague_SYMPHONY_SINGLE_ENG_EM

วฤธ วงศ์สุบรรณ

ไม่บ่อยครั้งนักที่มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok’s International Festival of Dance and Music) จะมีศิลปินรับเชิญระดับโลกอย่างวาดิม เรปิน (Vadim Repin) นักไวโอลินชาวรัสเซีย ที่มีฝีมือและชื่อเสียงในระดับนานาชาติ มีผลงานการบันทึกเสียงและการแสดงมากมาย มาพร้อมกับวงปรากซิมโฟนีออร์เคสตรา (Prague Symphony Orchestra) ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีชั้นนำของประเทศสาธารณรัฐเชค แม้ชื่อเสียงจะไม่โด่งดังเท่าวง Czech Philharmonic Orchestra ที่คอเพลงคลาสสิกรู้จักคุ้นเคยกว่าอยู่บ้าง แต่ก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานถึง 80 ปี และนักดนตรีของเชคก็ใช่ว่าจะเป็นรองใคร ล้วนแต่มีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมทั้งนั้น (มีเรื่องเล่าจากนักไวโอลินไทยซึ่งเคยไปเรียนและเล่นอยู่ในวงดนตรีที่สวิตเซอร์แลนด์ และ ออสเตรีย คือ อ.ทัศนา นาควัชระ ว่าหากนักดนตรีในวงดนตรีวงใดมีไม่พอเมื่อใด สามารถติดต่อไปที่กรุงปรากได้ทันที เขาจะส่งนักดนตรีขึ้นรถตู้มาช่วยได้อย่างฉับพลัน  เพราะนักดนตรีเก่งๆ มีมากมาย  ซ้อมครั้งเดียวก็เล่นได้อย่างดี  และที่สำคัญคือค่าตัวถูก!)  ทั้งสองชื่อนี้ก็สามารถเชิญชวนให้ผู้รักดนตรีคลาสสิกในไทยทั้งหลาย รวมไปถึงนักดนตรีและนักเรียนดนตรีทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก เข้ามาชมการแสดงเมื่อคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้อย่างเนืองแน่น

ก่อนจะกล่าวถึงการแสดงของวงปรากซิมโฟนี ผมขออนุญาตกล่าวถึงอีกรายการหนึ่งก่อนหน้านั้น คือรายการแสดงของ Symphony Orchestra of Samara Academic Opera and Ballet Theatre จากรัสเซียเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเช่นกัน รายการนั้นบรรเลง Fantasy Overture “Romeo and Juliet” และ Festival Overture 1812 ของไชคอฟสกี้ และSymphony No.9 ของเบโธเฟน  ผมเองในฐานะที่ประสบการณ์ในการฟังวงออร์เคสตราจากต่างประเทศมีไม่บ่อยนัก ก็คาดหวังไว้ว่าวงจากรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยนักดนตรีฝีมือฉกาจ จะเล่นได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งหาที่ติมิได้  แต่ในการฟังจริงนั้นค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดหวังไว้มาก ที่จริงวงก็ไม่ได้อ่อนด้อยอะไร ถ้ามองเป็นกลุ่มๆ เช่นเครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ หรือเครื่องเป่าทองเหลือง ก็ฟังดูมีเทคนิคที่ดี มีเสียงไพเราะงดงาม มีหลายๆ ช่วงที่ผมประทับใจ แต่ความเป็นวงนั้นคิดว่ายังไม่ค่อยดีนัก เสียงยังไม่ประสานกลมกลืนกันแนบสนิทนัก ในส่วนของเพลงที่เล่นนั้น คิดว่าสามารถถ่ายทอดเพลงของรัสเซียเองคือไชคอฟสกี้ได้น่าประทับใจกว่าของเบโธเฟนพอสมควร (เพราะถือว่าเป็น “เพลงหากิน” ที่วงจากรัสเซียต้องเล่นเสมอเวลาทัวร์ต่างประเทศ) ผมก็เห็นใจว่าวงอาจจะบรรเลงประกอบอุปรากร 2 เรื่องมาก่อนนี้แล้วจนทำให้ล้า  และบรรเลงซิมโฟนีคอนเสิร์ตได้ไม่เต็มร้อยนัก ซึ่งการบรรเลงของวง Samara นั้น ทำให้ผมหวั่นใจว่าวง Prague จะซ้ำรอยหรือไม่

กลับมาที่วงปรากซิมโฟนี เพลงที่เลือกมาบรรเลงในคืนนั้น ได้แก่ Overture to Norma ของวินเชนโซ เบลลินิ (Vincenzo Bellini, 1801-1835 : คีตกวีชาวอิตาเลียน) Violin Concerto No.1 in G minor ของมักซ์ บรุค (Max Bruch, 1838-1920 : คีตกวีชาวเยอรมัน) และ Symphony No.9 in E minor Op.95 “From the New World” ของอันโตนิน ดวอร์ชาค (Antonín Dvořák, 1841-1904 : คีตกวีชาวเชค) โดยมีวาทยกรรับเชิญชาวลิทัวเนีย โรแบร์ตาส แซร์เวนิกาส (Robertas Servenikas) ทำหน้าที่อำนวยเพลง

สำหรับเพลงแรกคือ Overture to Norma ของเบลลินินั้น น่าจะเรียกว่าเป็นเพลง “โชว์วง” ซึ่งแต่ละกลุ่มจะผลัดกันเล่นท่วงทำนองที่ไพเราะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้ ที่มีบทบาทมากเป็นพิเศษ และวงปรากซิมโฟนีก็สามารถบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยม เสียงของวงค่อนข้างโปร่ง สามารถแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีได้ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้แตกแยกแบบไร้ทิศทาง แต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  อาจเรียกว่าเป็นเอกภาพบนความหลากหลายก็ว่าได้ เพียงแค่เพลงแรกก็ย้อมใจผู้ฟังด้วยเสียงที่ไพเราะร่วมกับเพลงของเบลลินิ ที่ถือว่าฟังง่ายมีทั้งอ่อนหวานและตื่นเต้นเร้าใจ

ถัดมาคือ Violin Concerto  ของบรุค ซึ่งบรรเลงเดี่ยวโดยวาดิม เรปิน ซึ่งถือว่าเป็น “ไฮไลท์” ของการแสดงครั้งนี้ที่ทำให้มีผู้ชมเกือบเต็มโรง เรปินเลือกที่จะบรรเลงบทเพลงนี้ด้วยความนุ่มนวล และละเมียดละไม เสียงไวโอลินของเขาชัดเจน แต่ไม่ถึงกับดังมากนัก (ออกจะเสียงค่อยด้วยซ้ำ) ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อถกเถียงกันมากว่า“ชอบหรือไม่ชอบ” บางคนก็บอกว่าเขาเล่นชัดเจน ไม่ทึ้งบทเพลงจนเกินไป และมีรสนิยมอันดี บางคนก็บอกว่าเขาเล่นแบบระวังตัวมากเกินไป จึงเลือกที่จะไม่เน้นอะไรเลย ก็ว่ากันไปตามโน้ต เลยรู้สึกว่าจืดชืดไป (ถึงขั้นง่วงหลับไปเลยก็มี) บ้างก็ว่าเขาคงเล่นเพลงนี้มาเป็นร้อยๆ ครั้งแล้ว คงไม่มีความท้าทายและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความสดใหม่หรือการตีความใหม่ในการบรรเลงแล้ว ตรงนี้คงต้องเป็นเรื่องของรสนิยมและประสบการณ์ของผู้ฟังแต่ละคนในการประเมินคุณค่าการบรรเลงครั้งนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เขาก้าวข้ามสิ่งที่เป็นเรื่องเชิงเทคนิคไปแล้ว การเล่นของเขามีความสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าคีตกวีจะกำหนดให้เล่นอะไรเขาก็เล่นได้ทั้งหมดอย่างดีเยี่ยม หากจะมาฟังความสมบูรณ์ทางเทคนิคและความงามของเสียงแล้ว ผมคิดว่าไม่ผิดหวัง (โดยเฉพาะเสียงการสีโน้ตคู่ หรือ double stop นั้น ผมคิดว่าเขาทำได้ยอดเยี่ยมและไพเราะมาก) แต่ถ้าหวังมากไปกว่านั้นคงต้องคิดกันมากหน่อยว่าเราได้อย่างที่หวังหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างชื่นชอบวิธีการเล่นของเขาซึ่งมาในทางสายกลาง ไม่หวือหวา และเลือกที่จะรับใช้คีตกวีมากกว่าสนองอัตตาของตนเอง และด้วยความที่เขาไม่มีข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับด้านเทคนิคการเล่นไวโอลินแล้ว เขาจึงทำทุกอย่างให้เรียบง่าย โดยถือว่าความเรียบง่ายคือความพิเศษและความงดงาม เราต้องไม่ลืมว่าเขาได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันไวโอลิน Queen Elisabeth แห่งเบลเยี่ยม เมื่ออายุเพียง 18 ปี (อย่างไรก็ตามผมและเพื่อนบางคนก็ก็รู้สึกเสียดายเล็กน้อยที่ไม่ได้ฟังเรปินเล่นไวโอลินคอนแชร์โตยอดนิยม เช่น เบโธเฟน บราห์มส์ ไชคอฟสกี้ หรือเมนเดลโซห์น เพราะอยากรู้ว่าเขาจะเล่นเพลงเหล่านี้ในลักษณะใด) และเขาก็สร้างความหฤหรรษ์ให้กับผู้ฟังอีกรอบ ด้วยการแถมเพลง Il carnevale di Venezia (The Carnival of Venice) ของนิคโคโล ปากานินิ (Niccolò Paganini, 1782-1840 : คีตกวีและนักไวโอลินชาวอิตาเลียน) ซึ่งมีทำนองที่ไพเราะฟังสบาย แต่มีเทคนิคที่แพรวพราวมาก และเขาก็เล่นได้อย่างเพลิดเพลินจนคนดูแทบลืมเรื่องเทคนิคไปเลย มีเพียงแต่ความรื่นรมย์ต่อบทเพลงนั้น  อันที่จริงวาคิมเป็นศิษย์ครูเดียวกันกับมักซิม  เวงเกรอฟ (Maxim Vengerov)  แต่วิธีกฤารเล่นต่างกันมาก  พ่อ Vengerov นั้นไฟแลบทุกโอกาส!

ในครึ่งหลัง คือซิมโฟนีหมายเลข 9 ของดวอร์ชาค ซึ่งในปีนี้ผมได้ฟังบทเพลงนี้ถึง 3 รอบ โดย 3 วงออร์เคสตราเมืองไทย คือวงดุริยางค์ราชนาวี (บรรเลงเฉพาะกระบวนที่ 3 และ 4) วงบางกอกซิมโฟนี (BSO) และวงไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิค (TPO) นี่จึงเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีและเป็นวงตะวันตกวงแรกที่ได้ฟัง จึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับการแสดงก่อนหน้านี้ ผมคิดว่า เพลงนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “เพลงหากิน” หรือ “ม้าสงครามแก่” ของวงดนตรีจากเชคคงจะไม่ผิดนัก (เช่นเดียวกับวงรัสเซียต้องเล่นไชคอฟสกี้) แต่วงปราก ก็สามารถเล่นเพลงนี้ได้อย่างไพเราะงดงาม ไม่มีความรู้สึกว่าเล่นอย่างน่าเบื่อหน่ายเลย อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เสียงเครื่องสายของวงนั้นยอดเยี่ยม ทั้งความแม่นยำของเสียง และความพร้อมเพรียงของนักดนตรี ผมค่อนข้างชื่นชอบกลุ่มไวโอลิน 1 เป็นพิเศษ ที่มีเสียงหนักแน่น หวานฉ่ำ และมีพลังอย่างน่าประหลาด ในขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าเครื่องสายเสียงต่ำ เครื่องเป่าอย่าง โอโบ อิงลิชฮอร์น ฟลูต หรือเฟนช์ฮอร์น ก็มีบทบาทค่อนข้างมากและมีเสียงที่ไพเราะอย่างยิ่ง ร่วมไปถึงเครื่องเป่าทองเหลือง เครื่องเป่าลมไม้ และเครื่องกระทบอื่นๆ ก็สามารถเล่นเป็นวงได้อย่างดียิ่ง ฝีมือของนักดนตรีก็ยอดเยี่ยมเรียกว่าแทบไม่มีเล่นหลุดเล่นพลาด ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีให้กับวาทยกร ซึ่งควบคุมวงได้อย่างดีมีความไพเราะน่าประทับใจ เราในฐานะผู้ฟังคนนอกอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังเขาฝึกซ้อมวงกันอย่างไร แต่ถ้าผลงานการบรรเลงออกมาดีขนาดนี้ เชื่อว่าขณะซ้อมคงต้องทำงานกันอย่างหนักไม่น้อยเลยทีเดียว

อาจไม่ยุติธรรมนักหากจะเอาวงชั้นยอดของเมืองเชคมาเปรียบเทียบกับวงบ้านเรา ซึ่งไม่ใช่เจ้าของวัฒนธรรมและยังต้องพัฒนาฝีมือต่อไป แต่ถ้าใครได้ไปชมคอนเสิร์ตนี้ ก็คงอดคิดไม่ได้ว่านี่คือวงออร์เคสตราชั้นเลิศที่เราหวังจะให้วงออร์เคสตราของบ้านเราก้าวไปให้ถึงระดับนี้ สำหรับวงทั้ง 3 ของไทยนั้น ผมคิดว่าการตีความในบทเพลงเดียวกันนั้นเราก็ทำได้ดีไม่น้อย ทั้งจากวาทยกรไทยและวาทยกรต่างประเทศ เพราะมีตัวอย่างให้ศึกษาอยู่มากมายสามารถนำมาคิดตามและคิดต่อได้ แต่ในเรื่องเทคนิคการเล่นเครื่องดนตรีนั้น เรายังคงต้องพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะเครื่องสายที่ยังขาดแคลนนักดนตรีชั้นดีอยู่อีกมาก ปัจจุบันในบ้านเรามีครูนักดนตรีเครื่องสายที่มีฝีมือจบการศึกษาจากตะวันตกมากขึ้น และมีนักเรียนดนตรีรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ไปเล่าเรียนถึงแหล่งต้นกำเนิดของวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก ก็คาดว่าคงจะกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราต่อไป และสำหรับการแสดงในครั้งนี้ ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่พอใจกับการบรรเลงของวาดิม เรปิน และวงปรากซิมโฟนี ก็ตาม แต่นักดนตรีระดับโลกนั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมที่มาจากการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงมาตลอดชีวิต คงจะเป็นแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจได้ส่วนหนึ่ง สำหรับนักเรียนดนตรีและนักดนตรีที่ไปฟังในค่ำคืนนั้น ที่จะก้าวเข้าสู่มาตรฐานระดับโลกให้ได้ ส่วนเราผู้ฟังนั้นก็ย่อมได้ประสบการณ์ในการฟังของจริงที่นานๆ ครั้งจะมาบ้านเราสักที แต่ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่าการแสดงของบ้านเราที่ดีๆ นั้นยังมีอีกมาก ทั้งวงออร์เคสตรา วงเครื่องเป่า และวงเชมเบอร์ต่างๆ หรือแม้แต่การแสดงรูปแบบอื่นๆ ทั้งดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย หรือนาฏกรรมร่วมสมัย (ซึ่งทุกวันนี้เครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยให้การรับข่าวสารการแสดงมีความสะดวกมากขึ้น) น่าแปลกใจที่ “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ” กลับไม่มีการแสดงของเจ้าบ้านแม้แต่ชุดเดียว ทั้งๆ ที่ผู้ชมจำนวนมากก็เป็นชาวต่างประเทศ ไฉนเราจึงไม่ใช้มหกรรมนี้เป็นโอกาสให้ศิลปินของไทยได้เผยแพร่ผลงานสู่โลกภายนอกในบ้านของเราเองเสียบ้าง  ผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ของไทยควรจะตั้งข้อเรียกร้องนี้สักครั้ง  ที่พูดนี่ไม่ใช่เรื่องของความรักชาติ  แต่มหกรรมที่ไหนๆ ศิลปินเจ้าของบ้านก็มีโอกาสร่วมแสดงทั้งนั้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *