ดนตรีเชมเบอร์มีอนาคต : Schubert Octet กับนักดนตรีดาวรุ่งของไทย

ดนตรีเชมเบอร์มีอนาคต : Schubert Octet กับนักดนตรีดาวรุ่งของไทย

ภาพจาก facebook : Thiravudh Khoman

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

 

          เมื่อพูดถึงฟรันซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert, 1797-1828 :คีตกวีชาวออสเตรีย) หลายคนอาจนึกถึงผลงานสำคัญของเขาอย่าง Unfinished Symphony เพลงร้องชุด Winterreise หรือ Die schöne Müllerin และเพลงเชมเบอร์มิวสิคอย่าง Trout Quintet หรือ Death and the Maiden Quartet ซึ่งแน่นอนว่าเพลงเหล่านี้เรามีโอกาสได้ฟังค่อนข้างบ่อยในการบันทึกเสียงทั้งหลาย หรือการแสดงจริง  อย่างเช่นเพลงTrout Quintet ก็เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงมากในบ้านเรา และมีนักดนตรีหลายกลุ่มได้รวมตัวกันบรรเลงไปแล้วหลายครั้ง

แต่สำหรับเพลง Octet in F major, D803 ของชูเบิร์ตที่เพิ่งจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 ที่หอแสดงดนตรี ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น  เท่าที่ผมได้ติดตามการแสดงดนตรีมาในช่วง ปี 2-3 ปีนี้ ยังไม่มีการแสดงบทเพลงนี้มาก่อน เข้าใจว่าด้วยการประสมวงที่ค่อนข้างแปลกทำให้หานักดนตรีมาเล่นรวมกันได้ค่อนข้างยากจึงทำให้ผมคิดว่าคอนเสิร์ตนี้มีความพิเศษเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความคิดเห็นต่อเนื่องมากมายด้วย

          เพลง Octet in F major, D803 นี้ เป็นการประสมวงที่ประกอบด้วยไวโอลิน 1 ไวโอลิน2 วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส คลาริเน็ต บาสซูน และเฟรนช์ฮอร์น ซึ่งก็คือวงสตริงควอร์เต็ด บวกดับเบิลเบส และเพิ่มเครื่องเป่าอีก 3 ชนิด ที่มีเสียงไม่เหมือนกันเลย แต่ด้วยความยอดเยี่ยมของชูเบิร์ต ทำให้เสียงของวงนั้นมีความกลมกลืนกัน และสอดประสานกันได้อย่างไพเราะงดงาม

          กลุ่มนักดนตรีนั้น ประกอบด้วย Hayne Kim นักไวโอลินชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนไวโอลินที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา  นอกนั้นก็เป็นกลุ่มนักดนตรีชาวไทย ได้แก่ โชติ บัวสุวรรณ (ไวโอลิน)  อัจยุติ สังข์เกษม (วิโอลา) วิชญ์วิน สุรีย์รัตนากร (เชลโล) พงศธร สุรภาพ (เบส) ธันยวัฒน์ ดิลกคุณานันท์(คลาริเน็ต) กิตติมา โมลี (บาสซูน) และ คมสัน ดิลกคุณานันท์ (ฮอร์น) ซึ่งทุกคนล้วนเป็นนักดนตรีแถวหน้าของวงการคลาสสิกของไทย บางคนก็เป็นดาวรุ่งมือรางวัล บางคนก็เป็นระดับครูบาอาจารย์แล้ว แต่ยังอายุอานามไม่มากนัก จะเรียกว่าเป็นวงคนหนุ่มสาวก็คงไม่ผิด

          สำหรับตัวเพลงนั้น ผมเองคิดว่าเป็นแบบฉบับของชูเบิร์ตโดยแท้ ซึ่งมีอารมณ์และลีลาที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกระบวนที่ 4 ซึ่งมีลักษณะเป็น theme and variations ซึ่งนักดนตรีของเราเล่นได้อย่างถึงใจเป็นอย่างยิ่ง เทียบเคียงความไพเราะและความหลากหลายของการแปรผันทำนองได้ไม่แพ้ Trout Quintet ในส่วนของกระบวนอื่นๆ นั้น ก็ค่อนข้างจะมีลีลาที่คล้ายคลึงกับ Trout Quintet เช่นกัน

          ว่ากันตามตรงแล้ว ผมคิดว่าในบทเพลงนี้ถึงจะพยายามให้เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีบทบาทไม่น้อยหน้ากัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไวโอลิน 1 และคลาริเน็ต เป็นเครื่องดนตรีที่โดดเด่นที่สุด เข้าใจว่าชูเบิร์ตต้องการให้​ Count Ferdinand Troyer (ซึ่งเป็นนักคลาริเน็ตสมัครเล่นฝีมือดี)ผู้ว่าจ้างให้ชูเบิร์ตแต่ง octet บทนี้ ได้แสดงออกถึงฝีมือและท่วงทำนองที่ไพเราะ จึงไม่แปลกที่คลาริเน็ตจะโดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งธันยวัฒน์ก็สามารถตอบสนองความต้องการของบทเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ไวโอลิน 1 อย่าง Hayne Kim นั้น ก็สามารถบรรเลงท่วงทำนองที่ผาดโผนและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของชูเบิร์ตได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

          ในส่วนของนักดนตรีคนอื่นๆ นั้น ผมคิดว่าทุกคนสามารถเล่นได้ในมาตรฐานขั้นสูง โดยในกลุ่มเครื่องสายนั้น ซึ่งประกอบด้วย โชติ อัจยุติ วิชญ์วิน และพงศธร นั้น สามารถเล่นเข้าขากันได้อย่างดีมาก ซึ่งผมอนุมานเอาว่า ทั้ง 4 คนนี้เล่นดนตรีร่วมกันมานาน ในวง Siam Sinfonietta และ Siam Philharmonic และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 คนแรกนั้นก็ร่วมเล่น string quartet ร่วมกันในนามวง Shounen Thai Quartet ด้วย ซึ่งก็ทำให้มีความเข้ากันได้ดีและมีประสบการณ์ในการเล่น chamber music อยู่แล้ว ในขณะที่เครื่องเป่า คือ คมสัน และกิตติมา นั้น ก็บรรเลงร่วมกันในฐานะวง Swasdee Woodwind Quintet อยู่บ่อยครั้งด้วย ส่วนธันยวัฒน์กับ Kim นั้น ก็ร่วมกันบรรเลงในวงเชมเบอร์ชื่อ Circulo Trio ด้วย (รวมไปถึงการที่คมสันกับธันยวัฒน์เป็นพี่น้องกันและเล่นดนตรีร่วมกันมาอย่างยาวนาน) จึงเห็นได้ว่าทุกคนในวงนี้มีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอยู่ รวมไปถึงการที่แต่ละคนมีประสบการณ์และความ “รัก” ที่จะเล่น chamber music อีกด้วย ทำให้การบรรเลงในวันนี้ผลออกมาได้อย่างดี สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังเป็นอันมาก

สำหรับการบรรเลงนั้น แม้ว่าจะเป็นบทเพลงที่ค่อนข้างยาว (ร่วมๆ 1 ชั่วโมง) แต่การแสดงนี้ก็สามารถตรึงคนฟังได้เป็นอย่างดี กระบวนที่หนึ่งค่อนข้างเนิบแต่ก็ตื่นเต้นในบางช่วง กระบวนที่สอง เป็นการบวนที่ค่อนข้างอ่อนหวาน กระบวนที่สามมีลักษณะแบบเพลงเต้นรำที่คึกคักสนุกสนาน ขณะที่กระบวนที่สี่นั้นถือว่าเป็นจุดสูงสุดของบทเพลง คือเป็นการแปรผันทำนองที่หลากหลายและให้บทบาทแก่ทุกเครื่องดนตรี กระบวนที่ห้ามีลักษณะเป็นการผ่อนอารมณ์ผู้ฟัง และกระบวนที่หกเป็นการจบบทเพลงได้อย่างตื่นเต้นเร้าใจ นักดนตรีที่โดดเด่นนั้น นอกจากไวโอลิน 1 และคลาริเน็ตแล้ว เครื่องสายอื่นๆ ก็มีบทบาทที่สำคัญไม่น้อย ไวโอลิน 2 ก็มีบทบาทในด้านการคงทำนองหลักไว้ และเสริมไวโอลิน 1 ซึ่งทำหน้าที่เล่นลีลาที่ผาดโผน ส่วนฮอร์นและบาสซูนก็ช่วยกันเสริมความหนักแน่นของวงและสร้างสีสันที่แปลกหูกว่าเครื่องสายที่เป็นฐานของวง

          ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในส่วนของการแสดงนั้น นอกเหนือจากความเข้ากันได้ดีของนักดนตรีแล้ว ผมคิดว่าการได้ฟังดนตรีชนิดนี้แบบสดๆ นั้น เป็นประสบการณ์ที่แผ่นเสียงหรือเครื่องเสียงชนิดดีแค่ไหนก็ทดแทนไม่ได้ หลังจากได้ฟังการแสดงสดครั้งนี้แล้ว ผมก็ได้ไปลองหาผลงานการบันทึกเสียงของนักดนตรีระดับโลกอีกหลายชุด เช่น ชุดของ Vienna Octet ชุดของ Cherubini Quartet และชุดของ Berlin Philharmonic ซึ่งแน่นอนว่าทุกกลุ่มนั้นเป็นมือระดับโลกและมีการตีความที่เป็นของตนเอง แต่ละวงเล่นไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการบันทึกเสียงใดที่ให้มิติของเสียงได้ดีเท่าการแสดงจริง ผมยังรู้สึกว่านักดนตรีของเรายังบรรเลงได้อย่างน่าฟัง มีความสดใหม่มากกว่า ทั้งเสียงของไวโอลินและคลาริเน็ตที่พุ่งออกมาจากวง หรือเสียงของฮอร์นและบาสซูนที่สะท้อนออกมาจากด้านหลังของวง รวมถึงเสียงเชลโลและดับเบิลเบสที่คอยอุ้มวงอยู่ (เรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงอัตวิสัย ผมอาจจะอธิบายได้พอประมาณ แต่อย่างไรความรู้สึกบางอย่างผมก็จนปัญญาที่จะอธิบายเป็นคำพูดได้)  ถึงแม้ว่านักดนตรีบางคนจะมาบอกกับผมว่าเขายังเล่นได้ไม่ค่อยดีนักและผิดพลาดบ้าง แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของดนตรีสด นักดนตรีไม่ใช่เครื่องจักรที่เล่นได้ทุกต้องทุกโน้ตในทุกครั้ง อาจมีผิดพลาดกันได้ แต่อารมณ์และการแสดงออกทางดนตรีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งผมคิดว่านักดนตรีกลุ่มนี้แสดงออกในทางอารมณ์ได้ในระดับที่น่าประทับใจมาก

แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมอดที่จะพูดถึงไม่ได้คือ ผู้ชมในเย็นวันนั้น ค่อนข้างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น (ไม่ถึงครึ่งของความจุของหอแสดงดนตรี) หลายคนในนั้นเป็นนักดนตรีเพื่อนฝูงกันเอง ญาติพี่น้องนักดนตรี บางส่วนก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ดนตรีคลาสสิกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่รู้สึกว่าแฟนเพลงประเภททั่วไปที่พบได้ตามคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกของ Royal BSO หรือ TPO หรือวงดนตรีของสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้นค่อนข้างบางตา ผมคิดว่าทางผู้จัดคือ Siam international Agent Management (S.I.A.M.) ซึ่งเป็นกลุ่มนักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรงที่ขยับมาทำงานด้านการจัดการคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกนั้น คงต้องทำงานด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากกว่านี้ ผมรู้สึกชื่นชมในความพยายามของผู้จัดที่ต้องการส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในสังคมไทย (ซึ่งผมได้ไปร่วมชมแล้ว 2 งาน) แต่ความตั้งใจดีอย่างเดียวคงไม่พอ การตลาดปัจจุบันต้องใช้กลยุทธ์ด้านการประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วย ผมคิดว่านักดนตรีรุ่นใหญ่ที่จัดคอนเสิร์ตมามากอาจจะช่วยแนะนำแนวทางให้พวกเขาได้ ส่วนตัวผู้วิจารณ์เองนั้นไม่ได้มีความรู้ในด้านนี้สักเท่าใด แต่หากให้เสนอแนวทางคร่าวๆ นั้น สิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงนักคือ การประชาสัมพันธ์โดยใช้เครือข่าย social media ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายของนักดนตรีเอง ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ โรงเรียนดนตรี ร้านจำหน่ายเครื่องดนตรี นักดนตรีร่วมอาชีพ นักฟังที่รู้จักคุ้นเคยกันรวมไปถึงสื่อมวลชนที่พอรู้จักมักคุ้นฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างง่ายและประหยัด รวมทั้งรวดเร็วฉับไวทันต่อเหตุการณ์ด้วย เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อชีวิต แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องใช้ความพยายามและความถี่ในการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้มาไวไปไวและสามารถหลุดจากสายตาหรือความสนใจได้ง่ายด้วย จึงควรต้องใช้ความถี่ให้มาก และอีกทางหนึ่งคือการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องลงแรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ผมก็คิดว่าเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะเป็นการสื่อสารโดยตรงแบบ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์”ทั้งยังมีความรู้สึกให้เกียรติต่อผู้ถูกรับชวนรับเชิญ หากเชิญได้มากก็น่าจะสามารถการันตีปริมาณผู้ชมได้ในระดับหนึ่ง และผมคิดว่าหากทำได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ประมาณหนึ่ง น่าจะสามารถสร้างฐานผู้ฟังที่เป็นแฟนเหนียวแน่นของผู้จัด วงดนตรี และวงการดนตรีคลาสสิกในภาพรวมได้อย่างยั่งยืน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *