เมื่อวงซิมโฟนีธรรมศาสตร์ สร้างความน่าทึ่งในด้านสังคีตศิลป์

เมื่อวงซิมโฟนีธรรมศาสตร์ สร้างความน่าทึ่งในด้านสังคีตศิลป์

ภาพประกอบจาก Facebook : Vajirawitch Punyalak

 

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีการเรียนการสอนด้านดนตรีอย่างเป็นทางการ แต่ก็มี “ผู้รักสมัครเล่น” มาร่วมกันตั้งวงดนตรีประเภทต่างๆ ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย ในฟากดนตรีคลาสสิกนั้นก็มี “ชุมนุมดุริยางค์สากลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (Thammasat University Symphony Orchestra: TUSO) ซึ่งก่อตั้งมาได้ 15 ปีแล้ว (เริ่มก่อตั้งในปี 2545) และค่อนข้างพัฒนาฝีมือจนเป็นที่กล่าวขานมากขึ้นในวงการดนตรีคลาสสิก และสามารถสร้างแรงดึงดูดให้นักดนตรีอาชีพ (ทั้งรุ่นเยาว์และรุ่นกลาง) เข้ามาร่วมเล่นกับวงได้มากขึ้น

          ผมเองเคยเขียนถึงวงธรรมศาสตร์ในการแสดงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 (http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2987) ซึ่งครั้งนั้นผมมีความประทับใจมากพอสมควร แต่การแสดงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ณ อาคารบรรยายรวม 4 (บร.4) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในคอนเสิร์ตที่ชื่อว่า “Harmony in Chaos” โดยมี อ.วชิรวิชญ์ ปัญญาลักษณ์ คุณสุทธิพงษ์ ตันติวิณิชกิจ และคุณชัยมงคล วิริยะสัจจาภรณ์ เป็นวาทยกรนั้น ทำให้ผมประหลาดใจและประทับใจกับการบรรเลงของวงมากยิ่งขึ้น

          วงเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี(ชัยมงคล กำกับวง) ซึ่งผมจำได้ว่าเป็นฉบับที่วง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ใช้บรรเลงอยู่เป็นประจำ แค่เพลงนี้ขึ้นมาผมก็รู้สึกได้ว่าวงเล่นได้อย่างน่าฟังมากๆ เสียงของเครื่องสายซึ่งเคยเป็นจุดอ่อน มีเสียงที่แน่นและเป็นเอกภาพมาก กลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องกระทบ ก็มีเสียงที่ค่อนข้างโดดเด่นชัดเจน กลุ่มที่ออกจะมีปัญหาเล็กน้อยคือกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ ซึ่งเสียงค่อนข้างเบา และถูกเครื่องอื่นๆ กลบไปบ้างแต่คุณภาพในการบรรเลงก็อยู่ในระดับที่ดีน่าฟัง

          เพลงที่วงบรรเลงในคืนนั้น ประกอบด้วยเพลงครึ่งแรกที่จะเน้นเพลงคลาสสิกที่ผู้ฟังคุ้นเคย โดยโปรแกรมเดิมจะประกอบด้วย Die Meistersinger von Nürnberg Overture (Richard Wagner) (สุทธิพงษ์ กำกับวง) Violin Concerto in D major, Op. 35 (Allegro Moderato) (PyotrIlyich Tchaikovsky) แต่ยกเลิกเนื่องจากผู้แสดงเดี่ยวเกิดบาดเจ็บกระทันหัน จึงเปลี่ยนเป็นเพลงศรีอยุธยา(สุทธิพงษ์ กำกับวง) และPomp and Circumstance  Marches (from Disney’s Fantasia 2000) (Edward Elgar เรียบเรียงโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) (อ.วชิรวิชญ์ กำกับวง)

          สำหรับเพลง Die Meistersinger von Nürnberg Overture นั้น วงบรรเลงได้ดีมากในตอนต้น เสียงเครื่องสายหนักแน่น แต่ช่วงที่เครื่องเป่าลมไม้บรรเลงทั้งกลุ่มนั้นค่อนข้างจะขาดเอกภาพเล็กน้อย เสียงยังไม่เรียบสนิทกัน บางช่วงที่วงเล่นพร้อมกัน (tutti)นั้น ส่วนมากค่อนข้างดี แต่ก็มีบ้างที่เล่นไม่พร้อมกันจนพอฟังออก แต่โดยรวมก็ถือว่าน่าพอใจ ในเพลงระดับ Wagnerซึ่งมีความซับซ้อนมากพอควร ส่วนในเพลงศรีอยุธยา เครื่องสายเสียงต่ำของวงเล่นได้เป็นอย่างดี มีความแม่นยำของเสียง (intonation) มากขึ้น ส่วนกลุ่มเครื่องเป่าและเครื่องกระทบก็เล่นได้เป็นอย่างดี สำหรับเพลง Pomp and Circumstance  Marches นั้นกลุ่มฮอร์นบรรเลงได้อย่างน่าฟังเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องสายที่เล่นเสียงต่ำได้อย่างหนักแน่นดีมาก ถือว่าในครึ่งแรกกับบทเพลงแนวคลาสสิกนั้น วง TUSO เล่นได้อย่างน่าฟังและน่าพอใจมาก

          ส่วนในครึ่งหลังประกอบด้วยเพลงจากภาพยนตร์และละครเพลงที่ผู้ฟังส่วนใหญ่คุ้นเคย โดยเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้ง (ตามชื่อคอนเสิร์ต)ได้แก่Game of Thrones (The Children) (Ramin Djawadi, arr. Nikolai Clavier) (ชัยมงคล กำกับวง) Selections from Les Misérables (Claude-Michel Schonberg, arr. Bob Lowden) (สุทธิพงษ์ กำกับวง) Themes from Schindler’s List (John Williams) (อ.วชิรวิชญ์ กำกับวง) Miss Saigon (Claude-Michel Schonberg, arr. Calvin Custer)
(สุทธิพงษ์ กำกับวง) Braveheart (James Horner arr. J.C. Diaz Campello) (อ.วชิรวิชญ์ กำกับวง) Star Wars Suite (Main Title) (John Williams) (อ.วชิรวิชญ์ กำกับวง) สังเกตว่าโปรแกรมในช่วงครึ่งหลังนี้จะเป็นที่รอคอยของผู้ฟังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเพลงจากภาพยนตร์ Game of Thrones  หรือ Star Wars  รวมถึงละครเพลง Les Misérables เข้าใจว่านี่คงเป็นกลยุทธ์ “เรียกลูกค้า” ให้เข้ามาฟังวง TUSO ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่าที่คะเนด้วยสายตาแล้วผู้ฟังน่าจะเกือบเต็มห้อง บร.4 (ซึ่งมีความจุ 1,000 ที่นั่ง)

บทเพลง Game of Thrones ซึ่งบรรเลงโดยวงเครื่องสายล้วนนั้นก็บรรเลงได้อย่างดีมาก เสียงที่บรรเลงออกมามีความหนักแน่นเข้มข้น ซึ่งโดยส่วนตัวผมชอบการบรรเลงของกลุ่มเชลโลมากที่สุด สำหรับเพลง Schindler’s Listที่หัวหน้าวง (concertmaster) จะต้องเป็นผู้เดี่ยวทำนองหลัก ก็ได้ ผศ.นพ. ภัทรวิน ภัทรนิธิมา ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของวง TUSO และปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรเลง (อาจารย์หมอท่านนี้มีประวัติด้านดนตรีที่ไม่ธรรมดา คือเป็นอดีตหัวหน้าวงดุริยางค์เยาวชนไทย (Thai Youth Orchestra) ซึ่งเป็นวงที่เพาะบ่มนักดนตรีในบ้านเราให้มีฝีมือและกลายเป็นนักดนตรีอาชีพมาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว ซึ่ง อ.ภัทรวิน แม้ว่าจะมิได้เรียนต่อในด้านดนตรีอาชีพ แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความรักในการเล่นดนตรียังคงอยู่ และขยายพันธุ์ต่อมากลายเป็นวง TUSO ด้วย) ซึ่ง อ.ภัทรวิน ก็บรรเลงเดี่ยวไวโอลินได้เป็นอย่างดี ฝีไม้ลายมือถือว่าอยู่ในระดับไม่ธรรมดา แม้ว่าเสียงไวโอลินของอาจารย์จะไม่ค่อยพุ่งเข้าหาคนดูมากนัก (เข้าใจว่าเป็นปัญหาของหอแสดง ซึ่งมีขนาดใหญ่มากและไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรเลงดนตรีคลาสสิกโดยเฉพาะ) ส่วนบทเพลง Miss Saigon นั้น วงบรรเลงโดยมีกลองชุด (drum kit) บรรเลงประกอบจังหวะ ชวนให้คิดถึงการบรรเลงของวงออร์เคสตราร่วมกับนักร้องเพลงยอดนิยม (pop music) ซึ่งทำให้ผมคิดว่า วง TUSO นี่ก็คือวง pop orchestra ชั้นดีนี่เอง ส่วนเพลง Braveheart นั้น ผมคิดว่าเครื่องสายในช่วงเสียงสูงค่อนข้างมีปัญหา มีความเพี้ยนและไม่เป็นเอกภาพอยู่บ้าง ส่วนอิงลิชฮอร์นที่เลียนเสียงปี่สก็อตนั้น ในช่วงเสียงสูงค่อนข้างบรรเลงได้ไพเราะดี แต่ในช่วงเสียงต่ำค่อนข้างแบนไปเล็กน้อย แต่ในภาพรวมนั้นก็ถือว่าบรรเลงได้ดีพอควร ส่วนเพลงสุดท้ายของโปรแกรมคือ Star Warsนั้น เสียงออกมาได้อย่างดี แม้ว่าในช่วง introduction นั้น ทรัมเป็ตจะมีพลาดบ้าง แต่เสียงโดยรวมก็ออกมาได้เป็นอย่างดี และรู้สึกว่าผู้ชมจะชอบเพลงนี้มากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีเพลงแถมคือเพลง บุพเพสันนิวาส จากละครดังที่กำลังออกอากาศอยู่ในเวลานั้น (อ.วชิรวิชญ์ กำกับวง) ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ฟังทั้งหลายด้วย

ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าการแสดงครั้งนี้มีคุณภาพดีมาก เปรียบกับการแสดงเมื่อ 2 ปีกว่าๆ ที่แล้วยังรู้สึกว่ามีความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน แต่การแสดงครั้งนี้เสียงที่บรรเลงออกมาน่าฟังราวกับเป็นวงสมัครเล่นชั้นดี หรือวง pop orchestra ชั้นดีที่ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างเข้มข้น (ชวนให้ผมนึกถึง วง “World Doctors Orchestra” ซึ่งเป็นวงสมัครเล่นชั้นดีจากการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีใจรักดนตรี และออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก และเคยมาแสดงในเมืองไทยเมื่อปี 2559) จากการสอบถาม อ.วชิรวิชญ์ ผู้อำนวยการดนตรีของวง พบว่านักดนตรีที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เองนั้น มีประมาณ 30% ของสมาชิกวง นอกนั้นก็จะเป็นนักดนตรีอาชีพและนักเรียนดนตรีจากสถาบันเพื่อนบ้านต่างๆ มาช่วยเล่น แต่ใน 30% นั้น ส่วนใหญ่ก็คือเด็กเครื่องสายซึ่งเป็นเสียงหลักของวง ผมคิดว่าถ้าฝีมือของเครื่องสายพัฒนาก็ย่อมยกระดับเสียงของวงด้วย คอนเสิร์ตเมื่อ 2 ปีก่อน เครื่องสายของวงยังไม่แน่นขนาดนี้ และยังมีวงเครื่องสาย “เด็ก” แยกแสดงออกมาต่างหาก (เพราะฝีมือยังไม่ถึงขั้นรวมวงใหญ่ได้) แต่ในวันนี้ เครื่องสายคือกลุ่มที่ทำให้เสียงของวงยกระดับกลายเป็นวงชั้นดีได้ ซึ่งก็คงต้องยกความดีให้กับสมาชิกของวงซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่แม้ไม่ได้เรียนดนตรีเป็นหลัก แต่ก็ยังสามารถฝึกซ้อมจนบรรเลงได้เป็นอย่างดี

เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งไปฟังการแสดงในวันนั้นด้วย เล่าให้ฟังว่า เขาเพิ่งได้ฟังวง TUSO บรรเลงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการบรรเลงที่ดี แต่การบรรเลงในวันนี้ทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ตัวเขาเองซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพและอาจารย์ดนตรีถึงกับแปลกใจและชื่นชมในความพยายามของวงที่ค่อยๆ ยกระดับฝีมือให้ดียิ่งขึ้นในทุกๆ ครั้ง ผมเองแม้ไม่ได้ติดตามการบรรเลงของวง TUSO มาตลอด แต่ก็พยายามติดตามข่าวสารและการแสดงของวงอยู่เสมอและเห็นว่าการแสดงครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามและความรักในการเล่นดนตรี และคุณูปการของการแสดงของวง TUSO นั้น คือการเผยแพร่ดนตรีคลาสสิกไปสู่กลุ่มผู้ฟังกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่มีคณะดุริยางคศิลป์เป็นของตัวเอง และคงไม่มีโอกาสจะได้ไปฟังดนตรีคลาสสิกภายนอกทุ่งรังสิตได้บ่อยครั้งนัก ซึ่งอาจจะเกิดแรงบันดาลใจในการแสวงหาดนตรีคลาสสิกฟังมากยิ่งขึ้น และอาจจะทำให้ผู้ฟังบางส่วนเกิดความสนใจอยากเรียนดนตรี ซึ่งก็ไม่แน่ว่าอาจจะกลายมาเป็นกำลังของวง TUSO ต่อไปก็เป็นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *