ประวัติโครงการ

โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต”

 

                โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต”  เป็นโครงการระยะที่ 2 ต่อจากโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง” ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555   โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุกการวิจัย (สกว.) และดำเนินการวิจัย 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2555 ถึง 14 มีนาคม 2557

โครงการวิจัยนี้ไม่ได้เป็น “น้องใหม่ถอดด้าม” ที่เริ่มต้นจากศูนย์  แต่เป็นโครงการต่อเนื่องที่สืบทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะที่ดำเนินวิจัยต่อเนื่องมาเกือบ 17 ปี  จากโครงการวิจัย  4  โครงการที่ผ่านมา  อันได้แก่

 

1.                   โครงการวิจัย “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย : ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย  อังกฤษ  อเมริกัน  ฝรั่งเศส และเยอรมัน” (1 ตุลาคม 2538 – 30 กันยายน 2541)  ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ หัวหน้าโครงการ

ผลการวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่สื่อต่างๆแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำคนส่วนใหญ่ กวีนิพนธ์ในฐานะที่เป็นงานวรรณศิลป์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกยังดำรงอยู่ได้ และทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางภูมิปัญญาให้แก่สังคมร่วมสมัยได้  เนื่องจากกวีร่วมสมัยของชาติต่างๆ มุ่งเน้นความสามารถที่จะรู้จักตนเอง และมองโลก ธรรมชาติ สังคม ได้อย่างเฉียบคม นอกจากนั้น ความสำนึกในเอกภาพระหว่างมนุษย์กับโลก ความยึดมั่นในอุดมคติที่จะต่อสู้ กับความหมกมุ่นในวัตถุและสัญชาตญาณใฝ่ต่ำในตัวมนุษย์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กวีนิพนธ์ทำหน้าที่เป็นเสียงแห่งมโนธรรม และในบางบริบทก็ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวทางจริยธรรมได้อีกด้วย

ผลงานโครงการ

  1.  กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
  2. กวีนิพนธ์อเมริกันร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
  3. กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
  4. กวีนิพนธ์อังกฤษ-อเมริกันร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ (เอกสารถ่ายสำเนา)
  5. กวีนิพนธ์เยอรมันร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ (เอกสารถ่ายสำเนา)

 

2.                   โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค 1  (4 มกราคม 2542 ถึง 3 มกราคม 2545) และภาค 2 ( 1 กรกฎาคม 2545 ถึง 30 มิถุนายน 2548)ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ  หัวหน้าโครงการ

การทำวิจัยครั้งนี้ศึกษางานศิลปะใน 4 สาขา คือ วรรณศิลป์  ทัศนศิลป์  ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ (ดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกตะวันตก)  ซึ่งผลการวิจัยให้ความกระจ่างในด้านของภาวะการรับงานวิจารณ์ในยุคปัจจุบัน  อันบ่งชี้ถึงข้อด้อยและข้อดี ที่อาจมีนัยเกินเลยจากกรอบของการวิจารณ์ศิลปะและให้ภาพทั่วๆไปของสังคมร่วมสมัยได้  ปัญหาการรับการวิจารณ์ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้รับจำนวนมากขาดโอกาสที่จะสัมผัสกับงานศิลปะโดยตรง  จึงขาดโอกาสที่จะแสดงทัศนะวิจารณ์ไปด้วย  นอกจากนั้นวัฒนธรรมการอ่านโดยทั่วไปก็ถดถอยลง  แม้จะยังมีผู้รับจำนวนหนึ่งที่รักษาความสามารถในการอ่านความเรียงเชิงวิจารณ์เอาไว้ได้  ในขณะเดียวกันผู้รับที่เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการวิจารณ์และเรียกร้องให้นักวิจารณ์มุ่งมั่นสร้างงานวิจารณ์ต่อไปเพื่อประโยชน์ของสังคม  นอกจากนี้ผลการวิจัยของโครงการวิจัยภาค 2 ยังยืนยันข้อสรุปของโครงการภาคแรกว่า ทั้งสื่อและทั้งระบบการศึกษาที่เป็นทางการไม่เอื้อต่อการพัฒนาการวิจารณ์เท่าที่ควร

ผลงาน

  1. พลังการวิจารณ์ : บทสังเคราะห์ / Criticism as an Intellectual Force in Contemporary Society: Summary Report
  2. พลังการวิจารณ์: วรรณศิลป์
  3. พลังการวิจารณ์: ทัศนศิลป์
  4. พลังการวิจารณ์: ศิลปะการละคร
  5. พลังการวิจารณ์: สังคีตศิลป์
  6. พลังการวิจารณ์: รวมบทวิจารณ์ร่วมสมัย
  7. มองข้ามบ่านักเขียน: เรื่องสั้นไทยในทัศนะนักวิจารณ์
  8. Fervently Mediating: Criticism from a Thai Perspective
  9. ศิลป์ส่องทาง
  10. กวีนิพนธ์นานาชาติ: การวิจารณ์เชิงวิจารณ์
  11. เบิกฟ้า  มัณฑนา  โมรากุล
  12. ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก
  13. จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินเอน: รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์
  14. Criticism as Cross-Cultural Encounter
  15. วิถีแห่งการวิจารณ์: ประสบการณ์จากสามทศวรรษ
  16. เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี คีตศิลปิน
  17. ลายลักษณ์แห่งการวิจารณ์: รวมบทวิจารณ์ร่วมสมัย เล่ม 2
  18. จากศิลปะสู่การวิจารณ์: รายงานการวิจัย / From Work of Art to Critical Arena: Summary Report
  19. จากเวทีละครสู่การวิจารณ์: รวมบทความวิชาการ
  20. การวิจารณ์ทัศนศิลป์: ข้อคิดของนักวิชาการไทย
  21. เก่ากับใหม่อะไรไหนดี:  มนุษยศาสตร์ไทยในกระแสของความเปลี่ยนแปลง
  22. ตามใจฉัน-ตามใจท่าน: ว่าด้วยการวิจารณ์และการวิจัย

 

3.                   โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์  ภาค 1 (1 เมษายน 2549 – 30 กันยายน 2550) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระ  นุชเปี่ยม หัวหน้าโครงการ และ ภาค 2  (1 เมษายน 2551- 30 กันยายน 2552) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์  หัวหน้าโครงการ

การทำวิจัยครั้งนี้ศึกษางานศิลปะใน 4 สาขา คือ วรรณศิลป์ (ทั้งงานในสื่อลายลักษณ์และสื่ออินเทอร์เน็ต) ทัศนศิลป์  ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ (ดนตรีไทย)  ผลการวิจัยภาคแรกชี้ให้เห็นว่ายุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคที่ต้องการความสามารถในการวิจารณ์ อันเป็นพลังทางปัญญาที่จะช่วยให้สังคมดำรงอยู่ในประชาคมนานาชาติด้วยความมั่นใจ การวิจารณ์ศิลปะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ในระดับที่กว้างออกไป  ขณะเดียวกันยังพบว่าการวิจารณ์ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลายลักษณ์อย่างเต็มรูปในสังคมไทย  ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจำนวนหนึ่งยังชอบที่จะรับฟังข้อวิจารณ์ในระบบมุขปาฐะ มากกว่าลายลักษณ์   สถาบันทางสังคม 2 สถาบันที่อ่อนแอในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมการวิจารณ์ คือ สื่อ และสถาบันการศึกษา  ในส่วนของข้อสรุปในเชิงทฤษฎีพบว่าสังคมไทยมีศักยภาพที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางปัญญาความคิดและทางสังคมได้  อาทิ  ศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่กันระหว่างการวิจารณ์สาขาต่างๆ  หลักการทางศิลปะที่ผูกอยู่กับชีวิตชุมชน  และการวิจารณ์ที่ไม่จำเป็นต้องสื่อด้วยภาษา (non-verbal criticism)  และยังมีนักวิจารณ์กลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานวิจารณ์อย่างจริงจัง  โดยมีความสำนึกว่าการวิจารณ์เป็นกลไกในการประเมินคุณค่าและเป็นเสียงแห่งมโนธรรมให้แก่สังคมได้

ขณะที่ผลการวิจัยภาค 2 นัยทางการศึกษาที่สำคัญมีหลายประเด็น  เช่น  ความอ่อนแอของระบบการศึกษาเป็นทางการหรือการศึกษาในชั้นเรียน ที่ส่งผลต่อความถดถอยของวัฒนธรรมการอ่านและการวิจารณ์  รวมทั้งการขาดองค์ความรู้สำคัญของงาน (canon) และขาดการสั่งสมองค์ความรู้ทั้งในส่วนของความรู้ตามขนบเดิมและความรู้ที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่   สถาบันการศึกษาจึงมีบทบาทน้อยกว่าสถาบันครอบครัว ที่ยังสามารถสร้างนิสัยรักการอ่านและสร้างความคุ้นเคยของการมีทวิวัจน์ระหว่างบุคคลในครอบครัว ที่เกิดจากการอ่านนิตยสารหรือหนังสือเล่มเดียวกัน  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขาดไปจากระบบการศึกษา   นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ามหาชนต้องการที่จะรับความรู้ ทั้งในรูปที่สามารถประยุกต์เข้ากับปรากฏการณ์ร่วมสมัย และความรู้ในรูปของหลักวิชาการโดยตรง  การให้การศึกษาทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอาจจะต้องอาศัยกระบวนการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะการที่รัฐจะเข้ามามีส่วนสำคัญในด้านการสร้างและการวิจารณ์ศิลปะนั้น อาจไม่ได้ส่งผลที่ตรงความต้องการของสังคมเสมอไป

 

ผลงาน

  1. การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ
  2. รวงทองส่องทางศิลป์
  3. พิเชษฐ  กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย
  4. ลักษณะร่วมสมัยในงานศิลปะแขนงต่างๆ: ทัศนะของศิลปะ
  5. ๒๕ ปี การวิจารณ์ “คำพิพากษา”
  6. ๘๐ ปี อังคาร  กัลยาณพงศ์
  7. ปัญญา  วิจินธนสาร:  ปรากฏการณ์ศิลปะไทยร่วมสมัย
  8. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัย “การวิจารณ์งานฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์” (E-Book)

 

4.                   โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง” (1 ตุลาคม 2553 – 31 กรกฎาคม 2555)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาติ  จึงวิวัฒนาภรณ์  หัวหน้าโครงการ

ผลการวิจัยชี้ว่าหลักฐานของการวิจารณ์เชิงลายลักษณ์นั้น ผูกติดอยู่กับ “ธรรมชาติ” ในการแสดงออกของแต่ละสาขาด้วย กล่าวคือสาขาที่มีการแสดงออกเชิงลายลักษณ์อยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการวิจารณ์เชิงลายลักษณ์มากกว่าสาขาที่ไม่นิยมแสดงออกด้วยลายลักษณ์ ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า สาขาที่ไม่เขียนบทวิจารณ์นั้นจะไม่นิยมการแสดงความคิดเห็น ในทางตรงกันข้าม เช่น สาขาทัศนศิลป์ และสังคีตศิลป์กลับสามารถแสดงทัศนะเชิงวิจารณ์ได้อย่างน่าสนใจภายใต้วัฒนธรรมมุขปาฐะ  ขณะที่โลกเสมือนจริงมีศักยภาพสูงมากต่อการวิจารณ์เชิงลายลักษณ์และเชิงมุขปาฐะเพราะนอกจากโลกเสมือนจริงจะสามารถทำหน้าที่เสมือน “คลัง” ข้อมูลแล้ว ยังสามารถลดข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ พื้นที่และเวลา ตลอดจนสามารถถ่ายทอดสด หรือจัดเก็บภาพเคลื่อนไหวและเสียงได้ ทำให้เกิดพื้นที่สำหรับการวิจารณ์ในเชิงมุขปาฐะด้วย คณะผู้วิจัยพบว่า ปัญหาในด้านคุณภาพที่พบในผลงานการวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจารณ์ศิลปะอย่างสร้างสรรค์ หรือการตามไม่ทันความก้าวหน้าทางความคิดและวิธีการของศิลปิน หรืออาจเป็นเพราะการขาดแคลนการ “สมัครเข้ามาเล่น” ของผู้รู้รุ่นอาวุโส ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

 

5.                    โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต” (15 กันยายน 2555 – 14 มีนาคม 2557)  คุณอัญชลี  ชัยวรพร  หัวหน้าโครงการ

โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่  โดยมุ่งที่จะวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ต  รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อทั้งสองประเภท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดำรงอยู่ร่วมกันและสร้างความมั่งคั่งให้แก่กัน  ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องพยายามตอบคำถามที่ว่า  ปัจจัยอันใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ต และลักษณะเชิงสร้างสรรค์ของการวิจารณ์ในสื่อใหม่นี้เป็นอย่างไร

โครงการวิจัยไม่อาจดำเนินการได้ถ้าขาดผู้สนับสนุนที่เข้าใจและเปิดโอกาสให้มีการวิจัยต่อเนื่องดังเช่นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เปิดโอกาสให้  เพราะการสนับสนุนทุนวิจัยขององค์กรอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะให้เป็นทุนระยะสั้น เช่น 1 ปี  ซึ่งเมื่อจบโครงการวิจัยหนึ่งๆ แล้วก็เปลี่ยนไปสนับสนุนโครงการวิจัยใหม่ๆ ต่อไป     แต่การวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยทางด้านศิลปะ และการวิจารณ์ศิลปะจำเป็นต้องอาศัยเวลาเพื่อที่จะศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเชื่อถือได้  เมื่อ สกว.  ให้โอกาสโครงการฯได้ทำงานต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลาเกือบ 17 ปี  จึงทำให้โครงการฯสามารถรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะของสังคมไทยขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง  ขณะเดียวกันในระหว่างคณะผู้วิจัยก็ได้มีการถ่ายโอนความรู้และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างรุ่นสู่รุ่น   ในปัจจุบันนักวิจัยส่วนใหญ่จัดได้ว่าเป็นรุ่นที่สาม  ซึ่งถือว่าเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ของโครงการฯ  ส่วนนักวิจัยรุ่นอาวุโส และนักวิจัยรุ่นกลางที่เคยเป็นผู้วิจัยโครงการฯรุ่นแรกๆ ก็ผันตัวเป็นที่ปรึกษาสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่นี้ด้วย  ท่านที่สนใจจะรับทราบบรรยากาศของการวิจัยในหมู่นักวิจัยที่ได้ทั้งความสนุกสนานและความรู้ทางวิชาการ  โปรดดูหนังสือ คุณปู่แว่นตาโต  ของ ชมัยภร  แสงกระจ่าง  ยิ่งไปกว่านั้น  วิชามนุษยศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องคิดลึก  คิดนาน คิดต่อเนื่อง  แต่ถ้าจะให้ดีจะต้องมีการคิดร่วม  คณะผู้วิจัยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ  โดยเราจะใช้พื้นที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์  โดยจะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้โอกาสเราได้ออกจากโลกเสมือนจริงมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง   ด้วยการพบปะสังสรรค์กันในรูปของ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์”

 

——————————-

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *