Master Clarinet Recital โดยคริสต์หทัย ปักสมัย : ความน่าสนใจของดนตรีคลาริเน็ตสมัยใหม่

Master Clarinet Recital โดยคริสต์หทัย ปักสมัย : ความน่าสนใจของดนตรีคลาริเน็ตสมัยใหม่

IMG_1313

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 

มีนักคลาริเน็ตคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ในบรรดานักคลาริเน็ตรุ่นเยาว์ปัจจุบันนั้น คริสต์หทัย ปักสมัย หรือยิม เป็นหนึ่งใน “หัวกะทิ” ของวงการ ที่มีฝีมือและผลงานที่โดดเด่น ผมเองนั้นได้รับชมผลงานของเธอมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการแสดงร่วมกับวง CU Clarinet Ensemble และครั้งต่อมาเป็นการแสดงในรูปแบบ Clarinet Quartet ร่วมกับเพื่อนนักคลาริเน็ตอีก 3 คน ซึ่งทั้ง 2 ครั้งนั้น ผมคิดว่าบทบาทเธอไม่โดดเด่นนัก เพราะไม่ได้เล่นเป็น Clarinet ที่ 1 ดังนั้น เมื่อได้ทราบว่าคริสต์หทัยกำลังจะมี Recital สำหรับปริญญาโทที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ก็อยากจะให้เธอไปพิสูจน์ฝีมือให้ฟังอีกครั้ง

ก่อนที่เธอจะทำการแสดงจริงนั้น เธอก็ได้เริ่มปล่อย “ตัวอย่าง” ออกมาทางเฟซบุ๊คเป็นระยะๆ ทำให้เราได้ทราบว่าเธอจะเล่นเพลงใดบ้าง และที่สำคัญคือ เธอได้มีวิดีโอตัวอย่างการแสดงที่เป็นการเป่าคลาริเน็ตไปพร้อมกับการเต้นในท่าทางต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผมและผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ทำให้เราเกิดความสนใจอยากจะรู้ว่าการแสดงเต็มรูปแบบจะเป็นเช่นไร นับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ได้ผลดียิ่ง เพราะผู้ชมล้นหลามถึงขนาดที่นั่งเต็มจนต้องยืนชมกันเลยทีเดียว

การแสดงจริงในคืนวันที่ 29 เมษายน 2559 ณ Recital Hall ชั้น 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มต้นด้วย Concertstück (Concert Piece) for Clarinet and Piano ผลงานของ Raymond Gallois-Montbrun (1918-1994) คีตกวีชาวฝรั่งเศส ตามด้วย Der kleine Harlekin ผลงานของ Karlheinz Stockhausen (1928-2007) คีตกวีชาวเยอรมัน และปิดท้ายด้วย Concerto No. 2 for Clarinet and Clarinet Ensembleผลงานของ Oscar Navarro (1981- ) คีตกวีชาวสเปน เป็นการเลือกบทเพลงมาบรรเลงที่ค่อนข้างแปลกเล็กน้อย เพราะเป็นเพลงสมัยใหม่ทั้งหมด ต่างกันเพียงที่ขนาดของการประสมเครื่องดนตรีในแต่ละเพลง

ในเพลงแรก Concertstück for Clarinet and Piano เป็นเพลงที่แต่งขึ้นสำหรับการแข่งขัน ดังนั้นจึงเต็มไปด้วยเทคนิคที่หลากหลายและยากยิ่ง แต่คริสต์หทัยก็บรรเลงได้เป็นอย่างดี คล่องแคล่วและครบถ้วน  แสดงว่าเตรียมตัวมาดีมาก เช่นเดียวกับนักเปียโนรับเชิญ พรศิริ นรบาล ซึ่งบรรเลงได้อย่างเหมาะเจาะกับเสียงคลาริเน็ต ผมเองเพิ่งเคยได้ยินเพลงนี้เป็นครั้งแรก ยังจับมโนทัศน์ของเพลงไม่ได้ แต่รู้สึกว่าบทเพลงมีอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย มีทั้งหม่น เศร้า โหยหา และรุกเร้า ทำให้เรารู้สึกว่าเพลงนี้มีอะไรที่ลึกซึ้ง มิใช่แต่เพียงการโชว์เทคนิคชั้นสูงของการบรรเลงคลาริเน็ต และนักดนตรีทั้งคู่ก็เล่นได้เป็นอย่างดีและน่าฟังมาก

เพลงต่อมาเป็นเพลงไฮไลต์ของงานนี้ Der kleine Harlekin เป็นการบรรเลงคลาริเน็ตพร้อมกับแสดงลีลาท่าทางการเต้นในลักษณะที่ผมคิดว่าคล้าย modern dance ผสมกับละครใบ้ (เป็นตัวละคร Harlequin ที่เป็นตัวละครในชุดตัวตลก) เท่าที่ทราบคือสต๊อกเฮาเซนได้กำหนดเสียงของการเคลื่อนไหวเท้าไว้ในบทเพลงด้วย ดังนั้นท่าขย่มเท้าและเสียงกระทืบเท้าจึงมีลักษณะเป็นเครื่องประกอบจังหวะ (percussion) ไปด้วย ส่วนท่าทางการแสดงนั้นตามแต่ผู้แสดงจะตีความและนำเสนอ โดยคริสต์หทัยก็ได้ทำงานร่วมกับสิริลักษณ์ กิ่งก้าน นักออกแบบท่าเต้น (choreographer) โดยร่วมกันคิดและตีความบทเพลงออกมาเป็นท่าทางต่างๆ ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่า ผมก็ตีความการแสดงของเธอไม่ออกนัก (คนที่อยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกและรู้จักตัวละคร Harlequinอาจจะเข้าใจเสียงเพลงของสต๊อกเฮาเซน และท่าทางที่เธอแสดงออกมาได้ แต่ผู้ฟังที่ไม่รู้จักที่มาที่ไปของตัวละครตัวนี้ อาจจะไม่เข้าใจมากนัก) เท่าที่พอจับได้คือตัวละครนี้มีความทะเล้น แต่ก็แฝงด้วยความเศร้าหมองอยู่บ้าง ในบางช่วงก็เหมือนกันกรีดร้อง บางช่วงก็เหมือนกันการสนทนากับผู้อื่น บางครั้งก็เหมือนกับจะตลก แต่ก็มีความหม่นหมองเปล่าเปลี่ยวด้วย ทั้งนี้ยังรู้สึกได้ว่าเธอเตรียมตัวมาดีมาก ทั้งการจำโน้ต จำท่าทาง และการบรรเลงได้โดยไม่หลุด ไม่เพี้ยน และไม่กระแทกปากตัวเอง ซึ่งคงต้องฝึกซ้อมร่างกายเป็นอันมากทีเดียว

ส่วนในครึ่งหลังเป็นบทเพลงใหญ่ คือคอนแชร์โตของนาบาร์โร ซึ่งคริสต์หทัยบรรเลงเดี่ยวร่วมกับวง CU Clarinet Ensemble ซึ่งเธอเป็นสมาชิกของวงอยู่ โดยมี อัครพล เดชวัชรานนท์ หัวหน้าวง รับหน้าที่เป็นวาทยกร ในบทเพลงนี้ค่อนข้างหลากหลาย  แต่ก็ฟังง่ายและไพเราะ ที่สำคัญคือมีการแสดงออกถึงเทคนิคขั้นสูงของคลาริเน็ตอย่างมากมาย บทจะตื่นเต้นก็เร้าใจ แต่ช่วงที่ค่อนข้างหวานซึ้งก็ทำได้ดีมาก  ทั้งนี้คีตกวีผู้นี้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ด้วย ทำให้เพลงของเขาค่อนข้างมีทำนองที่ไพเราะและไม่แปลกแปร่งหูมากนักเกินไป ซึ่งผู้แสดงเดี่ยวก็สามารถบรรยายความรู้สึกของตัวบทเพลงออกมาเป็นท่วงทำนองได้เป็นอย่างดี ส่วนวงก็มีบทบาทที่หลากหลายและสำคัญยิ่ง ไม่ได้เล่นคลอเบาๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีท่วงทำนองที่หลากหลายและต้องใช้ฝีมือมากพอควร ซึ่งทั้งวงและผู้แสดงเดี่ยวก็ประสานกันได้อย่างดีและลงตัว

IMG_1332

          เท่าที่ผมสังเกตจากการไปฟังดนตรีเดี่ยวคลาริเน็ตมาหลายรายการ โดยมากนั้นจะมีเพลงคอนแชร์โตสำคัญเช่นคลาริเน็ตคอนแชร์โตของโมสาร์ตมาบรรเลง หรือถ้าต้องการมิให้จำเจเกินไปก็มักจะนำคอนแชร์โตของคีตกวียุคปลายคลาสสิก-ต้นโรแมนติค ที่มีสำเนียงและลีลาใกล้เคียงกับโมสาร์ต เช่น Franz Krommer, Carl Stamitz, Louis Spohr หรือ Carl Maria von Weber มาบรรเลงแทน แต่ในการแสดงครั้งนี้ ผมคิดว่าคริสต์หทัยมีความกล้าเป็นอย่างมากที่นำเอาเพลงสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 (เพลงของนาบาร์โร แต่งในปี 2011-12) มาจัดแสดงในรายการเดียวกันโดยไม่มีเพลงของยุคอื่นแทรกเลย และก็คัดเลือกบทเพลงที่หลากหลายสไตล์ในยุคเดียวกันมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ และไม่ทำให้รู้สึกเลยว่าเพลงสมัยใหม่เป็น “ยาขม” แต่อย่างใด

โดยสรุปนั้น ผมคิดว่าการแสดงครั้งนี้ได้พิสูจน์ฝีมือของเธออย่างแท้จริง ว่าความสามารถของเธออยู่ในระดับที่สูงมาก เสียงของเธอใหญ่และมีพลัง และยังทำให้เราได้เห็นว่าการบรรเลงดนตรีนั้นสามารถนำมาผนวกกับการเต้นได้ ถ้ามีการออกแบบท่าเต้นมาเป็นอย่างดีและเอื้อต่อการบรรเลงได้จริง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเธอทำได้และทำได้ดีเสียด้วย ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คีตกวีไทยหลายท่านที่เข้าไปชมการแสดงครั้งนี้ ได้ผลิตผลงานที่ทั้งสามารถบรรเลงไปพร้อมกับการเต้นได้ด้วย และยังทำให้เห็นว่าเพลงยุคศตวรรษที่ 20-21 ก็มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายเช่นกัน เป็นการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่ผู้ฟังอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *