การบรรยายเรื่อง “แนวทางการประเมินคุณค่างานศิลปะ: กรณีศึกษารางวัลวรรณกรรมซีไรต์”

การบรรยายเรื่อง “แนวทางการประเมินคุณค่างานศิลปะ: กรณีศึกษารางวัลวรรณกรรมซีไรต์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ  เวศร์ภาดา

IMG_5365

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ  เวศร์ภาดากล่าวถึงหัวข้อที่จะนำเสนอในวันนี้ว่า  เหตุผลประการหนึ่งที่โครงการวิจัยฯ เชิญมาบรรยายในหัวข้อนี้  เพราะว่าโดยส่วนตัวมีประสบการณ์ในการเป็นทั้งกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลวรรณกรรมซีไรต์มานานแล้ว  จากหัวข้อดังกล่าวเห็นว่ามีประเด็นที่สำคัญจะกล่าวถึง 4 ประการคือ  หลักการในการตัดสิน  การให้ตัวอย่างทั้งนวนิยาย กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น เหตุผลที่งานชิ้นหนึ่งได้รางวัล  และ สรุปการประเมินคุณค่า

      ในช่วงต้น  อาจารย์ธเนศทบทวนผลงานที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมซีไรต์  ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีล่าสุด ดังนี้

 

ปี

เรื่อง

ประเภท

ปี

เรื่อง

ประเภท

2522

ลูกอีสาน: ลาว คำหอม

นวนิยาย

2523

เพียงความเคลื่อไหว: เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

กวีนิพนธ์

2524

ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง:   อัศศิริ  ธรรมโชติ

เรื่องสั้น

2525

คำพิพากษา: ชาติ  กอบจิตติ

นวนิยาย

2526

นาฏกรรมบนลานกว้าง:
คมทวน  คันธนู

กวีนิพนธ์

2527

ซอยเดียวกัน:
วานิช  จรุงกิจอนันต์

เรื่องสั้น

2528

ปูนปิดทอง: กฤษณา  อโศกสิน

นวนิยาย

2529

ปณิธานกวี:
อังคาร  กัลยาณพงศ์

กวีนิพนธ์

2530

ก่อกองทราย: ไพฑูรย์  ธัญญา

เรื่องสั้น

2531

ตลิ่งสูงซุงหนัก:  นิคม  รายยวา

นวนิยาย

2532

ใบไม้ที่หายไป:
จิระนันท์  พิตรปรีชา

กวีนิพนธ์

2533

อัญมณีแหงชีวิต:‘อัญชัน

เรื่องสั้น

2534

เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน: มาลา  คำจันทร์

นวนิยาย

2535

มือนั้นสีขาว: 
ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ

กวีนิพนธ์

2536

ครอบครัวกลางถนน: ศิลา  โคมฉาย

เรื่องสั้น

2537

เวลา: ชาติ  กอบจิตติ

นวนิยาย

2538

ม้าก้านกล้วย:
ไพวรินทร์  ขาวงาม

กวีนิพนธ์

2539

แผ่นดินอื่น:
กนกพงศ์   สงสมพันธุ์ 

เรื่องสั้น

2540

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน:
วินทร์ เลียววาริณ

นวนิยาย

2541

ในเวลา: ชาติ  กอบจิตติ

กวีนิพนธ์

2542

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน:
วินทร์  เลียววาริณ

เรื่องสั้น

2543

อมตะ:  วิมล  ไทรนิ่มนวล

นวนิยาย

2544

บ้านเก่า: โชคชัย  บัณฑิต

กวีนิพนธ์

2545

ความน่าจะเป็น:  ปราบดา  หยุ่น

เรื่องสั้น

2546

ช่างสำราญ:
เดือนวาด  พิมพ์วนา

นวนิยาย

2547

แม่น้ำรำลึก:  เรวัตร์  พันธุ์พิพัฒน์

กวีนิพนธ์

2548

เจ้าหงิญ:
บินหลา   สันกาลาคีรี

เรื่องสั้น

2549

ความสุขของกะทิ:
งามพรรณ  เวชชาชีวะ

นวนิยาย

2550

โลกในดวงตาข้าพเจ้า:
มนตรี  ศรียงค์

กวีนิพนธ์

2551

เราหลงลืมอะไรกันบางอย่าง:
วัชระ  สัจจะสารสิน

เรื่องสั้น

2552

ลับแล,  แก่งคอย:
อุทิศ  เหมะมูล

นวนิยาย

2553

ไม่มีหญิงสาวในบทกวี:
ซะการีย์ยา  อมตยา

กวีนิพนธ์

2554

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ:  จเด็จ  กำจรเดช

เรื่องสั้น

2555

คนแคระ:  วิภาศ  ศรีทอง

นวนิยาย

2556

หัวใจห้องที่ห้า:
อังคาร  จันทาทิพย์

กวีนิพนธ์

 

 

 

 

พร้อมทั้งเล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ว่า  เริ่มเข้ามาเป็นกรรมการครั้งแรกในปี 2534  โดยเป็นกรรมการคัดเลือกประมาณ 9 ปี  (2534-2541, 2543) ก่อนที่จะเป็นกรรมการตัดสินครั้งแรกในปี 2547 และเป็นต่อในปี 2548-2549, 2551-2552, 2554 และ 2556   เมื่อได้เป็นกรรมการเป็นเวลานานทำให้รู้สึกว่า  การตัดสินรางวัลวรรณกรรมเป็นกิจกรรมหนึ่งของการวิจารณ์  เพราะเมื่อจะต้องต่อสู้เพื่อปกป้อง (defend)ว่าจะเลือกให้รางวัลหนังสือเล่มใด จำเป็นต้องอ้างเหตุผลว่า  งานวรรณกรรมเล่มนี้มีจุดเด่น หรือมีลักษณะเด่นทางวรรณกรรมอย่างไรบ้าง  นอกจากนี้ การได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ประกอบกับได้มาเป็นกรรมการขณะอายุยังน้อย ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ว่าบุคคลที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการ ล้วนเป็นผู้ใหญ่และมีคุณภาพ  ทำให้ได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการอ้างเหตุผลในการเลือกวรรณกรรมเล่มใดเล่มหนึ่ง  ทั้งนี้  โดยส่วนตัวเห็นประโยชน์จากการได้เป็นกรรมการว่า  ได้อ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในการเป็นกรรมการคัดเลือกที่ภายใน 2 เดือนต้องอ่านหนังสือประมาณ 70 กว่าเล่ม  นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้เก็บข้อมูลด้านวรรณกรรม ซึ่งทำให้เห็นพัฒนาการวรรณกรรมปัจจุบันจากหนังสือที่ส่งเข้าประกวดในแต่ละปี  ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับประสบการณ์ในการคิดแลกเปลี่ยนมุมมองการวิจารณ์กับคนอื่น  อาทิ  การเป็นกรรมการตัดสินงานวรรณกรรมซีไรต์ปีล่าสุด (2556) ได้เห็นว่ากวี (ที่ร่วมเป็นกรรมการ) มีวิธีการมองงานกวีนิพนธ์อย่างไร  ในขณะที่นักวิชาการด้านวรรณกรรมจะมีมุมมองอีกแบบหนึ่ง

            นอกจากนี้  อาจารย์ธเนศอธิบายถึงโครงสร้างและบริบทของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำประเทศไทย (ซีไรต์)  ว่า มีเจ้าภาพ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำคัญ 3 องค์กร คือ โรงแรมโอเรียนเต็ล  สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  และ  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อการเลือกกรรมการเข้ามาคัดเลือกและตัดสินโดยเฉพาะนายกสมาคมฯ ทั้งสอง  เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะเลือกกรรมการแบบใดเข้ามา   ส่วนประเภทหนังสือที่ส่งเข้าประกวดมี 3 ประเภท คือ  นวนิยาย  กวีนิพนธ์ และเรื่องสั้น  สำหรับการคัดเลือกกรรมการในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน  แต่ต่อมาเริ่มมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น  โดยกำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกมี 7 คน  ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมภาษาและหนังสือ 2  คน  ตัวแทนสมาคมนักเขียน  2  คน  และผู้ทรงคุณวุฒิ 3  คน  อันได้แก่  นักวิชาการวรรณกรรม และนักวิจารณ์   และคณะกรรมการตัดสินมี 5 คน  ประกอบด้วยนายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ  นายกสมาคมนักเขียนฯ  ประธานคณะกรรมการคัดเลือก  นักวิชาการ  และ กวีหรือนักเขียน

            สำหรับคำถามที่มักจะมีผู้ถามบ่อยๆ คือ  กรรมการควรหลากหลายหรือไม่ กรรมการเป็นนักอ่านทั่วไปได้หรือไม่  และกรรมการต้องเป็นนักวิจารณ์ หรือ นักวิชาการทางวรรณคดีหรือวรรณกรรมหรือไม่  ซึ่งกรรมการที่ได้รับการสรรหาให้มาทำหน้าที่นี้จำเป็นต้องทำหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อปกป้องความคิดในการเลือกหนังสือที่ตนเห็นว่ามีค่าควรที่จะได้รับรางวัล

            อาจารย์ธเนศเห็นว่าการตัดสินรางวัลวรรณกรรมเป็นรสนิยมของกรรมการตัดสินแต่ละคน  เพราะในขณะที่ต่อสู้เพื่อปกป้องหนังสือบางเล่มที่สนใจนั้นแทบจะไม่ได้อ้างทฤษฎีใดๆ เลย  ในการตัดสินใจเลือกครั้งแรกเป็นเรื่องของรสนิยมของกรรมการ  เมื่ออยู่ในบริบทที่กรรมการมีความหลากหลาย อัตวิสัยร่วมจึงเป็นข้อเรียกร้องว่าควรมีร่วมกัน  เพราะอย่างน้อยก็เชื่อว่าวิจารณญาณของกรรมการทั้ง 11 คนก็ไม่น่าจะแย่  และต้องสามารถอธิบายเหตุผลในการเลือกหรือไม่เลือกได้   ทั้งนี้ อาจารย์ธเนศชี้แจงว่าในการตัดสินรางวัลเป็นการเลือกหนังสือที่ดีที่สุดในจำนวนที่ส่งเข้ามาแต่ละครั้ง  และมีอยู่หลายครั้งก่อนที่ตนเองจะเข้ามาเป็นกรรมการชุดตัดสิน จะได้ยินกรรมการตัดสินหลายคนเริ่มบ่นว่า “เลือกอะไรเข้ามา ไม่เห็นดีเลย”  ภายหลังเมื่อได้เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งต้องเป็นกรรมการตัดสินโดยตำแหน่ง ก็ต้องยืนยันว่าที่เลือกมานั้นดีที่สุดเท่าที่มีให้เลือกแล้ว  คำถามว่า “มีแค่นี้จริงๆ หรือ” ถูกถามทุกปี  เนื่องจากคณะกรรมการตัดสินไม่ได้อ่านหนังสือที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดเหมือนคณะกรรมการคัดเลือก  จนกระทั่ง เมื่อได้รับมอบหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินก็ถามคำถามนี้กับประธานกรรมการคัดเลือกเช่นกัน  ในที่สุดก็ต้องทำใจว่าต้องเลือกในจำนวนที่ดีที่สุด 1 เล่มจากที่คณะกรรมการคัดเลือกเลือกมา

            เกณฑ์การคัดเลือกและการตัดสินจะใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณา  ประธานเป็นผู้กล่าวถึงเกณฑ์ ซึ่งระบุไว้ค่อนข้างกว้างมาก  คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คุณค่าด้านเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม  และคุณค่าด้านวรรณศิลป์  เกณฑ์กว้างๆ ที่กำหนดไว้นี้มีลักษณะอัตวิสัยซ่อนอยู่  เช่น  ใครชอบลักษณะทางวรรณศิลป์แบบใด  หรือว่า ใครชอบเนื้อหาสร้างสรรค์สังคมแบบใด  ก็จะหยิบยกขึ้นมาอธิบาย  แต่ในที่สุดแล้ว  การตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ เกณฑ์เรื่องคุณค่าด้านเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม  และคุณค่าด้านวรรณศิลป์  ยังไม่สำคัญเท่ากับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์     ทั้งนี้   มุมมองในการคัดเลือกกับการตัดสิน  และขั้นตอนการคัดเลือกและการตัดสินจะแตกต่างกันบ้าง  เช่น การคัดเลือกผลงานจะต้องยอมรับว่าผลงานที่คัดเลือกจากจำนวน 70 หรือ 90 กว่าเล่มที่ส่งเข้ามา  กรรมการเลือกผลงานที่ไม่ได้ขี้เหร่  เลือกงานที่มีแนวเรื่องที่หลากหลาย  และเข้าข่ายใน 3 ข้อที่ตั้งไว้เพื่อเสนอให้คณะกรรมการตัดสิน   ภายหลังเริ่มมีเกณฑ์ที่ไม่ได้ระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  แต่เหมือนรู้กันเองว่าเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน  ด้วยเหตุนี้  ในการเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกจึงไม่เข้มงวดมากนัก  แต่เมื่อเข้าไปสู่คณะกรรมการตัดสินอาจจะเกิดคำถามที่ว่า  เรื่องนี้เข้ามาได้อย่างไร  จึงต้องชี้แจงว่านี่เป็นการส่งเสริมการอ่านด้วย

            ในฐานะที่เป็นกรรมการคัดเลือก  อาจารย์ธเนศยืนยันว่าอ่านหนังสือทุกเล่มที่ส่งเข้าประกวด  แต่มีวิธีการอ่าน เช่นกวีนิพนธ์ก็มีวิธีที่มาจากประสบการณ์  พื้นความรู้ด้านกวีนิพนธ์จริงๆ บางเล่มเปิดอ่านได้ 3 บทก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว  ที่ว่าไม่ไหวนั้น หนึ่ง ด้านเสียง  เพราะว่ากวีนิพนธ์  เสียงต้องมาก่อน  สอง ด้านคำ  พบว่าผลงานบางชิ้นมีคำหยาบก็ต้องคัดออกไป  ในการอ่านงานกวีนิพนธ์ไม่ได้อ่านทั้งเล่ม  อาจจะอ่านครึ่งเล่มก็พอแล้ว  เล่มที่อ่านมากที่สุด คือ เล่มที่ต้องการจะต้องไปต่อสู้ปกป้องให้   สำหรับการตัดสินจะมีขั้นตอนที่เข้มงวดมาก  ในการตัดสินมักจะมีผู้ถามว่าได้ใช้ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์เพื่ออภิปรายหรือไม่  ตอบว่าใช้  กรรมการที่เป็นนักวิชาการจะมีอ้างทฤษฎี  แต่ไม่ได้อ้างทฤษฎีมาทั้งดุ้น   อาจจะมียกขึ้นมาเป็นคำประเมินค่าในเชิงทฤษฎี  เช่น  เป็น paradox  เป็น parallel หรืออะไรก็ตามที่จะยกขึ้นมา  ซึ่งมิใช่ยกขึ้นมาให้ดูหรู  แต่ยกขึ้นมาเพื่อที่จะจัดระเบียบความคิดของกรรมการคนอื่นด้วย  เพราะกรรมการบางคนเป็นกวี  เป็นนักเขียนที่บางครั้งก็จะยืนยันว่าไม่ชอบเรื่องนี้เลย และจะแสดงความเห็นว่า  “คำจืดมาก” หรือว่า “รุงรังมาก” หรือว่า “รุงรังลิเก” ในที่สุดก็มาจบที่การประเมินคุณค่าว่า  ผลงานชิ้นนี้ส่งผลประการใดต่อความคิด  มีประเด็น  และมีจุดใดบ้าง   และมีคำถามอีกข้อหนึ่งคือ ในการตัดสินว่าคำนึงถึงผู้อ่านหรือไม่  อาจารย์ธเนศยืนยันว่าไม่ได้คิด  แต่เลือกเล่มที่ดีที่สุดในแง่ที่สามารถต่อสู้เพื่อปกป้องงานที่คัดเลือกได้ในเชิงวรรณคดีวิจารณ์ และในวงวิชาการ    แม้จะมีคนพูดว่า วรรณกรรมซีไรต์อ่านยาก  ในแง่นี้  อาจารย์ธเนศเห็นว่ามิใช่ความรับผิดชอบของกรรมการ  

            อย่างไรก็ดี ในขณะที่เป็นกรรมการและต้องต่อสู้เพื่อปกป้องผลงานที่เลือกจะนึกถึงองค์ประกอบของงาน  เช่น วิธีการเล่าเรื่อง  โดยเฉพาะนวนิยาย  เพราะมีเนื้อเรื่องที่จะดูว่าจะพูดจะเล่าอย่างไรที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความอารมณ์คล้อยตาม เกิดความสดใหม่ขึ้นมา  และเนื้อเรื่องมีความเป็นสากลพอที่จะต่อสู้ปกป้องได้ว่า ไม่ได้เฉพาะเหตุการณ์  อย่างการตัดสินรางวัลในปีล่าสุด (2556) มีกวีการเมืองเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองที่มีเนื้อหาขึ้นกับสถานการณ์การเมือง  ก็จำเป็นต้องตัดงานในลักษณะนี้ออกหมด  เพราะว่าเป็นเรื่องเฉพาะกาลจริงๆ   การตัดสินรางวัลจึงจะต้องพิจารณาเรื่องความเป็นสากลที่กรรมการเดาได้ว่าวรรณกรรมเล่มนี้จะอยู่คงทน   ผลงานที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมซีไรต์หลายเรื่องได้พิสูจน์ตัวเองแล้วเช่น คำพิพากษา ตลิ่งสูงซุงหนัก   สรุปได้ว่ากรรมการตัดสินโดยใช้หลักประเมินค่าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และการประเมินค่าดังกล่าวก็มาจากการประสบการณ์การอ่านจริงๆ

            อาจารย์ธเนศให้ความเห็นกรณีของนักข่าววรรณกรรมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทำการบ้านมาก่อนที่จะทำข่าว  กล่าวคือไม่อ่านหนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ทั้งก่อนและหลังจากที่ทำข่าวแล้ว   และนักข่าวส่วนใหญ่มักชอบถามกรรมการว่า  งานวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลมีงานเล่มอื่นที่เป็นคู่แข่งหรือไม่  โดยอยากให้ระบุเล่มด้วย  ซึ่งโดยมารยาทกรรมการจะไม่กล่าวถึงในประเด็นนี้  แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีก็ตาม

            นอกจากนี้  อาจารย์ธเนศยังเล่าประสบการณ์ในฐานะกรรมการตัดสินว่า  แม้งานวรรณกรรมได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลจะไม่ใช่ผลงานที่ตนเลือก  แต่ก็ต้องเคารพคำตัดสินของกรรมการเสียงส่วนใหญ่  และเตรียมที่จะตอบคำถามเพื่อปกป้องงานวรรณกรรมชิ้นนั้นว่ามีคุณค่าอย่างไร  เช่น ในการแถลงข่าวประกาศผลรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ปีล่าสุด คือ หัวใจห้องที่ห้า  โดยชี้ให้เห็นความเด่นของงานวรรณกรรมเรื่องนี้ว่ามีความโดดเด่นในด้าน parallel  paradox และ fusion  ซึ่งอธิบายว่า

จังหวะของบทกวีเล่มนี้เป็นจังหวะเสียงที่ปรุงใหม่ผสมผสานแบบ fusion แต่ละวรรคในหนึ่งบทมีหลายจังหวะ มีตั้งแต่จังหวะกลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด กลอนเก้า  บางวรรคมีลักษณะคร่อมคำคร่อมจังหวะ  บางวรรคอ่านเหมือนร้อยแก้วธรรมดา  เป็นจังหวะเสียงที่ไม่คุ้นเคยในความคุ้นเคย  นอกจากนี้  บทกวีหนึ่งบทมักจบลงด้วยกลอนบทครึ่ง คือ 6 วรรคถามว่าผู้แต่งไม่รู้หรือว่าเขาแต่งคร่อมคำคร่อมจังหวะ เขาทำให้จังหวะกลอนผิดจากขนบ  กลอนบทครึ่งเขา ไม่แต่งกัน  คิดว่าผู้แต่งรู้ และผู้แต่งตั้งใจ เพราะผู้แต่ง  ทำอย่างสม่ำเสมอทั้งเล่ม  เช่นนี้ถือเป็นศิลปะการทำให้แปลก (Defamiliarization) คือตั้งใจสร้างความไม่คุ้นเคยในความคุ้นเคยจังหวะกลอนที่แปลกเช่นนี้ส่งผลทางวรรณศิลป์อย่างไร 1) สร้างความฉงนฉงาย กระตุกกระตุ้นให้ผู้อ่านต้องสะดุดหยุด  ไม่เลื่อนไหลไปตามลีลากลอนที่เคยคุ้น เพื่อให้ถอยตัวเองออกมาครุ่นคิดพินิจนึก 2) จังหวะเสียงที่หลากหลายในกลอนแต่ละบทอาจถือเป็นภาพสะท้อนหรือภาพแทนของเสียงผู้คนอันหลากหลาย ทั้งแตกแยก ทั้งแตกต่างทางมิติสังคม มิติวัฒนธรรม ซึ่งขับเคี่ยวกันในสังคมร่วมสมัยปัจจุบัน

            ประเด็นต่อไป  อาจารย์ธเนศกล่าวถึงวิธีเขียนคำประกาศผลงานที่ได้รับรางวัล  กับคำแถลงวรรณกรรมเข้ารอบสุดท้าย (finalists) ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี  แต่เพิ่งเริ่มในสมัยที่อาจารย์ธเนศเป็นประธานคัดเลือกเสนอให้เขียนเป็นลายลักษณอักษร   เพราะว่าเวลาที่กรรมการคัดเลือกต้องขึ้นมาแถลงข่าว จะได้แจกให้นักข่าวลงข่าวตามที่ได้เขียนไว้  ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างคำประกาศของนวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย ของ อุทิศ เหมะมูล  โดยนำคำประเมินค่ากรรมการตัดสินแต่ละคนในระหว่างที่ถกเถียงกัน  และกรรมการทุกคนจะช่วยกันเรียบเรียงจนได้คำประกาศว่า   

เสนอมิติอันซับซ้อนของตัวตนมนุษย์ที่แยกไม่ออกจากรากเหง้า  ชาติพันธุ์ ชุมชน  ความเชื่อ และ    เรื่องเล่า    ผู้เขียนเล่าเรื่องชีวิตมนุษย์ที่ต้องเผชิญความคาดหวังซึ่งไม่อาจต้านทานได้และพยายามดิ้นรนหาทางออกผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องอันแยบยล สร้างตัวละครที่มีเลือดเนื้อและอารมณ์ราวกับมีตัวตนจริง สร้างฉากและบรรยากาศได้อย่างมีชีวิตชีวา  และใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง  แสดงจินตภาพกระจ่างและงดงาม

แต่คำแถลงวรรณกรรมเข้ารอบสุดท้าย จะแบ่งงานให้กรรมการแต่ละคนรับผิดชอบเขียนแต่ละเล่มแยกกันไป และจะเป็นอิสระต่อกัน  ยกตัวอย่างคำแถลงเรื่อง  หัวใจห้องที่ห้า ว่า

นำเสนอเรื่องเล่าโดยจำลองวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ การตั้งชุมชนสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย คนไร้บ้าน คนพลัดถิ่น คนกลุ่มน้อย โดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งล้วนระทมทุกข์ นำเสนอการปะทะสังสรรค์ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมผู้แต่งมองโลกและปรากฏการณ์ด้วยมุมมองที่ย้อนแย้ง ในภาคแรก “หัวใจห้องที่ห้า” และภาคหลัง  “นิทานเดินทาง” ภาพคู่ขนานของการว่ายวนต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์ ท่วงทำนองการประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์ที่หลากหลายและมีลีลาเฉพาะตนความโดดเด่นอันเป็นคุณค่าสำคัญของกวีนิพนธ์เล่มนี้ซึ่งจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การจินตภาพอันงดงามภายใต้ฉันทลักษณ์เรียบง่าย ให้ปรากฏอยู่ภายในจิตวิญญาณของผู้เขียนส่งมายังผู้อ่านทุกขณะที่ชำแรกสายตาลงสู่รายละเอียดของเนื้อหาให้รู้สึกมีความสุข เบิกบาน คล้อยตามวรรณศิลป์ที่งดงาม สร้างสรรค์  ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง จังหวะ ลีลา และตัวอักษรที่เบาสบายแต่ลึกซึ้งในทุกอณูวลี สามารถสนองคุณค่าทางสุนทรียะได้อย่างสมบูรณ์บางขณะของฉันทลักษณ์แสดงความอ่อนโยน  บางขณะราวปรากฏซุ้มเสียงของสายฝนพรำฉ่ำชื่นกระทบหลังคาส่งมาบาดลึกคลี่ขั้วหัวใจให้ไหวเต้นตาม  บางขณะอ่อนโยนอ่อนไหวดุจสายหมอกยามอรุณรุ่งของเหมันต ฤดู  บางขณะมีความเข้มข้นทางอารมณ์ที่เป็นเอกภาพ

            ทั้งนี้  อาจารย์ธเนศเห็นว่าคำแถลงข้างต้นมีลักษณะแฝงมายาคติและเข้าใจเรื่องวรรณศิลป์คลาดเคลื่อนอย่างมาก  เช่น ข้อเขียนที่ว่า “ความโดดเด่นอันเป็นคุณค่าสำคัญของกวีนิพนธ์เล่มนี้ซึ่งจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การจินตภาพอันงดงามภายใต้ฉันทลักษณ์เรียบง่ายให้ปรากฏอยู่ภายในจิตวิญญาณของผู้เขียนส่งมายังผู้อ่าน”  นำคำว่า “จินตภาพ”  กับ “ฉันทลักษณ์”  มาใช้คู่กัน  และยังมี “จิตวิญญาณของผู้อ่าน” ด้วย  ทำให้นึกไม่ออกว่า ภายใต้ฉันทลักษณ์เรียบง่ายที่ปรากฏในจิตวิญญาณของผู้อ่านนั้น  กวีมีกระบวนการทำงานอย่างไร   

            “ทุกขณะที่ชำแรกสายตาลงสู่รายละเอียดของเนื้อหาให้รู้สึกมีความสุข เบิกบาน คล้อยตามวรรณศิลป์ที่งดงาม สร้างสรรค์  ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง จังหวะ ลีลา และตัวอักษรที่เบาสบายแต่ลึกซึ้งในทุกอณูวลี สามารถสนองคุณค่าทางสุนทรียะได้อย่างสมบูรณ์”   “ตัวอักษรที่เบาสบาย” หมายความว่าอย่างไร  และเขียนอย่างไร 

            “บางขณะของฉันทลักษณ์แสดงความอ่อนโยน  บางขณะราวปรากฏซุ้มเสียงของสายฝนพรำฉ่ำชื่นกระทบหลังคาส่งมาบาดลึกคลี่ขั้วหัวใจให้ไหวเต้นตาม  บางขณะอ่อนโยนอ่อนไหวดุจสายหมอกยามอรุณรุ่งของเหมันตฤดู  บางขณะมีความเข้มข้นทางอารมณ์ที่เป็นเอกภาพ” ข้อความนี้ต้องการจะกล่าวถึงฉันทลักษณ์และลีลาฉันทลักษณ์  แต่นึกไม่ออกว่าฉันทลักษณ์ที่กล่าวถึงเป็นฉันทลักษณ์แบบใดที่มีลักษณะตามที่ขยายความไว้ว่า “ฉันทลักษณ์แสดงความอ่อนโยน”  “ปรากฏซุ้มเสียงของสายฝนพรำฉ่ำชื่นกระทบหลังคา”  “ส่งมาบาดลึกคลี่ขั้วหัวใจให้ไหวเต้นตาม”  “บางขณะอ่อนโยนอ่อนไหวดุจสายหมอก”  และ  “บางขณะอ่อนโยนอ่อนไหวดุจสายหมอกยามอรุณรุ่งของเหมันตฤดู  บางขณะมีความเข้มข้นทางอารมณ์ที่เป็นเอกภาพ”  ข้อความที่บรรยายไว้ทำให้เห็นว่า  ผู้เขียนแยกไม่ออกระหว่าง สุนทรียอารมณ์ กับ ตัวฉันทลักษณ์  นี่เป็นตัวอย่างของการประเมินค่า 

            การวิจารณ์จะต้องมีการวิเคราะห์กับตีความ  บางทฤษฎีจะพิจารณาเพียงเท่านี้  แต่ในการตัดสินรางวัล  อาจารย์ธเนศยืนยันว่าจะต้องประเมินค่าด้วย  ซึ่งกรรมการมักจะถกเถียงกันโดยอาศัยการประเมินค่าว่า ดีตรงไหน  ดีอย่างไร  และจะไม่พูดอะไรที่คลุมเครือเหมือนตัวอย่างของคำแถลงข้างต้น  ถ้าเผยแพร่ออกไปกรรมการจะถูกตั้งคำถามอย่างแน่นอนว่า  กรรมการอ่านหนังสือเป็นหรือไม่ 

            อาจารย์ธเนศทิ้งท้ายด้วยประเด็นการวิจารณ์ข้ามสื่อไปยังสื่อออนไลน์  เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานโครงการฯ นี้ด้วยว่า สื่อออนไลน์ควรให้การสนับสนุน  เพราะมีคนจำนวนมากที่วิจารณ์ผ่านสื่อนี้  แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่มีความรู้  ขณะเดียวกันผู้ที่มีความรู้ไม่ได้เขียนแล้ว  เนื่องจากหมดเวลาไปกับภารกิจการเรียนการสอน การบริหาร การประกันคุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัย   อาจารย์ธเนศยอมรับว่าแม้จะไม่ค่อยมีเวลาที่จะเขียนวิจารณ์มากนัก  แต่ยังเชื่อว่าการวิจารณ์เป็นการฝึกสมอง ยกระดับรสนิยมของตนว่า  เราดูละครเรื่องหนึ่งแล้วคิดอย่างไร  เราอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งแล้วเราคิดอย่างไร  และจะแสดงออกอย่างไร   จึงขอบคุณเฟซบุ๊กและขอบคุณสื่อที่สามารถทำให้เขียนได้เร็ว  โดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบของบทความที่ต้องรอลงตีพิมพ์  ดังนั้น  ถ้าว่างเมื่อดูละครจบเรื่องหนึ่งหรืออ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งก็จะเขียนวิจารณ์  ซึ่งอาจนำไปสู่การทำวิจัยได้ด้วย  ฉะนั้นเมื่อมีเวลาว่างก็จะเขียนวิจารณ์สั้นๆ ประมาณ 3 หน้า A4 บันทึกลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว 2(ธเนศ  เวศร์ภาดา) เผยแพร่

“ค่ายการวิจารณ์ศิลปะ” วันที่ 2 พฤศจิกายน 2556 อิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *