รายงานสรุปการเสวนา “มองวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

รายงานสรุปการเสวนา “มองวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

วันอาทิตย์ที่  19 กุมภาพันธ์  2555  เวลา 16.15 – 17.45 น.  ณ  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

————————————

            สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ร่วมกับผจญภัยสำนักพิมพ์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และบริษัทเคล็ดไทย ร่วมจัดงานสังสันท์ปัญญา  เสวนาวรรณกรรม  หัวข้อ “มองวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนากว่า 50 คน  การเสวนาในครั้งนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจดังนี้

 

 

 

 

 

การกล่าวเปิดงาน “เปิดพรมแดนวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

คุณเจน  สมสงพันธ์  นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยกล่าวเปิดงาน  ด้วยการแสดงความยินดีกับคุณสุชาติ สวัสดิศรีที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ในปีนี้  อาจารย์ทวีศักดิ์  ปิ่นทอง  ที่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  และคุณบุนทะนอง  ชมไชผน  ได้รับรางวัลซีไรต์ของลาว   ซึ่งคุณเจนเห็นว่าคุณบุนทะนองควรจะได้รับรางวัลนี้มานานแล้ว

คุณเจนเห็นว่าพรมแดนด้านวรรณกรรมของอาเซียนมีมานานแล้ว  ไม่เฉพาะไทย-ลาว  แต่ยังมีไทย-กัมพูชา  ไทย-มาเลเซีย  หรือว่าไทยกับประเทศอื่นควรที่จะศึกษาเรียนรู้  เมื่อมีเรื่องของเขตเศรษฐกิจ  สังคมของอาเซียนก็เน้นไปที่เรื่องของการค้าขาย  โดยมองข้ามตัวบุคคล ประชาชน วัฒนธรรม  รวมถึงวรรณกรรม  เพราะฉะนั้นในส่วนของวรรณกรรมจึงเป็นการดำเนินการของภาคเอกชนมากกว่ารัฐ  แม้แต่รางวัลซีไรต์  ที่ดำเนินมากกว่า 30 ปี และเป็นการขับเคลื่อนโดยเอกชน  ซึ่งภาครัฐควรจะให้การส่งเสริมมากกว่านี้

ทั้งนี้  คุณเจนตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังๆ เรามีโอกาสเรียนรู้วรรณกรรมเพื่อนบ้านน้อยมาก  รุ่นแรกๆ ยังได้มีโอกาสรู้จักนักเขียนในอาเซียน นามกาว ของเวียดนาม  มอคตาร์ ลูบิส, อุสมาน  อาหวัง, เกริส  มาศ  ของมาเลเซีย  รู้จักนักเขียนตะวันตกที่เขียนเกี่ยวกับพม่า  เช่น ปีเตอร์  เจนนิ่ง  ที่พำนักในพม่า  และมีครอบครัวอุปถัมภ์เป็นชาวพม่า  แต่ระยะหลังสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่น่าสนใจ  ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงในภูมิภาคนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก    และสมาคมนักเขียนฯ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้  จึงเปิดโอกาสมีการเสวนาเรื่องวรรณกรรมไทย-ลาว เพื่อเป็นการเปิดพรมแดนนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนนับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง  ขณะเดียวกันก็อยากใช้โอกาสนี้เป็นการทบทวนว่าแต่เดิมเรารู้เรื่องต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี  แต่วันนี้เรารู้เรื่องของเขาน้อยมาก  ดังนั้น  เราจึงควรเริ่มกลับมาให้ความสนใจนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

การเสวนา  “มองวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดย คุณสชาติ สวัสดิ์ศรี (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์)  แคน สาริกา (บรรณาธิการบริหาร  เนชั่นสุดสัปดาห์) และ คุณปีเตอร์  รอสส์ (นักวิชาการวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)  ดำเนินรายการเสวนาโดย  อาจารย์สกุล  บุณยทัต (อาจารย์คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร)

 อาจารย์สกุล  บุณยทัตกล่าวว่าในอดีตเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านการเรียนรู้หรือการอ่านวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านถือว่ากว้างขวางมากพอสมควร  โดยเฉพาะในช่วงต้นที่ถูกสถาปนาความเป็นอาเซียนขึ้นมา  โดยส่วนตัวได้อ่านเรื่องของนามกาว หรือแม้แต่อาจารย์เจือ  สตะเวทิน ก็ได้นำต้นแบบวรรณกรรมเรื่อง  “เตือน” มาเป็นต้นแบบของเรื่องสั้น  และอาจารย์สกุลได้ทำละครเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2514  นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพม่าสู่เสรีภาพ  ได้อ่านงานของอาเธอร์  ซี คลาร์ก  งานของมอคตาร์  ลูบิส  หรืองานของคุณเรืองยศ  จันทรคีรี  ซึ่งในสมัยนั้นแปลหนังสือกลุ่มนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก  อาจารย์สกุลยอมรับว่าคนในรุ่นของอาจารย์เติบโตมากับหนังสือเหล่านี้ค่อนข้างมาก  แต่ต่อมาหนังสือประเภทนี้หายไป  จนมาถึงคุณไกรวัลย์  สีดาฟอง ที่แปลงานเรื่อง เสือ ของมอคตาร์  ลูบิส  และคุณขจรฤทธิ์  รักษา ก็ได้แปลเรื่อง โทรทัศน์ ของชะห์นูน  อาหมัด และได้มีการแปลเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่อง   ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีการแปลงานเหล่านี้  อาจารย์สกุลเล่าว่าได้พบกับคุณบุนทะนองที่จังหวัดอุบลราชธานี  ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นหนุ่ม  และเมื่อได้อ่านงานของคุณบุนทะนองก็เห็นพัฒนาการของการเขียนของเขา   เพราะเนื้อหาที่นำเสนอไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวภายในท้องถิ่น  สงครามจากมหาอำนาจที่เข้ามารุกราน  ยังมีเรื่องของความเชื่อศรัทธา  และบุคคลสำคัญต่างๆ ในเงื่อนไขของโลกทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้การเสวนาครั้งนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ   ดังนี้ 

1   ภาวะและมิติของวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีสภาพที่แปรเปลี่ยนไป หรือมีภาพที่เป็นเอกลักษณ์อย่างไร

คุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  กล่าวว่าปริมณฑลของวรรณกรรมอุษาคเนย์มีทั้งหมด 9 ประเทศ ซึ่ง 9 ประเทศนี้มีประชากรทั้งหมดรวมประมาณ 270 ล้านคน  หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงประวัติความเป็นมาของประเทศในกลุ่มนี้ก็คือ  เรายังรู้จักเขาน้อยมาก  ทั้งๆ ที่ในอีกสี่ปีข้างหน้าจะมีประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น  ทั้งนี้เห็นว่าหากจะมองภาพของประเทศแต่ละประเทศนั้นพบว่าจะมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ การเมือง  สังคม  เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับประเทศทั้ง 9 ประเทศนี้อยู่พอสมควร  แต่การศึกษาส่วนใหญ่จะมองในภาพกว้าง  ในส่วนของงานทางด้านวัฒนธรรม เช่น งานวรรณกรรม  เรารู้จักนักเขียน  กวี  นักแต่งบทละคร หรือวรรณกรรมในภูมิภาคนี้น้อยมาก  ขณะที่เรารู้จัก เออร์เนส
เฮมิงเวย์,  จอห์น สไตน์เบ็ค,  ฟีโอดอร์  ดอฟโตเยฟสกี  และ ฟรันซ์ คาฟกา  จะเห็นได้ว่าการปลูกฝังในการรับรู้ทางวรรณกรรมของเราดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญกับประเทศตะวันตกมากกว่า  อันเนื่องจากปรัชญาทางการศึกษาที่เรามองประเทศเพื่อนบ้าน  ถ้าไม่ใช่ต่ำต้อยกว่าหรือเป็นศัตรู  เพราะฉะนั้นลักษณะความสัมพันธ์ที่เป็นมาแต่ในอดีตได้สร้างอุปสรรคบางอย่างขึ้น

อุปสรรคประการแรกเกิดจากการแพร่เข้ามาของลัทธิอาณานิคม ในคริสตวรรษที่ 19  ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดบทบาทความสำคัญของคนในภูมิภาคนี้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้น  เช่น ประเทศไทยก็เกิดความรู้ว่า “ฉันแน่กว่า  ที่ฉันไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร”  ขณะที่ประเทศอื่นๆ นั้นตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือฮอลันดา  ในแง่นี้จึงก่อให้เกิดอคติบางอย่าง  ในการศึกษาเกี่ยวกับอุษาคเนย์นั้น คุณสุชาติเห็นว่าเพิ่งเริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา  ในช่วงของสงครามเวียดนาม   และการต่อสู้ของประเทศในอุษาคเนย์มีจุดร่วมบางประอย่าง คือ  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ที่ต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพและเป็นอิสระจากประเทศอาณานิคม  แต่สำหรับประเทศไทยที่ภูมิใจว่าประเทศมีความเป็นอารยะจากอดีตมาช้านานและมักจะดูถูกประเทศเพื่อนบ้านว่าเคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก  โดยไม่มองว่าประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีความเป็นมา  ประวัติศาสตร์  และมีเส้นทางทางวัฒนธรรมของตน  จึงทำให้ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของประเทศเหล่านี้เป็นการศึกษาผ่านสายตาของตะวันตก  โดยผ่านงานเขียน  งานแปลของชาวตะวันตกที่เป็นผู้วางกรอบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ  การศึกษา และวัฒนธรรม   โดยส่วนตัว คุณสุชาติเห็นว่าการรู้จักนักเขียนประเทศเพื่อนบ้านก็คงต้องยอมรับว่าเรามองผ่านแว่นตาของต่างชาติ  มองผ่านแว่นตาของตะวันตกที่ได้แปลและศึกษาวิจัย  การแปลงานเขียนของนักเขียนเพื่อบ้านก็มีน้อยมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการที่เข้ามาทำวิทยานิพนธ์  เข้ามาศึกษาเพื่อเรียนรู้และทำงานวิจัย  เมื่อทำวิทยานิพนธ์ จบการศึกษา หรือวิจัยสิ้นสิ้นแล้ว  บางคนก็หมดความสนใจ  จึงหาผู้ที่จะทุ่มเทแปลในฐานะมืออาชีพได้ยาก  ซึ่งต่างกับชาวต่างชาติผู้สนใจเรื่องของญี่ปุ่นพำนักในประเทศญี่ปุ่นเพื่อแปลงานของนักเขียนญี่ปุ่น  เช่น  แปลงานของ ยะซินาริ   คาวาบาตะ  หรืองานของนักเขียนญี่ปุ่นอีกหลายคนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท

แต่ในประเทศไทยนั้น  นักวิชาการที่เข้ามาเป็นนักแปลในภูมิภาคนี้ดูจะเป็นเรื่องชั่วคราวมากกว่าที่สนใจอย่างจริงจัง  ฉะนั้นจึงกลายเป็นเหมือนอุปสรรคเมื่อเราต้องการที่จะรู้จักนักเขียนเพื่อนบ้าน  ในประการแรกคือเรารู้จักงานของนักเขียนเพื่อนบ้านผ่านงานแปลของชาวตะวันตก  ไม่ว่าจะเป็นงานของอุสมาน  อาหวัง,  เกริส มาศ,  ไชนอน  อิสมาอิล หรือ ชะห์นูน  อาหมัด  อาจกล่าวได้ว่าเราแทบจะไม่มีนักวิชาการไทยหรือนักแปลไทยที่รู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านลึกซึ้งพอที่จะแปลจากต้นแบบโดยตรง  แม้แต่นักเขียนที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด  ที่มักจะเรียกว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง  ซึ่งเป็นความรู้สึกในเชิงอคติอีกแบบหนึ่ง  เพราะหลายคนคิดว่าลาวเป็นน้องและไทยเป็นพี่   แต่โดยส่วนตัว  คุณสุชาติเห็นว่าลาวเป็นพี่  ไทยเป็นน้อง เพราะความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อยู่ทางด้านลาว-เวียดนาม  และพม่า  ฉะนั้น  หากไม่มี “จินตรัย” เราก็อาจจะไม่รู้จักบุนทะนอง  หรือเราอาจจะต้องรู้จักบุนทะนองหรือนักเขียนลาวคนอื่นๆ  ผ่านงานแปลภาษาอังกฤษ  นับว่าเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างยิ่ง  เนื่องจากว่าเรามีรางวัลซีไรต์มาเป็นเวลากว่า 30 มาปีแล้ว

คุณสุชาติเห็นว่า  กิจกรรมที่มีการมอบรางวัลให้นักเขียนซีไรต์ที่มาจากประเทศทั้ง 9 ประเทศ  ควรจะเป็นกิจกรรมที่มีความหมายมากกว่าการมอบรางวัล  เนื่องจากเราแทบจะไม่รู้จักนักเขียนที่มารับรางวัลซีไรต์  ทั้งเรื่องของพื้นภูมิ  ชีวิตและผลงานของนักเขียนเหล่านั้น  รวมทั้งไม่มีงานแปลของนักเขียนที่ได้รับรางวัล แม้ว่าในระยะหลังจะมีการแปลมากขึ้น  แต่ว่ายังขาดความเข้มข้น  เนื่องจากหากเชื่อว่าวรรรกรรมเป็นภาพสะท้อนสังคม  ประวัติศาสตร์  หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละประเทศ  หรือว่าวรรณกรรมสามารถที่จะสะท้อนภาพสังคมได้  ก็ควรที่จะมีงานแปลของประเทศอุษาคเนย์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้เห็นว่ารางวัลซีไรต์น่าจะเริ่มต้นให้การสนับสนุน และส่งเสริมบทบาทในลักษณะนี้  แม้ว่าการมอบรางวัลนี้จะเป็นระดับเอกชน  แต่การมอบรางวัลเป็นเรื่องระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติ  แต่หากเราแทบจะไม่รู้จักนักเขียนเหล่านั้นเลย  ยกเว้นจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว  เช่น คุณบุนทะนองเป็นนักเขียนลาวคนแรกที่เดินทางมาเยือนทุ่งสีกัน  ประมาณปี 2535 หรือ 2536 (ก่อนที่คุณสุชาติจะถูกไล่ที่)  โดยผ่านมาทางคุณแคน สาริกา  และหลังจากนั้นคุณแคนก็ติดตามทั้งในเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมของลาวมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง  ด้วยเหตุนี้  รางวัลซีไรต์ก็น่าจะเป็นสื่อกลาง  ในแง่ที่จะกำหนดบทบาท  กำหนดการถ่ายเท  การถ่ายทอดวรรณกรรมในประเทศต่างๆ   ซึ่งรางวัลซีไรต์มีมากว่า 30 ปี  มีนักเขียนรางวัลซีไรต์มากกว่าร้อยคน  แต่การแปลงานที่ได้รับรางวัลมีอยู่น้อยมาก  แม้ว่าในระยะหลังประเทศไทยมีผู้แปลออกมาบ้าง  แต่คุณ “จินตรัย” ก็แปลจากงานของนักเขียนลาว  ส่วนงานวรรณกรรมของประเทศอื่นๆ ก็แทบจะไม่เห็นเลย  ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนจากมาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  งานของนักเขียนเหล่านี้จะได้รับการแปลก็ต่อเมื่อมีผู้สนใจเป็นการส่วนตัว

คุณสุชาติเล่าว่าตนสนใจงานวรรณกรรมอาคเนย์เนื่องจากการเป็นบรรณาธิการ โลกหนังสือ  นอกจากจะเกาะติดความเป็นไปของวรรณกรรมในตะวันตกแล้ว  ยังให้ความสำคัญกับงานวรรณกรรมในโลกตะวันออกด้วย  ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำวรรณมาลัย (anthology) ที่เป็นเรื่องสั้นเอเซียขึ้นมาเป็นเล่มแรก  คือ จดหมายบนถังซีเมนต์   ซึ่งให้ความสำคัญกับวรรณกรรมของเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น  เกาหลี ศรีลังกา  อินเดีย  แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับประเทศในอุษาคเนย์ด้วย  แต่ก็ไม่ครบ ซึ่งมีงานเขียนของนักเขียนมาเลเซีย  สิงคโปร์  ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย  พม่า  เวียดนาม  และ ลาว  อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับนักเขียนในภูมิภาคแถบนี้  หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกของหนังสือชุดนี้  เพราะเดิมมีความตั้งใจจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่มที่หนึ่ง  เล่มที่สอง และเล่มที่สาม  แต่ก็เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่สามารถจะพิมพ์ได้  และในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  คุณสุชาติเคยนำวรรณกรรมเวียดนามมาแปลเป็นภาษาไทย  และก่อตั้งสำนักพิมพ์ “ดาวเรือง” เพื่อจัดพิมพ์เองและมีงานพิมพ์หลายชิ้น และรวมเรื่องสั้นเวียดนามที่ให้ชื่อว่า ก่อนกลับบ้านเกิด  ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือต้องห้าม  ตอนนั้นเราไม่รู้จักเวียดนาม  เพราะเรากำลังทำสงครามเย็นกับเวียดนาม  คุณสุชาติเห็นว่าวรรณกรรมน่าจะช่วยให้เรารู้จักเวียดนามมากขึ้น   จึงได้หนังสือหนึ่งเล่มซึ่งเป็นเรื่องสั้นเวียดนามที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วมาแบ่งกันแปลคนละเรื่อง  โดยตอนนั้นใช้นามแฝงร่วมกันว่า “ชมรมนักแปลนิรนาม” และนำมาพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดาวเรือง  ต่อมาได้เตรียมต้นฉบับชุดที่สองไว้แล้ว คือ ช่างซ่อมนาฬิกาแห่งเดียนเบียนฟู  ในขณะนั้นก็ตั้งใจว่าจะแนะนำเรื่องสั้นเวียดนามผ่านทางวรรณกรรมอย่างจริงจัง  แต่วรรณกรรมชุดนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้าม

เมื่อมีซีไรต์เกิดขึ้นหลังช่วง 6  ตุลา ในยุคที่ทำ โลกหนังสือ  คุณสุชาติได้เคยเสนอผ่านทางกรรมการซีไรต์บางคนว่า  สิ่งที่เขาควรจะทำคือ Year Book ในลักษณะที่ให้เห็นความเป็นมาของนักเขียนแต่ละคน  โดยศึกษาในเชิงลึกว่านักเขียนในแต่ละปีมีความเป็นมาอย่างไร  แต่ไม่ได้รับความสนใจ  เคยมีผู้เสนอว่าคุณสุชาติควรเข้าไปเป็นกรรมการซีไรต์  คุณสุชาติกล่าวว่าผู้ที่จะเป็นกรรมการซีไรต์ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมภาษาและหนังสือ  และตนเองเคยมีข้อเรียกร้องหลายๆ ประการผ่านอาจารย์นรนิติ์  เศรษฐบุตร   โดยบอกว่าถ้าตนเป็นสมาชิกของสมาคมภาษาและหนังสือ  ซึ่งสิ่งแรกที่จะทำคือนำสมาคมภาษาและหนังสืออกจากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์  เพราะคุณสุชาติเสนอไปว่าควรจะให้ความสนับสนุนและสนใจกับองค์กรเหล่านี้  ไม่ว่าจะแป็นสมาคมภาษาและหนังสือ  หรือสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ด้วยการที่ให้เงินสนับสนุนให้ทำนิตยสารวรรณกรรมอย่างน้อยเป็น Year Book ปีละเล่มก็ดี  หรือว่าการกล่าวถึงนักเขียนในภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง  ทั้งในแง่ของผู้ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในแต่ละปี  และทั้งในแง่ของการศึกษาความเป็นมาของงานวรรณกรรมของประเทศเหล่านี้ว่าเป็นมาอย่างไร

ในวันนี้ทั้งนายกสมาคมนักเขียนฯ และนายกสมาคมภาษาและหนังสือมาร่วมงาน  จึงเสนอว่าควรมีการทำ Year Book เกี่ยวกับนักเขียนในอุษาคเนย์  ถ้าได้การสนับสนุนจากโอเรียลเตลหรือจากกระทรวงวัฒนธรรมก็สามารถทำให้ดีได้  เพราะขณะนี้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะใน google เกี่ยวกับนักเขียนในภูมิภาคแถบนี้มีมากขึ้น  แต่เราไม่รู้จักเพราะว่าเราไม่ได้สนใจ  หรืออาจมีผู้สนใจ  แต่ว่าไม่มีทุนพอที่จะมีผู้เริ่ม ดังนั้น  ในวันนี้จึงเป็นการกล่าวล่วงหน้าว่า  ถ้าจะมีประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น  เราจะรู้จักเพื่อนบ้านของเราได้ดีมากน้อยเพียงใด  และสิ่งแรกที่น่าจะรู้จักเขาได้ดีก่อนสี่งอื่นคือ การรู้จักในแง่หนังสือหรือวรรณกรรม   การแปลหรือการถ่ายทอดต่างๆ ในปัจจุบันนี้ก็พบว่ามีผู้ที่สนใจเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น  แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นนักแปล  หากรวบรวมคนเหล่านี้ที่จะมาทำงานแปลให้ชัดเจน จะทำให้เรารู้จักนักเขียนเพื่อนบ้านมากขึ้น  ในส่วนของหนังสือ Year book นั้น  คุณสุชาติเห็นว่าอาจจะเริ่มต้นจากนักเขียนร่วมสมัย  โดยสำรวจตรวจสอบก่อนว่านักเขียนในประเทศเพื่อนบ้านมีใครบ้างที่เราอยากแนะนำนอกเหนือจากนักเขียนที่ได้ซีไรต์  หรือนำนักเขียนเฉพาะที่ได้ซีไรต์มาทำ Year book  ก็มีจำนวนมหาศาลแล้ว  เพราะเราก็รู้จักนักเขียนเหล่านั้นเพียงบางคนเท่านั้น  อาทิ  อุสมาน  อาหวัง,  ราติฟ  โมฮิดิน หรือ ปราโมทยา ดีแค่ไหน  และส่วนใหญ่ก็รู้จักแพราะมีคนแปลออกมา  ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้นเอง

คุณสุชาติเล่าให้ฟังว่ารู้จักกับนักเขียนเพื่อนบ้านเหล่านี้จากการทำ โลกหนังสือ และได้มีโอกาสเดินทางไปในประเทศเหล่านี้  จากการที่คุณสุชาติเป็นกรรมการโครงการ “รู้จักเพื่อนบ้าน” ของมูลนิธิโตโยต้า  และในการเป็นกรรมการครั้งนี้เพื่อที่จะนำวรรณกรรมไทยแปลเป็นภาษาญี่ปุน  เช่น ข้างหลังภาพ  ฟ้าบ่กั้น  คำพิพากษา และ ผีเสื้อและดอกไม้   ในขณะนั้นทางมูลนิธิฯ ก็มีความสนใจที่จะแปลวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย  คุณสุชาติจึงเสนอว่าสนใจที่จะแปลงานของประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาษาไทย  เขาจะสนับสนุนได้หรือไม่  จึงตั้งโครงการ “รู้จักนักเขียนเพื่อนบ้าน” ขึ้นมา  ตอนนั้นมีโอกาสร่วมเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์ชาญวิทย์  เกษตรศิริ ไปพม่า  อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  บรูไน  และได้ทำความรู้จักกับนักเขียนไว้หลายคน  ส่วนหนึ่งก็นำนักเขียนเหล่านี้มารายงานข่าวใน โลกหนังสือ  และต่อมาในสมัยที่ทำ บานไม่รู้โรย  รายงานว่ามีนักเขียนชื่อแปลกๆ พวกนี้ที่เราไม่รู้จัก  เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับหนังสือมาเล่มหนึ่ง คือ Dictionary of Literary Biography: Southeast Asian Writers  (เล่มที่ 348) บรรณาธิการคือ Dr.  David Smyth  เป็นอาจารย์อยู่ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน  หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมผู้รู้จากประเทศต่างๆ ทั้งนักวิชาการ  นักแปลงานวรรณกรรมของประเทศในอุษาคเนย์มาเขียนชีวิตและงานของแต่ละคน  ซึ่งมีชีวิตและผลงานของนักเขียนที่กล่าวถึงไว้รวม 46 คน  คุณสุชาติยอมรับว่าแทบจะไม่รู้จักนักเขียนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เลย  ในขณะที่เราอาจจะรู้จัก ปราโมทยา, อุสมาน อาหวัง,  ซีโอนิล  โฮเซ่ และ มอคตาร์  ลูบิส  เพราะว่าส่วนหนึ่งมีผู้เอ่ยถึง  หรือมีผู้แปล  ในขณะที่อีกหลายๆ คนเราไม่รู้จัก ทั้งที่ ๆ บางคนได้รางวัลซีไรต์  เช่น Danarrto และ Idrus จาก อินโดนีเซีย หรือเป็นนักเขียนที่มีชื่อในประเทศของเขา  ซึ่งเขียนงานสมัยใหม่  งานแนวทดลอง  งานแนวสัญลักษณ์ จำนวนมาก  คุณสุชาติยกตัวอย่างนักเขียนที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มดังกล่าว  อาทิ  Lualhati Bautista (นักเขียนสตรี ฟิลิปปินส์)  Nh. Dani  (นักเขียนสตรี อินโดนีเซีย)  Duong Thu Huong (นักเขียนสตรี เวียดนาม) Gopal Baratham (สิงคโปร์)   Lloyd Fernando (นักเขียนสตรี มาเลเซีย)  N.V.M. Gonzalez (ฟิลิปปินส์)   Amando V. Jernandez (ฟิลิปปินส์)  Ho Anh Thai (เวียดนาม)  Stevan Javellana (ฟิลิปปินส์)  Nick Joaquin (ฟิลิปปินส์)  Khin Huin Yu (นักเขียนสตรี พม่า)  Kong Boun Chhoeun (กัมพูชา) U lat (พม่า)   Le Minh Khue (นักเขียนสตรี ชาวเวียดนาม)  Catherine Lim (นักเขียนสตรี สิงคโปร์)  Shirley Geok-lin Lim (นักเขียนสตรี  มาเลเซีย)  Suchen Christine Lim (นักเขียนสตรี  สิงคโปร์)  Mochtar Lubis (นักเขียนอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จัก)  Gya-ne-gyaw Ma Ma Lay (นักเขียนสตรี  พม่า)  Ma Sanda (นักเขียนสตรี พม่า)  K.S. Maniam (มาเลเซีย)  P. Monin (นามปากกานักเขียนพม่า)   Muslim Burmat (นามปากกานักเขียนบรูไน)  Mya Than Tint (พม่า) Nguyen Huy Thiep (เวียดนาม)  Nguyen Minh Chau (เวียดนาม)  Nou Hach (กัมพูชา) Armijin Pane (อินโดนีเซีย) Pham Thi Hoai  (นักเขียนสตรี เวียดนาม)  Putu Wijaya (นักเขียนซีไรต์ ชาวอินโดนิเซีย) Rim Kin (นักเขียนบทละคร ชาวสิงคโปร์) José Rizal (ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นที่รู้จัก) Bienvenido N. Santos (ฟิลิปปินส์)  Lope K. Santos (ฟิลิปปินส์)  Sein Tin  (นามปากกานักเขียนพม่า) Seno Gumira Ajidarma (อินโดนีเซีย)  Shahnon Ahmad (นักเขียนมาเลเซีย  ซึ่งเป็นที่รู้จัก) Hwee Hwee Tan (นักเขียนสตรี สิงคโปร์)  Simon S. C. Tay (สิงคโปร์) Claire Tham (นักเขียนสตรี สิงคโปร์)  Thein Pe Myint (นักเขียนพม่า  เป็นนักเขียนรุ่นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ซึ่งเป็นที่รู้จักจากงานแปลของคุณเรืองยศ  จันทรคีรี) Pramoedya Ananta Toer (นักเขียนอินโดนีเซีย  เคยได้รางวัลซีไรต์) และ Linda Ty-casper (นักเขียนสตรี  ฟิลิปปินส์)  นักเขียนทั้งหมด 46 คน ซึ่งรวมนักเขียนไทยด้วย เช่น หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง  รพีพัฒน์  “ศรีบูรพา” ก. สุรางคนางค์  นิมิตรมงคล (ม.ร.ว. นิมิตรมงคล  นวรัตน) เสนีย์ เสาวพงศ์ “ลาว คำหอม”  ศรีดาวเรือง รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้  โดยมีนักเขียนจากประเทศลาวหนึ่งคนชื่อ  บุนทะนอง  ชมไชผน

ในบรรดารายชื่อนักเขียนทั้งหมดนี้  เราคุ้นเคยกับนักเขียน นักประพันธ์  กวี  นักเขียนบทละคร  ที่เอ่ยนามข้างต้นน้อยมาก  ทั้งๆ ที่ นักเขียนเหล่านี้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในประเทศของเขา  เหมือนที่เขารู้จักเสนีย์  เสาวพงศ์  หรือ “ศรีบูรพา” แต่เราไม่รู้จักเขาเลย  ยกเว้นนักเขียนที่มีงานแปลเป็นภาษาไทย  หรือนักเขียนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ที่คุณสุชาตินำมารายงานข่าวใน โลกหนังสือ  เช่น  เกริส  มาศ, อุสมาน  อาหวัง,  แชนนอน  อาหมัด, ปราโมทยา  หรือ เอ็ดวิน นาตาซัน ทราบู (องค์ปาฐกของการประกาศรางวัลซีไรต์ปีนี้)   คุณสุชาติยอมรับว่าไม่รู้จักนักเขียนที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ และการรู้จักในครั้งนี้ก็เป็นการรู้จักผ่านสายตาของผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้  ซึ่งทำให้รู้สึกแปลกใจว่าเราเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่เราไม่รู้จักกัน  จึงรู้สึกแปลกแยก  แม้ว่าจะมีประชาคมอาเซียในอีกสี่ปีข้างหน้า  ก็คิดว่าเรายังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยที่จะรู้จักพวกเขา  ไม่ว่าจะโดยผ่านสมาคม องค์กรของรัฐ  หรือผ่านรางวัลซีไรต์ที่มีมา 33 ปี  ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่นานที่เราน่าจะรู้จักเขาพอสมควร  แต่เราแทบจะไม่รู้จักเลย  ยิ่งงานแปลภาษาไทยเป็นการแปลงานที่มีชาวตะวันตกแปลมาก่อนแล้ว

คุณสุชาติเห็นว่าถ้าสมาคมอาเซียนมีความหมายจริง  เสาที่เรียกว่าเสาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะสะท้อนการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม  งานทางด้านวัฒนธรรม  งานทางด้านสติปัญญา  งานทางด้านวรรณกรรม น่าจะเป็นจุดเบิกทางหรือเบิกทวารที่ง่ายที่สุด  คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อมีสมาคมอาเซียนเกิดขึ้นแล้ว  จะมีการให้ความสำคัญกับงานทางด้านวัฒนธรรม  งานแปล  นักแปล  องค์กรอย่างสมาคมภาษาและหนังสือ  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มากน้อยเพียงใด  ในช่วงแรกอาจจะยังไม่ต้องเป็นงานแปลก็ได้  เพราะงานแปลเป็นเป็นงานศิลปะที่ละเอียด ลึกซึ้ง ต้องใช้เวลา  และต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ในภาษาต่างประเทศนั้นๆ และต้องมีความรู้และเชี่ยวชาญในภาษาไทยด้วย  แต่ขอแค่เก็บความรู้อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับนักเขียนในประเทศเหล่านี้  เช่น การทำหนังสือสารานุกรม  พจนานุกรมนักเขียน หรือวรรณมาลัยที่เรียกว่า “นักเขียนอุษาคเนย์” ซึ่งเป็นการแนะนำเพื่อที่จะสร้างฐานข้อมูลเบื้องต้นก่อน  คุณสุชาติคิดว่าการทำในลักษณะนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เรามีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันมากขึ้น  เขาจะได้รู้จักเรา ขณะเดียวกันเราก็จะได้รู้จักเขาด้วย  และจะทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางวรรณกรรมในประเทศทั้งเก้านี้ได้

 

2.   ภาพรวมของการแปลวรรณกรรมอาเซียนเป็นอย่างไร  และอุปสรรคคืออะไร

คุณปีเตอร์  รอสส์ กล่าวว่าจะกล่าวถึงใน 3 ประเด็น คือ  ประเด็นแรกคือ บทบาทของภาษาในวรรณกรรม  ประเด็นที่สอง คือ ปัญหาของการแปลในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบของวิชาการ และประเด็นสุดท้ายคือ อนาคตของวรรณกรรมอาเซียน

2.1   บทบาทของภาษาในวรรณกรรม

คุณปีเตอร์กล่าวว่าวรรณกรรม  นิยาย เรื่องสั้นเป็นงานประพันธ์ที่มาจากตะวันตก  ซึ่งมีในเมืองไทยกว่าร้อยปีแล้ว    และทางภาษาศาสตร์มีทฤษฎีที่เชื่อว่าความคิดที่มาก่อนที่จะมีการพูดหรือการใช้ภาษา  ความคิดจะกำหนดภาษา หรือภาษาจะถูกกำหนดด้วยความคิด   ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมตะวันตกมีมานานหลายร้อยปี  และมีนักวิจัยเสนอว่าความคิดหรือกระบวนการความคิด  โดยเห็นว่าสังคมที่ใช้กระบวนการการเขียนนานจะต่างจากกระบวนการคิดในสังคมที่ใช้ภาษาพูดมากกว่า และใช้ภาษาเขียนน้อยกว่า   ในแง่นี้จะเห็นได้บ้างจากวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย  นอกจากนี้  ปัญหาที่พบในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยังมีอิทธิพลของกระบวนการคิดในภาษาพูดมาก  ในขณะที่วรรณกรรมซึ่งเป็นภาษาเขียน  ซึ่งวิธีเขียนและวิธีคิดของตะวันตกต่างออกไปในทิศทางหนึ่ง  เมื่อนักเขียนของภูมิภาคนี้จะเขียนก็ต้องยอมให้มีวัฒนธรรมของภาษาพูด  และยิ่งงานแปลที่เปลี่ยนจากวัฒนธรรมของภาษาพูดไปเป็นภาษาอังกฤษ  ก็ต้องเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมของสังคมที่จะเน้นการเขียน  ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของความคิดจะต่างกัน  แต่ต่างกันที่วิธี  เพราะลักษณะของการพูดจะมีการเพิ่มเติมตอนท้าย  แต่ลักษณะของการเขียนจะมีอนุประโยคและเหตุผลมากกว่า

คุณปีเตอร์ยอมรับว่าเมื่อมาทำงานแปลได้พบปัญหาว่าการที่จะเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่ปรากฏในวรรณกรรมของภูมิภาคมากน้อยเพียงใด  จะให้คนในภูมิภาคที่มีความคิดไปแบบหนึ่งให้ความคิดแบบตะวันตกทั้งหมดไม่ได้  เพราะฉะนั้นกระบวนการแปลต้องคิดว่าจะเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด  และยังมีประเด็นที่นักเขียนยังเขียนเป็นภาษาพูด  เมื่อแปลจะเป็นเปลี่ยนเป็นภาษาเขียนมากน้อยเพียงใด   นอกจากนี้  คุณปีเตอร์เล่าว่าเคยมีผู้บอกว่า แผ่นดินอื่น ของคุณกนกพงศ์  สมสงพันธ์ เป็นภาษาการแปลมากกว่าเป็นภาษาเขียนในภาษาไทย  ซึ่งอาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งในประเด็นนี้

 

2.2   ปัญหาของการแปลในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

คุณปีเตอร์กล่าวถึงปัญหาของการแปลในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานี้ว่า  อันที่จริงทั้งร้อยปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเขียนนิยายไทย หรือเรื่องสั้น  ยังไม่มีนักแปลมืออาชีพที่จะแปลงานภาษาไทยออกเป็นภาษาอังกฤษ    ใน 30-40 ปีที่ผ่านมาคงจะเริ่มตั้งแต่สมัยสงครามที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเป็น peace call  ก็พบว่าจะเข้ามาเป็น peace call 2-3 ปี  หรืออาจจะมาในฐานะนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทหรือปริญญาเอก  คนพวกนี้จะอยู่ในประเทศไทยแค่เพียงไม่กี่ปี และงานที่ทำก็เป็นงานที่คล้ายกับว่าจะพิสูจน์ตัวเองว่าใช้ภาษาของพื้นถิ่นได้มากน้อยเพียงใด  คนเหล่านี้ก็จะแปลหนังสือเล่มหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นหนังสือเล่มแรกที่แปล และส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่แปลด้วย  หลังจากนั้นก็เดินทางกลับไป   ซึ่งคุณภาพของงานไม่มีใครศึกษาหรือพิสูจน์ว่าคุณภาพดีมากน้อยเพียงใด

หากพิจารณาความผิดพลาดของผู้แปลในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีข้อผิดพลาดในหลายประเด็น นับตั้งแต่ขอบเขตของย่อหน้าหรือประโยคมักจะหายไป    นอกจากคุณภาพของการแปล  ประสบการณ์ของผู้แปล  และงานวรรณกรรมที่มีนักวิชการแปลเป็นภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ในรูปของงานวรรณกรรม  แต่เป็นการเผยแพร่เฉพาะในแวดวงวิชาการ เช่น วารสารของมหาวิทยาลัย  หรือหนังสือที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเรื่องภูมิภาค ซึ่งไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง  ขณะเดียวกันก็ไม่มีสำนักพิมพ์ใดที่มีประสบการณ์ หรือสนับสนุนการแปลเพื่อเป็นวรรณกรรมสำหรับคนทั่วไป   ด้วยเหตุนี้  คำศัพท์ที่แปลอาจจะเป็นคำศัพท์ในความหมายที่กว้างกว่าภาษาต้นฉบับ เช่น คำว่า “โกรธ” ในงานวรรณกรรมเรื่องหนึ่งอาจจะใช้คำ 5 คำที่แตกต่างกันแต่มีความหมายว่า “โกรธ”  แต่ในฉบับภาษาอังกฤษอาจจะไม่ได้ใช้คำมากถึง 5 คำ ที่แสดงความหมายว่า “โกรธ”   แต่อาจจะใช้คำเดียว หรือว่า 2-3 คำ แทนคำว่า “โกรธ” ก็จะทำให้อรรถรสของงานเขียนสูญเสียไป  คุณปีเตอร์เห็นว่ามีผู้ที่กล่าวได้ว่าเป็นมืออาชีพในการแปล คือ คุณมาร์เเซล  บารังส์  เพราะไม่มีผู้ใดจะเทียบประสบการณ์ของเขาที่แปลงานมากกว่า 20 เล่ม  แต่เขาเองก็ยอมรับว่ามีความแตกต่างในงานแปลของเขา  หรือมีความแตกต่างของความสำเร็จระหว่างงานสองประเภท คือ ถ้าแปลในภาษาฝรั่งเศสจะขายได้ดี  แต่ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะขายได้ประมาณ 400 เล่ม  ซึ่งจะขายให้กับผู้ที่สนใจประเทศไทย หรือชาวต่างชาติที่อยู่ประเทศไทย  หรือเป็นอาจารย์ชาวไทยที่สนใจการแปลเท่านั้น  แต่งานเหล่านี้จะไม่ไปถึงนักอ่านทั่วโลกที่สนใจวรรณกรรม   จึงต่างกับยุโรปที่มีหลักการแปลว่าต้องแปลงข้ามภาษาแม่ตนเอง  ดังนั้น หากนึกถึงคุณภาพของงาน โดยเฉพาะงานซีไรต์ หรืองานของนักเขียนคนอื่นที่ถือว่าเป็นงานดีที่สุด  หรือว่านักเขียนดีที่สุดของประเทศ แต่เราจะให้ชาวต่างชาติที่มาอยู่เมืองไทยหรือมาเรียนภาษาไทย 1 ปี หรือ 2 ปี  เป็นผู้แปลงานคุณภาพในระดับที่เป็นเอกของประเทศก็ค่อนข้างจะยาก  ผู้ที่สามารถจะแปลงานระดับคุณภาพเช่นนี้ได้น่าจะเป็นอย่างคุณมาร์เเซลที่อาศัยอยู่ประเทศไทยมานานถึงจะแปลได้

2.2.3   อนาคตของวรรณกรรมอาเซียน

คุณปีเตอร์กล่าวว่าอาเซียนมีทิศทางที่ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน  ซึ่งต่างจาก EU เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการแปลในยุโรปนับเป็นค่าใช้จ่ายใหญ่ที่สุดของ EU   มีการแปลมากกว่าร้อยทิศทางของภาษา  คือแต่ละประเทศจะแปลทุกภาษาของประเทศที่อยู่ใน EU จึงนับว่า EU คือศูนย์กลางการแปล  แต่อาเซียนต้องการหลีกเลี่ยงปัญหานี้   จึงเลือกภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง  ซึ่งจะพบว่ามีปัญหาเช่นกัน

ปัญหาประการแรกคือ ประสบการณ์ในภูมิภาคเกี่ยวกับการแปล  ส่วนใหญ่ไม่ใช่ว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ  แต่จะเป็นการแปลจากภาษอังกฤษเป็นภาษาของแต่ละประเทศ   เรายังขาดประสบการณ์ในการแปลจากภาษาในภูมิภาคเป็นภาษาอังกฤษ  และยังสังสัยว่าภาษาอังกฤษของอาซียนจะป็นภาษาอังกฤษแบบใด  และจะดีพอที่จะใช้เพื่อเผยแพร่วรรณกรรมหรือไม่

ประเด็นที่สอง  คือ ความคิดเห็นของนักขียนซีไรต์  แม้ว่านักเขียนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหวังให้งานของตนได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ขณะเดียวกันพวกเขาเองก็อยากให้งานของตนได้รับการแปลเป็นงานในระดับภูมิภาคด้วย  แต่ขณะนี้ก็ยังขาดนักแปล  และยังไม่มีระบบใดๆ เกี่ยวกับการหานักแปลในระดับภูมิภาค  สำหรับความคิดของคุณสุชาติที่จะทำหนังสือเกี่ยวกับนักเขียนในภูมิภาคเป็นความคิดเดียวกันที่ เอ็ดวิน ธัมบู  กล่าวถึงในงานมอบรางวัลซีไรต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  แต่เอ็นวินไม่ได้กล่าวถึงการทำหนังสือ  แต่กล่าวถึงการทำเว็บไซต์ที่มีรายชื่อของนักเขียน และหนังสือดีๆ ที่ได้แปลหรือที่ควรแปลของวรรณกรรมในภูมิภาค

อาจารย์สกุลเห็นว่าสิ่งที่คุณรอสส์กล่าวถึงนั้นนับเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในการที่ไทยจะเข้าเป็นสู่สภาวะของการเป็นอาเซียน และการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในปี 2558  ปัญหาที่คุณปีเอตร์  รอสส์ ฝากไว้ก็คือว่าเราจะใช้ภาษาอังกฤษแบบใดเป็นภาษากลางที่จะสามารถเข้าใจร่วมกันได้ทั้งหมด  นอกจากนี้ ในเรื่องการแปลนั้นพบว่ามีหลักของการแปลประการหนึ่งกล่าวว่า  นักแปลต้องเก่งภาษาถิ่นของตัวเอง  หมายความว่าต้องเก่งภาษาไทยของตน ถ้าเราเป็นคนไทย และการแปลในลักษณะข้ามชาติเช่นนี้ยังไม่ค่อยมีมากนักในประเทศไทย  ยกเว้นงานของคุณบุนทะนองที่คุณ “จินตรัย” แปลข้ามจากภาษาลาวมาเป็นภาษไทย  และยังมีคำถามต่อไปว่าการแปลเป็นภาษาไทยนั้น เป็นภาษาไทยแบบใด  ภาษาไทยที่เป็นภาษาถิ่น  หรือ ภาษาไทยภาคกลาง หรือเป็นภาษาไทยอีสาน  นับเป็นนัยะสำคัญที่ว่าความเป็นไทย หรือความเป็นพื้นถิ่นเหล่านั้นก็มีแง่มุมในเรื่องของ local dialect ที่ต่างกัน

 

3.   ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ลาว

คุณแคน  สาริกา  เล่าให้ฟังว่าวันที่ทราบข่าวว่าคุณบุนทะนองได้รับราวัลซีไรต์รู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่าคุณบุนทะนองน่าจะได้รับรางวัลนี้มานานแล้ว  แต่วันที่ดีใจคือวันที่คุณบุนทะนอง กับ คุณดาวเวียง บุดนาโคได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ  นั่นคือชัยชนะของนักเขียนหนุ่ม   เนื่องจากกว่าจะได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นของลาว  นับเป็นเรื่องที่ยากสำหรับกลุ่มนักเขียนหนุ่มอย่างคุณบุนทะนอง

คุณแคนเล่าว่าได้พบคุณบุนทะนองครั้งแรกในปี 2532  ในขณะนั้นมี “ชมรมนักเขียนหนุ่ม”  เป็นช่วงที่ลาวอยู่ในระหว่างที่กำลังเปิดกว้างทางความคิด  คือจากประเทศสังคมนิยมที่ต้องทำทุกอย่างตามพรรค  เขียนวรรณกรรมก็ต้องเขียนตามพรรค  รับใช้พรรค   รับใช้สังคมนิยม   แต่ในปีนั้นนักเขียนเหล่านี้เริ่มวิจารณ์สังคมได้  วิจารณ์พรรคได้  ทั้งนี้ได้กลับไปอ่านหนังสือ วัยหนุ่ม ที่คุณบุนทะนองและเพื่อนนักเขียนหนุ่มทำขึ้นมา  หนังสือ วัยหนุ่ม  เทียบได้กับยุควรรณกรรมบาดแผลของไทย ในยุคหลังป่าแตก  ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมลาวมีลักษณะพิเศษ  โดยเฉพาะวรรณกรรมลาวตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา  หากศึกษาวรรณกรรมลาว  แต่ไม่ศึกษาการเมืองลาวจะให้ภาพที่ไม่ครบ และยอมรับว่าความเป็นลาวใหญ่กว่าความเป็นสังคมนิยม  ใหญ่กว่าความเป็นลัทธิมาร์ก-เลนิน  และถึงวันหนึ่งความเป็นลาวก็ทำให้เกิดความปรองดองกันในชาติได้

คุณแคนกล่าวว่าตนทำหน้าที่เพียงแค่ผู้นำสาร  นำวรรณกรรมจากฝั่งลาวมาฝั่งไทย  เพราะภารกิจจริงๆ ของตนนั้นเป็นการไปทำข่าว  และวันที่ได้พบกับคุณบุนทะนองเป็นวันที่คุณแคนไปสัมภาษณ์นายกไกรสร  พรหมวิหาร  ซึ่งเดินทางไปสัมภาษณ์พร้อมกับคุณมาร์เเซล  บารังส์  จากนั้นจึงได้นำงานของคุณบุนทะนองและของเพื่อนนักเขียนลาวเข้ามาในประเทศไทยและนำมาให้คุณสุชาติอ่าน  คุณ “จินตรัย” แปล และ คุณขจรฤทธิ์  รักษา เป็นผู้พิมพ์  นั่นก็คือ กระดูกอเมริกัน  เล่มแรก  ซึ่งในหนังสือได้พิมพ์คำแถลงการณ์ของนักเขียนหนุ่มไว้ด้วย  และในปีนั้นคุณบุนทะนองก็ได้ออกจากองค์กรของพรรค  มาเป็นนักเขียนอิสระพร้อมเพื่อนนักเขียนหนุ่มอีกหลายคน ซึ่งหมายความว่า คุณบุนทะนองได้ประกาศการต่อสู้ในฝั่งลาว  โดยที่ผู้อ่านชาวไทยไม่ทราบว่าแถลงการณ์นักเขียนหนุ่มที่คุณบุนทะนองเขียนไว้นั้นคืออะไร   คุณแคนเห็นว่าคุณบุนทะนองโชคดีที่มีคนอย่างคุณ “จินตรัย” ที่ขยันแปล  มีคนอย่างคุณสุชาติที่กล่าวถึง และมีคนอย่างคุณขจรฤทธิ์ที่พิมพ์เป็นหนังสือเล่มให้  บุนทะนองจึงอยู่ในถึงวันนี้  อยู่จนถึงวันที่ได้เป็นศิลปินดีเด่นแห่งชาติลาว  ในเดือนพฤษภาคม ปี 2554  นอกจากยังเห็นว่างานเขียนของคุณบุนทะนองไม่ใช่งานวรรณกรรมลอยๆ หรือวรรณกรรมที่เกิดจากจินตนาการ  แต่เป็นวรรณกรรมที่ยึดโยงกับชาวบ้าน  และกว่าที่คุณบุนทะนองจะมาถึงวันที่ได้รางวัลเช่นนี้  ได้ผ่านการต่อสู้  และเกือบจะไม่ได้เป็นคุณบุนทะนองอย่างวันนี้   หากไม่ได้นักเขียนไทยหลายๆ คนนำวรรณกรรมของเขามาแปลและมาพิมพ์เผยแพร่

อาจารย์สกุลสรุปว่าประเด็นที่นำเสนอนับเป็นบริบทสำคัญเบื้องต้นสำหรับที่จะศึกษาอาเซียนต่อไป  และโดยส่วนตัวเห็นว่าการรวมตัวของอาเซียนในอนาคตเป็นการรวมตัวในเชิงธุรกิจนิยมมากกว่าที่จะเป็นในเรื่องของวัฒนธรรม  และหากมีการศึกษาในประเด็นนี้อาจต้องขยายความทั้งหมดว่าความเป็นอาเซียนทั้งหมดนั้น  ยึดโยงกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตรที่สืบต่อกัน  บริบทของสังคมอาเซียนแท้ที่จริงแล้วเป็นบริบทของสงคราม  ไม่ว่าจะเป็นสงครามของการต่อสู้ที่ทิ้งบาดแผลเอาไว้ให้กับมนุษย์  หรือสงครามของธุรกิจ  สงครามของเศรษฐกิจที่รุกคืบเข้ามาครอบงำสังคมในประเทศเรา   ซึ่งวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น อย่างที่คุณแคนบอกว่าเราต้องให้ค่าของกันและกัน  หรือการเสียสละของคุณปีเตอร์  รอสส์ ที่ทุ่มเททำงานเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกไปในตะวันตก  อาจารย์สกุลเชื่อว่าดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่มีมิติพิเศษเหมือนกับที่เราคลั่งไคล้ดินแดนอเมริกาใต้ใน The Lost World  หรืออย่างที่เราชอบงานของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือ  มารีโอ บาร์กัส โยซา ในเอเชียเองก็มีมิติคล้ายกันอย่างหนึ่งคือเป็นโลกของ Magical Realism  เป็นโลกพิเศษที่มีตำนาน มีนัยะที่ฝังลึกเป็นความหมายที่สำคัญ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องแปลความลึกลงไปอีกกว่าภาวะที่เป็นปกติ  แต่เป็นภาวะของบาดแผล ภาวะของตำนาน อดีต  ความเชื่อและศรัทธา เพราะในอาเซียนเราอยู่กันด้วยศรัทธา  สำหรับประเด็นการเสวนาในวันนี้จะฝากไปถึงกระทรวงวัฒนธรรม  รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการว่า ที่จะมองเห็นว่าค่าความหมายของชีวิตที่แท้จริงอยู่ที่เรื่องราวที่สะท้อนออกมาที่แสดงถึงการเปิดออกของหัวใจ (open heart)  เปิดความรู้สึกออกมาด้วยหัวใจ และนั่นจะหมายถึงว่าวรรณกรรมเท่านั้นจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ 

 

นางสาวอรพินท์  คำสอน

ผู้บันทึกรายงานการเสวนา

———————————–

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *