Berlin Philharmonic Orchestra กับการเยือนประเทศไทยครั้งแรก

Berlin Philharmonic Orchestra กับการเยือนประเทศไทยครั้งแรก

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

 

ถ้าหากจะพูดถึงวงออร์เคสตราที่ถือว่าเป็น“หนึ่งในวงที่ดีที่สุด” ของโลก (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงหนึ่งวง) และนักฟังดนตรีแทบทุกระดับรู้จักกันดี ย่อมต้องมีวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค (Berlin Philharmonic Orchestra ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาเยอรมันว่า Berliner Philharmoniker) อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็นวงเก่าแก่  และมาโด่งดังมากในยุคที่การอัดเสียงรุ่งเรือง  โดยมี แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน (Herbert von Karajan เป็นวาทยกรประจำวงในช่วงปี 1954–1989)  สืบเนื่องมาถึง เคลาดิโอ อับบาโด (Claudio Abbado : วาทยกรชาวอิตาลีเป็นวาทยกรประจำวงในช่วงปี 1989–2002) และเซอร์ ไซมอน แรทเทิล (Sir Simon Rattle : วาทยกรชาวอังกฤษเป็นวาทยกรประจำวงในช่วงปี 2002–2018) วงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค ก็ยังเป็นวงที่มีผลงานการบันทึกเสียงมากเป็นอันดับต้นๆ ของวงการมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสมาชิกของวงหลายคนก็ถือได้ว่าเป็นนักแสดงเดี่ยวในระดับแนวหน้า เช่น Emmanuel Pahud (ฟลูต) Albrecht Meyer (โอโบ) Christoph Hartmann (โอโบ) Andreas Ottensammer (คลาริเน็ต) Stefan Dohr (เฟรนช์ฮอร์น) และ Sarah Willis (เฟรนช์ฮอร์น)  ทำให้วงดนตรีวงนี้เป็นที่สนใจติดตามของนักฟังดนตรีคลาสสิกทั่วโลก ไม่ว่าจะชอบมากหรือชอบน้อย ก็คงเลี่ยงไม่ได้ว่าทุกความเคลื่อนไหวของวงนี้ ล้วนทำให้วงการดนตรีคลาสสิกสั่นสะเทือน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกครั้งที่วงเลือกตั้งวาทยกรประจำคนใหม่) และแน่นอนว่าเมื่อวงดนตรีวงนี้จะมาเยือนเมืองไทย (เป็นครั้งแรก) ย่อมสร้างความตื่นเต้นระดับ “ปรากฏการณ์” ให้แก่นักฟังชาวไทยเป็นอันมาก ซึ่งการมาเยือนเมืองไทยในครั้งนี้ วงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค ยังได้มาพร้อมกับ กุสตาโว ดูดาเมล (Gustavo Dudamel)  วาทยกรชาวเวเนซูเอลา ซึ่งถือว่าเป็นวาทยกรรุ่นหนุ่มที่โด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงคลาสสิกยุคปัจจุบัน

          การแสดงของวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ประกอบด้วยบทเพลง  Divertimento for Orchestra  ของเลโอนาร์ด
เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein : คีตกวีชาวอเมริกัน) และต่อด้วย  Symphony No. 5 ของกุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler : คีตกวีชาวออสเตรียน) (ซึ่งบทเพลงนี้เพิ่งแสดงในเมืองไทยไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 โดยวงหังโจว ฟิลฮาร์โมนิค) ในความเห็นของผม คิดว่าเป็นโปรแกรมที่น่าจะเรียกว่า “โชว์วง” อย่างเต็มที่ เพราะใช้ศักยภาพเครื่องดนตรีมาก และทุกส่วนในวงมีบทบาทโดดเด่นในการบรรเลง

สำหรับการบรรเลง Divertimento for Orchestra นั้นวงได้ใช้บทเพลงนี้แสดงออกถึงลีลาที่หลากหลาย  ทั้งนี้คำว่า “divertimento” นั้นหมายถึง “การสร้างความเพลิดเพลิน”  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะให้แก่ทั้งผู้ฟังและผู้เล่น  หากอ่านประวัติเพลงจะพบว่าเบิร์นสไตน์ประพันธ์บทเพลงนี้ในปี1980เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ100 ปีให้แก่วงบอสตันซิมโฟนีออร์เคสตรา (เบิร์นสไตน์เติบโตมาจากวงนี้ ก่อนมาโด่งดังสุดขีดกับวงนิวยอร์ค ฟิลฮาร์โมนิค)
เบิร์นสไตน์ได้ใช้ประสบการณ์ทางดนตรีตลอดทั้งชีวิตกลั่นกรองบทเพลงนี้เพื่อแสดงออกถึงประวัติศาสตร์ของวงบอสตันและวงการดนตรีอเมริกัน (ซึ่งเขาเองก็มีส่วนร่วมสร้าง) ซึ่งเท่าที่ผมฟังนั้นก็พบว่าน้ำเสียงและลีลาบางอย่างของบทเพลงมีส่วนคล้าย West Side Story  ของเบิร์นสไตน์เองด้วย  จังหวะที่ใช้ก็มีความหลากหลาย สะท้อนถึงความนิยมในสไตล์ดนตรีอเมริกันที่หลากหลายในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับเป็นบทเพลงที่น่าสนใจมากเพลงหนึ่ง แม้ว่าในบ้านเราจะไม่ค่อยคุ้นเคยนัก (พวกเราอาจคุ้นเคยผลงานของเบิร์นสไตน์จากเรื่อง West Side Story หรือ บทโหมโรงของ  Candide มากกว่า) ในด้านคุณภาพของการบรรเลงของวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิคนั้น  คงต้องพูดว่ามีความโดดเด่นเป็นปกติอยู่แล้ว  โดยเฉพาะเสียงของเครื่องสายนั้นหนักแน่นมีพลัง และมีความแม่นยำของเสียงโดยแต่ละกลุ่มแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน  นอกจากนี้หัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มก็มีโอกาสได้เล่นนำ ซึ่งทุกคนล้วนแต่มีเทคนิคและการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยเสียงอย่างดีเยี่ยมทุกคน ทั้งยังนุ่มนวลราวกับเชมเบอร์มิวสิค ซึ่งคนที่ผมชื่นชมเป็นพิเศษคงเป็น  Jonathan Kelly หัวหน้ากลุ่มโอโบซึ่งเล่นได้อย่างไพเราะถึงอารมณ์  โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเล่นเสียงเบามาก (pianissimo) ก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม  ส่วนที่น่าจะสนุกสนานที่สุดคือกระบวนสุดท้าย March “The BSO Forever” นั้น  เบิร์นสไตน์ก็ทำให้เป็นสำเนียงของตัวเองอย่างชัดเจน  แต่ก็มีลีลาของการคารวะ
บรรพบุรุษของเพลงมาร์ชคือโยฮันสเตราส์ (ผู้บิดา) และจอห์น  ฟิลลิป  ซูซา อยู่ด้วยโดยเฉพาะสำเนียงของ piccolo และe-flat clarinet ที่เล่นได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน  สมดังชื่อรวมของบทเพลง และการใช้ชื่อบทเพลงว่า divertimento นั้น ก็ราวกับว่าจะขอฝากตัวเป็นศิษย์ของโมสาร์ตและบาร์ท็อค ซึ่งมีผลงานโด่งดังในบทประพันธ์ประเภทนี้เช่นกัน

          ในส่วนของการบรรเลง ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ นั้น กระบวนที่ 1  ซึ่งขึ้นต้นด้วยเสียงทรัมเป็ทก็บรรเลงได้อย่างน่าฟังมาก ค่อนข้างนุ่มนวล  ไม่แผดกร้าวมากนัก แล้วทั้งวงก็รับช่วงต่อไปอย่างโอ่อ่าฮึกเหิม เสียงที่น่าสนใจมากในกระบวนนี้คือเสียงของเครื่องสาย  ที่เล่นได้อย่างแม่นยำและเป็นเอกภาพ เสียงที่ออกมาค่อนข้างเบา มีความเป็นเชมเบอร์อยู่มาก ส่วนกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ก็มีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  แม้ว่าแต่ละเครื่องจะมีเสียงที่แตกต่างกันก็ตาม ส่วนช่วงที่เปลี่ยนจังหวะเป็นรุกเร้าก็ทำได้อย่างดี ชวนให้ติดตาม ส่วนกระบวนที่ 2 ที่เหมือนกับพายุกระหน่ำก็ฟังดูตื่นเต้นมาก ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าทองเหลืองมีความดุดัน  แต่ก็แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล การเร่งเสียงจากค่อยไปหาดังก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม กลุ่มเครื่องสายเสียงต่ำดูจะได้รับบทบาทที่เข้มข้นในหลายช่วง ซึ่งก็ทำได้หนักแน่น  อีกกลุ่มที่มีบทบาทสูงคือกลุ่มฮอร์น  ซึ่งผลิตเสียงที่มีเอกภาพแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างดี ช่วงที่เล่นเบามากๆ ซึ่งเป็นยาขมสำหรับเครื่องเป่าชนิดนี้ แต่กลุ่มฮอร์นของเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค ก็บรรเลงออกมาได้อย่างดี แสดงความเหนือชั้นออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ในกระบวนที่ 3 ซึ่งมีลักษณะเป็นเพลงเต้นรำพื้นบ้าน วงก็บรรเลงได้อย่างน่าฟัง ให้ความรู้สึกเป็นเพลงเต้นรำได้เป็นอย่างดี แม้ว่าออกจะเป็นผู้ดีไปบ้าง ส่วนสเตฟาน ดอห์ร หัวหน้ากลุ่มฮอร์น ซึ่งได้บรรเลงเดี่ยวในช่วงต้นของกระบวนก็เล่นได้อย่างน่าฟังมาก ในช่วงที่วงส่วนใหญ่เล่นด้วยการดีดสาย (pizzicato) ก็ทำได้อย่างน่าฟัง ให้ความรู้สึกว่าแม้แต่เสียงดีดสายก็ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

สำหรับกระบวนที่ 4 ซึ่งคนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นสุดยอดของซิมโฟนีบทนี้ เนื่องจากมีความไพเราะ เข้มข้น และเปี่ยมไปด้วยการแสดงออกทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจากประวัติของเพลงจะพบว่าเพลงนี้ถือได้ว่าเป็นจดหมายรักของมาห์เลอร์ที่มอบให้แก่ภรรยา (และก็มีลีลาที่เทียบเคียงได้กับอุปรากรเรื่องTristan und Isolde ของริชาร์ด วากเนอร์ ซึ่งมาห์เลอร์ยกย่องมาก) โดยใช้เพียงเครื่องสายและพิณฮาร์ป เสียงเครื่องสายของวงนั้นดีมาก มีความแม่นยำสูงราวกับเป็นเสียงเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ลากเสียงยาวๆ นั้นบาดอารมณ์เป็นอันมาก  ส่วนกระบวนที่  5  ซึ่งมีทั้งความความรื่นรมย์แต่ก็มีความโอ่อ่าสง่างามนั้น  ผมคิดว่าเครื่องเป่าลมไม้น่าจะเป็นพระเอกของกระบวนนี้เพราะมีความหลากหลายของสีสันทางเสียงเป็นอย่างมาก  ในส่วนของกลุ่มเครื่องสายก็เล่นในช่วงที่เล่นเป็น counterpoint ได้อย่างสนุกสนาน  โดยการสรุปของผมเองนั้นคงจะพูดได้ว่าเพลงของมาห์เลอร์คือ “เพลงโชว์วง”  โชว์สีสันของเสียงในทุกกลุ่มเครื่องดนตรี  และโชว์ฝีมือของนักดนตรี  ซึ่งคิดว่าเหมาะกับบุคลิกของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคเป็นอย่างยิ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้กล่าวในเชิงลบแต่อย่างใด เพียงแต่คิดว่าด้วยฝีมือและความพร้อมเพรียงของนักดนตรีในวงนี้ น่าจะสามารถถ่ายทอดความต้องการของมาห์เลอร์ได้อย่างครบถ้วน

          ในส่วนของวาทยกรดูดาเมลนั้น เท่าที่ได้ฟังนั้น ผมคิดว่าเขาคือ “ของจริง” อย่างที่ผู้ฟังหลายๆ ท่านเคยกล่าวถึง (เช่น ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ ในบทวิจารณ์เรื่อง “Who Is Going to Tell Barenboim to Retire?” http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2228 ซึ่งดูดาเมลช่วย “อุ้ม” บาเรนบอยม์ไว้   ในการแสดงเปียโนคอนแชร์โตทั้ง 2 บทของบรามห์มส์) นั่นคือการกำกับวงได้อย่างมีรสนิยม ไม่หวือหวาหรือสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ในการกำกับเพลงของเบิร์นสไตน์ เขาก็จับวิญญาณของความหฤหรรษ์แบบดนตรีอเมริกันที่หลากหลายได้ดี และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นเพลงยุคโรแมนติคตอนปลายที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์อย่างสูงของมาห์เลอร์ เขาก็ตีความได้อย่างลึกซึ่งเข้าถึงอารมณ์ของแต่ละกระบวน ซึ่งผมมองว่าเขาจับวงให้เล่นได้อย่างเป็น “ผู้ดี” มากๆ (จนผู้ฟังบางท่านมองว่าหากดุดันหรือกระด้างกว่านี้สักเล็กน้อยน่าจะเข้าถึงอารมณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกระบวนที่เป็นเพลงเต้นรำชาวบ้าน) ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือเขาสามารถจำบทเพลงทั้ง 2 ในรายการนี้ได้อย่างแม่นยำ สามารถกำกับวงโดยไม่ต้องใช้โน้ต ซึ่งเพื่อนผมที่เป็นนักดนตรีที่นั่งชมอยู่ใกล้ๆ กันบอกว่าเขาให้จังหวะและคิวกับนักดนตรีได้อย่างแม่นยำและชัดเจน ต้องนับถือในความจำและการสื่อสารไปยังนักดนตรีได้เป็นอย่างดี

          นอกเหนือจากการบรรเลงอันยอดเยี่ยมของวงแล้ว ช่วงก่อนคอนเสิร์ตได้มีการจัด pre-concert talk โดยมีตัวแทนนักดนตรีของวง 6 คน ซึ่งหลายคนก็อยู่มาตั้งแต่ยุคของคารายาน มาบอกเล่าประสบการณ์การเล่นดนตรีให้กับวง ทำให้เราได้รู้ว่าคารายานนั้น ไม่ได้หลับตากำกับวงเสมอไปอย่างที่เราเห็นกันในบันทึกการแสดงของเขา ในเวลาซ้อมเขาก็สื่อสารกับนักดนตรีด้วยสายตาเช่นเดียวกับวาทยกรท่านอื่นๆ  แต่เมื่อมีกล้องจับภาพเมื่อไร  เขาก็จะหลับตาทันที  หรือในกรณีของอับบาโดนั้น  เขาเป็นวาทยกรที่มีบุคลิกนุ่มนวลและความเป็นกันเองกับนักดนตรีเป็นอันมาก  คือพวกเขาสามารถเรียกชื่อต้นของวาทยกรได้เลย  โดยไม่จำเป็นต้องเรียกว่า “ท่าน” (Maestro)  เวลาวงดนตรีออกทัวร์ก็พักในห้องพักระดับเดียวกับนักดนตรี   ส่วนเรื่องความแตกต่างของคารายานกับอับบาโดนั้น  นักดนตรีให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของการเน้นความสำคัญของโครงสร้างดนตรี  โดยที่คารายานจะเน้นรากฐานที่สำคัญของวง  คือเสียงเบสที่จะต้องหนักแน่น  และเป็นหลักยึดให้กับเสียงกลางและเสียงแหลม  ส่วนอับบาโดนั้นมาจากประเพณีของอุปรากรอิตาเลียน  จึงเน้นทำนอง (melody) เป็นสำคัญ  และประเด็นที่สำคัญมากๆ ที่นักดนตรีทั่วไปควรสนใจคือเคล็ด(ไม่)ลับของการเล่นกันเป็นวง  นั่นคือพวกนักดนตรีของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคจะจับกลุ่มเล่นเชมเบอร์มิวสิคตลอดเวลา  ซึ่งเป็นการฝึกให้ฟังซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี  และทำให้ฝีมืออยู่ตัว  เพราะเชมเบอร์มิวสิคส่วนใหญ่เรียกร้องความสามารถในการเล่นดนตรีระดับที่สูงมากกว่าการเล่นวงออร์เคสตรา  เมื่อเล่นเชมเบอร์มิวสิคได้อย่างช่ำชองแล้วการเล่นวงขนาดใหญ่ก็ย่อมไม่มีปัญหา

          โดยสรุปแล้วการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรกของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้เป็นอย่างดียิ่ง  เท่าที่ได้สอบถามจากเพื่อนนักฟังและนักดนตรีที่ไปชมการแสดง  ส่วนใหญ่จะบอกว่ามีความประทับใจชื่นชมในเสียงของวง  ความสมดุลของเสียง  ฝีมือของนักดนตรี  การกำกับวงที่แม่นยำของวาทยกร  ทั้งนี้มีหลายคนที่เคยไปฟังวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคที่โรงมหรสพฟิลฮาร์โมนี ณ กรุงเบอร์ลิน (Berlin Philharmonie) ได้ให้ความเห็นว่าหอประชุมมหิดลสิทธาคารนั้นมีลักษณะทางอุโฆษวิทยา (acoustic) ที่ดีกว่า  ซึ่งเราคงต้องฟังหูไว้หู  เพราะผมเองก็ไม่เคยไปที่ฟิลฮาร์โมนีจริงๆ และโรงแห่งนั้นน่าจะมีหลายมุมที่เสียงไม่สมดุลนักเช่นด้านหลังของวง  การเปรียบเทียบนั้นอาจจะค่อนข้างยาก  แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ผู้รู้มักจะบอกว่าโรงคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดในโลกคือ Musikverien แห่งกรุงเวียนนา  Concertgebouw แห่งกรุงอัมสเตอร์ดัมและ Symphony Hall แห่งนครบอสตัน  ซึ่งเป็นโรงคอนเสิร์ตทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาวคล้ายๆกล่องรองเท้า (shoebox shape)  ส่วน
ฟิลฮาร์โมนิเป็นทรงห้าเหลี่ยม  ที่ผู้ฟังสามารถนั่งหลังวงได้จำนวนหนึ่ง  ซึ่งคงมีลักษณะทางอุโฆษวิทยาที่แตกต่างกับโรงคอนเสิร์ตทรงสี่เหลี่ยมทั่วไปอย่างแน่นอน

          ในส่วนตัวผมเองนั้นรู้สึกประทับใจการบรรเลงของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคมากพอสมควร  ทั้งเสียงของวงที่มีความละเมียดละไม  มีความเป็นเชมเบอร์มิวสิคสูง  นักดนตรีของวงมีเอกภาพและฝีมือที่เรียกได้ว่าหาตัวจับยาก  แต่อย่างไรก็ตาม  ต้องเรียนว่าการแสดงครั้งนี้ไม่ใช่การแสดงที่ผมประทับใจที่สุดในประสบการณ์ฟังดนตรีของผม  (ซึ่งการมาเยือนของวง Vienna Philharmonic เมื่อปี 2547 ก็ไม่ใช่เช่นกัน) แต่การแสดงที่ผมประทับใจที่สุดคือการแสดงของวง Vienna Radio Symphony Orchestra ที่มาเยือนเมืองไทยเมื่อ 2 ปีก่อน  ซึ่งต้องยอมรับว่าเสียงของวงมีความต่างจากวงเบอร์ลินมากพอสมควร และคิดว่าแม้ฝีมือของนักดนตรีคงไม่ถึงระดับ super star อย่างวงเบอร์ลิน แต่เสียงของวงมีความ ”ฉ่ำ” โดยเฉพาะเครื่องสาย (ซึ่งคล้ายกับวงเวียนนา ฟิลฮาร์โมนิค) เสียงของวงเบอร์ลิน ผมคิดว่าออกจะ “เย็นชา” ไปสักนิดหนึ่ง ซึ่งคงเป็นเรื่องของรสนิยมความชอบของแต่ละคน แต่ในเรื่องของไพเราะของเสียงแล้วไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตามเพลงที่ทั้ง 2 วงบรรเลง ก็เป็นเพลงที่ต่างสไตล์กันเป็นอันมาก วงเวียนนา เรดิโอ บรรเลงเพลงยุคคลาสสิกและโรแมนติดที่อยู่ในสกุลคลาสสิกอย่างโมสาร์ตและบราห์มส์ ส่วนวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค บรรเลงเพลงยุคโรแมนติคตอนปลายและเพลงร่วมสมัยในศตวรรษที่ 20 ซึ่งใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายมากกว่า (และผมก็ไม่ใช่แฟนเพลงของยุคนี้เท่าใดนัก) ผมยังหวังว่าหากเป็นไปได้ถ้าได้มีโอกาสฟังวงเบอร์ลิน เล่นเพลงยุคคลาสสิกหรือโรแมนติคตอนต้น น่าจะเปรียบเทียบความชื่นชอบหรือประทับใจได้มากกว่านี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค จะมีโอกาสมาเมืองไทยอีกครั้งเมื่อใด

          นอกเหนือจากความประทับใจต่อความยอดเยี่ยมในการบรรเลงแล้ว วงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค ให้อะไรกับเราผู้ฟังชาวไทยกันบ้าง เท่าที่ผมสังเกตจากบรรยากาศในหอประชุม พบว่าผู้ฟังจำนวนมากคือนักดนตรี ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มีทั้งมือสมัครเล่นถึงมืออาชีพ ต่างมาดูวงที่ถือว่าอยู่อยู่ในระดับท๊อปของโลก และน่าจะเคยฟังแผ่นบันทึกเสียงของวงนี้มาบ้าง ทั้งจากยุคคารายาน อับบาโด และแรทเทิล  จะมากจะน้อยก็ย่อมถือว่าการได้ฟังวงดนตรีวงนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ดนตรีคลาสสิกของนักดนตรีส่วนใหญ่   ไม่ว่าจะเป็นการฟังจากการอัดเสียงหรือการเคยไปฟังวงจริง ณ กรุงเบอร์ลินมา หรือการทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศแถบเอเชีย แต่เชื่อว่าผู้ฟังจำนวนมากไม่เคยมีประสบการณ์ฟังวงจริงมาก่อน (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย) การได้ฟังวงดนตรีระดับยอดฝีมือมาบรรเลงจริงในบ้านเรา ย่อมสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีได้เป็นอันมาก เพราะได้รู้ว่าเสียงที่ดี เสียงที่ไพเราะ และการบรรเลงของผู้เล่นระดับสุดยอดเป็นอย่างไร และน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ฝึกฝนพัฒนาฝีมือต่อไป ส่วนผู้ฟังนั้นเท่าที่สังเกตก็เป็นนักฟังหน้าคุ้นเคยที่เจอกันบ่อยๆ ตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ ที่ไม่พลาดโอกาสดีในการได้ฟังวงที่เคยได้ยินแต่จากแผ่นบันทึกเสียงมาเล่นจริงต่อหน้า ย่อมเป็นประสบการณ์ที่เครื่องเสียงที่ดีแค่ไหนหรือ Digital Concert Hall ก็ไม่สามารถทดแทนได้

แต่เมื่อวงเบอร์ลินจากไป เราก็ต้องกลับมาอยู่กับความจริงที่ว่า  วงดนตรีของบ้านเราต่างหากที่จะอยู่กับเราไปตลอด ทั้งวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) วง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) วง National Symphony Orchestra of Thailand (NSO) รวมไปถึงวงจากกองทัพ วงสถาบันการศึกษา และวงกึ่งอาชีพและสมัครเล่นทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันหาฟังได้บ่อยกว่าเมื่อ 10-20 ปีก่อนมากนัก นักดนตรีแทบทุกระดับมีความสามารถสูงขึ้น จากระบบการเรียนการสอนดนตรีที่ดีขึ้น นักดนตรีจำนวนหนึ่งได้ไปศึกษาต่อในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกและได้กลับมาเป็นครูบาอาจารย์ถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไป สิ่งที่น่าวิตกคือ “ผู้ฟัง” ซึ่งยังเอาแน่เอานอนไม่ได้  ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และจะให้ผู้ฟังซื้อตั๋วให้วงดนตรีขนาดใหญ่อยู่รอดได้โดยไม่มีการสนับสนุนจากด้านอื่นๆ นั้น แทบเป็นไปไม่ได้ (แม้แต่วงอย่างเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค ก็ยังต้องมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และรายได้จากการบันทึกเสียงด้วย) ผมเองก็ไม่รู้ว่าการหาทางออกที่เหมาะสมของเมืองไทยควรเป็นอย่างไร  เท่าที่นึกออกคือการให้ความรู้ด้านดนตรีในเชิงดนตรีวิจักษ์ (music appreciation) การสอนดนตรีขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้คนส่วนใหญ่มีความรู้เบื้องต้นพอที่จะชื่นชมกับดนตรีได้ ในส่วนของนักดนตรี เราน่าจะเอาเชมเบอร์มิวสิคมาเป็นสิ่งสร้างความคึกคักให้กับวงการ ทั้งยังเป็นการฝึกฝนด้านดนตรีที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งนักดนตรีของวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค ยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีจากการแสดงในค่ำคืนนั้น หากวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตราขนาดใหญ่มีอันต้องล้มหายตายจากไป วงขนาดเล็กอาจจะเป็นทางออกของดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยก็เป็นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *