BSO Classical Concert No. 4 : หลากรสจากดุริยางคนิพนธ์ของเบโธเฟน

BSO Classical Concert No. 4 : หลากรสจากดุริยางคนิพนธ์ของเบโธเฟน

13528543_1448979318461297_8469568239119608148_o

ธันฐกรณ์   ลัคนาศิโรรัตน์

 

คอนเสิร์ตในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นการแสดงของวง Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ในรายการ Classical Concert No.4 ของปีนี้  รายการประกอบด้วยดุริยางคนิพนธ์ของ Ludwig van Beethoven ล้วน โดยวาทยกรชาวอิตาลี Stefano Miceli และนักเปียโน Christian Leotta ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ตัวผมได้เคยมีโอกาสฟังการบรรเลงเปีนโนของ Christian Leotta มาก่อนหน้านี้แล้วถึง 2 ครั้ง เป็นการบรรเลง Piano Sonatas ของ Beethoven ทั้งหมด  กอปรกับทางผู้จัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตัว Leotta ว่าได้รับสมญานามว่าเป็น “King of  Beethoven” จึงไม่น่าแปลกใจที่ในคอนเสิร์ตนี้ที่มี  Leotta เป็นผู้บรรเลงเดี่ยวคอนแชร์โตของ Beethoven ถึง 2 บทในคอนเสิร์ตเดียวกัน ส่วนอีกเพลงหนึ่งนั้นเป็น Overture ของ Beethoven ซึ่งมีความหนักและโกรธเกรี้ยวทางอารมณ์อย่างมาก ทำให้ชวนสงสัยตั้งแต่แรกเมื่อเห็นโปสเตอร์และการประชาสัมพันธ์ผ่านสังคมออนไลน์ว่า เหตุใดจึงจัดโปรแกรมในลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ดี คอนเสิร์ตนี้มีผู้มารับฟังเป็นจำนวนมาก  และเป็นกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย ตั้งแต่ครูดนตรีระดับแนวหน้าของประเทศ ไปจนถึงนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับวงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย

คอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วย Coriolan Overture ซึ่งเบโธเฟนประพันธ์ให้กับกวีชาวออสเตรียคือ Heinrich Joseph von Collin (ค.ศ. 1771-1811) เพื่อใช้ในการแสดงโศกนาฏกรรมเรื่อง Coriolan อันมีเค้าโครงมาจากบทละครของเชกสเปียร์เรื่อง Coriolanus  บทละครกล่าวถึง Gaius Marcius Coriolanus แม่ทัพและนักการเมืองแห่งกรุงโรมโบราณที่เพิ่งกลับจากสงคราม ทว่าชาวเมืองกลับมิได้เลือกเขาเป็นสมาชิกสภาเมือง Coriolanus ผู้ผิดหวังและโกรธแค้นได้แปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับศัตรูที่ตนเพิ่งกำราบไป  แล้วร่วมมือกันกรีธาทัพเข้าประชิดกรุงโรม เพื่อนเก่าของแม่ทัพรวมถึงมารดาขอร้องให้เขาถอนทัพกลับไป เขาทำตามคำขอร้องของมารดา  แต่ Coriolanus ก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทิ้งศักดิ์ศรีของตนได้ (แตกต่างจากบทประพันธ์ต้นฉบับของเชกสเปียร์ที่กล่าวไว้ว่า Coriolanus ยอมยกทัพกลับไปและถูกลอบสังหารในที่สุด)

วงดุริยางค์บรรเลงด้วยความหนักแน่น โกรธขึ้ง สร้างความฮึกเหิมให้แก่ผู้ฟังเป็นอันมาก เมื่อวงบรรเลงถึงจุดที่มีความอ่อนโยนอันแสดงถึงความเมตตาของมารดาที่มีต่อ Coriolanus ก็สามารถบรรเลงได้อย่างถึงอารมณ์ ชวนให้เคลิบเคลิ้มและเกิดความสะเทือนใจ  ทว่าในความอ่อนหวานนั้นก็แฝงไปด้วยความแข็งกร้าวอยู่ด้วย  บทเพลงสลับไปมาระหว่างความโกรธเกรี้ยวกับความอ่อนหวาน สื่อถึงความสับสนในอารมณ์ของตัวเอก ซึ่งวงสามารถปรับอารมณ์ตามบทเพลงได้ และจบลงด้วยความสงบ ราวกับความโกรธแค้นได้สลายไปพร้อมกับชีวิตของวีรบุรุษ วาทยกรในค่ำคืนนี้ตีความได้ค่อนข้างจะแตกต่างกับวาทยกรท่านอื่นๆที่เราคุ้นเคยกัน นับเป็นการตีความที่แปลกใหม่และน่าสนใจ ทว่าความสมดุลของเสียงที่บรรเลงออกมาตลอดบทเพลงนั้นกลับไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก เพราะกลุ่มเครื่องเป่ามักจะบรรเลงกลบเครื่องสายอยู่เสมอ ทำให้เสียอรรถรสในการฟังไปพอสมควร ซึ่งเดาได้ว่าเป็นเพราะเครื่องยังไม่ร้อนดีนักก็ว่าได้

บทเพลงถัดไปคือ Piano Concerto No.3 ผลงานลำดับที่ 37 ของเบโธเฟนเช่นกัน  เบโธเฟน
ประพันธ์งานชิ้นนี้สำหรับให้ตนเองเป็นผู้แสดงเดี่ยว บทเพลงนี้ผมชอบเป็นส่วนตัว เพราะเป็นผลงานที่เบโธเฟนใช้คีย์ C minor ในการประพันธ์ ซึ่งผลงานที่เบโธเฟนใช้บันไดเสียงนี้มักจะเป็นบทเพลงที่มีความยิ่งใหญ่และรุนแรงทางอารมณ์  สร้างความไพเราะได้ในแบบที่กระทบอารมณ์ เปียโนคอนแชร์โตบทนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น  ประกอบกับการประสานระหว่างเปียโนกับวงดุริยางค์ก็มีความงดงามในแบบของเบโธเฟน  ในคอนเสิร์ตนี้ Christian Leotta ก้าวเดินออกมาด้วยรอยยิ้มที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจก่อนที่จะเริ่มบรรเลง

วงดุริยางค์เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องสายอันแผ่วเบาแต่แฝงด้วยพลัง เครื่องเป่าเข้ามารับช่วงบรรเลงต่อได้อย่างเข้ากัน  ต่างจากบทเพลงก่อนหน้านี้มาก  อารมณ์ของเพลงเริ่มเผยแสดงออกมา วงสามารถบรรเลงได้อย่างหนักแน่นแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่อารมณ์ที่สงบลง แต่กลับดุดันขึ้นอีกครั้งเพื่อต้อนรับการบรรเลงของผู้แสดงเดี่ยว เมื่อ Leotta จรดปลายนิ้วลงบนเปียโน บรรเลงโน้ตตัวแรก  ผู้ฟังย่อมอดประหลาดใจไม่ได้  เพราะเสียงที่ออกมากลับแปร่งอย่างไม่น่าฟังนัก  อย่างไรก็ดี  ผู้แสดงเดี่ยวนั้นก็สามารถที่จะบรรเลงให้เสียงของตนมีความชัดเจนในทุกตัวโน้ต เพียงแต่เสียงของเปียโนนั้นทำให้ความชัดของตัวโน้ตกลายเป็นความแข็งกระด้างอันไม่พึงปรารถนา  เป็นการทำให้เสียรส  นอกจากนี้  Leotta ก็บรรเลงแนวประสานกลบทำนองหลักไปด้วย ทำให้ในท่อนนี้ไม่สู้จะลงตัวนัก ในบางจุดที่เปียโนกับวงมีการยืดจังหวะและต้องบรรเลงพร้อมๆกันนั้น ก็ยังเหลื่อมกันมากพอสมควร การแสดงยังคงเป็นลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงช่วง Cadenza ซึ่งเปิดโอกาสให้  Leottaได้แสดงเทคนิคชั้นสูงให้กับผู้ฟังได้ตื่นตะลึงไปตามกัน  แล้วจึงส่งต่อให้วงรับช่วงจนจบกระบวนแรกด้วยคอร์ดอันหนักหน่วง

ในกระบวนที่ 2 คาดว่า Leotta จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับเปียโนเจ้ากรรมได้แล้ว เพราะเสียงเปียโนลดความแข็งกระด้างลงเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นไปได้ว่ากระบวนนี้เป็นกระบวนที่บรรเลงช้าๆ และแผ่วเบา ทำให้ผู้แสดงเดี่ยวสงบจิตใจลงได้แล้ว  และก็เริ่มปรับตัวได้เช่นกัน ในท่อนนี้เปียโนบรรเลงได้อย่างหวานระรื่นหู  Leotta สามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม  การบรรเลงมีความอ่อนหวานชวนฝัน  เขาบรรเลงกระบวนนี้จบไปได้อย่างน่าจดจำ

กระบวนสุดท้ายเปิดตัวด้วยเสียงเปียโนที่มีความเข้มแข็ง แต่มิได้กระด้างอีกต่อไป ราวกับความงดงามในกระบวนที่แล้วลบล้างความกระด้างออกไปจนหมดสิ้น เป็นท่วงทำนองที่มีความงดงาม และแฝงไปด้วยพลัง  ราวกับลมที่พัดแรงกล้า วงดุริยางค์รับช่วงต่อได้อย่างแนบเนียนกอปรด้วยความรุนแรง  ทั้งผู้บรรเลงเดี่ยวและวงต่างสลับกันมีบทบาทนำ ผลัดกันรุกรับได้เข้ากันอย่างดี ปัญหาที่พบในท่อนต่างๆเริ่มจะสะสางลงได้เกือบทั้งหมด แต่ยังมีบางครั้งที่ทำนองประสานมากลบทำนองหลัก ทำให้เสียอารมณ์ไปบ้าง ในการบรรเลงกระบวนนี้ สิ่งที่ค่อยๆเพิ่มเข้ามาในการบรรเลงคือความเจิดจ้าสดใสราวกับจะลบล้างพายุอันรุนแรงไปจนหมดสิ้น แล้วนำไปสู่บทสรุปของดุริยางคนิพนธ์ชิ้นนี้อย่างยิ่งใหญ่และงดงาม

บทเพลงสุดท้ายหลังจากการพักครึ่งเวลา คือ Piano Concerto No.5 ผลงานลำดับที่ 73 ของเบโธเฟน  หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “Emperor” ซึ่งประพันธ์ขึ้นเพื่อถวาย Archduke Rudolf นักเรียนเปียโนคนหนึ่งของเบโธเฟนเริ่มต้นบทเพลงด้วยวงดุริยางค์บรรเลงคอร์ดอย่างยิ่งใหญ่ เปียโนบรรเลงตอบรับได้อย่างสมศักดิ์ศรี เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง  แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ท่วงทำนองหลักที่บรรเลงโดยเครื่องสายที่มีความอลังการ ส่งต่อให้กับคลาริเน็ตที่บรรเลงทำนองเดียวกัน  แต่ลดทอนความเข้มแข็ง  แล้วเสริมด้วยความอ่อนหวาน ตัวผู้บรรเลงคลาริเน็ตก็มีฝีมือถึงขั้นที่จะสื่ออารมณ์ได้อย่างเหมาะสม  เมื่อถึงจุดที่เปียโนเข้ามามีบทบาทในการแสดง วงก็สามารถปรับตัวไปเป็นการบรรเลงประกอบได้อย่างทันท่วงที เสียงเปียโนนั้นเข้มแข็ง มีพลัง และความชัดเจนของตัวโน้ต  ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Leotta ทำให้การบรรเลงเป็นไปอย่างมีรสชาติอย่างมาก ทิศทางของการบรรเลงค่อยๆ เปลี่ยนเข้าสู่ความอ่อนหวาน ราวกับว่าผู้ประพันธ์ต้องการสื่อถึงความเมตตาแห่งองค์จักรพรรดิ ส่วนความเข้มแข็งนั้นอาจจะสื่อถึงความเด็ดขาดแห่งพระราชอำนาจ โดยรวมแล้ว กระบวนนี้สามารถบรรเลงได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะ Cadenza ที่เบโธเฟนกำหนดให้ใช้คาเดนซาที่ตนเขียนขึ้นในการบรรเลงเท่านั้น Leotta บรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ดังที่คีตกวีต้องการ

ในกระบวนที่ 2 ที่มีความอ่อนหวานในตัวบทประพันธ์นั้น ทั้งวงและผู้แสดงเดี่ยวกลับไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ดีเท่ากับกระบวนที่ 2 ในคอนแชร์โตบทแรก แต่การบรรเลงกลับมีความลงตัวในเรื่องสมดุลของเสียงเป็นอย่างดี แล้วจึงส่งต่อเข้าสู่กระบวนสุดท้าย

กระบวนสุดท้ายนี้มีจุดเริ่มที่ต่อกับกระบวนที่ 2 หรือที่เรียกเป็นภาษาดนตรีว่า attacca ซึ่งแตกต่างกับกระบวนก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง เพราะเปิดตัวขึ้นมาด้วยการที่เปียโนบรรเลงด้วยเสียงดัง ปลุกผู้ฟังให้ตื่นขึ้นจากภวังค์ ต้องยอมรับว่าเป็นโน้ตที่ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี วงดุริยางค์บรรเลงตอบรับด้วยทำนองเดียวกันในลักษณะของความยิ่งใหญ่ดุจเดียวกัน ความยิ่งใหญ่ของบทเพลงสามารถสื่อผ่านการบรรเลงของวงและ Leotta ได้อย่างสมบูรณ์  นับเป็นจุดสูงสุดของคอนเสิร์ตครั้งนี้ และจบบทเพลงด้วยความยิ่งใหญ่  ผู้ฟังตอบรับพร้อมด้วยเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

เสียงปรบมือดังต่อเนื่อง จน Leotta ต้องขึ้นมาบรรเลงเพลงแถมอีกครั้ง นั่นคือ Andante จาก Piano Sonata No.25 ผลงานของเบโธเฟนเช่นเดียวกัน Leotta บรรเลงได้เศร้าโศก อ่อนหวาน ชวนให้ผู้ฟังมีอารมณ์คล้อยตามไปกับบทเพลง เสียงเปียโนนั้นไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป

หลายๆท่านอาจจะมองว่า การจัดรายการเพลงในคอนเสิร์ตนี้ออกจะแปลกประหลาดไปบ้าง เพราะไม่มีเพลงให้ผ่อนคลายอารมณ์  ทว่าผมกลับคิดต่างไป เพราะการผ่อนคลายนั้นก็มีอยู่ในท่อนช้าของคอนแชร์โตทั้งสองบทอยู่แล้ว อีกประการหนึ่ง ต้องยอมรับว่า Christian Leotta เป็นนักดนตรีที่ใจถึงมากอีกท่านหนึ่งที่กล้าที่จะบรรเลงคอนแชร์โตแห่งยอดคีตกวีถึง 2 บทในคอนเสิร์ตเดียวกัน ไม่เพียงแต่จะแสดงถึงความมั่นใจในเทคนิคอันแพรวพราวและการตีความของตนเองแล้ว แต่เขายังมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความงดงามของดุริยนิพนธ์ทั้ง 2 ชิ้นนี้ไปสู่ผู้ฟังอีกด้วย อนึ่ง การที่มีสถานทูตอิตาลีเป็นผู้สนับสนุนนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การไม่เก็บค่าเข้าชมนั้น ผมไม่สู้จะเห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะผู้ฟังจะไม่ได้ดื่มด่ำกับดนตรีที่นักดนตรีทุกคนตั้งใจบรรเลงอย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องลงทุนลงแรงใดๆ เลย  การเก็บค่าเข้าชมแม้จะเพียงน้อยนิดพอเป็นพิธี  ก็จะทำให้ผู้ฟังเห็นคุณค่าของดุริยางคศิลป์ยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *