SSMS Orchestra 2016 นักดนตรีเยาวชนไทยกับเพชรเม็ดงามแห่งยุคโรแมนติค

SSMS Orchestra 2016 นักดนตรีเยาวชนไทยกับเพชรเม็ดงามแห่งยุคโรแมนติค

12933032_1019790808088191_1027008779139159839_n

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 

นี่เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ผมเขียนถึงวง Silpakorn Summer Music School Orchestra (SSMS Orchestra) ซึ่งเป็นค่ายดนตรีของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่คัดเลือกนักเรียนนักศึกษาที่มีความสามารถด้านดนตรีจากทั่วประเทศให้มาเข้าค่ายร่วมกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และจะมีการแสดง 2 ครั้งที่พัทยาและกรุงเทพฯ เพื่อแสดงถึงผลสัมฤทธิ์ของค่าย

ในแต่ละปีที่ผ่านมา วง SSMS จะมีคณาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์เอง อาจารย์และนักดนตรีจากสถาบันเพื่อนบ้าน (และจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย) รวมถึงนักดนตรีฝีมือระดับนานาชาติจากตะวันตก มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการบรรเลงเพลงออร์เคสตรา  โดยแบ่งเป็น sections ต่างๆ และมีฮิโคทาโร ยาซากิ (Hikotaro Yazaki) วาทยกรชาวญี่ปุ่นผู้ซึ่งมีผลงานระดับนานาชาติมากมายและมีความผูกพันกับวงการคลาสสิกเมืองไทยอย่างยิ่ง มาเป็นวาทยกรในการเล่นรวมเป็นวงออร์เคสตรา

วิธีการสอนของค่ายที่น่าสนใจคือ ครูจะเล่นดนตรีร่วมกับเด็ก โดยเฉพาะในกรณีเครื่องสาย เด็กจะมีครู “นำ” การเล่น และบางครั้งยังมีครูอีกคนหนึ่งช่วยปิดท้ายกลุ่ม หรือเป็นผู้ช่วย “อุ้ม” กลุ่ม เพื่อให้เด็กมีทิศทางในการเล่นไปในแนวเดียวกัน และทำให้เสียงของวงแน่นขึ้น ในกรณีของเครื่องเป่านั้นเท่าที่สังเกตได้ คือนักเรียนมีจำนวนค่อนข้างมาก จึงต้องมีการสลับกันเล่นเพื่อให้ได้เล่นกันครบทุกคน ส่วนครูก็ไม่ได้ร่วมเล่นในคอนเสิร์ต แต่จะเน้นบทบาทในการสอนตามกลุ่มเป็นหลัก  โดยเปิดโอกาสให้นักดนตรีเยาวชนมีประสบการณ์ในคอนเสิร์ตจริงและได้ผลัดกันเล่นในช่วงทำนองสำคัญอย่างทั่วถึง

ปีนี้เป็นปีที่ 12 ของค่าย ซึ่งได้นักดนตรีชั้นแนวหน้าจากยุโรป ได้แก่ โซเฟีย รอยเตอร์ (Sophia Reuter) นักวิโอลาชาวเยอรมัน หัวหน้ากลุ่มวิโอลาของวง Leipzig Gewandhaus Orchestra (หนึ่งในวงดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนีและเป็นวงที่เมนเดลโซห์นเคยเป็นวาทยกรประจำ) และแซลลี-เจน เพนเดิลเบอรี (Sally-Jane Pendlebury) นักเชลโลชาวอังกฤษ สมาชิกวง Chamber Orchestra of Europe (หนึ่งในวงเชมเบอร์ออร์เคสตราระดับชั้นนำของโลก) มาเป็นวิทยากรร่วมกับนักดนตรีจากประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่นซึ่งมาเป็นวิทยากรให้กับค่าย และอาจารย์ของฝ่ายไทยเองอีก รวมแล้วประมาณ 20 คน เรียกได้ว่าให้ความรู้กันอย่างเข้มข้นในทุกกลุ่มเลยทีเดียว

ผมได้ไปชมคอนเสิร์ตของ SSMS Orchestra ในวันที่ 10 เมษายน 2559 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ บทเพลงที่วงเลือกมาบรรเลง ประกอบด้วยSuite No.7 for Orchestra “Scènes alsaciennes”  ของจูลส์ มาสเซอเนต์ (Jules Massenet, 1842-1912) คีตกวีชาวฝรั่งเศส ตามด้วย 1812 Overture, Op.49 ของปีเตอร์ อิลลิช ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky, 1840-1893) คีตกวีชาวรัสเซีย และในครึ่งหลังเป็น Symphony No.2, Op.73 ผลงานของโยฮันเนส บราห์มส์ (Jahannes Brahms, 1833-1897) คีตกวีชาวเยอรมัน นับเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่งที่รายการนี้ได้เลือกเอา “เพชรเม็ดงามแห่งยุคโรแมนติค” ทั้ง 3 สำนัก คือสำนักฝรั่งเศส สำนักรัสเซีย และสำนักเยอรมัน-ออสเตรีย มาให้ผู้ฟังได้สัมผัสในรายการเดียว โดยเฉพาะสำนักฝรั่งเศสอย่างมาสเซอเนต์ ที่เราผู้ฟังอาจจะรู้จักผลงานของท่านผู้นี้ค่อนข้างน้อย (โดยมากก็รู้จักอยู่เพลงเดียวคือ Méditation จากอุปรากรเรื่อง Thaïs)

บทเพลงแรก Scène alsaciennes นั้นเป็นดนตรีพรรณนา (programme music) ที่กล่าวถึงบรรยากาศของแคว้นอัลซาส โดยในช่วงที่มาสเซอเนต์แต่งเพลงนี้ (1882) ฝรั่งเศสเสียดินแดนนี้ให้แก่เยอรมันไปแล้วในสงคราม Franco-Prussian War (1870-1871) เขาจึงแต่งเพลงนี้ขึ้นเป็นการรำลึกถึงดินแดนอัลซาส โดยประกอบด้วย 4 กระบวน ได้แก่ I. Dimanche matin (Sunday Morning) II. Au cabaret  (At the Tavern) III. Sous les tilleuls (Under the Linden Trees) และ IV. Dimanche soir (Sunday Evening) โดยรวมนั้นมีความหลากหลายของท่วงทำนองและอารมณ์มาก โดยกระบวนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมคือกระบวนที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่หัวหน้ากลุ่มเชลโลบรรเลงทำนองที่งดงามร่วมกับคลาริเน็ต ซึ่งนักเชลโลรับเชิญชาวอังกฤษก็เล่นร่วมกับเด็กคลาริเน็ตของเราเองได้อย่างไพเราะ ส่วนในกระบวนที่ 4 ก็มีที่น่าสนใจทั้งทรัมเป็ตที่เล่นมาจากด้านข้างเวทีได้อย่างน่าฟัง และช่วงที่วิโอลาบรรเลงเดี่ยว ซึ่งบรรเลงโดยอาคันตุกะจากเยอรมันได้อย่างงดงามและเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการบรรเลงนี้ทำให้เราได้รู้ว่ามาสเซอเนต์ (รวมถึงสำนักฝรั่งเศส) มีอะไรที่เรายังไม่รู้จักและน่าค้นหาอีกมากมายนัก

บทเพลงที่ 2 ของรายการคือ 1812 Overture เป็นเพลงที่ไชคอฟสกีได้แรงบันดาลใจมาจากสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซียที่ต่อต้านการรุกรานของกองทัพนโปเลียนในปี 1812 ดังนั้นเราจึงได้ยินทำนองเพลงชาติฝรั่งเศสอยู่บ่อยครั้งในเพลงนี้ ซึ่งไชคอฟสกีกำหนดให้เป็นเสียงของกองทัพฝรั่งเศส ส่วนทำนองแทนกองทัพรัสเซียก็เป็นเพลงชาติของจักรวรรดิรัสเซียในสมัยนั้นเช่นกัน และหลายๆ ท่านคงทราบดีว่าช่วงท้ายของบทเพลงมีเสียง “ปืนใหญ่” ด้วย โชคดีที่ทาง SSMS ไม่ได้ใช้ปืนใหญ่จริง แต่ใช้กลองใหญ่และฆ้องแทนซึ่งก็สร้างความตื่นเต้นได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ในภาพรวมนั้นวงเล่นได้อย่างมีพลัง ในช่วงแรกที่เป็นกลุ่มวิโอลาและเชลโลนำขึ้นมาก็เล่นได้อย่างไพเราะ กลุ่มเครื่องสายโดยรวมก็มีพลังและหนักแน่น กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ก็เล่นได้ดี และที่เล่นได้ดีเป็นพิเศษคือกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง (โดยเฉพาะฮอร์น) และเครื่องกระทบ ที่เล่นในเพลงที่มีความตื่นเต้นและฮึกเหิมเช่นนี้ได้ดีมาก นับว่าเป็นไคลแมกซ์ของครึ่งแรกที่จบได้อย่างอลังการถึงใจพระเดชพระคุณยิ่ง

มาในเพลงสุดท้ายคือ Symphony No.2 ของบราห์มส์ ซึ่งเป็น “เพชรเม็ดเขื่อง” ที่มีรายละเอียดซับซ้อน เข้มข้น และลุ่มลึกเป็นอย่างมาก ซึ่งเราผู้ฟังอาจจะกังขาว่าวงเด็กวงนี้จะเล่นเพลงใหญ่ขนาดนี้ได้หรือ แต่วาทยกรยาซากิและคณะวิทยากรทำให้เราเห็นว่าภายในสัปดาห์เดียวพวกเขาฝึกเด็กเหล่านี้ได้ และฝึกได้อย่างดีมากเสียด้วย เราคงไม่ได้คาดหวังว่าวงเด็กของเราจะเล่นได้แม่นยำทุกโน้ตทุกเสียง แต่หวังว่าพวกเขาจะเล่นได้อย่างมีความไพเราะ มีชีวิตชีวา และมีสไตล์ที่เหมาะสมกับเพลง ซึ่งวาทยกรยาซากินั้นก็เชี่ยวชาญในการกำกับวงดนตรีขนาดใหญ่อยู่แล้ว และเพลงมาตรฐานอย่างบราห์มส์นั้นท่านคงเล่นมาไม่รู้กี่ร้อยครั้งแล้ว จึงไม่น่าหนักใจในส่วนนี้ ส่วนที่เราลุ้นคือเด็กของเราจะเล่นได้ตามที่ท่านต้องการหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าพวกเขาทำได้ ทั้งกลุ่มเครื่องสาย ทั้งไวโอลิน 1 ไวโอลิน 2 (ซึ่งไวโอลิน 2 มีจำนวนมากกว่าไวโอลิน 1) วิโอลา เชลโล และเบส ให้เสียงที่แน่นและเข้มข้นอย่างไม่ธรรมดา เครื่องเป่าทั้งหลายก็มีโอกาสได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโอโบซึ่งได้โอกาสบรรเลงเดี่ยวในช่วงต้นกระบวนที่ 3 ก็เล่นได้อย่างไพเราะน่าฟังยิ่ง เช่นเดียวกับกลุ่มฮอร์นที่ได้โอกาสรับบทเด่นบ่อยครั้งซึ่งก็ทำได้ดีมากเช่นกัน นอกจากนั้นยังสังเกตได้ว่าเสียงของเครื่องเป่าแต่ละกลุ่มจะประสานสอดคล้องกันได้อย่างดี ทำให้เสียงของวงและการบรรเลงออกมาได้อย่างดียิ่ง ทำให้ผู้ฟังมีความสุขและความพึงพอใจอย่างยิ่ง

หลังจบคอนเสิร์ต ผมได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ดนตรีบางท่าน ซึ่งก็ให้ความเห็นว่ายังมีบางส่วนต้องปรับปรุงอยู่ เด็กๆ ยังไม่ถึงกับเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ผมเองคิดว่าเด็กเหล่านี้สามารถเล่นได้ดีในระดับที่น่าพอใจมากแล้ว และน่าจะพัฒนาฝีมือได้มากขึ้นกว่านี้อีกหากพวกเขามีโอกาสที่ดีและมีครูที่ดี อย่าง วาทยกรยาซากิ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าท่านสามารถดึงศักยภาพของนักดนตรีออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำอย่างไรที่ค่าย SSMS หรือเด็กๆ เหล่านี้จะมีโอกาสออกแสดงมากกว่าปีละ 1 ครั้ง  ทำอย่างไรเราถึงจะต่อยอดความสำเร็จของค่ายปีนี้ได้ สิ่งที่ผมนึกออกคือค่ายนี้ให้ประสบการณ์ดนตรีที่เข้มข้นและล้ำค่าให้แก่เด็กๆ และสร้างมิตรภาพและความผูกพันระหว่างกัน เมื่อพวกเขาได้เล่นดนตรีร่วมกันแล้วเขาก็จะเป็นเพื่อนกันตลอดไป ผมหวังว่าจะมีเด็กๆ ในกลุ่มนี้รวมตัวกันตั้งวงเชมเบอร์มิวสิกขึ้นมา (โดยอาจจะมีครูอาสาสมัครจากสถาบันดนตรีต่างๆ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้) เพื่อพัฒนาฝีมือตัวเองและเพื่อนๆ ให้ก้าวหน้าขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสที่จะได้เล่นดนตรีมากขึ้นอีกด้วย เพราะวงดนตรีระดับออร์เคสตราในบ้านเรายังมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด วงเชมเบอร์มิวสิกเป็นทางรอดของการพัฒนาและรักษาฝีมือของนักดนตรีบ้านเรา ถ้าเขาเล่นเชมเบอร์มิวสิกที่เข้มข้นและลึกซึ้งได้แล้ว (ซึ่ง “ดำน้ำ” ไม่ได้) ดนตรีอะไรเขาก็สามารถเล่นได้ดี เพราะเขามีทักษะในการเล่นร่วมกันและการฟังซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่คิดเพียงจะเก่งคนเดียว แต่ต้องเก่งไปด้วยกันทั้งทีม ส่วนทางออกอื่นๆ ที่จะให้ภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่นใดช่วยสนับสนุนนั้น คงเป็นเรื่องเหนือการควบคุมเสียแล้ว

2 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *