เต็มอิ่มเชมเบอร์มิวสิคแห่งยุคโรแมนติก

เต็มอิ่มเชมเบอร์มิวสิคแห่งยุคโรแมนติก

pic

วฤธ วงศ์สุบรรณ

เมื่อปีที่แล้วในวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2557 วงโปรมูสิกา (Pro Musica) ได้เชิญสองหนุ่มนักดนตรีที่ทำงานประจำอยู่ในฝรั่งเศส  คือ อเล็กซองดร์ เวย์ (Alexandre  Vay) นักเชลโลชาวฝรั่งเศส และ ดิมิทรี ปาปาโดปูลอส (Dimitri Papadopoulos)นักเปียโนชาวอเมริกัน (เชื้อสายกรีก) มาแสดงบทเพลงเชลโล โซนาตา ของเบโธเฟน ครบทั้ง 5 บทและปิดท้ายรายการด้วย Ghost Trioอันเข้มข้นของเบโธเฟน ร่วมกันนักดนตรีชาวไทย คือ ทัศนา นาควัชระ หัวหน้าวงโปรมูสิกา (ผมได้เขียนถึงการแสดงครั้งนั้นไว้ที่เว็บเพจ http://www.thaicritic. com/?p=2195)  มาในปีนี้ทั้งสองหนุ่มก็ได้กลับมาเปิดการแสดงอีกครั้งเมื่อวันที่ 10-11 พฤษจิกายน 2558 ณ สยามสมาคมในโปรแกรมที่เข้มข้นไม่แพ้ปีที่แล้ว โดยใช้ชื่อว่า “Brahms and His Contemporaries” โดยคืนแรกนำเสนอ Cello Sonata No.1 in E minor, Op.38  ของโยฮันเนส บราห์มส์ ร่วมกับ Piano Trio in A minor, Op.50 “In Memory of a Great Artist”  ของปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี้ ส่วนคืนที่สองก็นำเสนอ Cello Sonata No.2 in F major, Op.99 ของบราห์มส์อีกบทหนึ่ง ร่วมกับPiano Trio in F minor, Op.65  ของอันโตนิน ดวอร์ชาค

ในเชลโลโซนาตาบทแรกของบราห์มส์นั้น เวย์บรรเลงเชลโลได้อย่างมีพลังและน่าฟังอย่างมาก เสียงของเขาใหญ่และหนักแน่น ถ่ายทอดความลึกหม่นในบทเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนปาปาโดปูลอสก็บรรเลงเปียโนเคียงคู่กันได้อย่างดีเยี่ยมไม่แพ้กัน ทั้งนี้ในงานของบราห์มส์โดยทั่วไปนั้นบทบาทของเปียโน  ไม่ใช่เป็นแค่ผู้บรรเลงคลอประกอบ แต่มีฐานะผู้แสดงเดี่ยวเสมอกัน บางครั้งก็เป็นผู้นำ บางครั้งก็เป็นผู้ตาม แต่เรื่องการแบ่งบทบาทของเครื่องดนตรีนั้นบราห์มส์ทำได้อย่างยอดเยี่ยม มีทั้งสอดคล้องประสานกัน บางครั้งก็มีลูกล้อลูกขัดกัน โดยเฉพาะกระบวนที่ 3 ที่มีลักษณะเป็น fugue ซึ่งบราห์มส์หยิบยืมทำนองมาจากContrapuntus 4 และ13 ของโยฮัน เซบาสเตียน บาค บรมครูดนตรีแห่งยุคบารอค ทำได้อย่างตื่นเต้นเร้าใจมาก และสองหนุ่มจากฝรั่งเศสก็บรรเลงได้อย่างดี ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ลีลาการบรรเลงของเวย์ก็เปลี่ยนไปตามท่วงทำนองเพลง หากท่วงทำนองขึงขังก็จะทำหน้าตาดุดันจริงจังขึ้นมา หากท่วงทำนองอ่อนหวานก็เคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนอง ส่วนปาปาโดปูลอสนั้น ไม่ค่อยเน้นลีลาการแสดงออกทางร่างกายเท่าใดนัก มีแต่เพียงความมุ่งมั่นในการบรรเลง แต่ทั้งสองก็สามารถทำงานกันเป็นทีมได้อย่างดี เราผู้ฟังก็ได้รับความรื่นรมย์จากดนตรีได้อย่างเต็มที่โดยที่หาข้อติติงนักดนตรีแทบไม่ได้

ในครึ่งหลังของคืนแรก เป็น  Piano Trio in A minor  ของไชคอฟสกี้ ซึ่งมีชื่อรองว่า “In Memory of a Great Artist”  เราผู้ฟังดนตรีส่วนใหญ่มักรู้จักเพลงของไชคอฟสกี้ในเพลงที่ใช้วงออร์เคสตราใหญ่ๆ (อย่างตัวผมเองนี่ก็ต้องรับสารภาพว่าเพิ่งได้รับฟังบทเพลงนี้เป็นครั้งแรก) และไม่นึกว่าบทเพลงนี้ที่ไชคอฟสกี้แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์ (คือนิโคไล รูบินชไตน์ ผู้เป็นทั้งมิตรสหายและอาจารย์ที่เขาเคารพรักยิ่ง) ซึ่งน่าจะแสดงออกถึงความเศร้าอย่างลึกซึ้งจากก้นบึ้งของหัวใจ กลับใช้รูปแบบของเชมเบอร์มิวสิคด้วยเครื่องดนตรีเพียงสามชิ้น นี่ก็คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าเชมเบอร์มิวสิคไม่มีอะไรด้อยไปกว่าซิมโฟนี แม้แต่คีตกวีผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีสำหรับวงใหญ่อย่างไชคอฟสกี้ยังเลือกเชมเบอร์มิวสิคเป็นเครื่องสื่อถึงความลึกซึ้งทางอารมณ์ซึ่งในการแสดงนี้นอกจากเวย์และปาปาโดปูลอสแล้ว อ.ทัศนา นาควัชระ ในฐานะเจ้าบ้านก็ขึ้นมาร่วมบรรเลงไวโอลินด้วย ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งสามชิ้นก็สอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน ไพเราะน่าฟัง แน่นอนว่าไชคอฟสกี้เป็นผู้ที่แต่งท่วงทำนองได้ไพเราะเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเรียบเรียงให้แต่ละเครื่องรับหน้าที่และบทบาทที่โดดเด่นไม่น้อยหน้ากัน เปรียบเสมือนกันสนทนากันระหว่างเครื่องดนตรีทั้งสามชิ้นนี้ ในส่วนของ อ.ทัศนา ก็สามารถบรรเลงได้เข้าขากับอาคันตุกะจากฝรั่งเศสนี้ได้เป็นอย่างดี อาจเรียกได้ว่านักดนตรีที่มีฝีมือสามารถสื่อใจถึงกันได้ด้วยดนตรี และทั้งสามก็อยู่ในระดับที่สามารถถ่ายทอดบทเพลงของไชคอฟสกี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะในกระบวนที่สอง ซึ่งเป็นรูปแบบ theme and variations ก็บรรเลงท่วงทำนองที่แปรผันไปมาได้อย่างถึงใจพระเดชพระคุณยิ่ง

รายการในวันที่สองเริ่มต้นด้วยเชลโลโซนาตาบทที่สองของบราห์มส์  ในบทนี้ท่วงทำนองจะอ่อนโยนหวานซึ้ง ไม่หม่นเท่าบทแรก แต่ในบางช่วงก็แฝงด้วยอารมณ์รุนแรงอยู่เช่นกัน ซึ่งทั้งคู่ก็บรรเลงได้อย่างมีมาตรฐานที่สูงเช่นเคย เรารู้สึกได้เลยว่าพวกเขาหลอมรวมตัวเองไปกับบทเพลง ปล่อยให้ร่างกายและเครื่องดนตรีเป็นข้ารับใช้คีตกวี โดยที่ทุกอย่างเหมือนดูง่ายและเป็นธรรมชาติไปหมด แต่ใครที่เล่นดนตรีย่อมรู้ว่าเพลงของบราห์มส์นั้นเล่นไม่ง่ายเลย อีกทั้งมีความลึกซึ้งทางอารมณ์สูงด้วย ซึ่งทั้งคู่ก็ข้ามผ่านเรื่องทางเทคนิคไปแล้ว ซึ่งผมก็คิดว่าทั้งคู่เลือกที่จะบรรเลงด้วยรสนิยมอันดีงาม ไม่เน้นความตื่นเต้นหวือหวา  ทึ้งนั่นทึ้งนี่มากนัก โดยที่มีมโนทัศน์ว่าบราห์มส์นั้นแม้ว่าจะเป็นโรแมนติก แต่ก็ไม่ใช่โรแมนติกที่ปล่อยไปตามอารมณ์ความรู้สึกแต่เพียงถ่ายเดียว แต่เขาเป็นผู้สืบทอดดนตรีสายเยอรมัน-ออสเตรียที่มีรูปแบบโครงสร้างดนตรีที่ชัดเจน มีระเบียบแบบแผน และไม่เร่งเร้าอารมณ์มากเกินไปนัก แต่จะรักษารสนิยมอันดีงามไว้

มาในครึ่งหลัง เป็นบทเพลง  Piano Trio in F minor, Op.65  ของดวอร์ชาค คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ของยุคโรแมนติกอีกท่านหนึ่ง และเป็นผู้ที่สนิทสนมกับบราห์มส์ด้วย แม้ว่าเพลงของดวอร์ชาคจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากบราห์มส์ไม่น้อย แต่ก็ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ โดยเฉพาะการที่นำสำเนียงดนตรีโบฮีเมียนถิ่นกำเนิดมาสอดแทรกอยู่ในท่วงทำนองดนตรีของท่านอยู่เสมอ และในบทเพลงเปียโนทริโอบทนี้ ก็นำมาใช้ถึง 2กระบวน คือกระบวนที่ 2 และ4 นอกจากนั้นในกระบวนที่ 1 และ 3 นั้น ก็ยังมีความเข้มข้นทางอารมณ์สูงมาก ซึ่งนักดนตรีทั้งสามท่านในค่ำคืนนั้น ก็บรรเลงออกมาได้อย่างไพเราะงดงามยิ่ง โดยผมเองนั้นรู้สึกประทับใจกับกระบวนที่ 3ซึ่งเป็นท่อนช้ามากเป็นพิเศษ ซึ่งมีทำนองที่ไพเราะลึกซึ้ง ฟังผ่อนคลายไม่หม่นหรือรุกเร้ามากจนเกินไป ในขณะที่กระบวนที่รวดเร็วและมีชีวิตชีวาอย่างกระบวนที่ 4  ทั้งสามก็บรรเลงได้อย่างสนุกสนาน และก็เปี่ยมด้วยรสนิยมอันดีอีกเช่นกัน

คอนเสิร์ตนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่ม Pro Musica ได้มอบประสบการณ์ดนตรีที่เข้มข้นและทรงคุณค่าแก่ผู้ฟัง ผ่านบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ของคีตกวียุคโรแมนติกทั้งสามท่าน ซึ่งถ่ายทอดผ่านรูปแบบของเชมเบอร์มิวสิค เราคงไม่ต้องสงสัยกันแล้วว่าเชมเบอร์มิวสิคนั้นไม่มีอะไรที่ด้อยไปกว่าวงออร์เคสตราระดับร้อยคน ทั้งในแง่ของความลึกซึ้งทางอารมณ์ (ซึ่งบทเพลงในค่ำคืนนี้สามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี) ความสามารถในเชิงเทคนิคการเล่นเครื่องดนตรี (บทเพลง string quartet บางบทก็เรียกร้องความสามารถของนักดนตรีในระดับสูงมาก โดยเฉพาะเครื่องสายที่ผิดไม่ได้เลย เพราะผู้ฟังสามารถฟังออกได้ทันที) และความประสานสัมพันธ์กันระหว่างนักดนตรี ที่ต้องฝึกซ้อมกันมาเป็นอย่างดีจนเข้าขาและสามารถบรรเลงร่วมกันได้อย่างกลมกลืน (วง string quartet บางวงก็เล่นด้วยกันมาร่วมครึ่งศตวรรษ และต้องเลิกวงไปเพราะสมาชิกในวงเสียชีวิตและไม่สามารถหาใครมาแทนได้) บ้านเราเมื่อก่อน   การจะได้ฟังดนตรีคลาสสิกนั้นโอกาสค่อนข้างน้อยกว่าปัจจุบัน ยิ่งถ้าเป็นดนตรีเชมเบอร์แล้วยิ่งหาทั้งผู้เล่นและผู้ฟังยากเข้าไปอีก แต่ปัจจุบันเรามีวงชั้นนำที่นำเสนอผลงานเชมเบอร์มิวสิคที่ทรงคุณค่าอยู่หลายวง ทั้ง Pro Musica เอง รวมถึง Bangkok String Quartet และ Nova Siam Quartet (ซึ่งสองวงหลังคือการรวมกลุ่มของนักดนตรีเครื่องสายระดับหัวหน้ากลุ่มของวง Bangkok Symphony Orchestra) หากท่านชื่นชอบดนตรีคลาสสิกแล้ว เชมเบอร์มิวสิค คือขุมทรัพย์ทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่ยังรอให้ผู้สนใจมาค้นพบและสัมผัสประสบการณ์ของจริงจากนักดนตรีบ้านเราเอง  ได้ข่าวมาว่า Andrey  Gugnin  นักเปียโนเอกชาวรัสเซีย  จะเดินทางมาแสดงกับนักดนตรีของไทยอีกครั้งหนึ่งในปีหน้า  ในรายการดนตรีเชมเบอร์  อันรวมถึง  Kreutzer Sonata ของ Beethoven และคราวนี้เขาขอไม่แสดงเดี่ยวเปียโน  เพราะเขาคงสังเกตได้ว่าคนฟังเข้าใจเขาผิดว่าเขาเล่นได้แต่เฉพาะเพลงประเภทไฟแลบ!

ผมขออนุญาตอ้างถึง ลอร์ดเยฮูดิ เมนูฮิน อีกครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งที่ท่านอายุ 12 ปี  ท่านพัฒนาฝีมือไปถึงขั้นที่ไม่มีบทเพลงไวโอลินใดในโลกที่ท่านเล่นไม่ได้ โดยเฉพาะไวโอลินคอนแชร์โตที่ว่ายากทั้งหลาย แต่เมื่อท่านมาตั้งสถาบันดนตรีแห่งที่ 2 ที่เมือง Gstaad สวิตเซอร์แลนด์เพื่อเป็นแหล่งเพาะบ่มนักดนตรีระดับหนุ่มสาวให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โรงเรียนแห่งนี้กลับเน้นเรื่องเชมเบอร์มิวสิคโดยเฉพาะ  โดยที่ท่านเชื่อว่าเชมเบอร์มิวสิคคือรากฐานของอารยธรรมดนตรีตะวันตก และถ้าหากนักเรียนของท่านเล่นเชมเบอร์มิวสิคได้ดีแล้ว เพลงอะไรหรือยากเพียงไหนพวกเขาก็ย่อมเล่นได้ดีทั้งนั้น ผมคิดว่านักดนตรีในบ้านเราส่วนหนึ่งมาถูกทางแล้วที่พยายามจับกลุ่มกันเล่นเชมเบอร์มิวสิค ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่า แต่น่าเสียดายที่วงดนตรีขนาดเล็กนี้ไม่สามารถเรียกแขกให้มาเต็มโรงได้ (การแสดงทั้งสองคืนที่สยามสมาคมนั้น มีคนดูราวครึ่งโรงเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติที่เป็นสมาชิกของสยามสมาคมอยู่แล้ว) ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังในบ้านเราหลุดจากมายาคติที่ว่า “วงออร์เคสตราใหญ่ๆ น่าฟังกว่าวงเชมเบอร์เล็กๆ” คงต้องฝากความหวังไว้กับนักดนตรีรุ่นใหม่ที่จะหันมาเล่นเชมเบอร์มิวสิคมากขึ้น และสร้างฐานผู้ฟังที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป  ผมใคร่ขอวิงวอนผู้จัดเพลงคลาสสิกทางสถานีวิทยุทั้งหลาย  ได้โปรดให้เวลากับเชมเบอร์มิวสิกให้มากกว่านี้จะได้ไหม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *