มาลัย ชูพินิจ เหตุผลของความรักกับนวนิยายไทย

มาลัย   ชูพินิจ เหตุผลของความรักกับนวนิยายไทย

 

นิธิ   เอียวศรีวงศ์


ข้าพเจ้าเพิ่งได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนผู้หนึ่งว่า  นักวิจารณ์วรรณกรรมอาวุโสท่านหนึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับงานชิ้นสำคัญสองชิ้นของมาลัย  ชูพินิจ – แผ่นดินของเรา และ ทุ่งมหาราช โดยกล่าวว่า เธอโปรดปรานเรื่องแรกมากกว่าเรื่องหลัง เพราะเรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีปัญหา ซึ่งท้าทายและน่าตื่นเต้นแก่คนไทย ในขณะที่เรื่องหลังออกจะมีท่วงทำนองตะวันตก และน่าจะจับใจฝรั่งมากกว่าไทย

ข้าพเจ้าพยายามจะเข้าใจและคล้อยตามความเห็นของนักวิจารณ์อาวุโสนั้น  แต่ก็สุดปัญญา เพราะไม่สู้เข้าใจมาตรฐานของเธอนัก และออกจะไม่เห็นด้วยกับการที่ว่า ทุ่งมหาราช มีท่วงทำนองตะวันตก แม้ว่าได้หยิบทุ่งมหาราชมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสวงหาท่วงทำนองตะวันตกก็ตาม

นอกจากอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ มาลัย ชูพินิจ เสนอไว้อย่างงดงามและน่าสนใจในทุ่งมหาราชแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุ่งมหาราชคือนวนิยายของความรัก อย่างน้อย “ความรัก” ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลายปัจจัยที่ทำให้เรื่องดำเนินไป ที่ทำให้ตัวละครประกอบพฤติกรรมและก่ออารมณ์ของนวนิยายเรื่องนั้น และการพูดเช่นนี้คงใช้ได้กับนวนิยายจำนวนมากต่อมาก รวมทั้งนวนิยายของตะวันตกด้วย

ถ้าเช่นนั้นมีอะไรเด่นเกี่ยวกับ “ความรัก” ใน ทุ่งมหาราช นักหรือ?

ใครๆ ที่ชอบ ทุ่งมหาราช ก็มักจะติดใจภูมิภาพที่แจ่มชัดจากปลายปากกาของมาลัย   ชูพินิจ ติดใจบรรยากาศของชนบทไทยเมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว ซึ่งบรรยายโดยผู้เขียนที่ได้เคยสัมผัสชีวิตเช่นนั้นมาเอง ติดใจเรื่องราวการต่อสู้ของลูกผู้ชายที่ทั้งเข้มแข็งและอ่อนแอในกลิ่นอายของความเป็นจริงซึ่งได้วิญญาณและเลือดเนื้อของความเป็นชาติ  ยิ่งกว่าที่ลวดลายบนหน้าบันอาคารใดๆ จะจรรโลงขึ้นได้ แต่ท้องเรื่อง “ความรัก” ของ ทุ่งมหาราช… มีและสำคัญนักหรือ… นั่นคงเป็นคำถามที่ผู้ชื่นชมทุ่งมหาราชหลายคนสงสัย

ข้าพเจ้าคิดว่ามี และมีความสำคัญเอามากๆ ด้วย เพราะ 1. จะหานวนิยายไทยที่เข้าถึงความรัก…อันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากฐานะของชนชั้นทางสังคม… 2. ลักษณะอย่างลึกซึ้งและสามารถตีแผ่ความรู้สึกนี้อย่างงดงามโดยไม่ขัดเขินให้ดีเท่าทุ่งมหาราชได้ยาก หรืออาจไม่มีเลยด้วยซ้ำ

นักอ่านที่ชื่นชม ทุ่งมหาราช ทุกคนคงจำคำฝากรักของรื่นต่อสุดใจได้ดี เพราะ “แปลก” สำหรับนวนิยายไทยทั่วไป รื่นพูดว่า “…ผู้หญิงสวยอย่างเอ็ง ผู้ชายเปิดเผยอย่างข้า ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ เสียอย่างเดียวแต่ขาดหัวหน้า ข้านี่แหละเทวดาส่งมาสำหรับเป็นนาย”  การชมผู้หญิงที่จีบอยู่ว่าสวย การยกย่องตนเอง ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาของพระเอกที่กำลังฝากรัก เพียงแต่รื่นพูดตรงไปตรงมาอย่างชาวชนบทมากกว่าพระเอกอื่นเท่านั้น แต่ทำไมต้องเกี่ยวกับข้าวปลาอาหารของตำบลปากคลองซึ่งบริบูรณ์ด้วย ประโยคที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวแต่เกี่ยวอย่างยิ่งนี้ มาลัย ชูพินิจ ได้วางไว้แต่ต้นเรื่องให้ผู้อ่านสำนึกเสียแต่แรกว่า กำลังจะต้องเผชิญกับความรักอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่มีปรากฏบ่อยนักในนวนิยายไทย

หลายคนรวมทั้งตัวข้าพเจ้าเองเคยคิดว่า ความรักที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั้นมีคุณลักษณะเหมือนกัน เป็นความรู้สึกจากจิตใจของเอกบุคคล ไม่สัมพันธ์อันใดเลยกับฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมหรือการเมือง ฯลฯ ของเขา คนที่รักอย่างนี้ไม่เป็นจึงเป็นคนที่ “ผิดธรรมชาติ” และเป็นได้เพียงตัวผู้ร้ายในนวนิยาย  หญิงหรือชายที่รักใครเพียงเพราะเงินของเขา เกียรติยศของเขา  หรือหน้าตาท่าทางของเขา คือ “ตัวโกง” หรือ “นางผู้ร้าย” ในนวนิยาย มีนวนิยายหลายเรื่องด้วยกันที่ทั้งผู้อ่านและนักเขียนช่วยกันแช่งชักหักกระดูก “คนประเภทนี้” โดยปราศจากความพยายามที่จะเข้าใจและเห็นใจ

แต่ความจริงแล้วความรักหาได้มีลักษณะเพียงหนึ่งอย่างนี้ แม้ว่ามันจะชื่อเดียวกันก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าศึกษาประวัติศาสตร์ของต้นรัตนโกสินทร์โดยอาศัยวรรณกรรมเป็นหลักฐาน ความเข้าใจในความหลากหลายของความรู้สึกที่เรียกว่า “ความรัก” ก็ได้เริ่มอุบัติแก่ตนเอง ความรู้สึกของตัวละครในวรรณกรรมที่เราเรียกว่า “ความรัก” นั้น หาได้เหมือนกันระหว่างวรรณกรรมต่างยุคสมัยกันไม่ ในวรรณกรรมตัวเขียนของอยุธยาซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า “วรรณกรรมศักดินา” นั้น ตัวละครหาได้มีความรู้สึกที่เราอาจเข้าใจว่าเป็นความรักของ “พระเอก” ไม่ แต่เป็นความรู้สึกที่นวนิยายส่วนใหญ่มอบให้แก่ “ตัวโกง” มากกว่า พระเอกและนางเอกของวรรณกรรมอยุธยา (ยกเว้นพระลอ) นั้น รักและอยู่กินกันในที่สุด ก็เพราะต่างมีความเหมาะสมกันด้วยเหตุผลของสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจหรือคู่ควรกันเพราะร่วมในกระแสอันซับซ้อนของสายธารแห่ง “กรรม” หรือ “เทพลิขิต” เดียวกันมา พระรามต้องรักนางสีดา เพราะต่างถูกกำหนดให้อวตารมาปราบยุคเข็ญด้วยกัน มีความคู่ควรที่สอดคล้องกับแกนของจักรวาล ซึ่งกำหนดว่าทั้งคู่ต้อง “รัก” กัน และไม่ใช่เอกบุคคลสองคนประสานหัวใจของตนขึ้นมาเป็นความรู้สึกที่เหนือโลก เช่นเดียวกับที่สมุทรโฆษต้องรักนางพินทุมดี เพราะสายธารแห่ง “กรรม” กำหนดให้คนทั้งสองต้องรักกันและอยู่กินกันทุกชาติอยู่แล้ว ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้เสมอว่าเมื่อกวีไทยฝากรักหญิง ว่าตนและหญิงผู้นั้นคู่ควรกันเหมือนพระจันทร์และพระอาทิตย์ กลางคืนและกลางวัน ขุนเขาและธารน้ำ ฯลฯ นั้น เขาทั้งสองมีความคิดเกี่ยวกับพลังกำหนดของจักรวาลหรือกระแสกรรมแฝงซุกอยู่เบื้องหลังลึกๆ ลงไปด้วย

ความรักในฐานะที่เป็นความรู้สึกของเอกบุคคลมาปรากฏให้เห็นเด่นชัดในวรรณกรรมตัวเขียนของไทยก็ต่อเมื่อต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง และเพื่อย้ำความรู้สึกเช่นนี้ วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ จึงเต็มไปด้วยเรื่องของความรักที่ถูกขวางกั้นด้วยอุปสรรคของความไม่คู่ควร อิเหนารักนางจินตะหราซึ่งไม่ใช่คู่ตุนาหงัน ขุนแผนรักวันทองซึ่งตกเป็นเมียขุนช้างไปแล้ว นางรจนารักเจ้าเงาะที่รูปชั่วตัวดำ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะตัวเอกของวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์กลายเป็นเอกบุคคลมากขึ้น ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านกลายตนเองเป็นกระฎุมพียิ่งขึ้น จึงเกิดความเข้าใจและความรู้สึกรักแบบกระฎุมพีเป็น กลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอจะใช้เวลาว่างของตนไปในทางที่ไม่เกี่ยวกับการหาเลี้ยงชีพโดยตรงได้ ใช้ทรัพย์ที่ตนมีเพื่อหาชื่อเสียงเกียรติยศและอำนาจทางการเมือง และใช้อำนาจทางการเมืองของตนเพื่อเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของตน ความรักและการแต่งงานผูกพันกับการสร้างพันธมิตรทางการเมืองน้อยลง ทั้งโอกาสที่หญิงชายได้พบกันอย่างอิสระก็เพิ่มมากขึ้น ในตลาดเน้นความเสมอภาคของผู้ซื้อ (มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกันต่อหน้าพระเจ้าและพ่อค้า)

ท้องเรื่องเกี่ยวกับความรักที่ขาดความคู่ควรของต้นรัตนโกสินทร์ได้ให้ความบันดาลใจที่สำคัญแก่ท้องเรื่องของนวนิยายไทยรุ่นแรกๆ กระต่ายน้อยที่ขับรถให้เจ้าคุณไปหลงเดือนที่สาดจากใบหน้าของธิดาคนเดียวประจำเคหาสน์นั้น หรือทายาทของกองมรดกเจ้าราชนิกุลมอบดวงใจแก่แม่ค้าขายขนม หรือชายกลางอธิบดีที่หนุ่มที่สุดเกิดประทับใจเด็กกระโปโลที่จัดจ้านด้วยคู่มือบันทึกปกสีน้ำเงินของตระกูลพินิตนันท์

ความรักทั้งหลายในนวนิยายเหล่านี้คือความรู้สึกของเอกบุคคลที่มีต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมคู่ควร ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือสังคม เป็นความรู้สึกไม่สัมพันธ์อย่างใดกับการผลิตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นอาชีพของตัวเอกเลย นวนิยายซึ่งผลิตและเสพโดยกระฎุมพีที่กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว สืบทอดความรู้สึกใหม่ของวัฒนธรรมกระฎุมพีรุ่นแรกๆ ของวรรณกรรมไทย

แต่เมื่อรื่นพบสุดใจในทุ่งมหาราช เขายังไม่ถูกวัฒนธรรมกระฎุมพีครอบงำมากนัก แม้ได้ท่องเที่ยวค้าขายมาหลายแห่ง แต่กิจกรรมของเขาก็ยังแวดล้อมอยู่กับประชาชนผู้ผลิตเพื่อพอยังชีพตามท้องไร่ท้องนา ความรักของเขาจึงสัมพันธ์กับวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารื่นเป็นมนุษย์ที่ขาดหัวใจสำหรับรักคนโดยไม่เกี่ยวกับ“ประโยชน์” ซึ่งเป็นลักษณะของตัวโกงในนวนิยายส่วนใหญ่ แท้จริงแล้ว “ประโยชน์” และความรู้สึกรักของคนในฐานะอย่างรื่นเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ พวกกระฎุมพีต่างหากที่มองเห็นที่สามารถรู้สึกถึงความรักที่เป็นอิสระจากการผลิตโดยสิ้นเชิงได้ เพราะฉะนั้นปากคลองของรื่นจึงมีสิ่งประทับใจปนๆ กันอยู่หลายอย่าง สุดใจก็เป็นหนึ่ง “ป่าไม้ ข้าว ไต้ น้ำมันยาง สีเสียด ยาสูบและหนังสัตว์” ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แยกออกจากสุดใจไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจอันใดที่ “เกือบจะทันทีที่ชีวิตครอบครัวของเขาเริ่มต้น เมื่อการแต่งงานผ่านพ้นไป ความคิดของรื่นก็จดจ่ออยู่แต่งานข้างหน้า…” และฉากหวานชื่นที่สัมผัสกับชีวิตจริงระหว่างสุดใจ และรื่นจึงมีเพียงสั้นนิดเดียว (แม้จะให้ความประทับใจมากสักเพียงใดก็ตาม)

ความรู้สึกเช่นนี้กระฎุมพีอาจจะเหยียดว่าเป็น “ความรักที่ไม่บริสุทธิ์” หรืออย่างน้อยก็ขาดความอ่อนหวานหรือรสรักพึงประทาน แต่ในบรรดาผู้คนฐานะอย่างรื่นและสุดใจนั้นเป็นความรู้สึกเดียวที่รู้จักกันว่าความรัก ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เข้าถึงการตัดสินใจของสุดใจในภายหลัง เมื่อได้พบว่ารื่นและจำปามีความสัมพันธ์สวาทกัน แม้จะชอกช้ำขมขื่น แต่ความสัมพันธ์นั้นหาได้กระทบถึงวิถีการผลิตของครอบครัวอย่างแท้จริงไม่ และสุดใจก็รู้ว่าในที่สุดความขมขื่นและชอกช้ำนั้นจะสิ้นไป หากความรักไม่ใช่เรื่องของหัวใจของเอกบุคคลสองคนที่สมัครจะผูกพันกันโดยอิสระแล้ว การนอกใจในเรื่องของกามารมณ์ก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะกามารมณ์เป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของความรักของกรรมาชน อย่างที่มาลัย  ชูพินิจได้บรรยายถึงสุดใจในคราวแรกพบรื่นว่า รื่น “นิ่งพิจารณาดูร่างที่อวบอัดอยู่ในเสื้อผ้าที่เปียก ผมที่ยาวสลวยประบ่า…” และด้วยเหตุดังนั้น “การนอกใจ” ในลักษณะที่รื่นได้กระทำไม่ถือเป็นการหักหลังล่วงปรามาสสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าความรัก อันอาจพบได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญของนวนิยายที่บรรยายความรักของกระฎุมพีเสมอ

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของรื่นไม่ได้หยุดอยู่เพียงกิจกรรมที่ขยายขนาดขึ้นที่ปากคลองเท่านั้น การค้าขายของเขาทำรื่นเขยิบฐานทางเศรษฐกิจขึ้นตามลำดับ แม้สุดใจจะร่วมไปในขบวนล่องแพด้วย   แต่สุดใจมิได้เกี่ยวข้องกับการค้าโดยตรง ไม่เป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ร่วมในการเจรจาต่อรองและไม่ใช่ผู้วางแผนการค้า สุดใจเป็นเมียซึ่งเป็นส่วนสำคัญของขบวนการผลิตเหมือนเมียของกรรมาชนทั่วไป แต่โอกาสที่จะแปรโลกทัศน์ไปตามฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสุดใจนั้นมีน้อยหรือเกือบจะไม่มีเลยเมื่อเทียบกับรื่น เพราะฉะนั้นในขณะที่รื่นเริ่มเรียนรู้ความรู้สึกรักแบบกระฎุมพี สุดใจจึงยังคงมีชีวิตในโลกของความรักแบบเก่า

ในโลกของกระฎุมพี รื่นสัมผัสความรักแบบใหม่ของตนกับคุณละเมียดซึ่งในทางสังคมก็เป็นเมียคนอื่น โดยทางเศรษฐกิจก็เป็นคู่ค้าที่มีฐานะเหนือรื่นเอง  ไม่มีอะไรคู่ควรกันโดยสิ้นเชิง และถึงแม้จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้องกับวิถีการผลิตในชีวิตของรื่น หากจะเกี่ยวอยู่บ้างก็รังแต่จะก่อให้เกิดผลเสีย นี่แหละ “ความรักอันบริสุทธิ์” ที่กระฎุมพียกไว้เป็นระบบอย่างในอุดมคติ คำพูดของรื่นต่อคุณละเมียดบนเกาะร้างนั้นจึงเป็นการประกาศกิตติคุณความรักแบบกระฎุมพี

“ผมไม่เคยรู้อะไรทั้งนั้น…นอกจากว่าตั้งแต่พบคุณละเมียดที่ลานดอกไม้ ได้เห็นหน้า ได้ยินเสียงพูด ผมไม่มีวันจะลืมคุณละเมียดได้ ผมไม่กล้าถึงจะไปหวังอะไรจากคุณละเมียด  รู้ดีว่าอยู่คนละโลก เกิดมาคนละชั้น ถึงงั้นผมก็อดใจไม่ได้…”

แต่รากฐานของรื่นในฐานะกรรมาชนก็ยังไม่หายไปไหน ความคงอยู่นั้นแสดงให้เห็นด้วยชีวิตครอบครัวที่มั่นคง ซึ่งเขาดำเนินคู่เคียงไปกับสุดใจ ความรักแบบกระฎุมพีที่สุดใจไม่มีวันจะเข้าถึงนั้นรื่นมอบให้คุณละเมียด และความรักของกรรมาชนที่คุณละเมียดไม่มีวันเข้าถึง (ดังที่คุณละเมียดเองเคยประณามความรักของคนในชนชั้นรื่นไว้ว่า “ผู้ชายอย่างรื่นและผู้หญิงของรื่น ควรจะคิดว่ามันเป็นอย่างเดียวกับความต้องการทางกาย”) นั้น  รื่นก็มีอย่างไม่เสื่อมคลายไปจากสุดใจ ซึ่งเป็นคู่ขาของการผลิตของเขา ดังนั้นเมื่อเขากล่าวแก่สุดใจว่า “ในโลกนี้เมียข้ามีคนเดียวคือ เอ็ง สุดใจ ผู้หญิงอื่นๆ นอกนั้นเพียงแต่ผ่านเข้ามาในชีวิตข้าแล้วก็ผ่านไป บ้างเหมือนฝันดี บ้างเหมือนฝันร้าย…” จึงเป็นความจริงในเงื่อนความรู้สึกรักแบบกรรมาชน

ทุ่งมหาราช คือนวนิยายไทย หากอ่านด้วยอนุสสติของนวนิยายอเมริกันเกี่ยวกับการบุกเบิกภาคตะวันตกและอารมณ์ดิบของมนุษย์ ทุ่งมหาราชก็ดูเป็นการเลียนแบบนวนิยายตะวันตกในบรรยากาศแบบไทยๆ เท่านั้น แต่มาลัย  ชูพินิจ ไม่ได้แฉโพยอารมณ์ดิบของมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ตีแผ่ “อารมณ์สุก” (สุกเพราะถูกปรุงแต่งด้วยเงื่อนไขภววิสัยที่แวดล้อมคนอย่างเดียวกับอารมณ์ของสัตว์สังคมตัวอื่น) ของคนที่ชื่อรื่น ผู้ชายไทยที่มีลักษณะผู้นำ ซึ่งได้สร้างสรรค์สังคมไทยทั้งด้วยกิเลสและความเสียสละของตน แต่เผอิญรื่นมีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายเข้าไปกระทบคนในระดับของเขามากขึ้น และทำให้คนที่อยู่ในแนวหน้าอย่างเขามีความรู้สึกที่ซับซ้อนขึ้นจากการเผชิญกันของวิถีการผลิตที่ต่างกันสองอย่าง ในแง่ของความรู้สึกที่ซับซ้อน (และชวนสับสน) นี้ นอกจากรื่นที่กำแพงเพชรแล้ว คงมีรื่นอื่นๆ ซึ่งเราได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง… รื่นที่เป็นหมอนวด รื่นที่เป็นเซลล์แมนพร้อมปูมหลังจากท้องนา รื่นที่เป็นเพื่อนของข้าพเจ้าจากอีสาน ซึ่งเมื่อรักสาวหัวปักหัวปำแล้วยังมีแก่ใจที่จะนับหมูที่สาวเลี้ยงไว้ที่บ้านเพื่อคำนวณรายได้ของครอบครัวในอนาคต

การบรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงและวิถีชีวิตในชนบทของมาลัย ชูพินิจใน ทุ่งมหาราช ก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจอยู่พอแรงแล้ว แต่การเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่กระทบความรู้สึกคนอย่างลึกๆ เช่นนี้ ทำให้ ทุ่งมหาราช เป็นนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ แผ่นดินของเรา ไปได้เลย

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความสำนึกต่อความรักที่มาจากเงื่อนไขทางภววิสัยที่ผิดแผกจากวิถีชีวิตของกระฎุมพีที่เราเคยชินทั้งจากชีวิตและจากนวนิยายส่วนใหญ่นั้น ได้ช่วยให้ได้รสใหม่ในการอ่านงานเขียนอื่นๆ นอกจากทุ่งมหาราช ข้าพเจ้าหยิบ ฟ้าบ่กั้น ของ “ลาว คำหอม” ออกอ่านอีกครั้งหนึ่ง และคิดว่าได้เข้าใจฉากที่น่ารักยิ่งฉากหนึ่งในวรรณกรรมไทยในรสใหม่อย่างที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อนเลย

“รักฉันไหมเล่า ฉันมีเงินนะ”

เหมือนตื่นจากภวังค์ ใบหน้างามเอียงนิดๆ อย่างจะตั้งใจฟังให้ถนัด หันมาจ้องและมองเหมือนกับว่าเพิ่งจะเห็นเขาเป็นครั้งแรก ชายหนุ่มยิ้มเจื่อน มือของเขาสั่นขณะยกขึ้นลูบลายวงกลมเขียวเหลืองและแดงที่ไขว้กันบนอกเสื้อยืด

“ฉันมีจริงๆ นะ เอ้อ” พูดกระท่อนกระแท่นไม่เต็มเสียง

“มีเท่าไหร่” ริมฝีปากอิ่มเอิบเผยอน้อยๆ

เขายืนตะลึงเหมือนยังไม่เชื่อหูของตัวเอง เมื่อได้สติจึงหันกลับมาทางข้าพเจ้า…”

 

ความรักของบัวคำที่มีต่ออินถาจากเรื่อง ไพร่ฟ้า ของ “ลาว คำหอม” นั้นเป็นความรักของกรรมาชน ซึ่งผูกพันอย่างแนบแน่นกับวิถีการผลิตของคนทั้งสอง เพราะเงินจึงทำให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ แต่ก็เป็น “ความรักอันบริสุทธิ์” เช่นเดียวกัน หากแต่ว่าจะรับรู้ความบริสุทธิ์เช่นนั้นได้ต้องสะกดความเคยชินของความรักแบบกระฎุมพีออกเสียก่อนเท่านั้น

ข้าพเจ้าพยายามมองหานวนิยายเรื่องอื่นที่พูดถึงความรักของกรรมาชนในเชิงที่ผูกพันกับเงื่อนไขของการผลิตเช่นนี้มาอ่านอีก หากได้พบแต่เรื่องเกี่ยวกับความรักของกรรมาชนที่จำลองเอาความรู้สึกของกระฎุมพีไปสวมไว้ แต่ส่วนที่พยายามมองหานั้น ยังหาไม่ได้

 

 

ที่มา :     นิธิ   เอียวศรีวงศ์. “มาลัย  ชูพินิจ เหตุผลของความรักในนวนิยายไทย”. โลกหนังสือ. ปีที่ 6 ฉบับที่ 12 (กันยายน 2526), หน้า 18-23.


บทวิเคราะห์

 

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ จบปริญญาตรีและโทจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนักคิด นักประวัติศาสตร์ชั้นหนึ่งของประเทศ  เขามีข้อคิด ข้อเขียนจากการค้นคว้า การตีความอันแหลมคมที่สดใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ การเมืองและพัฒนาการของสังคมไทย  ปัจจุบัน(2544)เป็นคอลัมนิสต์ มีผลงานในนิตยสารชั้นนำและหนังสือพิมพ์หลายเล่ม อาทิ  มติชน มติชนสุดสัปดาห์  แพรว มีผลงานรวมเล่มด้านสังคมและประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ ปากไก่และใบเรือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีรัฐธรรมนูญแบบวัฒนธรรมไทย การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ หมายเหตุวัฒนธรรมร่วมสมัย กรุงแตก พระเจ้าตากและประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้”ทวนกระแส” (สังคมเสื่อมทราม)ของชมรมหญ้าแพรก  มูลนิธิภูมิปัญญา และเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลังเที่ยงคืนอีกด้วย ปี 2542 ได้รับรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ จากประเทศญี่ปุ่น และรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาประวัติศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และปี 2545 ได้รับรางวัลศรีบูรพา จากกองทุนศรีบูรพา

“มาลัย ชูพินิจ เหตุผลของความรักกับนวนิยายไทย” เป็นบทวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องของความรักในนวนิยายเรื่อง ทุ่งมหาราช ของเรียมเอง หรือ มาลัย ชูพินิจ ที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ใช้มุมมองของนักสังคมมานุษยวิทยาเข้าจับเรื่องความรักของรื่นกับผู้หญิงสองคน สุดใจ กับคุณละเมียด  โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเมื่อรื่นยังมีฐานะเป็นชนชั้นกรรมาชน(ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ประกอบอาชีพล่องเรือค้าของป่า)รักกับสุดใจ และเมื่อรื่นมีฐานะเป็นกระฏุมพี(นายทุนชนชั้นกลาง)รักกับคุณละเมียด  แม้จะพิจารณาโดยผิวเผินคล้ายกับว่ารื่นรักคุณละเมียดโดยบริสุทธิ์ใจแบบกระฎุมพีที่เขาได้รับการเลื่อนฐานะอยู่กลาย ๆ  แต่เมื่อต้องเลือกรื่นก็เลือกสุดใจ เพราะรื่นยังเป็นกรรมาชน  นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้มองว่ารื่นเป็นตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยายเท่านั้น  หากแต่มองว่ารื่นคือภาพแทนของชายไทยชั้นกรรมาชน ในยุคสมัยที่สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัว และได้รับผลสะเทือนจากการขยายตัวนั้นจนกลายเป็นชายไทยที่มีความคิดและอารมณ์ความรู้สึกแบบชนชั้นกระฏุมพีอยู่เป็นครั้งคราว

การหยิบมุมมองเรื่อง “ความรัก” เป็นเรื่องกระทบใจคนในสังคม  ยิ่งโยงกลับไปหาเรื่อง

แผ่นดินของเรา ซึ่งถือว่าเป็นนวนิยายรักของ “แม่อนงค์” ที่กินใจคนทั้งเมือง ยิ่งทำให้คนอ่าน

สนใจ และถูกดึงเข้าสู่กระบวนการอ่าน ทุ่งมหาราช โดยไม่รู้ตัว   การวิเคราะห์ความรักของรื่นออกมาอย่างไม่แยกออกจากสภาพแวดล้อมหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเป็นไปในชีวิตที่ดำเนินไปในตอนนั้น ทำให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ต่างไปจากความรักแบบเมียหลวงกับชู้ลับ  ทำให้คนอ่านเกิดความเข้าใจชีวิตชายไทยคนหนึ่งที่แทนชายไทยส่วนหนึ่งได้ดีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองเห็นภาพรวมทั้งหมดไปพร้อมกันด้วย  การวิเคราะห์วิจารณ์แบบเอาแนวคิดเชิงสังคมมานุษยวิทยาเข้าจับนี้ นอกจากจะทำให้นักอ่านได้มุมมองใหม่แล้ว  ยังเป็นการสร้างเหตุผลในการวิเคราะห์วิจารณ์แบบใหม่ที่ไม่ยึดเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดด ๆ หากแต่มองสรรพสิ่งอย่างมีเหตุผลสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจจะสอดคล้องได้ทั้งทฤษฎีมาร์กซิสต์ หรือเข้าแนวทางอิทัปปัจจยตาของพุทธธรรมก็ได้  ซึ่งไม่ว่าจะเข้าในแนวทางใด ก็นับว่า เป็นการส่องมุมมองใหม่ๆ ให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้  นิธิยังชี้ให้เห็นถึงผลสืบเนื่องจากการคิดวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเอง “ความสำนึกต่อความรักที่มาจากเงื่อนไขทางภววิสัยที่ผิดแผกจากวิถีชีวิตของกระฎุมพีที่เราเคยชิน ทั้งจากชีวิตจริงและนวนิยายไทยส่วนใหญ่นั้น ได้ช่วยให้รสใหม่ๆ ในการอ่านงานเขียนอื่น ๆ นอกจาก “ทุ่งมหาราช” เขาอ่านฟ้าบ่กั้น และเห็นมุมมองผสมใหม่ในความรักของกรรมาชนในเรื่อง “ไพร่ฟ้า” ของ ลาว คำหอม ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า นักอ่านเองก็มีสิทธิ์ที่จะหารสใหม่ๆ เช่นเดียวกับเขา

การยกตัวอย่างการใช้มุมมองใหม่ๆ ในการเสพย์วรรณกรรมเป็นการกระตุ้นให้นักอ่านเกิดความรู้สึกอยากทดลองทำตามกับวรรณกรรมเรื่องไหนก็ได้  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกับตัวอย่าง  ในขณะเดียวกันเป็นการเปิดโลกของนักอ่านให้กว้างขึ้น  ทำให้นักอ่านเห็นว่า แม้แต่ตัวของเขาเองก็มีสิทธิค้นหามุมมองใหม่ๆ ในการเสพย์วรรณกรรมได้เสมอ เป็นการสนับสนุนให้นักอ่านเป็นตัวของตัวเองในการอ่าน และเป็นการเปิดโลกการอ่านให้มีหลากหลายมุมมอง  ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการ “คิดต่อ”

การกระตุ้นให้คนอื่นมองเห็นมุมมองใหม่ๆ ในการอ่านชีวิตเป็นเรื่องที่นิธิทำอยู่เป็นประจำอยู่แล้วในการเขียนบทความเชิงสังคมมานุษยวิทยาของเขา  แต่การกระตุ้นให้คนมองเห็นมุมมองใหม่ๆ ในการอ่านวรรณกรรม โดยที่มีคนอื่นกระตุ้นไว้อยู่เดิม หรือครอบงำความคิดในการอ่านอยู่แล้วเป็นเรื่องทำได้ยาก แต่เขาก็สามารถทำได้ดี  และก่อผลสะเทือนไม่ต่อวรรณกรรมเพียงเล่มเดียวเท่านั้น  หากแต่ต่อวรรณกรรมเล่มอื่นๆ อีกด้วย  ถ้าคนอ่านจะ “คิดต่อ” และทดลองปฏิบัติตามที่เขาเสนอ

 

 

ชมัยภร แสงกระจ่าง: ผู้วิเคราะห์

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *