ด้วยหลักการของศิลปะส่องทางให้เเก่กัน

เจตนา นาควัชระ

เป็นรายการที่เข้มข้นมาก แต่ผู้โชคดีไม่กี่คนที่ไปชุมนุมอยู่ที่ศูนย์ศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป มหาวิยาลัยมหิดล ย่อมสำนึกได้ว่า ดนตรีไทยยังอยู่กับเรา เเละก็คงจะยังอยู่กับเราต่อไปอีกนานเเสนนาน

ผมเคยพูดไว้หลายครั้งเเล้วว่ามาตรฐานของการร้องเเละการบรรเลงยังอยู่ในระดับที่สูงมาก เเต่ดนตรีไทยก็ยังเป็นดนตรีของผู้เล่น หรือของ “วงใน” ที่ฟังกันเอง การหันไปพึ่งสื่อยุคใหม่ เช่น ละครโทรทัศน์ หรือ ภาพยนตร์ ก็เป็นเเค่ปรากฏการณ์ของไฟไหม้ฟาง

รายการล่าสุดน่าจะได้เผยเเพร่ไปในวงที่กว้างกว่าห้องเเสดงเล็กๆที่สยามพารากอน เพราะนอกจากจะเป็นรายการเที่ทรงคุณภาพเเล้ว ยังเป็นการให้การศึกษากับประชาชนด้วย ผู้ฟังยุคใหม่ต้องการการแนะนำ เเม้เเต่สังคมตะวันตกก็จำต้องยึดหลักการนี้ การเเเสดงดนตรี อุปรากร หรือละครพูด มักจะเริ่ม 1 ช.ม. ก่อนการเเสดงจริงด้วยรายการแนะนำ แต่ก็ใช่ว่าจะจริงจังไปเสียทุกครั้ง เพราะวิทยากรจำนวนหนึ่งด้อยประสบการณ์ บางคนมาอ่านเรียงความให้ฟังเเล้วก็ไป

เราโชคดีที่ปรมาจารย์ วรยศ ศุขสายชล มาทำหน้าที่เป็นวิทยากร เป็นผู้ปรับวง ควบคุมวง และลงมือเเสดงเองในตอนสำคัญ ไม่ใช่ว่าผู้เชี่ยวชาญการเเสดงทุกคนจะอธิบายงานของตนเองได้ชัดเจน การสื่อความด้วยภาษาไม่ใช่ทักษะที่ศิลปินทุกคนมี อาจารย์วรยศให้ความรู้ได้น่าฟัง เเละมุกต่างๆของท่านชวนให้ต้องตีความตามไปด้วย

รายการนี้มีมโนทัศน์หลักกำกับอยู่ นั่นก็คือ งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่เป็นการหลอมรวมประสบการณ์มนุษย์ที่ลึกซึ้งเเละกว้างไกล ศิลปินคือผู้ที่กลั่นกรองประสบการณ์เหล่านั้นออกมาด้วยการสร้างใหม่ที่เปี่ยมด้วยสุนทรียภาพ ผู้ที่รับสารได้ย่อมจะไดัรับสุนทรียรสที่เป็นประสบการณ์ที่เเตกต่างไปจากชีวิตจริง

ลำพังตัวบทจาก “ขุนช้างขุนเเผน” (ตอนขุนเเผนขึ้นเรือนขุนช้าง) ก็เป็นประการณ์ทางสุนทรียภาพที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว เมื่อมีการนำดนตรี (ซึ่งในที่นี้คือวงเครื่องสาย) มาเสริมวรรณกรรม เราก็ย่อมจะได้สุนทรียรสนับเป็นทวีคูณ ต่างจากการเเสดงดนตรีไทยที่เราได้รับฟังกันอยู่ทั่วไปซึ่งมักจะเป็นการอวดฝีมือ การเเสดงครั้งนี้ใช้ฝีมืออันเยี่ยมยอดของนักดนตรีเเละนักร้องมาหนุนหลักการของ “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” เเละไปถึงระดับหนึ่งที่สูงขึ้นไปอีก คือ ศิลปะจะพูดเเทนกันได้ ครูวรยศจับซอด้วงขึ้นมาเดี่ยวเพลงพญาโศกสองชั้น ในตองที่นางวันทองสั่งลาขุนช้าง ผู้ฟังก็สำนึกได้ว่าอารมณ์ส่วนลึกของมนุษย์นั้นเเสดงออกได้ด้วยคีตศิลป์ได้ไม่ด้อยกว่าศิลปะเเขนงอื่น หรืออาจจะเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ (ดังที่นักปราชญ์เยอรมันหลายท่านได้พยายามตอกย้ำเอาไว้)

เเละก็เสียงซอของครูวรยศอีกเช่นกันที่ทำให้ผมแยกอารมณ์ ระหว่าง “โหยไห้” ออกจาก “โหยหา” ได้ ความเเตกต่างอันเเสนละเมียดที่ว่านี้อาจจะนำไปสู่การสร้างทฤษฏีใหม่ทางสุนทรียศาสตร์ได้ นักวิจารณ์เเละนักวิชาการเรียนรู้เเละได้คิดจากประสบการณ์ของงานต้นเเบบอยู่ตลอดเวลา เลิกเสียทีได้ไหมที่เอาทฤษฎีตะวันตกตั้งเป็นเเม่เเบบ เเล้วจับประสบการณ์ไทยยัดเข้าช่อง คิดเองไม่เป็นหรือ

3 ชั่วโมงในบ่ายวันเสาร์ของกรุงเทพมหานรกเเห่งการจราจร กลายเป็นช่วงเวลาที่มั่งคั่งด้วยสุนทรียภาพอันหาเปรียบได้ยาก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *