ดนตรีที่ดีไม่มีกาลเวลา : หนุ่มสาว Pro Musica กับความสดใหม่ของบทเพลงคลาสสิกตะวันตก

ดนตรีที่ดีไม่มีกาลเวลา : หนุ่มสาว Pro Musica กับความสดใหม่ของบทเพลงคลาสสิกตะวันตก

Pro Musica

ตลอดปี 2557 ที่กำลังผ่านไปนั้น ผมได้ติดตามชมการแสดงของวง Pro Musicaเกือบครบทุกครั้ง ทั้งกลุ่ม chamberขนาดเล็ก  และวง chamber orchestra จากนักดนตรีบ้านเราเอง ทั้งรุ่นครูบาอาจารย์และรุ่นหนุ่มสาว ไปจนถึงศิลปินรับเชิญจากต่างประเทศที่แวะเวียนมาให้เราได้สัมผัสกับฝีมือการบรรเลง ในส่วนของการคัดเลือกบทเพลงที่นำมาแสดงนั้นก็มีความหลากหลาย ทั้งบทเพลงยอดนิยม บทเพลงบางบทที่ยากมากๆ และเพลงที่ค่อนข้างหาฟังได้ยากก็มีให้ฟัง  นอกจากนั้นยังมีโปรแกรมล่วงหน้าตลอดทั้งปี ให้ติดตามและเลือกฟังได้อย่างน้อยเดือนละหนึ่งคอนเสิร์ต ในราคาที่ไม่แพง (โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาจะราคาถูกเป็นพิเศษ)  ช่วยให้ผู้ฟังสามารถวางแผนในการรับชมรับฟังได้ตลอดทั้งปี  นี่มันสวรรค์ของผู้มีรายได้น้อย  แต่รสนิยมสูง!

สำหรับคอนเสิร์ตส่งท้ายปี 2557 ของวง Pro Musica นั้น เป็นคอนเสิร์ตของวง chamber orchestra เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมโฟร์ซีซันส์ ราชดำริ มีโปรแกรมที่น่าสนใจและค่อนข้างหาฟังได้ยาก เช่น Canon and Gigue in D major ผลงานของพาเคลเบล (Johann Pachelbel, 1653-1706: คีตกวีชาวเยอรมัน) Viola Concerto in C minor ผลงานของอองรี คาซาเดอซูส์ (Henri Casadesus, 1879-1947: นักวิโอลาและคีตกวีชาวฝรั่งเศส) ถัดมาคือ Ancient Airs and Dances, Suite No.3 ของ
ออตโตริโน เรสปิกิ (Ottorino Respighi, 1879-1936: คีตกวีชาวอิตาลี) และปิดท้ายด้วย Romanian Folk Dances, Sz. 56, BB 68 ผลงานของเบ-ลา บาร์ทอค (Béla Bartók, 1881-1945: คีตกวีชาวฮังการี)

เท่าที่ผมสังเกตการคัดเลือกองคนิพนธ์ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ เหมือนจะมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ การเสาะแสวงหาดนตรีคลาสสิกและดนตรีพื้นบ้านมาฟื้นฟูให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในศตวรรษที่ 20 ในกรณีของ Canon in Dนั้น แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเป็นเพลงยอดนิยมในสมัยปัจจุบัน แต่ก่อนหน้านั้นได้ถูกหลงลืมมาหลายศตวรรษ และมาถูกค้นพบและเผยแพร่เมื่อราวต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง ในส่วนของวิโอลาคอนแชร์โต คาซาเดอซูส์ได้แต่งขึ้นใหม่โดยใช้สไตล์ของโยฮันน์ คริสติอาน บาค (Johann Christian Bach, 1735-1782: คีตกวีชาวเยอรมัน  บุตรชายคนสุดท้องของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค) จนคนเข้าใจผิดคิดว่าวิโอลาคอนแชร์โตบทนี้แต่งโดยโยฮันน์ คริสติอาน บาค ทั้งนี้ คาซาเดอซูส์ ก็เป็นนักวิโอลาที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเล่นเครื่องดนตรีโบราณ โดยเขาและเพื่อนร่วมงานของเขามีชื่อเสียงมากในด้านการค้นคว้าเพลงเก่าขึ้นมาเผยแพร่ เช่นเดียวกับเรสปิกิและบาร์ทอค ซึ่งนอกจากจะเป็นคีตกวีที่มีชื่อเสียงของยุคแล้ว ยังเป็นนักวิชาการด้านดนตรีวิทยา (musicologists) ที่เชี่ยวชาญด้านการสืบค้นเพลงโบราณและเพลงพื้นบ้านอีกด้วย เพลงที่นำมาบรรเลงก็เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นในสไตล์ของเพลงโบราณของอิตาลี และเพลงเต้นรำพื้นบ้านของโรมาเนีย

ก่อนเริ่มการแสดง ผู้จัดได้แจ้งให้ผู้ชมทราบว่าวันนี้ ฯพณฯ พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี วาทยกรประจำของวง  ป่วยกะทันหันไม่สามารถมานำวงได้ วงจึงจะบรรเลงโดยไม่มีวาทยกร โดยมีทัศนา นาควัชระ หัวหน้าวง (concertmaster) เป็นผู้นำวงแทน  ซึ่งการบรรเลงวงเชมเบอร์โดยให้หัวหน้าวงเป็นผู้กำกับวงนั้นก็เป็นขนบที่ใช้กับวงดนตรีเชมเบอร์บางวง  เช่น I Musici di Roma และ Camerata Lysy  การบรรเลงเริ่มต้นด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นเข้มข้นและไพเราะมากเป็นพิเศษ ตามด้วยเพลงพระราชนิพนธ์แผ่นดินของเรา (Alexandra)เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเดือนพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเพลงนี้เรียบเรียงเสียงประสานโดย “อาจารย์หม่อม” นั่นเอง ซึ่งทำได้อย่างไพเราะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวโอลินหนึ่งสนทนากับไวโอลินสองได้อย่างกลมกลืนน่าฟังมาก

ถัดมาคือ Canon เมื่อฟังแล้วรู้สึกว่าเล่นเร็วกว่าที่เคยได้ยินมาค่อนข้างมาก เรียกว่าเป็น “รถด่วน” เลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงที่เป็น counterpointนั้น เล่นกันอย่างรวดเร็ว ทำให้ดูกระฉับกระเฉง  ในส่วนของ Gigue ผู้ฟังอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่ากับท่อน Canon แต่ก็มีท่วงทำนองที่รื่นเริงเช่นกัน  ซึ่งวงก็สามารถเล่นด้วยการตีความแนวนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่มีสะดุด ผมคิดว่า การบรรเลงแบบนี้อาจจะเป็นการย้อนกลับไปบรรเลงแบบบารอคดั้งเดิม คือมีลักษณะเป็นเพลงเต้นรำ แทนที่จะเป็นการตีความสมัยใหม่ที่นำเสนอเพลงนี้เป็นเพลงที่เนิบช้า สุขุม งามสง่ามากกว่า นับว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ฟัง

ส่วนบทเพลงต่อมาคือ Viola Concerto in C minor ซึ่งผมคิดว่าเป็นไฮไลท์ของการแสดงครั้งนี้ ผู้บรรเลงเดี่ยววิโอลาคือ เดวิด อับราฮัมยาน (David Abrahamyan) นักวิโอลาฝีมือเยี่ยมชาวสเปน เชื้อสายอาร์เมเนีย ซึ่งขณะนี้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร  เขาเพิ่งแสดงบทบาทเด่นใน Piano Quartet No.1, Op.15 ผลงานของกาเบรียล โฟเร (Gabriel Fauré, 1845-1924: คีตกวีชาวฝรั่งเศส) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 มานี่เอง  อาจารย์เดวิดถือว่าเป็นพระเอกของค่ำคืนนี้เลยทีเดียว เสียงวิโอลาของเขาเข้มข้นมาก เสียงทุ้มมีความกังวาน เสียงสูงก็สดใสไพเราะ เสียงของวิโอลาโดดเด่นออกมาจากวงอย่างชัดเจน ผมคิดว่าคอนแชร์โตบทนี้ค่อนข้างที่จะไม่เน้นเทคนิคยากๆ มากนัก แต่เปิดโอกาสให้ผู้แสดงเดี่ยวมีบทบาทเด่นในท่วงทำนองที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า และยังสามารถแสดงศักยภาพของวิโอลาได้ชัดเจนอีกด้วย สำหรับอาจารย์เดวิดนั้นบรรเลงได้อย่างดีเยี่ยม ช่วงที่ช้าก็นิ่งจนนิ้ง เสียงชัดเจนทุกตัวโน้ต  ท่อนที่รวดเร็วเป็นไฟแลบนั้น ก็นับว่าเป็นไฟแลบอย่างค่อนข้างนุ่มนวลเปี่ยมไปด้วยรสนิยมอันดี ทางด้านของวงก็สามารถบรรเลงได้เข้ากับผู้แสดงเดี่ยว เนื่องจากบรรเลงร่วมกันมาเป็นเวลานานพอจนรู้ใจกันดี สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

ครึ่งหลังเริ่มต้นด้วย Ancient Airs and Dances, Suite No.3 เป็นเพลงที่เรสปิกิแต่งขึ้นโดยนำท่วงทำนองและลีลามาจากเพลงอิตาเลียนโบราณที่เขาศึกษาค้นคว้า สำหรับภาพรวมของเพลงมีท่วงทำนองมีความน่าสนใจและหลากหลาย บางช่วงก็เป็นทำนองรวดเร็ว สนุกสนาน บางช่วงก็ฟังดูเคร่งขรึม สง่า แต่แฝงไว้ด้วยทำนองที่หม่น บางช่วงก็เป็นเพลงเต้นรำที่ครื้นเครง ซึ่งวงก็สามารถบรรเลงได้อย่างดีตามมาตรฐาน แต่อาจจะมีบางช่วงที่เสียงสูงมากๆ หรือเล่นเร็วมากๆ ก็ยังมีสะดุดเล็กน้อย แต่โดยรวมก็ทำได้ดี สามารถบรรเลงท่วงทำนองเพลงที่ไพเราะและน่าสนใจของเรสปิกิได้อย่างน่าฟัง

สำหรับเพลงสุดท้ายของโปรแกรม คือ Romanian Folk Dances ของบาร์ทอค  ซึ่งนำท่วงทำนองและลีลาลักษณะต่างๆ ของเพลงพื้นบ้านโรมาเนียมาร้อยเรียงกัน ฟังแล้วจะรู้สึกว่าสุ้มเสียงจะกระเดียดไปทางยุโรปตะวันออกซึ่งมีบันไดเสียงที่แตกต่างจากยุโรปตะวันตกที่เราคุ้นเคย ฟังดูลี้ลับและมีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง มีทั้งท่วงทำนองที่ช้าเนิบ และสนุกสนานคึกคัก โดยที่ไวโอลินหนึ่งมีบทบาทในการเล่นเดี่ยวท่วงทำนองที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยเฉพาะเสียงสูงที่แหลมบาดหูนั้น ชวนให้เกิดความรู้สึกลี้ลับแต่ก็น่าติดตาม โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าทั้งอาจารย์ทัศนาและวงนั้น ยังดูเป็น “ผู้ดี” ที่ละเมียดละไมไปกับท่วงทำนองอยู่ รู้สึกว่ายังเป็น “ชาวบ้าน” ที่เล่นไปตามอารมณ์ความรู้สึกหรือปฏิภาณไหวพริบ (improvisation) ไม่มากพอ  แต่ก็อีกนั่นแหละ  นี่คือเพลงของชาวบ้านที่ผู้คงแก่เรียนนำมาเรียบเรียงแล้ว  ก็อาจจะเรียกร้องให้เป็นชาวบ้านเต็มร้อยไม่ได้ แต่โดยรวมแล้วผลการบรรเลงออกมาก็ยังมีความไพเราะน่าฟังอยู่มาก ในช่วงที่ยากๆ หรือเร็วไฟแลบนั้นก็ทำได้เป็นอย่างดี ช่วงที่ช้าหม่นก็บีบคั้นอารมณ์คนฟังได้ไม่แพ้กัน ซึ่งทำให้ผู้ชมพอใจและปรบมือชื่นชมอย่างยาวนาน วงจึงแถมเพลงพระราชนิพนธ์ให้อีก 2 เพลง คือ ลมหนาว (Love in Spring)และ คำหวาน (Sweet Words)ซึ่งก็เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมอีกเช่นกัน

ผมลองย้อนกลับไปคิดถึงการแสดงครั้งนี้แล้วก็อดที่จะสังเกตไม่ได้ว่า  คอนเสิร์ตนี้เหมือนเป็นงานรวมศิษย์เก่าของคณะดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร  ซึ่งเป็นนักดนตรีรุ่นหนุ่มสาวมากกว่า 2 ใน 3 ของวง แม้ว่าจะไม่มีวาทยกร วงก็สามารถบรรเลงได้ดี เพราะมีพื้นฐานที่เข้มแข็งมาจากเชมเบอร์มิวสิค  ดังที่ลอร์ดเมนูฮินเคยกล่าวไว้ว่าเป็นการศึกษาดนตรีที่ดีที่สุด เพราะเป็นการเคี่ยวกรำนักดนตรีให้มีความเชี่ยวชาญทั้งในส่วนของตัวเองและการเล่นกับเพื่อนร่วมวง มีความกระหายใคร่รู้และอยากเล่นอยู่เสมอ ซึ่งความสดใหม่ของการบรรเลงเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในวงเชมเบอร์อาชีพบ่อยครั้งนัก  เพราะเล่นมากเสียจนสนิมเกาะไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ คอนเสิร์ตตลอดปีที่ผ่านมาของ Pro Musica และ นักดนตรีจากศิลปากร ก็เป็นบทพิสูจน์ความสามารถและคุณภาพของครูอาจารย์  ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของศิลปากรได้เป็นอย่างดี เป็นการทำให้ฝันของ ศ.ดร. ตรึงใจ บูรณสมภพ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศาสตร์นั้นเป็นจริง กล่าวคือ อ.ตรึงใจ มีความฝันที่จะสร้างคณะดนตรีขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีโครงการจัดตั้งมาเมื่อ 40 ปีก่อนแล้ว (แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น) โดยให้มีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งศิลปะนี้ให้ได้ โดยมีความเชื่อว่าคณะไม่จำเป็นต้องใหญ่โต  แต่ควรเน้นที่คุณภาพเป็นหลัก โดยการเชิญอาจารย์ที่เก่งที่สุดมาสอนที่นี่

ในอีกแง่หนึ่ง ฝันของอาจารย์ทัศนาและเหล่าครูอาจารย์เพื่อนร่วมงานทั้งหลายที่คณะดุริยางคศาสตร์นั้นก็เริ่มเป็นจริงขึ้นมา กล่าวคือคนรุ่นครูหวังว่าเด็กรุ่นลูกศิษย์จะเก่งยิ่งๆ ขึ้นไป และเก่งยิ่งกว่าพวกเขาเอง และบรรดาครูทั้งหลายก็จะถอยฉากไปเป็นผู้ให้คำแนะนำอยู่ในส่วนหลังของวง โดยที่บรรดาลูกศิษย์ก็จะเติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งและมีทิศทางที่ถูกต้อง  ซึ่งเข้ากับ “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” ของสังคมไทย ซึ่งเราเองแม้จะเห็นว่าในวันนี้ ครูยังเล่นนำให้ลูกศิษย์เล่นตามอยู่นั้น แต่ฝีมือของลูกศิษย์ก็ไล่ตามรุ่นครูขึ้นมาแล้ว เหลือเพียงการสั่งสมประสบการณ์ให้มากยิ่งขึ้น พวกเขาก็จะสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้อย่างเต็มภาคภูมิ แล้ววันนั้นก็คงเป็นวันที่บรรดาครูทั้งหลายมีความสุขเป็นที่สุด เช่นเดียวกับเรานักฟังทั้งหลาย ที่หวังให้คนรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นอนาคตที่สดใสของวงการดนตรีคลาสสิกของไทยต่อไป

ก่อนจบ ผมต้องขอประกาศตัวว่า  ผมไม่ใช่ศิษย์เก่าศิลปากร  แต่เรียนมาจากสำนักท่าพระจันทร์  เมื่อเห็นสถาบันเพื่อนบ้านกันทำอะไรที่น่าทึ่ง  ผมก็อดชื่นชมไม่ได้

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

30 ธันวาคม 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *