อัญมณี คีตดุริยางค์ SSMS Orchestra

เพราะรัก…จึงถักคำร้อย (3)

อัญมณี คีตดุริยางค์

SSMS Orchestra

FB_IMG_1460434436203

อภิสันต์ ทัศนาญชลี

11 เมษายน 2559

๐ มหัศจรรย์ครั่นครื้น    มโหรี

พรูพรั่งเสียงดนตรี        หลั่งหล้า

คนธรรพ์ร่วมสรวลสี      ระเริงเป่า

สุขหลั่งประโลมท้า        เล่นล้อคีตกานต์

สุขทุกข์คละเคล้ากันไป ตามวิสัยของมมุษย์ที่วนว่ายอยู่ในวัฏสังขาร ดนตรีเป็นเครื่องชี้ที่ฉายให้เห็นได้ชัดถึงความรู้สึกที่เกิดจากจากกองเถ้าซึ่งหลงเหลือจากทุกข์ล้น ปลอบประโลมให้ผู้คนมีความหวังที่จะได้รับความสุขคืนมา นั่นคือสัจธรรมอันเป็นแก่นของคีตศิลป์

เสียงกลุ่มเครื่องสายต่ำ เริ่มกระบวนแรกของ ‘ตับตะกอนสงคราม’ ที่  Jules Massenet คีตกวีชาวฝรั่งเศส นิพนธ์ขึ้นเป็น Suite ลำดับที่ 7 เพื่อย้อนเตือนให้เห็นวิสัยคนที่เพรียกหาสันติสุขหลังรับทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์สงคราม Franco-Prussian ที่ชาวแคว้น Alsace สูญเสียถิ่นที่อยู่ของตนไปเพราะผู้นำของตนเองชักศึกเข้าบ้าน โดยตั้งชื่อขึ้นเป็นอนุสรณ์ว่า Scènes alsaciennes และจงใจให้บทเพลงนี้เป็นดนตรีที่เล่าเรื่องราว (programme music) โดยไม่ต้องการอาศัยคำร้อง

มหัศจรรย์พลันบังเกิดเพียงหลังเสี้ยวเวลาที่ Hikotaro Yazaki ขยับบาตองให้กลุ่มสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มวิโอลา และเชลโล ของ SSMS Orchestra ล้วงอารมณ์เศร้า เพื่อสาวให้ระลึกถึงอดีตที่ทุกข์ทนของชนชาวอัสซาส ตามด้วยสื่อสัญญาณให้มหาดุริยางค์เริ่มบรรเลงโดยเยาวชน อันรวมถึงนักเรียนระดับมัธยม ที่ได้รับการฝึกฝนโดย ‘ครูคุณภาพ’ เพียงแค่สัปดาห์เดียว

ท่วงทำนองของคีตนิพนธ์รวม 4 กระบวน แสดงออกถึงความหลากหลายในช่วงชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ตั้งแต่เช้าไปจนถึงค่ำของวันอาทิตย์ มีทั้งการรวมตัวของผู้คนในโบสถ์ ผู้สูงวัยที่ออกมานั่งรับแดดหน้าที่พักอาศัย การเริงระบำของชาวบ้าน ตลอดจนภาพของชายหนุ่ม-หญิงสาวที่จูงมือกันเดินเล่นไปตามถนนภายใต้ร่มเงาของ lime trees (บทสนทนาของเขาทั้งสองแสดงออกด้วย cello และ clarinet ที่ซาบซึ้งไม่แพ้ ‘Méditation‘ ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี) แต่แล้วความจริงก็คือความจริง เสียงทหารเดินทัพที่ดังมาแต่ไกลก็คือทหารฝรั่งเศสที่กำลังถอยทัพนั่นเอง (คีตกวีกำหนดให้วิโอลาเดี่ยวทำนองสั้นๆ แต่ก็กินความได้ลึกซึ้งยิ่ง) จนในท้ายที่สุดก็ไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดยั้งสัญชาตญาณมนุษย์ ในการสร้างความหฤหรรษ์ให้แก่ตนเองได้ น่าประหลาดที่มีผู้นำผลงานชิ้นนี้ของ Massenet ออกบรรเลงน้อยมาก ทั้งๆที่ผู้ประพันธ์สามารถใช้ศักยภาพของวงซิมโฟนีได้อย่างแยบยลในการแสดงออกซึ่งอารมณ์อันหลากหลาย

101 ชีวิตบนเวทีของหอประชุมมหิศร ไทยพาณิชย์พาร์ค ลุกขึ้นยืนรับเสียงปรบมือที่กึกก้องด้วยรอยยิ้มแห่งความภูมิใจ  สีหน้าทุกคนบ่งชัดว่าตื่นเต้นและยินดีกับผลงานการแสดงที่ร่วมเล่นด้วยกันเป็นบทเพลงแรกของคอนเสิร์ต SSMS Orchestra ที่มีข้อความประดับไว้บนหน้าปกของสูจิบัตรว่า “Gems of the Romantic School” ความมั่นใจในความสามารถที่ได้รับการกระตุ้นจากเสียงปรบมืออันยาวนาน เป็นพลังใจอันยิ่งใหญ่ที่ผลักดันให้พวกเขาทุ่มเทหัวใจและฝีมือที่ได้รับจากการฝึกฝนจากค่ายดนตรีฤดูร้อนที่ผ่านไปแค่เพียงข้ามคืน ในการแสดงคีตนิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่ของคีตกวีโลกที่มีชื่อว่า 1812 Overture ผลงานของ Peter Ilyich Tchaikovsky ซึ่งเป็นเพลงที่สลับมาเล่นเป็นลำดับที่ 2 ก่อนที่จะหยุดพักครึ่งการแสดง

1812 Overture ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ Tchaikovsky คีตกวีชาวรัสเซีย ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อฉลองชัยในการต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินรัสเซียให้รอดพ้นจากการรุกรานของ Napoleon จอมทัพผู้มีอหังการแห่งฝรั่งเศส โดยโปรยเรื่องราวที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสงครามด้วยเสียงคร่ำครวญจากกลุ่มเครื่องสายต่ำ ด้วยทำนองเพลงศาสนา O Lord, Save Thy People ซึ่งบ่งบอกถึงความรันทดจากการถูกฝรั่งเศสรุกราน หลายท่วงทำนองตอกย้ำซ้ำให้เจ็บด้วยทำนอง La Marseillaise เพลงชาติของฝรั่งเศสที่คุ้นหู และกลบความชอกช้ำด้วยเสียงแห่งชัยชนะที่กึกก้องด้วยเสียงปืนใหญ่รวม 16 นัด สอดประสานกับเสียงระฆังที่รัวก้องกังวาน ท่ามกลางการเฉลิมฉลองการรอดพ้นจากการต้องตกเป็นเมืองขึ้นของจอมทัพผู้คลั่งอำนาจ

แทบไม่เชื่อหู ว่าเด็กนักเรียนหน้าใสๆในวัยที่ยังมองโลกสวยจะสามารถนำจุดเด่นของ 1812 Overture ออกมาเผยแสดงโดยใช้ศักยภาพในการสร้างพลังทั้งในกลุ่มเครื่องสายต่ำ และ กลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง บรรเลงบทเพลงยิ่งใหญ่เพลงนี้ให้ได้ถึงซึ่งอรรถรส รวมทั้งกลุ่มแตรฟันฟาร์ (Brass Fanfare) ที่ถูกจัดให้กระหน่ำซ้ำสร้างความหึกเหิมให้บทเพลงอยู่ด้านหลังผู้ชมแบบเสียงรอบทิศทาง สอดหว่างเสียงปืนใหญ่ที่ยิงออกมาจากเสียง Bass Drum นับเป็น Finale ที่สร้างความประทับใจอย่างสูงสุดให้แก่ผู้ฟังที่อัดแน่นอยู่ในหอประชุม ซึ่งประสานเสียงปรบมืออันยาวนาน สืบต่อด้วยเสียงอื้ออึงจากการพูดคุยแสดงความชื่นชมในความสามารถของนักดนตรี และความน่าตื่นเต้นของผลงานชิ้นเอกของ Tchaikovsky

บทเพลงในช่วงสุดท้าย Hikotaro Yazaki นำเอา Symphony No.2, Op.73 ในโครงสร้าง 4 กระบวน บทประพันธ์ของ Johannes Brahms คีตกวีชาวเยอรมัน มาแสดงให้เห็นฝีมือของเด็กไทยในการถ่ายทอดความเป็นเอกของคีตศิลป์ยุคโรแมนติก ที่แม้ผู้ประพันธ์เองยังออกปากว่า “เป็นบทเพลงที่เปี่ยมด้วยความเศร้าจนยากที่ใครจะทนทาน” ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มวิโอลาจะต้องเป็นตัวชูโรงในการที่จะรีดเสียงเศร้าออกมาจากสายแต่ละเส้น โดยผสานกับเชลโล และมีเสียง Bassoon และ Oboe สอดร้อยเติมรสเป็น counter-melody ได้อย่างครบเครื่องเรื่องเศร้า

ในระหว่างกระบวนที่ 1 ผู้วิจารณ์แว่วได้ยินท่วงทำนองของ Brahms’s Lullaby จนอดที่จะเสียมารยาทฮัมตามในลำคอไม่ได้ บวกกับภาพของวาทยกรในช่วงการบรรเลงกระบวนที่ 2 ซึ่งเป็นท่อน Adagio คุณ Yazaki ถึงกับเริงรำราวหงส์ร่อนบนริ้วระลอกธาร เพื่อโอบเอื้อให้นักดนตรีคล้อยเคลิ้มไปตามท่วงทำนองของบทเพลงได้ดั่งใจ จนกระทั่งถึงบทส่งท้ายในกระบวนที่ 4 ซึ่งเป็นลีลา Allegro con spirito วาทยกรถึงกับกระหน่ำไม้บาตองระดมให้เครื่องทองเหลือง เครื่องลมไม้กระหน่ำเสียงเรียงไล่คลุกเคล้ากับเสียงกลุ่มเครื่องสาย เป็นการประสมวงที่โดดเด่นจนถึงโน้ตตัวสุดท้ายของ Symphony No.2 ที่ประใจทั้งคนเล่นและคนฟัง

บทเพลง 3 อัตลักษณ์ จาก 3 คีตกวีต่างชาติพันธุ์ อันได้แก่ Suite No.7 ของ Jules Massenet สำเนียงฝรั่งเศส 1812 Overture จากวิญญาณของรัสเซีย โดย Peter Illyich Tchaikovsky และ Symphony No.2, Op.73 สำเนียงหม่นจาก Johannes Brahms คีตกวีชาวเยอรมัน โดยการแสดงของ SSMS Orchestra ที่ก่อตัวขึ้นจากโครงการค่ายดนตรีฤดูร้อน ของ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ย่อมเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนแล้วว่า “การเรียนดนตรีวิธีศิลปากร” ที่มีหัวใจของการฝึกฝนด้วยการจัด ‘ครูดีมีฝีมือ’ ของแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรี มาคลุกคลีร่วมเรียนร่วมเล่นกันอย่างจริงจัง จึงนำมาซึ่งศักยภาพที่เป็นทักษะชั้นสูง จนสามารถบรรเลงบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้อย่างสมภาคภูมิ

ผลสัมฤทธิ์ที่สัมผัสได้ทั่วทุกทวารของการแสดงผลงานจากการฝึกฝนเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ สามารถประกาศเป็นกุศโลบายให้มั่นใจได้ว่า ความพยายามที่จะหา “ครูดี” ดังเช่น Sally Pendlebury นักเชลโลจาก Chamber Orchestra of Europe (ผู้ซึ่งเคยทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มเชลโลให้แก่ Philharmonia Orchestra of London) Sophia Reuter หัวหน้ากลุ่มวิโอลาของวง Leipzig Gewandhaus และวาทยกรผู้เปี่ยมด้วยความสามารถและประสบการณ์เช่น Hikotaro Yazaki ร่วมกับคณาจารย์ดนตรีของศิลปากร และอาจารย์รับเชิญจากประเทศในเอเชียด้วยจำนวนหนึ่ง เป็นวิถีที่จะพัฒนาเด็กไทยให้โดดเด่นด้วยมาตรฐานเทียมเท่าสากลได้อย่างมิใช่เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน

กว่าจะถึงโอกาสอย่างนี้ อีก 1 ปีข้างหน้า ทั่วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางตามภารกิจของแต่ละคน หากจะทิ้งไว้เพียงแค่ความปีติของนักดนตรี พ่อแม่ผู้ปกครอง คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ตลอดถึงผู้ฟังที่ได้มีโอกาสเสพอาหารบำรุงจิตใจ โครงการที่อุบัติขึ้นในครั้งนี้ก็ย่อมสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะแม้จะมีผู้ฟังเต็มหอประชุม แต่เมื่อเทียบกับคนในชาติก็เพียงแค่หยิบมือเดียว จะรอภาครัฐเหลียวหน้ามามองเรื่องศิลปวัฒนธรรม ก็ออกจะเป็นเรื่องที่ได้เพียงฝัน สิ่งเดียวที่พึงพิเคราะห์และทำได้ทันทีในปัจจุบัน คือนำผลงานที่ร่วมกันสร้างเป็น “อัญมณี” ในคราวนี้ บันทึกเป็นการแสดงสดใส่แผ่นวิดีทัศน์แจกจ่ายให้ “ครูดนตรี” ในสถาบันทั้งระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ได้มีโอกาสรับชม และเผยแพร่ “ของดีที่มีได้” สู่ผู้รักดนตรีคลาสสิก เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้การเรียนการสอนดนตรีคลาสสิกของไทย ให้ก้าวไกลไปอีกได้อย่างต่อเนื่อง

โอมเพี้ยง… งวดนี้ขอให้ถูกหวย รวยสตังค์ จะรับเป็นเจ้าภาพจัดการให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเสียเลย เพราะในบ้านเรานั้น จะทำอะไรได้สำเร็จก็ดูจะเป็นด้วยโชคช่วยเท่านั้น

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *