ดนตรีที่สื่อกับผู้ฟัง : จุดเด่นของวงโปร มูสิกา

ดนตรีที่สื่อกับผู้ฟัง : จุดเด่นของวงโปร มูสิกา

image1

 ธันฐกรณ์ ลัคนาศิโรรัตน์

(ม. 4 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) 

บทวิจารณ์นี้เป็นบทแรกที่ผมเขียนขึ้นมา ผมยินดีน้อมรับคำติชมเพื่อจะได้ปรับปรุงการเขียนวิจารณ์ของผมในลำดับต่อๆ ไป

วง Pro Musica ถือได้ว่าเป็นวงออร์เคสตราวงแรกของประเทศที่จัดได้ว่ามีระดับ  แม้ว่านักดนตรีส่วนหนึ่งจะเรียกได้ว่าเป็น “ผู้รักสมัครเล่น”  วงโปรมูสิกามีประวัติและชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้จัดโปรแกรมการแสดงที่น่าสนใจมากในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ได้ “มิตรแท้” ของวงอย่าง ฮิโคทาโร่ ยาซากิ มาเป็นวาทยกร และรายการแสดงก็เป็นบทเพลงที่ไพเราะและท้าทายความสามารถของนักดนตรีอย่างมากเช่นกัน นี่ยังไม่รวมถึงบทเพลงของ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.อัศนี ปราโมช ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวงโปรมูสิกา ที่ออกบรรเลงต่อผู้ฟังเป็นครั้งแรกของโลก และแสดงเดี่ยวโดยครูและนักดนตรีระดับแนวหน้าของประเทศอีกด้วย จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่น่าสนใจมาก

รายการแสดงในค่ำคืนส่งท้ายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมอนันตราสยาม ได้แก่ Sonata for Strings No. 1 in G Major ผลงานของ Rossini ตามมาด้วย”ไฮไลต์”ของคอนเสิร์ตในครั้งนี้ นั่นคือ Viola Concerto ประพันธ์โดย ม.ล.อัศนี ปราโมช ผู้แสดงเดี่ยวคือ อ.ทัศนา นาควัชระ ซึ่งการแสดงเป็นครั้งแรกนี้รู้จักกันในวงการว่า “world première” ในครึ่งหลังของการแสดงนั้นเป็น Serenade for Strings in E Major  ของDvořák และตบท้ายด้วยเพลงแถมได้แก่ บทเพลงพระราชนิพนธ์ ลมหนาว เรียบเรียงสำหรับวงเครื่องสายโดย ม.ล.อัศนี ปราโมช ทั้งหมดนี้อำนวยเพลงโดย ฮิโคทาโร่ ยาซากิ

ในบทเพลงแรก Sonata for Strings  ของนักประพันธ์ชาวอิตาลี รอสซินิ นั้น เป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกๆของท่าน ซึ่งได้สร้างไว้ในวัยเด็ก บทเพลงจึงมีความเป็นธรรมชาติ สนุกสนาน ซึ่งวาทยกรสามารถดึงจุดนี้ออกมาได้ดี วงดนตรีบรรเลงได้อย่างมีชีวิตชีวา  ซึ่งแสดงออกด้วยสำเนียงอันนุ่มนวล อ่อนหวาน  อันเป็นเอกลักษณ์ของวงได้อย่างอย่างชัดเจน แต่เมื่อถึงบทที่ต้องดุดัน ก็แสดงความเข้มแข็งออกมาได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป ไม่บาดหู ทำให้ผู้ฟังรู้สึกฟังสบายและอยากที่จะฟังบทเพลงต่อๆไป ซึ่งจุดที่น่าสนใจของบทเพลงนี้ก็คือ บุคลิกภาพทางดนตรีที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันระหว่างไวโอลิน1 กับ ไวโอลิน2 โดยไวโอลิน 1 จะค่อนข้างอ่อนหวาน โปร่ง ในขณะที่ไวโอลิน 2 จะค่อนไปทางแข็งและแกร่ง  ซึ่งในจุดที่มีการล้อกันของทั้งสองแนวนี้ ก็สามารถผสมกลมกลืนกันได้อย่างดี

บทเพลงที่ 2 ได้แก่ Viola Concerto  ประพันธ์โดย ฯพณฯ องคมนตรี  ม.ล. อัศนี ปราโมช ผู้แสดงเดี่ยวคือ อ.ทัศนา นาควัชระ บทประพันธ์ชิ้นนี้ค่อนข้างจะมีสำเนียงของเพลงไทยเดิมสอดแทรกอยู่ด้วย ซึ่งท่าน ม.ล.อัศนี ปราโมชก็สามารถนำเสนอสำเนียงของเพลงไทยออกมาผ่านเครื่องสายสากลได้เป็นอย่างดี ส่วนอ.ทัศนาก็บรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยเสียงวิโอล่าที่ไพเราะและลึกซึ้ง สามารถประชันกับวงดนตรีได้ดีโดยที่เสียงไม่ถูกกลบ อีกทั้งยังสามารถสื่ออารมณ์ของบทเพลงให้ผู้ฟังรับรู้และร่วมดื่มด่ำไปด้วย ซึ่งผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของนักดนตรีที่ต้องสื่ออารมณ์และความคิดไปถึงผู้ฟังด้วย ไม่ใช่แค่การโชว์เทคนิคเพียงอย่างเดียว ซึ่งอ.ทัศนาสามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องหลังบทเพลงจบลง

บทเพลงในครึ่งหลังคือ Serenade for Strings in E Major ผลงานลำดับที่ 22 ของนักประพันธ์ชาวโบฮีเมียน Antonin Dvořák  ซึ่งบทเพลงนี้มีทั้งหมด 5 ท่อน และในแต่ละท่อนก็จะมีอารมณ์เพลงที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ในท่อนเดียวกันนั้นก็ยังมีหลากหลายอารมณ์ด้วยเช่นกัน วาทยกรสามารถแสดงอารมณ์ของเพลงออกมาได้ดีเยี่ยม  โดยควบคุมความสมดุลของวงได้เป็นอย่างดี วงดนตรีเองก็สามารถบรรเลงได้ตามความต้องการของวาทยกร และสามารถเล่นได้อ่อนหวาน นุ่มนวลเหมือนกับบทเพลงในครึ่งแรก เพียงแต่ผมกลับชอบการบรรเลงในครึ่งแรกมากกว่า และรู้สึกว่าการบรรเลงในครึ่งหลังนั้นออกจะกร้าวไปเล็กน้อย

บทเพลงแถม หรือ encore นั้น ยาซากิอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์  ลมหนาว มาแสดง  ซึ่งเรียบเรียงสำหรับวงเครื่องสายโดย ม.ล. อัศนี ปราโมช วงสามารถบรรเลงออกมาได้เป็นอย่างดีด้วยเสียงที่อ่อนหวานและมีชีวิตชีวา ไม่จืดชืด ในบางท่อนของเพลงนั้น ได้เขียนให้  Concertmaster หรือหัวหน้าวง ได้เล่นเดี่ยว ซึ่งอาจารย์  Leo Phillips ก็สามารถบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยม มีชีวิตชีวา สามารถเข้ากับวงได้อย่างดี

จุดที่น่าสนใจของการแสดงครั้งนี้มีหลายประการด้วยกัน ประการแรก คือ วาทยกรไม่ได้เน้นการสร้างเสียงของวงให้เป็นแบบที่ตนต้องการ แต่รักษาสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ของวงเอาไว้  แล้วมุ่งการสร้างอารมณ์เพลงให้สามารถสื่อสารไปสู่ผู้ฟังมากกว่า ซึ่งทำให้วงมีชีวิตชีวา น่ารับฟัง ประการที่สอง คอนเสิร์ตครั้งนี้ได้เชิญนักดนตรีชาวต่างชาติมาเป็นหัวหน้ากลุ่ม คือกลุ่มวิโอลาและเชลโล โดยกลุ่มวิโอลามี Sophia Reuter มาเป็นหัวหน้ากลุ่ม   และหัวหน้าเชลโลคือ Sally-Jane Pendelbury  ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีฝีมือและประสบการณ์ในวง
ออร์เคสตราชั้นนำของยุโรป มาช่วยสร้างสีสันให้กับคอนเสิร์ตในครั้งนี้ด้วย ทำให้วงสามารถบรรเลงได้น่าฟังมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ประการสุดท้ายคือ ผมสังเกตว่า ที่นั่งของผู้ฟังในที่แสดงจะเกือบเต็ม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงว่า  ผู้ฟังชาวไทยจะสนใจและรับฟังดนตรีคลาสสิคมากขึ้น

ในปัจจุบันนี้ คนไทยส่วนใหญ่เพียงแค่ ดูดนตรี เท่านั้น ไม่ได้ฟังดนตรีกันจริงจัง ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดอ่อนของพวกเรา โดยเฉพาะชอบการแสดงออกที่น่าตื่นเต้นโดยไม่ได้คำนึงถึงการตีความที่เน้นความคิดและอารมณ์ความรู้สึก แต่วงโปรมูสิกา เป็นวงที่ตอบสนอง”ลูกค้า” ทั้งกลุ่มที่จะมาเพื่อดู และกลุ่มที่มาเพื่อฟัง ได้เป็นอย่างดี คือ ทุกคนมีท่าทางในการเล่นที่สง่างาม มีการโยกตัวเล็กน้อยตามอารมณ์เพลง อีกทั้งบนใบหน้าของนักดนตรียังปรากฏรอยยิ้มแห่งความสุขที่ได้จากการเล่นดนตรีร่วมกัน  อีกทั้งยังสามารถบรรเลงได้อย่างไพเราะ ลึกซึ้ง กินใจ สามารถสื่อความคิด อารมณ์และจินตนาการไปสู่ผู้ฟังได้ดีมาก และเสียงที่บรรเลงออกมานั้น ก็ดูจะเป็นการแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะสื่อกับผู้ฟัง  นับเป็นวงดนตรีที่น่าสนใจและน่าติดตามรับชมรับฟังในอีกหลายๆ คอนเสิร์ตที่วงดนตรีเตรียมจะนำออกแสดงในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *