กาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 43 ในบทเพลงเทิดพระเกียรติ : อีกครั้งกับการพิสูจน์ฝีมือทหารเรือไทย

กาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 43 ในบทเพลงเทิดพระเกียรติ : อีกครั้งกับการพิสูจน์ฝีมือทหารเรือไทย

13558932_1116088318437360_6497560570160225513_o

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 

ปีนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ผมได้มาชมกาชาดคอนเสิร์ต ซึ่งจัดโดยกองทัพเรือ ร่วมกับสภากาชาดไทย โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 43 แล้ว บรรเลงโดยวงดุริยางค์ราชนาวี โดยรอบที่ผมได้เข้าชมคือรอบเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีนักร้องคนสำคัญของเมืองไทยคือ ธงไชย แมคอินไตย์ ร่วมแสดงด้วย ทำให้ตั๋วเข้าชม (ซึ่งไม่มีจำหน่ายทั่วไป แต่ใช้ระบบบริจาคและบัตรเชิญ) หายากเป็นพิเศษ ตรงนี้ผมอยากเรียกร้องให้ทางผู้จัดช่วยขยายช่องทางในการเข้าถึงบัตรให้มากขึ้นด้วย ผมคิดว่า “การจำหน่ายบัตร” โดยที่รายได้ก็ยังเข้าสภากาชาดไทยเช่นเดิมนั้น ก็ไม่น่าจะเสียหายแต่ประการใด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในวงกว้างได้มีโอกาสสัมผัสกาชาดคอนเสิร์ตดังเช่นแขกรับเชิญด้วย

คอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วยครึ่งแรกซึ่งเป็นเพลงบรรเลง ทั้งเพลงคลาสสิกและเพลงที่เรียบเรียงสำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตรา อำนวยเพลงโดยนาวาโทประกอบ มกรพงษ์ เริ่มด้วยเพลง Victory at Sea (Richard Rodgers) ผมคิดว่าในเพลงนี้วงดุริยางค์ราชนาวีเครื่องยังไม่ค่อยร้อนนัก ยังเล่นค่อนข้างแข็ง กลุ่มเครื่องสายเสียงยังไม่ค่อยแน่นนัก โดยเฉพาะช่วงที่มีทำนองไพเราะนั้นยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าที่ควร ส่วนเครื่องเป่าทองเหลืองนั้นน่าจะถือว่าหนักแน่นมีพลังสุดในเพลงนี้ ส่วนช่วงที่หัวหน้าวงได้เล่นเดี่ยว ก็ทำได้อย่างไพเราะน่าฟังเช่นกัน บทเพลงต่อมาคือ Le Grand Tango (3rd Movement) (Astor Piazzolla) ซึ่งเป็นเพลงที่เรียบเรียงสำหรับเดี่ยวเชลโลร่วมกับวงออร์เคสตรา โดยมีจ่าเอกไพโรจน์ พึ่งเทียน เป็นผู้เดี่ยวเชลโล อีกเพลงหนึ่งที่จ่าเอกไพโรจน์ได้บรรเลงเดี่ยวคือ เงาไม้ (ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์) ซึ่งมีทำนองที่อ่อนหวานไพเราะ จ่าเอกไพโรจน์บรรเลงได้ดีน่าฟัง แต่น่าเสียดายที่การใช้ไมโครโฟนติดไปที่ตัวเชลโล กลับทำให้เสียงเชลโลของเขาดูผิดความจริงไปเป็นอันมาก ทั้งแหลมและไม่มีน้ำหนัก เป็นการทำลายเนื้อเสียงของเชลโลไปอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งขณะที่เล่นไปพร้อมๆ กับวงนั้น ไมโครโฟนที่ถ่ายทอดเสียงเชลโลก็ไม่ได้ช่วยให้เสียงโดดเด่นขึ้นมาเหนือวงได้ กลับถูกวงกลบเสียด้วยซ้ำ ในส่วนของวงก็เริ่มเล่นได้ดีขึ้นและเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะเครื่องสาย ส่วนเพลงสุดท้ายในช่วงครึ่งแรกคือ Symphony No.4 (Peter Ilyich Tchaikovsky) โดยเลือกมาบรรเลงเฉพาะกระบวนที่ 4 ซึ่งเป็นกระบวนที่มีความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งวงก็เล่นได้อย่างมีชีวิตชีวา น่าฟัง ส่วนที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ ซึ่งมีบทบาทสูงมาก และก็เล่นได้อย่างดี แม้ว่าบางช่วงจะโดนกลุ่มเครื่องสายหรือกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองกลบไปบ้าง แต่ก็คงความโดดเด่นและเสียงที่ไพเราะน่าฟังไว้ได้ โดยสรุปผมคิดว่าเพลงนี้วงอาจจะเล่นได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ตำแหน่งที่นั่งผมที่อยู่ชั้น 3 นั้น ทำให้ได้ยินเสียงที่ยังไม่ค่อยสมดุล ยังไม่ประสานเป็นเนื้อเดียวกันนัก ทั้งนี้เสียงที่ออกมาจากวงนั้น ผ่านระบบขยายเสียงมาแล้ว มิใช่เสียงดนตรีธรรมชาติ 100% คงจะตัดสินได้ยากว่าเป็นเพราะวงเองหรือเพราะระบบเครื่องเสียงกันแน่

ในครึ่งหลังเป็นเพลงร้องประกอบวงออร์เคสตรา มีนาวาเอกณรงค์ แสงบุศย์ เป็นวาทยกร โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความรักชาติ ในชื่อชุด “เทิดพระปกเกศี แห่งราชนาวีไทย” เริ่มจาก ดาบของชาติ พระนิพนธ์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเรียบเรียงและบรรเลงได้อย่างน่าสนใจมาก โดยเพลงเริ่มต้นบทนำด้วยขลุ่ยไทย และตามด้วยเสียงร้องของเรือตรีสันติ ลุนเผ่ ศิลปินแห่งชาติ โดยมีกลุ่มสตริงควอเต็ตเล่นคลอไปด้วย หลังจากจบช่วงนำแล้ววงและกลุ่มนักร้องหมู่จึงเข้ามารับช่วงต่อได้อย่างน่าฟังยิ่ง ในส่วนของเรือตรีสันติก็ยังร้องได้อย่างดีมีพลังและยังคงรักษาจังหวะของบทเพลงไว้ได้ (ส่วนใหญ่นักร้องสูงอายุเท่าที่เคยฟังมามักจะรักษาจังหวะของบทเพลงไม่ได้ ไม่ร้องช้าไปก็เหลื่อมจังหวะ) ส่วนวงสตริงควอเต็ตกลุ่มนี้ก็บรรเลงได้อย่างน่าฟังมาก มีความกลมกล่อมเข้ากับเสียงร้องของคุณสันติเป็นอย่างดี (จนผมอยากฟังควอเต็ตกลุ่มนี้บรรเลงเพลงสตริงควอเต็ตมาตรฐานดูบ้างว่าจะน่าฟังขนาดไหน) ถัดมาคือ เพราะเธอคือประเทศไทย ซึ่งแต่งเนื้อร้องโดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ร้องนำโดย ปฐมพงษ์ สมบัติไพบูลย์ หรือ โป่ง หินเหล็กไฟ นักร้องร็อกชื่อดัง ซึ่งหากใครติดตามผลงานของนักร้องผู้นี้จะทราบว่าเขาเป็นนักร้องชายที่ร้องเพลงด้วยเสียงสูงมากเป็นพิเศษ แต่ในช่วงหลักๆ เขาก็เริ่มร้องเสียงสูงๆ ในบทเพลงที่ตนเองเคยร้องในอดีตได้ไม่ค่อยถึงนัก แต่ก็ยังดีที่เพลงนี้ท่วงทำนองค่อนข้างราบเรียบไม่ค่อยใช้ช่วงเสียงที่กว้างจนร้องยาก ซึ่งคุณปฐมพงษ์ก็ร้องได้ดีและมีพลัง เช่นเดียวกับกลุ่มนักร้องหมู่ก็ร้องประสานกับผู้ร้องนำได้เป็นอย่างดี และเพลงสุดท้ายในกลุ่มเพลงรักชาติคือ ฮะเบสสมอ (ดอกประดู่) ซึ่งเป็นเพลงสำคัญของทหารเรือไทยอยู่แล้ว โดยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องจากทำนองเพลงพื้นบ้านสก็อตแลนด์ Comin’ Thro’ the Rye กลุ่มนักร้องก็ร้องได้อย่างคึกคักน่าฟัง โดยนักร้องนำ จ่าเอกวัชรพงษ์ พิกุลทอง และจ่าเอกปรัชญา ธรรมโชติ ก็ร้องได้อย่างสนุกสนานและเชื้อเชิญผู้ฟังให้ร้องตามได้อย่างมีอารมณ์ร่วม

ถัดจากนั้นจึงเริ่มเป็นกลุ่มเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในชื่อชุด “เทิดพระจอมใจ องค์ราชินี เทิดพระภูมี องค์ราชา” ขึ้นต้นด้วย พระแม่ไทย (คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ / คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช) ร้องโดยรัตเกล้า อามระดิษ ซึ่งเป็นนักร้องที่มีเสียงที่ไพเราะและทรงพลังเป็นอันมาก และเพลงถัดมาคือ You’ll Never Walk Alone (Oscar Hammerstein II / Richard Rodgers) เธอก็ร้องได้อย่างดีและน่าฟังมาก มีลูกเอื้อนที่งดงาม ส่วนวงก็เล่นคลอตามได้อย่างไพเราะ มีสีสันและความหลากหลายของเสียงดีมาก ถัดมาผมคิดว่าอาจจะเป็นเพลงที่มีลีลาตื่นเต้นเร้าใจที่สุดในครึ่งหลัง นั่นคือ To Love You More (David Foster / Edgar Bronfman Jr.) ซึ่งร้องโดยจ่าเอกหญิงสราญรัตน์ ชูอำนาจ นักร้องดาวเด่นของกองดุริยางค์ทหารเรือ ควบคู่กับการเดี่ยวไวโอลินโดยจ่าเอกมาโณชญ์ จงกิติวิโรจน์ หัวหน้าวง ซึ่งเพลงนี้ใช้ช่วงเสียงที่กว้างมากตั้งแต่ต่ำไปจนสูง จ่าเอกหญิงสราญรัตน์นั้นเป็นคนที่เสียงใหญ่และลึก แต่เธอก็ร้องขึ้นไปถึงเสียงสูงได้อย่างดีมาก มีลีลาและอารมณ์ที่สอดคล้องร่วมไปกับทำนองเพลงที่ค่อนข้างตื่นเต้นและมีพลัง เสียงไวโอลินของจ่าเอกมาโณชญ์ก็โฉบเฉี่ยวไปมาได้อย่างน่าฟัง มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าเสียงร้องเลยทีเดียว

ถัดมาเป็น Somewhere (Stephen Sondheim / Leonard Bernstein) ร้องโดยธีรนัยน์ ณ หนองคาย ซึ่งปีที่แล้วเธอก็มาร้องในกาชาดคอนเสิร์ตเช่นกัน ต่อด้วย Unexpected Love (Don Black / Andrew Lloyd Webber) โดยรวมนั้นเธอเป็นนักร้องที่เสียงหวานสดใสและไพเราะมาก ลีลาการร้องของเธอก็มีชีวิตชีวาประดุจเป็นละครเพลง สอดรับกับการบรรเลงของวงได้เป็นอย่างดี ถัดมาเป็นช่วงที่หลายคนรอคอย นั่นคือการแสดงของธงไชย แมคอินไตย์ หรือพี่เบิร์ด นักร้องยอดนิยมของเมืองไทย ซึ่งพี่เบิร์ดก็ร้องเพลงเทิดพระเกียรติที่ถือเป็นเพลงประจำตัวมาหลายปี นั่นคือ สายใยแห่งแผ่นดิน (กมลศักดิ์ สุนทานนท์ / ปิติ ลิ้มเจริญ) และ ของขวัญจากก้อนดิน (นิติพงษ์ ห่อนาค) แน่นอนว่าพี่เบิร์ดยังคงมีพลังเสียงที่ไพเราะและยอดเยี่ยม ไม่ทำให้แฟนเพลงผิดหวัง แต่ก็น่าเสียดายเล็กน้อยที่โควต้าของนักร้องแต่ละคนมีได้ไม่เกิน 2 เพลง เราจึงไม่ได้ฟังเพลงเอกของพี่เบิร์ดจำพวก หมอกหรือควัน คู่กัด บูมเมอร์แรง พริกขี้หนู หรือแฟนจ๋า ซึ่งผมคิดว่าคงจะเป็นการดีไม่น้อยเลยหากพี่เบิร์ดจะจัดคอนเสิร์ตโดยใช้วงออร์เคสตราบ้าง (ซึ่งได้ข่าวมาว่าวงบอดี้สแลมกำลังจะมีคอนเสิร์ตร่วมกับวงออร์เคสตราด้วย) นักฟังคงได้ยินสีสันใหม่ๆ จากบทเพลงของพี่เบิร์ด ซึ่งคาดว่าคงจะน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นเป็นเพลง สมเด็จ (ชาลี อินทรวิจิตร / สมาน กาญจนผลิน) ร้องโดยจ่าเอกหญิงโสธิดา ชัยฤทธิไชย และจ่าเอกปรัชญา ธรรมโชติ ผมคิดว่าเพลงนี้มีลีลาความเป็นลูกกรุงสูงมาก ซึ่งนักร้องทั้งสองนี้ก็ปรับเสียงให้เข้ากับความเป็นลูกกรุงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจ่าเอกหญิงโสธิดาซึ่งปีที่แล้วเธอได้ร้องเดี่ยวอยู่หลายเพลง ผมคิดว่าเธอร้องไม่เหมือนเดิม โดยที่สามารถปรับลีลาการร้องให้เข้ากับลีลาของเพลงได้เป็นอย่างดี ส่วนอีกเพลง King of Kings (สุรัตน์ สุขเสวี / พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) ซึ่งได้จ่าเอกหญิงสราญรัตน์ และจ่าเอกวัชรพงษ์ เข้ามาเสริมกลายเป็นนักร้องนำ 4 คน โดยผลัดกันร้องคนละท่อน โดยรวมนั้น ผมคิดว่าเพลงนี้จ่าเอกหญิงโสธิดา และจ่าเอกวัชรพงษ์ ดูมีบทบาทน้อยกว่าอีก 2 คน แต่โดยรวมร้องได้ดีทั้ง 4 คน อย่างไรก็ตามผมคิดว่าในส่วนของดนตรีนั้นออกจะตื่นเต้นมากไปสักหน่อย ส่วนเพลงสุดท้ายคือ ชีวิต ชาติ ราชนาวี (นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย / พลเรือตรีณัฐ รัชกุล) ซึ่งรวมนักร้องรับเชิญทุกคนกลับขึ้นมาร้องเพลงนี้บนเวทีอีกครั้งร่วมกับกลุ่มนักร้องประสานเสียง ซึ่งแต่ละคนก็ร้องได้อย่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ก็สามารถประสานเข้ากันได้เป็นอย่างดี ร่วมกับเนื้อร้องที่ปลุกใจให้ฮึกเหิมได้ นับเป็นเพลงปิดคอนเสิร์ตได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการณ์สมกับความเป็นทหารเรืออย่างยิ่ง

ประสบการณ์ในการรับฟังวงดุริยางค์ราชนาวีและกาชาดคอนเสิร์ตมา 2 ปีติดต่อกัน ทำให้ผมรู้สึกได้ว่านักดนตรีทหารเรือของเรานั้นมีความสามารถที่ยอดเยี่ยมไม่ธรรมดาเลยทีเดียว และก่อนหน้าคอนเสิร์ตของทหารเรือแล้ว ผมก็ได้ไปชมคอนเสิร์ตของทหารอากาศ ในรายการ “ทัพฟ้าคู่ไทยเพื่อชัยพัฒนา ครั้งที่ 10” เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่าฝีมือของทหารอากาศก็มิได้ย่อหย่อนไปกว่ากันเลย (เพียงแต่เครื่องเสียงบนเวทีทำให้ทั้งเสียงของวงและนักร้องไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ควร) จากการที่ไปฟังวงทหารทั้ง 2 วงมา ทำให้คิดว่าทรัพยากรด้านนักดนตรีคลาสสิกของบ้านเรามีคุณภาพที่สูงไม่น้อยเลย แต่ไฉนเลยวงทั้งสองนี้จึงมีคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการเพียงปีละครั้ง แถมเป็นเพลงคลาสสิกเพียงครึ่งรายการด้วยซ้ำ ในกรณีทหารเรือนั้นเท่าที่ทราบมา ก็มีทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เข้าไปเล่นในวงออร์เคสตราชั้นนำมากมาย (รวมไปถึงวงราชการด้วยกันอย่างวงดุริยางค์กรมศิลปากรด้วย) ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมวงดุริยางค์ราชนาวีจะจัดคอนเสิร์ตเป็นประจำให้บ่อยครั้งมากขึ้นไม่ได้เชียวหรือ (วงกรมศิลป์ฯ ถึงไม่บ่อยมากนัก แต่ก็มีจัดแสดง 2-3 เดือนครั้ง ก็ถือว่าปีหนึ่งก็ได้จัดหลายครั้งอยู่) ผมคิดว่าสถานการณ์เช่นนี้ คงทำให้นักดนตรีบางส่วนที่อยากเล่นดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจัง ต้องไปขวนขวายหาวงอื่นๆ เล่น (เท่าที่ทราบคือ วงกรมศิลปากร วงบางกอกซิมโฟนีฯ วงไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิคฯ วงสยามฟิลฮาร์โมนิคฯ รวมไปถึงวงเยาวชนอย่าง วงสยามซินโฟเนียตต้า วงสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา หรือแม้แต่วงโปรมูสิกา ก็ยังมีสมาชิกเป็นชาวทหารเรือด้วยเช่นกัน)

ผมเองเป็นคนนอกที่ไม่รู้ระบบระเบียบข้างในของวงราชนาวี แต่ที่มาเสนอความเห็นต่อวงนั้น เพราะรู้สึกว่าวงดุริยางค์ราชนาวีนี้เป็นวงเก่าแก่คู่กับวงการคลาสสิกบ้านเรามาอย่างยาวนาน และเป็นวงที่มีศักยภาพสูง ทั้งยังผลิตทรัพยากรทางดนตรีให้กับวงการมาโดยตลอด (แต่เดิมหลักสูตรนักเรียนดุริยางค์นั้นเรียนกันถึง 6 ปี จาก ม.1-ม.6 แม้ว่าจะไม่ได้ปริญญา แต่ความเข้มข้นนั้นอาจจะไม่ด้อยไปกว่าสถาบันดนตรีชั้นสูงเลย แต่ปัจจุบันหลักสูตรเปลี่ยนไปเป็น ม.ปลาย 3 ปี ดังเช่น หลักสูตรมัธยมปลายดนตรีของที่อื่นๆ แล้ว) ผมก็อดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าหรือไม่สมกับศักยภาพที่มีหรือไม่ หากกองดุริยางค์ทหารเรือสามารถจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตการกุศล (เข้าใจว่าหากเป็นราชการนั้น อาจจะเก็บค่าเข้าชมไม่ได้) โดยการแสดงเพลงคลาสสิกมากขึ้น ก็น่าจะทำให้พวกเขาได้ลับฝีมือให้เฉียบคมอยู่เสมอ หรือทางออกที่คนในสังคมดนตรีคลาสสิกบ้านเราเสนอแนะอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการจับกลุ่มเล่นเชมเบอร์มิวสิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเพลงที่เป็นมาตรฐานขั้นสูง (ซึ่งผมเชื่อว่านักดนตรีของกองดุริยางค์ทหารเรือล้วนได้ร่ำเรียนเพลงเหล่านี้มาแล้วเป็นแน่) อันจะทำให้วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรามีกิจกรรมการแสดงที่คึกคักมากยิ่งขึ้น และผู้ฟังก็จะได้มีทางเลือกในการรับฟังดนตรีคลาสสิกที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วยโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับวงออร์เคสตราขนาดใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว และโปรดอย่าลืมว่า เชมเบอร์มิวสิคคือดนตรีที่พิสูจน์ฝีมือของผู้เล่นอย่างแท้จริง เสียงทุกเสียงออกมาจากเครื่องดนตรี ไม่มีสิทธิ์ lip-synch ได้ จึงเป็นการเคี่ยวกรำฝีมือที่ดีที่สุดของนักดนตรี ผมไม่แน่ใจว่าผมกำลังพูดกับใครจึงขอจบบทวิจารณ์เพียงเท่านี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *