Pro Musica กับการบูชาครูผู้ให้กำเนิดวง หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช

Pro Musica  กับการบูชาครูผู้ให้กำเนิดวง หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช

วฤธ วงศ์สุบรรณ

      เมื่อกล่าวถึงพลเรือเอกหม่อมหลวงอัศนี  ปราโมช  หลายท่านย่อมทราบดีว่าท่านเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงดนตรีสากล  เนื่องด้วยท่านมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมายทั้งในด้านการบรรเลง  การกำกับวง และการประพันธ์ดนตรี  ผลงานที่เราคุ้นเคยกันมากคือการเรียบเรียงดนตรี (orchestration) บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งผู้ฟังและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านยกย่องว่าเป็นการเรียบเรียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ฯ ที่ยอดเยี่ยมอย่างหาที่เปรียบได้ยาก และได้รับการนำมาบรรเลงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งโดยวงดุริยางค์ราชนาวี วงรอยัลบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา  วงดนตรีชั้นนำจากต่างประเทศ  และวงโปรมูสิกา ซึ่งเป็นวงดนตรีที่มีความผูกพันกับท่าน  นอกจากนี้  ท่านยังมีผลงานด้านการประพันธ์อีกจำนวนไม่น้อย  ผมเองตั้งแต่เริ่มติดตามวงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 มาจนถึงปัจจุบัน ก็ได้รับฟังผลงานของ “ท่านอาจารย์หม่อม”มาไม่น้อยเช่นกัน และหลายครั้งก็เป็นการรับฟังการแสดงรอบปฐมทัศน์ (world première) ซึ่งกำกับวงหรือบรรเลงโดยท่านอาจารย์หม่อมเองด้วย (บางบทเพลงก็ได้รับการบรรเลงซ้ำจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดท่าน เช่น อ. ทัศนา นาควัชระ และ อ. ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ) ซึ่งแต่ละครั้งที่ได้ฟัง ก็นำมาซึ่งความพึงพอใจและความชื่นชมในฝีมือการประพันธ์ของท่าน

          เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2560 ย่อมเป็นที่รู้สึกเศร้าสะเทือนใจต่อผู้รักดนตรีทั้งหลาย เนื่องจากท่านนับได้ว่าเป็นผู้อาวุโสของวงการและเป็นครูบาอาจารย์ของคนในวงการดนตรีคลาสสิกเป็นส่วนใหญ่ วงดนตรีโปรมูสิกา (Pro Musica) ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ท่านก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2501 (ต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นวงบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา ในปี 2525 และได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2555 เพื่อให้เป็นวงดนตรีประเภท chamber orchestra) นำโดยหัวหน้าวง คือ อ.ทัศนา นาควัชระ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์หม่อมมาโดยตลอด จึงได้จัดคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกถึงท่าน โดยใช้ชื่องานว่า “Saluting the Maestro” (ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าเป็นการ “บูชาครู” ผู้ให้กำเนิดวง)  โดยออกแสดงเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์  มีการนำบทเพลงของท่านมาบรรเลง 2 เพลง คือ Concertino for Oboe and Strings และ Jazz Impressions พร้อมด้วยอีก 2 บทเพลงจากคีตกวีเอกในยุคคลาสสิก และยุคโรแมนติก ได้แก่ Adagio in E major for Violin and Orchestra, K. 261 ผลงานของโมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756-1791 : คีตกวีชาวออสเตรีย) และ “Crisantemi” Elegy for String Orchestra  ผลงานของปุชชินี (Giacomo Puccini, 1858-1924 : คีตกวีชาวอิตาเลียน)

          การบรรเลงเริ่มต้นด้วย Crisantemi เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยให้แก่ผู้วายชนม์ (ซึ่งในที่นี้คือ Duke of Savoy ผู้อุปถัมภ์ของปุชชินี)  มีความโศกเศร้าหม่นหมองสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง เป็นการบรรเลงโดยไม่มีวาทยกร เพราะ อ. ทัศนา ก็ร่วมบรรเลงในบทเพลงนี้ด้วย เสียงของวงยังคงความเข้มข้น มีอารมณ์ความรู้สึกและความหนักแน่น (dynamic) ที่เข้มข้นและหลากหลาย เท่าที่สังเกตนักดนตรีภายในวงจะมองซึ่งกันและกันโดยตลอด  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการบรรเลงดนตรีเชมเบอร์ คือการฟังซึ่งกันและกัน และการสื่อสารด้วยตา (eye contact) ระหว่างกัน ซึ่งทุกคนก็ทำได้เป็นอย่างดี ทำให้การบรรเลงออกมาได้อย่างน่าฟัง และสะเทือนอารมณ์ตามเจตนารมณ์ของบทเพลงได้เป็นอย่างดี

          ตามมาด้วยบทเพลง Concertinofor Oboe and Strings  หรือถ้าแปลกันตรงตัวก็คือ คอนแชร์โตขนาดย่อมสำหรับโอโบและวงเครื่องสาย แต่ผมคิดว่าท่านอาจารย์หม่อมตั้งชื่อค่อนข้างจะเป็นการถ่อมตนอย่างยิ่ง เพราะเท่าที่ผมฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกว่าไม่ง่ายเลยโดยเฉพาะในกระบวนที่ 2 ที่มีเสียงโหยหวนแปลกๆ ซึ่งน่าจะผลิตเสียงลักษณะนี้ได้ไม่ง่ายนัก ต้องใช้ความสามารถระดับสูงของผู้บรรเลงอีกทั้งยังมีท่วงทำนองและลีลาที่เป็นสำเนียงไทยค่อนข้างมาก แต่ก็ผสมด้วยบรรยากาศของบทเพลงที่คล้ายๆ ยุคบารอคด้วย ถ่ายทอดออกมาด้วยเสียงโอโบของ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มือโอโบระดับแนวหน้าของเมืองไทย ให้ทั้งความสนุกสนานคึกคัก และอารมณ์ที่อ่อนหวานงดงาม บางช่วงก็ชวนให้คิดว่าท่านอาจารย์หม่อมเอาลีลาแบบเพลงฝรั่งแท้ๆ มาเพื่อรองรับความเป็นโอโบด้วย แต่บางช่วงก็กลับมาที่สำเนียงไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะกระบวนที่ 3 ซึ่งมีทำนองที่สนุกสนานและผาดโผน ในส่วนของวงก็ตามผู้แสดงเดี่ยวได้อย่างไม่มีปัญหา อ. ทัศนา ที่ในบทเพลงนี้ผันตัวมาเป็นวาทยกรอย่างเต็มตัว ก็กำกับวงให้ไปในทิศทางเดียวกับ อ. ดำริห์ ได้เป็นอย่างดี โดยรวมแล้วบทเพลงนี้นับว่าเป็นอีกเพลงหนึ่งที่สะท้อนลีลาการประพันธ์ของท่านอาจารย์หม่อมได้เป็นอย่างดี

          ถัดมาให้ครึ่งหลังของรายการ เริ่มด้วยบทเพลง  Adagio in E major for Violin and Orchestra  ของโมสาร์ต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ชื่นชอบเสียงไวโอลิน นับเป็นบทเพลงที่อ่อนหวานไพเราะมากอย่างยิ่งอีกเพลงหนึ่งของโมสาร์ต  ชวนให้นึกถึงท่อนช้าของไวโอลินคอนแชร์โต หรือเปียโนคอนแชร์โตบางบทของโมสาร์ต ที่มีความไพเราะอย่างหาที่เปรียบได้ยาก (ส่วนตัวผมเองฟังแล้วก็ชวนให้คิดถึง Romance for Violin and Orchestra Op.40 และ Op.50 ของเบโธเฟนซึ่งเป็นคีตกวีรุ่นน้องที่ได้รับอิทธิพลจากโมสาร์ตมาไม่น้อยในชีวิตการทำงานของท่าน) ซึ่งในส่วนของผู้แสดงเดี่ยวคือ อ. ทัศนา ซึ่งทั้งแสดงเดี่ยวและกำกับวงด้วยในเวลาเดียวกัน ก็สามารถจัดการวงได้เป็นอย่างดี มีความพร้อมเพรียง  เสียงของวงมีความหนักแน่น เครื่องเป่าอย่างฟลูตและเฟรนช์ฮอร์นก็ช่วยเสริมความงดงามของทำนองและเสียงประสานได้อย่างดีมาก ส่วนเสียงไวโอลินของ อ. ทัศนา ก็หวานไพเราะตามมาตรฐานที่ผู้ฟังคุ้นเคย ที่น่าสนใจคือในช่วง cadenza นั้น อ. ทัศนาได้สอดแทรกทำนองจากเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มาอ้างอิงไว้ด้วย เป็นการชวนให้ผู้ฟังรำลึกถึงรัชกาลที่ 9 ด้วย

          และในบทเพลงสุดท้ายของรายการ คือ Jazz Impressions นั้น ผมเองได้ฟังบทเพลงนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยวง Bangkok Symphony Orchestra โดยท่านอาจารย์หม่อมเป็นวาทยกรเอง (ไม่มั่นใจว่าเป็นการแสดงรอบปฐมทัศน์หรือไม่) โดยครั้งนั้นผมได้เขียนชื่นชมไว้ว่าบทเพลงนี้มีความไพเราะงดงาม ฟังสบาย นักฟังทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผมคงจะเปรียบเทียบไม่ได้ว่าครั้งใดประทับใจกว่ากัน เพราะระยะเวลาห่างกันนานจนเกินความทรงจำแล้ว  แต่ผมก็ยังรู้สึกประทับใจในท่วงทำนองและลีลาของตัวบทเพลง ร่วมไปกับการบรรเลงที่ไพเราะของวงในครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสายที่มีพลัง หนักแน่น แต่ก็อ่อนหวาน สดใส และกลุ่มเครื่องเป่าซึ่งประกอบไปด้วยโอโบ 2 ตัว และเฟรนช์ฮอร์น 2 ตัว ที่เป็นตัวแทนของเครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเป่าทองเหลืองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกระบวนแรก (Blues) ซึ่งให้ทำนองหลักแก่โอโบทั้งสอง บรรเลงประสานกันได้เป็นอย่างดี ระหว่าง อ. ดำริห์ กับ นิชาภัทร ศิริพจนากุล นักโอโบรุ่นใหม่ไฟแรงลูกศิษย์ก้นกุฏิของ อ. ดำริห์เอง ซึ่งกำลังมีผลงานหลากหลาย เช่นเดียวกับกระบวนที่สอง (Ballad) ที่ฮอร์นเป็นพระเอก ก็ได้ อ. สุปรีติ อังศวานนท์ กับ จุฑา จุฬาวไลวงศ์ นักฮอร์นรุ่นน้องที่มีประสบการณ์สูงมามาร่วมกันประสานเสียงฮอร์นอย่างไพเราะในส่วนของเครื่องสายนั้น ก็มีอนาวิน เศวตบวร ศิษย์เอกอีกคนหนึ่งของ อ. ทัศนา ทำหน้าที่ Concertmaster ในเพลงนี้ ซึ่งก็บรรเลงช่วงเดี่ยวได้อย่างไพเราะน่าฟังเช่นกัน นับเป็นเวทีให้นักดนตรีรุ่นเยาว์ได้เรียนรู้และหาประสบการณ์ร่วมกับผู้อาวุโสของวงการ และจบลงด้วยเพลงแถม (encore) อีก 2 เพลง คือ เพลงพระราชนิพนธ์  ในดวงใจนิรันดร์  เรียบเรียงโดยท่านอาจารย์หม่อม โดยมี อ. ดำริห์ เดี่ยวโอโบอีกเช่นกัน และกระบวนที่ 4 (Race Day) จากชุดJazz Impressions ที่เพิ่งบรรเลงไป ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

          คอนเสิร์ตครั้งนี้ แน่นอนว่าเป็นการเผยแพร่ผลงานของท่านอาจารย์หม่อม ให้ผู้ฟังทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทั้งหลาย ได้รับรู้ถึงฝีมือการประพันธ์และการเรียบเรียงดนตรีที่ไม่ธรรมดา ของ “นักดนตรีสมัครเล่น” อย่างอาจารย์หม่อม ซึ่งผู้ฟังหลายท่านคงทราบว่าท่านอาจารย์หม่อมไม่เคยเรียนดนตรีอย่างเป็นทางการในสถาบันการศึกษาดนตรีชั้นสูงแห่งใด หรือแม้แต่อาชีพของท่านก็มิใช่เป็นนักดนตรี แต่ท่านก็ทำผลิตผลงานสร้างสรรค์ด้านดนตรีอย่างมากมาย รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีอย่างแข็งขันจนกลายเป็น “เสาหลัก” ของดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย อย่างที่นักดนตรีอาชีพยังต้องยกย่อง คุณูปการและมรดกด้านดนตรีของท่านก็ยังเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวงดุริยางค์ราชนาวี ซึ่งยังคงเป็นวงดนตรีของกองทัพที่แข็งแกร่งต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้  วงรอยัลบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา ก็มีผลงานการบรรเลงอยู่ในระดับที่สูง  และยังเป็นที่พึ่งของผู้รักดนตรีทั้งหลาย รวมไปถึงวงโปรมูสิกาที่เพิ่งฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการบรรเลงด้วยวงออร์เคสตราขนาดย่อม ซึ่งก็มีองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่กว้างขวางและลึกซึ้ง แตกต่างไปจากวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ เท่าที่ผมได้ติดตามการแสดงของทั้ง 3 วงนี้ มีสิ่งร่วมกันอย่างหนึ่งคือนักดนตรีรุ่นเยาว์ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเล่นเคียงคู่กับนักดนตรีรุ่นครูบาอาจารย์มากขึ้น  (และบ่อยครั้งนักดนตรีรุ่นครูเหล่านั้น  คือแนวหน้าของวงดนตรีอาชีพในยุโรป) และวงดนตรีมีมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะมาจากการศึกษาด้านดนตรีในบ้านเราที่พัฒนาขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักดนตรีรุ่นเยาว์เหล่านี้คือกำลังสำคัญที่จะพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกของไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งผมคิดว่านี่คือการสานต่อสิ่งที่อาจารย์หม่อมได้วางรากฐานเอาไว้เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ให้เกิดผลงอกงามขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนสืบไป  เราคงจะต้องสรุปว่า  ทายาทของท่านไม่ได้มีเพียงคนหรือสองคน  แต่ต้องกล่าวว่า  เขามากันเป็นกลุ่มก้อนขนาดตั้งวงเชมเบอร์ชั้นนำได้เลย

One comment

  • เป็นวงดนตรีที่ยอดเยียมมากครับ เคยไปฟังที่ในคอนเสริตโรงแรมย่านราชประสงค์กับสถานีวิทยุจุฬาถือว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับการชมคอนเสริตเลยก็ว่าได้จำได้ว่างานนั้น มีพระพีนางเธอเจ้ากัลยานิวัฒนาเสด็จไปรับฟังการแสดงดนตรีด้วยถือเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าพระพีนางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ครับ ช่วงนี้ผมกลับฝึกเล่นดนตรีอีกครั้งเห็นโฆษณาที่วงโปรมูสิกาจัดการแสดงที่สยามสมาคมไม่ได้ไปเพราะไกลจากอยุธยามาก ได้แต่อ่านบทความเกี่ยวกับสยามสมาคมที่ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปตาห์วิจารณแทนครับ

ส่งความเห็นที่ กันต์ คิดควร ยกเลิกการตอบ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *