วงโปรมูสิกา กับการแสวงหาจิตวิญญาณของบาค

วงโปรมูสิกา กับการแสวงหาจิตวิญญาณของบาค

10259809_703239396384815_9214405575983809645_n

ชื่อของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach, 1685-1750: คีตกวีชาวเยอรมัน) ในวงการดนตรีคลาสสิกย่อมไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะท่านผู้นี้คือบรมครูแห่งยุคบารอค ซึ่งสรรค์สร้างผลงานดนตรีไว้มากกว่าหนึ่งพันเพลง (เท่าที่ค้นพบ) ผลงานที่โดดเด่นของบาคคือบทเพลงทางศาสนา และบทเพลงสำหรับเครื่องตระกูล keyboard ทั้งหลาย ผลงานของบาคถือว่าเป็นเอกด้านการประสานหลายแนว (counterpoint) ทั้งยังถือเป็นคัมภีร์ของการแต่งเพลงและประสานเสียงแบบ counterpoint และเป็นดุจตำราซึ่งนักคีย์บอร์ดทั้งหลาย เช่น เปียโน ฮาร์พสิคอร์ด และออร์แกนนำไปใช้ฝึกฝนได้

แต่ว่านักฟังบางส่วนอาจมีอาการ “กลัวบาค” เนื่องจากมีความหวาดเกรงต่อความยากในเพลงของบาค เนื่องด้วยอาจจะติดภาพของเพลงศาสนาที่เคร่งขรึม เพลงคีย์บอร์ดที่ออกแนวหม่นปนลี้ลับ และความซับซ้อนของแนวทำนอง counterpoint ที่มีลูกล้อลูกขัดมาก แต่ที่จริงแล้วบาคแต่งเพลงไว้หลากหลายประเภท ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมากที่ผู้รักดนตรีเข้าถึงได้ง่าย การแสดงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ของวงโปรมูสิกา (Pro Musica Orchestra) เป็นการชี้ให้เห็นว่าเพลงของบาคก็เป็นเพลงที่รื่นรมย์ ฟังสนุก ไม่ได้เคร่งขรึมหรือฟังยากแต่อย่างใด ด้วยการเลือกบทเพลงซึ่งเป็นผลงานของบาคล้วนๆ ที่ถือว่าเป็น popular music ในศตวรรษที่ 18 มาบรรเลง

การแสดงครั้งนี้นำวงโดยเลโอ ฟิลลิปส์ (Leo Phillips) นักไวโอลินชาวอังกฤษ ซึ่งมีผลงานทางด้านดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมานานกว่าสิบปี  เพลงแรกที่นำเสนอคือ Concerto for 2 Violins in D minor, BWV 1043 เป็นเพลงที่คอไวโอลินรู้จักดีเป็นพิเศษ เพราะนักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างก็ได้บันทึกเสียงบทเพลงนี้ไว้ให้เราได้รับฟัง ไม่ว่าจะเป็น Jascha Heifetz กับ Erick Friedman; David Oistrakh กับ Igor Oistrakh;David Oistrakh กับ Yehudi Menuhin;Alberto Lysy กับ Yehudi Menuhin;Itzhak Perlman กับ Pinchas Zukerman เป็นต้น บทเพลงนี้มีความพิเศษคือเรียกร้องความสามารถของนักไวโอลินสองคนในระดับที่ใกล้เคียงกัน เพราะทั้งสองแนวต้องเล่นท่วงทำนองที่มีลูกล้อลูกขัดกันตลอดเวลาโดยไม่มีใครเป็นรองใคร   ในการบรรเลงครั้งนี้ไวโอลินแนวหนึ่งรับหน้าที่โดยเลโอ ฟิลลิปส์ และไวโอลินแนวสองโดยพิชญาภา เหลืองทวีกิจ นักไวโอลินรุ่นเยาว์ที่มีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา ในกระบวนแรก Vivaceเริ่มต้นด้วยเสียงกระหึ่มของวงทั้งวง โดยเฉพาะกลุ่มไวโอลินหนึ่งและสอง จากนั้นค่อยๆ ผลัดกันนำวงโดยผู้แสดงเดี่ยวทั้งสอง กระบวนที่สอง Largo ma nontantoมีท่วงทำนองที่นุ่มนวล ฟังสบาย และกระบวนสุดท้าย Allegroมีท่วงทำนองที่รวดเร็ว รุกเร้า และน่าตื่นเต้น  เท่าที่สังเกตพบว่าเสียงไวโอลินของฟิลลิปส์จะแผดกร้าวกว่าพิชญาภา ซึ่งเล่นด้วยลีลาที่อ่อนหวาน โดยที่ฟิลลิปส์จะเล่นนำแล้วพิชญาภาจะเล่นตามให้สอดประสานกัน ทั้งนี้ผมยังสังเกตได้ว่าพิชญาภาเธอแทบไม่มองโน้ตเลย แสดงว่าเธอท่องโน้ตมาจนขึ้นใจแล้ว (ยกเว้นในกระบวนที่สามซึ่งมีทำนองรวดเร็วและต้องอาศัยความแม่นยำ เธอจึงต้องชำเลืองดูโน้ตเป็นระยะๆ) และเล่นตามจังหวะที่ฟิลลิปส์วางเป็นแนวไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะต่างสไตล์กันแต่ก็ดูเข้ากันได้ดี ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้ง  เธอหันไวโอลินของเธอมาทางฟิลลิปส์เพื่อให้เสียงกลืนเข้ากับเสียงซอของผู้อาวุโส  เธอฉายแววให้เห็นแล้วว่าจะพัฒนาเป็นนักดนตรีประเภทเชมเบอร์ที่มีความเข้าใจทางดนตรีอย่างลึกซึ้งได้  ในส่วนของวงออร์เคสตราก็บรรเลงได้ดี  มีส่วนเสริมให้การบรรเลงมีความไพเราะสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

บทเพลงต่อมาคือ Concerto for Oboe and Violin in C minor, BWV 1060 บรรเลงโดยดำริห์ บรรณวิทยกิจ และทัศนา นาควัชระ คณบดีและรองคณบดีของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งแม้จะมีภารกิจมากมายทั้งงานสอนและงานบริหารแต่ทั้งคู่ก็ยังมีผลงานการบรรเลงอยู่อย่างสม่ำเสมอ  (ผู้บริหารสถาบันอื่นๆ น่าจะผละหนีจากการเซ็นแฟ้มออกมาเล่นดนตรีในระดับสาธารณะบ้าง!) ในกระบวนแรก Allegroมีท่วงทำนองที่ฟังออกหม่นเล็กน้อยด้วยบันไดเสียง minorซึ่งสลับมาเป็น major บ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็มีท่วงทำนองที่ฟังง่าย โอโบมีน้ำเสียงที่ไพเราะเข้ากันได้ดีกับไวโอลิน กระบวนที่สอง Adagioแม้มีจังหวะค่อนข้างช้า แต่ไวโอลินและโอโบก็มีลีลาที่ลื่นไหลไม่หยุดนิ่ง ฟังค่อนข้างสบาย ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย มาถึงกระบวนสุดท้าย Allegroถือว่าเป็นช่วงอวดฝีมือและกลเม็ดเด็ดพรายในการบรรเลง โดยเฉพาะไวโอลินที่มีจังหวะโชว์เทคนิคยากๆ และหลากหลายอยู่บ่อยครั้ง ส่วนโอโบก็เล่น counterpoint กับไวโอลินได้อย่างสนุกสนานน่าฟัง สังเกตได้ว่าลักษณะการเล่นของทัศนาจะมีความแตกต่างจากการเล่นของฟิลลิปส์ ทัศนาจะเล่นอย่างชัดเจนทุกโน้ต แต่จะไม่ทึ้งหรือเน้นตรงนั้นตรงนี้มากนัก อีกทั้งยังไม่เน้นการเล่นสั่นนิ้วที่ทำให้เสียงสั่นไหว (vibrato)แต่จะเล่นแบบตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการเล่นไวโอลินในยุคบารอค

ในการบรรเลงครึ่งหลัง ได้นำเสนอบทเพลงที่เป็นที่นิยมมากชุดหนึ่งของบาค นั่นคือบรันเดนบวร์ก คอนแชร์โต (Brandenburg Concerti) ซึ่งบาคแต่งและรวบรวมเพื่อนำขึ้นแสดงต่อเจ้าชายแห่งแคว้นบรันเดนบวร์ก ในปี 1721 โดยเป็นเพลงลักษณะ concerto grosso หรือคอนแชร์โตสำหรับกลุ่มเครื่องดนตรีประชันกับวง บทที่เลือกมาบรรเลงได้แก่บทที่ 3 และ 4 โดยในบทที่ 3 Brandenburg Concerto No.3 in G major, BWV 1048 มีลักษณะเป็น concerto ของวงออร์เคสตราทั้งวง โดยแต่ละกลุ่มก็ได้รับบทบาทที่โดดเด่นไม่น้อยหน้ากัน ทั้งกลุ่มไวโอลิน กลุ่มวิโอลา กลุ่มเชลโล และกลุ่ม basso continuo ซึ่งได้แก่เบสและฮาร์พสิคอร์ด  กระบวนแรก Allegro moderato มีทำนองที่ไพเราะ ฟังสบาย แต่ละกลุ่มต่างก็มีบทบาทที่โดดเด่น แม้แต่ในกลุ่มตัวเองก็ยังเล่นเป็น counterpoint กันเองเลยทีเดียว สังเกตได้ง่ายในกลุ่มไวโอลินและวิโอลา ซึ่งมีกลุ่มละ 3 ตัว ผู้เล่นแต่ละคนก็ผลัดกันเล่นบทหลักบทรอง  ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มไวโอลินที่เล่นได้ดีแล้ว กลุ่มวิโอลาก็เล่นได้ดีมากเช่นกัน สุ้มเสียงมีความหนักแน่น สอดประสานกันในกลุ่มได้เป็นอย่างดี และมีบทบาทไม่ด้อยไปกว่าไวโอลินเลย ในกระบวนที่สอง Adagioเป็นการเล่นไวโอลินโซโลสั้นๆ เพียงสองคอร์ด แล้วเข้าสู่กระบวนสุดท้าย Allegroทันทีด้วยทำนองที่รวดเร็วและตื่นเต้น ซึ่งก็บรรเลงได้อย่างไพเราะประทับใจ กลุ่มวิโอลาจะมีบทบาทเด่นมากเช่นเดียวกับไวโอลิน สังเกตได้ว่า เดวิด อับราฮัมยัน (David Abrahamyan) หัวหน้ากลุ่มวิโอลาชาวสเปน จะคอยชำเลืองมองมาทางเลโอ ฟิลลิปส์ และคอยสบตากับมือวิโอลาในกลุ่มของตนตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและการฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของนักดนตรีที่ดีและเป็นผู้นำที่ดีให้แก่กลุ่มของตน

เพลงสุดท้ายของรายการคือ Brandenburg Concerto No.4 in G major, BWV 1049 เป็นการเดี่ยวของไวโอลิน 1 คัน และฟลูต 2 เลา (เครื่องดนตรีดั้งเดิมจะใช้ recorder หรือขลุ่ยฝรั่ง) บรรเลงโดยเลโอ ฟิลลิปส์ ร่วมกับวรพล กาญจน์วีระโยธิน และอารยา กุลนพฤกษ์ กระบวนแรก Allegroมีท่วงทำนองที่กึ่งช้ากึ่งเร็ว ฟลูตสองเลาเล่นทำนองที่อ่อนหวานไพเราะ มีทั้งเล่นประสานเสียงและเล่น counterpoint กัน ด้านไวโอลินเดี่ยวก็สามารถเข้ากับฟลูตทั้งสองได้อย่างพอเหมาะพอดี ส่วนของวงออร์เคสตราก็เสริมความหนักแน่นให้กับเครื่องเดี่ยวได้อย่างไพเราะ ส่วนกระบวนที่สอง Andante ทำนองจะเปลี่ยนมาเป็นแนวหม่น แม้ฟังดูเศร้าสร้อย แต่ก็มีลีลาที่พิสดารสำหรับอวดฝีมือในทางฟลูตมาก และกระบวนสุดท้าย Prestoเริ่มด้วยการเล่น counterpoint ของกลุ่มเครื่องดนตรีต่างๆ ไล่กันมาจนถึงเครื่องเดี่ยว ซึ่งทำได้อย่างไพเราะงดงาม ไวโอลินและฟลูตต่างก็ได้โชว์เทคนิคการบรรเลงที่หลากหลาย โดยเฉพาะไวโอลินมีบางช่วงที่เป็นการเล่นด้วยเทคนิคขั้นสูง ชวนให้นึกถึงเพลงเดี่ยวไวโอลินของซาราซาเต้ (Pablo de Sarasate,1844-1908: นักไวโอลินชาวสเปน) ซึ่งเลโล ฟิลลิปส์ก็สามารถเล่นได้อย่างสบาย จบท้ายคอนเสิร์ตด้วยเพลงแถมที่นักฟังรู้จักกันดีอีกเพลงหนึ่งของบาค นั่นคือ Air from Orchestral Suite No.3 in D major, BWV 1068 หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า Air on G String (อันเป็นบทที่ดัดแปลงมาสำหรับเดี่ยวไวโอลิน) ซึ่งบรรเลงได้อย่างไพเราะจับใจ เรียกเสียงปรบมือชื่นชมได้อย่างกึกก้อง

ภาพรวมของการบรรเลงนั้น ทำได้อย่างไพเราะน่าประทับใจ นักดนตรีแต่ละคนดูท่าทางมีความสุขในการบรรเลง ซึ่งสังเกตได้จากอากัปกิริยาที่แสดงออกมาบนเวที นักดนตรีแต่ละคนนอกจากจะมองโน้ตเพลงแล้วก็ยังคอยสังเกตเพื่อนร่วมวง แสดงถึงความสนใจในการฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเล่นดนตรีร่วมกันเป็นวง (โดยที่ไม่มีวาทยกร) การแสดงในวันนี้ ไม่มีพระเอกหรือนางเอก แต่ทั้งนักดนตรีวงคือตัวละครเอกที่มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือเชมเบอร์มิวสิคขนานแท้

มีนักฟังอาวุโสท่านหนึ่ง ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก ท่านบอกว่าวงดนตรีอย่างวงโปรมูสิกา ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีรุ่นเยาว์เป็นจำนวนมาก มีข้อได้เปรียบวงที่เป็นมืออาชีพอยู่ประการหนึ่งคือ การที่ไม่รู้สึกว่าการเล่นดนตรีคือการทำงานให้เสร็จๆ จบๆ กันไป แต่มันคือการค้นพบ (discovery) คีตนิพนธ์ที่อาจจะเคยได้ยินมาแต่ไม่เคยได้เล่นมาก่อน จึงมีแรงบันดาลใจในการเล่นมากกว่าวงอาชีพที่อาจจะเล่นเพลงเหล่านี้จนเบื่อแล้ว แม้แต่วาทยกรที่ยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Sir Thomas Beecham, Herbert von Karajan หรือแม้แต่ Sergiu Celibidache ก็ยังเป็นที่รับรู้กันว่าไม่ชื่นชอบเพลงของบาคและการเน้น counterpoint แต่ “วงเด็ก” ของไทยเรากลับสามารถดึงจิตวิญญาณและบรรเลงเพลงของบาคได้เป็นอย่างดี นี่คือแก่นของกระบวนการแสวงหาที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในวงโปรมูสิกา ซึ่งพวกเรานักฟังก็หวังไว้ว่าพวกเขาจะสามารถรักษาจิตวิญญาณแห่งการแสวงหานี้ให้ได้ตลอด เพื่อที่จะได้สร้างผลงานการบรรเลงที่ไพเราะจับใจผู้ฟังเสมอไป

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

15 พฤษภาคม 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *