จาก Vienna Radio Symphony Orchestra ถึง World Doctors Orchestra อาคันตุกะที่น่าประทับใจจากต่างแดน

จาก Vienna Radio Symphony Orchestra ถึง World Doctors Orchestra

อาคันตุกะที่น่าประทับใจจากต่างแดน

World Doctor Orchestra

Facebook : Thailand Philharmonic Orchestra

วฤธ วงศ์สุบรรณ

          ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา วง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ได้ต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศที่มาเปิดการแสดงให้ผู้รักดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยได้เปิดหูเปิดตา วงแรกคือวง Vienna Radio Symphony Orchestra ซึ่งแสดงไปเมื่อวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ (ในรายการที่ไม่ซ้ำกัน) อีกวงหนึ่งคือ World Doctors Orchestra ซึ่งแสดงเมื่อวันที่ 26 และ 27 กุมภาพันธ์ (ในรายการเดียวกันแต่ต่างสถานที่) ที่จริงแล้วทั้งสองวงนี้เป็นวงคนละระดับกัน กล่าวคือวง Vienna Radio นั้นเป็นวงอาชีพที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปของออสเตรีย ส่วนวง World Doctors นั้นเป็น “วงดนตรีสมัครเล่น” ที่รวบรวมแพทย์และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีฝีมือและใจรักด้านดนตรีจากหลายประเทศทั่วโลก จากการได้ฟังวงทั้งสองบรรเลงนั้น ผมมีข้อคิดเห็นบางประการจากการแสดงทั้งสองวง

ขอกล่าวถึงวง Vienna Radio ก่อน วงนี้เป็นวงดนตรีประจำสถานีวิทยุแห่งชาติของออสเตรีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1969 เพื่อกระจายเสียงดนตรีคลาสสิกผ่านทางวิทยุ โดยมุ่งเน้นดนตรีสมัยใหม่และต่อมาก็ได้ขยายองคนิพนธ์ (repertoire) ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นโปรดสังเกตว่าวงดนตรีประจำสถานีวิทยุในสมัยก่อนนั้น มักเป็นวงที่มีชื่อเสียงและมาตรฐานการบรรเลงที่สูงมาก ตัวอย่างเช่นวงชื่อดังอย่าง BBC Symphony Orchestra, NBC Symphony Orchestra, Southwest German Radio Symphony Orchestra เพราะวงของสถานีวิทยุนั้น ไม่ได้ต้องการมาสร้างความประทับใจทางกายภาพให้แก่ผู้ชม แต่มุ่งเน้นการสร้างการบรรเลงที่ดีเลิศเป็นสำคัญให้ผู้คนทั่วไปในวงกว้างได้รับฟังทางวิทยุกระจายเสียง และวาทยกรที่อยู่กับวงเหล่านั้นคือวาทยกรชั้นหนึ่งในรุ่นนั้นๆ ด้วย ผมก็คาดหวังว่าวง Vienna Radioจะตามรอยวงที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นและน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ “ยักษ์ใหญ่” แห่งกรุงเวียนนา คือ Vienna Philharmonic Orchestra และ Vienna Symphony Orchestra ซึ่งทั้งสองวงเคยมาเยือนเมืองไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ผมมาชมการแสดงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร รายการแสดงประกอบด้วย Overture to “Le Nozze di Figaro”และ Piano Concerto No.23 in A Major, K.488ของ
โมสาร์ต เดี่ยวเปียโนโดย Maria Radutuนักเปียโนชาวโรมาเนีย-ออสเตรีย และ Symphony No.1 in C Minor Op.68ของบราห์มส์ อำนวยเพลงโดย Cornelius Meisterวาทยกรชาวเยอรมัน สังเกตได้ว่าเป็นบทเพลงจากคีตกวีทั้งสองท่านที่ไปตั้งรกรากและสร้างผลงานบันลือโลกไว้ที่กรุงเวียนนา (ในการแสดงอีกวันหนึ่ง เป็นโอเวอร์เจอร์และซิมโฟนีหมายเลข 7 ของเบโธเฟน คีตกวีซึ่งมายิ่งใหญ่ที่เวียนนาอีกท่านหนึ่ง) เข้าใจว่าคงเป็นความตั้งใจของวงที่จะแสดงผลงานที่เป็นตัวแทนของวียนนาอย่างแท้จริง

ผมเองรู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่เสียงแรกของOvertureของโมสาร์ต เสียงของวงมีความไพเราะอย่างน่าทึ่ง เสียงเครื่องสายรู้สึกว่าหวานฉ่ำหนักแน่นและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันแม้ว่าค่อนข้างเบาเล็กน้อย เครื่องเป่าลมไม้ก็มีเสียงที่ไพเราะละเมียดละไม ส่วนเครื่องเป่าทองเหลืองก็ฟังดูสุภาพเรียบร้อยไม่แผดเสียงเกินความจำเป็นแต่ก็หนักแน่นมีพลัง เพลงนี้แม้ว่าจะเป็นเพลงที่เรานักฟังได้ยินกันบ่อยมาก แต่การแสดงในครั้งนี้รู้สึกว่ามีชีวิตชีวา สดใหม่ ฟังแล้วสบายอารมณ์

เพลงถัดมาคือ Piano Concerto No.23ของโมสาร์ต ในช่วงที่วงเล่น ผมคิดว่าเสียงเครื่องสายของวงมีเอกภาพมาก เสียงออกมาได้อย่างไพเราะลงตัว ส่วนของนักเปียโนนั้น ผมคิดว่าเธอเป็นนักเปียโนที่มีความสามารถสูงคนหนึ่ง เธอเล่นโมสาร์ตได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่แข็งทื่อ แต่ก็ไม่ทึ้งโมสาร์ตจนเสียรส เรียกว่าพองาม เรียบร้อย ไม่หวือหวาแต่น่าฟัง ในกระบวนช้าเธอก็เล่นได้อย่างหม่นแบบอย่างน่าฟัง อาจดูเรียบร้อยไปบ้างสำหรับผู้ที่ชอบแนวเข้มข้นทางอารมณ์ ส่วนกระบวนที่ 3 นั้นเธอเล่นได้อย่างร่าเริงและพลิ้วไหวมาก ส่วนวงก็สามารถบรรเลงเคียงคู่ไปได้อย่างดีไม่มีสะดุด ส่วนที่ผมชอบที่สุดของเพลงนี้ คือ cadenza ของกระบวนแรก ที่เธอได้ทำการสรุปเนื้อหาหลักของทั้งเพลงไว้ในท่อนนี้ท่อนเดียวบนเปียโนตัวเดียว แต่ก็ได้ทั้งความหลากหลายและความลึกซึ้ง นอกจากความประทับใจที่มีต่อโมสาร์ตแล้ว เพลงแถม (encore) ของเธอยังเป็นเพลงของโชแปงคือRaindropPrelude อีกด้วย แสดงให้เห็นว่านอกจากเพลงยุคคลาสสิกที่เธอเล่นได้ดีแล้ว เธอยังเล่นเพลงยุคโรแมนติคได้ดีอีกด้วย

Vienna Radio Symphony Orchestra1

Facebook : Thailand Philharmonic Orchestra

ในครึ่งหลังเป็นบทเพลงใหญ่คือ Symphony No.1ของบราห์มส์วาทยกรไมส์เตอร์อาจจะเป็นคนหนุ่มค่อนข้างเร่าร้อนและมีชีวิตชีวา การให้จังหวะของเขาในบทเพลงนี้จึงค่อนข้างเร็ว ต่างกับวาทยกรเก่าที่จะเล่นเนิบช้ากว่านี้ สิ่งนี้เป็นเรื่องของรสนิยมของผู้ฟังแต่ละคน แต่สิ่งที่ผมประทับใจอย่างมากคือเรื่องความไพเราะของเสียง เสียงของวงเป็นเสียงที่กลม เข้มข้น และไม่มีเครื่องใดเสียงโดดเด่นออกไปมากนัก ถ้าเทียบกับอีกวงหนึ่งซึ่งผมเพิ่งได้ฟังไปไม่นานคือ Prague Symphony Orchestra เสียงของวงปรากจะเป็นเสียงที่โปร่ง ได้ยินความแตกต่างของกลุ่มเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน ผมเองก็เคยได้รับทราบมาว่าวงออร์เคสตราสกุลเยอรมัน-ออสเตรีย ไม่ว่าจะสืบทอดมากจากสายของ Felix Mendelssohn หรือของRichardWagnerก็มีเสียงที่กลมเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แบ่งแยกเป็นกลุ่มต่างๆ ชัดเจนนัก วง Vienna Radio ก็คงอยู่ในประเพณีนี้เช่นกัน

นอกเหนือจากเรื่องเสียงแล้ว สิ่งที่ผมประทับใจยังเป็นเรื่องความไพเราะของการบรรเลงด้วย วงเล่นได้อย่างใจที่วาทยกรต้องการ ทั้งเรื่องความดังค่อย (dynamic) จังหวะ ลีลาอารมณ์ของเพลง มีความหลากหลายมาก แต่โดยรวมผมคิดว่าจะเป็นแนวเรียบร้อยไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมาก แม้แต่ช่วงที่ยิ่งใหญ่เช่นกระบวนที่ 4 ก็มีเสียงที่ไพเราะน่าฟัง ไม่อึกทึกครึกโครมหรือมุ่งเอาใจพระเดชพระคุณจนเกินควร ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมด้วยว่านักดนตรีของวงเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงในแทบทุกตำแหน่ง สามารถสร้างเสียงที่ไพเราะด้วยลีลาอารมณ์เพลงที่งดงามและมีรสนิยมได้เป็นอย่างดี (มีนักดนตรีชาวไทยท่านหนึ่งให้ความรู้กับผมว่า ประเทศออสเตรียนั้นมีสถาบันการดนตรีชั้นสูงที่ผลิตนักดนตรีชั้นเยี่ยมออกมามากกว่าวงที่มีอยู่จะรับได้ทั้งหมด ดังนั้นนักดนตรีที่อยู่ในวงออร์เคสตราระดับชั้นนำได้ ก็ย่อมต้องมีฝีมือโดดเด่นเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นวง Vienna Philharmonic ยิ่ง “เทพ” ขึ้นไปอีก เพราะเล่นอยู่ในโรงอุปรากรทุกวัน) โดยสรุปคือ ผมประทับใจกับการแสดงของวง Vienna Radio เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่เดินออกมาจากหอประชุมแล้วสบายใจและอิ่มเอิบใจ (การฟังดนตรีที่ดีไม่ควรจะมีความทุกข์เกิดขึ้นแต่บ่อยครั้งที่ผมฟังดนตรีแล้วเป็นทุกข์)เป็นอันว่าชื่อ “เวียนนา” ก็ยังคงมนต์ขลังอยู่ และโชคดียิ่งที่มนต์ขลังนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย ผู้ที่ไม่มีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองยุโรปก็มีโอกาสสัมผัสกับดนตรีจากต้นกำเนิดวัฒนธรรมได้

ข้ามมาที่ “วงหมอ” World Doctors Orchestra กันบ้าง วงนี้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2009 โดยวาทยกร Stefan Willich(ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และอดีตPresident ของสถาบันดนตรีHannsEislerที่กรุงเบอร์ลิน) มีลักษณะเป็นองค์กรการกุศลโดยนักดนตรีจะคัดเลือกจากสมาชิกของวงที่เป็นแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขสาขาต่างๆ กว่า 800 คน จาก 46 ประเทศทั่วโลก และจะทัวร์คอนเสิร์ตไปยังประเทศต่างๆ ปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อหาทุนบริจาคเพื่อการกุศล เท่าที่ผมสังเกตพบว่านักดนตรีของวงนั้นมีทั้งรุ่นอาวุโสและวัยหนุ่มสาว ซึ่งดูแล้วก็น่าชื่นใจที่คนต่างวัยแต่หัวใจเดียวกันก็มาเล่นดนตรีร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตามดนตรีจะดีหรือไม่ดี แค่ชื่อหรือที่มาของวงคงจะทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้ไม่เท่ากับการฟัง

ผมได้ชมการแสดงของ “วงหมอ” ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร รายการแสดงประกอบด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ พระมหามงคล ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถัดมาเป็นPiano Concerto No.3 in C Minor, Op.37ของเบโธเฟน เดี่ยวเปียโนโดย ภูมิ พรหมชาติ นักเปียโนชาวไทย และ Scheherazade, Op.35ของริมสกี-คอร์ซาคอฟจากโปรแกรมนี้เราก็รู้สึกว่าวงนี้คงจะต้องมีอะไรมาอวดแน่นอน เพราะเพลงที่เลือกมานั้นไม่ง่ายสำหรับมือสมัครเล่นเลย

วงเริ่มต้นด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ พระมหามงคล ซึ่งเป็นเพลงสั้นๆ ในจังหวะลาตินที่สนุกสนาน วงก็เล่นได้อย่างดี ส่วนที่รู้สึกประทับใจตั้งแต่ได้ยินคือเครื่องสาย ที่มีเสียงที่ดีมาก ส่วนเครื่องเป่านั้นผมคิดว่ายังไม่ค่อยเรียบร้อยนัก แต่โดยรวมก็ถือว่าย้อมใจผู้ฟังได้พอสมควรว่าวงนี้ไม่ธรรมดา

ทว่าเพลงถัดมานั้น คือเพลง Piano Concerto No.3 ของเบโธเฟน ทำให้ผมตกใจเป็นอันมาก เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่ผมฟังบ่อยที่สุด (เคยฟังจริง 1 ครั้ง แต่ฟังจากแผ่นเสียงนับไม่ถ้วนและหลากหลายผู้แสดง) ผมจึงคาดหวังกับเพลงนี้ไว้สูง ยิ่งเป็นภูมิ พรหมชาติ นักเปียโนดาวรุ่งที่กำลังมีผลงานมากมายอยู่ในขณะนี้ ก็ยิ่งคาดหวังมากยิ่งขึ้น ที่จริงแล้วเท่าที่ฟังนั้น ผมคิดว่าภูมิไม่มีปัญหาด้านเทคนิคแม้แต่น้อย ฝีมือเขาอยู่ในระดับที่สูง แต่ผมยังคิดว่าเขาทึ้งเพลงมากเกินไป บางช่วงก็เล่นหนีวง ไม่เป็นเนื้อเดียวกับวง โดยเฉพาะกระบวนที่ 3 ที่เป็นท่อนที่รวดเร็ววงเล่นตามเขาไม่ทัน แต่เมื่อผมได้ฟังเพลงแถมจากภูมิ คือ Étude Op.25 No.1 และ Nocturne No.20 ของโชแปงทำให้ผมเข้าใจได้ว่าเขาเป็นนักเปียโนที่ดื่มด่ำกับโรแมนติค การบรรเลงของเขาไพเราะและงดงามไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ผมคิดว่าเขาคงตีความเบโธเฟนเป็นโรแมนติคก็เป็นได้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากท่อนช้าของเปียโนคอนแชร์โต เขาเล่นอย่างอ่อนโยนและลึกซึ้งถึงอารมณ์ได้เป็นอย่างดีแต่ในท่อนอื่นผมยังรู้สึกว่าเขาแหวกแนวมากไปสักหน่อย ในส่วนของวงนั้น นอกจากเครื่องสายที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของวงนั้น ส่วนอื่นๆ ออกจะต่ำกว่าความคาดหวังของผมไปสักหน่อย โดยเฉพาะเครื่องเป่าทั้งหลาย ที่มีส่วนที่เล่นได้ไม่เรียบร้อยอยู่หลายส่วน ที่ฟังออกได้อย่างชัดเจนคือเฟรนช์ฮอร์นกับทรัมเป็ท ที่จริงผมจะไปกล่าวโทษวงว่าเล่นได้ไม่ดีนักก็คงจะไม่ควร เพราะวงนี้เป็นวงสมัครเล่น จะเอาไปเปรียบกับวงอาชีพก็คงจะไม่ยุติธรรมนัก อีกทั้งเสียงโดยรวมก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก ค่อนข้างจะสูสีกับวงนักศึกษาของบ้านเรา บางช่วงก็ดูจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ

หากได้ฟังเพียงแค่ครึ่งแรก ผมก็คงเหมาไปว่า “วงหมอ” คงเล่นได้ในระดับหนึ่ง ไม่ได้โดดเด่นอันใดมาก แต่พอได้มาฟัง Scheherazadeในครึ่งหลัง ก็ทำให้ผมตกใจอีกรอบหนึ่ง เพราะวงเหมือนเป็นคนละวงกับครึ่งแรก เสียงของวงดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ เครื่องเป่าทั้งหลายที่เป็นปัญหาในครึ่งแรกกลับเล่นได้อย่างดีมากในครึ่งหลัง (พวกนักดนตรีจะรู้ดีว่าเพลงนี้มีท่อนเดี่ยวต่างๆ ของเครื่องเป่าและเครื่องสายมากมาย และถือเป็น “เพลงสอบ” ของหลายเครื่องดนตรี)ในส่วนของหัวหน้าวง (concertmaster) Kim Chang ซึ่งมีบทบาทสูงมากในการเดี่ยวไวโอลินแนวทำนองของนาง Scheherazade ที่มีลีลาอ่อนหวานปนลี้ลับ รวมถึงในอีกหลายๆ ช่วง เขาสามารถแสดงเทคนิคการบรรเลงที่หลากหลายได้ดีและไพเราะไม่ธรรมดาเลยทีเดียว และที่สำคัญรู้สึกได้ว่าเขาไม่มีอาการเกร็งหรือตื่นเวทีเลยทำให้ผมคาดว่านักดนตรีคงจะซ้อมเพลงนี้มาอย่างหนัก (อย่างน้อยก็คงหนักกว่าเบโธเฟน) และที่สำคัญวงเล่นได้อย่างมีชีวิตชีวา สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงได้เป็นอย่างดี วาทยกรก็สามารถกำกับวงให้เล่นได้อย่างเรียบร้อยและลื่นไหลไม่สะดุดหรือผิดคิว และที่สำคัญคือเราผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความสุขของผู้เล่นที่ได้เล่นอย่างเต็มความสามารถผมเองฟังเพลงนี้มาแล้วหลายครั้งทั้งที่เป็นการแสดงจริงและการบันทึกเสียง ผมคิดว่าScheherazadeครั้งนี้จับใจผมมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คงไม่ใช่เรื่องของเทคนิคและความไพเราะอย่างไม่มีที่ติ แต่เรารู้สึกได้ถึง “หัวใจ” และ “ความรัก” ในดนตรีที่สื่อมาถึงผู้ฟังได้ และถ้านักดนตรีมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ดนตรีเขาสร้างความสุขให้ผู้ฟัง บางครั้งมันก็ช่วยให้ฝีมือดีขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาดใจ

สำหรับ “วงหมอ” นั้น ผมคิดว่าน่าจะอยู่ในระดับวงสมัครเล่นชั้นดี และน่าจะเป็นกำลังใจและตัวอย่างที่ดีให้แก่วงสมัครเล่นในบ้านเราที่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น ทำให้เราเห็นว่าแม้เป็นวงสมัครเล่นแต่ถ้าหากได้ซ้อมมาเป็นอย่างดี และเล่นด้วยใจแล้ว ก็มีคุณภาพที่สูงใกล้เคียงกับวงอาชีพได้เช่นกัน สำหรับเครื่องเป่าและเครื่องกระทบของบ้านเรานั้นมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งของวงการโยธวาทิต (ผมยังคิดว่าเด็กๆ เครื่องเป่าบ้านเราอาจจะเล่นได้ดีกว่าวงหมอในบางช่วงเลยด้วยซ้ำ) ในส่วนของเครื่องสายนั้นผมคิดว่าเรากำลังพัฒนาขึ้นอย่างดีวันดีคืน (ซึ่งวงเครื่องสายของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ก็ได้แสดงผลงานที่น่าประทับใจอย่างต่อเนื่อง)อย่างไรก็ตามผมรู้สึกเสียดายอยู่บ้างที่วันนั้นผู้ชมไม่มากเท่าที่ควร (ประมาณเกินครึ่งโรงเล็กน้อย) และมีนักเรียนดนตรีน้อยกว่าปกติ พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าวงนี้เป็นวงสมัครเล่น เลยไม่คิดว่าจะมีทีเด็ดขนาดนี้ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งผมก็เห็นผู้ฟังหน้าใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทั่วไปด้วย ผมหวังว่าวงนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังหน้าใหม่เหล่านี้เกิดความสนใจในดนตรีอย่างจริงจัง และวันหนึ่งพวกเขาอาจจะได้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีสมัครเล่นสักวงหนึ่ง หรืออาจจะเป็นผู้ฟังที่มีคุณภาพที่จะช่วยค้ำจุนให้วงการดนตรีคลาสสิกของไทยให้อยู่ได้ต่อไป วงการบ้านเรานอกจากสร้างผู้เล่นแล้วยังจำเป็นต้องสร้างผู้ฟังอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *