‘แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล’  หรรษาท้าตำนานในแบบเบิร์ด ๆ

 

 

โดย ‘กัลปพฤกษ์’

เพียงแค่มีคนคิดจะทำละครร้อง Jukebox Musical ที่ใช้บทเพลงของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ มาถ่ายทอดร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวความรักของตัวละครสามรุ่นสามยุคสมัย ความรู้สึกก็เหมือนกำลังได้ข่าวว่ามีคนกำลังคิดเสี่ยงอันตราย พร้อมจะฆ่าตัวตายด้วยการเดินไต่ลวดข้ามตึก World Trade Center กลางมหานครนิวยอร์กอย่างไรอย่างนั้น  ประการแรกบทเพลงของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมเพลงป็อปอมตะร่วมสมัย ขับกล่อมประชาชนชาวไทยมายาวนานหลายทศวรรษ และจัดได้ว่าเป็นงานขึ้นหิ้งในระดับ quality pop ที่สร้างความคาดหวังจากผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังเพลงเหล่านี้อย่างหนีไม่พ้น  ประการที่สอง ธงไชย แมคอินไตย์ ถือเป็น entertainer ชั้นนำของเมืองไทย จากประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตอยู่หน้าไมโครโฟนเป็นเวลากว่า 30 ปี ทำให้เขามีความเป็น ‘มืออาชีพ’ ระดับแถวหน้าหาตัวจับได้ยาก ฝากความประทับใจจนกลายเป็นเจ้าของบทเพลงเหล่านี้ไปแล้วโดยดุษณี ชนิดที่หากเพลงเหล่านี้ไม่ได้ร้องด้วยเสียงของ เบิร์ด-ธงชัย ก็คงไม่อาจเรียกว่าเป็น ‘ของจริง’ ได้  ประการที่สาม การตัดสินใจทำอะไรเช่นนี้เป็นกลวิธีทางการตลาดในการสร้าง ‘จุดขาย’ ที่จงใจชักจูงให้ แฟนคลับ แฟนเพลง ควักกระเป๋าเงินพร้อมจ่าย ซึ่งหากไม่สามารถสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ก็คงต้องเตรียมแจ้งขอใบมรณบัตรกันในทันที

 

            แล้วคุณเป็นใครจึงคิดหาญกล้าจะทำอะไรยิ่งใหญ่เทียบรุ่นกับความ ‘อมตะนิรันดร์กาล’ เหล่านี้?

 

ทว่าอย่ากระนั้นเลย ข้าพเจ้าเองช่างไม่เคยรู้มาก่อนว่า สันติ ต่อวิวรรธน์ บุรุษช่างฝันที่หาญกล้ามารับหน้าที่เป็นผู้กำกับละครเพลงหรรษาเรื่องนี้ จะเป็น Philippe Petit นักกายกรรมไต่ลวดมืออาชีพที่ฝึกฝนการเดินบนเส้นเชือกมาทั้งชีวิต เพียงแค่คิดทำอะไรเช่นนี้ก็ยังไม่ถึงกับมีความสุ่มเสี่ยงถึงขั้นท้าทายความตาย ปฏิบัติการครั้งนี้สำหรับเขาแล้วมัน ‘สบาย สบาย’ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร สั่งสอนให้ข้าพเจ้าในฐานะผู้วิจารณ์ต้องหมั่นเปิดโอกาสรอดูรอชมด้วยตาว่าอย่าเพิ่งปรามาสใคร ๆ จนกว่าจะได้เห็นผลงานจริง ๆ

เมื่อ ‘แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล’ สามารถเอาชนะอคติจากความคาดหมาย สร้างความสนุกสนานบันเทิงเริงใจให้นักวิจารณ์อย่างข้าพเจ้าได้จนไม่คิดตั้งแง่อีกต่อไป มันจึงกลายเป็นอีกหนึ่งการแสดงสุดเซอร์ไพรส์ที่ไม่คิดมาก่อนเลยว่าเราจะสามารถเพลิดเพลินกับมันได้ถึงเพียงนี้

สิ่งที่ดีงามที่สุดในการแสดง ‘แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล’ ก็คือเสน่ห์จากการเล่นและร้องของนักแสดงรุ่นเยาว์ และรุ่นกลาง ที่ช่างไพเราะเหมาะเจาะงดงามอย่างเป็นธรรมชาติ ประกาศทักษะฝีมืออันอยู่ตัวโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ แม้ว่าในบางฉาก พวกเขาจะต้องทั้งร้อง ทั้งเต้น และควบคุมการเคลื่อนไหว ในขณะที่กำลังเปล่งเสียงร้องอยู่  ซึ่งต้องถือว่าผู้กำกับชาญฉลาดมาก ที่ให้อิสระแก่นักแสดงทั้งหมดในการขับขานเพลงของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ในลีลาใหม่ที่เป็นตัวของตัวเองตามบทของตัวละคร ให้ลืมทุกอย่างที่ เบิร์ด-ธงไชย เคยทำเอาไว้ก่อน แล้วถ่ายทอดบทเพลงออกมาราวกับว่ามันเป็นเพลงที่แต่งขึ้นให้เข้ากับเสียงร้องของพวกเขาโดยเฉพาะ นักแสดงรุ่นเยาว์และรุ่นกลางทั้งหมดจึงสามารถทำให้บทเพลงคุ้นหูที่เราอยู่กับมันมาผ่านลีลาการร้องในแบบของเบิร์ด-ธงไชย กลายเป็นเพลงของพวกเขาเองได้โดยไม่ต้องเกรงใจรุ่นใหญ่ สะท้อนให้ผู้ชมได้เห็นว่า บทเพลงในโลกนี้ที่แต่งประพันธ์ขึ้นมาถือเป็นสื่อภาษาที่ใช้ในการ ‘เล่าเรื่องราว’ มากกว่าจะมาอวดเทคนิคเปล่ากลวงในการเปล่งเสียงหรือสร้างความประทับใจด้วยสำเนียงแห่งท่วงทำนอง นักร้องมืออาชีพที่รู้งานทุกคน จึงต้องมีจิตวิญญาณของการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ อยู่ในตัว ซึ่งนักแสดงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น พันวา พรหมเทพ กับ อภิวัฒน์ พงษ์วาท หรือ กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ กับ ชนม์ทิดา อัศวเหม ที่รับบทเป็นตัวละครคู่ขวัญ ซี-ทราย ในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ตามลำดับ รวมถึงเพื่อนร่วมแก๊งเด็กสงขลาทั้งสองวัย ทุกคนก็ทำหน้าที่สร้างสีสันให้เรื่องราว ด้วยการเติมบุคลิกตัวละครและสร้าง character ให้เสียงร้องของตนได้อย่างมีเอกภาพ โดยเฉพาะ อภิวัฒน์ พงษ์วาท หรือ ‘หนึ่ง’ etc ที่เปล่งเสียงร้องเพลงถ่ายทอดอารมณ์และเรื่องราวภายในออกมาได้อย่างน่าประทับใจเป็นพิเศษ ทั้งยังพยายามรักษาขอบเขตบทบาทการเป็น ‘พระเอก’ ของตนให้แลดูกลายเป็นผู้ชายธรรมดา ๆ ที่ปรารถนาจะดูแลหญิงที่เขารักได้อย่างเจียมตัวจนน่าเอาใจช่วย

            ด้วยเจตนาที่ต้องการให้ ‘แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล’ เป็นละครเพลงแนวสุขนิยมเพื่อความสุขสมบันเทิงหรรษา เนื้อหาของมันจึงถูกขีดเส้นให้เป็นเรื่องราวในลักษณะ ‘boy meets girl’ ตรงตามแบบฉบับ ไม่พยายามจะจับสาระแวดล้อมใด ๆ ให้ตัวงานมีความหมายมากขึ้น ดูละครเรื่องนี้จบแล้ว ผู้ชมจึงอาจไม่ได้ปรัชญาแห่งสัจธรรมชีวิตใด ๆ ให้พินิจพิเคราะห์กันมากมาย ซึ่งจุดนี้เองผู้วิจารณ์ก็คงจะตำหนิอะไรไม่ได้ เพราะคงต้องให้เป็นอำนาจอธิปไตยของผู้สร้างงานว่าต้องการเล่าเรื่องราวอะไร แบบไหน และแค่ไหน ตามแต่ใจ ตราบใดที่งานในภาพรวมยังคงมีน้ำหนักที่พอเพียงอยู่ ซึ่ง ‘แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล’ ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่เข้ามาชดเชยความอ่อนเบาของเนื้อหาเรื่องราวอันนี้ เพราะลำพังทักษะฝีมือของนักร้องนักแสดงส่วนใหญ่ก็เพียงพอที่จะทำให้มันเป็นงานที่วิจิตรได้ ต่อให้แก่นสารสาระของมันจะไม่ได้ลึกซึ้งอะไรเลยก็ตาม

 

            ในส่วนของลีลาการนำเสนอแม้ว่าโดยภาพรวมจะไม่ถึงกับน่าตื่นเต้นแปลกใหม่หรือยิ่งใหญ่อลังการอะไร แต่ผู้กำกับก็สามารถหยอดลูกเล่นต่าง ๆ ตามขนบของงาน musical comedy ที่จัดว่ามีความสร้างสรรค์ได้ กับรายละเอียดต่าง ๆ อย่าง sequence การเล่นบาสเก็ตบอล  การร้องและเต้นเพลง แฟนจ๋า ซ้ำ ๆ ตามภาคต่าง ๆ ที่เรื่องราวดำเนินไป การสร้างจังหวะสนุก ๆ ด้วยเสียงเคาะอุปกรณ์ ซ่อมได้ การออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหวในฉากเพลง ลองสิจ๊ะ หรือแม้แต่ทุกตอนที่ตัวละคร ‘พี่แชมป์’ พร้อมสมุนทั้งสี่นายปรากฏตัว ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความช่างคิด ที่ต่อให้แลดูติดขนบในแบบละครเพลงถึงเพียงไหน ก็ยังดูแล้วรู้สึกว่า ‘ใช่’ และเหมาะแล้วที่จะนำมาใส่ในละครเรื่องนี้

ด้านจังหวะจะโคน ‘แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล’ ก็เล่าเรื่องราวได้อย่างเลื่อนไหลทะยานไปข้างหน้าราวกำลังดูคอนเสิร์ต medley non-stop ขนาดยาว นักแสดงต่างสลับกันเข้า ๆ ออก ๆ อย่างไหลลื่นแพรวพราวต่อซีนกันแบบก้าวชนก้าวไม่ยอมปล่อยให้คนดูได้พักหายอกหายใจกันเลย

            ทว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของละครคงอยู่ที่การแสดงของนักแสดงรุ่นใหญ่ นันทิดา แก้วบัวสาย และ ชรัส เฟื่องอารมย์ ในบททรายและซีวัยชราที่ดูจะหลุดไปจากนักแสดงทั้งหมดที่เหลือเหมือนหลงวิกมาจากละครเวทีคนละเรื่อง เพราะในขณะที่นักแสดงรุ่นเล็กและรุ่นกลางต่างเล่นกันได้อย่างมีพลังเป็นธรรมชาติ นักแสดงอาวุโสทั้งคู่ต่างใช้ลีลาการแสดงแบบเปี่ยมจริตประดิดประดอยจนไม่ค่อยเห็นความจริงใจ ปั้นบุคลิกและน้ำเสียงการร้องด้วยวิธีการที่ต่างออกไป เคยเล่นเคยร้องมาแบบไหนก็แสดงแสร้งทำไปแบบนั้น  ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับ สันติ ต่อวิวรรธน์ จะไว้วางใจประสบการณ์ของนักแสดงเจนเวทีทั้งคู่มากเกินไปจนไม่คิดไปแตะต้องกำกับ หรือจนปัญญาจะไปบังคับปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงของรุ่นใหญ่ได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงยังไม่ใคร่น่าพอใจ ในขณะที่ตัวละครคู่นี้กลับกลายเป็นคู่ที่ต้องการการกำกับมากที่สุด

            บท ทราย-ซี ในวัยชรา เรียกร้องให้ต้องใช้ทักษะการตีความระดับมืออาชีพของนักแสดงที่จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ทั้งบุคลิกและเทคนิควิธีการร้องของนักแสดงผู้รับบทเป็นตัวละครคู่นี้ขณะที่ยังเยาว์วัยกว่าทั้งสองรุ่นได้ทำไว้ เพื่อนำมาออกแบบตัวละครว่าพวกเขาเติบโตและโรยวัยกลายเป็นคนเช่นไร จากประสบการณ์ชีวิตที่ผู้ชมเพิ่งจะได้สัมผัสในฉากย้อนอดีตทั้งหลาย แต่ นันทิดา แก้วบัวสาย และ ชรัส เฟื่องอารมย์ กลับไม่สนใจเลยว่า ตัวละครในวัยเยาว์กว่ามีบุคลิกภายในและน้ำเสียงลีลาในการร้องเพลงเป็นเช่นไร ทุกครั้งที่พวกเขาต้องขับร้องเพลงเดียวกันเหล่านั้นใหม่ มันจึงดูเหมือนเป็นตัวละครอีกรายที่หลงยุคหลงสมัย ไม่มีอะไรที่ทำให้เชื่อได้เลยว่าพวกเขาเป็น ทรายและซี คนเดิมในวัยที่ไม่มีกำลังวังชาแล้วจริง ๆ  นอกจากนี้ดนตรีและเพลงในแบบของเบิร์ด-ธงไชย ล้วนมีคุณสมบัติของความเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดกาลที่วันเวลาและความแก่ชราไม่สามารถเข้ามากล้ำกรายหรือทำอะไรได้ซึ่งก็ตรงตามบุคลิกจริงของเจ้าตัวเอง เมื่อบทเพลงเหล่านี้ถูกขับร้องโดยนักแสดงในลักษณะโรยวัยมันจึงฟังดูไปด้วยกันไม่ได้ ทั้งที่ตัวบทก็ยังต้องการ ‘ไฟ’ จากตัวละครคู่นี้เพื่อสะท้อนว่าพวกเขายังมี passion ในการใช้ชีวิตและยังศรัทธาในความรักและพรหมลิขิตนี้อยู่แบบไม่วางวาย

            จึงน่าเสียดายเป็นอย่างมากที่บทที่ท้าทายฝีมือนักแสดงทั้งคู่นี้กลับมิได้รับการเอาใจใส่สักเท่าไร ทุกครั้งที่ ทรายและซี ในวัยชราปรากฏตัวมันจึงกลายเป็นความแปลกปลอมของละครทั้งเรื่องไปอย่างช่วยไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวในช่วงบั้นปลายนี้ก็มีศักยภาพพร้อมที่จะสร้างความอิ่มเอมประทับใจได้อยู่

            ในภาพรวมแล้วละครเวที “แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล” จึงเอาชนะใจคนดูได้ด้วยความง่ายงามที่เบื้องหลังของมันอาจไม่ได้ง่ายตาม ชนิดที่ต่อให้คิวเพลงที่เลือกมาจะดูเป็น ‘ภาคบังคับ’ จนเดาได้ว่าเพลงใดจะเข้ามาในช่วงตอนไหน ทว่ามันก็ทำให้พวกเราอดอมยิ้มไม่ได้ว่าคลังเพลงของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ มันช่างกว้างขวางและหลากหลายจนสามารถรับมือกับทุกเรื่องราวที่กำลังล่องไหลได้ ในขณะที่บุคลิกประจำตัวของคนร้องก็ยังบ่งฟ้องถึงความเป็นตัวของตัวเองได้อยู่ ….. ไม่รู้เสื่อมคลาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *