เพราะรัก…จึงถักคำร้อย บทจำแลง แปลงชูเบิร์ต

เพราะรัก…จึงถักคำร้อย

บทจำแลง แปลงชูเบิร์ต

13403101_1059519904115281_4108260955498465777_o

 

อภิสันต์ ทัศนาญชลี

12 มิถุนายน 2559

 

 

‘รักฉันมั่น เหมือนดังตะวัน มั่นรักฟากฟ้า

รักดัง หมู่ปลา รักวารี
เหมือนดังกับแหวน แสนจะรัก แก้วมณี
เหมือนขุนคีรี สวาทพื้น ดินเดียวกัน’

 

เสียงนกน้อยขับขานจากต้นไม้ริมหน้าต่าง ในเช้าตรู่วันอาทิตย์ของแรกวัสสานฤดู พาให้คิดถึงเสียงร้องนุ่มนวนชวนฝันของ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่เรียงร้อยเนื้อร้องบรรยายถึงความรักอันมั่นคงด้วยท่วงทำนองเพลง ‘ชั่วนิจนิรันดร’ ยิ่งแว่วก็ยิ่งชัด ชวนพาให้ระลึกถึงความตั้งใจมั่นของวงดนตรีคลาสสิควงหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Pro Musica และ อาจารย์ทัศนา นาควัชระ ผู้อำนวยการของวง ที่พากเพียรสืบสาน Pro Musica ให้เป็นวงดนตรีในรูปแบบ Chamber Orchestra ให้ดำรงคงอยู่คู่วงการดนตรีคลาสสิกของไทยมาตราบทุกวันนี้

Pro Musica กลับมาอีกครั้งด้วยรายการ TRANSCRIBING SCHUBERT ที่ผู้เขียนขอใช้การตีความเป็นภาษาไทยว่า ‘บทจำแลง แปลงชูเบิร์ต’ เพื่อจะชักพาไปสู่การเขียนถึงการแสดงดนตรีรายการนี้ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพมหานคร

TRANSCRIBING SCHUBERT เป็นรายการที่ Pro Musica ได้เลือกนำบทเพลงของ Franz Schubert คีตกวีชาวออสเตรีย ในยุคเชื่อมต่อระหว่างยุคคลาสสิกกับยุคโรแมนติก ที่มีผู้นำบทเพลงต้นฉบับมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีที่พัฒนาเปลี่ยนไปจากเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา และจรุงรสให้เกิดความแปลกต่างจากบทประพันธ์ดั้งเดิมที่แต่งขึ้นเพื่อใช้บรรเลงในรูปแบบวงขนาดเล็ก มาชูรสสำหรับรูปแบบ String Orchestra

ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีโอกาสฟังผลงานของ Schubert น้อยมาก ซึ่งอาจจะเป็นด้วยคีตกวีท่านนี้ มีเวลาสร้างผลงานในช่วงเวลาที่สั้นเพียงสิ้นอายุแค่ 31 ปี จึงทำให้ได้รับอิทธิพลจากคีตกวีที่เรียงรายสร้างบทประพันธ์ในช่วงเวลาต่อจากนั้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คงมีแต่บทเพลงร้องและบรรเลงสั้นๆที่ยังคงสร้างความพึงใจในท่วงทำนองที่นุ่มหวานและซ่านไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นเอกลักษณ์ของ Schubert ดังเช่น บทเพลง Serenade และ Ave Maria ที่ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ฟังดนตรีคลาสสิกทุกคนต่างล้วนได้ยินได้ฟัง และซาบซึ้งในความไพเราะตั้งแต่โน้ตตัวแรกจนถึงโน้ตตัวสุดท้ายมาแล้ว  สำหรับซิมโฟนีของชูเบิร์ตนั้นหาโอกาสฟังสดในบ้านเรายากมากจริงๆ

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า การแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ เป็นการนำคีตนิพนธ์ของ Franz Schubert มาจำแลงแปลงขึ้นใหม่ โดยบทเพลงแรกของรายการ ได้นำ Sonata in A minor D 821 “Arpeggione” ฝีมือเรียบเรียงของนักเชลโลและวาทยกรชาวอิตาเลี่ยนนาม Luigi Piovano ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของ อาจารย์ทัศนา นาควัชระ ผู้แสดงเดี่ยววิโอล่าในรายการนี้มาแนะนำให้ผู้ฟังได้ย้อนรำลึกถึงเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า Arpeggione ซึ่ง Schubert ประพันธ์บทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นนี้โดยเฉพาะ (ผู้เขียนมิได้มีโอกาสไปฟังฉบับวิโอล่ากับเปียโนที่อาจารย์ทัศนากับอาจารย์พรพรรณ  บันเทิงหรรษา  นำออกแสดงที่สยามสมาคมเมื่อหลายปีมาแล้ว  แต่ได้รับทราบมาว่าเป็นการตีความที่ต่างไปจากครั้งนี้)

Arpeggione หรือเครื่องดนตรีที่เรียกว่า bow guitar เป็นเครื่องดนตรีที่มี fret และประกอบด้วยสาย 6 สายเหมือนกีต้าร์ (E-A-D-G-B-E) แต่ใช้คันชักเป็นเครื่องสร้างเสียง และเวลาเล่นตั้งไว้ระหว่างหัวเข่า ผลิตขึ้นโดยช่างชาวออสเตรียชื่อ Johann Georg Staufer ในปี 1823 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว เป็นที่น่าเสียดายที่ Arpeggione มีช่วงอายุสั้นแค่เพียง 10 ปี ก็มีอันสูญหายไปจากความนิยม ด้วยเป็นเพราะเครื่องสายที่มี fret ได้รับการจัดว่าเป็นเครื่องดนตรีโบราณในปลายยุคศตวรรษที่ 18 และในที่สุดก็สิ้นสุดความนิยมในตอนต้นของศตวรรษที่ 19 ทิ้งเหลือไว้เพียงบทเพลงที่ Schubert ประพันธ์ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า Arpeggione ให้พวกเรายังคงได้จดจำ

Franz Schubert แต่ง Sonata in A minor D 821เพื่อให้ Arpeggione เล่นคู่กับเปียโน ในปี 1824 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Schubert ตกอยู่ในสภาวะ ‘ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่แลเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา’ นอกจากสภาวะการครองชีพอยู่ในแบบที่เรียกได้ว่า’ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ มิหนำซ้ำยังถูกโรคร้ายรุมเร้า และมีอาการเศร้าซึมในชะตาชีวิตของตนเองอย่างถึงที่สุด ผลงานชิ้นนี้ของ Schubert หายไปพร้อมกับเครื่องดนตรี และลมหายใจของผู้ประพันธ์ จนหลังจากนั้นอีก 47 ปี Arpeggione จึงได้รับการตีพิมพ์และนำกลับมาเล่นด้วย วิโอล่า เชลโล่ ฟลุ้ต และเครื่องลมไม้เช่น คลาริเน็ต เป็นต้น

ภาพบนเวทีของโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ พร้อมกับเสียงปรบมือต้อนรับ นักแสดงเดี่ยววิโอล่าในชุดเสื้อแขนยาวสีแดงเจิดจ้ายังติดหูติดตาผู้เขียนมาจนถึงวันนี้ เสียงทุ้มต่ำของวิโอล่าที่ฟังสบายหู ในลีลาท่วงทำนองที่เริ่มด้วยจังหวะระบำ ยังแว่วให้อยากลุกขึ้นเต้นรำไปพร้อมกับเสียงสอดสลับของกลุ่มไวโอลิน1ที่ไล่ล้อกับเสียงซอวิโอล่าของ ทัศนา นาควัชระ และยิ่งเมื่อถึงช่วง Adagio ทัศนา นาควัชระ ยิ่งสะท้อนหัวใจของ Franz Schubert ให้ได้ยินด้วยความสะเทือนอารมณ์ในอัตลักษณ์ของคีตกวีที่ถนัดในเรื่องของความรักและความรื่นเริง ผู้เขียนถึงกับหลับตาเพื่อให้ภาพทุ่งหญ้าที่รอบล้อมด้วยเนินไสล มีสายธารน้ำพริ้วผ่านธาร พาให้สำราญไปกับทุ่งหญ้าเขียวขจี ที่มีกลีบไม้ป่าเขยื้อนไหว ชวนใจให้อยากลืมตาขึ้นมาโลดระบำตามจังหวะของดนตรีที่บรรเลงด้วยเทคนิกและความพร้อมเพรียงของวง

เสียงปรบมือยาวนานดังขึ้นอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดเสียงสุดท้ายของท่อน Allegretto เป็นเสียงของความชื่นชมของผู้ฟังที่รักในดนตรีเชมเบอร์ และติดตามฝีมือของวง Pro Musica และทัศนา นาควัชระ ซึ่งได้ร่วมกันสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะในการเล่น Arpeggione โดยใช้วิโอล่าแทนในครั้งนี้ ผู้แสดงจำเป็นที่จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการบรรเลงที่คีตกวีประพันธ์ไว้สำหรับเครื่องดนตรีที่มี 6 สาย ซึ่งมีช่วงเสียงกว้างกว่าถึง 4 Octaves อีกด้วย

ในช่วงที่ 2 ของการแสดงดนตรีรายการ TRANSCRIBING SCHUBERT วง Pro Musica ได้เลือกเอาบทเพลง String Quartet in D minor D 810 “Death and the Maiden” เรียบเรียงสำหรับการบรรเลงด้วยวง string orchestra โดย Gustav Mahler มาเป็นโปรแกรมปิดท้ายรายการ ต้องขอยอมรับว่า Pro Musica ได้แสดงศักยภาพปรากฏให้เห็นถึงความสมบูรณ์ที่สุดของการบรรเลงในรูปแบบ string orchestra ที่พร้อมพรักด้วยนักดนตรีที่มีฝีมือและประสบการณ์สูง สามารถควบคุมท่วงทำนองหนักเบาแบบที่เรียกได้ว่า ‘เอาอยู่’ จนเชื่อได้ว่า Pro Musica จะเป็นวงที่สามารถบรรเลงดนตรีเชมเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่เชิดหน้าชูตาวงการดนตรีคสาสิกของไทยสืบไป

อย่างไรก็ดี การจำแลงแปลงต้นฉบับของ Mahler คงจะไม่มีอะไรให้กล่าวถึงมากนัก หากเป็นการเรียบเรียงบทเพลงอื่นที่ไม่ใช่บทเพลง Death and the Maiden ของ Schubert ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบของบทประพันธ์แบบ Quartet ซึ่งในยุคของ Schubert ได้รับการพัฒนาให้เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีบทบาทสำคัญเสมอกัน มีความสลับซับซ้อนและสอดสัมพันธ์กันต่างจากบทประพันธ์ Quartet ในยุคก่อนหน้า ผู้รู้ในปัจจุบันยอมรับว่า  ผลงานด้านนี้ของ Schubert ไม่ด้อยไปกว่างานของ Beethoven แต่มีอัตลักษณ์ของตน  บทเพลงนี้ Schubert ประพันธ์ขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงที่รู้ตัวว่าตนจะตายแล้ว และดำรงชีพอยู่ท่ามกลางความขื่นขม จนมีผู้กล่าวภายหลังว่า Death and the Maiden คือ ‘ประกาสิตมรณะ’ ของ Schubert โดยแท้  แม้ว่าคีตกวีจะขอยืมชื่อผลงานมาจากบทกวีบทหนึ่งก็ตาม

อันเรื่องความรัก และความตาย ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ถึงความรู้สึกที่ยากจะหาใดมาเทียมได้ การที่ Schubert เลือกใช้วง Quartet มาสะท้อนความรู้สึกจึงเป็นกุศโลบายที่นำมาซึ่งความโดดเด่นของบทเพลงนี้ สำหรับผู้เขียนเข้าใจได้ว่า การแสดงบทเพลงของ Schubert นั้นจะเหมาะเจาะอย่างยิ่งก็ด้วยการเล่นเดี่ยวแบบรวมวงดังเช่นวงเครื่องสาย 4 ชิ้น ซึ่งผู้แสดงต้องสื่ออารมณ์ให้สอดคล้องเป็นปัจเจก จึ่งจะได้อรรถรสดั่งที่ผู้ประพันธ์กลั่นออกมาจากใจ แต่เมื่อ Mahler นำ Death and the Maiden มาเรียบเรียงเป็น orchestra จึงเป็นต้นเหตุที่จำกัดการแสดงอารมณ์ของผู้เล่น เสียงที่ผลิตออกมาจึงกลายเป็นพายุแห่งความตาย แทนที่จะเป็นความสลดหดหู่พร้อมที่จะรับสภาวะความตายนั้น

บางครั้ง การจำแลงแปลงใหม่ ก็หาใช่สิ่งที่สมควรกระทำเสมอไป แกงจืดก็มีความอร่อยในตัวของมันเอง จะเอาแกงจืดมาปรุงเป็นต้มยำเพื่อให้รสชาติเปลี่ยนไป ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ควรทำ หากวันนั้น Death and the Maiden เล่นด้วยต้นฉบับแบบวง Quartet เราคงจะได้รับรู้วิญญาณที่เปี่ยมไปด้วยความรันทดของคนที่รู้ตัวว่าตนจะตาย และระบายถึงความรักที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงสั้นๆของคีตกวีอย่างเช่น Franz Schubert เป็นแน่แท้  ที่กล่าวมานี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน  ในยุคของเราที่  Mahler ได้กลายเป็นเทพไปแล้ว  อาจจะมีหลายท่านที่เห็นเป็นอย่างอื่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *