Graf Mourja กับความลุ่มลึกของ 24 Caprices ของ Paganini

Graf Mourja กับความลุ่มลึกของ 24 Caprices ของ Paganini

IMG_2601

วฤธ วงศ์สุบรรณ

หากจะนึกถึงนักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก คนส่วนใหญ่คงต้องนึกถึงนิคโคโล ปากานินี (Niccolò Paganini, 1782-1840) นักไวโอลินและคีตกวีชาวอิตาเลียนคนสำคัญของยุคโรแมนติด ทั้งจากชื่อเสียงในด้านการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจอย่างน่าอัศจรรย์ รวมไปถึงผลงานการประพันธ์ดนตรีสำหรับไวโอลินซึ่งผาดโผนพิสดาร เต็มไปด้วยเทคนิคอันแพรวพราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 24 Caprices for Solo Violin, Op.1 นั้น ถือได้ว่าเป็น “คัมภีร์” สำหรับนักไวโอลินชั้นสูงที่ต้องฝึกปรือฝีมือให้ก้าวไปถึงมาตรฐานที่ท่านปากานินีได้ตั้งไว้ และแน่นอนว่านักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่หลายท่านในยุคปัจจุบันต่างก็ได้บันทึกเสียงบทเพลงชุดนี้เอาไว้

สำหรับในเมืองไทยนั้นโดยส่วนตัวแล้วผมยังไม่เคยได้ฟังการแสดงบทเพลงชุดนี้ครบทั้ง 24 บท ในรายการเดียวกันมาก่อน (อย่างมากก็เป็นบางเพลงในโปรแกรมการแสดง หรือเพลงแถมของนักไวโอลินบางท่าน) ดังนั้นเมื่อทราบว่าทางกลุ่ม Pro Musica ได้เชิญนักไวโอลินชาวรัสเซีย กราฟ มูร์จา (Graf Mourja) มาแสดงบทเพลงชุดนี้  ครบทุกบท ทำให้ผมและผู้ฟังจำนวนหนึ่งรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ฟังการเดี่ยวไวโอลิน “ของจริง” ของบทเพลงชุดนี้จากแผ่นพับโฆษณาการแสดง พบว่านักไวโอลินผู้นี้ได้รับรางวัลจากการแข่งขันไวโอลินระดับนานาชาติมากมาย ส่วนหนึ่งก็คงจะทำให้เราคล้อยตามว่าเขาต้องเป็นนักไวโอลินที่มีฝีมือยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน แต่อีกแง่หนึ่งก็เกรงว่าเขาจะเป็นประเภท “ไฟแลบ” ที่เน้นความตื่นตาตื่นใจในเชิงเทคนิคเป็นหลัก

การแสดงครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “Lord of the Violin” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559 ณ ห้อง Salon 1 โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ซึ่งเป็นห้องขนาดเล็ก จุผู้ชมได้ประมาณ 50-60 ที่นั่ง (และมีลักษณะทางอุโฆษณาวิทยาไม่ค่อยดีนัก) สังเกตได้ว่าการตั้งชื่องานนั้นน่าสนใจมาก คำว่า Lord of the Violin นั้น แน่นอนว่าคงจะเป็นคำที่ยกย่องปากานินีว่าประดุจ “เจ้าแห่งไวโอลิน” แต่ในขณะเดียวกัน คำว่า Graf ในภาษาเยอรมันนั้นก็แปลว่าท่านเคาท์หรือขุนนางเช่นกัน (แต่ผมก็มิทราบได้ว่าคำว่า Graf นั้นภาษารัสเซียแปลว่าอะไร) จึงเหมือนกันการยกย่องกลายๆ ว่ากราฟ มูร์จา ก็เป็นเจ้าแห่งไวโอลินอีกคนหนึ่งเช่นกัน

เมื่อมูร์จาเริ่มบรรเลงขึ้นมา ก็ทำให้ผมรู้สึกเลยว่านักไวโอลินผู้นี้ไม่ใช่คนขี้โอ่หรือจงใจอวดฝีมือแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผมรู้สึกว่าเขาทำให้บทเพลงของปากานินี  มิให้เป็นเพลงโชว์เทคนิคอลังการอีกต่อไป แต่นี่คือดนตรีแท้ๆ ดนตรีที่มีความลึกซึ้ง มีรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในแต่ละเสียงอย่างมากมาย อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน โดยส่วนตัวผมนั้นฟัง คาปริซ 24 บท นี้ครั้งแรกด้วยแผ่นของ Itzhak Perlman ยอดนักไวโอลินชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอล แต่ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าบทเพลงชุดนี้มีความลึกซึ้งซ่อนอยู่ คิดแต่ว่าเป็นแบบฝึกหัดชั้นสูงสำหรับนักไวโอลินระดับที่จะเป็นนักแสดงเดี่ยว  เพื่อใช้ฝึกเล่นให้มีความเพียบพร้อมในด้านเทคนิคอันหลากหลายและพิสดารของไวโอลิน แต่มูร์จาได้ละความเป็นแบบฝึกหัดทั้งหมดไปแล้ว และเหลือไว้เพียงแต่การรับใช้ดนตรีให้ถึงที่สุด ซึ่งผมคิดว่าเพราะเขา “มาถึง” แล้ว ความสามารถในเชิงเทคนิคของเขาอยู่ตัวและไม่มีความจำเป็นจะต้องสร้างความตื่นตาให้คนฟังอีกต่อไปแล้ว

ผมคงต้องยกตัวอย่างบ้างเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพ แต่ก็คงไม่ได้ไล่ทุกบทว่ามูร์จาเล่นเป็นอย่างไรเช่นในบทที่ 1 ที่เป็นเทคนิคการเล่นที่เรียกว่าricochet เล่นเสียงสั้นๆ กระจายคอร์ดอย่างรวดเร็ว แต่มูร์จาก็เล่นอย่างไม่เร่งร้อน เพื่อให้เห็นถึงความชัดเจนของท่วงทำนองที่แฝงอยู่ในคอร์ดต่างๆ รวมทั้งมีการหยุดพักเล็กน้อยระหว่างประโยคเพื่อให้ผู้ฟังได้ซึมซับประโยคก่อนหน้านั้น หรือบทที่ 4 ซึ่งมีเป็นการเล่นหลายๆ สายพร้อมๆ กัน (multiple stop) ที่ซับซ้อน แต่เราก็รู้สึกได้ถึงความสนุกสนานในตัวเพลงซึ่งยังแฝงความนุ่มนวลอ่อนโยนไว้ด้วย รวมทั้งบทที่ 5 ซึ่งเป็นการเล่นไล่เสียงขึ้นลงไปมา และเล่นโน้ตสั้นๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งผมคิดว่าถ้าหากเล่นเร็วไปสักหน่อย ก็อาจจะไม่ทันสังเกตทำนองหลักที่แฝงอยู่ในโน้ตจำนวนมากมายที่ประดังเข้ามาหาผู้ฟัง แต่มูร์จาสกัดให้เราได้รับรู้ท่วงทำนองนั้นได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกบทคือ บทที่ 9 ซึ่งเป็นบทยอดนิยมที่ถูกนำไปเล่นอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมีทำนองที่ไพเราะเป็นพิเศษ และมีลีลาแบบเพลงเต้นรำ ซึ่งผมคิดว่ามูร์จาคงเห็นว่าเมื่อเป็นเพลงเต้นรำก็ต้องรักษาลีลานั้นไว้ ด้วยการเล่นแบบทอดจังหวะหรือเร่งจังหวะเป็นบางครั้ง อีกบทที่ผมชอบมากคือบทที่ 17 ซึ่งเป็นบทที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน ฟังสนุกๆ เพลิดเพลิน (แต่ในเชิงเทคนิคคงเป็นเรื่องไม่สนุกสำหรับนักดนตรีนัก) บทจะดุดันก็ค่อนข้างดุเดือดไฟแลบเลยทีเดียว แต่มูร์จาก็เล่นอย่างสบายอารมณ์ และในบทที่ 24 ซึ่งเป็นบทสุดท้ายและเป็นบทที่เป็นที่นิยมสูงสุด เพราะเป็นบทที่รวบรวมการใช้เทคนิคแทบทุกอย่างอยู่ในบทเดียว มีลักษณะเป็น theme and variations ซึ่งแต่ละ variation จะค่อยๆ เปลี่ยนเทคนิคการเล่นไปเรื่อยๆ ทำให้บทเพลงนี้มีความหลากหลายไม่น่าเบื่อและน่าสนใจมาก และต้องใช้ฝีมือเป็นอย่างมากเช่นกัน แต่มูร์จาก็เล่นได้อย่างไม่เคร่งเครียดเลย  พลอยทำให้ผู้ฟังรู้สึกเพลิดเพลินและซาบซึ้งไปกับบทเพลงด้วย

พูดไปพูดมาเดี๋ยวจะหาว่าผมยกย่องมูร์จาจนเลิศลอยฟ้าเกินไป ที่จริงเราผู้ฟังก็พอรู้สึกได้ว่าถึงแม้เขาจะมีฝีมือที่ยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ มิใช่เครื่องจักร ก็ยังมีผิดพลั้งได้บ้าง เช่นมี intonation คลาดเคลื่อนไปบ้าง หรือสีไปโดนสายอื่นที่ไม่ตั้งใจบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับมากมายจนทำให้เสียรสไป อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกได้ว่าเสียงไวโอลินของเขาในช่วงแรกๆ นั้นค่อนข้างทึบ น่าจะมาจากความชื้นของเมืองกรุงเทพฯ ที่ฝนตกตลอดเวลา แต่เมื่อเขาเล่นไปได้ซักพักก็ทำให้เครื่องร้อนและทำให้เสียงไวโอลินสดใสขึ้น แต่ที่น่าเสียดายคือห้อง Salon 1 นี้ทำให้เสียงค่อนข้างแห้ง ไม่ค่อยมีความกังวานมากนัก ซึ่งห้องที่ปูพรมและบุผนังด้วยผ้าหรือฟองน้ำเช่นนี้ คงจะเหมาะกับทำห้องเก็บเสียงมากกว่าห้องแสดงดนตรี

กล่าวโดยสรุปแล้วผมเห็นว่ากราฟ มูร์จา เป็นผู้ที่มีรสนิยมอันดีงาม และเป็นผู้ที่เข้าใจบทเพลงที่ตนเองเล่นอย่างลึกซึ้ง จนสามารถสกัดเอาท่วงทำนองที่ลุ่มลึกของปากานินีที่ถูกห่อหุ้มโดยเทคนิคแพรวพราวมาให้เราผู้ฟังได้ซาบซึ้งในอีกลักษณะหนึ่ง (ได้ทราบจาก อ.ทัศนา นาควัชระ ว่าคุณมูร์จา แสดงคาปริซ 24 บทนี้มาแล้วถึง 40 ครั้ง และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 41) ซึ่งต้องขอบคุณทาง Pro Musica ที่นอกจากจะสร้างสรรค์ผลงานการบรรเลงของตนเองแล้ว ยังได้เชิญนักดนตรีระดับยอดเยี่ยมจากต่างประเทศมาให้ผู้ฟังในบ้านเราได้เปิดหูเปิดตา แต่ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ห้อง Salon 1 แห่งนี้ที่นั่งว่างเสียเกือบครึ่ง (นี่ถ้าเป็นนักดนตรีที่มีอัตตาสูง คงยกเลิกการแสดงไปแล้วกระมัง แต่คุณมูร์จาก็เล่นอย่างเต็มใจ  เพียงทำให้ผู้ชมเกิดความสุขก็พอแล้ว) ได้ทราบจากทางผู้จัดว่ามีผู้สนใจโทรมาจองที่นั่งจนเต็ม แต่จะด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ ที่ทำให้ผู้ฟังบางส่วนมาไม่ได้ แต่เนื่องจากทางผู้จัดก็มิได้ให้ผู้จองต้องโอนเงินล่วงหน้าด้วย ดังนั้นจึงอาจจะเป็นการเสียโอกาสของผู้ที่สนใจก็เป็นได้ ทางฝ่ายจัดการคงต้องหามาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดมาเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ที่อาจเกิดขึ้นในคราวต่อไปด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *