อ่านนิยายชิงซีไรต์ . . . ไปพร้อม ๆ กับกรรมการ (ปี ๒๕๕๕)

คุณกัลปพฤกษ์ ผู้วิจารณ์ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงบนสื่ออินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีความสนใจในการวิจารณ์วรรณกรรมด้วย คุณกัลปพฤกษ์ได้ส่งบทวิจารณ์หนังสือ 7 เล่มสุดท้ายที่เข้ารอบรางวัลซีไรต์ในปีนี้มาให้โครงการเผยแพร่บนเว็บไซต์โครงการ บทวิจารณ์นี้ชี้ให้เห็นทั้งกลวิธีในการนำเสนอและเนื้อหาที่ผู้แต่งนำมาใช้ในการเขียนนิยายในแต่ละเรื่อง นอกจากนี้คุณกัลปพฤกษ์ยังได้ชี้ให้เห็นจุดเด่น จุดด้อยของหนังสือแต่ละเล่มได้อย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณกัลปพฤกษ์เป็นผู้ที่ติดตามการประกวดรางวัลซีไรต์มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่อ่านหนังสือที่เข้าชิงรางวัลซีไรต์ทั้งเจ็ดเล่มแล้วก็จะได้แง่คิด มุมมองว่าเหมือนหรือแตกต่างจากคุณกัลปพฤกษ์หรือไม่ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือทั้ง 7 เล่ม เมื่ออ่านบทวิจารณ์ของคุณกัลปพฤกษ์แล้วอาจจะเลือกหนังสือหนึ่งในเจ็ดเล่มขึ้นมาอ่าน เพื่อที่จะลุ้นว่าหนังสือที่ท่านเลือกมาอ่านนั้นตรงใจกับกรรมการหรือไม่

 

 อ่านนิยายชิงซีไรต์ . . . ไปพร้อม ๆ กับกรรมการ (ปี ๒๕๕๕)

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’

 

เข้าสู่โค้งสุดท้ายกันแล้วสำหรับการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัล ‘ซีไรต์’ รอบของนวนิยายที่ประกาศรายชื่อหนังสือเข้ารอบสุดท้ายกันไปเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา จากนวนิยายที่ตีพิมพ์ในรอบสามปีที่ส่งประกวดมาจำนวน ๗๓ เล่ม (มีหนึ่งเล่มที่ไม่อยู่ในกติกาเพราะเป็นรวมบทกวี) คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง ๗ ท่านก็ได้ประกาศรายชื่อนิยายที่ผ่านการพิจารณารอบแรกจำนวน ๑๕ เล่มกันตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จนในที่สุดก็ได้คัดสรรกลั่นกรองอย่างเข้มข้นอีกครั้งจนเหลือเพียง ๗ เล่มสุดท้ายในที่สุด

ซึ่งรายชื่อหนังสือนวนิยายที่ผ่านเข้าไปให้คณะกรรมการตัดสินได้อ่านเพื่อพิจารณามอบรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ก็ประกอบไปด้วย

 

๑) ‘คนแคระ’ โดย วิภาส ศรีทอง

๒) ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ โดย แดนอรัญ แสงทอง

๓) ‘ในรูปเงา’ โดย ‘เงาจันทร์’

๔) ‘รอยแผลของสายพิณ’ โดย สาคร พูลสุข

๕) ‘เรื่องเล่าในโลกลวงตา’ โดย พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์

๖) ‘ลักษณ์อาลัย’ โดย อุทิศ เหมะมูล

๗) ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ โดย ศิริวร แก้วกาญจน์

 

และเพื่อให้การประกวดชิงรางวัลเป็นไปอย่างคึกคักมากขึ้น ผู้เขียนก็ขอร่วมลงมืออ่านนิยายทั้ง ๗ เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนี้ดูว่ามีเนื้อหาและวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจอย่างไรกันบ้าง ถือเป็นการสำรวจชีพจรของวงการนวนิยายร่วมสมัยไทยที่ได้รับการประกันคุณภาพในขั้นต้นจากคณะกรรมการคัดเลือกมาแล้วว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใด และเผื่อจะเป็นการแนะนำให้คุณผู้อ่านได้ลองเปิดโอกาสให้หนังสือที่สุดท้ายแล้วก็อาจไปไม่ถึงเส้นชัย แต่ก็มีความโดดเด่นน่าสนใจชนิดไม่ควรมองข้ามไปเหมือนกัน

โดยจะขอเรียงลำดับตามอักษรชื่อเรื่องดังต่อไปนี้

 

) ‘คนแคระโดย วิภาส ศรีทอง

นวนิยายรสชาติประหลาดเล่าเรื่องราวของ ‘เกริก’ อดีตนักศึกษาแพทย์ที่ไม่จบการศึกษาทว่ามีฐานะเป็นมหาเศรษฐีโดยวันดีคืนดีเขาก็นึกอุตริพิเรนทร์อยากจับคนมาขังเล่นในตึกอาคารแห่งหนึ่งซึ่งเขาเป็นเจ้าของ และเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายของเขาก็คือชายแคระผู้ไม่มีความพิเศษอะไรใดๆ ก่อเกิดความสัมพันธ์อันแปร่งแปลกยากจะเข้าใจเมื่อ ‘เกริก’ ปฏิบัติต่อคนแคระรายนั้นอย่าง ‘แขกผู้มีเกียรติ’ และเลี้ยงดูปูเสื่อเขาด้วยสิ่งต่างๆ เป็นอย่างดี โดยไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายทารุณอะไรเขาเลย นอกจาก ‘เกริก’ แล้วก็ยังมีผู้ร่วมเห็นเหตุการณ์อีกสองราย นั่นคือ ‘พิชิต’ ชายหนุ่มที่เพิ่งจะสูญเสียภรรยา และ ‘นุช’ ศิลปินสาว ทั้งสองเพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเรียนของเกริก คนทั้งสามนี้ต่างใช้คนแคระในการสร้างความหมายให้ตัวเองด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ในขณะที่คนแคระก็เฝ้าฝันถึงอิสรภาพ แม้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขาจะสุขสบายจนไม่มีอะไรอื่นใดให้เรียกร้อง

 

เนื้อหาของนิยายเล่มนี้อาจฟังดูคล้ายงานแนวเขย่าขวัญ แต่จริงๆ แล้วมันกลับมีท่าทีเป็นงานสะท้อนสังคมเสียมากกว่า การกระทำของ ‘เกริก’ ‘พิชิต’ และ ‘นุช’ ดำเนินไปอย่างแทบไม่มีการอธิบายมูลเหตุจูงใจ พวกเขาทำทุกสิ่งไปเพียงเพราะแค่อยากทำ ทั้งยังรู้สึกสนุกไปกับกิจกรรมท้าทายตัวบทกฎหมาย  วิภาส ศรีทอง บรรยายถึงตัวละครเพื่อนทั้งสามรายนี้ผ่านพฤติกรรมมากกว่าความนึกคิดลึกๆ ภายใน ให้ภาพที่เหมือนจะชัดแต่ก็ยังอ่านอะไรไม่ได้ค่าที่หลาย ๆ ส่วนก็ยังซ่อนเร้นคลุมเครือ แต่จุดร่วมที่พอจะเห็นได้จากตัวละครเพื่อนทั้งสามรายนี้ก็คือ ความหมกมุ่นต่อความต้องการในการแก้ปมปัญหาทางใจของตนเองโดยไม่นึกถึงหัวอกผู้อื่น สะท้อนถึงความบูดเบี้ยวภายในของผู้คนในสังคมเมืองยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี สังคมที่ป่วยไข้พิกลพิการจนมาตรฐานศีลธรรมจริยธรรมอะไรทั้งหลายเริ่มไร้ความหมายเข้าไปทุกที

 

ด้านลีลาการเขียนของ วิภาส ศรีทอง ก็แปลกแปร่งคลุมเครือได้ไม่แพ้ตัวละครของเขาเลย ด้วยโครงเรื่องหลักที่ไม่ถึงกับสลับซับซ้อนอะไรนัก แต่ วิภาส ศรีทอง กลับระบายรายละเอียดของเหตุการณ์ในบทต่างๆ อย่างถี่ยิบราวกับกำลังชมภาพยนตร์ อย่างไรก็ดีรายละเอียดเหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดภายนอกที่สามารถเห็นได้ด้วยตา แต่ภาวะภายในของตัวละครยังถูกเว้นว่างเอาไว้ให้ผู้อ่านได้วินิจฉัยมูลเหตุจูงใจกันเอาเอง ทิศทางการเล่าของเขาก็ออกจะสะเปะสะปะทิ้งๆ ขว้าง ๆ มีการพาดพิงถึงสิ่งของหรือบุคคลต่างๆ ที่เหมือนจะเกี่ยวข้องอยู่มากมายแต่สุดท้ายก็ไม่ได้พัฒนาให้เห็นถึงความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าแมวเหมียว มือปริศนา นาฬิกาข้ามเวลา รวมถึงตัวละคร นายตำรวจ ชายสูงโย่ง และ ลูกน้องที่สำนักงานของเกริก อย่างไรก็ดีความสะเปะสะปะลักษณะนี้ก็มีส่วนทำให้นิยายน่าติดตามด้วยความคาดเดาอะไรไม่ได้ แม้แต่การคลี่คลายเอาคืนระหว่าง ‘เกริก’ กับ ‘คนแคระ’ ก็เรียกได้ว่าหลุดไปจากความหมายของผู้อ่านไปไกล ทั้งยังสามารถสร้างความฉงนฉงายให้นิยายเล่มนี้ทวีเสน่ห์แห่งความประหลาดคลุมเครือได้ยิ่งขึ้น

 

ความไม่ชัดเจนทั้งหลายในผลงานชิ้นนี้ทำให้นัยะทางสัญญะของตัวละครคนแคระยังเป็นปริศนาที่สามารถวิพากษ์ถกเถียงกันได้ว่าเขาเป็นตัวแทนของใครกลุ่มใด ทั้งลักษณะเชิงบุคลิกภาพของเขาก็ไม่ได้มีความพิเศษใดๆ นอกเหนือจากรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นที่แตกต่างไปจากผู้คนปกติในสังคม

 

‘คนแคระ’ ของ วิภาส ศรีทอง จึงเป็นนิยายที่มีแนวทางการเขียนอันประหลาดบูดเบี้ยวพิกลพิการไม่แพ้ตัวละครในเรื่องเลย ซึ่งก็นับเป็นความแปลกที่น่าสนใจและอาจสะท้อนภาวะทางใจของผู้คนในปัจจุบันได้ดียิ่งกว่านิยายที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ตามแนวขนบด้วยซ้ำ ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคณะกรรมการตัดสินชุดนี้จะมีรสนิยมที่ ‘วิปริต’ พอจะรับกับความแปร่งแบบหลุดโลกของนิยายเล่มนี้ได้หรือไม่ ซึ่งก็น่าจะพอลุ้นได้เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการก็ตัดสินให้รางวัลกันแบบ ‘วิปริต’ มาแล้วหลายครั้ง !?!?!

 

) ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่งโดย แดนอรัญ แสงทอง

มีข่าวไม่ได้กรอง แต่ก็หลุดรอดออกมาให้เป็นที่เม้าท์กันสนั่นเมืองว่าในการประกวดรางวัลซีไรต์รอบนวนิยายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นวนิยายเรื่อง ‘เงาสีขาว’ ของ แดนอรัญ แสงทอง เป็นหนึ่งในงานที่ส่งเข้าร่วมชิงชัย และถึงแม้ว่ากรรมการคัดเลือกหลายท่านจะถูกอกถูกใจพร้อมจะส่งให้เข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัล แต่มีกรรมการบางท่านที่ทนรับกับเนื้อหาสุดหมิ่นเหม่ก่อกวนศีลธรรมถึงขั้นหยาบระยำของมันไม่ได้ จนสุดท้ายก็ต้องใช้วิทยายุทธ์กำลังภายในเบียดดันให้ต้องตกรอบไปเหลือไว้แต่นิยายที่มีเนื้อหาแสนสะอาดจรรโลงอย่าง ‘ชะบน’ ของ ธีระยุทธ ดาวจันทึก / ‘ปีกความฝัน’ ของ ‘นิพพานฯ’ / ‘ผ้าทอง’ ของ ‘แก้วเก้า’ / ‘เวลา’ ของ ชาติ กอบจิตติ และ ‘หมู่บ้านท่าเข็น’ ของ อุดม วิเศษสาธร เข้าชิงไปในที่สุด หากข่าวที่ว่านี้เป็นความจริง ผู้เขียนก็คงต้อง ‘ปลงสังเวช’ ไปกับรสนิยมของกรรมการท่านนั้นที่เห็น ‘ศีลธรรม’ เป็นเรื่องสำคัญกว่าพลังสร้างสรรค์ในทางศิลปะ ส่วนเหตุผลนั้นก็คงไม่ต้องจาระไนความใดๆ เพียงแค่ได้อ่านนิยายเรื่อง ‘เงาสีขาว’ เทียบกับเล่มที่เข้ารอบทั้งหลายแล้วก็คงจะสัมผัสรู้กันได้ทันที จริงๆ การประกวดรางวัลซีไรต์เหมือนจะเป็นการประกวดวรรณกรรมเพียงเวทีเดียวที่ไม่มีหลักเกณฑ์ การพิจารณากันแสนจะคับแคบว่า เนื้อหาของงานจะต้อง ‘ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศชาติ’ หรือต้องมีเนื้อหาที่ ‘จรรโลงสังคม’ อย่างเวทีอื่น ๆ ที่จัดประกวดกัน ที่ผ่านมาจึงพอจะมีผลงานในทำนองหม่นมืดหลุดเข้าสู่รอบสุดท้ายแม้จะไม่ได้รางวัลไปก็ตาม ความเปิดกว้างในด้านเนื้อหานับเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมงานสร้างสรรค์ และการปิดกั้นก็รังแต่จะทำให้ตัวรางวัลเสื่อมความมนต์ขลังลงไป ไม่เท่าทันกับความเป็นไปอันสลับซับซ้อนของโลก

 

เมื่อนวนิยายเล่มใหม่ ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ ของ แดนอรัญ แสงทอง ซึ่งมีเนื้อหาเชิงพุทธบูชาหันหน้าเข้าหาความล้ำลึกแยบคาบของหลักธรรมะ ได้รับการต้อนรับจากคณะกรรมการคัดเลือกในปีนี้ จึงกลายเป็นเรื่องย้อนหยันอยู่ในที ที่พอตัวนิยายมีเนื้อหาจรรโลงแบบนี้ ก็โบกธงเปิดทางให้ แดนอรัญ แสงทอง ได้ผ่านฉลุย! นิยายเล่มนี้ได้นำเอาเรื่องราวของพระแม่ ‘กีสาโคตมี’ ที่ปรากฏในพุทธชาดกจากพระไตรปิฎกมาขยายเล่าอย่างวิจิตรพิสดาร ผ่านการเดินทางผจญภัยของนาง ‘กีสาโคตมี’ เมียทาสของเศรษฐีรายหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อ ‘เวฬุ’ บุตรชายตัวน้อยของเธอถูกงูเห่าหม้อกัดที่น่องขวา นางจึงอุ้มเขาวิ่งพล่านออกหาหมองู หรือผู้มีบุญญาธิการทั้งหลายที่สามารถแก้พิษให้ได้ ด้วยความหวังที่ยื้อชีวิตเลือดเนื้อเชื้อไขของเธอไว้อย่างคุ้มคลั่งทุรนทุรายจนสุดท้ายก็แสดงอาการคล้ายคนวิปลาส ในที่สุดเธอก็ได้เดินทางมาพบพุทธโคดมผู้ตรงปัญญาที่ทรงอ้างว่าสามารถรักษา ‘เวฬุ’ ให้ฟื้นค้นชีวิตขึ้นมาได้ เพียงแต่เธอจะต้องหาเมล็ดผักกาดจากหมู่บ้านที่ไม่มีคนตายมาปรุงยาให้ ‘เวฬุ’ ได้รับประทาน

 

จากเค้าโครงเรื่องของนาง ‘กีสาโคตมี’ ที่เล่าเอาไว้แต่เพียงห้วนสั้นในพระไตรปิฎก แดนอรัญ แสงทอง ได้นำมาแต่งเติมเสริมเรื่องจนกลายเป็นนิทานขนาดยาว บรรยายการผจญภัยทุกๆ ฝีก้าวของนาง ‘กีสา’ ขณะนำพา ‘เวฬุ’ ต่อกรกับมัจจุราช ระหว่างทางเธอได้พบกับผู้คนและสิงสาราสัตว์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พรานเฒ่าผู้มีวิชาแก้กล้า คู่สามีภรรยาที่เพิ่งจะเผาศพลูกชาย เสือดาวและฝูงช้างดุร้ายอันตราย ฝูงนกและพรรณดอกไม้ กระทั่งได้พบกับพระสมณโคดมในที่สุด รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ แดนอรัญ แสงทอง ได้จินตนาการเอาไว้อย่างอลังการราวกับเขาได้นั่งยานข้ามเวลากลับไปใช้ชีวิตในสมัยพุทธกาลจนสามารถถ่ายทอดบรรยากาศทั้งชีวิตความเป็นอยู่และสำรับอาหารของคนในยุคสมัยนั้นได้อย่าง แจ่มกระจ่างราวกับได้ถอดร่างไปสัมผัสมาแล้วจริงๆ ในด้านแนวทางการเขียนก็มีการเล่นล้อกับลีลาภาษาในพระไตรปิฎก มีการซ้ำวลีโดยเปลี่ยนคำประธาน รวมถึงการร่ายชื่อข้าวของเครื่องใช้และพันธุ์สัตว์พันธุ์ไม้ต่างๆ กันอย่างวิจิตร สำนวนภาษาลักษณะนี้ถูกนำมาผนวกกับลีลาอันขึงขังของเฉพาะตัวของ แดนอรัญ แสงทอง เองได้อย่างหมดจดกลมกลืน นับเป็นการประดิษฐ์ซ้ำตำนานเดิมขึ้นมาใหม่ได้อย่างมีลวดลาย ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่ เอื้อ อัญชลี ได้ดัดแปลงลีลาจาก ‘สามก๊ก’ ในนิยายเรื่อง ‘เงาฝันของผีเสื้อ’ และ ‘อัญชัน’ ได้แต่งเลียนงานวรรณกรรมหลากประเภทไว้ในรวมเรื่องสั้น ‘ณ ที่แห่งนั้น’ เลยทีเดียว

 

แม้พลังทางวรรณศิลป์ในการประพันธ์ของ แดนอรัญ แสงทอง จะเป็นที่ประจักษ์จนหมดข้อสงสัยกันอย่างไร แต่จุดอ่อนสำคัญในการแต่งนวนิยายและเรื่องสั้นของเขานับตั้งแต่ ‘เงาสีขาว’ เป็นต้นมา ก็คือลีลาในการวางเค้าโครงเรื่องที่ส่วนใหญ่ยังทำได้ไม่หนักแน่นสักเท่าไหร่ เมื่อปัญหานี้ถูกตัดทิ้งไปด้วยการหยิบยืมเรื่องราวมาจากพระคัมภีร์ ภาพรวมของมันจึงออกมาแข็งแรงดี มีความ ‘เข้ม’ ทั้งในส่วนของตัวเรื่องและรสทางภาษา แต่ทว่าการหยิบเอาเค้าโครงของเรื่องราวจากแหล่งอื่นๆ มาเล่าใหม่ในลักษณะนี้ก็อาจส่งผลให้ตัวนิยายมีความริเริ่มสร้างสรรค์ได้ไม่เต็มที่เท่ากับเรื่องที่ผู้เขียนแต่งขึ้นเองทั้งหมดอย่างนิยายเล่มอื่นๆ ที่เข้ารอบสุดท้ายมาด้วยกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการตัดสินรางวัลจะให้ความสำคัญกับความสร้างสรรค์ในจุดนี้มากน้อยเพียงไหน เพราะเอาเข้าจริง การเอาเรื่องของคนอื่นมาเล่าก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ในงานวรรณกรรม เพียงแต่ต้องแสดงน้ำเสียงความเป็นตัวตนลงไปให้เกิดความชัดเจน ซึ่ง แดนอรัญ แสงทอง ก็ทำได้อย่างสำเร็จและงดงามใน ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ เรื่องนี้

 

) ‘ในรูปเงาโดย เงาจันทร์

ผลงานของนักเขียนสตรีเพียงหนึ่งเดียวที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีนี้ แถมยังเป็นนิยายมีดีกรีคว้ามาแล้วทั้งรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และรางวัลยอดเยี่ยมเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ อีกด้วย ผู้เขียนจึงออกจะตื่นเต้นไปกับ ‘เสียงลือเสียงเล่าอ้าง’ จากรางวัลเวทีต่างๆ เหล่านี้มากเป็นพิเศษ แต่เมื่อได้ลงมืออ่านจริงๆ กลับรู้สึกว่ามันก็เป็นนิยายหักมุมจบธรรมดาๆ ที่หาได้มีชั้นเชิงอะไรอย่างที่คณะกรรมการทั้งหลายเขาอวยกันไม่ ทั้งยังห่างจากความลึกซึ้งแยบคายจนชวนให้สงสัยว่าน่าจะเข้ารอบสุดท้ายมาได้จริงๆ หรือ?

 

จริงๆ ‘ในรูปเงา’ ก็เป็นนิยายขนาดสั้นที่อ่านสนุกแบบพอตัว โดยได้เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูก ‘พร้อม’ กับ ‘พลิ้ว’ ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ณ ดินแดนชนบทแห่งหนึ่ง สำหรับ ‘พร้อม’ ฝ่ายพ่อนั้นก็เป็นชายมาดขรึมพูดน้อยไม่ค่อยเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเท่าไหร่ ส่วนนาย ‘พลิ้ว’ นั้นก็มีความเป็นเด็กหนุ่มบ้านทุ่งธรรมดาๆ ทั่วไป เติบโตมาด้วยความบริสุทธิ์ใสไม่เท่าทันเหลี่ยมเล่ห์เพทุบายของมนุษย์ ทั้งคู่จะได้ผูกพันใกล้ชิดกับ ‘ตาร้าย’ สหายเพียงรายเดียวของ ‘พร้อม’ ที่ชอบทำตัวตะล่อมเจ้าชู้กรุ้มกริ่มกับแม่ ‘ทับทิม’ ม่ายสาวเจ้าเนื้อที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และเจ้า ‘ดอกรุงรัง’ วัวถึกทุรลักษณ์เพราะมีขวัญร้ายถึงสองแห่งคือ ‘ทับแอก’ บนบ่าและ ‘กำจวน’ ใต้หัวเข่า โดยพ่อ ‘พร้อม’ ได้ซื้อมาให้ ‘พลิ้ว’ เลี้ยงไว้ ซึ่งเจ้า ‘ดอกรุงรัง’ นี่ก็ร้ายสมดังคำทำนายรอยตำหนิขวัญ เที่ยวแข็งขืนดึงดันดื้อแพ่งและแกล้งได้แม้กระทั่งเจ้าของที่เลี้ยงดู ชีวิตของบุรุษทั้งสามนี้ดูจะเปลี่ยนไปเมื่อ ‘พร้อม’ ถูกเจ้า ‘ดอกรุงรัง’ ทำร้ายจนบาดเจ็บปางตาย จน ‘ว่าน’ หญิงที่ลุง ‘พร้อม’ เคยให้ความช่วยเหลือเมื่อครั้งยังเยาว์วัย ได้กลับมาช่วยรักษาพยาบาลในฐานะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เมื่อหนุ่มกระทงอย่าง ‘พลิ้ว’ ได้พบกับสาวสวยวัยเดียวกันอย่าง ‘ว่าน’ มีหรือที่ ‘เงาจันทร์’ จะไม่เรียกใช้บริการไหว้วานคมศรกามเทพให้ตัวละครทั้งสองเกิดอารมณ์รักใคร่สิเน่หากัน ก่อนจะหันไปใช้สูตรหักมุมกลุ้มรุมความรู้สึกผู้อ่านมิให้จมอยู่กับเรื่องราวความรักแสนหวานอย่างเนิ่นนานจนเกินไป

 

นิยายเล่มเล็กๆ เล่มนี้ดูจะมีรายละเอียดของเรื่องราวที่กล่าวถึงชีวิตของตัวละครต่าง ๆ กันอย่างมีนัยยะ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเกะกะระรานของเจ้า ‘ดอกรุงรัง’ ที่ชอบไปบุกกินสารพันอาหารของชาวบ้านคนโน้นคนนี้ไปทั่ว ทั้งยังแสดงสัญชาตญาณการเป็น ‘ตัวผู้’ แสดงอาการเจ้าชู้กับวัวตัวเมียที่กำลังติดสัดโดยไม่หวั่นเกรงศัตรู รวมถึงปฏิบัติการโอ้โลมของ ‘ตาร้าย’ ที่สุดท้ายก็ใช้คารมชายเกี่ยวหัวใจหญิงม่ายอย่างแม่ ‘ทับทิม’ ได้สำเร็จ ซึ่งเนื้อหาส่วนเหล่านี้เหมือนจะมีความสัมพันธ์โยงใยไปถึงเรื่องราวในช่วงครึ่งท้ายเมื่อ ‘ว่าน’ ได้มีโอกาสเข้ามาคลุกคลีกับสองพ่อลูกคู่นี้ในฐานะผู้มีความรู้ด้านการพยาบาล แต่เอาเข้าจริง รายละเอียดเหล่านี้ก็ไม่ได้มีส่วนที่จะส่องสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ามันมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของ ‘ว่าน’ อย่างไร และผู้แต่งต้องการเปรียบเปรยพฤติกรรมของตัวละครรายใดต่อกันหรือไม่ ค่าที่อะไรๆ มันช่างคลุมเครือเสียจนยากที่จะเจาะจง แม้แต่ฉากที่เหมือนจะสำคัญอย่างการเชือดคอไก่ของ ‘ว่าน’ ที่ดูจะส่งสารบางอย่างอย่างชัดเจน แต่ ‘เงาจันทร์’ ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดมิติของพฤติกรรมอันนั้นออกมาในระดับกระจ่างได้นอกเหนือจากการแย้มพรายให้เห็นถึงนิสัยในอีกมุมด้านของสตรีปริศนาผู้นี้เท่านั้น

 

ปัญหาที่อาจทำให้การเปรียบเปรย (หากตั้งใจ) หรือการถ่ายทอดรายละเอียดใน ‘ในรูปเงา’ ไม่สามารถทำได้อย่างคมคาย ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ ‘เงาจันทร์’ ถ่ายทอดตัวละครของเธออย่างพาฝันจนเกินไปทำให้ยากที่เชื่อในอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา โดยเฉพาะในหมู่ตัวละครชายที่ ‘เงาจันทร์’ เหมือนจะสร้างขึ้นมาโดยไม่มีความเข้าอกเข้าใจทำให้พวกเขาแลดูเหมือนหุ่นเชิดที่ถูกบังคับให้พูดและทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่เรื่องราวต้องการให้ดำเนินไปจนไม่ชวนให้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีลมหายใจจริง ๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงเป็นตัวละครพ่อ ‘พร้อม’ ชายมาดขรึมที่อยู่ดีๆ ก็สามารถปลุกปล้ำกับลูกชายที่ตัวโตเท่าผู้ใหญ่ ร้องไห้อย่างไม่อายคล้ายเด็กอมมือ หรือ โอบโอ๋กับบุตรชายวัยเจริญพันธุ์ ได้อย่างผิดวิสัย ซึ่งจริงๆ แล้ว ‘เงาจันทร์’ ก็น่าจะสามารถสร้างตัวละครให้มีบุคลิกหลากหลายเช่นนี้ได้ เพียงแต่เธออาจจะต้องทำการบ้านศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์เพศชายให้แตกฉานมากกว่านี้ จึงจะสามารถหาวิธีปั้นตัวละครที่แสดงพฤติกรรมทั้งหมดนี้ได้อย่างน่าเชื่อขึ้น เมื่อตัวละครกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ห่างจากความมีชีวิตจิตใจ ความประทับใจของเรื่องราวทั้งหมดจึงต้องอ่อนพลังลงอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งก็นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะวรรณศิลป์ในการบรรยายรายละเอียดพื้นถิ่นต่างๆ ของ ‘เงาจันทร์’ ก็ยังจัดว่าเข้าขั้นละเมียดอยู่

 

สรุปแล้วนิยายพาฝันเล่มนี้จึงเป็นงานวรรณกรรมที่เหมาะจะอ่านแบบเอาเพลินโดยไม่ต้องคิดอะไรให้มากความ เพราะหากจะจับโน่นโยงนี่กันเมื่อไหร่ ความกระจัดกระจายทางเนื้อหาของมันก็อาจก่อให้เกิดคำถามได้ว่า อุปมาที่ว่านี้มันมีอะไรที่เกี่ยวโยงกันจริง ๆ หรือ?

 

๔)รอยแผลของสายพิณโดย สาคร พูลสุข

นวนิยายเล่มที่สองของนักเขียนหนุ่มใต้ไฟแรงจากจังหวัดสงขลา ที่มาด้วยลีลาหม่นมัวชวนให้สิ้นหวังหากยังแฝงไว้ด้วยการมองโลกในแง่ร้ายด้วยสายตาอันอ่อนโยนกับ ‘รอยแผลของสายพิณ’ ผลงานชิ้นนี้ของ สาคร พูลสุข เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ ‘สายพิณ’ หญิงสาวที่เกิดและเติบโต ณ เกาะยอ จังหวัดสงขลาเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา เธออาศัยอยู่กับมารดานาม ‘ทองเขียว’ คนรับใช้ของคุณนาย ‘ทองตุก’ เจ้าของกิจการผลิตกระเบื้องโบราณประจำเกาะ โดยมี ‘ลำแพง’ พี่สาวต่างบิดาของเธอเป็นทั้งเพื่อนและผู้นำพาเธอออกผจญภัยในโลกกว้าง ในขณะที่นายหนังตะลุง ‘เจต เสียงเพลิน’ บิดาของเธอต้องทิ้งเธอไปเพื่อออกตระเวนแสดง และถึงแม้ว่า ‘สายพิณ’ กับ ‘ลำแพง’ จะเติบใหญ่ขึ้นมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่หญิงสาวทั้งสองก็ดูจะมีบุคลิกและความเชื่อมั่นที่แตกออกไปคนละทาง ‘ลำแพง’ คนพี่เป็นสตรีที่ถืออิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่ยอมให้กรอบของความถูกผิดมากางกั้นเธอจากสิ่งที่อยากลองทำ ในขณะที่ ‘สายพิณ’ กลับหลงใหลในตัวอักษรและอำนาจวรรณกรรม อันนำไปสู่ความฝันที่จะเป็นนักประพันธ์ของเธอในที่สุด

 

นอกเหนือจาก ‘สายพิณ’ แล้ว สาคร พูลสุข ดูจะจงใจวางตัวละครทั้งหลายในนิยายเล่มนี้ให้มีความบูดเบี้ยวพิกลพิการที่ต่างมุมต่างด้านกันออกไปจนแทบไม่มีใครแลดูเป็นชาวบ้านปกติกันเลย เริ่มตั้งแต่คุณนาย ‘ทองตุก’ ผู้หาวิธีแก้แค้นบุรุษเพศด้วยพฤติกรรมเหนือความคาดหมาย  ‘ทองเขียว’ มารดาที่ใช้ชีวิตอย่างซังกะตายจนเหมือนจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับอนาคตของลูกสาว ‘ลำแพง’ จอมดื้อรั้นที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ความเป็น ‘คนจริง’ ของเธอ และที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือตัวละครอย่าง ‘โกลี’ คนบ้า ที่ใช้โลงศพแทนเรือ กับ ‘โม’ เด็กหนุ่มบุคลิกทรามที่ถูกใส่ความว่าชอบกินแมวและไข่คางคกเป็นอาหาร ซึ่ง สาคร พูลสุข ก็มิได้นำเสนอตัวละครเหล่านี้ผ่านพฤติกรรมอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นแต่เพียงถ่ายเดียว หากเขายังสร้างมิติให้ตัวละครผ่านฉากและสถานที่ที่พวกเขาผูกพัน อาทิ โรงเผากระเบื้องและห้องส่วนตัวของคุณนาย ‘ทองตุก’ ถนนแหล่งพระราม-ดินแดนแห่งเรื่องราวความเป็นมาของ ‘ลำแพง’ บรรยากาศอันชวนอกสั่นขวัญแขวนของ หนองระเบิด-แหล่งพักพิงอาศัยของ ‘โกลี’ บ้านที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนของ ‘โม’ รวมถึงโรงหนังตะลุงของ ‘เจต เสียงเพลิน’ กับโลกบรรณพิภพของ ‘สายพิณ’ เองด้วย ซึ่งบางครั้ง สาคร พูลสุข ก็พรรณาฉากหลังต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างวิจิตรพิสดาร ตระการยิ่งกว่าการบรรยายถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในของตัวละครแต่ละรายเสียด้วยซ้ำ ทำให้ ‘รอยแผลของสายพิณ’ เป็นนิยายที่กระตุ้นให้เกิดมโนภาพของฉากและสถานที่ได้อย่างมีสีสันกว่าบุคลิกลักษณะของตัวละคร แต่ความคลุมเครือจนไม่เห็นมูลเหตุจูงใจอะไรที่ชัดเจนของตัวละครทั้งหลายในนิยายเรื่องนี้ก็ยังมีส่วนดีที่ทำให้การกระทำต่างๆ ของพวกเขาไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ เรื่องราวของตัวละครเหล่านี้จึงชวนให้ติดตามตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย ยั่วเย้าให้เราอยากเข้าใจในหัวอกของพวกเขาได้มากขึ้น นอกจากนี้ สาคร พูลสุข ยังสามารถให้สีสันพื้นถิ่นของวิถีชีวิตชาวเลของผู้คนที่อาศัยอยู่ทั้งที่บริเวณเกาะยอและเมืองริมทะเลสาบสงขลาอันเป็นฉากหลังสำคัญของนิยายได้อย่างแจ่มชัดสมจริง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวงานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ดีโครงเรื่องโดยรวมของนิยายเล่มนี้อาจยังไม่เข้มข้นได้เท่าพลังในด้านบรรยากาศ ถึงแม้ว่าตัวละครทุกรายจะมีความสัมพันธ์กับตัวละครหลักอย่าง ‘สายพิณ’ อย่างเด่นชัดและมีนัยสำคัญ แต่มันก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะส่องสะท้อนได้อย่างจริงจังว่าพวกเขาฝาก ‘รอยแผล’ อะไรโดยไม่ตั้งใจเอาไว้ในหัวอกของเธอบ้าง นอกจากนี้ลีลาการเล่าที่ปล่อยให้ตัวละคร ‘ลำแพง’ กับ ‘สายพิณ’ หรือบางครั้งก็มีตัวละครรายอื่นๆ สลับกันมาชูโรงในแต่ละบท ก็ทำให้เรื่องราวเสียเอกภาพไปพอดู แถมในบางช่วงตอน เช่นในบทของ ‘ปลอด เทวดา’ กับชะตากรรมของ ‘พุทธา’ ที่ สาคร พูนสุข ได้เสียเวลาถ่ายทอดอย่างยืดยาวทั้งที่เรื่องราวอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของ ‘สายพิณ’ สักเท่าใด ก็อาจทำให้เห็นถึงปัญหาในการวางน้ำหนักและสัดส่วนของเนื้อหาที่บางครั้งก็ขับเน้นรายละเอียดเสียจนโดดเด่นเบียดบังส่วนของโครงเรื่องหลัก

 

‘รอยแผลของสายพิณ’ จึงอาจเป็นนิยายที่เหมาะกับการอ่านเอา ‘รส’ โดยเฉพาะรสชาติเฝื่อนขมที่ไม่น่าอภิรมย์(ซึ่งไม่อาจเลี่ยง) ของชีวิต มากกว่าจะเป็นการอ่านเอา ‘เรื่อง’ แต่ลำพังเพียงวรรณศิลป์ด้านอุปมาโวหารต่างๆ นานาที่ สาคร พูลสุข ได้รังสรรค์เอาไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในนิยายเล่มนี้ก็ทำใหเป็นการอ่านที่แสนจะคุ้มค่า แม้ว่าเนื้อหาโดยรวมจะยังเลื่อนลอยและยังลงเอยอย่างไม่ค่อยจะเฉียบคมเท่าที่ควรก็ตามที


๕) เรื่องเล่าในโลกลวงตาโดย พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์

เพิ่งจะมีรวมเรื่องสั้น ‘เรื่องของเรื่อง’ เข้ารอบสุดท้ายเวทีซีไรต์ไปเมื่อปีกลาย ปีนี้ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ก็ขอกลับมาใหม่ด้วยนิยายขนาดสั้นเรื่อง ‘เรื่องเล่าในโลกลวงตา’ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๙ ชุดวรรณกรรมจากการสัมผัสเรียนรู้ท้องถิ่น พ.ศ. ปัจจุบัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโอกาสให้นักเขียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาประพันธ์เป็นวรรณกรรมท้องถิ่น นิยายเล่มนี้เป็นเล่มที่สั้นที่สุดในบรรดานิยายที่เข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ แต่ก็มีความเข้มข้นในเนื้อหาและวิธีการจนทำให้ผ่านด่านการพิจารณามาได้ถึงรอบนี้

เรื่องย่อของ ‘เรื่องเล่าในโลกลวงตา’ สามารถบอกกล่าวกันได้สั้นๆ ภายในสามประโยค 1) ข้าโกรธที่งูจงอางฉกน้องข้าจนตาย 2) ข้าออกเดินป่าเพื่อตามฆ่าล้างแค้นงูทุกตัว 3) ข้าค้นพบสัจธรรมอะไรบางอย่าง แต่ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ กลับสามารถสร้างน้ำหนักให้ตัวนิยายผ่านวิธีการบรรยายแบบกระแสสำนึกของตัวละครเอก ซึ่งเป็นนายพรานใหญ่ที่เพิ่งสูญเสียน้องสาวของตัวเองไป และต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อดับความแค้น แก่นแกนของเรื่องอาจไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่นิยายเล่มนี้ก็โดดเด่นได้ด้วยรายละเอียดของการใช้ชีวิตในป่าที่พรรณนาออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้น บรรยายให้เห็นถึงตัวละครในจินตนาการอย่าง นางไม้ งูพญาไฟ พญานาค โขลงช้างผี เสือสมิง และ นางอัปสร กันอย่างวิจิตรพิสดารราวได้หลงไปในป่าหิมพานต์ร่วมกับนายพรานนายนี้ด้วย สิ่งที่โดดเด่นมากๆ ก็คือพลังทางวรรณศิลป์ของ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ที่สามารถรจนาสถานการณ์ต่างๆ ด้วยน้ำเสียงแห่งความโกรธเกรี้ยวได้ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย นับเป็นการใช้วิธีการเล่าแบบกระแสสำนึกได้อย่างหนักแน่นและทรงพลัง

 

ความสนุกอีกอย่างในการติดตามนิยายสั้นๆ เล่มนี้ก็คือการที่ผู้เขียนซ้อนมิติแห่งความจริงลวงของเรื่องเล่าเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจชนิดเมื่อได้อ่านจนจบแล้วผู้อ่านก็คงไม่อาจจะมั่นใจได้ว่าส่วนไหนเป็นเรื่องจริงส่วนไหนเป็นเพียงจินตนาการจากอาการเพ้อพิษของตัวละครเอก สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อความ ‘น่าเชื่อ’ ของผู้เล่าบุรุษที่หนึ่ง ที่ถึงแม้ว่าจะใช้สรรพนาม ‘ข้า’ ในการอรรถาสาธยายไปตลอดความยาว แต่เอาเข้าจริงก็อาจเป็นการเลื่อนไหลเลื่อนเลอะจากความเป็นจริงไปได้ง่ายๆ ลีลาการประพันธ์ในแบบกระแสสำนึกจึงเปิดที่ทางให้ผู้แต่งสามารถเล่นล้อกับมิติอันเหลื่อมซ้อนนี้ได้ เพราะจิตใจมนุษย์มันไม่เคยดำเนินอย่างตรงมาตรงไปและมักจะมีอะไรที่เกินความคาดหมายให้ได้หลากใจอยู่เสมอๆ

 

อย่างไรก็ดีด้วยความที่บทประพันธ์ชิ้นนี้มีประเด็นหลักๆ อยู่เพียงประเด็นเดียว นั่นคือการเดินทางเพื่อชำระความแค้นทางสายพันธุ์ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ จึงดูจะจงใจให้รายละเอียดเพื่อผลักดันรูปแบบให้เลยพ้นไปจาก ‘เรื่องสั้น’ เข้าสู่พรมแดนของ ‘นวนิยาย’ ความพยายามอันนี้มีส่วนทำให้รายละเอียดบางอย่างเหมือนจะเป็นการใส่มาเพื่ออวดข้อมูลและจินตนาการมากกว่าจะมีบทบาทส่องสะท้อนประเด็นหลัก ความเป็นเอกภาพของรายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้จึงอาจยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ทั้งที่ พิเชษฐ์ศักดิ์ น่าจะสามารถหาอะไรมาเชื่อมโยงได้ เพราะสุดท้ายแล้วเนื้อหาของนิยายเล่มนี้ก็ยังมีเจตนาจะเล่าถึงภาวะหนึ่งภาวะใด ไม่ได้ฟุ้งซ่านกระจัดกระจายแบบงานแนวกระแสสำนึกอย่างสมบูรณ์

 

‘เรื่องเล่าในโลกลวงตา’ นับเป็นนิยายที่ให้พลังด้านอรรถรสมากกว่าจะนำเสนอสาระแปลกใหม่จากที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา ด้วยความยิ่งใหญ่ด้านสำนวนภาษาที่ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาก็มีลีลาการประพันธ์ที่วิจิตรงดงามไม่แพ้ใครๆ เลยเหมือนกัน

๖)ลักษณ์อาลัยโดย อุทิศ เหมะมูล

งานที่เหมือนจะเป็นอีกภาคร่างหนึ่งของนวนิยาย ‘ลับแล แก่งคอย’ ของ อุทิศ เหมะมูล ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ไปเมื่อรอบการประกวดครั้งที่แล้ว เนื่องจากมีการใช้ชุดตัวละครและสถานที่ที่ใกล้เคียงกัน ทว่ามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเนื้อหาและวิธีการเล่าให้แปลกต่างออกไป ‘ลักษณ์อาลัย’ ยังคงเล่าถึงความแตกร้าวด้านความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเดียวกัน ณ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อันประกอบไปด้วย ‘อุทิศ’ พี่ชายคนโตของบ้านซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องหลัก ‘วัฒน์’ น้องชายของเขา กับนาย ‘วัฒนา’ และนาง ‘อรพิน’ ผู้เป็นพ่อและแม่ โดยนาย ‘วัฒนา’ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้มีเรื่องบาดหมางกับทั้งนาง ‘อรพิน’ ภรรยา และ ‘อุทิศ’ ลูกชายหัวรั้น ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องหาทางหลีกหนีไปจากชีวิตเขา ความแตกแยกระหว่าง ‘วัฒนา’ และ ‘อุทิศ’ ส่งผลทางอ้อมให้ ‘อุทิศ’ ต้องรู้สึกกินแหนงแคลงใจกับ ‘วัฒนา’ น้องชายของตนเองด้วยความคิดอ่านที่ไม่ลงรอยกันต่อท่าทีของบิดา ซึ่งเนื้อหาในนิยายได้จับเอาเหตุการณ์ช่วงก่อนและหลังการเสียชีวิตของนาย ‘วัฒนา’ โดยเฉพาะการกลับมาร่วมงานฌาปนกิจศพของบิดาจากเมืองหลวงของอุทิศ ที่กลายเป็นการจี้สะกิดรอยแผลเก่าของครอบครัวให้เหวอะหวะขึ้นอีกหนึ่งคำรบ โดยในระหว่างที่ อุทิศ เหมะมูล ได้เล่าเรื่องราวของ ‘อุทิศ’ ในนิยายเรื่องนี้ เขาก็ได้สอดแทรกเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมาชิกของครอบครัวนี้โดยตรงอย่างเป็นยาดำ ก่อนจะเฉลยว่าทำไมเนื้อหาส่วนที่แปลกปลอมเหล่านี้จึงสามารถมีที่ทางอยู่ในบทต่างๆ ได้

 

ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายที่ อุทิศ เหมะมูล รังสรรค์นิยายเรื่อง ‘ลับแล แก่งคอย’ เอาไว้ได้อย่างวิจิตรแพรวพราวจนกลายเป็นการสร้างมาตรฐานของตนเองเอาไว้สูงลิ่ว เมื่อเขาได้เลือกหันกลับมาเล่าเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันใน ‘ลักษณ์อาลัย’ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงการถูกเปรียบเทียบไปได้ แม้ว่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างผู้เป็นบิดากับบุตรชายรวมถึงพี่ชายและน้องชายในนิยายเล่มนี้จะมีลักษณะของโศกนาฏกรรมที่ชวนให้สะเทือนใจได้อยู่ แต่เมื่อนำไปเทียบกับนิยาย ‘ลับแล แก่งคอย’ แล้ว หลายสิ่งหลายอย่างออกจะชั้นเดียวจนดูตื้นเขินเกินไป ขาดมิติอันลุ่มลึกในการสะท้อนเหลี่ยมมุมอันซับซ้อนภายในดังที่เขาเคยทำเอาไว้ใน ‘ลับแล แก่งคอย’ ซึ่งดูเหมือนว่า อุทิศ เหมะมูล จะรู้ตัวว่าการเอาเรื่องเก่ามาเล่าในมุมใหม่ให้เข้มข้นได้เท่าหรือมากกว่าเดิมคงเป็นเรื่องยาก ในนิยายเล่มนี้เขาจึงหันเหไป ‘เล่น’ กับส่วนของโครงสร้างและวิธีการเล่าในแบบใหม่ๆ แทน

 

ความพลิกแพลงประการแรกก็คือเขาได้แบ่งเนื้อหาของแต่ละบทในนิยายออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนด้วยเส้นสัญประกาศยาว รวมถึงได้ตั้งชื่อบทเอาไว้แบบทวิภาค โดยส่วนต้นของบทจะเป็นการไล่เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในครอบครัวของอุทิศทั้งในอดีตและปัจจุบันสลับไปมา ในขณะที่ส่วนที่สองก็จะเป็นเรื่องราวสัพเพเหระของตัวละครอื่นๆ หรือการแทรกเรื่องราวอื่นๆ เข้ามา อาทิ เรื่องราวของ ‘กันยา’ ชู้รักสาวใหญ่ของ ‘อุทิศ’ เรื่องราวของ ‘นวล’ ภรรยาของ ‘วัฒน์’ ไปจนถึงการแทรกเอานิยายรักแนวเกาหลีเรื่อง ‘ปรารถนาแห่งหัวใจบาป’ เกี่ยวกับความรักต้องห้ามของพี่น้องหญิงชายร่วมมารดาซึ่งเขาต้องตรวจในฐานะบรรณาธิการกันแบบข้ามบท หรือการร่ายประวัติศาสตร์ไทยในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กันแบบครึ่งค่อนเล่ม อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ซึ่ง อุทิศ เหมะมูล ก็พยายามสร้างความหมายด้วยการใส่ทรรศนะเกี่ยวกับแขนงของงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างนวนิยายแนวโรมานซ์ กับแนวเพื่อชีวิต บันทึกด้านประวัติศาสตร์และปัญหาในการชำระพงศาวดาร ไปจนถึงขนบในการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพซึ่งเป็นที่มาของชื่อนิยาย ‘ลักษณ์อาลัย’ นั่นเอง ลีลาการเล่าแบบกระโดดมากระโดดไปเช่นนี้ทำให้การอ่าน ‘ลักษณ์อาลัย’ ดำเนินไปอย่างสะดุดและยุ่งเหยิง ซึ่ง อุทิศ เหมะมูล ก็ได้อธิบายเอาไว้ผ่านตัวละคร ‘อุทิศ’ ในบทสุดท้ายว่าเหตุใด ‘ลักษณ์อาลัย’ จึงมีโครงสร้างอันสุดพิสดารเช่นนี้

 

แม้คำแก้ต่างของการเล่าอันสุดจะอุตลุดในนิยายเล่มนี้จะฟังดูมีเหตุผลดี แต่น่าเสียดายที่วิธีการ ‘เล่นเรื่องเล่า’ ของ อุทิศ เหมะมูล จะยังไม่ค่อยปรากฏมีความลึกซึ้งแยบคายอะไรนอกเหนือไปจากการทดลองเอางานเขียนต่างรูปแบบต่างสไตล์มารวมไว้อยู่ในเล่มเดียวกัน เนื้อหาส่วนหลักๆ ทั้งสามส่วนคือเรื่องราวของครอบครัว ‘อุทิศ’ นิยายเรื่อง ‘ปรารถนาแห่งหัวใจบาป’ กับพระวีรกรรมสองกษัตริย์ เลยดำเนินในส่วนของมันไปโดยไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ นัก แม้ทั้งหมดจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคู่ ‘พี่-น้อง’ เหมือนกันก็ตาม ยิ่งเมื่อได้อ่านคำนิยมของคณะกรรมการคัดเลือกที่ยกย่องเอาไว้ว่ามีการวางบทบาทให้ “เรื่องเล่าอื่นๆ สะท้อนโต้ตอบกับเรื่องเล่าหลักเพื่อสื่อความหมายเชิงลึก” ก็ยิ่งชวนให้ผู้เขียนรู้สึกสงสัยจนอยากจะยกมือขึ้นปุจฉาให้ช่วยแถลงไขว่ามัน ‘สะท้อนโต้ตอบ’ กันอย่างไร? และสื่อความหมายประการใด? เพราะไม่ว่าจะกลับไปดูในบทใดก็ไม่เห็นว่าจะเกี่ยวอะไรกัน ในส่วนของการแสดงทรรศนะเกี่ยวกับงานประพันธ์ประเภทต่างๆ ดังที่ปรากฏในนิยายก็ยังออกอาการตีขลุมและเหมารวมจนสามารถหาจุดโต้แย้งได้ บทสรุปที่กระทบกระเทียบงานประพันธ์หลากสไตล์ว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้จึงยังมีลักษณะของการแสดงความคิดเห็นในระดับปัจเจกอยู่ จนไม่น่าจะยกชูเป็นสาระสำคัญอันน่าเชื่อ

 

การทดลองพหุเรื่องเล่าใน ‘ลักษณ์อาลัย’ จึงอาจจะยังดุ่ยๆลุ่นๆ เกินไปจนห่างไกลจากความ ‘คมคาย’ แถมลักษณะการเขียนในบางช่วงตอนโดยเฉพาะส่วนวีรกรรมสองกษัตริย์ก็ยังแห้งแล้งและหนักข้อมูลเกินไปจนชวนให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย ‘ลักษณ์อาลัย’ จึงกลายงานแปลกลิ้นกลิ่นประหลาดด้วยวัตถุดิบอันแตกต่างหลากหลายที่พอจับมาลงหม้อตั้งไฟก็มีทั้งส่วนที่สุกและไม่สุกผสมปนเปกันไป แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะยังพอรับประทานได้ แต่รสชาติอาจยังไม่ถึงกับชวนให้ประทับใจ จนรู้สึกเสียดายวัตถุดิบที่นำมาปรุง

 

๗)โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าโดย ศิริวร แก้วกาญจน์

สำหรับนักเขียนที่เจนสนาม ‘รอบสุดท้าย’ รางวัลซีไรต์มามากครั้งมากเล่มที่สุดในรอบปีนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น ศิริวร แก้วกาญจน์ ผู้เคยมีผลงานผ่านด่านอรหันต์นี้มาแล้วถึง ๗ เล่มใน ๖ รอบปี แถมยังเคยทำสถิติเข้ารอบสุดท้ายติดๆ กันมาแล้วถึง ๕ ปีรวดระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๑ ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ จึงนับเป็นผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เล่มที่ ๘ ในชีวิตการทำงานของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ทำสถิติสูงสุดได้เท่ากับ วัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งก็ยังไม่สามารถคว้ารางวัลไปได้สักที

 

สำหรับ ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ นับเป็นนิยายเพียงเล่มเดียวในจำนวนทั้ง ๗ เล่มสุดท้ายของรอบปีนี้ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าคู่ควรกับคำว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ตามชื่อเต็มของรางวัลซีไรต์มากที่สุด ด้วยความแหวกแนวทั้งในส่วนของโครงสร้างที่แบ่งแต่ละบทเป็นสองภาคแบบเดียวกับใน ‘ลักษณ์อาลัย’ การใช้น้ำเสียงและวิธีการเล่าแบบเฉพาะตัวซึ่งแม้ว่าจะแลดูสะเปะสะปะกระจัดกระจายมากแค่ไหน แต่ทุกอย่างกลับผนึกรวมกันเป็นเอกภาพได้อย่างน่าประหลาด

 

‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ เป็นนิยายที่เล่าถึงชะตากรรมของพลเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘พม่า’ ผ่านเรื่องราวการเดินทางลี้ภัยของสาวน้อย ‘พอทู’ ลุง ‘หม่อง พะโอ’ รวมทั้ง ‘พอวา’ น้องชายและพรรคพวก จากหมู่บ้านโซการีในรัฐกะเหรี่ยงประเทศพม่ามายังชายแดนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทั่งถึงเวลาร่วมสมัย เมื่อ ‘พอทู’ ได้กลายมาเป็นพยาบาลผู้ช่วยแพทย์ โดย ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้ซ้อนเรื่องราวการผจญชะตากรรมของ ‘พอทู’ และพรรคพวกชาวพม่านี้ขนานไปกับส่วน ‘บันทึกส่วนตัวของผม’ โดยให้ตัวละครชายบุรุษที่หนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ‘ผม’ เป็นนักเขียนสารคดีจากประเทศไทยที่มีโอกาสได้เดินทางไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในพม่า มาเล่าเรื่องราวเกริ่นนำในแต่ละบทเพื่อสะท้อนความรู้สึกและชีวิตส่วนตัวของนักเขียนที่ได้ไปสัมผัสกับเรื่องราวในส่วนของนิยาย เนื้อหาใน ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ จึงแบ่งออกเป็นสองภาคส่วนด้วยกันคือ ส่วน ‘บันทึกส่วนตัวของผม’ ของนักเขียนหนุ่มรายนั้น กับ ส่วนที่เป็นเรื่องราวหลักของนิยายซึ่ง ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้ตั้งชื่อไว้ว่า ‘เรื่องเล่าของหมู่แมลงเขตร้อน’ โดยจะมีการข้ามแดนกันบ้างในบางช่วง ลูกเล่นในเชิงโครงสร้างอันนี้จึงมีส่วนทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงเบื้องหลังของการสร้างงานประเภทเรื่องเล่าซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวพันกันอย่างชัดแจ้งแต่ประการใด แต่ก็ช่วยสร้างมิติของการเป็น ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’ ของเรื่องราวหลักได้อย่างเด่นชัดอยู่เหมือนกัน

 

ในขณะที่เนื้อหาในส่วน ‘บันทึกส่วนตัวของผม’ มีลักษณะของการบันทึกอนุทินที่อ่านง่าย ด้วยน้ำเสียงการเล่าที่จริงใจและตรงไปตรงมา แต่เนื้อหาในส่วนของ ‘เรื่องเล่าของหมู่แมลงเขตร้อน’ กลับอุดมไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ มากมายจนแทบจะไม่เห็นเส้นเรื่องที่ชัดเจน โดยจะมีเหตุการณ์สำคัญๆ อยู่ที่การเดินทางเพื่ออพยพมายังชายแดนไทย ความโหดร้ายของกองกำลังทหาร ไปจนถึงการเผชิญกับอาการของโรคประหลาดที่ระบาดไปทั่วสมรภูมิผ่านการแพร่เชื่อของหมู่แมลงเขตร้อนซึ่งเป็นพาหะ คล้ายจะเป็นสัญญะถึงของความป่วยไข้ของผู้คนในดินแดนแห่งเปลวไฟ ไปจนถึงเรื่องราวของตัวละครปลีกย่อยอื่นๆ อีกหลายราย หลายๆ จุดใน ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ นี้จึงอาจจะยังห่างไกลจากความกระจ่าง แต่พลังในการถ่ายทอดอันละเมียดอ่อนโยนของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ก็ยังสามารถสร้างภาพรวมของความรู้สึกอันชวนสลดหดหู่ของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกได้อย่างไม่ตกหล่นอยู่เหมือนกัน

 

การเล่นโครงสร้างเรื่องโดยการแบ่งแต่ละบทเป็นสองส่วน รวมถึงการสอดแทรกเรื่องเล่าในรูปแบบของนิทานที่ตัวละครนำมาเล่าให้อีกฝ่ายฟังของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ใน ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ ชวนให้ต้องนึกเทียบไปถึงเทคนิคคล้ายๆ กันของ อุทิศ เหมะมูล ใน ‘ลักษณ์อาลัย’ อย่างอดไม่ได้ ทว่า ศิริวร แก้วกาญจน์ ดูจะใช้ลูกเล่นอันนี้ได้อย่างกลมกล่อมลงตัวและดูเข้าท่าเข้าทีได้ดียิ่งกว่าที่ทุกๆ ส่วนต่างสามารถส่องสะท้อนสอดรับกันเป็นอย่างดี โดยไม่มีร่องรอยของการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับคุณผู้อ่าน ซึ่งก็นับเป็นการผสานเทคนิคให้เข้ากับเนื้อหาได้อย่างน่าชื่นชม

 

ชื่อตัวละครภาษาพม่าที่บางครั้งก็ไม่สามารถแยกเพศได้ และการเล่าที่เน้นการเสนอชิ้นส่วนของเหตุการณ์หลากหลายโดยไม่ลำดับเวลาเพื่อนำมาประกอบกันเป็นภาพใหญ่ อาจทำให้ ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ เป็นนิยายที่ต้องใช้ทั้งสมาธิและความตั้งใจในการอ่านในระดับสูง แต่ก็เป็นบทบันทึกที่ทำให้เราสำนึกกันได้เหมือนกันว่าสถานการณ์ในบ้านเราเมืองเราที่ดูเหมือนจะอุดมไปด้วยความขัดแย้งวุ่นวายจนน่าใจหายถึงขนาดไหนก็ยังไม่เลวร้ายเท่าสิ่งที่เพื่อนบ้านของเราได้พบเผชิญมา นับเป็นวรรณกรรมที่ขยายขอบเขตความสนใจในเรื่องราวภายในชาติของตนเองไปสู่เรื่องราวของเพื่อนร่วมภูมิภาค แบบเดียวกับที่นวนิยายเรื่อง ‘เกียวบาวนาจอก’ โดย ภาณุมาศ ภูมิถาวร และ ‘โลกใบใหม่ของปอง’ โดย ไชยา วรรณศรี ได้เคยเล่าถึงเรื่องราวของเพื่อนบ้านทั้งชาวเวียดนามและกัมพูชาซึ่งต่างก็เคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์กันมาแล้วทั้งคู่ ขอติอยู่อย่างเดียวนั่นก็คือการพิสูจน์อักษรของนิยายฉบับที่ได้ชื่อว่า ‘ปรับปรุงใหม่’ นี้ที่ยังมีข้อบกพร่องสร้างความมัวหมองให้หนังสืออยู่หลายจุด ซึ่งหลายๆ ครั้งก็รู้สึกสะดุดเสียจนอยากจะเชิญบรรณาธิการ ‘อุทิศ’ จาก ‘ลักษณ์อาลัย’ มาช่วยเกลาให้อีกสักรอบ ไม่รู้คณะกรรมการตัดสินจะเข้มงวดกับความผิดพลาดเหล่านี้กันขนาดไหน เพราะถ้าจะมองผ่านๆ ทำเป็นไม่เห็นไปนิยายเรื่องนี้ก็ ‘สร้างสรรค์’ และ ‘แปลกใหม่’ ควรค่าแก่รางวัลอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน . . .

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *