Invisible Curve : บทเพลงของ TPO กับ “ส่วนโค้ง” ที่มิอาจเห็นได้

Invisible Curve : บทเพลงของ TPO กับ “ส่วนโค้ง” ที่มิอาจเห็นได้

13227044_10154056692430953_3363719563789197962_n

(Facebook Thailand Philharmonic Orchestra)

ธันฐกรณ์ ลัคนาศิโรรัตน์

ผมได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับวง Thailand Philharmonic Orchestra หรือ TPO อยู่บ่อยๆ ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ บทวิจารณ์ หรือโปสเตอร์ที่ติดอยู่ในสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากฟังการแสดงของวงนี้ เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกนี้ได้สะสมเพิ่มมากขึ้น จนผมตัดสินใจต้องไปดูคอนเสิร์ตของวงนี้ให้ได้ เมือ “พี่เบิร์ด” เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์ชาวไทยระดับโลกมาเป็นผู้แสดงเดี่ยวบรรเลงเพลงของนักประพันธ์ชาวไทยผู้มากฝีมืออย่างอาจารย์ณรงค์ ปรางเจริญ ยิ่งทำให้ผมต้องเดินทางไปฟังให้ได้ และนับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ฟังการแสดงของวง TPO ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก

คอนเสิร์ตจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 ที่ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา การแสดงเริ่มด้วยการบรรเลงเพลง ฝรั่งจรกา ซึ่งพันโทประทีป สุพรรณโรจน์เรียบเรียงสำหรับวงออร์เคสตราโดยเฉพาะ (การแสดงนี้ผู้เขียนเดินทางไปไม่ทันเข้ารับฟัง ต้องขอประทานโทษด้วย) ต่อด้วยการบรรเลง Leonore Overture No.3 ผลงานลำดับที่ 72b ของ Beethoven คีตกวีชาวเยอรมัน จากนั้นก็เป็นการแสดงเดี่ยวกีตาร์ของเอกชัย เจียรกุล ในบทเพลง Invisible: Curve Concerto for Guitar and Orchestra ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของ อาจารย์ณรงค์ ปรางเจริญ และนับเป็นการแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็น “พระเอก” ของคอนเสิร์ตนี้ ส่วนครึ่งหลังของคอนเสิร์ตจบด้วย Symphony No.2 in D Major ผลงานลำดับที่ 73 ของ Johannes Brahms

การบรรเลง Leonore Overture No.3 เบโธเฟ่นได้เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นบทโหมโรงของอุปรากรเรื่อง Leonore ซึ่งเบโธเฟ่นปรับปรุงอุปรากรบทนี้อยู่หลายครั้งจนเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Fidelio ซึ่งเป็นอุปรากรเรื่องเดียวที่เบโธเฟ่นได้ประพันธ์ไว้ ในส่วนการแสดงของวงบรรเลงในท่อนบทนำ (Introduction) ได้หนักหน่วง ขรึม และมืดหม่น แต่ก็แฝงไปด้วยพลัง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะกลุ่มเครื่องดนตรีเสียงต่ำบรรเลงได้อย่างหนักแน่น จึงช่วยเสริมพลังและบรรยากาศอันเคร่งขรึมในการแสดง ตรงจุดนี้เป็นจุดเด่นของวง TPO เมื่อเข้าสู่ทำนองหลักวงสามารถบรรเลงได้อย่างมีชีวิตชีวา แต่ในบางบทที่ต้องบรรเลงให้หวาน กลุ่มไวโอลินยังบรรเลงได้ไม่หวานนัก ในบทปิดท้ายของการบรรเลง วงสามารถบรรเลงได้อย่างสง่างามราวกับต้องการให้คอร์ดสุดท้ายนั้นประทับใจผู้ฟังไปตลอดกาล

 

บทเพลงถัดไปคือ Invisible Curve: Concerto for Guitar and Orchestra บทเพลงนี้ท้าทายมากสำหรับนักกีตาร์ เพราะเน้นการใช้เทคนิคอันแพรวพราว และเปิดโอกาสให้นักกีตาร์ได้โชว์ความสามารถอย่างเต็มที่ ผู้ประพันธ์ได้เขียนคำอธิบายที่มาของชื่อบทเพลงซึ่งพอจับใจความได้ว่า “เราไม่สามารถมองเห็นจากมุมมองของเราว่า ขอบฟ้านั้นเป็นเส้นโค้ง เราจะเห็นเป็นเส้นตรงที่แบ่งพื้นดินหรือท้องน้ำกับท้องฟ้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าขอบฟ้านั้นไม่ได้โค้ง เช่นเดียวกัน บางสิ่งที่เราไม่อาจมองเห็น ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี กีตาร์นั้นเป็นเครื่องดนตรีที่เสียงเบา ทำให้ในบางจุดอาจได้ยินเสียงกีตาร์ยากเมื่อต้องประชันกับวงออเคสตราขนาดใหญ่ แต่อย่างไรเราก็รู้ว่ากีตาร์นั้นยังคงมีตัวตนอยู่บนเวที”  ทั้งนี้ “พี่เบิร์ด” สามารถบรรเลงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมสมกับที่เป็นนักกีตาร์ระดับแนวหน้าจริงๆ ในการบรรเลงเพลงมีการสลับให้ทั้งวงออเครสต้าและผู้แสดงเดี่ยวได้มีบทบาทเด่นเป็นของตัวเอง รวมถึงการบรรเลงประสานกันก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับ ให้อารมณ์อันหลากหลาย และทำให้การแสดงมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าบทเพลงมีลักษณะเป็นดนตรีสมัยใหม่ซึ่งฟังยากกว่าดนตรีคลาสสิกที่เราคุ้นเคยกัน แต่นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผู้ฟังซึ่งรวมถึงผมเองด้วย เช่น ในบางช่วงของการบรรเลงแทบจะไม่ได้ยินเสียงโซโล่เลย แต่คำอธิบายของผู้ประพันธ์นั้นเป็นเหตุผลที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

บทเพลงในครึ่งหลังคือ Symphony No.2 in D Major ของบราห์มส์ บทเพลงนี้บราห์มส์ประพันธ์ขึ้นในช่วงฤดูร้อน ค.ศ.1877 ขณะที่บราห์มส์นั้นพักร้อนอยู่ที่หมู่บ้านพอร์ทชาค (Portschack) เราอาจจินตนาการไปได้ว่าเป็นซิมโฟนีที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อบรรยายความงามของชนบท ความงดงามและแจ่มใสของธรรมชาติท้องทุ่งในชนบท หากจะเปรียบเทียบ คงเปรียบได้กับซิมโฟนีหมายเลข 6 ของเบโธเฟ่นที่บรรยายถึงความงดงามของธรรมชาติเช่นเดียวกัน วงก็สามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังเห็นถึงภาพของชนบทอันงดงามและเงียบสงบ เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นผลัดกันขึ้นมามีบทบาทเด่น บรรเลงได้อย่างไพเราะ และแสดงอารมณ์ของเพลงได้อย่างชัดเจน สดใสร่าเริง เศร้าหมอง หรือแม้แต่โกรธขึ้ง พลังของเสียงที่ประทับเข้าไปในใจของผู้ฟังให้จดจำมิรู้ลืม เพียงแต่ในบางจุดนักดนตรีอาจจะยังบรรเลงเหลื่อมกันเล็กน้อย หากกลุ่มเครื่องดนตรีเครื่องสายสามารถบรรเลงให้เกาะกลุ่มกันได้มากกว่านี้ จะดีกว่านี้มาก อีกประการหนึ่ง ผมคิดว่าในบางท่อนวาทยกร Jeffery Meyer เลือกจะใช้จังหวะที่เร็วเกินไปจึงทำให้อารมณ์บางอารมณ์ของเพลงสูญเสียไปบ้าง

13178551_10154056693205953_791711471559052853_n

(Facebook Thailand Philharmonic Orchestra)

          อย่างไรก็ดีเมื่อผมเข้าไปภายในหอแสดงผมรู้สึกใจหาย เพราะจำนวผู้ที่มาฟังนั้นน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับวงบีเอสโอหรือแม้แต่โปรมูสิกา ในการแสดงนั้นผู้บรรเลงตั้งใจแสดงอย่างสุดฝีมือของตน และบัตรราคาไม่สูงเกินไป  การที่ผู้ชมมีไม่มากนักทำให้ผมหวนคิดกลับไปถึงชื่อบทเพลง “Invisible Curve” ที่เพิ่งจะได้รับฟังไป คือหอแสดงดนตรีแห่งนี้ค่อนข้างจะอยู่ไกลจากตัวเมือง จึงทำให้ราวกับว่าที่แห่งนี้ไม่มีตัวตนอยู่สำหรับคนบางคน ผมอยากให้ผู้ฟังดนตรีและผู้อ่านลองหันมารับฟังผลงานจากวง TPO บ้าง เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ทางด้านดนตรี ถึงแม้จะต้องเดินทางไกลสักหน่อย แต่ความคุ้มค่าที่ได้กลับไป รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

(ผู้เขียนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *