เมื่อ Andrey Gugnin จับคู่กับทัศนา นาควัชระในบทเพลงเปียโนและไวโอลินโซนาตาชั้นครู

เมื่อ  Andrey  Gugnin  จับคู่กับทัศนา นาควัชระในบทเพลงเปียโนและไวโอลินโซนาตาชั้นครู

image1

(facebook Pro Musica)

วฤธ วงศ์สุบรรณ

          เมื่อต้นปีที่แล้ว วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราได้รู้จักและต้อนรับนักเปียโนหนุ่มชาวรัสเซีย อันเดร กุกนิน (Andrey Gugnin)  ซึ่งได้รับรางวัลนานาชาติมาแล้วหลายรางวัล  ในรายการเดี่ยวเปียโนของลิสต์ และเปียโนควินเต็ตของบราห์มส์ (ซึ่งผมเคยเขียนถึงการแสดงของเขาใน http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2554) มาในปีนี้เขากลับพร้อมกับโซนาตาสำหรับเปียโนและไวโอลินของเบโธเฟนและฟรังค์ โดยแสดงร่วมกับทัศนา
นาควัชระ หัวหน้าวง Pro Musica  และก็พิสูจน์ให้เป็นประจักษ์ว่าเขาเล่นเชมเบอร์มิวสิคได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน

กุกนินนั้นแม้ว่าจะร่ำเรียนฝึกฝนและแข่งขันมาในสายนักเดี่ยวเปียโน แต่ความสนใจของเขากว้างขวางกว่าการเดี่ยวเปียโนมากนัก พวกเราที่ได้ชมเขาเล่นควินเต็ตเมื่อปีที่แล้วจะทราบว่าเขาเล่นเชมเบอร์มิวสิคได้ดีมาก มาในปีนี้เขาได้จับคู่กับ อ.ทัศนา ในการเล่นบทเพลงโซนาตาสำหรับเปียโนและไวโอลิน ซึ่งเป็นดุริยางคนิพนธ์ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้มข้นและลึกซึ้งทั้งสองบทเพลง ในรายการชื่อ “The Grand Sonatas” ซึ่งแสดงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องพิมานแมน โรงแรมอนันตรา

ในบทเพลงแรก Sonata for Piano and Violin Op.47 in A major (Kreutzer) ของเบโธเฟน ซึ่งขึ้นชื่อด้านความยากทั้งทางด้านเทคนิคและการตีความ ทั้งสองเล่นคู่กันได้อย่างงดงาม ในกระบวนแรกที่ทั้งค่อนข้างหม่นและรุกเร้ารุนแรง กุกนินสามารถเล่นได้อย่างหนักแน่น เข้มข้น บางครั้งก็อ่อนหวานและลึกซึ้ง เช่นเดียวกับ อ.ทัศนา ซึ่งบรรเลงได้อย่างคล่องแคล่วและเข้ากับนักเปียโนเป็นอย่างดี เสียงไวโอลินของอาจารย์ชวนฟัง เข้าถึงอารมณ์ที่ลึกซึ้ง และยังสามารถให้เสียงที่เคียงกับเปียโนได้โดยไม่โดนกลบ ในกระบวนที่ 2 ซึ่งเป็นท่อนมีทำนองที่ไพเราะ อนโยน และแปรผันเป็น variations ต่างๆ ทั้งคู่ก็เล่นได้ดีมาก  เรียกได้ว่าเป็นการ “ตีความ”  (interpretation) อย่างแท้จริง สามารถให้เสียงที่หลากหลาย ขับเน้นความแตกต่างในแต่ละ variation ได้ดี  เท่าที่สังเกตได้ก็คือ กุกนินมีบุคลิกภาพของนักแสดงเดี่ยวอย่างชัดเจน มีการโยกตัวน้อยๆ บางครั้งก็ขึงขังและบางครั้งก็ผ่อนคลายไปกับท่วงทำนอง ที่น่าสังเกตก็คือเขาเป็นนักแสดงเดี่ยวที่ปรับตัวให้เป็นนักเล่นดนตรีเชมเบอร์ได้อย่างเนียนมาก  ไม่มีช่วงใดที่รู้สึกว่าเล่นอวดฝีมือจนเกินหน้าผู้แสดงร่วมเลย ส่วนกระบวนที่ 3 ซึ่งค่อนข้างผาดโผน สนุกสนาน ทั้งสองก็เล่นได้อย่างน่าฟัง รู้สึกเพลิดเพลินไปกับท่วงทำนองของเพลง แต่ที่จริงแล้วนั้น ผมคิดว่าทั้งสองนั้นค่อนข้างเหน็ดเหนื่อย เพราะบทเพลงค่อนข้างยาวและใช้พลังมาก โดยเฉพาะไวโอลินนั้นต้องเล่นเกือบตลอดเวลา ซึ่งถือว่าหนักกว่าการเล่นคอนแชร์โตเสียด้วยซ้ำ เพราะในคอนแชร์โตยังมีช่วงที่วงเล่นยาวๆ อยู่บ้าง ทำให้นักไวโอลินได้มีโอกาสพักไปในตัว แต่เพลงนี้แทบไม่มีโอกาสได้พักหายใจเลย แสดงว่าต้องซ้อมกันมาอย่างดี มิเช่นนั้นคงประคองตัวให้เล่นจบอย่างเข้มข้นเช่นนี้ไม่ได้

ในครึ่งหลังเป็นบทเพลง Sonata for Violin and Piano in A major ของเซซาร์ ฟรังค์ (César Franck คีตกวีชาวเบลเยียม) ซึ่งบทเพลงนี้ฟรังค์แต่งขึ้นให้เป็นของขวัญวันแต่งงานแก่เออแฌน อีซาอี (Eugène Ysaÿe นักไวโอลินชาวเบลเยียม) เป็นเพลงไวโอลินโซนาตาที่เล่นกันบ่อยครั้งมากที่สุดอีกเพลงหนึ่ง (เท่าที่ผมจำได้ก็น่าจะเคยฟังเพลงนี้มากกว่า 3 ครั้งแล้วในการแสดงสด ล่าสุดก็เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ประทับใจนักแสดงเดี่ยวไวโอลินเท่าที่ควร) มาในครั้งนี้ ผมรู้สึกประทับใจการเล่นของกุกนินและ อ.ทัศนา มาก กุกนินเล่นได้อย่างถึงอารมณ์ของบทเพลง ซึ่งโดยรวมค่อนข้างหวานซึ้งกินใจ ส่วนไวโอลินของ อ.ทัศนาใช้ความงามของเสียงซอเอื้อต่อการเปล่งคีตวลี (phasing) ได้อย่างลงตัว  ซึ่งคอเพลงโรแมนติคคงถูกใจเพลงนี้มาก ผมเองนั้นรู้สึกชอบในกระบวนที่ 4 (Allegretto poco mosso) มากเป็นพิเศษ เพราะเล่นได้อย่างอ่อนหวานไพเราะ ช่วงที่เร็วหรือเร่งเร้าอารมณ์ก็เล่นได้อย่างชัดเจนทุกโน้ต ไม่คลุมเครือ อีกทั้งยังมีพลัง มีความเข้มข้น และความสง่างาม รวมถึงกระบวนที่ 2 (Allegro) ซึ่งเปียโนมีบทบาทมากเป็นพิเศษราวกับเป็นเพลงเดี่ยวและให้ไวโอลินผ่อนอารมณ์ลงมา โดยรวมแล้ว เพลงนี้ค่อนข้างจะฟังสบายกว่าครื่งแรกเล็กน้อย และอาจจะไม่กินแรงผู้เล่นมากเท่าเพลงแรก แต่อารมณ์ของเพลงก็มิได้ย่อหย่อนไปกว่ากันเลย ผู้ฟังวันนี้จึงได้รับความเข้มข้นของบทเพลงทั้งสองไปอย่างเต็มอิ่มและหลากหลายลีลาอารมณ์  สมกับที่ตั้งชื่อรายการว่า  “The Grand Sonatas”

ถ้าคอนเสิร์ตจบแต่เพียงเท่านี้ พวกเราก็คงจะอิ่มใจในระดับสูงแล้ว แต่กุกนินก็ช่วยเพิ่มความประทับใจให้เราอีก ด้วยเพลงแถม (encore) เป็นเพลงแบบฝึกหัด (études) ของโชแปงอีก 2 บท ที่เขาเล่นได้อย่างทรงพลังและเหนือชั้นมาก เพลงแบบฝึกหัดของโชแปงนั้น นอกเหนือจากเป็นการฝึกเทคนิคที่ยากและแพรวพราวแล้ว ยังมีความไพเราะและลึกซึ้งในท่วงทำนองและลีลาอารมณ์อย่างมากอีกด้วย ซึ่งทั้งสองเพลงก็ทำให้เราประจักษ์ชัดถึงความเป็นนักแสดงเดี่ยวของเขาด้วย เขาปรับตัวให้เข้ากับบทเพลงได้เป็นอย่างดีว่าตอนใดควรแสดงอย่างนักแสดงเดี่ยว ตอนใดควรเล่นให้สอดคล้องกลมกลืนกับเพื่อนร่วมวง สำหรับนักไวโอลินของเรา  การที่ได้เล่นคู่กับนักเปียโนระดับแนวหน้าของวงการ ก็ต้องเล่นให้สมศักดิ์ศรีทัดเทียมกันด้วย และอาจารย์ทัศนาก็ทำได้อย่างดียิ่ง  คงเป็นอานิสงส์จากการที่ได้ไปเรียนที่สถาบันดนตรีเมนูฮินมาอย่างแน่นอน  (ขอกล่าวเสริมตรงนี้อีกเล็กน้อยว่า เมื่ออาจารย์ทัศนาออกมาแสดงร่วมกับนักเปียโนของไทยผู้ที่เล่นร่วมด้วยก็คือ นักเปียโนระดับแนวหน้าของบ้านเราคือ ดร.พรพรรณ บันเทิงหรรษา ซึ่งก็เป็นสมาชิกของสถาบันดนตรีที่มีผู้ตั้งฉายาให้ว่า “อาคาเดมีห้องแถวแห่งตลิ่งชัน”)

มีข้อสังเกตอีกเล็กน้อยคือกุกนินเป็นนักดนตรีที่ค่อนข้างทันสมัยใช้เทคโนโลยีเป็น โน้ตเพลงที่เขาใช้ เขาเปิดจากแทบเล็ตคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเขาเล่นถึงโน้ตสุดท้ายของหน้าแล้ว ก็จะพลิกขึ้นหน้าใหม่ให้ทันทีโดยไม่ต้องมีผู้ช่วยมาเปิดโน้ตให้ นับเป็นเทคโนโลยีที่ผมยังไม่เคยเห็นนักดนตรีในบ้านเราใช้มาก่อน คาดว่าในอนาคตอาจจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นก็เป็นได้

image2

(facebook Pro Musics)

          กลุ่มโปรมูสิกาได้สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้แก่ผู้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ที่จริงแล้วรายการแสดงของโปรมูสิกานั้น มีลักษณะของการให้การศึกษาแก่ผู้ชมด้วย เพราะมักจะนำบทเพลงที่หาฟังได้ไม่ง่ายนักมาเสนออยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีส่วนลดพิเศษให้กับนักเรียนนักศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับประสบการณ์จากนักดนตรีระดับนานาชาติได้มากขึ้น (แต่ไม่ควรจะแสดงฟรี เพราะจะทำให้ผู้ฟังบางส่วนไม่รู้คุณค่าของการแสดงและไม่ตระหนักว่าการแสดงแต่ละครั้งมีต้นทุน) แต่ผู้ฟังส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และสังเกตได้ว่าผู้ฟังไทยก็ยังไม่ค่อยเพิ่มขึ้นเท่าใดนัก แม้กระทั่งนักเรียนนักศึกษาด้านดนตรีก็ตาม หรือโปรมูสิกาจะกลายเป็นวงดนตรีสำหรับชาวตะวันตกไปเสียแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยที่คนไทยจะรู้สึกเกร็งและไม่กล้าไปดู มีวาทยกรท่านหนึ่งเคยบอกกับผมว่า กลุ่มโปรมูสิกานั้นจัดโปรแกรมได้อย่างฉลาด หลากหลาย มีรสนิยม และมาตรฐานการแสดงโดยทั่วไปก็อยู่ในเกณฑ์สูง  น่าติดตามมาก ทำให้ผมรู้สึกเสียดายว่าผู้รักดนตรีทั้งหลายมาฟังรายการนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่เวลาที่นักดนตรีกลุ่มนี้ไปแสดงที่เชียงใหม่หรือหัวหินหรือพัทยาผู้คนจะแห่แหนกันมาฟังผมยังอธิบายปรากฏการณ์ที่ว่านี้ไม่ได้

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *