คำประกาศเรื่องสั้นที่ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ๒๕๕๗

คณะกรรมการบันทึก :

เมล็ดพันธุ์แห่งเรื่องสั้น

 

            การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓๖ นับกันเฉพาะงานเขียนประเภทรวมเรื่องสั้นก็เป็นครั้งที่ ๑๒ แล้ว ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเห็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปต่างๆ นานา ทั้งการขยายตัวของวิถีเมืองที่รุกล้ำเข้าสู่ทุกพื้นที่ของประเทศ ความขัดแย้งทางการเมืองอันยืดเยื้อยาวนาน ความไม่สงบบนพื้นที่ปลายด้ามขวาน วาทภัยครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คน รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนดูเหมือนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว ทั้งการฉ้อฉลคดโกงหลากหลายรูปแบบ การศึกษาที่นับวันเส้นวัดคุณภาพยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ ความเสื่อมศีลธรรมจรรยาของคนในทุกระดับ ตั้งแต่คนห่มจีวร คนสวมสูทโก้หรู คนในเครื่องแบบต่างๆ จนถึงคนนุ่งยีนส์เก่าขาด

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น ๗๗ เล่ม โดยนักเขียนจากทุกภูมิภาคของประเทศ มีทั้งผลงานของนักเขียนที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว นักเขียนที่เคยมีผลงานเข้ารอบ นักเขียนที่สร้างสรรค์งานมานานปี นักเขียนอาวุโส และนักเขียนหนุ่มสาว การจัดพิมพ์ผลงาน มีทั้งที่ผ่านระบบบรรณาธิการสำนักพิมพ์ และที่นักเขียนจัดพิมพ์เอง แสดงให้เห็นว่า วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นยังคงเป็นสิ่งที่นักเขียนไทยยังให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง

จำนวนเรื่องสั้นหลายร้อยเรื่องที่อยู่ในผลงานเหล่านี้ เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนสภาพสังคมในมุมต่างๆ เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันก็ทำให้เห็นภาพรวมของสังคมไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ในขณะที่ปัญหาเก่ายังคงค้างคาสะสม

น่าสังเกตว่า ในขณะที่สังคมขับเคลื่อนไป เนื้อหาในเรื่องสั้นส่วนใหญ่ก็เคลื่อนตาม ปัญหาความขัดแย้งแบบแบ่งข้างต่างสีปรากฏให้เห็นในรวมเรื่องสั้นหลายชุด อาทิ หญิงเสา และเรื่องราวอื่น, สามานย์ สามัญ, การเมือง ความรัก และศรัทธา ฯลฯ เช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่เด่นชัดในผลงานอย่าง ชายแปลกหน้าในถ้อยคำนึง, ชายผู้อ้างตัวว่าเป็นเซ็ง ท่าน้ำ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน นักเขียนจำนวนมากก็ยังสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันบนพื้นที่ของตนเอง รวมเรื่องสั้นอย่าง ภายหลังความพ่ายแพ้, เงาเหงาผ่านหลังกรอบแว่น, ฟาติมะห์ หญิงสาวผู้มองเห็นลม, พ่อใหญ่ปุ่ย, แผ่นดินเดียวกัน, ท่ามกลางความขัดแย้ง, เหนือกาลเวลา, เมื่อพายุมาถึง ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของรวมเรื่องสั้นที่ยืนยันถึงปัญหาต่างๆ ที่ฝังรากลึกอยู่บนผืนแผ่นดินไทย

บ้างก็บอกเล่าถึงปัญหาที่มาจากประสบการณ์เฉพาะตัว เช่น ความตายในหมอฟัน ซึ่งสะท้อนปัญหาจรรยาแพทย์ที่บกพร่อง, ผู้อยู่เหนืออาบัติ และ พอไปวัดไปวา ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของคนอยู่วัด, ปรากฏการณ์เกิดใหม่ในดินแดนสาบสูญ ซึ่งเป็นเรื่องของชนชายขอบ คนกลุ่มน้อยในสังคมไทยที่มีวิถีเป็นของตัวเอง, กล้องเก่า ซึ่งฉายภาพมุมมองความคิดห้วงอารมณ์ของผู้สูงวัย เป็นต้น

ปัญหาที่มาจากความขัดแย้งภายในตนเองก็เป็นอีกสิ่งที่นักเขียนให้ความสนใจ เราจะเห็นได้จากในผลงานอย่าง นัยในนัยน์, อรุณสวัสดิ์สนธยา, ความทรงจำบางอย่างช่างลางเลือน, จะหลับตาลงได้อย่างไร, เรื่องธรรมดาร่วมสมัย, เราต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน, สมิงพระราหู, คนรักของนักเขียน ฯลฯ รวมไปถึง รำเพยพิลาป, วิปลาสสามัญ, ก่อนความหมายจะหายลับ, โลกเล่าละคร ฯลฯ ที่สะท้อนด้านมืดอันน่าสะพึงกลัวในจิตใจคนเรา

และมีไม่น้อยที่บอกเล่าภาวะของคนหนุ่มสาวร่วมสมัย ทั้งความปรารถนา ความเปลี่ยวเหงา ความงุนงงสงสัย ความแปลกแยก และปมปัญหาอื่นๆ บนโลกปัจจุบันที่ประกอบสร้างขึ้นอย่างซับซ้อนสับสน  มีทั้งที่เก่า-ใหม่ จริง-เสมือนจริง แก่น – เปลือก ถูก – ผิด ฯลฯ อาทิ ช่องว่างระหว่างเรื่องราวของเขา, ความรักและแสงสีขาว, เงาแรกและแสงสุดท้าย, เสียงสะท้อนจากฝ่าเท้า, สสารไม่มีวันสูญหาย, เพลงที่เธอให้แปลยังไม่เสร็จ, กล้วยน้ำว้า, ต้นฉบับนักเขียนใหม่ ฯลฯ

ในการถ่ายทอดประเด็นต่างๆ นักเขียนทุกคนพยายามที่จะไปให้สุดในทางของตัวเอง มีทั้งการลดทอนอย่าง เรื่อง-ผม-เล่า ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองและเสียงเล่าของบุรุษที่หนึ่งแบบตรงไปตรงมา ทว่าขณะเดียวกันก็ได้ซ่อนความหมายให้ผู้อ่านได้ขบคิด, แผนพัฒนาความฉลาด ของคนเมืองโง่ ซึ่งใช้รูปของของเรื่องสั้น-สั้น ในการถ่ายทอดความเป็นจริงหลากหลายด้านในสังคม ฯลฯ และมีที่ใช้ความซับซ้อนในการถ่ายทอดเรื่องราว ด้วยโครงสร้างเรื่องอันเต็มไปด้วยรายละเอียด อาทิ ปลวก, ออกไปข้างใน, นักเดินเรือสู่ทุ่งหญ้า, ยูโทเปียชำรุด ฯลฯ

บ้างก็นำเสนอแบบสมจริงเน้นความสะเทือนใจ มุ่งไปที่ห้วงอารมณ์ภายในของตัวละคร เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริงบางอย่างของชีวิต อาทิ มหรสพยังไม่ลาโรง, ละครที่ไม่จำกัดเวทีแสดง, เสือกินคน ฯลฯ บ้างก็เล่นกับความเหนือจริงและสัญลักษณ์ ที่ขับเน้นให้ความจริงลอยเด่นออกมามากขึ้น อาทิ โปรดอยู่ในความดัดจริต, พันธุ์อุดมการณ์ ฯลฯ

บ้างก็พาเราไปสู่อนาคตกาลอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจุบัน อาทิ อนาคด, มะละกาไม่มีทะเล ฯลฯ ในขณะที่บางผลงานกลับนำเอาเรื่องเล่าจากอดีตมาเชื่อมโยงเข้ากับปัจจุบัน เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของเรื่องเล่าเหล่านั้น พร้อมใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์ร่วมสมัยทางสังคม อาทิ อสรพิษ และเรื่องอื่นๆชายผู้มีเทวดาประจำตัว, ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ ฯลฯ

บ้างก็ใช้ลีลาภาษาที่เรียบง่ายแต่ได้อารมณ์สะเทือนใจ อย่าง การพลัดหลงของเมล็ดพันธุ์, ลายกริช, หัวหิน, พระกับเสือ, โลกคู่ขนาน หลังประตูบานนั้น, ภาพเขียนของแม่, วัฏจักรไร้สำนึก, จรวดกระดาษกลางสายฝน, สมมติว่าเป็นเรื่องจริง ฯลฯ บ้างก็เล่นกับภาษาอันเต็มไปด้วยจริตร่วมสมัย ซึ่งก่อให้เกิดน้ำเสียงใหม่ๆ ในงานเขียน อาทิ ฝนเอยทำไมจึงตก, กรุณาอย่าเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง ฯลฯ

รวมเรื่องสั้นหลายเล่มมีคุณลักษณะผสมผสาน หลากหลายมากกว่าที่ได้ชี้ให้เห็นใน “คณะกรรมการบันทึก” นี้ ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์กันอย่างละเอียดคงต้องดูกันเป็นรายเล่มไป ทั้งหมดที่สรุปมาอย่างคร่าวๆ เพียงเพื่อให้เห็นภาพรวม และขอบเขตอันกว้างใหญ่ของเรื่องสั้นไทย ทั้งในแง่เรื่องราวและการเสนอ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แน่นอนที่สุด นี่ไม่ใช่พัฒนาการที่แตกกอออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หากเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่นักเขียนไทยได้สร้างสรรค์กันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั่นเอง

ในศตวรรษที่ ๒๑ วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นซึ่งเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์จากตะวันตก ได้ขยายออกไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย กลมกลืนกลายเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเมล็ดพันธุ์เรื่องสั้นบ่มเพาะลงไปบนผืนดินของนักเขียนแต่ละคน แร่ธาตุในดิน ปริมาณน้ำ แสงแดด ที่แตกต่างกันไป ก็ทำให้เกิดต้นพืชที่ผิดแผกกัน ให้ผลิตผลมากน้อยไปตามแต่เหตุและปัจจัยของคนเขียนแต่ละคน

ในสายตาของคณะกรรมการฯ นี่คือความงอกงามแห่งสวนอักษร ซึ่งน่าปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างยิ่ง ขอชื่นชมในการสร้างสรรค์ของนักเขียนทุกท่าน และหวังอย่างยิ่งที่จะได้เห็นความงามสะพรั่งของวรรณกรรมไทย เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นนี้อีกในการประกวดครั้งต่อๆ ไป.

 

มะละกาไม่มีทะเล

จเด็จ กำจรเดช

 

ในรวมเรื่องสั้น “มะละกาไม่มีทะเล”  จเด็จ กำจรเดช  ยังคงรักษาชั้นเชิงของการเป็นนักเล่าเรื่องผู้ช่ำชองในกลวิธีแห่งการปะทะกันระหว่างความจริงกับความจริงเสมือน  ความรู้กับความเชื่อ และการสร้างตัวละครที่มีความคลุมเครือ ท้าทายการติดตามตีความจากคนอ่าน  ทั้งได้เพิ่มการทดลองเล่นกับมิติใหม่ขึ้นอีกสองด้าน ด้านหนึ่ง คือ มิติแห่ง ‘กาล’ ทั้งในอนาคตและในอดีต  เขาได้แสดงออกถึงจินตนาการที่เข้มข้นต่อโลก ‘เสมือนจริง’ ที่คนทั่วไปพรั่นพรึง  มิติใหม่อีกด้านหนึ่งที่จเด็จนำเสนอไว้ในรวมเล่มเล่มใหม่นี้ส่งกลิ่นอายแห่งอารมณ์และบรรยากาศของยุคทศวรรษ ๒๕๕๐ ทั้งในบริบทของสังคมไทยที่มีปัญหาการเมืองครอบงำ  และของภูมิภาคได้อย่างสดใหม่  ทันยุคทันเหตุการณ์  ด้วยฝีมือการเขียนที่มีชั้นเชิงและกลวิธีเฉพาะตัว

 

เรื่อง-ผม-เล่า

จำลอง ฝั่งชลจิตร

 

รวมเรื่องสั้นที่อ่านง่าย อ่านสนุก ชวนให้ติดตาม มีอารมณ์ขันให้คนอ่านยิ้ม บ้างหัวเราะในคราวเดียวกัน อาจมีทั้งเรื่องจริงเรื่องแต่งผสมผสานกันอย่างลงตัว อ่านแล้วได้ความคิดต่อเนื่อง

จำลองมีเรื่องราวที่จะเล่าอีกมากมาย ทั้งยังเป็นนักแซวนักเสียดสีตัวเองให้คนอ่านครึกครื้น เขาเป็นนักเขียนเรื่องสั้นอย่างแท้จริง มีข้อมูลจากการพบเห็นหลายด้านมาเล่าเรื่องได้อย่างออกรส หลายเรื่องสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดขึ้น หลายเรื่องทำให้ต้องคิดตาม เรื่องราวด้านพลังงานยิ่งทำให้รู้ให้เข้าใจถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว แต่คนเรามักจะละเลยไม่นึกถึง

“เรื่อง-ผม-เล่า” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร จึงมีเสน่ห์ของนักเล่าเรื่องหลากหลายรสชาติอย่างแท้จริง

 

สามานย์ สามัญ

อุทิศ  เหมะมูล

 

รวมเรื่องสั้นที่ผู้แต่งคัดสรรวัตถุดิบรอบตัว ซึ่งพบเห็นได้จากวิถีแห่งผู้คนในสังคมร่วมสมัย           มาปรุงแต่งอย่างละเมียดละไมด้วยการให้รายละเอียดของเรื่อง และบริบทที่เป็นส่วนช่วยสร้างพื้นฐานความเข้าใจให้กับผู้อ่าน ก่อนที่จะดำเนินเรื่องไปสู่จุดคลี่คลายได้อย่างแนบเนียน และร่วมรับรู้ไปด้วยพร้อมๆ กัน อย่างไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดในพื้นที่อันจำกัด

เนื้อหาส่วนมากของเรื่อง เกิดขึ้นในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยมีแง่มุมและประเด็นที่แตกต่างไป ทั้งเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ และปรากฏการณ์ระดับบุคคล ที่ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจทัศนะ ความคิด ความรู้สึก ของตัวละครได้อย่างไม่ยากนัก ในขณะเดียวกันนั้นก็สะกิดใจให้ผู้อ่านได้คิด ได้รู้สึก กับประเด็นที่ต้องให้ความตระหนัก แต่กลับกลายเป็นความเคยชินที่คนในสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ

“สามานย์ สามัญ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ผู้อ่านอดปวดแปลบอยู่ในใจไม่ได้กับ ‘ความสามานย์’ที่เกิดขึ้นในสังคม ผู้คนทั้งหลายต่างรู้สึกกับสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเรื่อง ‘สามัญ’ เรื่องนี้จะช่วยให้ฉุกใจ ยั้งคิด กับประเด็นต่างๆ และไม่ปล่อยให้เรื่อง ‘สามานย์’ เป็นเรื่อง ‘สามัญ’ อีกต่อไป

 

เสือกินคน  

สาคร  พูลสุข

 

รวมเรื่องสั้น  “เสือกินคน”  ของ  สาคร พูลสุข  เป็นเรื่องสั้นที่เขียนด้วยสำนวนชวนอ่านน่าติดตาม  นำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้นที่ดี  เนื้อหาเสนอความคิดในเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลาย  ทั้งขนบประเพณี  รายละเอียดเกี่ยวกับความเชื่อ  แนวปฏิบัติที่สืบต่อกันมาในสังคมอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งผู้เขียนได้สอดแทรกให้เห็นอย่างเด่นชัด เนื้อหาบางเรื่องแสดงวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์  บางเรื่องสะท้อนแนวคิดทางการเมือง  บางเรื่องมีความลึกลับเหนือจริงเพื่อแสดงนัยยะของความคิดความเชื่อ  รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ  สังคมของผู้คน  สร้างอารมณ์สะเทือนใจให้แก่ผู้อ่าน  และในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง  ผู้เขียนได้แสดงวาทะ  คำคม  เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้งน่ารับฟัง  รวมทั้งแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้เขียนเอาไว้ด้วย

 

หญิงเสาและเรื่องราวอื่น

กล้า สมุทวณิช

 

“หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” เป็นรวมเรื่องสั้นร่วมสมัยที่เล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยว สันโดษ และความไม่สมประกอบนานา มีความคลุมเครือ มีความซับซ้อน นำเสนอด้วยการยั่วล้อ ขันขื่น เสียดเย้ย ได้อย่างทรงพลัง ตั้งคำถามให้กับผู้อ่านได้กลับมาฉุกคิดอย่างเหนือชั้น ทั้งเรื่องแฟนตาซี เรื่องสมจริง  เรื่องที่เป็นสัญลักษณ์ เรื่องที่แฝงนัยยะทางการเมือง ผู้เขียนยังให้ข้อคิดเห็นที่แยบยล ให้เห็นอารมณ์ด้านมืด เห็นถึงภาวะอันโดดเดี่ยวของผู้คน มีการแบ่งแยกถึงความเป็นเขา ความเป็นเรา อย่างแนบเนียนและละเมียดละไม

“หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” จึงเป็นรวมเรื่องสั้นที่มีเสน่ห์ เข้ากับยุคสมัย ทำให้ผู้อ่านสามารถย้อนกลับมาคิดว่าเราจะดำรงชีวิตได้อย่างไรในสังคมที่ค่อนข้างคลุมเครือหาความชัดเจนอะไรไม่ได้อยู่ในเวลานี้

 

อสรพิษและเรื่องอื่น ๆ
แดนอรัญ  แสงทอง

          “อสรพิษและเรื่องอื่นๆ” เป็นหนังสือรวมประกอบด้วยเรื่องสั้น ๑๒ เรื่อง ถ่ายทอดสภาวะจิตใจภายในของของมนุษย์ที่อารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ปะทะสังสรรค์กันอย่างเข้มข้น ทั้งความหยิ่งทะนงทรงศักดิ์ ความวูบไหว หวาดหวั่น ความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความศรัทธา ความเคียดแค้น ความสุขเกษม ความเจ็บช้ำ ฯลฯ ความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งหมดนี้นอกจากแสดงมิติของความมนุษยชาติอันเป็นสากลแล้ว  ยังถูกขับเน้นด้วยมิติทางวัฒนธรรม  ผสานวิถีชีวิตไทยร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน  มีกลิ่นอายของชนบท ทั้งตำนาน ความเชื่อและคติพุทธที่แฝงฝังแนบแน่นในสังคมไทย

ผู้เขียนซ่อนตัวเองไว้อย่างแนบเนียนหลังเรื่องเล่าแต่ละเรื่องที่นำผู้อ่านไปสำรวจ”ข้างใน”ของความเป็นมนุษย์ ประหนึ่งว่าเรื่องราวเหล่านั้นดำเนินไปเอง  สร้างความกระหายใคร่รู้ให้จิตจดจ่อกับเรื่องที่เล่า สำเริงอารมณ์กับวรรณศิลป์ของการใช้ภาษาที่เปี่ยมไปด้วยถ้อยคำละเมียดและทรงพลัง  แสดงลีลาของความหฤหรรษ์อันรุ่มรวยความรู้สึก

มนุษย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่ มนุษย์ไม่ได้โฉดเขลา  เพราะเราเป็นมนุษย์ จึงมีเรื่องน่าอัศจรรย์ให้เราพานพบมิรู้จบ

ข้อมูลจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *