ละเมียดละไม Piano and Violin Sonatas ของโมสาร์ตโดยสำนักตลิ่งชัน

ละเมียดละไม Piano and Violin Sonatas ของโมสาร์ตโดยสำนักตลิ่งชัน

20160607_152359

วฤธ วงศ์สุบรรณ

เมื่อปีที่แล้ว อ.ทัศนา นาควัชระ และ อ.ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา ได้ร่วมกันแสดง Piano and Violin Sonatas ของโมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart : คีตกวีชาวออสเตรีย) ในลำดับที่ K.6 K.305, K.306 และ K.378 โดยการแสดงครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยด้านดนตรีของอาจารย์ทัศนา  อันรวมถึงการแสดงและวิเคราะห์บทเพลงไวโอลินโซนาตาของโมสาร์ตตลอดทั้งชีวิตของเขา โดยแบ่งเป็นยุคต้น คือช่วงวัยเด็กจนถึงช่วงก่อนย้ายไปลงหลักปักฐานและใช้ชีวิตนักดนตรีอิสระที่เวียนนา (ประกอบด้วย K.6 K.305, K.306 และ K.378 แต่งระหว่าง ค.ศ.1764-1779) ยุคกลาง คือช่วงต้นที่เพิ่งย้ายไปอยู่ในเวียนนา (K.376, K.377, K.379 และ K.380 แต่งใน ค.ศ.1781 ทั้งหมด) และยุคปลาย คือโซนาตาสามบทสุดท้ายของโมสาร์ต (K.454, K.481และ K.526 แต่งระหว่าง ค.ศ.1784-1787)

มาในปีนี้ เป็นการแสดงครั้งที่ 2 ของนักดนตรีทั้งสองท่าน โดยเป็นการแสดงโซนาตาสำหรับเปียโนและไวโอลินของโมสาร์ตยุคกลาง หรือยุคที่ท่านเพิ่งมาลงหลักปักฐานในกรุงเวียนนา ซึ่งผมได้ไปชมการแสดงในคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ สยามสมาคมโดยใช้ชื่องานว่า “The Mozart Project Part 2” ทั้งนี้ช่วงก่อนเริ่มการแสดง อ.ทัศนา ก็มีบรรยาย pre-concert talk โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวโอลินโซนาตายุคที่ 2 ของโมสาร์ต ซึ่งเรียกว่า Early Viennese Sonatas ทั้งข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของโมสาร์ตในช่วงนั้น และแนวคิดที่โมสาร์ตใช้ในการประพันธ์โซนาตาเหล่านี้ รวมทั้งการตีพิมพ์โซนาตาชุดนี้ครั้งแรก (โดยมีภาพปกของหนังสือโน้ตเพลงโซนาตาชุดนี้ด้วยซึ่งยังระบุว่าเป็นโซนาตาสำหรับเปียโนและเล่นคลอด้วยไวโอลิน) แนวคิดในการตีความและบรรเลงของอ.ทัศนาเองเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่งในการรับฟังบทเพลงเหล่านี้เพราะช่วยให้ผู้ฟังได้รับอรรถรสมากขึ้น

20160607_152244

            การแสดงเริ่มต้นด้วย Sonata in F Major K.377 เท่าที่สังเกตรู้สึกว่าไวโอลินจะมีลักษณะเป็นเครื่องคลอมากกว่าเครื่องหลักเล็กน้อย แต่พอเล่นไปสักพักจะเริ่มมีบทบาทใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกระบวนที่สอง ที่มีลักษณะเป็น theme and variations ไวโอลินของ อ.ทัศนา เล่นหยอกล้อกับเปียโนของ อ.พรพรรณได้อย่างเหมาะเจาะ เสียงของทั้งคู่มีความลงตัวและกังวานไกลไปถึงหลังห้องแสดง แต่ก็ยังมีความเบาค่อยที่หลากหลายเช่นกัน

ถัดมาเป็น  Sonata in E-flat Major K.380 บทนี้จะรู้สึกว่าโมสาร์ตสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ฟังอยู่ตลอดทั้งเพลง ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์เพลงไปมา จากขึงขังไปสนุกสนาน จากหม่นเศร้าไปเป็นกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก รวมทั้งการจบกระบวนที่ 1 อย่างที่ผู้ฟังไม่ทันตั้งตัว และกระบวนที่ 3 ที่มีความเปลี่ยนแปลงของจังหวะและลีลาที่หลากหลายมาก ซึ่งในกระบวนนี้เปียโนจะได้รับบทบาทที่แพรวพราวมากเป็นพิเศษ ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับเปียโนคอนแชร์โตเลยทีเดียว ซึ่ง อ.พรพรรณก็บรรเลงได้อย่างไพเราะน่าฟังเช่นเดิม ส่วน อ.ทัศนา ก็สามารถเชื่อมโยงเสียงเปียโนให้เข้ากับเสียงไวโอลินได้อย่างพร้อมเพรียงและเป็นหนึ่งเดียวกัน

เริ่มในครึ่งหลังด้วย Sonata in G Major K.379 เพลงนี้ขึ้นต้นมาด้วยเสียงเปียโนล้วนๆ ในลีลาที่คล้ายเพลงร้อง แล้วจึงตามมาด้วยเสียงไวโอลิน ราวกับเสียงของนักร้องที่เข้ามาในเพลง ดังนั้นไวโอลินจึงเล่นไม่มากนัก แต่จะออกมาในช่วงที่สำคัญ ส่วนเปียโนก็มีลีลาที่งดงามไพเราะ ฟังดูอ่อนโยนแต่ก็เยือกเย็นอยู่ในที ถัดจากนั้นก็เปลี่ยนอารมณ์ไปเป็นจังหวะที่รวดเร็วอย่างฉับพลัน สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ฟังอีกเช่นกัน ส่วนกระบวนหลัง Thema. Andantino cantabile ก็เป็นอีกท่อนหนึ่งที่มีความไพเราะลึกซึ้งมาก โดยเปียโนจะมีบทบาทเหนือไวโอลินเล็กน้อยตรงที่เปียโนจะเล่นทั้งทำนองหลักและโน้ตประดับทั้งหลาย ส่วนไวโอลินก็จะเล่นในทำนองหลักบางช่วงและเป็นตัวตอดในบางช่วง แต่ก็มีบางครั้งที่มีโอกาสได้โชว์ลีลาด้วยเช่นกัน ช่วงที่ผมชอบที่สุดของกระบวนนี้คือช่วงที่เปียโนได้เล่นท่วงทำนองหลักและไวโอลินดีสายคลอ ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านทำได้งดงามไพเราะจับใจมาก

จบท้ายด้วย Sonata in F Major K.376 บทนี้ผมคิดว่ามีความไพเราะแบบน่ารักและสนุกสนาน ในกระบวนที่ช้าก็ฟังสบายๆ ไม่หม่นเศร้านัก ยิ่งในกระบวนที่ 3 (Rondo Allegretto grazioso) ยิ่งมีลีลาที่สนุกสนาน ชวนให้คิดถึงเพลง Ein Mädchen oder Weibchen จากอุปรากรเรื่อง ขลุ่ยวิเศษ (Die Zauberflöte) ของโมสาร์ตเอง บางลีลาก็ออกจะผาดโผนพิสดารราวกับเป็นไวโอลินคอนแชร์โตเลยทีเดียว ก่อนจะจบบทเพลงลงอย่างเรียบง่ายแต่งดงามอย่างยิ่ง

เท่าที่ผมรู้สึกกับดนตรีในโซนาตาชุดนี้ รู้สึกได้ว่าโมสาร์ตมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แน่นอนว่าท่วงทำนองที่ไพเราะของโมสาร์ตก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์อยู่ แต่ที่เพิ่มเติมมาคือความลึกซึ้งและหลากหลายมากขึ้น ในบางครั้งก็เปลี่ยนลีลาอย่างรวดเร็วจนผู้ฟังประหลาดใจและจับทางไม่ทัน อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องความเข้มข้นของไวโอลินก็มีมากขึ้นด้วย แม้ปกของโน้ตเพลงจะเขียนว่า Piano and Violin Sonatas ซึ่งเปียโนมีบทบาทเด่นกว่าอยู่บ้าง แต่ไวโอลินก็มีบทบาทที่โดดเด่นที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ในช่วงที่ผาดโผนก็น่าฟังและน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย แต่ในช่วงที่มีทำนองอ่อนหวานก็ทำได้อย่างลึกซึ้งดียิ่ง ส่วนของเปียโนนั้น น่าจะเรียกว่าเหนื่อยมากเป็นพิเศษ เพราะต้องเดินทำนองเองด้วยและต้องคลอให้กับไวโอลินด้วย แต่ อ.พรพรรณก็ทำได้ดีมาก และลงตัวกับการบรรเลงของ อ.ทัศนา โดยที่เรารู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีใครโอ่อวดอัตตาแม้แต่น้อย ผมเชื่อว่าทั้งคู่คงไม่ได้คิดว่าจะเล่นเพลงเหล่านี้เพื่ออวดใคร แต่เล่นเพื่อความไพเราะของดนตรีและรับใช้คีตกวีให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การแสดงในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับผมไม่ต่างไปจาก Mozart Project ภาคแรกเมื่อปีที่แล้ว อ.ทัศนา และ อ.พรพรรณ เล่นบทเพลงเหล่านี้ได้อย่างไพเราะงดงาม ด้วยความเข้าใจและรู้ว่าสไตล์ที่เหมาะกับเพลงโมสาร์ตเป็นอย่างไร ไม่ให้จืดชืดเกินไปหรือทึ้งเสียจนเกินงาม นอกจากนี้ได้ทราบมาว่าช่วงก่อนการแสดงครั้งนี้ นักดนตรีทั้งสองท่านยังได้รับคำชี้แนะในการบรรเลงจากศาสตราจารย์เกียรติคุณโรลันด์ บัลดินี (Roland Baldini) จากสถาบันดนตรีชั้นสูงแห่งเมืองไลพ์ซิก  ผู้เคยเป็นอาจารย์ของ อ.ทัศนาเอง แม้แต่ อ.พรพรรณเองในฐานะนักเปียโนก็ยังยอมรับว่าได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์มากมายจาก อ.บัลดินี ซึ่งช่วยให้มีความเข้าใจและสามารถบรรเลงบทเพลงของโมซาร์ตนี้ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นี้เป็นอีกครั้งที่ “สำนักตลิ่งชัน” แสดงให้เห็นว่าการแสดงที่ดีนั้น นอกเหนือจากการฝึกซ้อมมาอย่างดีแล้ว การแสวงหาความรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านวิชาการดนตรี นั้นสามารถเสริมความเข้าใจของการตีความบทเพลงให้มีลีลาอารมณ์และสไตล์ที่ใกล้เคียงความต้องการของคีตกวีมากที่สุด การบรรยายของ อ.ทัศนานั้นทำให้เราทราบว่า การจะเป็นนักดนตรีนั้นต้องทำการบ้านมากกว่าที่เราเห็นอยู่บนเวที และกว่าจะเกิดเป็นคอนเสิร์ตแต่ละครั้งนั้นต้องผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองมามากมาย แม้แต่ดนตรีเชมเบอร์ที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้นก็มิใช่ว่าจะมีจุดที่ลงตัวกันได้โดยง่าย การที่ไม่มี “ตัวกลาง” อย่างวาทยกรมาช่วยตีความให้นั้น นักดนตรีสายเชมเบอร์ก็ยิ่งต้องร่วมกันคิดอย่างหนักเพื่อให้ได้แนวการเล่นที่เหมาะสมที่สุดในการตีความของพวกเขา การแสดงของนักดนตรีทั้งสองจาก The Hong Thaew Conservatory ในครั้งนี้คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่นักดนตรีรุ่นเยาว์จะได้นำไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานการแสดงของตนต่อไป

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *