บีเอสโอ ในกระแสของวาทยกรและนักแสดงเดี่ยวชาวต่างชาติ : ใช่โอกาสที่ดีของเราหรือไม่

บีเอสโอ ในกระแสของวาทยกรและนักแสดงเดี่ยวชาวต่างชาติ : ใช่โอกาสที่ดีของเราหรือไม่

11053632_1171606289531936_1378100835420399671_o

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 วงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (BSO) มักมีโปรแกรมแสดงคอนแชร์โตที่น่าสนใจอยู่เสมอ ทั้งที่เป็นนักดนตรีชั้นนำชาวไทย และนักดนตรีระดับซูเปอร์สตาร์จากต่างประเทศ มาให้เราผู้รักดนตรีได้ตื่นเต้นตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ได้มีโอกาสต้อนรับทั้ง คริสเตียน ซิมเมอร์มันน์ นักเปียโนระดับโลกชาวโปแลนด์ คลารา จูมิ คัง นักไวโอลินดาวรุ่งฝีมือเยี่ยมชาวเกาหลีในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักดนตรีชาวไทยได้แสดงฝีมือ (แต่ในหอประชุมเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่) เช่น พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ ผู้ช่วยหัวหน้าวง กิตติคุณ สดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มเชลโล และชญณัฐ วิสัยจร นักเปียโนประจำวง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยBSO ก็ได้เชิญนักเชลโลชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอย่าง  ราฟาเอล วอลฟิช (Raphael Wallfisch) มาบรรเลงบทเพลง Cello Concerto ของเอลการ์ (Sir Edward Elgar, 1857-1934: คีตกวีชาวอังกฤษ) ซึ่งอำนวยเพลงโดยวาทยกรชาวอังกฤษ มาร์ติน เยทส์ (Martin Yates)  ร่วมกับการบรรเลงเพลงSymphony No.9  ของดวอชาค (Antonin Dvorak, 1841-1904: คีตกวีชาวเช็ค) ซึ่งผมเพิ่งได้ฟังไปในกาชาดคอนเสิร์ตของวงดุริยางค์ราชนาวี เฉพาะกระบวนที่ 3-4 แต่ครั้งนี้จะเป็นการแสดงครบทั้งเพลง ทำให้โปรแกรมนี้น่าสนใจสำหรับผมเป็นพิเศษ

เพลงแรกเริ่มต้นด้วย Pomp and Circumstance, Military Marches, Op.39  ซึ่งเป็นอีกบทเพลงที่โด่งดังของเอลการ์เช่นกัน การที่วงโหมโรงด้วยเพลงนี้ เข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นการเชื่อมโยงไปสู่เชลโล คอนแชร์โต ของเอลการ์  สำหรับการกำกับวงของมาร์ติน เยทส์นั้น ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจ เขาให้วงเล่นเพลงนี้ด้วยจังหวะที่รวดเร็วมาก เร็วจนนักดนตรีแทบหัวคะมำ ซึ่งเดาว่าเขาอาจจะต้องการเน้นให้เพลงนี้ดูมีชีวิตชีวา สนุกสนาน แต่ก็ทำให้ความองอาจสง่างามที่เอลการ์แต่งไว้ลดทอนลงไปมาก (และได้ยินมาว่านักดนตรีหลายคนก็ไม่ค่อยพอใจการตีความลักษณะนี้)

เพลงถัดมาคือเพลงเอกของรายการ Cello Concerto in E minor, Op.85 ของเอลการ์ ในช่วงต้นที่เป็นการเดี่ยวของเชลโลนั้น เสียงเชลโลวอลฟิชนั้น เป็นเสียงที่ไพเราะ กังวาล มีพลัง แค่ช่วงนำสั้นๆ เขาก็ได้ใจผู้ฟังไปหลายส่วนแล้ว บุคลิกภาพของเขาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เขาค่อนข้างจะมองวาทยกรตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ ความสนใจ และกระตือรือร้น บางครั้งก็มองไปที่หัวหน้าวงด้วย เหมือนกับจะช่วยอำนวยเพลงไปด้วย ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างของนักดนตรีที่ดีที่ “ฟังซึ่งกันและกัน” ไม่ใช่ทำส่วนของตน  จบแล้วก็จบกันไป สำหรับการตีความนั้น ผมคิดว่าเขาเล่นอย่างค่อนข้างเรียบ ตรงไปตรงมา และบางคนอาจจะมองว่าเรียบไปไม่น่าตื่นเต้น ซึ่งนักดนตรีในวงเองก็ยืนยันว่า นี่เป็นความต้องการของเขาเอง เพราะเขาเชื่อว่าเอลการ์แต่งเพลงนี้โดยไม่ต้องการให้บีบคั้นอารมณ์มากเกินไปนัก แต่เราอาจจะไปยึดติดการตีความของนักเชลโลท่านอื่นที่ได้บันทึกเสียงบทเพลงนี้ไว้ และคิดว่านั่นเป็นมาตรฐานการบรรเลงแต่เพียงหนึ่งเดียว ซึ่งตรงนี้ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ว่าการตีความไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว แต่ก็ต้องมีหลักของเหตุผลรองรับ ไม่ใช่ตีความโดยไม่ศึกษาข้อมูลหรือบริบทอันใดเลย โครงการเมธีวิจัยอาวุโสของศาสตราจารย์ณัชชา  พันธุ์เจริญ  ที่มีการจัดการบรรยายทางวิชาการพร้อมกับการแสดงสดอยู่เป็นระยะๆ  ช่วยให้ผู้ฟังชาวไทยได้เข้าใจประเด็นนี้ดียิ่งขึ้น)

11701098_10155900313035338_8095708425019076205_n (1)

สำหรับวอลฟิชนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าเขาตีความว่าเอลการ์เป็น “ผู้ดี” และผู้ดีก็ควรจะทำอะไรแต่พองาม ไม่เศร้าหม่นหรือหวานหยดย้อยจนเกินควร ซึ่งการบรรเลงครั้งนี้ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผู้ฟังจำนวนมากรวมทั้งผมเองไม่คุ้น แต่ก็น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง ที่จริงผมก็คิดว่าเขาก็ไม่ได้เล่นน่าเบื่ออะไร ส่วนที่ผมชอบก็เป็นกระบวนที่ 3 ที่มีทำนองรวดเร็ว ก็ค่อนข้างตื่นเต้นเร้าใจดี ในส่วนของวงออร์เคสตรานั้นก็สามารถตามเขาได้เป็นอย่างดี ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่า สามารถรับแรงบันดาลใจและลีลาการเล่นของเขามาเป็นของวงได้ดี ทั้งเครื่องเป่าและเครื่องสาย แต่ผมรู้สึกว่าเสียงวิโอลาจะเบาไปสักนิด แต่โดยรวมเป็นการบรรเลงที่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ได้ฟังเพลงแถม (encore) ซึ่งเป็น Bach Cello Suite No.1 ท่อน Prelude ที่เราท่านรู้จักกันดี เราอาจจะคิดว่าวอลฟิชมีเพียงมิติเดียวคือนักเชลโลที่เคร่งครัดในตัวบทและความคิดของคีตกวี แต่ใน cello suite นี้ เราจะรู้สึกว่าเขาพยายามเล่นให้มีชีวิตชีวา โดยไม่เคร่งครัดในจังหวะที่ตายตัวนัก แต่จะมีทึ้งนิดๆ ให้รู้สึกถึงความแตกต่าง  เขาคงคิดว่าบาคไม่ใช่เป็นปรมาจารย์ที่แต่งแต่เพลงเคร่งขรึมตลอดเวลา แต่ก็มีเพลงที่ไพเราะน่ารักอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็น่าสนใจมากเช่นกัน เราอาจสรุปได้ว่านักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ จะไม่ยึดติดกับสไตล์ใดสไตล์หนึ่งมากเกินไป แต่สามารถปรับสไตล์ของตนเพื่อรับใช้ตัวบทและคีตกวีได้ตลอดเวลา ซึ่งวอลฟิชก็อยู่ในระดับนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของ BSO ที่ได้บรรเลงร่วมกับนักดนตรีฝีมือฉกาจระดับนี้

ในครึ่งเวลาหลัง เป็นการบรรเลงบทเพลง Symphony No.9 in E minor, Op.95 (From the New World)ผลงานของดวอชาค ซึ่งเราท่านรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และเป็นหนึ่งในบรรดาซิมโฟนีที่โด่งดังและถูกบรรเลงบ่อยที่สุด (มีศัพท์ที่เรียกกันในวงการว่า “ม้าสงครามแก่” [the old war horse]) สำหรับการบรรเลงในครั้งนี้ กระบวนที่ 1 Adagio: Allegro Molto  ผมคิดว่าวงมีเสียงที่แน่นดี มีความหลากหลายของเสียง ในท่วงทำนองและลีลาที่เป็นแนวเพลงพื้นบ้านก็เล่นได้น่าสนใจมาก แต่ดูเหมือนจะเข้ามาผิดจังหวะบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง เล่นหลุดไม่พร้อมเพรียงกัน ส่วนกลุ่มฮอร์นนั้น ในเสียงหลักเป่าได้อย่างชัดเจนและมีพลัง แต่เสียงประสานยังบกพร่องบ้างเล็กน้อย แต่โดยรวมก็ไม่ได้เสียหายอะไร

ในกระบวนที่ 2 Adagio  น่าจะถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ซึ่งคนเล่นโอโบและอิงลิชฮอร์นจะรู้จักกันดี  เป็นช่วงที่อิงลิชฮอร์นได้เล่นท่วงทำนองที่ไพเราะงดงาม มีลีลาราวกับเป็นเชมเบอร์มิวสิค (ชวนให้คิดถึงท่อนเดี่ยวโอโบในกระบวนที่ 2 ของไวโอลิน คอนแชร์โตของบราห์มส์ ซึ่งมีลีลาและความงดงามของท่วงทำนองคล้ายๆ กัน) นักอิงลิชฮอร์นของวงเล่นได้ดีมาก มีการแบ่งประโยคของเพลงได้อย่างไพเราะชัดเจน และมีสำเนียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน ซึ่งก็ได้เล่นท่วงทำนองนี้ถึง 3 ครั้งในกระบวนนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกช่วงหนึ่งที่หัวหน้ากลุ่มเครื่องสายได้โอกาสเล่นในท่วงทำนองนี้เช่นกัน ซึ่งก็ทำได้อย่างไพเราะตามขนบเชมเบอร์มิวสิคเช่นกัน ก่อนจะนำไปสู่ทำนองอีกทำนองหนึ่งที่จะเล่นซ้ำในกระบวนที่ 4 นอกจากนี้ นักโอโบก็มีบทบาทโดดเด่นมากในช่วงท้ายของกระบวนนี้เช่นกัน และก็บรรเลงได้อย่างน่าประทับใจ

มาถึงกระบวนที่ 3 Scherzo: Molto vivace  กระบวนนี้ค่อนข้างจะมีปัญหา วาทยกรตีความคำว่า “มีชีวิตชีวา” ว่าคือ “ความเร็ว” จึงบรรเลงกระบวนนี้อย่างเร็วมาก ซึ่งคนที่โตมากับแผ่นบันทึกเสียงโดยวาทยกรรุ่นเก่าและเก๋า! ก็คงจะรู้สึกว่า มันเร็วเกินไป และความมีชีวิตชีวา ก็ไม่จำเป็นต้องเร็วมากก็ได้ แต่เป็นความเริงร่าที่อยู่บนความสง่างามและกรอบอันดีงาม ในส่วนคุณภาพของการบรรเลงนั้น ผมคิดว่ากลุ่มไวโอลินเล่นได้ดี ทั้งนี้ในกระบวนนี้กลุ่มเครื่องสายเป็นหลักให้กับวง ส่วนเครื่องเป่าลมไม้ทำหน้าที่สร้างสีสันให้กระบวนนี้ได้อย่างดี

จบท้ายด้วยกระบวนที่ 4 Allegro con fuoco  ขึ้นต้นด้วยเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองอันกึกก้อง มีความน่าสนใจดีมาก รวมไปถึงเสียงของเครื่องสายที่เข้มข้นและหนักแน่นมาก ในทำนองที่รุกเร้าก็เล่นได้ดีมาก นอกจากนี้กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้อย่างคลาริเน็ตและบาสซูนก็มีช่วงที่ได้แสดงทำนองที่น่าฟังด้วย ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตมีอยู่ประเด็นหนึ่งคือกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองค่อนข้างแผดกร้าวและยืดไปสักนิด แต่โดยรวมก็ต้องบอกว่าเป็นการบรรเลงที่ดี มีคุณภาพ มีชีวิตชีวา แต่ผมก็ยังคิดว่ายังลีลาและความแม่นยำของวงดุริยางค์ราชนาวีอาจจะดีกว่า ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะมีเวลาซ้อมมากกว่า และแน่นอนว่าถ้าได้ซ้อมมากกว่าก็ย่อมมีข้อผิดพลาดน้อยกว่า และเรื่องของวาทยกรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ วงราชนาวีมีวาทยกรประจำที่ทำงานร่วมกันมานาน จึงมีความเข้าใจและรู้ใจกันระหว่างนักดนตรีกับวาทยกรเป็นอย่างดี ส่วน BSO เองนั้น ในปัจจุบันนับว่าน่าเสียดายมากที่ไม่มีวาทยกรประจำ ทุกคอนเสิร์ตก็เปลี่ยนวาทยกรรับเชิญ ทำให้วาทยกรก็ไม่สามารถทำอะไรที่ลึกซึ้งได้มากนัก ส่วนนักดนตรีก็ยังไม่รู้จักวาทยกรดีพอ บางครั้ง (และบ่อยครั้ง) ก็ต้องเล่นโดยการฟังกันเองหรือมองหัวหน้าวง หรือใช้สัญชาตญาณและประสบการณ์ของตนเองเป็นหลัก อันที่จริงนักดนตรีของ BSO เองนั้นล้วนแต่เป็นแนวหน้าของวงการคลาสสิกบ้านเราอยู่แล้ว ต่อให้เปลี่ยนวาทยกรไปเรื่อยๆ ก็ยังมีเอกลักษณ์และฝีมือที่คงอยู่ แต่ผมก็ยังคิดว่า BSO ต้องการวาทยกรที่เป็นครูและพร้อมที่จะลงแรงเหนื่อยกับวงในเวลาที่มากขึ้น น่าจะทำให้การบรรเลงของ BSO มีคุณภาพมากขึ้น และพร้อมที่จะสร้างเอกลักษณ์ของเสียงและการตีความที่ลึกซึ้งขึ้นได้เช่นกัน

จนบัดนี้  ผมก็ยังไม่ทราบว่า BSO สลัดทิ้งผู้มีคุณูปการต่อวงการคือ Hikotaro Yazaki ไปเพราะเหตุใด  เพราะเมื่อ 10 ปีมาแล้ว  วงของเราไปถึงระดับที่จะออกแสดงเป็นวงแรกในมหกรรมดนตรีนานาชาติที่กรุงโตเกียวได้แล้ว  สำหรับวาทยกรชาวไทยนั้น ไม่มีคนที่มีฝีมือจริงๆ เลยหรือ  ผมไม่อยากจะเชื่อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *