Bangkok String Quartet กับการฉลองครบรอบ 110 ปีเกิดของ Shostakovich

Bangkok String Quartet กับการฉลองครบรอบ 110 ปีเกิดของ Shostakovich

img_4131-1วฤธ วงศ์สุบรรณ

คอนเสิร์ตล่าสุดของวง Bangkok String Quartet (BSQ) ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีเครื่องสายระดับแถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่ ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ (ไวโอลิน 1) อ้อมพร โฆวินทะ (ไวโอลิน 2) มิติ วิสุทธิ์อัมพร (วิโอลา) และอภิชัย เลี่ยมทอง (เชลโล) เมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน 2559 ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา สยาม นั้น เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตอกย้ำว่ากลุ่มเชมเบอร์มิวสิคว่ามิได้มีอะไรด้อยไปกว่าวงซิมโฟนีออร์เคสตราใหญ่ๆ เลย การจัดรายการในการแสดงครั้งนี้ก็เป็นไปอย่างหลากหลายและน่าสนใจ มีลีลาที่แตกต่างกันไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่กว้างขวางและลึกซึ้งในการแสดงออกของวงสตริงควอร์เต็ต ที่เป็นยิ่งกว่าการย่อวงออร์เคสตรามาไว้ในเครื่องสายสี่ชิ้น  ผมขออนุญาติกล่าวซ้ำอีกครั้ง Lord Yehudi Menuhin ยืนยันว่าสตริงควอร์เต็ตคือมรดกทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกตะวันตกได้ฝากเอาไว้

เพลงแรกเริ่มต้นด้วย Crisantemi โดย Giacomo Puccini (1858-1924) คีตกวีชาวอิตาเลียน ซึ่งเรารู้จักกันดีในผลงานด้านอุปรากร แต่ในรายการนี้ก็ทำให้ทราบว่าปุชชินีก็มีความสามารถในด้านการประพันธ์เพลงสำหรับเชมเบอร์มิวสิคด้วย และที่สำคัญคือเพลงนี้ปุชชินีอุทิศให้ผู้วายชนม์ด้วย จึงแสดงถึงความเศร้า อย่างสุดซึ้ง และวง BSQ ก็บรรเลงออกมาได้อย่างลึกถึงอารมณ์ของเพลงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความหม่นหมองของเสียงและท่วงทำนอง

ตามมาด้วย String Quartet, Op.18 No.6 in B-flat Major (La Melinconia) ของ Ludwig van Beethoven (1770-1827) ซึ่งเพลงนี้ วงโปรมูสิกาเพิ่งบรรเลงไปเมื่อปีที่แล้ว และสมาชิกของวงอย่าง อ.ศิริพงษ์ และ อ.มิติ ก็ร่วมบรรเลงในครั้งนั้นด้วย (ยังไม่นับว่าการแสดงในครั้งนั้นก็บรรเลง ณ ห้องพิมานแมนแห่งนี้เช่นกัน) ทำให้รู้สึกว่าสมาชิกของวงมีความคุ้นเคยกับบทเพลงนี้ดีเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจการแสดงครั้งนี้ คือความสมดุลของเสียงแต่ละเครื่องดนตรี โดยเฉพาะในกรณีของไวโอลิน 2 ซึ่งบ่อยครั้งจะถูกเสียงไวโอลิน 1 กลบเสียเกือบหมด แต่มาในคราวนี้ อ.อ้อมพร เล่นได้อย่างโดดเด่น มีเสียงที่คมชัด แต่ก็ไม่ไปรบกวนไวโอลิน 1 และส่วนอื่นๆ ให้รู้สึกว่าโดดเด่นจนเกินไป เช่นเดียวกับวิโอลาของ อ.มิติ ที่แม้ว่าจะมีบทบาทในการเดินท่วงทำนองค่อนข้างน้อยกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ แต่ก็ทำหน้าที่เป็นเสียงประสานและคุมจังหวะได้อย่างดีและมีเสียงที่ชัดเจนและน่าฟัง ส่วนไวโอลิน 1 กับเชลโลนั้นมีความโดดเด่นอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ได้ยินเครื่องดนตรีทั้ง 4 ชิ้นได้อย่างชัดเจนทัดเทียมกัน และที่สำคัญอีกอย่างคือทั้งนักดนตรี 4 สามารถถ่ายทอดอารมณ์อันหลากหลายของเบโธเฟนได้อย่างชัดเจนและไพเราะงดงาม มีความพร้อมเพรียงและรู้ใจกันสูงมาก ได้ยินมาว่าก่อนการแสดงครั้งนี้ ทางวงได้ทำการจัดเวิร์คชอปเกี่ยวกับการบรรเลงเชมเบอร์มิวสิค และก็ได้แสดงสาธิตไปด้วย เข้าใจว่าจึงทำให้ได้ซ้อมกันมาอย่างเข้มข้นก่อนการแสดงในค่ำคืนนี้ จึงทำให้การแสดงครั้งนี้ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม

ส่วนในครึ่งหลัง เริ่มต้นด้วยเพลงสั้นๆ ที่คุ้นหูอย่าง Libertango ผลงานของ Astor Piazzolla (1921-1992) คีตกวีชาวอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นคีตกวีคนสำคัญของดนตรีสไตล์แทงโกแบบอาร์เจนตินา โดยส่วนตัวนั้นผมค่อนข้างชื่นชอบเพลงแทงโกอยู่แล้ว ซึ่งโดยรวมแล้วผมคิดว่าวง BSQ สามารถเล่นได้อย่างดี มีความน่าฟัง แต่ก็ยังรู้สึกไม่ค่อยจุใจนัก เหมือนวงออมแรงไว้เล่นเพลงต่อไป

มาถึงเพลงเอกของรายการนี้ คือ String Quartet No.3 in F Major, Op.73 (War Quartet) โดย Dmitri Shostakovich (1906-1975) คีตกวีชาวรัสเซีย ซึ่งวันเกิดของท่านตรงกับวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1906 ดังนั้นในปีนี้ (หรือวันรุ่งขึ้นจากการแสดง) จึงเป็นปีครบรอบวันเกิดปีที่ 110 ของชอสตาโกวิช ซึ่งถือว่าเป็นคีตกวีที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เข้าใจว่าคงเป็นความตั้งใจของวงที่เลือกบรรเลงผลงานของท่านเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระนี้ด้วย ซึ่งก่อนบรรเลง อ.อภิชัยก็ได้อธิบายถึงความหมายของเพลง โดยรวมนั้นเป็นเพลงที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านสงคราม ลีลาทำนองของตัวเพลงนั้นสื่อออกมาถึงความรู้สึกอันหลากหลายในสภาวะของสงคราม มีทั้งเพลงชาวบ้าน เพลงทหาร การสู้รบ ความตาย และจบท้ายด้วยการตั้งคำถามว่าสงครามจะมีไปเพื่ออะไร ซึ่งในกระบวนที่ 5 Moderato ที่สื่อถึงการตั้งคำถามและความฉงนสงสัยนั้น โดยส่วนตัวผมค่อนข้างประทับใจกระบวนนี้มากที่สุด กล่าวคือในกระบวนก่อนหน้านี้ชอสตาโกวิชสามารถแสดงออกถึงอารมณ์ของแต่ละกระบวนได้อย่างชัดเจน ทั้งความรื่นเริงของชาวบ้าน ความขึงขังของทหาร การสู้รบอันตื่นเต้น หรือความหม่นเศร้าของความตาย แต่กระบวนที่ 5 นี้ กลับสร้างบรรยากาศของความสงสัย ซึ่งผมคิดว่าเป็นความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาด้วยเสียงดนตรีได้ไม่ง่ายนัก แต่ทั้งท่วงทำนอง ลีลา และการประสานเสียงของกระบวนนี้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นใจ ความฉงนสงสัย และความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากต้องยกย่องความสามารถของคีตกวีแล้ว นักดนตรีของเรายังถ่ายทอดทั้ง 5 กระบวนได้อย่างงดงาม มีความลึกซึ้งของการบรรเลงมาก โดยเฉพาะในกระบวนที่เกี่ยวกับความเศร้าหมอง แต่ในขณะเดียวกันกระบวนที่รวดเร็วรุกเร้านั้นก็สามารถปลุกเร้าอารมณ์ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี เมื่อเพลงนี้จบลงจึงได้รับเสียงปรบมือจากผู้ฟังอย่างกึกก้องและยาวนานเป็นพิเศษ

จากนั้นวงจึงปิดท้ายด้วยเพลงสบายๆ อย่าง The Girl from Ipanema เพลงยอดนิยมของ Antonio Carlos Jobim (1927-1994) คีตกวีชาวบราซิลซึ่งเป็นผู้นำของแนวดนตรีบอสซาโนวา ซึ่งวงก็เล่นได้อย่างไพเราะน่าฟังอีกเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าวงสตริงควอร์เต็ตนั้นสามารถเล่นดนตรีที่หลากหลายได้ แม้กระทั่งเพลงที่ดูเหมือนจะเข้าใจง่ายแต่ก็มีความซับซ้อนอย่างบอสซาโนวา ก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดีและหลังจากได้รับเสียงปรบมือชื่นชมอย่างยาวนาน ทางวงจึงมอบเพลงแถม (encore) ปิดท้าย ด้วยเพลง Por una Cabeza ของ Carlos Gardel (1890-1935) คีตกวีชาวอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ประพันธ์บทเพลงแทงโกอมตะคนสำคัญ โดยเพลงนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายจากภาพยนตร์เรื่อง Scent of a Woman และเป็นที่นิยมเล่นกันมากมายรวมทั้งวงสตริงควอร์เต็ตด้วย แต่ต้องยอมรับว่าเท่าที่ได้ฟังของจริงในเมืองไทยมาหลายครั้ง คงไม่มีครั้งไหนประทับใจเท่าครั้งนี้ ด้วยฝีมือของนักดนตรีชั้นยอดของเมืองไทย และที่สำคัญทุกคนรักการเล่นเชมเบอร์มิวสิคและสตริงควอร์เต็ต ทำให้เสียงที่ออกมาจากนักดนตรีทั้ง 4 ท่านนั้นจึงมีความสอดคล้องกลมกลืนกัน และมีความแม่นยำของทั้งระดับเสียงและจังหวะด้วย โดยเฉพาะเสียงประสานของไวโอลิน 1 และ 2 ก็หวานซึ้งจับใจ ช่วยเพิ่มความอิ่มเอมใจให้กับผู้ฟัง

แม้ว่าการแสดงในครั้งนี้จะเป็นที่ประทับใจของผมและผู้ฟังในค่ำคืนนั้นมากเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งก็คงจะเป็นเรื่องเดิมๆ คือมีผู้ฟังเพียงประมาณครึ่งเดียวของความจุ ส่วนหนึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะมีการแสดงรายการอื่นในวันเดียวกัน ซึ่งทำให้ดึงผู้ชมไปได้บ้าง และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ ซึ่งเราผู้ฟังผู้รักดนตรีก็คงต้องช่วยกันชักชวนเพื่อนฝูงให้มาฟังกันต่อไป โดยเฉพาะนักเรียนดนตรีเครื่องสาย ที่จะได้เห็นตัวอย่างที่ดีของนักดนตรีรุ่นครู และนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการเล่นเชมเบอร์มิวสิคของตนต่อไป ซึ่งนักดนตรีใหญ่ๆ ระดับโลกทั้งหลายก็ยอมรับกันว่าเป็นการฝึกการเล่นดนตรีที่ดีที่สุด ซึ่งคุณครูกลุ่มนี้ก็พิสูจน์มาแล้วว่า เพราะเชมเบอร์มิวสิคนี่เองที่ช่วยรักษาฝีมือและทำให้พวกเขายืนอยู่แถวหน้าของวงการได้เสมอมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *