Moonrise Kingdom

จักรนาท นาคทอง

                สารภาพตามตรงว่าปกติแล้วผมเป็นคนที่ชอบดูหนังตลาด ส่วนหนังนอกกระแสผมก็ดูได้แต่จะไม่ใช่คนที่บอกว่า “อยากไปดูหนังนอกกระแส” เรื่อง Moonrise Kingdom นี้ก็เช่นเดียวกัน ผมไม่ได้ติดตามข่าวคราวมาก่อนเลย เพราะหนังตลาดที่ผมอยากดูในช่วงนี้มีจำนวนมากเหลือเกิน แต่เมื่อคนรู้ใจโพสต์ตัวอย่างหนังให้ดูใน facebook และนัดเพื่อนเก่ามารวมตัวกันเพื่อดูหนังเรื่องนี้และแวะไปสังสรรค์กันต่อ ผมตอบตกลงเพราะอยากไปพบเพื่อนเก่า และคิดว่าการได้หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ที่สกาลาอีกสักครั้งก็คงไม่เลว เพราะหนังเรื่องนี้ฉายที่สกาลาที่เดียวเท่านั้นในประเทศไทย

 

ผมเคยดูหนังของ เวส แอนเดอร์สัน เพียงเรื่องเดียวคือ The Royal Tenenbaums รู้สึกว่าภาพในหนังนั้นมีเอกลักษณ์ สีสันที่จัดจ้าน มีรายละเอียดในภาพจำนวนมาก ดูคล้ายโลกในจินตนาการหรือความฝัน แต่กลับนำเสนอเรื่องราวที่แสนจริงจังของครอบครัว ผ่านแนวทางการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย และมีอารมณ์ขัน ประเด็นที่ชวนให้ขบคิดนั้นมีอยู่แน่นอน แต่ผู้ชมต้องขุดให้ลึกลงไปในเนื้อหาของหนัง ซึ่งนั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้หนังของเวส แอนเดอร์สัน ดูไม่น่าเบื่อ

 

เมื่อได้ชมเรื่อง Moonrise Kingdom ก็ยังคงให้ความรู้สึกเช่นเดิมอย่างไม่เสื่อมคลาย ภาพยังคงเป็นเอกลักษณ์แบบเดิม ผมลองกลับมาค้นหาผลงานเรื่องเก่าๆ ของเขาในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่าภาพในหนังแทบทั้งหมดมีลักษณะแบบเดียวกันนี้ ซึ่งไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหรือซ้ำซาก แต่กลับรู้สึกว่านี่เป็น “ลายเซ็น” ของผู้กำกับ นอกจากนี้ก็ยังมีรูปแบบของการเล่าเรื่อง ที่ไม่ใช่เพียงเล่าผ่านตัวละครในเรื่อง แต่ยังมีชายชรา ซึ่งชายชราคนนี้ดูเผินๆ อาจคิดว่าเขาเป็นตัวละครคนหนึ่ง แต่เขามักจะปรากฏตัวแบบทะลุกลางปล้องเพื่อมาเล่ารายละเอียดปลีกย่อยของเรื่อง เช่นภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เป็นต้น ผมคิดว่าชายชราผู้นี้มีบทบาทเป็น “ผู้เล่าเรื่อง” ซึ่งปกติในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เราจะไม่ได้เห็นหน้าผู้เล่า แต่จะได้ยินเสียง การที่เขาปรากฏตัวมายืนเล่าเรื่องในชุดสีแดงสะดุดตา ก็ให้ความรู้สึกโดดเด่นและแปลกจากเรื่องอื่นๆ  นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้หนังสือ แผนที่ และของอย่างอื่นในการเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

 

ด้านเนื้อหาของ Moonrise Kingdom เป็นเรื่องราวของความรักระหว่างเด็กมีปัญหาสองคน ซึ่งในปี 1965 พวกเขามีอายุได้ 12 ปี เด็กชายชื่อแซม (Jared Gilman) เป็นลูกกำพร้าที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม เขาคงสร้างปัญหาให้กับพ่อแม่บุญธรรมมากเสียจนพวกเขาตัดสินใจส่งไปเข้าค่ายลูกเสือ แล้วส่งจดหมายไปบอกว่าไม่ต้องกลับบ้านเมื่อได้ทราบว่าแซมหนีออกจากค่าย ส่วนเด็กหญิงชื่อซูซี่ (Kara Hayward) ก็มีปัญหาควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ ทั้งสองลักลอบส่งจดหมายติดต่อกันเพื่อมาอยู่ด้วยกันที่ชายหาดบนเกาะที่ตัวละครเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ ซึ่งการไปชายหาดนี้ต้องไปตามเส้นทางทำไร่เลื่อนลอยของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง  ชื่อ Moonrise Kingdom ก็เป็นชื่อที่แซมหรือซูซี่ตั้งให้กับชายหาดนี้เอง  ในเมื่อเด็กมีปัญหาสองคนหายตัวไป บรรดาผู้ใหญ่และเพื่อนๆ จึงต้องออกตามหา ซึ่งการตามหาเด็กคู่นี้ และการใช้ชีวิตด้วยกันของพวกเขา ก็คือเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของหนัง

 

ถึงแม้ผู้ชมในโรงหนังจะหัวเราะกันเป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็มีหลายจุดที่ทำให้ผมต้องกลับมาขบคิด เช่นเมื่อ
ซูซี่หนีออกจากบ้าน พ่อของเธอจะไม่รู้เลยหากภรรยาของเขาไม่บอก  อีกตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อเพื่อนๆ ในค่ายลูกเสือออกตามหาแซมจนพบ แซมกล่าวว่า “ฉันลาออกจากค่ายแล้ว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันอีก” และเพื่อนของเขากล่าวว่า “นายไม่มีอำนาจจะทำอย่างนั้น” ทำให้ผมต้องคิดว่าแซมควรจะมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเองหรือไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในค่าย ถึงแม้ว่าระบบจะไม่อนุญาตให้เขาทำเช่นนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเด็กแต่ในเรื่องก็แสดงให้เห็นว่าเขามีความสามารถอย่างสูงในการใช้ชีวิตในป่าและการเดินทาง จึงไม่น่าห่วงว่าแซมจะได้รับอันตราย  หรือเมื่อแซมหนีออกมาใช้ชีวิตกับซูซี่ เขาได้ใช้ความรู้ที่ศึกษามาจากค่ายลูกเสืออย่างเต็มที่ ทั้งการใช้ชีวิต การดูเข็มทิศ แผนที่ ตลอดจนทักษะการต่อสู้ ซึ่งเพื่อนๆ ที่ได้แต่อยู่ในค่าย ไม่อาจสู้กับแซมซึ่งมีประสบการณ์การใช้ความรู้ในสถานที่จริงได้เลย  สุดท้ายคือนอกจากพ่อแม่บุญธรรมของแซมจะไม่ให้เขากลับบ้านแล้ว ยังไม่สนใจอีกเลยว่าชะตากรรมของลูกชายบุญธรรมของตนจะเป็นอย่างไรต่อไป ถึงแม้ว่านักประชาสงเคราะห์จะบอกว่าอาจจะนำตัวเขาไปช็อตไฟฟ้าก็ตาม

 

ถึงแม้ว่าภาพของหนังจะเป็นเหมือนโลกแห่งความฝัน แต่การแสดงของนักแสดงกลับทำให้ผมเชื่อได้ว่าเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นจริง และถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องจะค่อนข้างน้ำเน่าก็ทำให้ติดตามดูได้จนจบอย่างไม่น่าเบื่อ  นักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง บรูซ วิลลิส บิล เมอเรย์ หรือ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน นั้น ไม่แปลกใจที่พวกเขาจะแสดงได้สมบทบาท แต่ตัวเอกสองคนเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีผลงานเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก สามารถทำให้ผมเชื่อในความรักของพวกเขาได้ ทั้งที่ปกติผมก็เป็น “ผู้ใหญ่” อีกคนหนึ่ง ที่ย่อมต่อต้านความรักของเด็กที่มีอายุเพียง 12 ปี ว่ายังไม่ถึงเวลาอันควรอย่างแน่นอน

 

ในส่วนของเพลงประกอบที่ติดหูผู้ชมหลายคนนั้นเป็นเพลงของ Francoise Hardy ที่ชื่อ Le Temps de l’Amour ซึ่งเป็นเพลงฮิตตั้งแต่ปี 1962 ช่วงเวลาของหนังเรื่องนี้นั่นเอง และเพลงบรรเลง The Heroic Weather-Conditions of the Universe ที่มีให้ฟังในช่วง end credit ก็เพราะดี และมีเครื่องดนตรีที่หลากหลาย ผู้สนใจสามารถลองหาฟังได้ที่ยูทูป ผมอยากให้ลองฟังกันดูครับ

 

กล่าวโดยสรุปผมคิดว่าหนังเรื่อง Moonrise Kingdom เป็นหนังที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นของตัวเอง มีภาพ บรรยากาศ ที่สวยงาม เรื่องราวถึงแม้จะไม่ผิดความคาดหมายแต่ก็เล่าได้อย่างมีอารมณ์ขันและไม่น่าเบื่อ อีกทั้งแฝงประเด็นให้ได้ขบคิด เป็นอีกเรื่องที่คนรักหนังไม่ควรพลาด

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *