ละครเวทีสิทธารถะ ศิลปะของการพายเรือในอ่าง

สิทธารถะ

 

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

(ปรับปรุงจาที่เผยแพร่ใน fb: Sonny Chatwiriyachai)   20 มิถุนายน 2556

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่ต่างออกไป


เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ผมเคยมีโอกาสได้ชมละครเวที สิทธารถะ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา(มายา) ที่โรงละครสถาบันเกอร์เธ่ ซึ่งในยุคนั้นคึกคักไปด้วยละครเวที และกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย มีถ้อยคำหนึ่งในสูจิบัตรละครที่อ้อยอิ่งอยู่ในความทรงจำของผมจนถึงทุกวันนี้

“ปัญญาสอนกันไม่ได้”

…แต่น่าเสียดายที่ความทรงจำอื่น ๆ เกี่ยวกับละครโปรดักชันนั้นเลือนหายไปสิ้น

เมื่อคณะละคร New Theatre โดยการนำของ ดําเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ จะนำ สิทธารถะ มาจัดแสดงผมจึงรู้สึกยินดีที่งานประพันธ์ระดับคลาสสิคชิ้นนี้จะได้รับการถ่ายทอดมาเป็นงานละครเวทีร่วมสมัย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ชมละครเวทีรุ่นใหม่ ๆ จะได้สัมผัสกับวรรณกรรมของนักประพันธ์ระดับคุณภาพ

แฮร์มันน์ เฮสเซอ แต่งนวนิยายเรื่องสิทธารถะเมื่อปี ค.ศ.1922 การปรับตัวบทจากนวนิยายให้กลายมาเป็นละครเวทีเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากงานวรรณกรรมทั้งสองมีความแตกต่างกัน โดยนวนิยายเน้นสำหรับการอ่าน แต่บทละครเน้นเพื่อการนำมาจัดแสดง ละครเวทีมีพลวัตของการเล่าเรื่องที่รุ่มรวยทั้งภาพเสียงที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการคลี่คลายของความหมายในเชิงนามธรรม ซึ่ง ดําเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยอาศัยการสร้างบทสนทนา ให้มีตัวละครอื่นพูดถึงสิทธารถะแทนบทบรรยายยืดยาวอย่างในนวนิยาย นอกจากนั้นยังเพิ่มให้มีตัวละครซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายเรื่อง(narrator) ซึ่งสร้างความรู้สึกเป็นกันเองให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ผมชอบมากคือการสร้างบทสนทนาจากตัวละครบางตัว ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้โคจรมาพบเจอกันเลยในนวนิยาย เช่น บทสนทนาระหว่าง กมลา กับกามสวามี ซึ่งดูจะแหกโค้งไปบ้างแต่ก็ไม่ใช่ไร้เหตุผล

การใช้อุปกรณ์ประกอบฉากของละครเรื่องนี้ มีความสร้างสรรค์สูง อย่างเช่นการใช้อ่างตู้ปลามาแทนแม่น้ำ โดยกำหนดให้ชายพายเรือ ใช้ไม้พายจ้วงในอ่างตู้ปลาแทนการพายเรือ น่าสนใจทั้งในด้านของภาพและสัญลักษณ์ เพราะเมื่อรู้ว่าชีวิตต้องอยู่ในกรงขังของข้อกำหนดบางอย่างเช่น ความตาย การลุกขึ้นมาหยิบฉวยไม้พายเพื่อพายเรือ แม้แต่จะเพียงในอ่าง ก็ยังดีกว่าเอาเท้าราน้ำปล่อยชีวิตผ่านไปตามโชคชะตาฟ้าลิขิต

การเลือกใช้คำศัพท์ร่วมสมัยเป็นทางลัดที่ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวได้ดีและมีอารมณ์ขัน เช่นการเรียก“คณะสงฆ์” ว่า “ทีมงาน” หรือการใช้เพลง “Blowing in The Wind” เป็นเพลงธีมของหมู่สมณะ เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะคิกคักจากผู้ชมได้เรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันการที่จะต้องคงบางคำศัพท์ในนวนิยายดั้งเดิม เช่น สมณะ, หญิงงามเมือง เอาไว้ในละคร นั้นก็เป็นปัญหาอยู่บ้าง เพราะตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าผู้ชมจะต้องรู้ว่าเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกในบริบทช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อองค์ประกอบเรื่องการแต่งกายของตัวละครเป็นแบบร่วมสมัย ที่ไม่ได้สื่อให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าตัวละครนั้นกำลังอยู่ในสถานภาพแบบใดอย่างเด่นชัด เช่นในฉากที่สิทธารถะออกจากบ้านไปใช้เพศสมณะ บำเพ็ญทุกรกิริยาแต่การแต่งกายก็ยังเป็นแนว “ชิลล์ ๆ” เหมือนเดิม หรือการแต่งกายของกมลา ในวันที่ผมไปดูออกแนวโบฮีเมียนรุงรัง ซึ่งทำให้ดูยังลักลั่นไม่ลงตัวและไม่ช่วยขับเน้นคาแรคเตอร์ของตัวละคร ที่น่าจะสง่าและรวยเสน่ห์

ผมพูดเลยไปถึงเรื่องแนวทางการออกแบบศิลป์ก็เพื่อที่จะบอกว่าการดัดแปลงนวนิยายเรื่องหนึ่งให้กลายมาเป็นละครเวทีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งในแง่การดัดแปลงงานวรรณกรรม และงานออกแบบโปรดักชัน ถ้าหากใครได้รับชมเรื่องบุรุษริษยา ของกลุ่ม New Theatre อาจจะเห็นเหมือนผมว่าในละครเรื่องนั้นกระบวนการทำให้ร่วมสมัยมีความกลมกลืนมากกว่าละครเรื่องนี้

ในแง่ของเนื้อหา สิทธารถะ เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงการเดินทางแสวงหาความจริงของชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งสมมุติ ให้เกิดร่วมยุคสมัยกับโคตมะ (โคตะมะ) ซึ่งอาจจะหมายถึงพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ก็ได้ ครั้นเมื่อเส้นทางของเขาต้องไปบรรจบกับโคตมะ ตัวเขาเองก็ปฏิเสธการเรียนรู้กับผู้ที่ตัวเขาเชื่อว่าได้บรรลุและรู้แจ้งสัจธรรม เพราะเขาเห็นว่า “ทฤษฎี” คือสิ่งที่โคตมะเอามาบอกเล่าให้เขาฟัง ไม่อาจนำเข้าไปสู่สภาวะของการตื่นรู้อย่างที่โคตมะเองเป็น ซึ่งนี่เป็นเหตุที่ทำให้เขาต้องเดินทางแสวงหาต่อไปเพื่อให้รู้แจ้งสัจธรรม ด้วยวิธีของเขาเอง

การเดินทางของสิทธารถะถูกเลียนล้อ ผ่านฉากที่ถูกวาดขึ้นมาให้เป็นตารางของเกมส์ “บันไดงู” ซึ่งไม่รู้ว่าเด็กรุ่นนี้จะเคยเห็นหรือยังเล่นกันอยู่หรือเปล่า วิธีการเล่นเกมส์นี้ ผู้เล่นจะต้องทอยลูกเต๋าเพื่อเดินไปตามตาราง ถ้าหากเจอบันไดก็โชคดีได้ไต่สูงขึ้นไป และถ้าหากไปตกช่องงู ก็ต้องถอยตกลงมายังด้านล่างและต้องทอยลูกเต๋าเดินกันต่อไปจนกว่าจะไปถึงจุดหมาย การใช้เกมส์บันไดงูอาจจะเป็นการสื่อแสดงว่าชีวิตของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับโชคชะตามีขึ้นมีลง แต่ที่แน่นอนก็คือเมื่อเกิดมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้วลูกเต๋าแห่งกาลเวลาก็จะถูกทอยไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นชีวิต

ส่วนตัวผมค่อนข้างจะเชื่อว่า ตัวละครสิทธารถะมีปมอีดิปุสคอมเพล็กซ์ คือการต่อต้านไม่ยอมรับอำนาจของพ่อหรือผู้มีอำนาจ เพราะถึงแม้ว่าจะสิทธารถะจะยอมรับว่า โคตมะเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว ผู้เข้าถึงสภาวะอันอุดม มีคุณธรรมสูงและมีความกรุณาดูแลเหล่าสาวกที่ติดตามเป็นพันๆ หมื่น ๆ คน แต่เขาก็ไม่เลือกที่จะเดินตาม

เรื่องที่น่าชมคืออารมณ์ขันของผู้กำกับที่กำหนดให้ตัวละครโคตมะแสดงตัวเป็น “นักขายของเร่” ที่กำลังสาธิตคุณภาพของผงซักผ้าขาว โดยมีการนำผ้าขาวมาซักในกะละมังและนำไปตากที่ราวแขวนผ้า ซึ่งคือเชือกสองเส้นที่ห้อยไขว้กันอยู่ในฉาก มีการเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบฉากคือกระดานฟลิปชาร์ตและแจกชีท ซึ่งดูเป็นการเสียดสีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ที่มีลักษณะเป็นทางการจนเกินไป

ถ้ามองถึงพฤติกรรมของสิทธารถะในบริบทสังคมปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าเขามีจิตวิญญานของคนที่แสวงหาสัจธรรมมากกว่าคนที่นับถือศาสนาแต่เพียงใน“ทะเบียนบ้าน” หรือพวกที่เข้าวัดทำบุญโดยหวังว่าเกิดชาติหน้าจะได้มั่งมี ถ้ามองในแง่การเมืองเขาก็อาจจะเป็นตัวแทนของประชาชนที่ไม่ยอมก้มหน้ารับคำตอบง่ายๆ ที่รัฐบาล หรือผู้อำนาจมีให้ แต่เลือกที่จะแสวงหาความจริงที่ซื่อตรงต่อใจของเขา สิทธารถะไม่ใช่ไอดอลของนักปฏิวัติ อย่าง เช กูวารา หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่เขาเป็นตัวแทนของบัณฑิตที่พอใจจะค้นหาความจริง ในแบบของเขาอย่างเงียบๆ โดยเรียนรู้ความจริงจากธรรมชาติซึ่งดูจะเป็นอิทธิพลของแนวคิดแบบโรแมนติก ในยุคคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด

สาระเชิงปรัญชาที่แฝงเอาไว้ในละครเรื่องนี้ดูจะหนักหนา แต่ไม่ต้องถึงกับปีนบันไดดู เป็นเพราะความสามารถของผู้ดัดแปลงบท การกำกับการแสดง และการออกแบบศิลป์ ที่ทำให้ผู้ชมซึ่งส่วนใหญ่อายุ Twenty Something หรือ Thirty Something ในรอบที่ผมไปชมสามารถน้อมรับสารของละครเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ส่วนการแสดงของนักแสดง แม้บางทีจะดูว่าเกร็ง ๆ ไปบ้าง สำหรับบางคนก็ยังถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี สำหรับข้อติก็อาจจะต้องพูดถึงบ้างสำหรับนักแสดงที่แสดงเป็นกมลาในช่วงแรกดูว่ายังสวมบทความเป็น “หญิงงามเมือง” ไม่ได้ใจผมสักเท่าใด เพราะเมื่อต้องจับคู่กับนักแสดงชายที่ดูเป็น “แบดบอย” กมลาก็ควรจะต้องยิ่งแสดงความเป็นผู้หญิงที่จัดเจนในระดับ ที่ต้อง “สอนมวย” หนุ่มน้อยให้หลงไหลแบบโงหัวไม่ขึ้น ก็เพราะด้วยอำนาจของดำกฤษณาของอิสตรี เราจึงจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมสิทธารถะจึงได้หันหลังให้กับเส้นทางของสมณะซึ่งแปลว่า “ผู้สงบ”

ตัวละครคนพายเรือในนวนิยายเป็นคนที่พูดน้อย แต่ในละครเป็นคาแรคเตอร์ที่พูดเยอะ เป็นกันเอง ไม่หยี่หระต่อกฎเกณฑ์สังคม ตัวละครนี้ถึงแม้จะผิดเพี้ยนไปจากตัวบทเดิม แต่ผู้ชมอ้าแขนให้การต้อนรับเพราะสามารถสัมพันธ์กับชีวิตของเขาได้ ในยุคที่เราหาเรือที่มีคนพายไม่ได้แล้ว การนึกถึงคนพายเรือจึงดูห่างไกลกับ ชีวิตประจำวันของเรามากโขอยู่

หากละครเรื่องนี้จะมีจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่พาผมไปถึงที่สุดอยู่บ้าง เห็นจะเป็นช่วงสุดท้ายของบทสนทนาระหว่างสิทธารถะกับโควินทะที่แฝงปรัญชาซึ่งเข้าใจยาก จากบทสนทนาที่ยืดยาวและหนักหน่วง ประกอบกับเมื่อละครแสดงมาแล้วเกือบสามชั่วโมงจึงทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ฟังการสอนสั่งของสิทธารถะ ซึ่งในนวนิยายคู่สนทนาเป็นชายชราที่สนทนากันอย่างนักปราชญ์ แต่ในละครกลับโฉ่งฉ่างให้ความรู้สึกเหมือนว่าเด็กหนุ่มสองคนเถียงกันเรื่องจะไปปาร์ตี้ที่ไหนดี

ในยุคที่การแสวงหาความหมายของชีวิต คือการแชร์สเตตัสโดนๆ ของนักบวช หรือพิธีกรชื่อดัง ละครเวทีสิทธารถะได้นำเอาประเด็นปรัชญาที่เข้าใจยากมาทำให้มีชีวิตชีวาน่าติดตาม เพราะถึงแม้ว่าปัญญานั้นสอนกันไม่ได้ แต่ละครเมื่อเสียค่าเข้าชมแล้วก็มีสิทธิจะดู(เข้าใจ)กันได้ทุกคน.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *