เมื่อผู้รักสมัครเล่นโดดเด่นเช่นมืออาชีพ : Viola Concerto ของ ม.ล. อัศนี ปราโมช

เมื่อผู้รักสมัครเล่นโดดเด่นเช่นมืออาชีพ : Viola Concerto ของ ม.ล. อัศนี ปราโมช

B7339

(http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/360839)

วฤธ วงศ์สุบรรณ

พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นับเป็นปูชนียบุคคลของวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรา นอกจากท่านจะเป็นนักดนตรีและคีตกวี “รักสมัครเล่น” ที่มีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาแล้ว ท่านกับอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ยังร่วมกันก่อตั้งวง Pro Musica  ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2501 อันนำไปสู่การแสดงดนตรีคลาสสิกที่เข้มข้นขึ้นในเมืองไทย โดยเริ่มจากวง string quartet และขยายเป็น chamber orchestra ซึ่งวงก็ได้รับการยอมรับจากผู้ฟังในยุคนั้นว่ามีมาตรฐานที่สูง และเมื่อวงค่อยๆ ขยายตัวขึ้นจนพัฒนาเป็นวง Bangkok Symphony Orchestra วงโปรมูสิกาก็เลิกกิจการไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2518

วงโปรมูสิกาถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2556 ด้วยท่านอาจารย์หม่อมเห็นว่า วงดนตรีขนาดเล็กก็มีบทบาทสำคัญและมีองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่แตกต่างจากวงซิมโฟนีออร์เคสตรา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และลึกซึ้งของดนตรีคลาสสิก (โปรดอย่าลืมว่า นักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างลอร์ด เยฮูดิ เมนูฮิน ยังกล่าวยกย่อการรวมตัวชองนักดนตรีอย่างสตริงควอเต็ต ว่าเป็นมรดกทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอารยธรรมตะวันตก) และท่านก็ร่วมเล่นดนตรีกับวงมาโดยตลอด ทั้งในบทบาทนักไวโอลิน  นักวิโอลา วาทยกร และคีตกวี เราผู้ฟังทั้งหลายที่ติดตามผลงานของวงคงได้ประจักษ์ถึงฝีมือของท่านเป็นอย่างดี และเมื่อท่านได้ประพันธ์ผลงาน Concerto for Viola and Strings ขึ้นมาใหม่และจะนำออกแสดงรอบปฐมทัศน์เป็นครั้งแรกในโลก (World Première) ย่อมทำให้ผู้ฟังอดตื่นเต้นมิได้

การแสดงครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา สยาม โดยมี ทัศนา นาควัชระ เดี่ยววิโอลา ร่วมกับวง Pro Musica Orchestra อำนวยเพลงโดยฮิโคทาโร ยาซากิ (HikotaroYazaki) วาทยกรชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีความคุ้นเคยกับนักดนตรีชาวไทยเป็นอย่างดี นอกจากบทเพลง Concerto for Viola and Strings ของท่านอาจารย์หม่อมแล้ว ยังมี Sonata for Strings No.1 โดยโจอัคคิโน รอสสินี (Gioachino Rossini) และ Serenade for Strings in E major, Op.22 ของอันโตนิน ดวอชาค (Antonin Dvořák)

เพลงแรกของรอสสินีนับว่าเป็นบทเพลงที่หาฟังได้ไม่ง่ายนัก เพราะผลงานของรอสสินีด้าน instrumental music ไม่ค่อยแพร่หลายมากเท่าผลงานด้านอุปรากร ผมเองรู้สึกว่ารอสสินียังมีท่วงทำนองและลีลาที่ได้รับอิทธิพลจากโมสาร์ตและไฮเดนอยู่มาก มีการเดินทำนองที่สละสลวย รื่นรมย์ ตามประวัติพบว่าเพลงนี้รอสสินีแต่งเมื่อ ค.ศ. 1804 หรือเมื่ออายุเพียง 12 ปีเท่านั้น ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคีตกวีท่านนี้ฉายแววยิ่งใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อยเลยทีเดียว ที่น่าสนใจคือเพลงนี้ดั้งเดิมแต่งขึ้นสำหรับวง string quartet ในลักษณะการประสมวงที่แปลกออกไป คือไวโอลิน 1 ไวโอลิน 2 เชลโล และดับเบิลเบส โดยไม่มีวิโอลา ดังนั้นกลุ่มวิโอลาจึงเดินออกจากเวทีไปหลังจากบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ส่วนการเล่นของวงนั้น ผมคิดว่าไวโอลิน 1 เสียงค่อนข้างแหลมและโดดออกจากวงมากไปสักหน่อย ดูไม่ค่อยประสมกลมกลืนกับเพื่อนร่วมวงนัก ส่วนกลุ่มไวโอลิน 2ค่อนข้างเล่นกันได้กลมกลืนดี ขณะที่กลุ่มเชลโล มีเสียงที่หนักแน่นเข้มข้นมากขึ้นกว่าที่เคยฟัง ได้ทราบมาว่าหัวหน้ากลุ่มรับเชิญคือ Sally-Jane Pendlebury นักเชลโลชาวอังกฤษ เป็นสมาชิกของวงดนตรีชั้นนำของโลกอย่าง Chamber Orchestra of Europe ด้วย นักดนตรีของวงโปรมูสิกา (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักดนตรีรุ่นหนุ่มสาว) จึงได้โอกาสดีที่มีมือระดับนานาชาติมาช่วยติวให้

มาถึงบทเพลงไฮไลต์ของรายการนี้คือ Concerto for Viola and Strings ของอาจารย์หม่อม ในกระบวนแรกมีท่วงทำนองค่อนข้างหม่น โดยวิโอลาแฝงสำเนียงแบบไทยๆ จังหวะดูรุกเร้าอยู่บ้างแต่เพียงเล็กน้อย ในส่วนของวิโอลานั้น ใช้เทคนิคที่หลากหลายโดยที่ไม่ต้องการโชว์ลีลาเหนือชั้น แต่เน้นถึงความเข้มข้นของท่วงทำนองเสียมากกว่า  กระบวนที่ 2 ค่อนข้างหวานปนเศร้าเล็กน้อย เสียงวิโอลาที่ทุ้มต่ำของ อ.ทัศนา สามารถบรรเลงแนวทำนองนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม จะว่าไปกระบวนนี้มีลีลาที่คล้ายเพลงร้องอยู่มาก หากใส่เนื้อร้องที่ไพเราะลงไปก็คงเป็นบทเพลงยอดนิยมได้ ส่วนกระบวนที่ 3 เริ่มมีความสดใสมากขึ้น จังหวะรวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังแฝงด้วยความหม่นอยู่บ้าง และที่สำคัญคือมีเสียงและสำเนียงที่เป็นไทยมากขึ้น เสียงเดี่ยววิโอลาเข้มข้นและลึก และในช่วงท้ายเปิดโอกาสให้ผู้แสดงเดี่ยวได้อวดฝีมือในลักษณะของ  cadenza ในช่วงสั้นๆ  ซึ่ง อ.ทัศนาก็บรรเลงได้อย่างงดงาม เสียงวิโอลาของอาจารย์ค่อนข้างใหญ่ กังวาน และลึก สามารถให้เสียงที่ไพเราะและชัดเจนได้อย่างดี โดยไม่รู้สึกว่าโดนเสียงของวงกลบ

โดยรวมแล้วผมคิดว่าอาจารย์หม่อมแต่งเพลงนี้โดยมิได้หวังให้วิโอลาอวดฝีมือในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวเพลง  ซึ่งน้ำเสียงของการเดี่ยววิโอลาเหมาะอย่างยิ่งกับเพลงที่มีทำนองลึกซึ้ง แต่ก็ยังมีเทคนิคชั้นสูงบางประการที่ผู้เล่นต้องเล่นให้ได้เพื่อรองรับตัวเพลง ส่วนลีลาของเพลงนั้น ผมคิดว่ามีความเป็นโรแมนติคอยู่มาก รวมทั้งมีความเป็นไทยแฝงอยู่ในการประสมวงแบบตะวันตก เรียกได้ว่าอาจารย์หม่อมยังเป็นทายาทของดนตรีคลาสสิกสกุลโรแมนติคอยู่ (เท่าที่ได้ติดตามผลงานของท่าน เราอาจจัดท่านไว้ในสกุล “ดนตรีชาตินิยม” เพราะเพลงส่วนใหญ่ของท่านแฝงไว้ด้วยลีลาและสำเนียงแบบไทย) ทั้งนี้ด้วยท่วงทำนองที่ค่อนข้างฟังง่ายและไพเราะอย่างเป็นสากล รวมถึงมีสำเนียงที่เป็นไทย ผมคิดว่าเพลงนี้สามารถเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ในต่างแดนเคียงบ่าเคียงไหล่กับคีตกวีทั่วโลกได้อย่างสมภาคภูมิ

ในครึ่งหลัง เป็น Serenade for Strings ของดวอชาค ผมคิดว่าวงเล่นด้วยเสียงที่ต่างออกไปจากในครึ่งแรกอย่างชัดเจน กล่าวคือในครึ่งแรกวงยังเล่นด้วยเสียงที่ค่อนข้างหวาน สดใส และอ่อนช้อย แต่การบรรเลงในเพลงนี้ผมและผู้ฟังหลายคนต่างเห็นว่าเป็นเสียงที่หนัก กระหึ่ม เข้ม และแข็ง เข้าใจว่าวาทยกรยาซากิไม่ได้ต้องการเน้นความงดงามของเสียง แต่มุ่งความสนใจไปที่ความหนักแน่นของท่วงทำนองเพลงมากกว่า นี่คือการตีความในอีกลักษณะหนึ่ง แต่เราก็รู้สึกได้ว่าบทเพลงก็ยังไพเราะและวงก็เล่นเข้ากันได้อย่างหนักแน่นตามที่วาทยกรต้องการ ทั้งกลุ่มเชลโลที่ได้หัวหน้ากลุ่มรับเชิญมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีม รวมไปถึงกลุ่มวิโอลา ซึ่งได้ Sophia Reuter นักวิโอลาฝีมือเยี่ยมหัวหน้ากลุ่มวิโอลาของวง Leipzig Gewandhuas Orchestra (และยังเป็นเพื่อนเรียนของ อ.ทัศนา ที่สถาบันดนตรี International Menuhin Music Academy ด้วย  และในงานของดวอชาคบทนี้  อ.ทัศนาก็กลับมาเล่นวิโอลาเคียงกับเพื่อนก่า) มาช่วยติวให้เช่นกัน ซึ่งนักดนตรีระดับนานาชาติทั้ง 2 ท่านนี้  อาจารย์ Leo  Phillips และ อ.ยาซากิ จะมาเป็นวิทยากรในค่ายดนตรีฤดูร้อนของมหาวิทยาลัยศิลปากร  อันจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากแก่นักเรียนดนตรีที่เข้าร่วมค่ายนี้ ซึ่งก่อนจะไปติวเข้มให้รุ่นน้อง ก็ได้ติวเข้มให้แก่รุ่นพี่โปรมูสิกาเป็นการอุ่นเครื่องก่อนด้วย

เมื่อขึ้นต้นด้วยอาจารย์หม่อม ก็ขอลงท้ายด้วยอาจารย์หม่อม การแสดงในค่ำคืนนี้ถือได้ว่าเป็นความลงตัวหลายๆ ประการ ทั้งเป็นการบรรเลงบทเพลงที่ มล.อัศนี ปราโมช ประพันธ์ขึ้น โดยศิษย์เอกของท่านคือ อ.ทัศนา นาควัชระ โดยวงดนตรีที่ท่านก่อตั้งขึ้นและฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยท่านอาจารย์หม่อมและ อ.ทัศนาเองด้วย ซึ่งนักดนตรีในวงส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ใกล้ชิดกับอาจารย์หม่อมและเป็นรุ่นลูกศิษย์ลูกหาด้วย รวมถึงวาทยกรยาซากิ ก็เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับท่านอาจารย์หม่อมและได้บรรเลงบทเพลงชั้นเยี่ยมของท่านหลายชิ้นเช่นกัน การแสดงในวันนี้จึงเปรียบเสมือนงานเชิดชูเกียรติให้แก่ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อดนตรีคลาสสิกในเมืองไทยและหนุ่มสาวสมาชิกของวงโปรมูสิการุ่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาฝีมือให้แกร่งกล้ายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมีครูดีคอยสั่งสอนสร้างเสริมประสบการณ์ให้อยู่เสมอ  อีกทั้งยังมีนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่มีฝีมือระดับนานาชาติหลายท่านแวะเวียนมาให้ความรู้อยู่เสมอ ท่านอาจารย์หม่อมคงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วงที่ท่านก่อตั้งขึ้นเมื่อ 58 ปีที่แล้ว ยังคงความแข็งแกร่ง  เป็นความหวังและอนาคตให้แก่วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *