Bangkok String Quartet and Friend ในโปรแกรมควินเต็ตของ Dvořák และ Shostakovich

Bangkok String Quartet and Friend ในโปรแกรมควินเต็ตของ Dvořák และ Shostakovich

1791_10153444047563202_1825505046542980082_n

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 

          ผมเองติดตามการแสดงของวง Bangkok String Quartet (BSQ) มานาน ครั้งแรกที่ได้ฟังเมื่อประมาณปี 2546 ซึ่งในยุคนั้นยังมีสมาชิกเป็น อ.ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน/วิโอลา) อ.ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ (ไวโอลิน/วิโอลา) อ.อ้อมพร โฆวินทะ (ไวโอลิน/วิโอลา) และ อ.อภิชัย เลี่ยมทอง (เชลโล) และได้ฝากตัวเป็น “แฟน” นับแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าจะมีสมาชิกใหม่คือ มิติ วิสุทธิ์อัมพร (วิโอลา) แต่ก็มีฝีไม้ลายมีไม่ธรรมดาเช่นกัน และในปี 2559-2560 นี้ ทางวงก็ได้จัดโปรแกรมน่าสนใจมากมาย และนอกจากจะเป็นวงสตริงควอร์เต็ต (เครื่องสาย 4 ชิ้น) แล้ว ยังได้มีเพื่อนฝูงนักดนตรีมาเป็นแขกรับเชิญช่วยเพิ่มสีสันและความเข้มข้นขึ้นไปอีก และแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตแรกของปีนี้ก็เป็น ดร.พรพรรณ บันเทิงหรรษา นักเปียโนชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งขณะน่าจะเป็นนักเปียโนไทยที่มีการแสดงมากที่สุดในวงการเปียโนไทย

รายการนี้ประกอบด้วย Piano Quintet No.2 in A major, Op.81, B.155 ของ Antonín Dvořák (1841-1904, คีตกวีชาวเช็ค) และ Piano Quintet in G minor, Op.57 ของ Dmitri Shostakovich (1906-1975, คีตกวีชาวรัสเซีย) แสดงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในครึ่งแรกวงเริ่มต้นด้วยดวอชาค ซึ่งผมคิดว่าเป็นคีตกวียุคโรแมนติคที่โดดเด่นมากที่สุดท่านหนึ่ง เนื่องจากมีท่วงทำนองในบทเพลงต่างๆ ของท่านค่อนข้างที่จะฟังง่าย มีทั้งลึกซึ้งและร่าเริง รวมทั้งมีท่วงทำนองที่งดงามและติดหู บทเพลงนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ผมสังเกตได้ว่านักดนตรีค่อนข้างมีความสุขกับการบรรเลง เพราะมีท่วงทำนองที่ไพเราะมาก อีกทั้งการประพันธ์ของดวอชาคนั้น ยังให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นไม่น้อยหน้ากันเลย เครื่องดนตรีที่ดูจะมีบทบาทน้อยในทำนองหลักอย่างไวโอลินที่ 2 และวิโอลาก็มีโอกาสได้แสดงฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนที่ 2 ที่วิโอลาได้บรรเลงในทำนองหลักค่อนข้างยาวมาก  ซึ่งมิติก็เล่นได้อย่างงดงาม เสียงวิโอลาของเขามีพลัง ให้เสียงที่กังวาน และสำเนียงวิโอลาของเขาก็ไพเราะ การเปล่งคีตวลี (phasing) ก็ทำได้อย่างน่าฟัง ในส่วนเชลโลของ อ.อภิชัย ก็มีเสียงที่ไพเราะและกังวาน สามารถบรรเลงในทำนองที่ซาบซึ้งกินใจได้ดีมาก ส่วน อ.ศิริพงษ์และ อ.อ้อมพร ก็ประสานเสียงไวโอลิน 1 และ 2 ได้อย่างไพเราะน่าฟัง และมีความเหมาะเจาะคล้องจองกันอย่างดี (ไม่นับว่าทั้งสองยังเป็นคู่ชีวิตกันอีกด้วย) ที่สำคัญผมสังเกตได้ว่าทุกคน “ฟังซึ่งกันและกัน” และมีการส่งสัญญาณด้วยภาษากายต่างๆ อีก ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเล่นดนตรี “ร่วมกัน” โดยเฉพาะในเชมเบอร์มิวสิค ส่วน อ.พรพรรณนั้น ก็บรรเลงได้อย่างน่าฟัง ทั้งการเป็นผู้ควบคุมจังหวะของเพลง และในบางช่วงก็เป็นผู้เล่นทำนองหลัก ซึ่งเสียงเปียโนของอาจารย์มีหลากหลายสไตล์ตามที่คีตกวีต้องการ ทั้งสนุกสนาน หวานซึ้ง รุกเร้า หรือหม่นหมอง ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างไพเราะ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมโดยนักดนตรีบ้านเราเอง

ส่วนในครึ่งหลังเป็นบทเพลงPiano Quintet in G minor, Op.57 ของชอสตาโกวิช ซึ่งก่อนเริ่มแสดง อ.อภิชัย ก็ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของเพลงแรงบันดาลในการประพันธ์ และเหตุการณ์จากการแสดงครั้งแรกทำให้ผู้ฟังได้ความรู้และอรรถรสในการชมไปด้วย (ซึ่งก็ชดเชยกับสูจิบัตรที่ค่อนข้างสั้นและให้ข้อมูลน้อยไปสักนิด)  ผมคิดว่าบทเพลงนี้ให้มีลีลาใกล้เคียงกับเชมเบอร์มิวสิคชิ้นอื่นของชอสตาโกวิชที่ผู้ฟังคุ้นเคยกันดี เช่น Piano Trio No.2 in E minor Op.67 หรือ String Quartet No.8 in C minor Op.110 คือมีทั้งอารมณ์ที่หม่น หดหู่ เศร้าหมอง บางครั้งแม้ว่าจะมีทำนองที่คึกคักร่าเริงขึ้นมาบ้าง แต่ก็แฝงไว้ด้วยความหม่นและการประสานเสียงที่กระด้าง รวมไปถึงใช้ท่วงทำนองเพลงของชาวยิวที่เขาชื่นชอบมาใส่เป็นระยะๆ ในส่วนของเปียโนนั้น มีบทบาทสูงมาก ทั้งให้อารมณ์ที่หม่นและรื่นเริง บางช่วงก็บรรเลงทำนองที่ผาดโผนพิสดาร ราวกับเป็นคอนแชร์โต (ชวนให้ผมนึกถึงเปียโนคอนแชร์โตของชอสตาโกวิชด้วย) ในขณะที่เครื่องสายทั้งหลายก็สลับกันมีบทบาทต่างๆ กัน โดยเฉพาะไวโอลิน 1 ซึ่งมักจะใส่เครื่องลดเสียง (mute) อยู่ในหลายท่อน เพื่อสร้างเสียงที่หดหู่เป็นพิเศษ โดยรวมแล้วผมคิดว่าบทเพลงนี้นักดนตรีทั้ง 5 ของเราก็บรรเลงได้อย่างถึงอารมณ์ ทั้งนี้ผมสังเกตว่า ทั้งวง BSQ รวมไปถึง Pro Musica ซึ่งนำโดย อ.ทัศนา อดีตสมาชิกของ BSQ สามารถเล่นชอสตาโกวิชได้ดีเป็นพิเศษ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุใด หรืออาจจะเป็นเพราะเพลงของชอสตาโกวิชกระทบจิตใจของนักดนตรีเราได้ในเชิงลึก  จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเล่นมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้ผู้ฟังรู้จักกับเพลงอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความรื่นรมย์ แต่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งอีกลักษณะหนึ่งด้วย

ผมเองคงไม่มีอะไรที่จะไปตินักดนตรีของเราทั้ง 5 คนนี้ได้เลย เพราะเล่นกันได้อย่างถึงอารมณ์ในบทเพลง 2 ยุคที่สไตล์ต่างกันอย่างมาก เพียงแต่รู้สึกว่าในบางจังหวะนักเปียโนกับเครื่องสายมีจังหวะเหลื่อมกันเล็กน้อย รวมทั้งบางท่อนเสียงเปียโนออกจะดังกลบเครื่องสายไปบ้าง โดยส่วนตัวผมไม่ชอบเสียงเปียโนหลังนี้  ในหลายๆ ตอน ผมเกิดความรู้สึกว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้สนองความต้องการของนักเปียโนของเราไม่ได้อย่างเต็มที่  ยิ่งถ้าเล่นดังมากเสียงจะพร่าไปเลย  ถึงอย่างไรภาพรวมก็เป็นการบรรเลงที่มีคุณภาพสูงและช่วยเปิดประสบการณ์ในการฟังดนตรีของผู้ฟังบ้านเราอีกด้วย BSQ ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้ฟังได้อย่างงดงามน่าประทับใจ แต่ก็น่าเสียดายอีกเช่นกันที่หอแสดงดนตรีแห่งนี้ผู้ฟังไม่เต็ม (อีกแล้ว) ทั้งๆ ที่นักดนตรีมีลูกศิษย์ตัวน้อยๆ มาฟังพร้อมกับผู้ปกครองด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย  ก็ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า เชมเบอร์
มิวสิคมิได้มีอะไรที่ด้อยกว่าวงออร์เคสตราเลย เราผู้ฟังคงต้องช่วยกันสนับสนุนและผลักดันเชมเบอร์มิวสิคกันต่อไป เพราะนี่คือทางออกของนักดนตรีที่อยากเล่นดนตรี  แต่วงออร์เคสตราในบ้านเรามีจำนวนและรายการแสดงที่จำกัด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *